"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
28 สิงหาคม 2558
 
All Blogs
 
บางกอกก่อนเป็นมหานคร ขึ้นชื่อลำไยลิ้นจี่รสเลิศ และ...แหล่งปลูกกาแฟ

โดย โรม บุนนาค







สะพานไม้กลางภาพคือจุดที่สร้างสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
ด้านซ้ายคือป้อมมหากาฬ





ปัจจุบัน กรุงเทพฯของเราขึ้นอันดับเป็นมหานครแห่งหนึ่งของโลกแล้ว มีประชากรจากการสำรวจในปลายปี ๒๕๕๗ ถึง ๕,๖๒๔,๗๐๐ คน

และยังมีคนที่อยู่อาศัยโดยไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร กับคนจากปริมณฑลที่เข้ามาทำงาน รวมทั้งนักท่องเที่ยวซึ่งเห็นอยู่ทั่วไปอีก แต่ละวันกรุงเทพมหานครจึงมีผู้คนขวักไขว่เกินกว่า ๑๐ ล้านคนขึ้นไปมาก

กรุงเทพฯยังสร้างเรื่องเหลือเชื่อไว้ด้วยว่า เป็น “เมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก” หรือ World’s Best City Award โดยได้รับรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๖ ถึง ๔ ปีซ้อน จาก เทรเวล แอนด์ เลชเชอร์ (Travel+Leisure) นิตยสารท่องเที่ยวยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา

ในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา กรุงเทพฯยังเป็นเพียงหมู่บ้านที่เรียกกันว่า “บางกอก” มีชื่อเสียงทางด้านปลูกผลไม้

ในแผนที่และเอกสารของชาวตะวันตก ปรากฏชื่อเขียนต่างๆกัน เช่น Bancoc , Bancok , Banckok , Bankoc , Banckock , Bangok , Bancocq , Bancock

ส่วนคำว่า Bangkok เป็นคำที่สังฆราชฝรั่งเศส ใช้เขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีสเป็นประจำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษรไปถึงพวกฝรั่งก็ทรงใช้คำนี้ จึงถือเป็นคำทางการตลอดมา

บางกอก เคยเป็นที่ตั้งของด่านภาษี ซึ่งพ่อค้าชาวฮอลันดาได้บันทึกไว้เมื่อปี ๒๑๖๐ - ๒๑๖๑ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม กล่าวถึงบางกอกไว้ว่า

“จากปากน้ำเข้าไป ๕ ไมล์ เป็นที่ตั้งของเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงมีชื่อว่า บางกอก ณ ที่นี่เป็นที่ตั้งของด่านภาษีแห่งแรก เรียกว่า ขนอนบางกอก (Canen Bangkok) ซึ่งเรือและสำเภาทุกลำไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม จะต้องหยุดจอดทอดสมอ และแจ้งให้ด่านนี้ทราบก่อนว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อันใด...”

ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่า

“สวนผลไม้ที่บางกอกนั้นมีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่งแม่น้ำ โดยทวนขึ้นไปสู่เมืองสยาม (หมายถึงกรุงศรีอยุธยา) ถึง ๔ ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหารซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา”

สมัยกรุงธนบุรี สวนผลไม้ของบางกอกได้ขยายไปถึงตำบลบางช้าง สมุทรสงคราม ถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระอมรินทรา ราชินีในรัชกาลที่ ๑ มีคำพูดกันว่า

“สวนในเรียกบางกอก สวนนอกเรียกบางช้าง” และยังแบ่งเป็น “บางบน” กับ “บางล่าง” โดยอยู่เหนือพระราชวังก็เรียก “บางบน” อยู่ใต้ลงไปเรียก “บางล่าง”

ผลไม้ของบางกอกฝั่งธนบุรีมีรสชาติขึ้นชื่อเป็นย่านๆ เช่น ทุเรียนบางบน มีรสมันมากกว่าหวาน ทุเรียนบางล่างมีรสหวานมากกว่ามัน มะปรางท่าอิฐ เงาะบางยี่ขัน ลิ้นจี่บางอ้อ ขนุนบางล่าง

ลำไยบางน้ำชน กระท้อนคลองอ้อม ฝรั่งบางเสาธง เงาะ-ลางสาดคลองสาน ละมุดสีดาราษฎร์บูรณะ ส้มเขียวหวานบางมด สวนฝั่งตะวันออกแถวตรอกจันทร์ ถนนตก ก็ขึ้นชื่อเรื่องลิ้นจี่และลำไย

ที่น่าแปลกใจก็คือ บางกอกยังเคยเป็นแหล่งผลิตกาแฟด้วย ปรากฏหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๓ ลงวันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จัตวาศก ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๓๘๕ มีข้อความว่า

“...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า จะต้องพระราชประสงค์ต้นกาแฟเป็นอันมาก โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการใหญ่น้อย เพาะต้นกาแฟเข้ามาถวายเป็นอันมาก และกระโปรงตุ้มลูกมะพร้าวที่จะใส่ต้นกาแฟนั้นหามีไม่

ให้เกณฑ์เอาเลกประจำการในหมู่ ทำลูกตุ้มมะพร้าวให้ได้ ๕,๐๐๐ ใบนั้น เกณฑ์และให้ผู้ซึ่งต้องเกณฑ์ทั้งนี้ ไปเบิกเปลือกมะพร้าวต่อเจ้าภาษี มาร้อยหวายให้มั่นคง แล้วให้มาส่งต่อผู้รับสั่ง ณ คลังพิมานอากาศ แต่ ณ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ให้ครบตามเกณฑ์ อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง”

ต่อมาในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๘๖ ก็มีหมายรับสั่งอีกว่า “เม็ดข้าวแฝ่” ที่ให้ไปเพาะ และส่งไปปลูกในสวนหลวงสวนราชการนั้น ยังไม่เพียงพอ

ให้ข้าราชการทหารและพลเรือน ทั้งวังหลวงวังหน้าเร่งทำบัญชีหางว่าวมา จะได้จ่ายเม็ดข้าวแฝ่ไปเพาะครบตามจำนวน อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงส่งสำเภาไปค้ากับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงทรงทราบว่ากาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการสูง บริเวณสวนหลวงที่ปลูกกาแฟก็คือ ด้านตะวันออกของพระราชวัง ปัจจุบันก็คือบริเวณสนามไชย พระราชวังสราญรมย์ และวัดราชประดิษฐ์นั่นเอง

ส่วนสวนกาแฟของขุนนาง ก็กระจายอยู่รอบกรุงเทพฯ เช่นบริเวณที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติและท่านผู้หญิง สร้างวัดพิชัยญาติและวัดอนงคารามขึ้นในปี ๒๓๘๔ ก็อยู่ในบริเวณที่เป็นสวนกาแฟของท่าน

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้ เริ่มมีชาวตะวันตกเข้ามา หลังจากขาดหายไปตั้งแต่สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สังฆราชปาเลอกัว ซึ่งเข้ามาในปี ๒๓๗๓ ได้บรรยายภาพของกรุงเทพฯ ขณะย่างก้าวเข้ารับวัฒนธรรมตะวันตกไว้ว่า

“กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนที่อุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่มตลอดปี จึงงามเหมือนภาพวาด กลุ่มเรือใบประดับธง จอดเป็นทิวแถวตามสองฝั่งแม่น้ำ ยอดแหลมหุ้มทองของมณฑปและโครงสร้างอันสวยงามของพระปรางค์ ที่มีการประดับอย่างสวยงามด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสี ลอยสูงเด่นอยู่ในอากาศ

ยอดเจดีย์หุ้มทองประดับกระเบื้องหลากสี สะท้อนแสงเหมือนสีรุ้ง เบื้องหน้าของท่าน จะมองเห็นร้านค้าบนเรือนแพจำนวนนับพันเรียงเป็นสองแถว ยาวตามริมฝั่งแม่น้ำ มีเรือสวยงามแล่นตัดข้ามฟากไปมา ตลอดความยาวของลำน้ำอันคดเคี้ยว

ป้อมสีขาวคล้ายหิมะ ตัวเมืองซึ่งมีหอคอยแลประตูมากมาย ลำคลองที่ตัดผ่านไปรอบเมือง ยอดแหลมของปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง สามารถมองเห็นได้จากทั้งสี่ทิศ

มีอาคารแบบจีน อินเดีย และยุโรป เสื้อผ้าอาภรณ์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละชาติ เสียงดนตรี เสียงเพลงจากโรงละคร ความเคลื่อนไหวของชีวิตในเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวต่างชาติมองด้วยความชื่นชมและพิศวง...”

ในขณะนั้นกรุงเทพฯ ไม่มีรถยนต์สักคันเดียว ใช้กันแต่การสัญจรทางน้ำ แม่น้ำและลำคลองเป็นเหมือนถนนอันจอแจ มีเพียงใจกลางเมือง และย่านตลาดเท่านั้น ที่มีถนนปูด้วยอิฐแผ่นใหญ่ๆ แต่ก็เป็นถนนสำหรับคนเดิน

ส่วนถนนสำหรับรถสายแรกเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔ ในปี ๒๔๐๐ เมื่อกงสุลอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และนายห้างต่างประเทศได้ร้องว่า เรือสินค้าที่ต้องขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ นั้นเสียเวลามาก เพราะแม่น้ำคดเคี้ยว และไหลเชี่ยวในฤดูน้ำหลาก

หากลงไปตั้งห้างแถวปากคลองพระโขนง แล้วขุดคลองลัดมาเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษม จะสะดวกขึ้นมาก

จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแยกจากจากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่าทุ่งหัวลำโพงเป็นเส้นตรง ไปบรรจบคลองพระโขนงที่ใกล้ปากคลอง นำดินขึ้นมาถมด้านเหนือเพียงด้านเดียว พูนดินเป็นถนนคู่ขนานกันไป เรียกกันว่า “คลองตรง” และ “ถนนตรง”

แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “คลองหัวลำโพง” และ “ถนนหัวลำโพง” ซึ่งนับเป็นถนนสายแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานนามใหม่ให้ถนนหัวลำโพงในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ ว่า “ถนนพระรามที่ ๔” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายนี้

เมื่อขุดคลองถนนตรงให้ตามคำขอแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีบริษัทห้างร้านของชาวตะวันตกย้ายไปอยู่ที่ปากคลองพระโขนงตามที่อ้างเลย ต่อมาในปี ๒๔๐๔ ชาวตะวันตกเหล่านั้นก็เข้าชื่อกันกราบบังคมทูลอีกว่า

“ชาวยุโรปเคยขี่รถ ขี่ม้า เที่ยวตากอากาศได้ตามสบาย ไม่มีเจ็บไข้ เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพพระมหานคร ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้า พากันเจ็บไข้เนืองๆ...”

ด้วยเหตุนี้จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายใหม่ตามคำขออีก โดยเริ่มจากคลองรอบกรุง ตรงสะพานดำรงสถิตที่สามยอดในปัจจุบัน ไปเชื่อมกับถนนตรง ที่คลองผดุงกรุงเกษมตรงหัวลำโพง สายหนึ่ง

แล้วตัดแยกจากถนนใหม่นี้ที่เหนือวัดสามจีน (วัดไตรมิตร) ตรงไปจนตกแม่น้ำที่บางคอแหลมอีกสายหนึ่ง

จุดที่แยกออกเป็น ๒ สายนี้เรียกกันว่า “สามแยก” การสร้างถนนสายนี้นับเป็นสายแรกที่ใช้วิทยาการตะวันตก เรียกกันว่า “ถนนใหม่” ชาวตะวันตกเรียก “นิวโรด” ต่อมาจึงพระราชทานนามว่า “ถนนเจริญกรุง”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเกิดถนนและสะพานขึ้นมากมายสำหรับรถยนต์ แต่ก็ยังไม่ทิ้งคลอง มีการขุดเชื่อมหัวเมืองใกล้เคียงขึ้นอีกหลายคลอง บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากในรัชกาลนี้

ย่านการค้าที่คึกคักที่สุดในยามนั้นได้แก่ย่านเยาวราช ซึ่งเป็นชุมชนของคนจีน มีท่าเรือที่ถนนทรงวาด ย่านบางรักเป็นชุมชนของชาวยุโรป เป็นที่ตั้งของสถานทูต และมีท่าเรือตลอดถนนตก

ส่วนบางลำพูเป็นย่านการค้าของคนไทย มีสินค้าที่ข้ามมาจากฝั่งธนบุรีและจากหัวเมืองทางแม่น้ำ

กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งจำนวนประชากรและสภาพบ้านเมือง โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี ๒๕๔๐ ที่ฟองสบู่แตก มองไปทางไหนในกรุงเทพฯ ก็เห็นแค่เครนยักษ์กำลังสร้างตึก

ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวหลายทวีป ต่างก็ตั้งเป้าหมายปลายทางมาที่กรุงเทพฯ จนติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของโลกมาตลอด

ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อกรุงเทพฯ นอกพระบรมมหาราชวัง วัดวาอาราม ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแล้ว คนไทยยังยิ้มแย้มแจ่มใส ในการต้อนรับแขกเป็นนิสัย

ที่สำคัญจะหาอาหาร ในเมืองท่องเที่ยวราคาถูกอย่างกรุงเทพฯ ได้ยาก ไม่ว่าข้าวไข่เจียวหรือก๋วยเตี๋ยวถังแตกข้างถนน แม้ราคาจะขึ้นไปถึง ๒๐ บาทแล้ว ก็ยังห่าง ๑ ดอลลาร์อเมริกัน

นักท่องเที่ยวที่ต้องการประหยัดเงินเพื่อเที่ยวได้นานๆ จึงยึดเป็นอาหารหลัก แถมยังโดดขึ้นรถเมล์ฟรี จากภาษีประชาชนคนไทยซะอีก อะเมซิ่งไทยแลนด์สุดๆ กันไปเลย






แผนที่เมืองบางกอกของลาลูแบร์
แยกซ้ายด้านล่างคือคลองบางกอกใหญ่





ภาพเขียนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์






ถนนเจริญกรุงสมัยมีรถรางแล้ว






โรงพักปทุมวันปี ๒๔๖๓





ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์
คุณโรม บุนนาค

สิริสวัสดิ์ศุกรวารค่ะ



Create Date : 28 สิงหาคม 2558
Last Update : 28 สิงหาคม 2558 12:24:07 น. 0 comments
Counter : 2379 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.