bloggang.com mainmenu search








จากตอนที่แล้วเราล่องเรือยางมาขึ้นที่ท่าทราย และขึ้นรถเข้ามาที่บริเวณกางเต้นท์ของน้ำตก "ที ลอ ซู" อีก 14 กม. เส้นทางจากท่าทรายเข้าไปในบริเวณที่ทำการเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เป็นถนนลูกรัง แคบ บางแห่งชำรุดเพราะเกิดการกัดเซาะของน้ำในช่วงหน้าฝน หลายแห่งเป็นหลุม มีโคลนอยู่ทำให้ยากแก่การเดินทาง รถที่เอาเข้าไปควรเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อครับ (แต่คนในพื้นที่ที่เขาชำนาญมากๆ ก็ใช้ปิกอัพธรรมดานี่แหละเข้าไป)

ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การมาชมน้ำตกที่นี่ เขาบอกว่า ต้องมาช่วงปลายฝน-ต้นหนาวครับ น้ำกำลังสมบูรณ์มากๆ แต่ช่วงนั้นถนนจะเข้าลำบากมาก ต้องเดินเท้าเปล่าประมาณ 10 กม.ครับ














เดินตามทางคอนกรีตแบบนี้จนถึงน้ำตก





เราเข้ามาถึงช่วงบ่ายๆแล้ว เลยพักทานมื้อเที่ยงที่เตรียมมาจากอุ้มผาง จัดการเรื่องส่วนตัวให้เสร็จ ก่่อนจะเดินเท้าต่อเข้าไปที่ตัวน้กตกอีกประมาณ 1.5 กม.

การนำอาหารเข้ามาทานที่นี่ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมถุงมาใส่ขยะกลับออกไปด้วย ห้ามทิ้งไว้ในบริเวณนั้นเด็ดขาด (จขบ.เห็นด้วยกับเรื่องแบบนี้ครับ เพราะทุกที่เมื่อเราไปเที่ยว สิ่งที่ไมน่าชมที่สุด คือขยะ และขวดน้ำเปล่าที่ทิ้งเกะกะ) ผมว่ารัฐน่าจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องขยะตามสถานที่ท่องเที่ยว และตามท้องถนนเสียที โดยเริ่มจากแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งในประเทศ แล้วขยายไปตามสถานที่ต่างๆ






ถึงแล้วน้ำตก ที ลอ ซู อันลือเลื่อง





วันนั้น ตอนที่เราไปถึง ฝนตก แต่ไม่หนักมาก เราไม่ได้เตรียมร่มและเสื้อกันฝนไป พอดีไกด์เรารู้จักเจ้าหน้าที่ในนั่น เขาเลยไปยืมร่มได้คันเล็กๆมาคันหนึ่ง.... ปีนี้เราไปเที่ยวน้ำตกเจอสภาพแบบนี้มา 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนไปซาปาที่เวียตนาม ฝนก็ตก วันนี้มา ที ลอ ซู ฝนก็ตกอีก ทั้งๆที่เป็นเดือน มกราคม ( 14 มกราคม 2555) ไม่น่าเชื่อว่าเราจะโชคดีขนาดนั้น.

ภาพที่เห็นวันนี้จึงเป็นภาพที่ถ่ายผ่านสายฝน (แบบพรำๆ) โดยมีไกด์เป็นคนกางร่มให้ กลัวว่ากล้องจะเสียเมื่อโดนละอองน้ำฝน แต่ก็ต้องทำใจ เพราะสิ่งที่อยากได้ที่สุด คือภาพของน้ำตกอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ครับ











ผมเคยเขียนรีวิวเรื่อง 6 น้ำตกที่สวยที่สุดในโลกไว้ในบล๊อก กลุ่มความรู้ทั่วไป ซึ่ง 1 ใน 6 ก็มีน้ำตก ที ลอ ซู จากบ้านเรารวมอยู่ด้วย
(อ่านในบล๊อก) ... แม้วันนี้น้ำตกอยู่ในช่วงหน้าแล้ง แต่ตรงหน้าที่เราเห็นก็ตระการตาเหลือเกิน ไกด์ของเราบอกว่า มีช่างภาพหลายคนปีนเขาขึ้นไปถ่ายมุมสูง เพื่อให้ได้ภาพสุดสวยแบบเบิร์ดอาย

มีนักท่องเที่ยวฝรั่งคู่หนึ่ง มาจากสวิตส์เซอร์แลนด์ไปยืนดูอยู่ด้วยกัน เราถามเขาว่าเป็นไงบ้าง? เขาบอกว่ายิ่งใหญ่ และสุดยอดมากๆ.... เขายืนเฝ้ามอง และชื่นชมมันอยู่นานจนลืมว่า ตัวเองกำลังยืนตากฝนดูน้ำตกอยู่นานร่วมครึ่งชั่วโมง






เอาคนมาบังไว้หน่อย





น้ำตกที ลอ ซู


น้ำตก ที ลอ ซู ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ห่างจากที่ทำการเขตฯ 1.5 กิโลเมตร ทีลอซู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า น้ำตกดำ มีลักษณะเป็นน้ำตกภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร เกิดจากลำห้วยกล้อท้อ ลำน้ำทั้งสายตกลงสู่หน้าผาสูงชัน มีน้ำไหลแรงตลอดปี ความกว้างของตัวน้ำตกประมาณ 500 เมตร ไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ มีความสูงประมาณ 300 เมตร ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของเอเชีย

ตามความจริงต้องออกเสียงว่า "ทีลอชู" และเป็นคำนามในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า "น้ำตก" ชื่อ "ทีลอซู" เป็นความพยายามแปลความหมายทีละคำ โดย "ที" หรือ "ทิ" แปลว่า "น้ำ" "ลอ" หรือ "ล่อ" แปลว่า "ตก" แต่ "ชู" ไม่มีความหมายใกล้เคียง ดังนั้น จึงมีความพยายามทำให้เป็นคำที่มีความหมาย เนื่องจาก "ซู" แปลว่า "ดำ" จึงนำไปสู่การเรียกว่า "ทีลอซู" และแปลว่า "น้ำตกดำ"

ทีลอซู ได้รับคำกล่าวขานถึงว่าเป็นน้ำตกที่สวยงาม และมีความสวยงามเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน ระหว่าง 1 มิ.ย. - 31 พ.ย. ปริมาณน้ำฝนที่มากจะเพิ่มปริมาณน้ำในลำธารทำให้สายน้ำตกกว้างใหญ่กว่าฤดูอื่น แต่เป็นช่วงที่ทางรถเข้าน้ำตกปิด เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้เส้นทางและถนอมสภาพทางไม่ให้เสียหาย นักท่องเที่ยวอาจเลี่ยงใช้เส้นทางนี้ได้ โดยการซื้อทัวร์กับบริษัทนำเที่ยวซึ่งจะเดินทางด้วยเรือยางและเดินป่าอีกราว 12 กม.แต่หากมาท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว - ฤดูร้อนระหว่าง 1 ธ.ค. - 31 พ.ค. ก็สามารถใช้ทางรถยนต์เข้าน้ำตกได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เที่ยวได้สะดวกที่สุด ไม่ว่าจะเที่ยวแบบไปกลับหรือพักค้างแรม










ประวัติ น้ำตก ที ลอ ซู


ทีลอซู ได้รับการค้นพบโดยพรานชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งที่เดินเข้ามาล่าสัตว์ ก่อนที่ ตชด.ได้บินเข้ามาสำรวจในพื้นที่และได้พบน้ำตกทีลอชู ต่อมากรมป่าไม้จะประกาศให้บริเวณนี้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และหลังจากปี พ.ศ. 2528 ที่ อ. ปรีชา อินทวงศ์ พาบุคลากรของนิตยสารท่องเที่ยวแคมปิง เข้าไปสำรวจ น้ำตกทีลอซู ก็เป็นที่รู้จักและเป็นที่ท้าทายของนักเดินทาง "ทีลอซู" แปลว่าน้ำตกใหญ่หรือน้ำตกดำ น้ำตกนี้ซ่อนอยู่ในหลืบผาอันกว้างใหญ่ สายน้ำเกิดจากห้วยกล้อทอซึ่งมีแดนกำเนิดอยู่บนดอยผะวี แล้วไหลลงแม่น้ำแม่กลองที่ ต. แม่ละมุ้ง อ. อุ้มผาง

การค้นพบที่กล่าวถึงเป็นการพบของคนไทย จากงานของ ประชา แม่จัน ในหนังสือ "อุ้มผาง เบื้องหลังธรรมชาติ"เขียนถึง บริเวณที่ตั้งแคมป์ทีลอชู เป็นบ้านเก่าชาวปกากะญอ (กะเหรี่ยง) เรียกว่า "ว่าชื่อคี" บริเวณที่จอดรถเป็นที่นาเก่าของชาวบ้านที่นี่ การที่เป็นบ้านร้างเพราะชาวบ้านบางส่วนได้ย้ายไปอยู่บ้านโขะทะเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เหลือย้ายเข้ามาอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น ชาวปกากะญอที่นี่รู้จักน้ำตกทีลอชูมาช้านานแล้ว

ที่มา : วิกิพีเดีย








น้ำที่ตกลงมาไหลลอดพุ่มไม้ออกมาแบบนี้















มีสระสีมรกตด้วย













ลูกชิดป่า

























เราเสียดายที่ท้องฟ้าไม่เป็นใจ และมีฝน ภาพที่ได้จึงออกมัวๆ แต่ก็ดีใจที่ครั้งหนึ่งเราได้มีโอกาสมายลโฉมน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นี่ถ้าเป็นช่วงปลายฝน เสียงน้ำคงดังสนั่นหวั่นไหวแน่เลย..... เราไม่สามารถเดินเลาะแถวๆนั้นได้ เพราะกลัวลื่น เลยอยู่ชมความงามได้ไม่นานนัก ก็กลับออกมา....

ขากลับเราเดินทางโดยรถปิกอัพที่เราเช่าไว้ออกมา ถนนโดยรวมแล้วยังไม่ค่อยดี ระยะทางออกไปถึงถนนใหญ่ก้ประมาณ 25 กม. และเข้าไปที่อุ้มผางอีกประมาณ 10 กว่า กม. ผ่านไร่ส้ม เพชรอุ้มผาง และทางแยกไปบ้านหนองหลวง ที่มีโบสถืไม้สักทั้งหลังอยู่ที่นั่น ตามทางเข้าอุ้มผาง ก็จะผ่านทางเข้าถ้ำตะโคบิ ที่ลึกราว 7 กม. อยู่ห่างจากอุ้มผางประมาณ 3.5 กม. (แต่เราไม่ได้เข้า) ในบล๊อกหน้าเราจะพาคุณๆไปรู้จักกับอุ้ม ผาง เที่ยวชมสวนส้มเพชรอุ้มผาง และโบสถ์ไม้สักที่บ้านหนองหลวงกันครับ

















สรุปการเดินทางจากอุ้มผางไปน้ำตก ทีลอซู โดยทางรถยนต์ดังนี้ครับ

- ก่อนเข้าเมืองอุ้มผางประมาณ 3 กม. (มาจากแม่สอด) ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหมายเลข 1167 ไปน้ำตกทีลอซู
- ผ่านบ้านแม่กลองใหม่ เจอจุดตรวจ ฉก.ทพ. 32 ไปอีก 4 กม. เจอสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 6 กม.
- ถึงด่านเก็บค่าบำรุงเส้นทาง จากนั้นไปอีก 100 เมตร ข้ามสะพานแล้วเจอแยกเข้าน้ำตกอยู่ซ้ายมือ เข้าไปอีก 25 กม.
- ผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าผาเลือด ไปสิ้นสุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง บริเวณนี้ตั้งแคมป์ได้
- เดินเข้าไปอีก 1.5 กม. ก็ถึงน้ำตกครับ






















____________END____________


Create Date :09 เมษายน 2555 Last Update :22 มีนาคม 2567 10:32:10 น. Counter : Pageviews. Comments :47