|
| 1 |
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |
30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
O โคลงยวนพ่าย - คำแปล..๒ O
เพลง....พระอาทิตย์ชิงดวง วงกอไผ่
๏ หัวเมืองคิดใคร่สู้ - - สงคราม ไท้เท้าจักเป็นกล - - ก่อนผ้าย บเกรงบกลัวขาม - - สักอยาด กลอยแกล่เศร้าส้อมต้าย - - แต่งหอ ฯ
แปล ๑. เจ้ามืองเชียงชื่น (คือเจ้าเมืองแจ้ห่มเดิม) คิดปรารถนาจะสู้ศึกสงคราม (แต่) พระเจ้าติโลกราชจะทรงแสร้งทำกลอุบายก่อนเสด็จกลับไป (เมืองเชียงใหม่) โดยทรงทำเป็นไม่เกรงกลัวแม้แต่น้อย ทรงร่วมซ่อมแซมเสาเขื่อนตกแต่งหอรบด้วยความเศร้า (หดหู่) [หรือ ในขณะเดียวกันทรงให้ซ่อมแซมเสาเขื่อนตกแต่งหอรบ]
๒. เจ้าเมือง (ฝ่ายอยุธยา) คิดปรารถนาจะสู้ศึกสงคราม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงแสร้งทำกลอุบายก่อนที่จะยกไปรบ (ความจริง) ไม่ได้ทรงเกรงกลัว (ฝ่ายล้านนา) เลยแม้แต่น้อย แต่ทรงทำเป็นเศร้าโศก และทรงร่วมซ่อมแซมเสาเขื่อนตกแต่งหอรบ [หรือ ในขณะเดียวกันทรงให้ซ่อมแซมเสาเขื่อนตกแต่งหอรบ]
๏ วยงป้อมวยงอาจไว้ - - แหนหาญ แห่นา ลดเขื่อนขัวยอหิน - - ห่วงแร้ว ปูนกันเกือบกุํทวาร - - ทวยรรอบ ทุกแห่งหอต้ายแกล้ว - - นั่งนอง ฯ
แปล ตัวเมืองและป้อมประจำเมืองมีทหารหาญเฝ้าดูแลอย่างพร้อมพรั่ง [หรือ ตัวเมืองและป้อมปราการประจำเมืองมีทหารเฝ้าดูแลอย่างพร้อมพรั่ง] มีการยกเสาเขื่อนและสะพานที่คูเมืองออก เอาหินใส่บ่วงแร้วเพื่อดีดซัดไป แบ่ง (วางกำลัง) ควบคุมอยู่ใกล้ประตูเมืองโดยรอบ [หรือ แบ่ง (วางกำลัง) ควบคุมอยู่ใกล้ประตูเมืองถึง ๒ ชั้น] ตามหอรบและเสาเขื่อนล้วนมีทหารกล้ารักษาการณ์อยู่ทุกแห่ง
๏ พวกพลช้างม้าควบ - - คอยแหน ท่านนา หัวหมื่นนครครอง - - รอบรั้ง เสโล่หดาบเขนแพน - - ขวืนไขว่ รางก่อเพลองหน้าตั้ง - - หนั่นหนา ฯ
แปล ๑. พวกพลช้างม้าคอยเฝ้าระวังรักษาเจ้าเมืองเชียงชื่นอยู่โดยรอบ เจ้าเมืองลำปางก็มาช่วยคุ้มครองดูแลด้วยเช่นกัน มี (ทหารถือ) เสโล ดาบ เขน และทวน เดินขวักไขว่ (บนกำแพงเมือง) มีรางสำหรับเผาถ่านเพลิง (หรือคั่วกรวดทราย หรือต้มน้ำมันเพื่อเทราดข้าศึก) ตั้งไว้ข้างหน้าเป็นจำนวนมาก
๒. พวกพลช้างม้าคอยเฝ้าระวังรักษาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอยู่โดยรอบ หัวหน้าพลรบจากลำปาง (ที่มาเข้าข้างอยุธยา) ก็มาช่วยคุ้มครองดูแลโดยรอบด้วยเช่นกัน มี (ทหารถือ) เสโล ดาบ เขน และทวนเดินขวักไขว่ (บนกำแพงเมือง) มีรางสำหรับเผาถ่านเพลิง (หรือคั่วกรวดทราย หรือต้มน้ำมันเพื่อเทราดข้าศึก) ตั้งไว้ข้างหน้าเป็นจำนวนมาก
๏ นานาพลไพร่ห้อม - - แหนทวาร หอแฮ หืนหอกสรรพาฝา - - เลื่อนล้อม ฝูงหาญแข่งขันหาญ - - หาเพื่อน ตายแฮ พาพรยบทุกด้านพร้อม - - ไพร่นาย ฯ
แปล มีไพร่พลล้อมรักษาประตูและหอรบ มี (ทหารถือ) หอกซัดเตรียมพร้อมอยู่ที่ประตูฝาเลื่อนโดยรอบ [หรือ มี (ทหารถือ) หอกซัดเตรียมพร้อมด้วยความกระตือรือร้นอยู่ที่ประตูฝาเลื่อนโดยรอบ] บรรดาทหารทั้งหลายก็แข่งขันกันแสดงความกล้าหาญเพื่อตาย (แทนเจ้านาย) [หรือ บรรดาทหารทั้งหลายแสดงความกล้าหาญอย่างเข้มแข็งเพื่อตายพร้อมกับเพื่อน] มีทหารทั้งนายและไพร่เตรียมพร้อมอยู่ทุกด้าน
๏ ปืนอยาอย่าเบื่อง้วน - - ขืนเขม แต่งแฮ หอกดาบแหลนหลาวหลาย - - ส่ำแกล้ว ปืนไฟร่อรูเตม - - ตับอยู่ อำมรารยงร้อยแล้ว - - เขื่อนขนัน ฯ
แปล ได้เตรียมธนูอาบยาพิษ ยาเบื่อ ยาพิษ ขวากหนาม ไม้ปลายแหลมที่เป็นอาวุธ หอก ดาบ แหลน หลาว และพวกทหารกล้าไว้อย่างเต็มที่ วางปืนไฟตามช่องที่กำแพงเมืองไว้เป็นแถวพร้อมที่จะจุดยิงได้ทุกเมื่อ และมีปืนใหญ่เรียงรายอยู่มากมายไว้ป้องกันเขื่อน [หรือ และมีปืนใหญ่เรียงเป็นระเบียบไว้ป้องกันเขื่อน]
๏ ขวาซ้ายหมายหมู่พ้อง - - พลหาญ หื่นแฮ นองนั่งในนางจร้ล - - แจกถ้วน รไวรวังทวาร - - ทุกที่ พลพวกหาญห้าวล้วน - - อยู่อยาย ฯ
แปล ทั้งด้านขวาและด้านซ้ายได้กำหนดให้พวกทหารที่มีความฮึกเหิมที่จะออกรบอยู่ บรรดาทหารที่อยู่ในระหว่างเสานางจรัลซึ่งมีเป็นจำนวนมากนั้น ก็ได้แบ่งกันไปอยู่โดยทั่วถึงกัน มีความพร้อมที่ระแวดระวังอยู่ทุกประตู บรรดาทหารกล้าทั้งหลายล้วนเรียงรายอยู่ทั่วไป
๏ หลายแถวหลายถ้องถี่ - - กันกุํ เกือบแฮ หลายส่ำหลายสารหลาย - - พวกพ้อง พลลาวลลุํทัง - - ชยงชื่น แซงแฮ เตมอาจเตมป้อมป้อง - - ป่ยมหอ ฯ
แปล (ทหาร) หลายแถวหลายทางก็ช่วยกันป้องกันเมืองอย่างใกล้ชิด มี (ทหาร) หลายเหล่า มีช้างมากมายหลายพวกพ้อง ในเมืองเชียงชื่นมีพวกทหารล้านนา [หรือ มีทหารที่อพยพมาจากเมืองเชียงชื่น] ปนกันอยู่อย่างชุลมุน มีทหารหาญอยู่เต็มป้อมคอยป้องกันหอรบเต็ม (กำลังความสามารถ)
๏ หัวเมึองหัวหมื่นแกล้ว - - การรณ สรรแต่สารพอขา - - ขี่ขว้าง พลเมืองเพ่อมพลลาว - - ดยรดาษ คาดคาดค้าวค้าวอ้าง - - อวจหาญ ฯ
แปล เจ้าเมืองและแม่ทัพนายกองล้วนมีความเก่งกล้าในการรบ ได้เลือกช้างตัวที่ขี่ได้ถูกใจขับออกไปอย่างรวดเร็ว [หรือ ไปป้องกันเมือง] ชาวเมืองได้ทหารล้านนายกมาช่วยป้องกันเมืองจนเต็มไปหมด เสียงชักอาวุธออกมาแกว่งเควี้ยวคว้าวสำแดงความองอาจกล้าหาญให้ปรากฎ [หรือ คาดคะเนว่ามีกำลังพลมากพอที่จะแสดงความองอาจกล้าหาญให้ปรากฎ]
๏ สรพร้อมสรพรากพ้อง - - พลขันธ์ สรพรั่งทุกทางทวาร - - อยู่อยั้ง พนักทรวงทยบขนดขนัน - - เพลาะแต่ง แครเครื่องยกย้ายตั้ง - - รยบรัล ฯ
แปล (ในเมืองเชียงชื่นจึง) พร้อมพรั่งไปด้วยกองทหาร ทุกประตูก็มีทหารเฝ้ารักษาอยู่เต็มไปหมด เจ้าหน้าที่ประจำซองก็ช่วยกันขุดแต่งสนามเพลาะไว้เป็นวง มีแคร่เครื่องหามสำหรับยกย้ายอาวุธ (ดินและหินเป็นต้น) เอาไปจัดตั้งเรียงรายไว้อย่างเป็นระเบียบ
๏ ทุกหอทุกแห่งหมั้น - - หมู่หลวง ทยบแฮ ลดเขื่อนลดขัวขนัน - - ช่องช้าง ทงปักทังปวงพล - - หาญแห่ ปักขวากเป็นแขวงขว้าง - - ทั่วทาง ฯ
แปล ทุกหอรบและทั่วทุกหนแห่งล้วนมั่นคง มีหมู่ทหารพร้อมพรั่ง [หรือ มีหมู่ทะลวงฟะนพร้อมพรั่ง] ลดเขื่อนลดสะพานลงแล้วกั้นช่องทางไม่ให้ช้าง (ของข้าศึก) เข้ามาได้ มีกองทหารแห่ห้อมล้อมไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองเมือง ปักขวากเป็นบริเวณกว้างอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง [หรือ ปักขวากดักขวางอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง]
๏ หัวเมืองแซ่หํ่าห้าว - - แหนทวาร รอบแฮ ขับขี่กุญชรกาง - - กล่าวกล้า ตรบัดตรแบงหาญ - - หาดาบ ค้าค่าพลช้างม้า - - ดาษแดน ฯ
แปล เจ้าเมืองแจ้ห่มผู้แกล้วกล้าเฝ้าดูแลรักษา (ตรวจ) ประตูเมือง (เชียงชื่น) รอบทั้งเมือง ขับขี่ช้างกางกั้น (และ) กล่าวคำ (ปลุกใจ) อย่างกล้าหาญ ทันใดนั้นพวกทหารหาญก็ร้องเรียกหาดาบ (มาสะพาย) ทั้งพลช้างพลม้าก็แสดงตนเต็มไปทั่วทั้งเมือง
๏ จามรยาบยาบกลึ้ง - - กลดไกว แกว่งแฮ สรพรั่งพลหาญแหน - - แห่เฝ้า น้าวน้าวโห่เอาไชย - - ชมชื่น พินพาทยกลองฆ้องเคล้า - - คลี่สยง ฯ
แปล (เครื่องสูงทั้งหลายมี) จามรและกลิ้งกลดก็ขยับขึ้นลงแกว่งไกวไปอย่างช้าๆ พลทหารผู้กล้าหาญก็พากันมาเฝ้าอย่างพร้อมพรั่ง โน้มน้าว (จิตใจ) โดยโห่ร้องเอาชัยด้วยความชื่นบาน และมีเสียงพิณพาทย์ กลอง ฆ้อง ประสานเสียงกันกระจายออกไป
๏ หัวพันหัวหมื่นหมั้ว - - โดยดยร ดาษแฮ หอกดาบโตมรรยง - - รอบช้าง แสะสารส่ำทยรทัง - - เมืองมี่ เสโลหเขนขว้างด้าง - - ไขว่ขวืน ฯ
แปล หัวพัน หัวหมื่น ชุมนุมกันมากมายเกลื่อนกลาดไปทั่ว มีหอก ดาบ โตมร เรียงรายรอบช้าง หมู่ม้าและหมู่ช้างล้วนส่งเสียงอีกทีกทั่วทั้งเมือง ทั้ง (ทหารที่ถือ) โล่ เขน และดั้งมีมากมายขวักไขว่เต็มไปหมด
๏ ถมทวารทุกที่ไว้ - - แหลนหลาว ทุกช่องเชองปืนไฟ - - ต่อตั้ง พลเมืองเพ่อมพลชาว - - ชยงใหม่ รยบรยบคือรั้วรั้ง - - หนั่นหนา ฯ
แปล ปิดประตู (เมืองเชียงชื่น) แล้วเอาแหลนหลาวมาวางเตรียมไว้ทุกแห่ง ทุกช่องเชิงเทินเอาปืนไฟมาวางตั้งไว้ต่อๆกัน พลเมืองชาวเชียงชื่นรวมกับพลเมืองชาวเชียงใหม่ที่มาเพิ่มเรียงรายเป็นระเบียบประนึ่งรั้วที่มั่นคงแข็งแรง
๏ เมืองนี้เชองใช่ด้วย - - ภุชพล ง่ายนา เบญจทูรดาการ - - พ่างล้วน มรรคาส่วนสถลสฐิร - - ทุกที่ พลพวกช้างม้าล้วน - - โจษแจ ฯ
แปล เมือง (เชียงชื่น) นี้มิใช่จะตีด้วยกำลังทัพได้โดยง่าย (ด้วยมี) ลักษณะที่จะเข้าถึงได้ยากครบทั้ง ๕ ประการ ทางบกทุกแห่งล้วนมั่นคง กำลังทหาร ช้าง ม้า ล้วนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว [หรือ พวกพลช้างม้าล้วนเล่าลือกันอื้ออึง (ถึงความยากทั้ง ๕ ประการนี้)]
๏ บางเมงเปนขื่หน้า - - ขวางขนัน ก่อนแฮ มีแม่ยมเป็นแย - - แก่งกั้น เข้าสามเกือบกันกรร - - เมืองมิ่ง เขาแฮ คูคอบสามชั้นซรึ้ง - - ขวากแขวง ฯ
แปล (เมืองเชียงชื่น) มีคลองบางเม็งเป็นเสมือนขื่อขวางอยู่เบื้องหน้า มีแม่น้ำยมเป็นดุจแปขวางกั้น มีภูเขา ๓ ลูกล้อมเกือบจดถึงกันป้องกันเมืองไว้ มีคูลึก ๓ ชั้นล้อมรอบและ (ในคู) มีขวากปักขวางไว้ด้วย
๏ เร่งหมั้นเหลือหมั้นยิ่ง - - วยงเหลก มีกำแพงแลงเลือน - - ต่อต้าย หัวเมืองเตกสยงกล่าว - - แก่บ่าว ทังขวาทังซ้ายถ้วน - - หมู่หมาย ฯ
แปล (เมืองเชียงชื่น) มีความมั่นคงมากยิ่งกว่าเวียงเหล็กคือเมืองที่มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ (เพราะ) ล้อมรอบด้วยกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงเรียงต่อกันกับเสาเขื่อน [หรือ ล้อมเสาเขื่อน หรือ บังเสาเขื่อน] เจ้าเมืองแจ้ห่มได้ป่าวประกาศให้บรรดาบ่าวไพร่ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายทราบทั่วทุกหมู่เหล่าว่า
๏ ชาวเราอย่าอ่าวอ้าง - - อางขนาง หนึ่งเลอย เราก็เหลือหลายเมือง - - ก็หมั้น กรุงก็เสด็จทาง - - ดยวต่อ กันแฮ นํ้าใช่แนวนํ้าขั้น - - ข่าวไกล ฯ
แปล พวกเราอย่าได้กล่าวด้วยความร้อนใจและคลางแคลงใจเลย พวกเราก็มี (ไพร่พล) มากมาย เมืองก็มั่นคง พระเจ้าติโลกราชก็จะเสด็จต่อมาถึงเมืองนี้ แม่น้ำก็มิใช่เป็นอุปสรรคในการส่งข่าว
๏ เมืองนี้พ่อแม่คุํ้ - - ครองแคลน ชีฤๅ แหนงชื่นชํเอาไชย - - โห่ห้อม อย่าพลหมื่นแสนรุํ - - เราค่งง คามนา ชิว่าพลพานล้อม - - กล่าวกรร ฯ
แปล เมือง (เชียงชื่น) นี้จะขาดแคลนบรรพบุรุษคุ้มครองเชียวหรือ (เรา) ถ้าจะมาชื่นชมโห่เอาชัยเสียดีกว่า [หรือ ควรจะชื่นชมโห่เอาชัย] (เพราะ) อย่าว่าแต่ทหารจำนวนหมื่นจำนวนแสนที่จะมารุมเราเต็มบ้านเต็มเมืองเลย แม้ว่าจะมีทหารรุมมาล้อมก็ยังกันไว้ได้ [หรือ แม้ว่ามีทหารจำนวนล้านมาล้อมก็ยังกันไว้ได้]
๏ ที่นั้นพระอยั่งแล้ว - - แลการย ถ่องแฮ ควรคลี่พลพลันยก - - ย่างผ้าย บัดมีพระบัณฑูรสาร - - พระสั่ง แก่ไพร่ขวาซ้ายถ้วน - - พวกพล ฯ
แปล ครานั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงคาดคะเนเหตุการณ์อย่างถ่องแท้แล้วทรงเห็นควรที่จะเคลื่อนกองทัพยกไปโดยเร็ว เวลานั้นทรงมีพระบรมราชโองการแก่บรรดาไพร่พลฝ่ายขวาซ้ายทั่วทุกคน
๏ เชองลุกเชองนั่งปล้น - - ปีนเมือง พระสั่งเชองกลกล - - กล่าวล้วน สบแสนคนเนืองนบ - - บัวบาท พระแฮ มาแต่งการเกื้อถ้วน - - หมู่หมาย ฯ
แปล สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอธิบายให้ทราบถึงยุทธวิธีในการลุกการนั่ง การปล้นปีนเข้าเมือง พร้อมทั้งชั้นเชิงและอุบายต่างๆ ประชาชนนับแสนได้หนุนเนื่องกันมาเฝ้าเบื้องพระยุคลบาท พร้อมที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกหมู่เหล่า
๏ สารพาฝ่าเลื่อนแบ้ - - บาพก ขอหอกแหลนหลาวหลาย - - ส่ำส้าง วยงเหล็กหลากหอหก - - ตรยมแต่ง ทังทุ่มทู้ต่างย้าง - - จรวจไจร ฯ
แปล ๑. ใช้ช้างบรรทุกฝาเลื่อนจนเต็มแปล้รวมทั้งปืนไฟ ขอเกี่ยว หอก แหลน หลาวที่ได้สร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ได้เตรียมสร้างหอหกหรือบันไดหกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทุบทูคือเครื่องป้องกันตัว (เพื่อตี) เมืองเชียงชื่นซึ่งมีความเข้มแข็งดุจเวียงเหล็ก ทหารทั้งหลายต่างก็เดินตรวจตราอยู่ (ตลอดเวลา)
๒. ใช้ช้างบรรทุกฝาเลื่อนจนเต็มแปล้รวมทั้งปืนไฟ ขอเกี่ยว หอก แหลน หลาวที่ได้สร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก (เพื่อเข้าตี) เมืองเชียงชื่นซึ่งมีความเข้มแข็งดุจเวียงเหล็ก (เพราะ) มีหอรบมากถึง ๖ แห่ง และเตรียมที่จะต่อสู้ พร้อมสรรพด้วยทุบทูคือเครื่องป้องกันตัว ทหารทั้งหลายต่างก็เดินตรวจตราอยู่ (ตลอดเวลา)
๏ ผชุํพลทุกหมู่เต้า - - เตมแดน ดาษแฮ ชุํคชากรไกร - - ตรวจม้า บกเรือรยบพลแสน - - หมายหมู่ สบส่ำขวาซ้ายหน้า - - หนั่นหลัง ฯ
แปล (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ได้ประชุมพลทุกหมู่เหล่า แล้วก็เคลื่อนทัพซึ่งมีจำนวนมากมายเต็มไปทั่วทั้งแดน ได้รวมช้าง (หมู่ช้าง) และตรวจตราม้าทั้งหลายอย่างถี่ถ้วน ทั้งทัพบกทัพเรือมีไพร่พลมากมายหลายหมู่เหล่ารวมแล้วนับแสน มีทั้งทัพฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย ทัพหน้า และทัพหลังอย่างแน่นหนา
๏ ทุกทรวงพลพยู่หไท้ - - เอารส ท่านฤๅ พระดำรัสไดรัง - - เร่อมด้วย สรรเพชญกำนดพยง - - พิศณุ ศาษณแฮ ปางปรหารให้ม้วย - - ม่ามาร ฯ
แปล ไพร่พลในกระบวนทัพทุกหมู่เหล่า เมื่อพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (คือพระอินทราชา) มีรับสั่งอย่างใด ก็จะรีบปฏิบัติตามรับสั่งนั้นอย่างจริงจัง สิ่งที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงกำหนดเปรียบเสมือนโองการของพระวิษณุครั้งประหารหมู่ยักษ์มารให้ม้วยมรณ์ไปฉะนั้น
๏ สบเสนามาตยพ้ยง - - พลพฤนทร์ พระสั่งสารสบสาร - - ล่งล้วน เป็นปรดิทินทำ - - ขบวนบอก ทุกพวกทุกพ้องถ้วน - - หมู่หมาย ฯ
แปล บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายเปรียบเสมือนไพร่พลที่มีจำนวนมากมาย สิ่งที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีรับสั่งออกไปนั้น ล้วนมีความหมายชัดเจนแจ่มแจ้ง ทรงทำรายการประจำวันบอกไว้เป็นลำดับ (เพื่อให้) บรรดาทหารทั้งหลายทราบกำหนดหมายครบถ้วนทุกหมู่เหล่า
๏ เชองเข้าเชองออกอ้อม - - เอาสึก ก็ดี พระสั่งสบเชองชาย - - ถี่ถ้อย พระญาณพันฦกนิ์ฦก - - ชลธศ ทยมฤๅ ตรัสแต่งพลน้อยให้ - - คลี่คลา ฯ
แปล กลยุทธในการเข้าโจมตี ในการถอยออก หรือในการโอบล้อมข้าศึก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอธิบายให้แม่ทัพนายกองได้ทราบวิธีการของชายชาตรีอย่างถี่ถ้วนทุกประการ พระปรีชาชาญอันลึกล้ำยิ่งของพระองค์ ความลึกของมหาสมุทรหรือจะเทียบได้ แล้วพระองค์ก็ทรงสั่งให้กองทหารหมู่น้อยยกล่วงหน้าไปก่อน
๏ ไปตกไพริศดาว - - แดนชยง ชื่นแฮ ทุกด่านทางทยวหา - - เกลื่อนกล้า มหาพิชยรยง - - พลคลี่ คลาแฮ ซันแซ่ฟ้าฟุ้งฟ้า - - เฟื่องบร ฯ
แปล (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกกองทัพ) ไปประชิดแดนเมืองเชียงชื่นของข้าศึก ทุกด้านทุกทิศล้วนมีทหารกล้าเกลื่อนกล่นอยู่ทั่วไป (แม่ทัพชื่อ) พระมหาพิชัยได้ยกพลไปตามรับสั่งอย่างรีบเร่ง เสียงดังเซ็งแซ่และ (มีผงคลี) ฟุ้งตลบไปทั่วท้องฟ้า ข่าวศึกนี้ได้ล่วงรู้ไปถึงฝ่ายข้าศึก [หรือ เสียงดังเซ็งแซ่และ (มีผงคลี) ฟุ้งตลบไปทั่วทัองฟ้าเป็นการข่มฝ่ายข้าศึกให้กลัวเกรง]
๏ ไป่เตอมเตมหมื่นหมั้ว - - สารเส นิศเเฮ ทางชฎาดอนแดน - - ม่วงค้าน พระศรีราชเดโช - - ชยราช ถกลแฮ ทังหมื่นพ้านเรื่องรู้ - - ด่านแดน ฯ
แปล พระศรี (สีห-) ราชเดโชชัยที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแต่งตั้ง (เป็นแม่ทัพ) ได้ส่งทหารไปเพิ่มเติมจนครบหมื่น ทั้งช้างม้าและไพร่พลก็ไปชุมนุมพร้อมกัน ณ ที่ดอนซึ่งเต็มไปด้วยป่ามะม่วงอันเป็นทางที่เคยรกชัฏนั้นกลับล้มราบลง (เพราะช้างม้าและไพร่พล) โดยมีหมื่นพ้านผู้รอบรู้เรื่องการเดินทางด้านนี้เป็นผู้นำทาง
๏ ช้างม้าดยรดาษเต้า - - เตอมไป เล่าแฮ พลแปดฟันเขนแพน - - หลากเหลื้อม พระยาศุโขไทย - - กุํกว่า เองแฮ เมลืองมล่านกลิ้งเพรื้อม - - เพรอศพราย ฯ
แปล พระยาสุโขทัยได้คุมกองทัพช้างกองทัพม้าซึ่งได้เพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ เป็นจำนวนมากขึ้นไปเอง พร้อมด้วยไพร่พลอีก ๘ พันถือเขนแพนล้วนแปลกๆ เป็นมันเลื่อม กลดกลิ้งที่กางกั้นก็งดงามเพริดพราย
๏ หยหัศดิฟพิรพ่าหพ้อง - - พลแขวง หนึ่งฤๅ ปูนแปดพันปลายปอง - - เกลื่อนแกล้ว หัวเมืองกำแพงเพชร - - ครองเคลื่อน ไคลแฮ ธงเทศพรายแพร้วกั้ง - - กูปเงิน ฯ
แปล เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้เคลื่อนกองทัพม้า กองทัพช้าง และทหารผู้ทรงไว้ซึ่งความแกล้วกล้า [หรือ เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้เคลื่อนกองทัพม้าและกองทัพช้างซึ่งเป็นพาหนะที่เก่งกล้าสามารถ] มาอีกเมืองหนึ่ง (ไปสมทบกับกองทัพพระบรมไตรโลกนาถ) พร้อมด้วยไพร่พลที่ล้วนแต่ผู้แกล้วกล้านับได้ประมาณ ๘ พันเศษ มีธงเทศที่สวยงามแพรวพรายกางกั้นกูบช้างที่ทำด้วยเงิน
๏ สองเมืองกลอยเกลื่อนช้าง - - แซรงพล หมายหมู่เป็นเดียวดา - - แห่ห้อม โดยพระบัณฑูรกล - - สารศาสน์ แสดงแฮ ให้ถึงให้พร้อมถ้วน - - หมู่หมาย ฯ
แปล ทั้ง ๒ เมือง คือเมืองสุโขทัยกับเมืองกำแพงเพชรได้ร่วมกันเคลื่อนขบวนช้างแทรกไปกับทหารเดินเท้ารวมเป็นกองทัพเดียวกันดาหน้าแห่แหนแวดล้อมเข้าไปตามพระราชโองการ (ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ที่ปรากฎชัดอยู่ในสารศาสน์ที่แจ้งให้กองทัพทุกหมู่เหล่าไปถึง (เมืองเชียงชื่น) พร้อมกัน
๏ ข้าไท้ธิราชเรื้อง - - ขุนอินทร์ กุํพวกพลเรือราย - - แต่งตั้ง ขัวขนานลี่เลื่อนดิน - - แดนมารค เสมอแฮ ตรยมแต่งจรดจั้งถ้า - - ท่านไคล ฯ
แปล แม่ทัพเรือคนหนึ่งของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถชื่อขุนอินทร์ ได้รับแต่งตั้งให้คุมกองเรือเรียงรายไปตามทาง เพื่อเตรียมทำสะพานที่สามารถเลื่อนเข้าเทียบฝั่งและเกลื่อนพื้นดินให้ราบเรียบเพื่อรอรับเสด็จ
๏ ไปยอยบาตรส้องศรี - - สกณ ก่อนฤๅ ในท่าชยเอาไชย - - ชื่นแกล้ว คือเทพอรชุณ - - เร็วรวด การแฮ พระแต่งตรัสแล้วถ้วน - - สารแสดง ฯ
แปล ๑. ในการเคลื่อนกระบวนทัพนั้นจะต้องรอฤกษ์ที่เป็นสิริมงคลคือฤกษ์ที่จะมีนกบินเข้ามา ณ มณฑลพิธี (เรียกว่า สกุณนิมิต) ซึ่งประกอบขึ้น ณ ตำบลท่าไชย อันเป็นชื่อสถานที่ที่เป็นมงคลในอันที่จะเอาชนะ (ข้าศึก) [หรือ แล้วเดินทัพด้วยท่าทางที่จะนำมาซึ่งชัยชนะ (ข้าศึก)] เพื่อปลุกใจกองทัพให้มีจิตใจร่าเริงและแกล้วกล้า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเป็นประดุจดั่งท้าวอรชุน (ผู้มีความช่ำชองในการรบ) สามารถเอาชนะข้าศึกได้อย่างรวดเร็ว ทรงมีความรอบรู้ในกรรมพิธีครบถ้วนทุกกระบวนความจนเสร็จพิธี
๒. ในการเคลื่อนกระบวนทัพนั้นจะต้องรอฤกษ์ที่ฝูงนกที่เป็นมงคลมาส่งเสียงเสียก่อน (เรียกว่า สกุณนิมิต พระองค์ทรงตั้งกระบวนทัพรอฤกษ์) อยู่ที่ตำบลท่าไชย อันเป็นชื่อสถานที่ที่เป็นมงคลในอันที่จะเอาชนะ (ข้าศึก) [หรือ แล้วเดินทัพด้วยท่าทางที่จะนำมาซึ่งชัยชนะ (ข้าศึก)] เพื่อปลุกใจกองทัพให้มีจิตใจร่าเริงและแกล้วกล้า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเป็นประดุจดั่งท้าวอรชุน (ผู้มีความช่ำชองในการรบ) สามารถเอาชนะข้าศึกได้อย่างรวดเร็ว ทรงมีความรอบรู้ในกรรมพิธีครบถ้วนทุกกระบวนความจนเสร็จพิธี
๓. ในการเคลื่อนกระบวนทัพนั้นจะต้องรอท่าเอาฤกษ์เอาไชยให้ทหารเบิกบานใจ (มีกำลังใจ) และโห่ร้องเป็นสิริมงคลแล้วจึงเคลื่อนกระบวนทัพไปก่อนที่ฝูงนกจะออกหากิน (เรียกว่า สกุณนิมิต พระองค์ทรงตั้งกระบวนทัพรอฤกษ์) อยู่ที่ตำบลท่าไชย อันเป็นชื่อสถานที่ที่เป็นมงคลในอันที่จะเอาชนะ (ข้าศึก) [หรือ แล้วเดินทัพด้วยท่าทางที่จะนำมาซึ่งชัยชนะ (ข้าศึก)] เพื่อปลุกใจกองทัพให้มีจิตใจร่าเริงและแกล้วกล้า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเป็นประดุจดั่งท้าวอรชุน (ผู้มีความช่ำชองในการรบ) สามารถเอาชนะข้าศึกได้อย่างรวดเร็ว ทรงมีความรอบรู้ในกรรมพิธีครบถ้วนทุกกระบวนความจนเสร็จพิธี
๏ บัดให้ตราตรวจพ้อง - - พลหลวง หมายหมู่เรือชิดแซรง - - ท่าท้าง สรรเพ็ชญเลิศเลอลวง - - เลอโลกย เป็นปิ่นดินฟ้าอ้าง - - อ่านคุณ ฯ
แปล ทันใดนั้น (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) โปรดให้ตรวจตราบรรดาไพร่พลในทัพหลวงให้ถูกต้อง มีรับสั่งให้บรรดาเรือทั้งหลายจอดชิดและแซงขนานกันตลอดท่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ล้ำเลิศเหนือโลกในทุกทาง ทรงเป็นปิ่นแห่งแผ่นดินและแผ่นฟ้า และทรงมีพระเกียรติคุณที่ทรงนับได้มากมาย
๏ พระพุทธยามโยคล้วน - - ลางชย พระพ่างพระไพกุณฐ์ - - เกลื่อนแกล้ว พระเสด็จคัลไลล่วง - - ชลมารค ชลพ่าห์มากล้วนแล้ว - - แหล่หลาย ฯ
แปล เวลานั้นเป็นยามพุธซึ่งเป็นยามที่ดวงดาวร่วมกันให้คุณ เป็นลางล้วนบ่งบอกว่าจะมีชัยชนะ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเป็นประดุจพระนารายณ์แบ่งภาคมาเกิด พระองค์ทรงให้เคลื่อนกองทัพทหารหาญซึ่งมีอยู่มากมาย พระองค์เองเสด็จไปทางชลมารคด้วยทรงมีเรืออยู่เป็นจำนวนมาก
๏ พายทองสรพราศพร้อม - - แขวงขวา พรรคพวกพายเงินหมาย - - หมู่ผ้าย คฤหทองแคร่ทองนา - - นาหมู่ หมายแฮ ยุ่งยุ่งแลย้ายย้าย - - คล่าวไคล ฯ
แปล พวกฝีพายที่ถือพายทองงามสะพรั่งพร้อมอยู่ฝ่ายขวา พวกฝีพายที่ถือพายเงิน (อยู่ฝ่ายซ้าย) ก็พายตามกันไปเป็นหมวดหมู่ เรือคฤหทองเรือแคร่ทองหลายหมู่เหล่าก็ตามไปตามที่กำหนดหมายไว้ ต่างเคลื่อนกระบวนกันไปดูสับสนไปหมด
๏ รายเรือแผดงคู่ถ้วน - - แถวคับ คั่งแฮ สยงสรางชิงไชย - - ชื่นผ้าย เรือโยงแย่งโยงตับ - - แต่งต่อ กันแฮ หลังก่อนขวาซ้ายซ้อง - - แหล่เหลือ ฯ
แปล เรือบาแดง (เรือสื่อข่าว) ก็เรียงรายอยู่เป็นคู่ๆ แน่นไปหมด [หรือ เรือต่างๆ แสดงให้เห็นเป็นคู่ๆ ครบทุกลำเรียงรายแน่นไปหมด] เสียงโห่เอาชัยเมื่อเรือเคลื่อนจากที่ [หรือ เสียงโห่เอาชัยของพลเรือเมื่อเรือเคลื่อนจากที่] เรือโยงแบ่งกันโยงผูกเรียงกันเป็นแถว (มีทั้งเรือที่ไป) ข้างหลัง ข้างหน้า ข้างขวา ข้างซ้าย พร้อมๆ กันมีจำนวนมากมาย
๏ เรือหุ้มเรือห่อซ้อน - - ซบกัน เรือแห่เรือแหนแหน - - แห่ห้อม พิทุยพิทันแซ - - ชามาก ทุกท่าทุกท่งล้อม - - หนั่นหนา ฯ
แปล มีทั้งเรือหุ้ม เรือห่อ ซับซ้อนกันมากมาย มีเรือแห่ เรือแหน ห้อมล้อม มีทั้งเรือพิทุย เรือพิทัน เรือแช เรือชา มากมาย ทุกท่าเรือ ทุกทุ่ง (คือทุกที่ทุกทาง) ล้วนมีเรือห้อมล้อมอย่างหนาแน่น
๏ เรือคฤหเรือแคร่เต้า - - เต็มแคว น่านนา เรือเครื่องเรือครัวคลา - - คลํ่าหล้า เรือซาคู่เรือแซ - - แซมฝ่า ฝืนแฮ ขนัดหมู่ขนานช้างม้า - - คล่าวไคล ฯ
แปล เรือคฤห เรือแคร่ มาเต็มแม่น้ำน่าน [หรือ เรือคฤห เรือแคร่ เต็มน่านน้ำ] เรือเครื่อง เรือครัว มามากมายเต็มไปหมด เรือชาคู่กับเรือแชแล่นล้ำหลบหลีกขนานไปกับกระบวนช้างม้าที่เคลื่อนไป (บนบก)
๏ ตับแต่งทางท่าถ้วน - - แถวหนา หนั่นแฮ หยุดรบายกันไป - - จึ่งได้ นานาหมู่นาวา - - ดาดาษ โดยสมเด็จเหง้าไท้ - - ท่องฉนยร ฯ
แปล (บรรดาเรือทั้งหลาย) จอดรอท่าอยู่ครบถ้วนหนาแน่น เรียงเป็นแถวเป็นแนวอย่างมีระเบียบ [หรือ (บรรดาเรือทั้งหลาย) จอดอยู่ที่ท่าน้ำครบถ้วนหนาแน่น เรียงเป็นแถวเป็นแนวอย่างมีระเบียบ] ต้องค่อยๆ ระบายให้เคลื่อนที่ไปได้ บรรดาเรือนานาชนิดมีมากมายดูดารดาษตามเสด็จสมเด้จพระบรมไตรโลกนาถไปตามลำน้ำ
๏ สยงสโพนพิณพาทยก้อง - - กาหล สยงสู่ศรีสารจยน - - จั่นแจ้ว สยงคณคนคฤม - - คฤโฆษ สยงพวกพลกล้าแกล้ว - - โห่หรรษ ฯ
แปล เสียงตะโพนและพิณพาทย์ดังกึกก้องอึกทึกอื้ออึง [หรือ เสียงตะโพน พิณพาทย์ และแตรงอนดังกึกก้อง] เสียงเครื่องดนตรีที่ใช้เป่าดังเสนาะดุจเสียงจักจั่นที่เจื้อยแจ้ว เสียงฉิ่งฉาบและเสียงหมู่คนดังอื้ออึง [หรือ เสียงหมู่คนดังอื้ออึง] เสียงบรรดาไพร่พลทหารโห่ร้องอย่างร่าเริง
๏ ธงทยวจรรโจษกลิ้ง - - กลอมหาว แพนเพ่งหางยูงยรร - - ยั่วฟ้า กบี่ธุชกลสกาว - - พังพ่าย บังเมฆกลวมกลุ้มหล้า - - หล่อแสง ฯ
แปล ธงรูปกระบอกซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากมาย และกลดกลิ้ง (ราวกับจะ) ครอบคลุมท้องฟ้า กำแพนหางนกยูงก็ดูงามดั่งจะยั่วฟ้าให้มามอง ความขาวของรูปหนุมานที่อยู่กลางธงกบี่ธุชทำให้ความงาม (ความขาว) ของทุกอย่างพ่ายแพ้ไป บดบังเมฆครอบคลุมให้แผ่นดินมืดคลุ้ม
๏ โยธาทุกฝ่ายซ้อง - - ชมไชย หมายหมู่แขวงในแขวง - - นอกผ้าย โดยเสด็จสมเด็จไตร - - ภพนารถ เสด็จแฮ หลังก่อนขวาซ้ายซ้อน - - คลี่คลา ฯ
แปล ไพร่พลโยธาทุกฝ่ายพร้อมที่จะชื่นชมในชัยชนะ ทหารทุกหมู่เหล่าทั้งริ้วในและริ้วนอกต่างก็เคลื่อนตามเสด็จสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่เสด็จพระราชดำเนินไป กองหลัง กองหน้า ฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย จึงได้ค่อยๆเคลื่อนพลช้อนตามไป
๏ ภูมิศวรราชเรื้อง - - เอารส ท่านฤๅ หมายหมู่หลังเหลือตรา - - แต่งเต้า จามรมาศกลดธง - - ชยโบก โบยแฮ คฤโฆษกลองฆ้องเคล้า - - คลี่ดูริย ฯ
แปล พระราชโอรสผู้เรืองพระนามของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (คือ พระอินทราชา) ทรงคุมทัพหลังซึ่งมีกำลังทัพมาก [หรือ กำหนดแต่งทัพตามไป] จามรทอง กลด และธงชัยโบกสะบัด เสียงกลองฆ้องซึ่งประสานเสียงกันกับเสียงดุริยางค์ดังกึกก้องไปทั่ว
๏ พระเจ้าจอมโลกยลํ้า - - เลอยวน ยิ่งแฮ เครคลี่แสนยายูร - - ยาตรผ้าย ดลทางท่าสนายพรวน - - พระบาท ยกย่างพลย้ายตั้ง - - ท่งทงรร ฯ
แปล สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้ทรงเลิศล้ำเหนือกว่าพวกยวนโยนกยิ่งนัก ได้ทรงเคลื่อนทัพ (เรือ) จำนวนมากไปถึงท่าสนายพรวน แล้วพระองค์ก็โปรดให้ยกพลขึ้นบกไปตั้งทัพอยู่กลางทุ่งอย่างสง่างาม
๏ ช้างม้าเดียรดาษซ้าย - - แซมขวา หลังก่อนเป็นขนัดขนัน - - อยู่ยั้ง อาวุธมลังเมลืองอา - - ภาเพรอศ พรายแฮ เสโล่หแพนดั้งตั้ง - - แห่แหน ฯ
แปล กองทัพช้างกองทัพม้าแซมซ้ายแซมขวาเต็มไปทั่วทั้งท้องทุ่ง โดยให้กองหลัง กองหน้าไปตั้งอยู่เป็นหมวดหมู่ [หรือ ทั้งกองหลัง กองหน้า มีอยู่อย่างมากมาย] ศัตราวุธทั้งหลายมีแสงวาบวับเป็นประกายงามระยับ ทหารที่มีโล่ แพน และดั้ง ก็ตั้งกองทัพห้อมล้อมระวัง
๏ นับแต่พลล้วนเลิศ - - เลอหาญ สามหมื่นเสมอสามแสน - - ส่ำแกล้ว เคยรุกรบรญบร - - หลายท่า เซงซากมือไว้แล้ว - - มากมา ฯ
แปล นับเฉพาะไพร่พลเท่านั้นก็ล้วนมีฝีมือว่าเลิศและห้าวหาญอย่างยิ่ง แม้กองทัพที่ยกไปจะมีเพียง ๓ หมื่นแต่ก็ (รบได้) เท่ากับทหาร ๓ แสนที่เคยรุกรบข้าศึกศัตรูมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ได้ฝากฝีมือไว้เป็นที่ลือชาไปทั่ว
๏ ทุกพ้องพิรพ่าหเจ้า - - จอมเมลือง เสิศแฮ สรรพเครื่องสรรพาวุธ - - เลิศล้วน เกราะกรายสำลีเนือง - - นอกออก ไปแฮ ทวนธนูหน้าไม้ล้วน - - หมู่หมาย ฯ
แปล บรรดาทหารผู้ทรงไว้ซึ่งความแกล้วกล้าทุกหมู่เหล่าของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เรืองเดช ล้วนมีศัตราวุธชั้นเลิศพร้อมสรรพ และมี (ทหารที่สวมเสื้อ) เกราะนวมหนุนเนื่องกันออกไปข้างนอก (เมือง) ทุกหมู่เหล่ามีทวน ธนู และหน้าไม้ครบถ้วน
๏ แวงในแวงนอกซ้าย - - ขวาขนัน ขนัดดาบเงินทองพราย - - เพรอศฟ้า ดากันเกือบกันกรร - - กรีราช เรืองซ่นเรื่องก้อมผ้า - - ไพร่แพร ฯ
แปล (ทหารที่อยู่) แถวใน แถวนอก แถวซ้าย และแถวขวา เรียงรายเป็นวงล้อม แน่นขนัด (ไปด้วยทหารที่ถือ) ดาบเงิน ดาบทอง เป็นประกายงามจับท้องฟ้า ประดังกันป้องกันช้างทรงของพระเจ้าแผ่นดินอย่างใกล้ชิด ปลายด้ามดาบล้วนมีผ้าแพรผูกสะพายหลัง
๏ แขวงขวาบริศาจซ้าย - - กุมภัณฑ์ กรกระลึงเขนแปร - - ง่าง้าว แสงสัตรมลังเมลืองฉัน - - ฉลุเมฆ พลพวกหาญห้าวห้อม - - พยบไพร ฯ
แปล กองทหารฝ่ายขวาเป็นปีศาจ ฝ่ายซ้ายเป็นยักษ์ ในมือถือเขนเงือดเงื้อง้าวพลิกกลับไปมา ศัตราวุธมีประกายวาววับดุจดังจะทะลุไปถึงเมฆ บรรดาทหารกล้าที่ฮึกห้าวได้แวดล้อมเต็มไปทั่วทั้งป่า
๏ เสนานาเนกซ้าย - - แซมขวา เล่าแฮ หมายหมู่ขรรคไชยศรี - - ส่ำแกล้ว ชยสินธุสํอางอา - - วธรยบ รยงแฮ พลเลอกพลแล้วล้อม - - ไขว่แขวง ฯ
แปล กองทัพซึ่งมีทหารเหล่าต่างๆมากมายทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา กองขรรค์ชัยศรี (ทหารถือดาบสองมือ) ล้วนแต่แกล้วกล้า กองชัยสินธุ์สำอาง (ทหารฝ่ายเรือ) ถืออาวุธเรียงกันไปพร้อมสรรพ ทหารทั้งหลายยกพลขึ้นห้อมล้อม (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ขวักไขว่ไปทั่วบริเวณ
๏ เขนแพนทองทยบถ้วน - - ตราไตร แต่งแฮ หอกดาบโตมรแซง - - ซ่นก้อม ธนูยศธนูไชย - - ชาวปราบ ยลยอดใจเพชรพร้อม - - ไพร่หาญ ฯ
แปล เขนและแพนทองได้จักเตรียมไว้ครบถ้วนและได้ตรวจตราจัดแต่งไว้ดีแล้ว หอก ดาบ โตมร (แลเห็น) ปลายด้ามแทรกอยู่เป็นระยะๆ กองปราบธนูยศและกองปราบธนูชัยดูจะเป็นยอดของพวกทหารใจเพชร ล้วนประกอบด้วยไพร่พลผู้กล้าหาญอย่างพร้อมพรั่ง
๏ ขนัดพลพิรภาพแผ้ว - - ผลาญรงค์ รวดแฮ ยืนยุทธปรากฏชาญ - - ใช่ช้า รายราวเครื่องเป็นกง - - กรรรอบ กงแฮ ยศประการกล้าแกล้ว - - แกว่นการย์ ฯ
แปล เนืองแน่นไปด้วยนักรบผู้กล้าหาญพร้อมที่จะสังหาญผลาญข้าศึกให้ราบคาบไปได้อย่างรวดเร็ว กองยุทธปรากฎก็มีความช่ำชองในการรบอย่างมากมาย ต่างถืออาวุธเรียงรายเป็นวงล้อมรอบป้องกันพระองค์ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เป็นชั้นๆกองยศปราการก็ล้วนแล้วแต่แกล้วกล้าว่องไวในการรบ
๏ พลหลวงหลายคอบคํ้า - - คับทาง ท่งแฮ ขันดาบขุนเรือหาญ - - หื่นต้าว ขนัดพลชนตาง - - ง่าอยู่ อย่ายแฮ หันหอกขอเงื้อง้าว - - ง่าตาว ฯ
แปล กองทัพหลวงที่มีทหารมากมาย [หรือ กองทัพที่มีไพร่พลมากมาย] หนุนเนื่องกันเข้ามาล้อมรอบ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เต็มไปทั่วท้องทุ่ง นายทหารที่ควบคุมกองดาบและนายทหารที่ควบคุมกองเรือล้วนแต่ห้าวหาญและฮึกเหิมอยู่ทุกแห่งในแผ่นดิน กองทัพทุกหมู่เหล่าที่เรียงรายอยู่แน่นขนัดต่างก็เตรียมพร้อมที่จะรบอยู่ตลอดเวลา ดังจะเห็นว่าต่างก็เงือดเงื้อหอก ขอ ง้าว และดาบอยู่ทั่วไป
๏ ขนัดพลหมายหมู่ต้าน - - สงคราม เล่าแฮ หอกดาบแหลนหลาวหนา - - หนั่นหน้า ทึบทังท่งหลวงหลาม - - หามแห่ ขนนอยู่ค้าวค้าวถ้า - - ข่มเขญ ฯ
แปล แน่นขนัดไปด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่าที่เรียงรายอยู่พร้อมที่จะต่อสู้ข้าศึกในสงครามมีทั้งหอก ดาบ แหลน หลาว มากมายหนาแน่นล้นหลามไปทั่วท้องทุ่งใหญ่ดูมืดฟ้ามัวดิน ทุกคนล้วนแห่แหนกันมาขันอาสา [หรือ ทุกคนพร้อมกันมาเฝ้าแหน] ส่งเสียงเซ็งแซ่คอยท่าคอยเวลาที่จะยกไปปราบข้าศึกเพื่อดับทุกข์เข็ญ
๏ พวกพลช้างต้นแต่ - - ต้วหาญ ฟันหนึ่งนับเปนหัว - - เชือกชี้ แก้วจักรรัตนชาญ - - ชยเดช ทนหอกปืนป้องพี้ - - เฟื่องบร ฯ
แปล ๑. กองทัพช้างหลวงล้วนแต่แกล้วกล้า นับหัวได้เป็นจำนวนหนึ่งพันช้าง ช้างชื่อแก้วจักรรัตน์และช้างชื่อชัยเดชเป็นช้างที่สามารถทนหอกทนปืนที่ซัดหรือยิงมา ได้เคยทำลายล้างศัตรูมามากจนมีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงข้าศึก
๒. กองทัพช้างหลวงล้วนแต่แกล้วกล้า ช้างชื่อแก้วจักรรัตน์เป็นหัวหน้าของช้างจำนวนหนึ่งพัน เป็นช้างที่มีความช่ำชองในการรบ เคยได้รับชัยชนะมามากแล้ว มีอำนาจมาก สามารถทนหอกทนปืนที่ซัดหรือยิงมา ได้เคยทำลายล้างศัตรูมามากจนมีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงข้าศึก
๏ มัทธยมเทศพ้ยง - - คชสึงห์ งวงเงือดดินงางอน - - เงือดฟ้า คือคชปิ่นไตรตรึงษ์ - - พาลโพธ โจมปราบจักรพาฬหล้า - - แกว่นชน ฯ
แปล ช้างชื่อมัธยมเทศมีลักษณะคล้ายคชสีห์ มีงวงยาวจดดิน [หรือ งวงยาวดุจดังจะงัดแผ่นดินได้] มีงางอนปลายชี้ฟ้า [หรือ งางอนปลายดุจดังจะเสียดฟ้า] ดุจดังช้าง (เอราวัณ) ของพระอินทร์ เป็นช้างหนุ่มงามและเฉลียวฉลาดต้องตามคชลักษณ์ ช้างชื่อโจมปราบจักรพาฬ (ซึ่งปราบได้ทั้ง) แผ่นดิน เป็นช้างที่มีความแกล้วกล้าว่องไวในการชน
๏ สารสรรพจรรโจษหน้า - - หลังดา ดาษเฮย มารพิชยยลยง - - ยวดช้าง แลสารศิพาทิตย - - ควรคู่ พิศณุจักรจั้งง้าง - - ง่ารงค์ ฯ
แปล ช้างทั้งหลายดูดารดาษเต็มไปทั้งด้านหน้าด้านหลังส่งเสียงอื้ออึงไปทั่ว ช้างชื่อมารพิชัยดูยิ่งยงเหนือช้างทั้งหลาย และช้างชื่อศิพาทิตย์คู่กับช้างชื่อพิษณุจักรก็ตั้งท่าเตรียมพร้อมที่จะเข้ารบ
๏ ขวาซ้ายหมายหมู่ถ้วน - - แถวสาร สารชื่อสระสงสาร - - แกว่นแกล้ว ทยมคชชื่อบาลชม - - พูทวีป ไส้แฮ จองเครื่องเคราแล้วถ้วน - - ส่ำสาร ฯ
แปล ทั้งกองขวาและกองซ้ายมีช้างยืนเรียงรายเป็นแถวครบถ้วนเป็นหมวดหมู่ ช้างชื่อสระสงสารเป็นช้างที่แกล้วกล้าและว่องไว คู่กับช้างชื่อบาลชมพูทวีป ช้างทุกช้างล้วนผูกเครื่องคชาภรณ์ครบถ้วน
๏ ถัดสารดูดิพรแม้ - - มงคล จักรพาฬพอพาล - - เพรอศพ้น บาลภูมิมณฑล - - ทนหอก ปืนแฮ เคยคว่าบรรุกร้น - - ผ่าผลาญ ฯ
แปล แม้ช้างที่อยู่ถัดไปก็เป็นช้างที่เก่งกล้าชื่อมงคลจักรพาฬ ซึ่งเป็นช้างหนุ่มที่งามสง่ายิ่ง คู่กับช้างชื่อบาลภูมิมณฑล ซึ่งเป็นช้างที่คงทนต่อหอกและปืน เคยจับข้าศึกที่มารุกรานพร่าผลาญชีวิตมาแล้ว
๏ พังพลายในนอกล้อม - - เลือนไพร พรยกแฮ โจมพิมานไตรตรึงษ - - เลิศแล้ว เรวฤทธิแกว่นกลไกร - - ษรราช ไส้แฮ กเกรอกธาตรีแกล้ว - - แกว่นรณ ฯ
แปล ๑. ช้างพังและช้างพลายทั้งด้านในและด้านนอกได้ยืนล้อมเป็นแถวเป็นแนวอยู่ในป่าและส่งเสียงร้องกึกก้อง ช้างชื่อโจมพิมานไตรตรึงษ์เป็นช้างที่เลิศล้ำ มีความว่องไว รวดเร็วและเก่งกล้าดุจพญาไกรสรราชสีห์ ช้างชื่อกะเกริกธาตรีเป็นช้างที่มีความแกล้วกล้าสามารถในการรบยิ่ง
๒. ช้างพังและช้างพลายทั้งด้านในและด้านนอกได้ยืนล้อมเป็นแถวเป็นแนวอยู่ในป่าและส่งเสียงร้องกึกก้อง ช้างชื่อโจมพิมานไตรตรึงษ์เป็นช้างที่เลิศล้ำ มีความว่องไว รวดเร็วและเก่งกล้าดุจพญาไกรสรราชสีห์ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งแผ่นดินว่ามีความแกล้วกล้าสามารถในการรบยิ่ง
๏ ครวีอากาศเกื้อ - - อากยรณ ชื่นแฮ เทพพยนยลยนต - - ดุจได้ เมอลมนตรศักดิ์ขยน - - ขามแข่ง ไส้แฮ รยงรยบเหง้าไท้ท้ยน - - ดาษดิน ฯ
แปล ๑. ช้างชื่อครวีอากาศช่วยให้ช้างทั้งหมดดูคึกคักขึ้น ช้างชื่อเทพยนต์ดูคล้ายช้างยนต์ที่ผู้ทรงวิทยาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้น คู่กับช้างชื่อเมิลมนตรศักดิ์ [หรือ ช้างชื่อมนตรศักดิ์] ซึ่งงามเหมือนเขียนทำให้ช้างศึกครั่นคร้ามที่จะต่อสู้ด้วย (ช้างเหล่านี้) ยืนเป็นแถวรอท่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอยู่เต็มพื้นที่
๒. (บรรดาช้างทั้งหลายชูงวง) กวัดแกว่งอยู่ในอากาศช่วยให้ดูมากมายเกลื่อนกล่นน่าชื่นชม ช้างชื่อเทพยนต์ดูคล้ายช้างยนต์ที่ผู้ทรงวิทยาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้น คู่กับช้างชื่อเมิลมนตรศักดิ์ [หรือ ช้างชื่อมนตรศักดิ์] ซึ่งงามเหมือนเขียนทำให้ช้างศึกครั่นคร้ามที่จะต่อสู้ด้วย (ช้างเหล่านี้) ยืนเป็นแถวรอท่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอยู่เต็มพื้นที่
๏ ภูโชพรายแพร่งเหลื้อม - - โสภา เพรอศแฮ เมอลมโนนนฤมินท - - อยู่ยั้ง อยืนทยมทยบอิษฏา - - รมณ์รวด เร็วแฮ เมอลมณีฉัตรจั้ง - - จ่ายบร ฯ
แปล งวงช้างก็ประดับเสียแพรวพรายดูงามยิ่ง ช้างชื่อเมิลมโนนฤมินท์ [หรือ ดูช้างชื่อมโนนฤมินท์] ยืนอยู่กับที่ และที่ยืนคู่กันด้วยอารมณ์แจ่มใสร่าเริงคือ ช้างชื่อเมิลมณีฉัตร [หรือ ดูช้างชื่อมณีฉัตร] ยืนตั้งท่าเตรียมพร้อมที่จะออกสู้ศัตรู
๏ เงยงวงจะจวจแห้น - - หรรษา รัตนกลดงางอน - - ง่าฟ้า กญชรราชา - - ชาญเดช ไส้แฮ ทยมพระยาช้างกล้า - - แกว่นชน ฯ
แปล ๑. (ช้าง) ที่ชูงวงสูงขึ้นและส่งเสียงร้องอย่างร่าเริงคือช้างชื่อรัตนกลดงางอน ซึ่ง (มีงางอนดุจดังจะ) เสียบฟ้า ช้างชื่อกุญชรราชามีความช่ำชองในการศึกและมีอำนาจมาก เสมอด้วยพญาช้างที่เก่งกล้าสามารถในการชน
๒. (ช้าง) ที่ชูงวงสูงขึ้นและส่งเสียงร้องอย่างร่าเริงนั้นคือช้างทรงของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีกลดแก้วกางกั้น มีงางอนเป็นสง่าดุจจะเสียบฟ้า มีความช่ำชองในการศึกและมีอำนาจมาก เสมอด้วยพญาช้างที่เก่งกล้าสามารถในการชน
๏ หัศดินชเยศได้ - - ชยเอ เมื่อใด ควรคู่อยราพด - - เสิศแล้ว ยืนทยมทยบเวหาศ - - เหินแห่ พระแฮ จองจำเชองฤทธิแกล้ว - - แกว่นรงค์ ฯ
แปล ๑. ช้างชื่อหัสดินชัยได้รับชัยชนะในการศึกสงครามมาหลายครั้งแล้ว คู่กับช้างชื่อไอราพตซึ่งเป็นช้างชั้นเลิศ ยืนอยู่สูงเทียมฟ้าดุจนำเสด็จสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหาะไปในนภากาศ จึงต้องผูกเท้าไว้เพราะมีฤทธิ์เดชแกล้วกล้าสามารถในการต่อสู้
๒. ช้างซึ่งเป็นเลิศในการศึกสงครามนั้นได้รับชัยชนะมาหลายครั้งแล้ว เสมอด้วยช้างไอราพตของพระอินทร์ซึ่งเป็นช้างชั้นเลิศ ยืนอยู่สูงเทียมฟ้าดุจพาเสด็จสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหาะไปในนภากาศ จึงต้องผูกเท้าไว้เพราะมีฤทธิ์เดชแกล้วกล้าสามารถในการต่อสู้
๏ ภูษางามแง่เกื้อ - - กุญชร ชื่นแฮ เทพยสังหรยง - - ยวดกล้า ทยมสารชื่อสัญจร - - จตุรทวีป พลพวกหาญถ้วนถ้า - - ร่อนรงค์ ฯ
แปล ผ้าคชาภรณ์ที่สวยงามช่วยทำให้ช้างดูงามไปทั้งหมด ช้างชื่อเทพยสังหารเป็นช้างที่แกล้วกล้าอย่างยิ่งยวด เสมอด้วยช้างชื่อสัญจรจตุรทวีป บรรดาทหารทั้งปวงต่างก็รอท่าพร้อมที่จะเข้าสู่การรบ
๏ ทุกสารเรวรวดรู้ - - รอบเชอง ชื่นแฮ ยืนตรยบตรงไตรรัตน - - รยบแล้ว ตรัสไตรเทพยทลอึง - - อาคาธ แสงสลาบครุฑแพร้วแพร้ว - - แพร่งเหอร ฯ
แปล ช้างทุกช้างรอบรู้ชั้นเชิงในการรบทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว ช้างชื่อตรงไตรรัตน์ยืนเทียบอย่างเรียบร้อย ช้างชื่อตรัสไตรเทพก็ยืนปักหลักอย่างมั่นคง [หรือ ช้างชื่อตรัสไตรเทพที่ยืนอยู่ดูดังจะเพาะได้ด้วย] มีประกายงามดุจแสงชนปีกพญาครุฑที่พร่างพราวแผ่กระจายไปขณะที่บินอยู่ในนภากาศ
๏ คลุกเคล้าผนนผงาดเผ้ง - - ไปมา โฉมจำเริญจักรพรรดิ - - เพรอศพ้น หูหางฟฟายงา - - งวงง่า งามแฮ ยลยิ่งนฤมิตรล้น - - เหอศหาญ ฯ
แปล (ช้างเหล่านั้น) อยู่ปะปนกันหมุนตัวไปมาดูสง่ายิ่งนัก ช้างชื่อจำเริญจักรพรรดิมีรูปร่างงามมาก หูหางที่สะบัดไปมาทั้งงาและงวงยิ่งกว่าเนรมิต ทั้งยั้งสูงตระหง่านและห้าวหาญยิ่ง
๏ นานาพลพ่าหล้อม - - เลือนแล เลิศแฮ โฉมจำรัสจักรพาฬ - - คู่เคื้อ งาจยงจำทยงแข - - พาลโพธ งวงเงื่อนเฉลาแก้วเกื้อ - - แกว่นหาญ ฯ
แปล ไพร่พลและพาหนะต่างๆ ล้อมกันเป็นแถวเป็นแนวแลดูงามล้ำเลิศ ช้างชื่อจำรัสจักรพาฬก็ดูงามเช่นกัน (งาทั้งคู่งอนงาม) ดุจพระจันทร์เสี้ยวในวันข้างขึ้นอ่อนๆ [หรือ ช้างหนุ่มเฉลียวฉลาดและมีงางามประดุจจะแทงพระจันทร์] งวงก็งามดุจแก้ว ทั้งยังเต็มไปด้วยความห้าวหาญว่องไว
๏ สารพรายคฤโฆษคฤ้าม - - อุดอึง อยู่แฮ กรลอกไตรตรึงษชาญ - - ช่ยวพ้น พิศโฉมกระลึงไตร - - จักรอาจ องคแฮ ตระล่งไตรภพล้น - - เลิศไชย ฯ
แปล ช้างพลายส่งเสียงกึกก้องอื้ออึงอยู่ ช้างชื่อกระลอกไตรตรึงษ์ก็มีความเชี่ยวชาญ (ในการชน) เหนือช้างอื่นๆ ครั้นดูช้างชื่อกระลึงไตรจักรก็เห็นว่ามีท่าทางองอาจ ช้างชื่อตระล่งไตรภพก็ดูล้ำเลิศในอันที่จะเอาชนะ (ข้าศึก)
๏ อาภรณอาภาศเกี้อ - - กุญชร ชื่นแฮ ฦๅตระหลบไตรภูมิ - - เฟื่องหล้า ทยมพิรพระสังหร - - หายาก พรพระสังหารหน้า - - ชื่นไชย ฯ
แปล เครื่องคชาภรณ์ช่วยให้ช้างทั้งหมดดูงามรุ่งเรือง ช้างชื่อตลบไตรภูมิก็มีชื่อเสียงเลื่องลือฟุ้งไปทั่วแผ่นดิน เสมอด้วยช้างชื่อพิรพระสังหรซึ่งเป็นช้างที่หายาก และช้างชื่อพรพระสังหาร ซึ่งแต่ละช้างควรที่จะนำชัยชนะมาให้ (ทั้งสิ้น)
๏ คชสารเสาวภาคยพ้ยง - - คชสีห์ พาหพรพระไพรทรง - - รวดเร้า ทยมพัทธิไพรี - - เร็วรวด ยงแฮ พอซราบซรับมันเห้า - - หื่นรงค์ ฯ
แปล ช้างเหล่านั้นดูงามประดุจคชสีห์ คือช้างทรงที่ชื่อพรพระไพรซึ่งเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว คู่กับช้างชื่อพัทธิไพรีซึ่งมีความรวดเร็วอย่างยิ่ง พอตกมันซึมซาบแผ่ไปทั่วทำให้มีความห้าวหาญฮึกเหิมในการรบ
๏ กรลับกรลอกร้อง - - เรองหาญ หื่นแฮ โชติพระพิศณุยง - - ยวดช้าง ชำนิชำนาญชาญ - - ชยเดช ทนหอกปืนป้องขว้าง - - ข่มบร ฯ
แปล ๑. (ช้างเหล่านี้) ยืนส่ายหัวไปมาและส่งเสียงร้องด้วยความห้าวหาญฮึกเหิม (ที่จะออกรบ) ช้างชื่อโชติพระพิศณุเป็นช้าง (ที่มีความห้าวหาญ) อย่างยิ่งยวด ช้างชื่อชาญชัยเดชมีความเชี่ยวชาญ (ในการศึก) ทนทานต่อหอกและปืน มีความสามารถปกป้องฝ่ายของตยและขัดขวางฝ่ายข้าศึกศัตรู
๒. (ช้างเหล่านั้น) ยืนส่ายหัวไปมาและส่งเสียงร้องด้วยความห้าวหาญฮึกเหิม (ที่จะออกรบ) ช้างชื่อโชติพระพิศณุเป็นช้าง (ที่มีความห้าวหาญ) อย่างยิ่งยวด มีความช่ำชอง (ในการศึก) ได้รับชัยชนะและมีอำนาจมาก ทนทานต่อหอกและปืน มีความสามารถปกป้องฝ่ายของตยและขัดขวางฝ่ายข้าศึกศัตรู
๏ ชยพระพิเศษลํ้า - - เลอหาญ สรรพเครื่องคชาภรณ์ - - เพรอศแพร้ว เชษฎพระพิศาลสา - - มรรถแว่น ไวแฮ ทานพระพิสุทธแกล้ว - - แกว่นรณ ฯ
แปล ช้างชื่อชัยพระพิเศษมีความกล้าหาญเหนือช้างอื่น ประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์พร้อมสรรพดูแพรวพราวงดงามยิ่ง ช้างชื่อเชษฏพระพิศาลมีความสามารถคล่องแคล่วว่องไว และช้างชื่อทานพระพิสุทธ [หรือ ชาญพระพิสุทธิ] มีความแกล้วกล้าในการรบ
๏ พิศณุพระกรแกว่นส้าย - - สงคราม พรพระกรรมไกรกล - - วาดไว้ พรรณพระเกตุเงื่อนงาม - - โสภาศ เพศพระกาลควรไท้ - - แทบองค์ ฯ
แปล ช้างชื่อพิศณุพระกรมีความแกล้วกล้าในการสงคราม ช้างชื่อพรพระกรรมมีความยิ่งใหญ่ประหนึ่งวาดไว้ ช้างชื่อพรรณพระเกตุเป็นช้างที่มีความสง่างาม และช้างชื่อเพศพระกาลเป็นช้างที่คู่ควรกับพระราชา (ในการที่จะรับใช้) ใกล้ชิดพระองค์
๏ พระสุรสีหนาทป้อง - - ปืนปราย พิรเพ็ชรพระชยณรงค์ - - ช่ยวพ้น ยืนทยมกำจายจักร - - โจมจ่าย ศักดิเคยค้นคว้าส้าย - - ศัตรู ฯ
แปล ช้างชื่อสุรสีห์มีเสียงร้องกึกก้องและมีความสามารถป้องกันลูกธนูที่ยิงโปรยปรายมา ช้างชื่อเพชรพระชัยมีความเชี่ยวชาญมากและกล้าหาญในการรบ ยืนคู่กับช้างชื่อกำจายจักรเตรียมพร้อมที่จะจู่โจม (ศัตรู) และเป็นช้างที่มีความสามารถในการค้นหาและกำจัดข้าศึก (ในสงครามมาแล้ว)
๏ พลเป็นกงข่ายล้อม - - เลือนดิน ดาษแฮ พรพระเสด็จตามดู - - ดุจแต้ม ทยมเพชรพระอินทร - - อาฆาฎ มันชราบชรับสองแก้ม - - เกือบคาง ฯ
แปล ไพร่พลตั้งกองทัพเป็นวงล้อมเหมือนตาข่ายเป็นแถวเป็นแนวเต็มไปทั่วบริเวณพื้นดิน ช้างชื่อพรพระเสด็จดูเหมือนกับวาดไว้ ยืนคู่กับช้างชื่อเพชรพระอินทร์ซึ่งเป็นช้างที่ดุร้ายมีมันซึมซาบแผ่ไปทั่ว ๒ ข้างแก้มจนเกือบถึงคาง
๏ ขวาซ้ายดยรดาษหน้า - - หลังหลาม ศิลปพระพรวาง - - วิ่งผ้าย สารสรพระรามเรว - - ฤทธิชื่น ชาญแฮ เลิศพระชยค้นส้าย - - ส่ายเข็ญ ฯ
แปล ทั้งด้านขวาด้านซ้ายด้านหน้าด้านหลังมีช้างเกลื่อนกล่นทั่วไปหมด ช้างชื่อศิลป์พระพรก็วิ่งไปมา ช้างชื่อศรพระรามก็มีความรวดเร็วความเชี่ยวชาญและมีแรงอำนาจในการรบ ช้างชื่อเลิศพระชัย [หรือ เลิศพระชัยสนธิ] ก็เที่ยวค้นหา (ข้าศึก) และกำจัดศัตรูดับยุคเข็ญให้หมดไปได้
๏ สบสารหาญหื่นล้อม - - เลือนไพร พรยกแฮ รณพระชยสิทธิเห็น - - ห่อนช้า ทยมฤทธิพระไชยศักดิ์ - - สามารถ รักษพระชยศรีกล้า - - แกว่นชน ฯ
แปล ช้างทุกเชือกห้าวหาญฮึกเหิมที่จะออกรบ ยืนเป็นแถวเป็นแนวอยู่ล้อมราวป่าและส่งเสียงร้องอย่างกึกก้อง ช้างชื่อรณพระชัยสิทธิ์ก็เป็นที่เห็นชัดว่ามิใช่ชั่ว มีความสามารถเสมอด้วยช้างชื่อฤทธิ์พระไชยศักดิ์ ช้างชื่อรักษ์พระชัยศรีมีความแกล้วกล้าในการชน
๏ อาภรณอาภาศแก้ว - - แกมกาญจน์ สิทธิพระสํพุทธพล - - เลิศล้น ทยมสุทธิพระสมภาร - - เสาวภาค สารพระภูธรพ้น - - ตรยบตรอง ฯ
แปล เครื่องคชาภรณ์มีแสงแวววาวเพราะประดับด้วยแก้วแกมทอง ช้างชื่อสิทธิ์พระสัมพุทธมีกำลังล้ำเลิศ และมีความงามเสมอด้วยช้างชื่อสุทธิพระสมภาร ช้างชื่อสารพระภูธรนั้นเหลือที่จะคิดเอาอะไรมาเปรียบปาน (เทียบเทียม) ได้
๏ สารพลายหลายหลากซ้าย - - แซมขวา ชิดแทบพระสนสนอง - - เงื่อนขว้าง ทยมชลพระอาไศรย - - เสาวภาค แลเครื่องช้างแลช้าง - - ยิ่งยง ฯ
แปล ช้างพลายเป็นจำนวนมากยืนแซมอยู่ทั้งด้านซ้ายด้านขวา ช้างชื่อชิกแทบพระสน [หรือ ชิดแทบพระสนน] เตรียมพร้อมดุจดังเขื่อนขวางกั้นข้าศึก คู่กับช้างชื่อชลพระอาศัย [หรือ เทียมชลพระอาศัย] มีความงามมาก มองดูเครื่องคชาภรณ์ก็ล้วนอร่ามเรืองและช้างก็ล้วนสง่างาม [หรือ เครื่องคชาภรณ์แต่ละช้างก็ล้วนอร่ามเรือง]
๏ ชยพระอินทราศนท้ยน - - เมามัน ชาติพระอินทรียองค์ - - อ่าแกล้ว ฉินโฉมพระฉัททันต์ - - ทรงเดช อย้ายอยู่ล้อมแล้วลํ้า - - เขื่อนขันธ์ ฯ
แปล ช้างชื่อชัยพระอินทราศน์ดูประหนึ่งจะตกมัน ช้างชื่อชาติพระอินทรีย์มีรูปร่างสง่างามและดูท่าทางองอาจแกล้วกล้า ดูดุจดังช้างฉัททันต์ที่ทรงอำนาจ เมื่อขยายเรียงรายเป็นวงล้อมแล้วมั่นคงยิ่งกว่าเขื่อนขันธ์
๏ ลางตัวตระเทศหน้า - - ขวยขวญ ลางเตอบตระหมั้นภี - - พ่างปั้น ลางตัวค่าควรเมือง - - ยงยวด ลางช่างชนหมั้นสู้ - - ส่ายบร ฯ
แปล บางช้างเป็นช้างกระมีขวัญที่หน้า บางช้างก็มีรูปร่างสูงใหญ่และอ้วนพีดุจดังปั้น บางช้างมีค่าควรเมืองอย่างยิ่งยวด บางช้างเก่งในการชนต่อสู้และทำลายข้าศึก
๏ สารเรวรวดพ้ยงพ่าง - - แสะสยาม ลางส่ำสองงางอน - - เงือดฟ้า ลางสารแกว่นสงคราม - - เคยเกลื่อน บรเเฮ ลางส่ำงาอ่าหน้า - - เฉอดฉัน ฯ
แปล บางช้างวิ่งได้รวดเร็วเสมอด้วยม้าตระกูลสยาม บางช้างมีงาทั้งคู่งอนมีปลายชี้ฟ้า [หรือ งาทั้งคู่งอนประดุจดังจะเสียดฟ้า] บางช้างเก่งกล้าในการศึกได้เคยทำลายข้าศึกมามากแล้ว บางช้างมีงางามประดับหน้าทำให้งามสง่า
๏ ลางสารงามเงื่อนแกล้ง - - เกลาเหลา หล่อแฮ ลางส่ำจรางมันผัน - - ม่ายม้า ลางสารอาจเอาธาร - - ชาญช่ยว ลางส่ำแกล้วกล้าบ้า - - ชื่นตา ฯ
แปล บางช้างงามดุจดังตั้งใจประจงหล่ออย่างประณีต บางช้างตกมันเดินส่ายไปมาจนม้าเกรงขาม บางช้างมีท่าทางองอาจยิ่งและเชี่ยวชาญในการรบ บางช้างก็มีความแกล้วกล้า เวลาตกมันคลั่งดูงามตา
๏ ลางสารกดก่ยวซ้าย - - ขวาขบ ควบแฮ ลางส่ำงาขวางอน - - ง่าแกล้ว ลางดำขขลับคึอ - - แมลงภู่ เคยผาดเผ้งแผ้วผู้ - - ผ่าเข็ญ ฯ
แปล บางช้างพอถูกกดและเกี่ยว (ด้วยขอช้าง) ทางด้านซ้ายและด้านขวาก็ขับควบไปได้อย่างรวดเร็ว บางช้างมีงาข้างขวางอนงามสง่าน่าเกรงขาม บางช้างมีสีดำขลับดุจดังสีปีกแมลงภู่ ดูเหมือนเคยกวาดล้างยุคเข็ญให้หมดสิ้นไปได้อย่างรวดเร็วมาแล้ว [หรือ (เลื่องลือ) ทั้งใกล้ทั้งไกลว่า (ช้างนี้) เคยกวาดล้างยุคเข็ญให้หมดสิ้นไปมาแล้ว]
๏ ขวาซ้ายหมายหมู่หน้า - - หลังไตร ตรวจแฮ สรรพเครื่องอาวธเหน - - ห่อนช้า ลางงามเงื่อนไกรษร - - โสภาศ ลางส่ำเก้าเท้ากล้า - - แกว่นหาญ ฯ
แปล ได้ตรวจตราช้างทั้งกองขวาและกองซ้าย ทั้งกองหน้าและกองหลังให้มีอาวุธครบเครื่องอย่างรวดเร็ว [หรือ เครื่องทรงของช้างอีกทั้งอาวุธทั้งหลายเป็นของดีมิใช่เลว] ช้างบางช้างก็งามดุจไกรสรที่สง่างาม ช้างบางช้างก็ก้าวเดินด้วยความแกล้วกล้าอาจหาญ
๏ ไตรตรึงษดิราษตรร้าย - - ฤๅมี หนึ่งนา อัษฎลักษณาการ - - แก่นเกื้อ คชสารคู่คชสีห - - พิรยภาพ ไส้แฮ แลเครื่องแลช้างเคื้อ - - คู่ขยน ฯ
แปล หมู่ช้างที่มีลักษณะร้าย (ที่เรียกว่า ทุรลักษณ์) ๓๓ ลักษณะ (จำพวก) มิได้มีอยู่เลยแม้แต่ช้างเดียว มีแต่ช้างงามที่ต้องด้วยอัฐลักษณะ (อันประเสริฐ ที่เรียกว่า ศุภลักษณ์) ทั้งสิ้น [หรือ ช้าง (ที่ประจำอยู่) ทั้ง ๘ ทิศมีลักษณะเกื้อหนุน (อันประเสริฐ ที่เรียกว่า ศุภลักษณ์) ทั้งสิ้น] ล้วนเป็นคชสารที่มีความกล้าหาญมากดุจดังคชสีห์ ทั้งช้างและเครื่องคชาภรณ์ล้วนงามดุจดังวาดไว้
๏ กรพัดทองทาบถ้วน - - แถวสน สอดแฮ รัดพนคำคยน - - พู่ห้อย แชงชนักกเบนบน - - คอคาด โยงโยคหลังหน้าร้อย - - แร่งไหม ฯ
แปล สายรัดกูบบนหลังช้างล้วนหุ้มด้วยทองคำสอดร้อยเป็นแถว เครื่องผูกสัปคับก็ทำด้วยทองมีพู่ห้อย คาดเชือกหนังเครื่องผูกคอช้างไปถึงโคนหางช้าง โยงเป็นคู่ทั้งหน้าหลังร้อยด้วยไหมทอง
๏ พรายพัสตรพักพนาดพร้อม - - ภูษา พรายแพร่งภูโชไชย - - เพรอศแพร้ว จามรมล่านเมลืองตา - - หลายหมู่ อานกูปแก้วเก้าอี้ - - อาศนทอง ฯ
แปล เบาะสำหรับปูบนหลังช้างพร้อมทั้งผ้าเครื่องประดับดูเลื่อมพราย เครื่องประดับงวงช้างและงาก็ล้วนเพริดแพร้วแวววาว เครื่องสูงคือจามรหลายหมู่ก็งามรุ่งเรืองดูลานตา พร้อมด้วยอาน กูบแก้ว เก้าอี้ และที่นั่งทอง
๏ จองคชพยู่หกั้ง - - การยุทธ แลเครื่องแลสารสรอง - - เพรอศพ้น สารสบสลาบคุรธคือ - - ครุทธพ่าหณ ดาดาษรุกร้นข้า - - ข่มยวน ฯ
แปล ผูกช้างจัดเป็นกระบวนพยุหบาตรตามหลักพิชัยยุทธ์ ทั้งเครื่องคชาภรณ์และช้างแต่ละช้าง [หรือ เครื่องคชาภรณ์แต่ละช้าง] ล้วนงามยิ่งนัก ช้างทั้งหมดตั้งขบวนเป็นปีกครุฑเทียบได้กับครุฑพ่าหณ (คือครุฑที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์) มีมากมายรีบรุกร้นเข้าฆ่าและข่มขวัญพวกยวน (ชาวโยนก)
๏ ตาบหน้าหน้าราหู - - จับจันทร์ สรรพคับคำควร - - ลวดล้อม พรายพรายพันเหาหาง - - ยูงรยับ ยาบแฮ คำครํ่าของ้าวส้อม - - ทาบทอง ฯ
แปล เครื่องประดับคอช้างทำเป็นรูปหน้าราหูอมจันทร์ สัปคับทองคำก็มีลวดลายงดงามโดยรอบ มีแสงพร่างพรายมากมายดุจแววหางนกยูงที่วาววาม ของ้าวล้วนคร่ำทองและส้อม (เหล็ก ๒ ง่าม) ก็หุ้มด้วยทองคำ
๏ แหลนหลาวหอกดาบดั้ง - - โตมร มลังเมลืองเรืองรอง - - อร่ามฟ้า แสะสรรพแคบหมอนทอง - - พรายเพรอศ สุดส่ำพลช้างม้า - - หนั่นหนา ฯ
แปล อาวุธ คือ แหลน หลาว หอก ดาบ ดั้ง และโตมร ล้วนมีแสงเปล่งปลั่งเรืองรองอร่ามท้องฟ้า ม้าพร้อมด้วยเครื่องอานม้าหมอนทอง [หรือ หมอนขลิบทอง] ล้วนงามเพริดแพร้ว พอหมดพลช้างแล้วมีพลม้า (ตามมา) มากมาย
๏ แต่พลม้าแล้วเลิศ - - สรวงสวรรค์ เบญจสัตสังขยา - - คล่าวคล้อย สยามกรรณ์สุพรรณหงษ์ - - ขยนแข่ง งามแฮ สรรพแคบหมอนทองห้อย - - ภู่พราย ฯ
แปล เฉพาะแต่พลม้าก็งามเลิศราวกับมาจากสรวงสวรรค์ นับจำนวนได้ ๕๐๐ ค่อยๆเคลื่อนไปช้าๆ ม้าชื่อสยามกรรณ์และม้าชื่อสุพรรณหงษ์ถึงจะวาดอย่างไรก็งามสู้ไม่ได้ พร้อมด้วยเครื่องอานม้าหมอนทอง [หรือ หมอนขลิบทอง] มีพู่ห้อยดูงามยิ่ง
๏ อัศวกรรมงามพ้นแพ่ง - - พอลักษณ สวรรค์พิมานทายทยม - - ทยบด้วย สีหราชลํ้านักโฉม - - สีหราช วิลาศหงษหนัาส้วย - - สยบคาง ฯ
แปล ม้าชื่ออัศวกรรมงามยิ่งต้องตามอัศวลักษณ์ ม้าชื่อสวรรค์พิมานก็งามเสมอกัน ม้าชื่อสีหราชมีรูกร่างสง่างามดุจดังราชสีห์ ม้าชื่อวิลาศหงษ์มีหน้าเรียวแหลม คางจดคอ
๏ สีหเบ็ญชรชาติพ้ยง - - ขยนขาม แข่งแฮ วรเวครไวขวาขวาง - - ขวยบซ้าย สองตาตรยบนิลาม - - พุชาติ ถนัดอยาตรเมืองฟ้าคล้าย - - คล่าวดล ฯ
แปล ๑. ม้าชื่อสีหบัญชรมีรูปร่างงามน่าคร้ามเกรงดุจวาด ม้าชื่อวรเวคมีความคล่องแคล่วว่องไวในการเหลียวซ้ายแลขวา ตาทั้งสองข้างดำขลับดุจนิลามพุชาติ (น้ำสีนิล) ม้าชื่อถนัดยาตร (ดูราวกับ) มาจากสวรรค์มาสู่โลก
๒. ม้าชื่อสีหบัญชรมีรูปร่างงามน่าคร้ามเกรงดุจวาด ม้าชื่อวรเวคมีความคล่องแคล่วว่องไวในการเหลียวซ้ายแลขวา ตาทั้งสองข้างดำขลับดุจนิลามพุชาติ (น้ำสีนิล) ราวกับยาตรเยื้องจากสวรรค์มาสู่โลก
๏ โฉมอินทรสรอาจแม้น - - มือแมน แต่งแฮ ราชพาหนหยยล - - ยวดม้า สุพรรณสีหแสนสิน- - - ธพชาติ นิลเสวตรพลันพ้ยงฟ้า - - เปล่งเปลว ฯ
แปล ๑. ม้าชื่ออินทรสรอาจมีรูปร่างงามดุจดังมีมือเทพเจ้ามาเติมแต่ง ม้าชื่อราชพาหนเป็นม้าที่งามยิ่งยวดกว่าม้าอื่นๆ ม้าชื่อสุพรรณสีหะ [หรือ สุพรรณสีห์] งามมากดุจดังม้าสินธพ ม้าชื่อนิลเสวต [หรือ นีลเสวต] มีความรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ
๒. ม้าชื่ออินทรและม้าชื่อสรอาจมีรูปร่างงามดุจดังมีมือเทพเจ้ามาแต่งเติมเป็นม้าทรง (ราชพาหนะ) ดูงามยิ่งยวดกว่าม้าอื่นๆ ม้าชื่อสุพรรณสีหะ [หรือ สุพรรณสีห์] งามมากดุจดังม้าสินธพ ม้าชื่อนิลเสวต [หรือ นีลเสวต] มีความรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ
๏ โฉมศรืสีหาศนลํ้า - - เลขา ราชสํฤทธิเรว - - รวดแท้ เมอลมุขเมฆมาลา - - ควรค่า เมืองแฮ เมอลมหาสังขแปล้ - - แปลกลังข์ ฯ
แปล ๑. ม้าชื่อศรีสีหาศน์มีรูปร่งงดงามยิ่งกว่าเขียน ม้าชื่อราชสัมฤทธิ์ [หรือ ราชสมฤทธิ์] ก็วิ่งไปได้รวดเร็วยิ่ง ดูม้าชื่อมุขเมฆมาลาเห็นว่าเป็นม้ามีค่าควรเมือง ดูม้าชื่อมหาสังข์มีสีขาวเหมือนกับสังข์มาก
๒. ม้าชื่อโฉมศรีสีหาศน์ (มีรูปร่งงาม) ยิ่งกว่าเขียน ม้าชื่อราชสัมฤทธิ์ [หรือ ราชสมฤทธิ์] ก็วิ่งไปได้รวดเร็วยิ่ง ม้าชื่อเมิลมุขเมฆมาลาเห็นว่าเป็นม้ามีค่าควรเมือง ม้าชื่อเมิลมหาสังข์มีสีขาวเหมือนกับสังข์มาก
๏ จักรลักษณ์ศักดิพาหแม้น - - แมนเฉลา แรงร่ยวเหาะขลังเร็ว - - รวดผ้าย อาภรณพัฬเหารัตน์ - - รายรยบ กลับกลอกขวาซ้ายผ้าย - - ผาดผัน ฯ
แปล ม้าชื่อจักรลักษณ์และม้าชื่อศักดิพ่าห์งามดุจดังเทวดาสลักเสลาไว้ มีเรี่ยวแรงแข็งขันและมีฝีเท้าจัด มีเครื่องประดับประกอบด้วยแก้วจำนวนมากเรียงรายอย่างเรียบร้อย เคลื่อนไหวร่างกายผันผยอง หันซ้ายหันขวาได้รวดเร็ว
๏ หางฝังหลังเด้งสรยบ - - คอคาง ลิวแล่นพลันหนักชัก - - ง่ายลํ้า ภีสองน่องกางหาง - - ชันชอบ กลแฮ ตีนตรยบข้อคองํ้า - - ง่องงาม ฯ
แปล ซองหางฝัง (ด้วยเครื่องประดับ) หลังแอ่น คางจดคอ [หรือ ม้าหางยาวจดหลัง (ซึ่งเป็นลักษณะมงคลของม้า) ยามที่ม้านั้นเด้งตัว (ปลายหาง) สะบัดไปถึงคอและคาง] แม้ในยามวิ่งรวดเร็วก็สามารถถือบังเหียนได้ง่ายมาก ปลีน่องทั้งสองก็ล่ำสัน หางก็ชันถูกลักษณะ เวลาเต้นซอยข้อเท้าก็ราบเรียบ คอก็ก้มและสายง่อมก็งาม
๏ พวกพลช้างม้ารยบ - - รยงจรร โจษแฮ ดยรดาษดินเหลือหลาม - - ท่งท้าง สรรเพชญพ่างศรีสรร - - เพชญภาคย ยามโยคพระเจ้าช้าง - - เผือกผ้ายลีลา ฯ
แปล ไพร่พลและช้างม้าตั้งเรียงรายส่งเสียงอื้ออึง เกลื่อนกล่นแผ่นดินล้นหลามเต็มทุ่งเต็มทาง สมเด้จพระบรมไตรโลกนาถเป็นดุจพระศรีสรรเพชญพุทธเจ้า เมื่อยามโยค (ยามที่ดวงดาวร่วมกันให้คุณมาถึง) พระองค์ก็โปรดให้เคลื่อนทัพ
๏ ธงทยวหลายหลากกลิ้ง - - กลดไชย ชรอํ่าทั้งทางอา - - กาศกลุ้ม แพนทองพรรณรายไพ - - โรจโชติ หาญแห่จุ้มจุ้มล้อม - - หนั่นหนา ฯ
แปล มีธงธิวและกลิ้งกลดแห่งชัยชนะอยู่มากมายหลายหลากจนดูมืดมิด ทั้งอากาศก็มืดคลุ้ม แพนทองก็มีสีเลื่อมระยับดูไพโรจน์โชติช่วงไปหมด [หรือ แพนหางนกยูง (ที่อยู่บนหลังช้าง) ดูราวกับแผ่นทองมีสีเลื่อมระยับดูไพโรจน์โชติช่วงไปหมด] บรรดาทหารก็แห่ธงเหล่านั้นมาชุมนุมแวดล้อม (สมเด้จพระบรมไตรโลกนาถ) อย่างแน่นหนา
๏ สรวญศรัพทคฤโฆษฆ้อง - - กลองไชย ทุ่มพ่างแตรสังขชวา - - ปี่ห้อ มฤทึงค์ทรไนทรอ - - ทรุพราช ดังเดึอดม้าฬ่อก้อ - - โกรศกรยง ฯ
แปล ได้ฟังเสียงดังกึกก้องของฆ้อง กลองไชย ทุ่มพ่าง แตร สังข์ ปี่ชวา ปี่ห้อ (ปั่อ้อ) ตะโพน ปี่ไฉน ซอทรุพราช (?) ดงเดือดและม้าล่อก็มีเสียงดังกึกก้องมาก
๏ สยงพิณสยงพาทยพ้อง - - สารสม คู่แฮ สยงคีตสยงแผคงจยร - - จั่นแจ้ว เภรีระงมเภรี สยงลั่น - - ฦๅเเฮ สยงเกือบสยงก้องแกล้ว - - ไห่หรรษ ฯ
แปล เสียงพิณและเสียงเครื่องประโคมประสมประสานกันเป็นคู่ๆ เสียงเพลงขับร้องดังไปไกล เหมือนเสียงเจื้อยแจ้วของจักจั่น เสียงกลองดังกระหึ่มพร้อมๆกัน เสียงดนตรีเหล่านี้เกือบเหมือนกับเสียงโห่ร้องด้วยความรื่นเริงของเหล่าทหาร
๏ ทุกพ้องพันธทุกถ้วน - - แถวใน นอกแฮ พลขอบพลขันขัน - - เข่นกล้า ทรนงทรเนืองไจ - - เจียรภิต ดาดาษดาด้างถ้า - - ถั่งโดย ฯ
แปล พลทุกพวกพ้องครบถ้วนทั้งแถวในและแถวนอก พลที่อยู่รอบนอกและพลทั้งกองทัพที่ฝึกมาอย่างเข้มข้นและกล้าหาญ [หรือ พลที่อยู่รอบนอก และพลที่อยู่เป็นตอนๆ ที่ฝึกมาอย่างเข้มข้นและกล้าหาญ] มีความแกล้วกล้าอยู่เนืองๆ โดยปราศจากความกลัว [หรือ มีความแกล้วกล้าอย่างมาก โดยปราศจากความกลัว] ถือดั้งอยู่เต็มไปทั่วคอยที่จะเคลื่อนที่ตามไป [หรือ ตั้งท่าอยู่เต็มไปหมดคอยที่จะเคลื่อนที่ตามไป]
๏ พลพระภูมิศรเรื้อง - - เอารส ท่านแฮ รองร่องร้องโกรยโดย - - ปิ่นเกล้า พลหาญแห่พลคช - - แครเคลื่อน ไคลแฮ พลพวกม้าแคล้วเคล้า - - คลี่คลา ฯ
แปล ไพร่พลของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ (คือ สมเด็จพระบรมราชา) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และเป็นแม่ทัพรองจากพระองค์ [หรือ เป็นทัพรอง] เคลื่อนไปทางร่องน้ำตามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีทหารผู้กล้าหาญแห่ตามกองทัพช้างที่เคลื่อนไปอย่างแน่นขนัด [หรือ มีทหารผู้กล้าหาญแห่ตามกองทัพช้างที่เคลื่อนไปด้วย] ส่วนกองทัพม้านั้นก็เคลื่อนกำลังผสมปนไปด้วยกัน
๏ หัวเมืองขุนหมื่นพร้อม - - พันแหน แห่นา หมายหมู่ขวาแขวงขวา - - ไขว่ซ้าย แวงทองดาบทองแพน - - เขนไขว่ สบส่ำหลงหน้าผ้าย - - หนั่นหนา ฯ
แปล บรรดาเจ้าเมือง ขุน หมื่น พัน พร้อมกันแห่แหนตามไป กำหนดเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายเดินกันขวักไขว่ [หรือ เดินไปมาอย่างรวดเร็ว] ถือดาบทองพร้อมทั้งเครื่องป้องกันอาวุธคือแพนและเขนอยู่ขวักไขว่ [หรือ เคลื่อนไปมาอย่างรวดเร็ว] ทั้งหมู่หลังหมู่หน้าตามไปอย่างแน่นหนา
๏ เมอลมุนกว้านไพร่ถ้วน - - แถวกอง ชื่นแฮ ไกวแกว่งศราวุธ - - ง่าเงื้อ ทรนงทรนองหา - - แหนราช แสงส่ำลีเกื้อก้อม - - แพร่งพราย ฯ
แปล มองดูพวกหัวหน้าและไพร่พลทั้งหลายซึ่งอยู่เป็นแถวเป็นกองโดยครบถ้วนทั้งหมด กวัดแกว่งศรและอาวุธอื่นๆ เงื้อง่าอยู่ด้วยความองอาจกล้าหาญอย่างมากแวดล้อมพระมหากษัตริย์ แสงสีขาว (ของปลายอาวุธ) ดูพร่างพราย [หรือ แสงของปุยฝ้ายที่ผูกเป็นพู่ (อยู่ที่ปลายอาวุธ) ดูพร่างพราย หรือแสงสีต่างๆ (ของปลายอาวุธ) ดูพร่างพราย]
๏ พวกพลกล้ำกล้ากลาด - - ไปหนา หนั่นแฮ หาญห่มเกราะกรายกราย - - ก่อนม้า ประดับประดาดา - - แหนแห่ พระนา แลเครื่องแลหน้าม้า - - ใคร่ชม ฯ
แปล พวกไพร่พลที่แกล้วกล้ามีอยู่กลาดเกลื่อนไปอย่างแน่นหนา พวกทหารกล้าล้วนห่มเกราะเดินกรายนำหน้าม้า ล้วนแต่งเนื้อแต่งตัวพากันเข้าแห่ห้อมองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เครื่องประดับม้าและม้าแต่ละม้าล้วนน่าดูชมทั้งสิ้น [หรือ เครื่องประดับของม้าแต่ละม้าล้วนน่าดูน่าชมทั้งสิ้น]
๏ ธงฉัตรหลายแหล่กลิ้ง - - กลดแซรง ซรอํ่าอับอัมพร - - เกือบกั้ง แตรสังขดำแคงครร - - ชิตโฆษ คฤมแฮ ทวนธนูหน้าไม้ตั้ง - - ต่อบร ฯ
แปล ธงและฉัตรมีมากมาย รวมทั้งกลิ้งกลดที่มีแทรกอยู่เป็นระยะๆด้วย เกือบจะกั้นท้องฟ้าให้ดูมืดมนไป แตรและสังข์มีเสียงดังกึกก้อง ทวน ธนู และหน้าไม้จัดเตรียมไว้พร้อมสรรพเพื่อต่อตีข้าศึกศัตรู
๏ สรรเพ็ชญภิโพธิเกล้า - - สงสาร แครคลี่แสนยากร - - กล่นผ้าย พยงพระคชาธาร - - ทรงเดช คลายคลี่พลหว้ายฟ้า - - เฟื่องมาร ฯ
แปล ๑. สมเด็จพระสรรเพชญ (หมายถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ผู้ทรงมีพระปัญญาอันสูงยิ่งเหนือโลก ได้ทรงเคลื่อนกองทัพเกลื่อนกล่นเต็มท้องทุ่ง ดุจดังพระคชาธารที่เรืองเดช (คือช้างเอราวัณของพระอินทร์) ยกกองทัพเหาะไปในท้องฟ้าเพื่อปราบมาร [หรือ เลื่องลือไปถึงข้าศึกทำให้เกิดความหวาดกลัว]
๒. สมเด็จพระสรรเพชญ (หมายถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ผู้ทรงมีพระปัญญาอันสูงยิ่งเหนือโลก ได้ทรงเคลื่อนกองทัพเกลื่อนกล่นเต็มท้องทุ่ง ดุจดังพระคชาธารที่เรืองเดช (พระคชาธารของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ซึ่งเคลื่อนพลไปประหนึ่งว่าทรงเหาะไปในท้องฟ้าเพื่อไปปราบข้าศึก [หรือ เลื่องลือไปถึงข้าศึกทำให้เกิดความหวาดกลัว]
ร่าย ๏ แต่นั้นบั้นนฤเบนทรนฤเบศ นเรศรนรินทราธิบดีศรีสรรเพชญ์ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถนายกดิลกผู้เปนเจ้า เกล้าภูวมณฑล สกลชํพูธิเบศ คือพระเดชเกษกษัตรีรพีพงศ์ ทรงมกุฎรัตนพัสตราภรณวิภูสิตเสร็จ เสด็จเหนือปฤษฎางคกุญชร ดุจอมรสถิตย์เอราวรรณ์ ครรไลยยังนครคู่ฟ้า ถวัลยวิภูผ่านหล้า แหล่งเฟี้ยมฟีกบุญ ท่านนา ฯ
แปล ลำดับนั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชาธิบดีผู้เป็นพระศรีสรรเพชญ์ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองประเทศ ทรงเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินชมพูทวีปทั้งปวง ทรงเป็นกษัตริย์สุริยวงศ์ผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพ ทรงมงกุฏแก้วและพัตราภรณ์ เสด็จมาบนหลังพระคชาธาร ดุจดังองค์อัมรินทร์สถิตเหนือช้างเอราวัณ พระองค์เสด็จไปยังเมืองสวรรค์ (เมืองเชียงชื่น) เพื่อเสวยราชสมบัติเป็นใหญ่ในแผ่นดิน (ฝ่ายข้าศึก) กลัวบุญญาธิการจึงหลีกหนีไป
โคลงสี่ ๏ สารพู้นสพราศเหลื้อม - - เขนทอง ตนพระยาลางพึง - - พวกเพื้อ พระคุณออกนางครอง - - รักษราช นั้นฤๅ ดินแลฟ้าคว้างเคื้อ - - ไป่แทน ฯ
แปล ช้างที่อยู่ห่างออกไป (ของพระยาลาวพึง) ก็งามและเขนทองก็งามเป็นมันเลื่อม ตัวพระยาลาวพึงกับพรรคพวกก็นึกถึงคุณของนางพญาหมื่นด้งนคร (นางเมือง) ผู้ครองเมืองเชลียง (ซึ่งเป็นภรรยาหมื่นด้งนคร หรือนางเมืองซึ่งเป็นมารดาของหมื่นด้งนคร) ผู้มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า แม้ดินและฟ้ากว้างก็ไม่สามารถจะเปรียบปานได้
๏ ขุนช้างผันผาดช้าง - - ผลาญงา งาต่องาขวิดแขวน - - ท่าวหั้น ลางเลี่ยงหลีกเหลือภา - - พลใหญ่ พลเพื่อนพาซุกซั้น - - ร่นลาญ ฯ
แปล แม่ทัพช้างก็ไสช้างหมุนไปมาแล้วเข้าประสานงากัน งาต่องาปะทะกันช้างตัวล่างก็ยกตัวอยู่บนนั้นให้ลอย (และ) ทำให้ล้มลง บางพวกก็เลี่ยงหลีกหนีไปเพราะเหลือกำลังที่จะต่อต้านกองทัพใหญ่ (ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ได้ [หรือ บางพวกก็เลี่ยงหลีกกระจัดกระจายหนีกองทัพใหญ่ (ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ไป] กองทัพข้าศึกต่างก็เร่งรีบหนีหัวซุกหัวซุนแตกร่นถอยไป
๏ รํ่าปางเขาไล่ร้าสงคราม - - ท่านนา ลาวแต่งต้บปราการ - - หนั่นหน้า กษ้ตริย์เลื่อนพลตาม - - เรวเร่ง โซรมเชือดแทงท่วนม้า - - หนั่นหัว ฯ
แปล ขอบรรยายถึงคราวที่พวกเขาคือพวกล้านนารุกรบในสงครามกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครั้งนั้น ฝ่ายลาวได้แต่งแนวกำแพงเครื่องกีดขวางอย่างหนาแน่น ฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ทรงเคลื่อนกองทัพตามติดไปอย่างรีบเร่ง พอทันก็รุมกันเชือดแทงม้าทุกตัวแล้วตัดหัว (ศัตรูสิ้นทุกคน)
๏ หาญเราต่อเต่งง้วน - - ไหงวฤๅ สารเติบต่อตัวทับ - - ท่าวหั้น เขารุกเร่งพลปือ - - ยอพ่าน ม้าช้างฉวัดไล่ช้นน - - ช่วยแทง ฯ
แปล ทหารของเรา (ฝ่ายอยุธยา) จะต่อสู้กับช้างไหวหรือ เพราะช้าง (ของข้าศึก) ตัวใหญ่กว่าเพียงทับทหารของเราก็จะตายเท่านั้นเอง ฝ่ายข้าศึกก็ได้รีบเร่งกองทัพซึ่งมีไพร่พลจำนวนมากเข้ามาทำให้กองทหารของเราแตกพล่าน [หรือ ฝ่ายข้าศึกก็ได้รีบเร่งกองทัพซึ่งมีไพร่พลจำนวนมากเข้ามาอย่างไม่มีระเบียบ] ช้างม้าวนเวียนไล่แทงทหารของเรากระชั้นเข้ามา
๏ ทรงบุญจรหง่านเลี้ยง - - ผสานงา ฟองสมุทตื่นกลางแปลง - - ท่าวหั้น สบสารก็ชวนมา - - โซรมช่วย กนนแฮ งาต่องายอกั้น - - ซรวดเซร ฯ
แปล ๑. ช้าง (ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ชื่อทรงบุญ รูปร่างสูงตระหง่าน (สง่า) เดินส่ายอาดเข้าประสานงา [หรือ เข้าประสานงากันเสยขึ้นไป] ฝ่ายช้างชื่อฟองสมุทรซึ่งตื่นตกใจกลางสนามรบถึงกับล้มลง ช้างทั้งหลาย (ของข้าศึก) ก็ช่วยกัน (ช้างฟองสมุทร) ไว้ (โดยใช้) งาต่องายกขึ้นกันไว้จนซวดเซ [หรือ ช้างทั้งหลายต่างชวนกันเข้า (ประสานงา) งาต่องาก็ยกขึ้นปะทะกันจนซวดเซ]
๒. ช้าง (ของแม่ทัพฝ่ายไทย) ชื่อทรงบุญ รูปร่างสูงตระหง่าน (สง่า) เดินส่ายอาดเข้าประสานงา [หรือ เข้าประสานงากันเสยขึ้นไป] ฝ่ายช้างชื่อฟองสมุทรซึ่งตื่นตกใจกลางสนามรบถึงกับล้มลง ช้างทั้งหลาย (ของข้าศึก) ก็ช่วยกัน (ช้างฟองสมุทร) ไว้ (โดยใช้) งาต่องายกขึ้นกันไว้จนซวดเซ [หรือ ช้างทั้งหลายต่างชวนกันเข้า (ประสานงา) งาต่องาก็ยกขึ้นปะทะกันจนซวดเซ]
๏ ทรงบุญถอยเร่ร้น - - รุกแทง ลาวแล่นเปรตายหัว - - ขวดขวํ้า ขอเขนกระลึงแวง - - วยนมาตร หอกช่วยเชองชักซ้ำ - - ซ่นไฟ ฯ
แปล ช้างชื่อทรงบุญถอยเร่ออกมาแล้วเร่งรุดเข้ารุกแทงช้างของฝ่ายล้านนาวิ่งหนีไปและ (ทหารล้านนาบนคอช้าง) หัวขาดล้มคว่ำลง ทหารที่ถือขอ เขน และดาบได้เวียนวนมาตามทาง ทหารที่ถือหอก [หรือ เสนาประจำ ๔ เท้าช้าง] ได้กระตุ้นให้ช้างรุกเข้าแทงซ้ำ และเอาหอกที่ส้นหอกติดไฟ (พุ่งเข้าใส่ช้างข้าศึก) [หรือ เอาไม้ที่มีลักษณะเหมือนไต้ติดไฟ (แหย่ให้ช้างของข้าศึกตื่น)]
๏ ลาวหัวขาดห้อยติด - - คอสาร ฟูมเลือดหลามไหลจร - - จวบจั้ง พระเทพประหารหัก - - โหมเกลื่อน เขนแนบเขนตาวตั้ง - - ต่อตาย ฯ
แปล ทหารล้านนาถูกฟันศีรษะขาดห้อยติดอยู่กับคอช้าง เลือดไหลอาบจนกระทั่งหยุดไปเอง ช้างชื่อพระเทพประหารได้โหมหักเข้าโจมตีจนฝ่ายข้าศึกตายเกลื่อน ถึงขั้นทหารทั้ง ๒ ฝ่ายรบประชิด เขนต่อเขนกระทบกันและต่างใช้ดาบฟาดฟันกันอย่างไม่ยอมถอยจนกระทั่งล้มตายไปด้วยกัน
๏ เสนาตกเกลื่อนเขา - - กลยวลาว ลุย่านไทเท้งหงาย - - เฟือดฟ้า ไพร่พลเมืองนาวนาว - - นฤนาท แตรตระหลบก้องหล้า - - ส่งสยง ฯ
แปล ฝ่ายพวกทหาร (ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ก็กรูกันเข้าไปจับทหารล้านนามัด [หรือ ฝ่ายพวกทหาร (ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ก็เคลื่อนเข้ารบประชิดติดพันไปในหมู่ทหารล้านนา] พอไปถึงตำบลย่านไทก็ปล่อยให้ทหารล้านนานอนหงายอยู่สุดลูกหูลูกตา [หรือ ปล่อยให้ทหารล้านนานอนหงายลงไปโดยเร็ว] ไพร่พลเมืองจำนวนมากก็ส่งเสียงดังอื้ออึง เสียงแตรก็ดังตลบกึกก้องไปทั่วทั้งแผ่นดิน
๏ พันฦกลํ้าฟาดฟ้า - - ดินทรุด ผืนแผ่นบโยงเอียง - - บ่ช้า พลหลวงศรีราชบุตร - - พังพะ มานา เขาเกลื่อนช้างเขากล้า - - เกลื่อนเขา ฯ
แปล นับว่าน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าสายฟ้าฟาดหรือแผ่นดินถล่ม ผืนแผ่นดินถ้าไม่มีอะไรยึดไว้คงจะต้องทรุดเอียงไปในไม่ช้า กองทัพหลวงของศรีราชบุตร (คือ สมเด็จพระบรมราชา) ก็ได้ตีขนาบเข้ามา ศรีราชบุตรทรงไสช้างพุ่งเข้าใส่ข้าศึก นับว่าพระองค์ทรงมีความกล้าหาญอย่างยิ่งที่ทรงขับช้างเข้าทำลายกองทัพข้าศึกได้
๏ พลม้าเขาแกว่นลํ้า - - พลเสือ พลหอกหาญครเลา - - ไล่เท้ง โยธาแหล่หลายเหลือ - - อกแผ่น มานา สยงมี่ระเร้งฟ้า - - ฟาดไฟ ฯ
แปล กองทัพม้าของสมเด็จพระบรมราชาล้วนแกล้วกล้ายิ่งกว่ากองทัพเสือ กองทัพทหารหอกที่กล้าหาญได้เข้ารุกไล่ทิ่มแทงข้าศึก กำลังทหารมีมากมายล้นแผ่นดิน เสียงเร่งเร้า (ให้เข้ารบ) ดังอึงมี่ดุจเสียงฟ้าผ่า
๏ กษ้ตริย์ไวแว่นหน้า - - พรยมพราย เพรอศแฮ รามราชฤๅไทเห็น - - ห่อนช้า พระโฉมเฉกนารายณ์ - - เรืองราช นั้นแฮ ดาลเดชตรัสเจ้าฟ้า - - สี่มือ ฯ
แปล ๑. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงมีพระปรีชาว่องไว มีพระพักตร์งามพริ้มพรายพอเห็นพระพักตร์ก็นึกถึงพระรามราชและพระลือไทราช (คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพระยาลือไทหรือพญาลิไท ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวสุโขทัย) ทันที พระองค์ทรงมีพระรูปโฉมเฉกเช่นพระนารายณ์ ทรงเป็นกษัตริย์ผู้เรืองฤทธิ์มีพระเดชดลบันดาลให้เห็นเป็นกษัตริย์ผู้มี ๔ กร
๒. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเป็นกษัตริย์ที่ดี พอเห็นก็นึกถึงพระรามราชและพระลือไท (คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพระยาลือไทหรือพญาลิไท ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวสุโขทัย) พระองค์ทรงมีพระรูปโฉมเฉกเช่นพระนารายณ์ และทรงเป็นกษัตริย์ซึ่งมีพระเดชานุภาพรุ่งเรืองดังพระนารายณ์
๏ ส่ำสารผายผาดพ้ยง - - สีหเคนทร์ คมขาดคอคึอจักร - - เคลือบแคล้ว พระกรกระลึงเขน - - กรหลอก กรหลอกกลดกั้งแพร้ว - - เพรอศพราย ฯ
แปล บรรดาช้างทั้งหลายเดินอย่างสง่างามดุจพญาราชสีห์ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงถืออาวุธที่คมดุจจักร (ของพระนารายณ์) ที่สามารถจะตัดคอได้โดยไม่เคยพลาดเลย พระหัตถ์ทรงจับเขนขยับไปมา พระกลดที่กางกั้นถวายก็ดูงดงามแพรวพราว
๏ พลแพนพลหอกหน้า - - พนักทอง เขาย่อมขันตัวตาย - - ต่อหน้า ชาญไชยชื่นชมคลอง - - กรยงแผ่น เผยอแฮ ตนราชผู้แกล้วกล้า - - เกลื่อนพล ฯ
แปล กองทหารทวนกองทหารหอกที่อยู่เบื้องหน้าที่นั่งพนักทอง ต่างก็ขันอาสารบจนกว่าตัวจะตายต่อเบื้องพระพักตร์ ทหารเหล่านี้ล้วนมีความช่ำชองในการรบจนได้ชัยชนะมาแล้ว มีความชื่นชมยินดีที่จะรักษาพระบรมเดชานุภาพฝากไว้ในแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้แกล้วกล้าทรงเคลื่อนทัพมา
๏ หมวกทองลุกแล่นเข้า - - ขบฟัน ต่อนา เข้าประทะได้กล - - ดีดนิ้ว สิบคนต่อลาวพัน - - ภูใหญ่ หั่นเด็จหัวได้หิ้ว - - ถั่งถวาย ฯ
แปล กองทหารหมวกทองได้โลดแล่นเข้าฟาดฟันต่อสู้ปะทะกับข้าศึกอย่างง่ายดายดุจดีดนิ้ว ทหารไทยสิบคนสามารถต่อสู้ทหารล้านนาตัวใหญ่ๆได้ถึงพันคน แล้วก็ช่วยกันตัดหัวทหารล้านนาหิ้วเข้าไปถวายอย่างไม่ขาดระยะ
๏ แพนดั้งไย่ไย่เข้า - - ทักแทน ก่อนนา ตัวต่อตัวลาวตาย - - ตื่นหยั้น หางยูงหักโหมแพน - - ทองท่าว ญวนพ่ายพลล้านร้น - - ค่ายคึง ฯ
แปล ทหารถือทวนและดั้งวิ่งเป็นแถวดาเข้าไปและเข้าต่อสู้ประลองฝีมือก่อนชนิดตัวต่อตัว ทหารล้านนาได้ล้มตายบ้างก็ตื่นกลัว [หรือ ทหารล้านนาได้ล้มตายบ้างก็แตกร่นถอยไป] ทหารที่ถือขนหางนกยูงก็โบกเป็นอาณัติสัญญาณให้ทหารถือทวนทองเข้าหักโหมโจมตี ทหารล้านนา (ยวนโยนก) ซึ่งมีจำนวนมากมายนับล้านต้องแพ้พ่ายถอยร่นกลับเข้าค่ายตั้งมั่นไว้
๏ พันฦกลํ้าฟ้าผ่าว - - เผากัลป์ ฦๅเลวงอึกอึง - - แหล่งหล้า พราหมณพรตสังวาลวัล - - โหงหูต แล้วแฮ มากปู่เปนบ้าเต้น - - ตื่นหนี ฯ
แปล ความน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าความร้อนที่เผาผลาญโลกในยามสิ้นกัปกัลป์ มีเสียงอึกทึกอื้ออึงไปทั่วทุกแหล่งหล้า พราหมณ์ผู้ทรงพรตสวมสายธุรำบูชาไฟโดยพลัน ปู่เจ้าเป็นจำนวนมากต่างก็ตื่นตกใจแตกหนีเอาตัวรอด
๏ หมากขามรกรูดช้าง - - ลงเชอง ลาวล่ามมัวผีเมา - - ม่วยม้วย ถางกันไขว่ขวินเชวอง - - ดยรดาษ ยงยิ่งลำกล้วยลํ้า - - ล่าวเลือน ฯ
แปล ๑. ต้นมะขามซึ่งมีอยู่มากมายหนาแน่นทำให้ทหารบนหลังช้างตกลงมาแทบเท้าช้าง ทหารล้านนาถูกจับล่ามต่างก็ตกใจกลัวตาย ในความชุลมุน พวกล้านนาถูกฟันตายมากมายเกลื่อนกลาด เหมือนฟันต้นกล้วยที่เรียงเป็นแถวเป็นแนว
๒. ต้นมะขามซึ่งมีอยู่มากมายหนาแน่นทำให้ทหารบนหลังช้างตกลงมาแทบเท้าช้าง ทหารล้านนาถูกจับล่ามต่างก็ตกใจกลัวตาย ในความชุลมุน พวกล้านนาตายกันระเกะระกะเต็มไปหมด ดูคล้ายต้นกล้วยที่ทับถมกันสุดลูกหูลูกตา
๏ กั้งกลดไทท้าวราช - - เอารส ท่านนา ขวัญก่ยงกินเผือนไป - - เผือดหน้า ตรลึงตรลานหต - - หัวห่อ ตนแฮ ยวนยิ่งเหยงย้ายว้า - - วุ่นวนน ฯ
แปล พอเห็นคนเชิญกลดพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (คือ สมเด็จพระบรมราชา) เท่านั้น พวกทหารล้านนาต่างก็ขวัญหนีเข้าป่า (ตกใจมาก) หน้าซีดเผือดด้วยความกลัวจนหัวหดตัวงอตะลีตะลานวิ่งหนีดูชุลมุนไปทั่วป่า
๏ เสียนางลเอ่งเนื้อ - - นมเฉลา เสียสาตราวุธสรรพ์ - - ใช่น้อย เสียพาลยพัฬเหา - - ทองแท่ง เสียกั่นโทงถ้วนร้อย - - มาศเมลือง ฯ
แปล ๑. (ฝ่ายล้านนา) ต้องทิ้งหญิงสาวที่มีผิวพรรณเปล่งปลั่งและถันงามไป ต้องทิ้งศัตราวุธไว้มิใช่น้อย ต้องทิ้งพวกเด็กๆไว้เป็นจำนวนมากรวมทั้งทองแท่ง และต้องทิ้งช้างไว้มากมายประมาณ ๑๐๐ เชือก
๒. (ฝ่ายล้านนา) ต้องทิ้งหญิงสาวที่มีผิวพรรณเปล่งปลั่งและถันงามไป ต้องสูญเสียศัตราวุธไปมิใช่น้อย ต้องสูญเสียสาววัยรุ่นไปมากมายรวมทั้งทองแท่งและต้องสูญเสียทองคำอร่ามเรืองเป็นค่าปรับอีกเป็นจำนวนมาก
๏ เห็นเราทุกแห่งห้อม - - ติดตาม โหมประนงงเมืองโจม - - จวบล้าง เงินทองแหล่เหลือหาม - - ทุกหมู่ นางมิ่งเมืองม้าช้าง - - ถั่งถวาย ฯ
แปล เห็นทหารฝ่ายเราทุกหมู่เหล่าห้อมล้อมติดตาม (กองทัพของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) โหมกำลังเข้าตีเมือง เมื่อพบข้าศึกก็ฆ่าทิ้ง ยึดได้เงินทองมากมายจนหามไม่ไหว ได้บรรดาหญิงชาววังและช้างม้าเข้ามาถวายไม่ขาดสาย
๏ เชลอยลากลู่ม้า - - มือมัด เขาเมื่อยจำจูงขาย - - แลกเหล้า พระยศพ่อท่านทัด - - ไตรโลกย์ ดินหื่นหอมฟ้าเร้า - - รวดขจร ฯ
แปล ทหารฝ่ายอยุธยาจับทหารฝ่ายล้านนาเป็นเชลยได้แล้วก็มัดมือลากถูลู่ถูกังมา เมื่อเมื่อยก็จำใจต้องจูงไปขายแลกเหล้ากิน พระเกียรตยศของสมเด้จพระบรมไตรโลกนาถเสมอด้วยไตรโลก ก็ฟุ้งขจรไปทั่วฟ้าและดินอย่างรวดเร็ว
๏ ชยชยยศโยศเจ้า - - จักรกรี ไกรเทพศรีสาคร - - เฟื่องหน้า ชยชยเมื่อพูนศรี - - นางนาฏ ชยบพิตรพ้นฟ้า - - เพื่อมมา ฯ
แปล ชัยชนะและเกียรติยศของสมเด้จพระบรมไตรโลกนาถเสมอด้วยพระนารายณ์ซึ่งเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่เหนือเกษียรสมุทรได้ฟูเฟื่องไปทั่วโลก ชัยชนะของพระองค์ทำให้พระองค์ได้นางสนมที่สวยงามเพิ่มขึ้นอีกมาก ชัยชนะของพระองค์ที่มีมากมายเป็นล้นพ้นก็เพราะฟ้าได้ประทานเพิ่มมาให้
๏ ชยชยอำนาจท้าว - - คือราม รอนราพล่วงลงกา - - แผ่นแผ้ว ชยชยดิ่งติดตาม - - มารมารค นั้นฤๅ ชยชำนะได้แก้ว - - ครอบครอง ฯ
แปล ๑. ชัยชนะและอำนาจของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสมอด้วยพระรามเมื่อคราวที่ทรงสังหารทศกัณฐ์ถึงกรุงลงกา ทรงปราบปรามเมืองลงกาจนราบคาบ ทรงได้ชัยชนะด้วยการติดตามพวกยักษ์ (ไปยังกรุงลงกา) ด้วยการจองถนนข้ามไป เมื่อทรงได้ชัยชนะก็ทำให้พระองค์ได้นางสีดากลับคืนมาครอบครอง
๒. ชัยชนะและอำนาจของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสมอด้วยพระรามเมื่อคราวที่ทรงสังหารทศกัณฐ์ถึงกรุงลงกา ทรงปราบปรามเมืองลงกาจนราบคาบ ทรงได้ชัยชนะด้วยการติดตามพวกยักษ์ (ไปยังกรุงลงกา) ด้วยการจองถนนข้ามไป เมื่อทรงได้ชัยชนะก็ทำให้พระองค์ได้เมืองเชียงชื่นกลับคืนมาครอบครอง
๏ ชยชยชมชาติแก้ว - - กุญชร้ศ ภูเบศสากลปอง - - กราบไหง้ว ชยชยมี่เมืองสวัสดิ - - ภูลโภค ชยบพิตรท้าวไท้ - - เลิศฦๅ ฯ
แปล ชัยชนะครั้งนี้ (ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงได้ชมรัตนะ ๗ ประการ มีช้างและม้า (เป็นจำนวนมาก) บรรดากษัตริย์และเจ้าเมืองทั้งปวงต่างพากันมากราบไหว้ (อ่อนน้อม) ทำให้พระองค์ทรงได้เมืองที่บริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติที่เป็นสิริมงคลโดยสวัสดี และทำให้พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เลอเลิศ
๏ ชยชยยศโยคก้อง - - ไตรตรึงษ์ บุญเบอกวยงทองปือ - - ไต่เต้า ชยชยรำพึงสยง - - ฦๅลาภ สรหนั่นนิ้วนอบเข้า - - อยู่มือ ฯ
แปล ชัยชนะครั้งนี้ทำให้พระเกียรติยศ (ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ดังกึกก้องไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระบุญญาบารมี (ของพระองค์) [หรือ (พระองค์ทรงมี) พระบุญญาบารมีมาก] (ทำให้พระองค์ทรงได้ทั้ง) เมืองและทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมากมาอยู่ในครอบครอง ชัยชนะของพระองค์ทำให้มีชื่อเสียงเลื่องลือถึงทรัพย์สมบัติที่พระองค์ได้มา บรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายต่างก็ต้องยอมถวายบังคมเข้ามาอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์
๏ ชยชยานุภาพท้าว - - ทยมทิน กรแฮ เมืองเทพคนธรรพฦๅ - - อยู่ถ้อย ชยชยพ่อพยงอินทร - - นุภาพ บุญเบอกเมืองถ้วนร้อย - - รอบถวาย ฯ
แปล ชัยชนะและอานุภาพของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสมอด้วยพระอาทิตย์ แม้แต่เมืองสวรรค์และคนธรรพ์หรือก็ยังยอมอยู่ในถ้อยคำของพระองค์ ชัยชนะของพระองค์เสมอด้วยอานุภาพของพระอินทร์ พระบุญญาบารมีของพระองค์ทำให้เมืองต่างๆ โดยรอบนับร้อยต้องยอมอ่อนน้อม (คือ ถวายบังคม หรือถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง)
๏ ชยชยเมื่อปราบอ้อม - - กำแพงเพ็ชร์ ผืนแผ่นผายเสมา - - ออกกว้าง ชยชยท่านไตรเตร็จ - - ในนารถ ยศโยคบุญท้าวอ้าง - - อาจครวญ ฯ
แปล (เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงได้) ชัยชนะโดยปราบปรามเมืองต่างๆ รอบๆ เมืองกำแพงเพชรได้แล้ว นับว่าพระองค์ได้ทรงขยายขอบขัณฑเสมาอาณาเขตออกไปได้อย่างกว้างขวาง เมื่อทรงได้ชัยชนะ ได้เสด็จออกตรวจตราเมืองทั้ง ๓ (คือพิษณุโลก สุโขทัย และศรีสัชนาลัย) เพื่อแสดงพระองค์เป็นที่พึ่งของเมืองทั้ง ๓ นั้น พระเกียรติยศประกอบกับพระบุญญาบารมีของพระองค์นั้นสุดที่จะพรรณนาได้ [หรือ พระเกียรติยศประกอบกับพระบุญญาบารมีของพระองค์สามารถจะใคร่ครวญทบทวนได้ ]
๏ กษัตริย์สุรราชเรื้อง - - รศธรรม์ บรรหารยศยอยวน - - พ่ายฟ้า สมภารปราบไปกัลป์ - - ทุกทวีป ร้อยพิภพเหลื่อมหล้า - - อยู่เย็น ฯ
แปล สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเป็นกษัตริย์ผู้กล้าหาญ ทรงแตกฉานในรสพระธรรม มีรับสั่งให้แต่งตั้งยศแก่พวกยวนโยนก (ล้านนา) ผู้พ่ายแพ้ต่อพระองค์ พระองค์ทรงมีพระบุญญาธิสมภารสามารถปราบยุคเข็ญซึ่งเป็นเสมือนไฟประลัยกัลป์ล้างโลกได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง ทำให้เมืองจำนวนมากในโลกอยู่ร่มเย็นเป็นสุขทั่วถ้วน
๏ ร้อยท้าวรวมรีบเข้า - - มาทูล ท่านนา ถวายประทุมทองเป็น - - ปิ่นเกล้า สมภารพ่อพยงสูรย - - โสภิต มอญแลยวนพ่ายเข้า - - ข่ายบร ฯ
แปล บรรดาเจ้าเมืองเป็นจำนวนมากได้รวมกันรีบเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และถวายดอกบัวซึ่งทำด้วยทองคำเป็นการยอมรับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่าเป็นใหญ่เหนือพวกตน พระบุญญาธิการของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถรุ่งโรจน์ดุจดวงอาทิตย์ ทำให้พวกมอญและยวน (โยนก) ที่พ่ายแพ้ต่างก็เข้ามาอยู่ในอำนาจของฝ่ายตรงข้าม (คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)
จบ
Create Date : 24 ตุลาคม 2554 |
Last Update : 12 เมษายน 2565 18:38:36 น. |
|
0 comments
|
Counter : 4478 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
Location :
กรุงเทพฯ Thailand
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 152 คน [?]

|
|
|
|
|
|
|
|