bloggang.com mainmenu search
 


ในยุคที่ทำมาหากินฝืดเคืองแบบนี้ ควรหาโอกาสไปพักผ่อน ปล่อยกาย ปล่อยใจ Slowlife กับชีวิต สัมผัสธรรมชาติให้สบายๆก่อนกลับมานั่งคิดหาวิธีที่จะอยู่กับโลกปัจจุบันกันดีกว่าครับ ... และบล๊อกนี้เราจะพาคุณๆไปสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบไทยๆ และพักกับโฮมสเตย์ ชิมอาหารพื้นบ้านที่ "บ้านนาต้นจั่น" อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัยกันครับ.
 


ปั่นจักรยานเที่ยวรอบหมู่บ้าน

 

บ้านนาต้นจั่น ตั้งอยู่ในตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัด สุโขทัย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิต ของคนในชุมชน ในเชิงอนุรักษ์ ได้ท่องเที่ยวสัมผัสกับธรรมชาติแบบครบวงจร  โดยได้จัดเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยว ได้มาพักร่วมกับเจ้าของบ้านทำกิจกรรมร่วมกันเรียนรู้วิถีชีวิตตามชุมชน  

การเดินทางไปบ้านนาต้นจั่น 
เดินทางจากที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 สายอุตรดิตถ์-ศรีสัชนาลัย ไปทางอุตรดิตถ์ ระยะทาง 9 กิโลเมตร แยกเข้าตัวตำบลบ้านตึก ถนนสายแม่ตะเพียนทอง-ห้วยตม ระยะทาง 10 กม. ผ่านโรงเรียนบ้านนาต้นจั่นมาถึง ร้านข้าวเปิ๊บซึ่งเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจะ อยู่ซ้ายมือหรือที่เดียวกับผ้าหมักโคลน 



โฮมสเตย์ต่างๆ ค่าบริการเท่าเทียม


บ้านนาต้นจั่นเป็นชุมชมดั้งเดิมอพยพมาจากเมืองเหนือ และเมืองลับแล ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเหนือ หมู่บ้านนาต้นจั่นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีต้นจั่นขึ้นอยู่มากมาย จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านนาต้นจั่น บ้านนาต้นจั่นสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากบนดอย ประชากรมีประมาณ 300 ครัวเรือน ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ผลไม้ ปลูกกล้วย ลางสาด ทุเรียน ตามฤดูกาล อาชีพเสริมคือ อาชีพทอผ้า จักสาน ทำหัตถกรรมตอไม้ ชุมชนอยู่กันแบบพี่แบบน้อง เอื้ออาทรต่อกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการนับถือศาสนาพุทธ 

สามารถติดต่อที่พักได้ ... รายละเอียดข้อมูลติดต่อ
ชุมชนบ้านนาต้นจั่น โทร 088 495 7738   089 885-1639
หรือ 
 https://www.facebook.com/HomeStayBannaTonChan/?ref=page_internal
 



นาต้นจั่น Country 

เราเดินทางไปบ้านนาต้นจั่นหลังเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยในบ่ายวันที่ 21 ธันวาคม 2563 โดยเราจองที่พักไว้แล้วที่โฮมสเตย์เรือนเล็กวราภรณ์ เข้าหมู่บ้านไปเลยกลางนาดารุณีก็ถึงเลย ... ความประทับใจแรกๆที่เราเจอก็คือการต้อนร้บขับสู้ที่ดี โดยเจ้าของโฮมสเตย์เขาจะโทรเช็คก่อนที่เราจะเข้ามาพักที่บ้าน ว่าวันนี้เราต้องการอะไรพิเศษไหม และรายการอาหารที่เขาจะเตรียมไว้ให้ ตามรายการนี้โอเคไหม? โดยเราไม่มีปัญหาเรื่องอาหารการกิน เพราะอยากทานอะไรๆที่เป็นแบบชาวบ้านเขาทำกินกัน เพียงแต่เราดูโปรแกรม 2 วัน 1 คืนที่เขาเสนอไว้ในเวปแล้ว เวลาเราไม่พอ จึงขอเปลี่ยนเป็นตอนเย็นปั่นจักรยานเที่ยวชมรอบๆหมู่บ้าน โดยแวะดูการทำตุ๊กตาบาร์โหนด้วย ส่วนตอนเช้าแม้เราอยากจะตักบาตรหน้าบ้านเราก็ต้องทำใจ เพราะอยากไปชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิวห้วยต้นไฮมากว่า.... ส่วนความประทับใจต่อมาคือที่พัก แม้จะเป็นโฮมสเตย์ แต่เราได้ห้องพักที่มีห้องน้ำในตัว (เราขอมาขณะจองที่พัก) ห้องพักสะอาดสะอ้านดี และความประทับใจที่ 3. คือ อาหารเย็นและเช้ามากมายจนทานกันไม่หมด อันนี้ถือว่าสุดๆไปเลย ส่วนราคาค่าที่พักช่วงนั้นก็น่าตกใจว่าขายแบบนี้ได้ด้วยเหรอ คือ 2 คน คนละ 600 บาทเอง (รวมอาหาร 2 มื้อแล้วนะ)
 




ชมการทำตุ๊กตาบาร์โหน..แห่งเดียวในโลก

มาเริ่มกิจกรรมตอนเย็นกันเลยดีกว่า...อ้อเกือบลืมบอกไปว่าโปรแกรมส่วนมากเขาเริ่มกันประมาณ 14.00 น. นะครับ ... คือรับนักท่องเที่ยวและนำเข้าห้องพักแล้ว ก็จะเริ่มกิจกรรมกันเลย แต่ถ้าท่านยังเหนื่อยในการนั่งรถก็ปรับเปลี่ยนกันได้ตามความเหมาะสม ... เราเช่าจักรยานคันละ 30 บ่าน 2 คัน (หรือท่านจะเลือกเช่ารถอีแต๊กก็ได้ถ้าไปกันหลายคน ก็ได้ประสพการณ์ดี) โดยวันนี้เรามีคนนำทาง (เจ้าของบ้านเขาจัดการให้) เป็นผู้พาเราไป จุดแรกเราก็ไปชมการทำตุ๊กตาบาร์โหนก่อน



คุณตาวงษ์ เสาปั้น เป็นผู้คิดค้นและประดิษฐ์ (ขอบคุณภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

ตุ๊กตาบาร์โหนเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ และมีที่เดียวในโลกด้วย ... ตุ๊กตาบาร์โหน อีกหนึ่งงานไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี้คือ  ตุ๊กตาบาร์โหนของเล่นไม้ที่ คุณตาวงษ์ เสาปั้น เป็นผู้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนที่อายุถึง 86 ปีแล้ว (ล่าสุดเหมือนว่าท่านจากเราไปแล้ว..ลูกชายเป็นผู้สืบทอดงานฝีมือนี้)    แต่คุณตายังมีความสุขกับการทำของเล่นโบราณจากไม้โดยเฉพาะ “ตุ๊กตาบาร์โหน”  ซึ่งเป็นของเล่นเพื่อบริหารมือทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ โดยคุณตาวงศ์ได้เริ่มทำของเล่นไม้จำพวกตุ๊กตาไม้มากว่า 20 ปีแล้ว  แรกเริ่มเดิมทีได้ความคิดมาจากการทำของเล่นจากกระดาษ เมื่อชำนาญขึ้นก็เปลี่ยนมาใช้ไม้เป็นวัสดุ     เกิดเป็นตุ๊กตาบาร์โหนที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในกลุ่มของนักท่องเที่ยวและเด็กๆ ในชุมชน ซึ่งถ้าใครอยากได้ไปลองเล่นบริหารมือ  และอยากเห็นท่าทางตลกๆ ของเจ้าตุ๊กตานักโหนบาร์    ก็สามารถหาซื้อของเล่นชิ้นนี้ได้ที่ศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่นได้เช่นกัน

สินค้าโอท้อบตุ๊กตาบาร์โหนนี้ ถ้าท่านอยากได้มาเล่น ต้องสั่งจองกัน เพราะวันที่เราไปชมสอบถามว่าทำส่งให้ลูกค้าไม่ทัน ... เนื่องจากเป็นงานฝีมือประเภทแฮนด์เมด จึงต้องพิถีพิถัน เริ่มจากการเลือกไม้สักทองให้สีเข้ากัน และนำมาแกะ ประกอบ โดยขั้นตอนทั้งหมดทำเพียงคนเดียว


 

ผ้าทอหมักโคลน OTOP ที่ขึ้นชื่อของที่นี่

จบจากการชมการทำตุ๊กตาบาร์โหน เราก็ปั่นผ่านไปเรื่อยในหมู่บ้านโดยเป้าหมายที่เป็นไฮไลท์คือ ไปชมแสงสุดท้ายของวันที่ทุ่งนาบ้านนาต้นจั่น ซึ่งชาวบ้านเขาร่วมมือร่วมใจกันทำสะพานไม้ไผ่ ให้นักท่องเที่ยวเดินผ่านทุ่งนาที่มีนาข้าวเขียวขจีเกือบตลอดทั้งปี แล้วแต่ว่าเรามาช่วงไหน โดยช่วงการทำนาเขาจะทำปีละ 2 ครั้ง โดยช่วงแรกก็เป็นหน้านาแบบปกติ พค.-ต.ค ส่วนอีกครั้งก็จะเริ่มประมาณต้นธันวาคม ฉะนั้นเรามาที่นี่ก็จะได้ภาพกับนาข้าวเกือบทั้งปีครับ ... โดยไฮไลท์ก็ตือช่วงแสงที่จะลับปลายไม้ในเย็นของทุกวัน ผู้นำทางเขาจะรู้ครับว่าช่วงนี้พระอาทิตย์จะตกกี่โมง ... เนื่องจากบ้านนาต้นจั่นเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในหุบเขา แบคกราวด์จึงสวยงามด้วยธรรมชาติและขุนเขา ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ
 


ยามเย็นออกไปสูดโอโซนที่ทุ่งนา บนสพานไม้ไผ่ (Bamboo Bridge)









สะพานไม้ไผ่ที่ทอดยาวบนทุ่งนาที่เขียวขจี...ที่นี่ทำนาปีละ 2 ครั้ง









แสงอาทิตย์กำลังจะลับทิวไม้ให้อารมณ์ที่แสนจะโรแมนติก



อาชิ..โฮมสเตย์สวยงามยามค่ำคืน

ขากลับเราปั่นเข้าหมู่บ้าน ผ่านที่ต่างๆเช่นการแสดงการทอผ้า (เสียดายไม่มีเวลาไปดูเขาทำผ้าหมักโคลน ซึ่งเป็นอีกไฮไลท์ของที่นี่) เราแวะถ่ายภาพกันที่โฮมสเตย์อาชิที่ตกแต่งไว้สวยงาม โฮมสเตย์กลางนาดารุณีปากทางเข้าหมู่บ้าน และมาจบวันที่ เรือนเล็กวราภรณที่เราจะพักกันคืนนี้ โดยไม่ลืมที่จะจ่ายทิปให้คนนำทางเรา (ซึ่งนี่เป็นความชื่นชอบเฉพาะตัวนะ) ... ขึ้นบ้านเจอสำรับที่ตั้งเอาผ้าบางๆคลุมไว้ เปิดขึ้นมาเห็น น้ำพริก ปลานึ่ง ผักลวก ต้มข่าไก่ ไข่เจียวหมูสับ ผัดหน่่อไม้ ข้าวและของหวาน นี่..สำหรับ 2 คนนะ ตาโต ชื่นชอบ.

เราคุยเรื่องการจัดการที่พักกับเจ้าของบ้านว่า โหนี่ค่าที่พักราคานี้ จัดแบบนี้ได้ด้วยเหรอ ... เธอตอบเราว่าบ้านพักโฮมสเตย์ที่นี่เขาทำกันด้วยใจ ไม่คิดเชิงธุระกิจ โดยถ้าคำนึงถึงธุรกิจการบริการก็ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ ส่วนลึกๆแล้ว อยากให้ผู้คนมาเยี่ยมและกลับไปอย่างประทับใจมากกว่า

 


พักโฮมเสตย์มีอาหารแบบนี้ 2 มื้อ (เย็น และเช้า) มีกาแฟด้วย

 

วันพรุ่งนี้เราบอกเจ้าของบ้านว่าเราจะไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิวห้วยต้นไฮ ซึ่งวิธีการไปก็จะต้องเช่ารถไปคันละ 450 บาท ซึ่งสามารถนั่งไปได้คันละ 8-9 คน ซึ่งสามารถแชร์กันไปได้ โดยจุดชมวิวจะอยู่ห่างจากหมู่บ้าน 3.5 กม. เป็นถนนลูกรังเมื่ออกจากบ้านนาต้นจั่น ... เราเช่าไปกัน 2 คน เพราะไม่รู้จะไปแชร์กับใคร เพราะบางทีนักท่องเที่ยวก็เลือกโปรแกรมการเที่ยวต่างกัน
 


ฟ้าสางที่จุดชมวิวห้วยต้นไฮ

เช้าตี 4 ครึ่งเปะ มีรถตู้เก่าๆคันหนึ่งมาจอดหน้าบ้าน (เราอาบน้ำ แต่งตัวรอตั้งตี 4 แล้ว) เราถามว่าใช่มารับเราไหม เขาบอกชื่อคนที่จะรับเสร็จเราก็ขนสำภาระเช่นขาตั้งกล้องขึ้นรถไปด้วย ... พอถึงเชิงเขารถก็จอด เขาบอกว่าจากนี้ต่อไปเราต้องเดินขึ้นประมาณ 850 เมตร ซึ่งช่วงแรกๆก็เดินสบายๆ พอใกล้ๆจะถึงอีกประมาณ 200 เมตรนี่ค่อนข้างชัน เดิน 10 กว่าเมตรก็พัก ดีแต่ว่าตามทางเดินที่สูงชัน เขาทำราวไม้ไผ่ และแคร่ที่พักไว้เป็นระยะๆ แต่ถึงกระนั้นก็หอบแฮกๆ...สุดท้ายเราก็ขึ้นไปถึงจนได้

ด้านบนจุดชมวิวมีเพิงที่พักหลังเล็กๆทำเป็นที่ขายของเล็กๆน้อยๆส่วนมากเป้นของขบเคี้ยว คนนำทาง (คนขับรถ) ก็จะพากันก่อไฟต้มน้ำร้อน ให้นักท่องเที่ยวได้ชงกาแฟ และต้มบะหมี่สำเร็จรูปทานกัน (กาแฟ บะหมี่สำเร็จรูปเตรียมไปเอง) ... ตรงหน้าผามีห้างให้ขึ้นไปถ่ายภาพด้วย

 


ไปถึงขณะที่รอฟ้าสาง ... ต้มน้ำร้อนชงกาแฟกัน

จุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่จุดชมวิวห้วยต้นไฮ
เป็นจุดชมวิวที่สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตกหากโชคดีจะได้เห็นทะเลหมอกอีกด้วย แนะนำให้ขึ้นในช่วงหน้าฝนหลังจาก ที่ฝนตกใหม่บน จุดชมวิวจะมีทะเลหมอกให้ชมและหน้าหนาวบางวัน ทางเดินขึ้นค่อนชันต้องเตรียมร่างกาย และรองเท้ามาให้พร้อม หากขึ้นไปช่วงเช้าต้องเริ่มตั้งแต่ตี 4.30 เพื่อเริ่มเดินเท้าประมาณตีห้า เพื่อไปให้ทันพระอาทิตย์ขึ้น โดยคิดค่ารถนำเที่ยวคันละ 450 บาท นั่งได้ 8-9 คน  หรือนักท่องเที่ยว ท่านใดอยากขึ้นไปกางเต้นท์นอนข้างบนทางชุมชนก็มีบริการนำเที่ยวพร้อมเต้นท์ และอาหาร  จุดชมวิวห้วยต้นไฮ เปิดให้ค้างแรม บนเขาในช่วงเดือน ต.ค.-ก.พ. สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่น
 

 


ฟ้าสาง..มองเห็นทะเลภูเขา เคล้าหมอกที่สวยงาม



แก้วกาแฟไม้ไผ่ที่แสนคลาสสิค (บริการจากผู้นำทางของเรา ... น่ารักมากๆ)



แสงยามรุ่งอรุณที่ห้วยต้นไฮสวยงามเกินบรรยาย



สูดอากาศที่บริสุทธิยามเช้าที่ห้วยต้นไฮ



ขึ้นหิ้งไปชมแบบนี้ก็ได้



ริมผายังมีชิงช้าให้นั่ง



กว่าจะพิชิต...ต้องฟิตพอควร คือจากพื้นราบขึ้นมา 850 เมตร

ลงจากเขารถก็พาเรากลับเข้าสู่หมู่บ้านผ่านไร่นาที่อุดมสมบูรณ์ ผ่านร้านข้าวเปิ๊บ แต่เราไม่มีเวลานั่งทานเพราะมีโปรแกรมเดินทางไกลต่อ รถวกเข้าหมู่บ้านเห็นผู้เฒ่าออกมานั่งหน้าบ้าน บ้างเตรียมของไปวัดบ้าง ส่งเสียงทักทายกันตลอดทาง ... หมู่บ้านนาต้นจั่นนี้ขึ้นอยู่กับ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัยก็จริง แต่ชาวบ้านที่นี่ใช้ภาษาเหนือเป็นภาษาท้องถิ่น เพราะอยู่ใกล้ จ.อุตรดิตถ์มากกว่า แต่ไม่สามารถเข้าได้จากอุตรดิตถ์เพราะภูเขาขวางกั้นไว้ โดยเข้าได้ทาง อ.ศรีสัชนาลัยทางเดียว

สุดท้ายรถก็มาส่งเราที่บ้านพักโดยสวัสดิภาพ กล่าวอำลาพร้อมทิปเป็นกำลังใจให้คนนำทาง (คนขับรถ) นิดหน่อย ก่อนจากกัน



กลางนาดารุณีโฮมสเตย์ ที่ทางเข้าหมู่บ้าน

 
บ้านนาต้นจั่นเป็นชุมชมดั้งเดิมอพยพมาจากเมืองเหนือ และเมืองลับแล ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเหนือ หมู่บ้านนาต้นจั่นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีต้นจั่นขึ้นอยู่มากมาย จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านนาต้นจั่น บ้านนาต้นจั่นสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากบนดอย ประชากรมี 270 ครัวเรือน ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ผลไม้ ปลูกกล้วย ลางสาด ทุเรียน ตามฤดูกาล อาชีพเสริมคือ อาชีพทอผ้า จักสาน ทำหัตถกรรมตอไม้ ชุมชนอยู่กันแบบพี่แบบน้อง เอื้ออาทรต่อกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อเรื่องผีและข้อปฏิบัติต่างตามบรรพบุรุษ 
 
 
 

ลาด้วยภาพนี้ครับ




 




Create Date :10 มีนาคม 2564 Last Update :12 มีนาคม 2564 8:12:56 น. Counter : 2937 Pageviews. Comments :11