bloggang.com mainmenu search






อ่านเรื่องเกี่ยวกับเมืองน่าน

พาชมพุทธสถาน...แห่งน่านนคร (ที่นี่)
ปีกระต่าย...ไปไหว้พระที่วัดพระธาตุแช่แห้ง (ที่นี่)



6 ธันวาคม 2553 หลังจากที่เราพักที่น่านเมื่อคืนที่ผ่านไป และตระเวนเที่ยวไหว้พระไป 3-4 วัดรวมถึงวัพระบรมธาตุแช่แห้งด้วย (จะนำเสนอต่อไป).... เราก้ออกเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 110 ไปที่อำเภอนาน้อย ซึ่งต้องผ่าน อำเภอ เวียงสา แล้วแยกออกไปตามทางหลวงจังหวัดเพื่อต่อไปที่ อ.นาน้อย และ อช.ดอยเสมอดาวอีที

จะว่าไปแล้วถ้าคุณๆมาจากกรุงเทพก็ใช้เส้นทางหมายเลข 11... จากพิษณุโลก เข้าอุตรดิตถ์ แพร่ ร้องกวาง แล้วเลี้ยวขวาไปทางน่าน โดยจะถึง อ. เวียงสา ก่อนแล้วเลี้ยวขวาไป อ.นาน้อยครับ ง่ายและใกล้กว่า







ทิวทัศน์จากบริเวณที่กางเต้นท์ผาชู้







ขับเพลินๆ ดูวิวสองฝั่งทางไปเรื่อยๆ ซึ่งทางช่วง อ.เวียงสาเป็นทางขึ้นเขา แต่ไม่ชันนัก ทางดีขับสบาย บางช่วงเราจะเจอชาวบ้านมาปลูกเพิงขายของข้างทาง พอถึงตัวอำเภอนาน้อย ก็เลี้ยวซ้ายขึ้นดอย ระยะทางประมาณ 26 กม. ตรงนี้เราสามารถต่อไปเขตอุตรดิตถ์ได้....ก่อนขึ้เขาสู่ดอยเสมอดาว จะมีทางแยกขวาไปดูเสาดิน และคอกเสือบ้านปากนาย ซึ่งเราจะพากลับมาชมตอนท้ายบล๊อกครับ







อช.ศรีน่าน







อุทยานแห่งชาติศรีน่าน

อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอนาหมื่น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่ตามแนวสองฟากฝั่งลำน้ำน่าน จนไปสิ้นสุดที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ สภาพป่าเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อน วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ที่สำคัญของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของประชาชนในจังหวัดน่าน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหลายอย่าง และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ที่มีทิวทัศน์ที่สวยงามได้แก่ เสาดินและคอกเสือ ปากนาย แก่งหลวง จุดชมทิวทัศน์ดอยผาชู้ ทิวทัศน์ทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่าน จุดชมวิวดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์ มีเนื้อที่ประมาณ 640,237.50 ไร่ หรือ 1,024.38 ตารางกิโลเมตร (อ่านเพิ่มเติม)









ที่กางเต้นท์








จุดชมวิวผาชู้

เป็นจุดชมวิวที่ติดกับถนนที่เป็นหน้าผาใหญ่โดดเด่น สามารถมองเห็นทิวทัศน์และแม่น้ำน่านที่ทอดตัวคดเคี้ยวไปตามที่ราบลุ่มอย่างงดงาม การเดินทางให้ไปตามเส้นทางเดียวกับทางไปแก่งหลวง แต่ถึงก่อนแก่งหลวง จะมองเห็นวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำน่านและสภาพป่าไม้ที่สวยงามตลอดจนโขดหินและหน้าผาต่างๆ

ที่ผาชู้ยังมีร้านอาหาร และที่กางเต้นท์ เมื่อมองออกไปทางหุบเขาเห็นแม่น้ำน่านไหลผ่านเพื่อไปลงยังเขื่อนสิริกิติ์ ที่อยู่ตอนล่างลงไป เรานั่งทานมื้อบ่ายกันที่นั่น ก่อนออกเดินทางกลับไปทางดอยเสมอดาว








สายธงชาติที่ยาวที่สุดในประเทศไทย







เรื่องเล่าขาน ตำนานผาชู้


ตำนานผาชู้ ดอยผาชู้ เป็นโขดหินและหน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่เขียวขจีหลายแสนไร่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ และสายน้ำของแม่น้ำน่าทอดตัวไหลคดเคี้ยวสู่ทิศใต้ยาวหลายสิบกิโล ยามหน้าหนาวจะมีทะเลหมอกสีขาวตัดกับความเขียวขจีของป่า และแสงสีทองของดวงอาทิตย์ขึ้นงามเช้าอย่างสวยงามมาก และเป็นสถานที่เกิดตำนานรักสามเส้าที่ตัดสินความรักด้วยความตาย โดยมีตำนานเล่าว่า

"ณ ที่แห่งนี้เมื่อหลายปีที่ผ่านมามีตำนานเล่าขานสืบทอดกันว่า ที่แขวงศรีษะเกษมีเจ้าแขวงเป็นชายรูปงามนามว่า "เจ้าจ๋วง" ได้เสกสมรสกับ "เจ้าจันทร์" เป็นชายา ครองรักกันมาหลายขวบปียังไม่มีบุตร – ธิดาแต่อย่างใดอยู่มาวันหนึ่ง เจ้าจ๋วงได้ออกประพาสป่าเพื่อล่าสัตว์ ขณะตามล่าสัตว์ป่าได้หลงทางมาถึงบริเวณโขดหินสูงใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางแมกไม้ที่เขียวขจีมีสภาพสมบูรณ์ มีทัศนียภาพที่สวยงามยิ่งได้พบกับกระท่อมของพรานป่าซึ่งมีธิดาสาวสวยนาม "เจ้าเอื้อง" อาศัยอยู่ด้วยกันสองพ่อลูก

พอเจ้าจ๋วงได้พบประสบพักตร์เจ้าเอื้องทำให้เกิดความหลงใหล หลงรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้นจึงได้เฝ้าเพียงพยายามบอกรักเจ้าเอื้องอยู่เป็นเวลานาน กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ซึ่งความรักเปรียบเสมือน "น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน" ในที่สุดเจ้าจ๋วงก้ได้ครองรักกับเจ้าเอื้องเป็นชายาอีกนางหนึ่ง

เจ้าจันทร์เมื่อเห็นว่านางจ๋วงได้ประพาสป่า และไม่กับแขวงเป็นเวลานานจึงได้ติดตามเสาะหาอยู่หลายวัน จนกระทั่งวันหนึ่งได้ตามมาพบเจ้าจ๋วงกำลังพรอดรักกับเจ้าเอื้องอยู่บนยอดโขดหินใหญ่ จึงได้ตัดพ้อต่อว่าและยื่นคำขาดให้เจ้าจ๋วงเลือกเอาว่าจะตัดสินใจครองรักอยู่กับใคร แต่เพียงนางเดียว

เจ้าจ๋วงได้ใช้ความคิดอยู่เป็นเวลานาน ก็ไม่สามารถที่จะตัดสินใจเลือกใครคนใดคนหนึ่งได้จึงอธฺษฐานว่า "ถ้าความรักของเราทั้งสามคนเป็นความรักที่บริสุทธ์เป็นรักแท้ตราบเท่านิจนิรันดร์ ขอให้ร่างกายเรากลับกลายเป็นต้นไม้อยู่คุ่กับโขดหินใหญ่แห่งนี้ตลอดกาลนาน" ได้ตัดสินใจกระโดดหน้าผา

เจ้าจันทร์เห็นดังนั้นจึงได้กระโดดหน้าผาตามไป ส่วนเจ้าเอื้องได้ทราบและเกรงกลัวต่อบาปกรรมจึงได้กระโดดหน้าผาตามไปอีกคน ทำให้เสียชีวิตทั้งสามคนด้วยด้วยอำนาจคำอธิษฐานอันแรงกล้า "เจ้าจ๋วง" ได้กลายร่างเป็นต้นจ๋วง "เจ้าจันทร์" ได้กลายร่างเป็นต้นจันทร์ผา "เจ้าเอื้อง" ได้กลายร่างเป็นต้นกล้วยไม้ หรือดอกเอื้องขึ้นอยู่ตามหน้าผาแห่งนี้โขดหินใหญ่แห่งนี้จึงถูกเรียกขานนามว่า "ผาชู้" มาแต่บัดนั้น"


































ดอยเสมอดาว






ดอยเสมอดาว

บริเวณจุดชมวิวอีกจุดหนึ่งของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่เป็นลานกว้างตามสันเขา สามารถกางเต็นท์ได้ประมาณ 20-30 หลัง แต่ต้องมาจับจองพื้นที่ในตอนเช้า หากมาถึงบ่ายหรือเย็น พื้นที่ส่วนนี้อาจจะเต็มและต้องกางในชั้นที่ลดหลั่นลงมา เหมาะสำหรับการพักผ่อน ดูดาว ดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกดินในบริเวณเดียวกัน จุดนี้มีชื่อว่า “ดอยเสมอดาว” สามารถมองเห็นผาหัวสิงห์ได้เป็นลักษณะของผาหินขนาดใหญ่มองดูคล้ายหัวของสิงห์โต หากจะเดินขึ้นบนผาหัวสิงห์ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วย









เดินขึ้นสู่จุดชมวิว











กางเต้นท์ตามนี้




















จุดชมวิวดอยเสมอดาว ส่วนที่เห็นไกลๆคือผาหัวสิงห์










มองเห็นแม่น้ำน่านด้านล่าง










ถ่ายกลับไปที่กางเต้นท์




















ตอนลงจากดอยพบขบวนพระธุดงค์กำลังเดินสวนทางขึ้นดอย











บริเวณเสาดินนาน้อย







เสาดินและคอกเสือ

เสาดินและคอกเสือ เกิดจากการพังทลายของดินเป็นพื้นที่กว้างประมาณ 20 ไร่ กระจัดกระจายไปตามสภาพพื้นที่ โดยมีป่าเต็งรังขึ้นอยู่ประปราย ลักษณะของเสาดินคล้ายแกรนด์แคนยอน เหมือนกับแพะเมืองผีของจังหวัดแพร่ เสาดินและคอกเสือตั้งอยู่ที่ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ไปตามเส้นทางที่ไปดอยเสมอดาว แล้วแกออกไปทางขวามือประมาณ 5 กิโลเมตร มีป้ายบอกตลอด









บริเวณเสาดินนาน้อย อีกภาพ










บริเวณเสาดินคอกเสือ











บริเวณเสาดินคอกเสือ







การเดินทาง

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ผ่านนครสวรรค์ พิษณุโลกถึงแพร่ จากแพร่ตามถนนยันตรกิจโกศล ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ไปถึงอำเภอเวียงสา เลี้ยวขวาไปตามถนนเจ้าฟ้า ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1026 จากอำเภอ เวียงสาไปอำเภอนาน้อย ระยะทางประมาณ 35 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามถนนสายนาน้อย -ปางไฮ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1083 ไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงเสาดิน และถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ


ติดต่อ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
ตู้ ปณ.14 อ. นาน้อย จ. น่าน 55150
โทรศัพท์ 0 5470 1106 โทรสาร 0 5470 1106 อีเมล srinan_13@hotmail.com








ขอบคุณที่ตามอ่านครับ






_____________






Create Date :01 กุมภาพันธ์ 2554 Last Update :28 กรกฎาคม 2556 21:17:11 น. Counter : Pageviews. Comments :46