Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
23 ธันวาคม 2555
 
All Blogs
 

ได้เวลา "ยกเครื่อง" การศึกษาไทย ก่อนจะไร้ที่ยืน..บนเวทีโลก !!

.





ไม่ใช่เรื่องแปลก..ที่ผลวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ พ.ศ.2554 หรือ TIMSS 2011 ที่จัดโดย The International Association for the Evaluation of Educational Achievement หรือ IEA ในระดับชั้น ป.4 และ ม.2 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผลปรากฎว่าคะแนนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย อยู่ในระดับ "แย่"



เนื่องจากผลการประเมินนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ในปีก่อนๆ เด็กไทยก็มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำไม่แตกต่างกัน

ซึ่งการวิจัยครั้งนี้มีประเทศต่างๆ จากทั่วโลกเข้าร่วมวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ถึง 52 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล เบลเยี่ยม อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ ออสเตรเลีย ออสเตรีย เยอรมัน เดนมาร์ก ไต้หวัน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลการวิจัยคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้น ป.4 ซึ่งมี 52 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประเมิน โดยไทยเข้าร่วมการประเมินครั้งแรก พบว่า ไทยมีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ 458 คะแนน อยู่อันดับที่ 34 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 472 คะแนน อยู่อันดับที่ 29 โดยประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในวิชาคณิตศาสตร์ คือ สิงคโปร์ 606 คะแนน ส่วนประเทศที่วิชาวิทยาศาตร์สูงสุด คือ เกาหลีใต้ 587 คะแนน

เมื่อพิจารณาในภาพรวม ประเทศไทยถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในระดับแย่ในวิชาคณิตศาสตร์ (poor) ส่วนวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับพอใช้ (Fair)

เมื่อจำแนกตามรายสังกัด พบว่า
โรงเรียนสาธิต คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 540 คะแนน และวิทยาศาตร์ เฉลี่ย 562 คะแนน สูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติที่กำหนดไว้ 500 คะแนน

โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 502 และวิทยาศาตร์ เฉลี่ย 522 คะแนน

โรงเรียนเอกชน คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 487 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 509 คะแนน

โรงเรียนสังกัดเทศบาล/ ท้องถิ่น คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 476 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 495 คะแนน

และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 446 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 456 คะแนน ซึ่งโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) และ สพฐ.มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ

แต่เมื่อเปรียบเทียบตามภูมิภาค นักเรียนในกรุงเทพฯ มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติทั้ง 2 วิชา ส่วนนักเรียนภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติในวิชาวิทยาศาสตร์ และนักเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนบน มีคะแนนคณิตศาสตร์ต่ำที่สุด และภาคใต้มีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำที่สุด

ส่วนผลการประเมินวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของชั้น ม.2 มีประเทศที่เข้าร่วมประเมิน 45 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ 427 คะแนน อยู่อันดับที่ 28 และวิทยาศาสตร์ 451 คะแนน อยู่อันดับที่ 25 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2550 พบว่า ค่าเฉลี่ยลดลงทั้งคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเมื่อปี 2550 คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 441 คะแนน และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 471 คะแนน โดยการประเมินในปี 2554 ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในวิชาคณิตศาสตร์ คือ เกาหลีใต้ เฉลี่ย 613 คะแนน ส่วนวิทยาศาตร์ ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สิงคโปร์ 590 คะแนน ขณะที่ประเทศไทยเมื่อพิจารณาในภาพรวม ถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในระดับแย่ (poor) ทั้งคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

เมื่อพิจารณาคะแนนจำแนกตามรายสังกัด พบว่า โรงเรียนสาธิต คณิตศาสตร เฉลี่ย 554 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 600 คะแนน ส่วนวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 552 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 606 คะแนน แต่ทั้ง 2 วิชายังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติซึ่งอยู่ที่ 500 คะแนน ส่วนโรงเรียนสังกัด สพฐ.มีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ 440 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 445 คะแนน ขณะที่วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 464 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 474 คะแนน สังกัดกรุง กทม. คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 433 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2007 ที่ได้ 381 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 457 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่ได้ 424 คะแนน สังกัดเทศบาล/ ท้องถิ่น คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 424 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 474 คะแนน วิทยาศาตร์ เฉลี่ย 450 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 501 คะแนน และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 419 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 504 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 441 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 528 คะแนน

เมื่อเปรียบเทียบคะแนนที่จำแนกตามภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออก และปริมณฑล มีคะแนนสูงขึ้นทั้งคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยภาคตะวันออก คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 495 คะแนน สูงกว่าปี 2550 ที่ได้ 427 คะแนน วิทยาศาสตร์ 508 คะแนน สูงกว่าปี 2550 ที่ได้ 466 คะแนน ส่วนปริมณฑล คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 481 คะแนน สูงกว่าปี 2550 ที่ได้ 436 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 506 คะแนน สูงกว่าปี 2550 ที่ได้ 472 คะแนน ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีคะแนนเฉลี่ยลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน คะแนนลดลงจนน่าเป็นห่วง โดยคณิตศาสตร์ เฉลี่ย 415 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 483 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 441 คะแนน ลดลงจากปี 2550 ที่ได้ 510 คะแนน

นอกจากนี้ ผลวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ยังได้สำรวจด้านครูผู้สอน พบว่า ทั้งระดับชั้น ป.4 และ ม.2 ส่วนใหญ่ครูไทยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ แต่ผลการประเมินที่ออกมากลับต่ำกว่าสิงคโปร์ค่อนข้างมากทั้งวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ประกอบกับครูไทยมีความมั่นใจในการสอน และความพร้อมในการเตรียมการสอนทั้ง 2 วิชา อยู่ในระดับต่ำ

"นายปรีชาญ เดชศรี" รองผู้อำนวยการ สสวท.ระบุว่า เมื่อดูภาพรวมของการประเมินนักเรียนชั้น ป.4 ทั่วประเทศ พบว่า คณิตศาสตร์ 88% มีความสามารถตั้งแต่ระดับที่ต่ำมากไปจนถึงระดับปานกลาง หรือคะแนนต่ำกว่า 400-500 คะแนน มีเพียง 12% ที่คะแนนอยู่ในระดับสูงถึงระดับก้าวหน้า หรือมีคะแนนสูงกว่า 550 คะแนน ส่วนวิทยาศาสตร์ 80% มีความสามารถตั้งแต่ระดับต่ำมากไปจนถึงระดับปานกลาง และมีเพียง 20% มีคะแนนในระดับสูงถึงระดับก้าวหน้า นอกจากนี้่ เนื้อหาหลักสูตรคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยตรงกับเนื้อหาการประเมิน 100% แต่ไทยจัดการเรียนการสอนได้สำเร็จเพียง 30% ขณะที่สิงคโปร์เนื้อหาตรงการประเมินเพียง 70% แต่จัดการเรียนสำเร็จ 100%

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำอย่างเร่งด่วนในขณะนี้ ก็คือการยกคุณภาพของเด็กไทยทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั้งประเทศ ตั้งแต่ปรับการเรียนการสอนของครู ให้เด็กรู้จักกระบวนคิดมากกว่าเน้นท่องจำเนื้อหา ไม่เช่นนั้นความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย จะค่อยๆ ต่ำลงเรื่อยๆ เพราะจะเห็นว่าจากการประเมินในครั้งนี้ "สิงคโปร์" และ "เกาหลีใต้" มีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงที่สุด และสูงมากกว่าหลายๆ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกอย่าง "ฟินแลนด์" ด้วยซ้ำ

ประเด็นเหล่านี้ "นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้มอบหมายให้ "นายภาวิช ทองโรจน์" ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไปวางแผนยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยทั้งประเทศ โดยเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนา "หลักสูตร" และการพัฒนา "ครู" เพราะถือเป็น "หัวใจ" สำคัญอย่างยิ่ง

ซึ่งขณะนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อร่วมกันจัดทำโรดแม็ป "การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ภายในเดือนมกราคม 2556

โดยเบื้องต้นคณะทำงานได้เตรียมรื้อหลักสูตรใหม่ อย่างการกำหนดโครงสร้างหลักสูตรที่กำหนดไว้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และการจัดค่าน้ำหนักการเรียนในแต่ละช่วงชั้นเท่ากัน อาจไม่เหมาะสม และเมื่อศึกษารูปแบบการจัดทำหลักสูตรในหลายๆ ประเทศ ยังพบว่าในระดับชั้นประถมศึกษา จะเน้น "เนื้อหา" น้อย แต่จะเน้นส่งเสริมการเป็นประชากรที่ดี เพื่อให้เนื้อหาหลักสูตรที่ปรับแล้วมี "มาตรฐานนานาชาติ" ด้วย ซึ่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.คาดว่าจะกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปีการศึกษา 2556 และเริ่มใช้ได้ในปีการศึกษา 2557

ทั้งนี้ทั้งนั้น ข่าวร้ายเกี่ยวกับผลการประเมินความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยยังไม่ทันซา

ล่าสุด มี "ข่าวร้าย" เกี่ยวกับแวดวงการศึกษาของประเทศไทยอีก เมื่อ "นายแฮรี่ แอนโทนี่ พาทรีนอส" ผู้จัดการฝ่ายการศึกษา สายงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก (World Bank) ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง "ความเป็นอิสระ และความรับผิดชอบของโรงเรียนในประเทศไทยต่อการจัดการเรียนการสอนของนักเรียน และต่อความต้องการของสังคม" ว่าจากการเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการตอบแบบสอบถามของโรงเรียนในประเทศไทย 200 แห่ง ในปี 2554 โดยเชื่อมโยงกับผลการประเมินนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ปี 2552 พบว่า โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร และในเมือง มีระบบการศึกษาที่ดี ผิดกับโรงเรียนในชนบทที่มีระบบการศึกษาที่น่าห่วงมาก และยังพบว่า "โรงเรียนขนาดใหญ่" มีคะแนน PISA สูงกว่า "โรงเรียนขนาดเล็ก" มาก ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนา และช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กให้มีมาตรฐานการศึกษาสูงขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวยังระบุด้วยว่า โรงเรียนทั่วโลกที่มีคะแนน PISA สูง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่มีความอิสระ และมีความรับผิดชอบควบคู่กันไป แต่ประเทศไทยยังอยู่ในระบบปิด ทั้งเรื่องความอิสระด้านงบประมาณ เพราะ ศธ.ยังเป็นผู้ควบคุมเงินเดือนครู ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนไม่สามารถเลือกครู และรักษาครูเก่งๆ ได้ นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังมีส่วนร่วมกับโรงเรียนน้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้โรงเรียนพัฒนา.

ซึ่งงานวิจัยยังได้เสนอแนะวิธีที่จะช่วยให้คะแนน PISA ของประเทศไทยสูงขึ้น โดยจะต้องส่งเสริมความเป็น "อิสระ" ของโรงเรียน และสร้าง "ภาวะผู้นำ" ให้กับผู้บริหารโรงเรียนมากขึ้น

เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น "โจทย์" ใหญ่ และเป็น "การบ้าน" ที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้เกี่ยวข้อง จะต้อง "เปิดตา", "เปิดหู" และ "เปิดใจ" รับฟังอย่างยิ่ง...

มีความ "จริงจัง" และ "จริงใจ" ที่จะ "พัฒนา" และยก "คุณภาพ" มาตรฐานการศึกษาไทย และเด็กไทย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ และพร้อมที่เข้าสู่สนามการแข่งขันระดับโลกในทุกรูปแบบ...

ก่อนที่ "ไทย" จะไม่เหลือที่ยืน..บนเวทีโลก !!



ที่มา .. สำนักข่าวอิสรา




หมายเหตุ จขบ.


ผู้อ่านลองพิจารณาอ่านข้อความสีเขียวที่ขีดเส้นใต้ดูว่า .. เวลาฝรั่งเขามองเข้ามาในระบบนั้น เขามองเห็นอะไร ที่เป็นปัญหา ?

เขามองเห็น ..

.. การจัดการทางด้านการปกครอง เกี่ยวกับระบบงบประมาณแผ่นดินของไทย
.. การมีส่วนร่วมของสังคมแวดล้อมคือผู้ปกครองและชุมชน

โรงเรียนส่วนใหญ่ขาดแคลนงบประมาณ โดยเฉพาะตามชนบท
ซึ่งผิดกับวัด .. ที่ช่วยบริจาคกันจริงกันจัง .. ทั้งๆที่โรงเรียนเป็นบ่อเกิดของพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคม ..

แต่ มายาคติ ที่เป็นมิจฉาทิฐิ เรื่องทำบุญกับพระได้ผลมากกว่า ทำทานกับเด็กหรือองค์กรนอกศาสนา .. จึงทำให้เงินจำนวนมากใช้ไปกับวัถุธรรมเพื่อบรรดาเจ้ากูทั้งหลายจักได้แข่งกันสร้างโบสถ์ วิหาร เจดีย์ (เอาไว้บังแสงแดดไม่ให้ส่องต้องใจคน !) ซึ่งเป็นเพียงเรื่องสนับสนุนด้านจิตใจเท่านั้นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ..

ระบบการเมืองการปกครองที่ไม่ได้เรื่อง .. การศึกษาของชาติจะได้เรื่องได้อย่างไร ..

กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีไว้ให้หาผลประโยชน์ จึงไม่มี"มือดี"ที่จะอาสาเข้ามาทำงานตรงนี้ ..

บรรดาครูเอง ที่มาเป็นครู"เกินกว่าครึ่ง"เพราะสอบเข้าคณะที่จะจบออกไปทำเงินกว่านี้ไม่ติด ก็จำใจต้องเรียนครู .. จิตวิญญาณความเป็นครูจึงไม่มี .. บ้าเรียนเอาปริญญากันมากกว่าสิงคโปร์อีก .. แล้วเป็นไง ?

สอนไม่เป็น ถ่ายทอดไม่เป็น ..

จะเอา C8 เพื่อจะได้เงินประจำตำแหน่งก็ยังต้องไปจ้างเขาสอบแทน .. !

เมื่อทำทุกอย่างได้เพื่อผลประโยชน์ตน .. แล้วจะสอนเด็กให้ดีได้อย่างไร ?

ไม่ว่ารัฐบาลไหน .. ยังไม่เห็นความแตกต่างในแง่การจัดการกับระบบการศึกษาของชาติได้เลย ..


ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึงไอ้พวกลากตั้งกันเข้ามาเวลามีรัฐประหาร (เพื่อชาติ)


ที่มักทำงานไม่เป็น .. ทำท่าเจ้านายยืนหายใจไปวันๆ ..


อีกไม่นาน .. เวียดนามจะแซงหน้า .. !


เอากันง่ายๆดีไหม ?


ไม่ต้องไปสัมมนาหาทางออก
ไม่ต้องปล่อยให้คิดอ่านอะไรอีกแล้ว


ไปลอกสิงคโปร์มา ทั้งหลักสูตร ทั้งวิธีการสอน ทั้งวิธีการประเมินผู้สอน ทั้งระบบค่าตอบแทนผู้สอน .. แล้วกำหนด ปฏิบัติลงไปเลย .. ไม่ต้องอาย .. เมื่อไม่ได้เรื่องโดยการประเมินจากคนนอก .. ก็ต้องยอมรับควมจริง


ภายในเวลา 5-10 ปีคงดีขึ้นบ้าง


ขืนปล่อยให้ ... ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. ... ไปทำ


เชื่อมั่นว่า .. ไม่มีอะไรดีขึ้น .. ให้ตัดคอเลยเอ้า


หมอนี่มันวิเศษมาจากไหน .. อำนาจโดยทางการก็ไม่มี ..


นี่ไง การทำงานแบบไทยๆ -> มอบหมายงานให้ที่ปรึกษารัฐมนตรี !


ถามว่า ตำแหน่งนี้มีอำนาจอะไร ? .. สั่งการอะไรใครไม่ได้ ?



ทำได้แค่ประสานงานเท่านั้น ..


ภาษาเอกชนเขาเรียก "โค" .. coordinator !


(ยังไม่ได้พูดว่า "กระบือ" นะ)


หรือหากยังยากเกินไป ..


ก็ไปจ้างสิงคโปร์มาบริหารประเทศเลยก็ได้ .. นี่เสนอแนะด้วยความจริงใจเป็นที่สุดแล้วนะขอรับ ..


555







 

Create Date : 23 ธันวาคม 2555
4 comments
Last Update : 23 ธันวาคม 2555 16:33:18 น.
Counter : 3447 Pageviews.

 


ดายุ..

การศึกษาในไทยขณะนี้ น่าห่วงใยมาก..
นี่เปรียบเทียบ"ไทยเมื่อสามสิบปีก่อน กับไทยในขณะนี้"..นะคะ
เมื่อก่อนเด็กไทย จบป.๔ อ่านออกเขียนได้ ถูกต้องจริงจริง ทั้งใน"ระบบเขียน เเละระบบท่องจำ"..
จำสูตรเลข จำบทอาขยาน(ก้อโดน"คัดร้อยครั้ง"จนจำได้)

เมื่อเเม่นยำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเเล้ว ย่อมเกิด"ความมั่นใจในตนเอง"ในการเเสดงความคิดเห็นของตนเอง..

ในขณะที่ ตอนนี้เนื่องจากไม่เเน่นทางทฤษฎี..จึงไม่มีสิ่งใดเป็น"ตัวตัดสิน"ว่า ผิด หรือถูก..เเล้วจะไป"ถกปัญหา"ได้อย่างไรกัน..
เมื่อไม่มีการ"ถกปัญหา"(discussion)หรือที่ภาษาพุทธว่าปุจฉา-วิปัสนาเเล้ว จะเกิดการ "เเตกปัญญา"(enlightenment)ได้อย่างไร..

เช่น ฉันท์ ที่มินตราโปรดนั้น คุณครู ไม่ถนัด เเล้วจะให้ ศิษย์ เก่งได้ยังไง ว่าไหมคะ...
นี่ความดีทั้งหลายยกให้คุณครูหมด ! 555
กล่าวเช่นนี้ ผู้ใหญ่ก็จะว่า..พูดดีดีซิลูก..จะไปว่าคุณครูได้ยังไง..
เราจึงต้องไป"จ้างครูพิเศษ"มาสอนให้ไงคะ..
"คุณครูพิเศษ" จึงก่อกำเนิดจาก ความไม่พิเศษของคุณครูนี่เเล...


 

โดย: บุษบามินตรา IP: 79.205.196.240 23 ธันวาคม 2555 17:34:31 น.  

 

มินตรา ..

ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยชัดเจนว่า ฝรั่งสอนเด็กกันอย่างไร ..
แต่ตอนนี้รู้ดี ว่าเขามีวิธีการที่ต่างกับไทยมาก ..

ของเขาไม่มีแม้สักวิชาเดียวที่จะให้กา ก ข ค ง .. มีแต่การอธิบายสิ่งที่รู้ที่เข้าใจจากการฟังครูในห้องเรียน ออกมาเป็นลำดับขั้นตอน

ไม่มีการท่องสูตร .. เพื่อแทนค่าตัวแปร แบบไทยเรา

จะเห็นได้ว่า โรงเรียนทีผ่านเกณฑ์ทดสอบเป็นโรงเรียนสังกัดมหาวิทยาลัย คือ พวกโรงเรียนสาธิตการเรียนการสอนของหลักสูตร อักษรศาสตร์ คุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ..

เด็กฝึกสอนทำไมทำได้ดี ?

แล้วบรรดาครูอาชีพในสังกัด สปฐ ทำไมด้อยความสามารถ ?

อะไรที่ต่างกัน ?

ครูฝึกสอน เป็นนักศึกษาที่ทำงานภายใต้การประเมินผลเพื่อจะได้เกรดในวิชาสอนจากอาจารย์ที่ควบคุมหลักสูตรวิชาชีพครูอีกที คือมี"เจ้าภาพ" .. ความตั้งใจจึงเต็มร้อย

ครูอาชีพ .. เป็นข้าราชการกินเงินเดือนที่ไม่มี"เจ้านาย" มีแต่"หัวหน้า" ที่ให้คุณได้นิดหน่อยตอนเสนอขั้นเงินเดือนให้ปีละครั้ง .. แต่ให้โทษแทบไม่ได้หากไม่ทำผิดระเบียบราชการ .. แปลว่าไม่มี"เจ้าภาพ" !

ผมมองว่า "บุคคลากรที่เกี่ยวข้อง" เป็นเรื่องใหญ่อันดับ 1 -> ที่ทำให้ผลการประเมินออกมาเป็นแบบนี้

ผู้สอน ไม่มีคุณภาพ ขาดจิตวิณญาณความเป็นครู กระบวนการถ่ายทอดความรู้ล้มเหลว เพราะเป็นการสื่อทางเดียวเป็นส่วนใหญ่ คือครูพูดให้นักเรียนฟัง มีถามตอบกันเพียงเล็กน้อย เฉพาะ"คนที่ตั้งใจเรียนจริง" เท่านั้น

ผู้รับ แยกได้เป็น 2 ประเด็น
- ตัวผู้เรียนขาดความพร้อม ขาดจิตสำนึก
- สภาพแวดล้อมในห้องเรียนไม่เอื้อต่อสมาธิในการฟัง คือจำนวนมากเกินไป

ทำไมเวลาติวกันตัวต่อตัว เด็กถึงเข้าใจเรื่องราวได้มากกว่าเรียนในห้องรวม ?

เพราะมันจดจ่อกันได้มากกว่า ไม่มีทางหลบเลี่ยง หรือ เบี่ยงเบนไปทางไหนเลย .. จริงไหม ?

ระดับนโยบาย ..
เอาที่เห็นเลย -> รัฐมนตรีคนก่อน สุชาติ ธาดาธำรงเวช
รัฐมนตรีคนปัจจุบัน พงษ์เทพ เทพกาญจนา

ใครรู้เรื่องการศึกษามากกว่ากัน ?
เหตุที่ต้องเปลี่ยนตัวคืออะไร ?

มันไม่มีเหตุผลอื่นใด .. นอกจากเรื่องการเมือง !

และมันก็เหมือนกันทุกรัฐบาล !

 

โดย: สดายุ... 24 ธันวาคม 2555 11:38:27 น.  

 

บ้าน "การศึกษา" -- มีประโยชน์และน่าสนใจมาก

จขบ อย่าลบทิ้งนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

 

โดย: t IP: 124.120.235.173 17 มกราคม 2559 23:14:06 น.  

 


time

ผมคิดว่าเป็นคุณ ..
เดาว่า .. คงอยู่ในแวดวงการศึกษา

น่าเป็นห่วงมากกับการวางความสำคัญทาง"การศึกษา"
น้อยกว่า"ความมั่นคงของผู้กุมอำนาจรัฐ" ?
ซึ่งไม่ใช่"ความมั่นคงของชาติ"นะครับ

 

โดย: สดายุ... 10 ธันวาคม 2559 17:39:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.