กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
24 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

พัฒนากามสุข เริ่มตั้งแต่ในบ้าน




235 ความสุขที่พึงเน้น สำหรับคนทั่วไป เริ่มตั้งแต่ในบ้าน 

 
     เพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติ หรือ ใช้งาน ควรเน้นความสุขใน ๓ เรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสบ่อย คือ เรื่องกามสุข  เรื่องความสุขทางสังคม และเรื่องความสุขในการพัฒนาของชีวิต
 
     ความสุขของคนทั่วไป ที่ตรัสบ่อย ก็คือ เรื่องกามสุข เพราะเกี่ยวข้องกับมนุษย์ส่วนใหญ่ หรือชาวบ้าน ชาวเมือง และมวลชาวโลก เป็นความสุขสนองผัสสะ อาศัยการเสพ พึ่งพาขึ้นต่ออามิสวัตถุ เป็นความสุขจากการได้ การเอา เพื่อตัวเอง ให้แก่ตัวเอง ให้ตัวเองได้เสพ ซึ่งเมื่อคนปฏิบัติต่อมันไม่ถูก บริหารไม่เป็น จัดการไม่ดี ก็เป็นบ่อเกิดของปัญหาสารพัดในโลกนี้ ที่ขัดแย้งแย่งชิงเบียดเบียนข่มเหงกัน ตั้งแต่ระดับบุคคล จนถึงระดับโลก จึงต้องย้ำว่า ถ้าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ตรงจุด ให้ได้ผล ก็ต้องแก้ที่นี่ คือ ให้มนุษย์พัฒนาปัญญาที่รู้เท่าทัน และบริหารจัดการกามสุขนี้ ให้ถูกต้อง ให้ถูกทาง อย่างน้อยให้คุณเหนือโทษ ให้การเกื้อกูลเหนือการเบียดเบียน
 
     อย่างไรก็ตาม เรื่องกามสุข ได้พูดไว้ในบทก่อนพอสมควรแล้ว ในที่นี้จึงอ้างถึงไว้ให้รู้จุดเน้น เพียงแค่นี้
 
     ความสุขอย่างที่ ๒ ที่เน้น คือ ความสุขทางสังคม ที่ว่าเป็นความสุขจากความเป็นมิตร มีไมตรีจิตมิตรภาพ การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยเมตตา กรุณา  เป็นต้น ถ้าว่าโดยหลักธรรม หลักใหญ่สำหรับความสุขข้อนี้ก็ได้แก่ พรหมวิหาร ๔  และสังคหวัตถุ ๔ ถ้าจะให้สังคมประชาธิปไตยมั่นคง ก็ไปให้ถึงสารียธรรม  ๖ กันเลย
 
     ความสุขทางสังคมนี้ โดยพื้นฐานย่อมมุ่งไปที่หลักพรหมวิหาร  ซึ่งได้อธิบายความหมายไปแล้ว แต่ในที่นี้ จะพูดอีกครั้งโดยเน้นเชิงปฏิบัติ เหมือนให้เห็นตัวอย่าง โดยจับที่จุดแกน คือในบ้าน หรือในครอบครัว เริ่มต้นที่ความสุขของคุณพ่อคุณแม่ เมื่อเห็นลูกอยู่ดีมีสุข
 
     เวลาอธิบายเรื่องพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา  ก็จะยกเรื่องพ่อแม่มาเป็นตัวอย่าง โดยอธิบายเริ่มที่พ่อแม่ เพราะธรรมชาติเอื้ออยู่แล้วให้พ่อแม่มีคุณธรรมชุดนี้ โดยเฉพาะแม่นั้นถือเป็นแกน ในคัมภีร์จึงยกแม่เป็นหลักในการอธิบาย
 
     ตามปกติ ท่านยกแม่ขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่า แม่อยากให้ลูกมีความสุข เห็นลูกร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่ป่วย สมใจตัว นี่คือได้สนองความต้องการพื้นฐานที่อยากให้ลูกมีความสุขแล้ว แม่ก็มีความสุข
 
     ความต้องกา รหรืออยากให้ลูกสมบูรณ์แข็งแรงมีความสุขอย่างนี้ เรียกว่า เมตตา
 
     ทีนี้ พอลูกเจ็บไข้ได้ป่วย   แม้แต่นิดหน่อย  แม่ก็มีจิตใจหวั่นไหว ทนอยู่ไม่ได้ ก็ร่วมกับพ่อ ต้องไปหาทางแก้ไขบำบัดเยียวยาลูก ให้หายเจ็บหายไข้หายป่วยให้ได้ ถ้าลูกยังไม่หายทุกข์ ยังไม่กลับเป็นสุข แม่และพ่อก็สุขไม่ได้ พอลูกหายป่วยเป็นปกติขึ้นมา แม่และพ่อก็สมใจ สมปรารถนา ได้สนองความต้องการที่อยากให้ลูกมีความสุข แล้วแม่และพ่อก็มีความสุข
 
     ความต้องการหรืออยากให้ลูกพ้นคลายหายจากทุกข์กลับฟื้นขึ้นมาเป็นสุขอย่างนี้ เรียกว่า กรุณา
 
     แล้วถ้าลูกเติบโตเจริญงอกงาม มีรูปกายสดสวยงามสง่า ประสบความสำเร็จในการศึกษาสอบได้คะแนนสูง หรือได้งานดีมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ คือดียิ่งขึ้นไป แม่และพ่อก็สมใจ สมปรารถนา ได้สนองความต้องการที่อยากให้ลูกเจริญงอกงามมีความสุขยิ่งขึ้นไป แล้วแม่และพ่อก็มีความสุข
 
     ความต้องการหรืออยากให้ลูกเจริญงอกงามมีความสุขยิ่งขึ้นไป โดยพลอยมีใจยินดีเบิกบานมีความสุขไปด้วยอย่างนี้ เรียกว่า มุทิตา
 
     ถึงข้อนี้ ว่าโดยทั่วไป พ่อแม่ทำกันได้ครบ แต่ครบแค่นี้ยังไม่พอ ครบในข้อที่พูดมาแล้วเท่านั้น ยังไม่ครบพรหมวิหาร ได้แค่โอ๋ ยังไม่ช่วยให้ลูกเติบโตจริง ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ ก็ว่า อาจจะไม่ได้วุฒิภาวะ ถ้าหนักหน่อยก็บอกว่า จะได้แต่ลูกแหง่อ้อนเอากับแม่พ่อเรื่อยไป
 
     จึงถึงข้อ ๔ ให้ไม่ลืมว่าอุเบกขาต้องมาด้วย พูดรวบรัดว่า ในสถานการณ์หรือกรณีที่ลูกจะต้องฝึกหัดรับผิดชอบชีวิตของเขาเอง ก็ดี ควรรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ก็ดี ถึงเวลาที่เขาจะรับผิดชอบชีวิตของเขาแล้ว ก็ดี พ่อแม่ต้องยอมปล่อย ไม่ทำให้เขา แต่ดูให้เขาทำ ให้เขาดำเนินชีวิตกิจการไปตามวิถีด้วยตัวเขาเอง ไม่เข้าไปขวนขวายก้าวก่ายแทรกแซง นี่ก็คือตั้งแต่ลูกตั้งไข่หัดเดิน ไปจนถึงลูกแต่งงานแยกบ้านไปตั้งเรือนดูแลรับผิดชอบครอบครัวของเขา
 
     ท่านมักยกตัวอย่างตอนลูกออกเรือน มีครอบครัวของเขาเองแล้วอย่างนี้ว่า เมื่อลูกโต รับผิดชอบตัวเองได้แล้ว เขาแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ก็อย่าเที่ยวไปยุ่มย่ามแทรกแซงในบ้านของเขา ไม่ใช่คอยบอกว่า ในบ้านของลูกนี่ ต้องจัดอย่างนั้น ต้องจัดอย่างนี้ เอานั่นออกไป เอานี่เข้ามา เที่ยวเข้าไปวุ่นวายทุกอย่าง คิดว่าอยากจะให้ลูกมีความสุข ลูกเลยสุขไม่ได้ กลายเป็นตัวเองไปเป็นเหตุให้ลูกมีทุกข์ ให้ลูกตัวกับลูกแต่งขัดแย้งหรืออึดอัดกัน
 
     เมื่อมีปัญญารู้อยู่แล้วว่า ลูกเราโตแล้ว เขารับผิดชอบตัวเองได้ และถึงเวลาที่เขาจะต้องรับผิดชอบตนเอง เราก็คอยดู มองด้วยปัญญาว่ามีอะไรจะต้องเกื้อกูลช่วยเหลือแก้ปัญหา ก็จึงไปทำ คอยดูอยู่ ไม่ใช่ทอดทิ้ง และเป็นที่ปรึกษาให้ แต่ไม่เข้าไปยุ่มย่ามแทรกแซง อุเบกขา  ทำหน้าที่ตรงนี้
 
     ความต้องการ หรืออยากให้ลูกอยู่ในความถูกต้องสมควรตามเหตุผล ไม่ทำความผิดพลาดเสียหาย ดำเนินไปตามธรรม โดยมีใจเป็นกลางวางเรียบนิ่งไม่หวั่นไหวเอนเอียงลงตัวอย่างนี้ นี่เรียกว่า อุเบกขา
 
     ข้ออุเบกขานี้ควรย้ำ ต้องให้ชัด เพราะคนมากมายไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจผิดไปเลย แล้วใช้ไม่เป็น ไปกันไม่ค่อยถึง
 
     บอกแล้วว่า อุเบกขาเป็นที่บรรจบของความรู้ กับความรู้สึก เป็นที่ดุลระหว่างรู้ กับรัก เป็นที่จิตใจประสานกับปัญญา
 
     สามข้อแรก ตั้งแต่เมตตา  ก็ต้องประสานกับปัญญา ต้องใช้ปัญญา แต่นั่นก็คือแนะนำว่าต้องใช้ ควรใช้ควบคู่กันไป จึงจะได้ผลดี แต่ในทางปฏิบัติจริง จะเอาปัญญามาใช้หรือไม่ ก็ไม่แน่ เช่นรักอย่างไร้ปัญญา ก็มี ส่วนข้ออุเบกขานี่เกิดจากปัญญาเลยทีเดียว ปัญญามา จึงมีอุเบกขาได้
 
     (ถ้าปัญญาไม่มา อุเบกขาโดยไม่เกิดจากปัญญา ก็ไม่ใช่อุเบกขาแท้ เป็นอุเบกขาเทียม เรียกว่า “เฉยโง่”)
 
     ในแง่ที่อุเบกขามาดุล พึงทราบว่า สามข้อแรกทำให้เด็กพัฒนาด้านความรู้สึก มีจิตใจดี หรือที่เวลา  นี้นิยมเรียกว่าพัฒนาด้านอารมณ์ ทำให้มีความรัก มีไมตรี รู้จักสงสารเห็นใจคน อยากช่วยเหลือร่วมมือ เป็นต้น
 
     แต่ถ้าขาดอุเบกขา เสียดุล พ่อแม่กลายเป็นเอาแต่รักเอาแต่โอ๋เด็ก นอกจากทำให้เด็กอ่อนแอแล้ว เขาก็จะคอยแต่รอรับ ถ้าเอียงมาก ก็กลายเป็นนักเรียกร้อง กลายเป็นคนเอาแต่ใจตัว ต้องให้คนอื่นเอาใจ เห็นใจคนอื่นไม่เป็น เป็นต้น นี่แค่ตัวอย่าง
 
     ทีนี้ ด้านสำคัญ อุเบกขาเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องสติปัญญา ความเข้มแข็งเก่งกล้าสามารถ ความรู้จักรับผิดชอบ
 
     ที่จริง พ่อแม่เลี้ยงลูก จะให้ลูกพัฒนา เริ่มแต่ให้เขาทำโน่นเป็น ทำนี่ได้ด้วยตนเอง ก็ต้องใช้อุเบกขาอยู่แล้ว แต่มักไม่สังเกต และไม่รู้จักใช้อุเบกขาให้ได้ประโยชน์สูงสุด
 
     เอาง่ายๆ คุณแม่มีเมตตา รักลูกมาก ลูกยังเล็กมาก ก็ป้อนข้าว ป้อนน้ำให้ แต่แน่ละ ตามความถูกความควร เด็กจะเติบโตขึ้นไป ก็ต้องกินอาหารเป็น ใช้ช้อน ใช้ซ่อม ใช้จานชามเป็น ฯลฯ รับผิดชอบชีวิตของตัวได้
 
     คุณแม่ป้อนไปๆ แล้วถึงเวลาหนึ่ง ปัญญาก็บอกว่า เอาละ ต่อไปนี้ ลูกควรจะกินเองได้ ควรใช้ช้อนเป็น เป็นต้น คุณแม่ก็บอกลูกให้รู้วิธีจับวิธีใช้ช้อน ให้ลูกลองทำเอง คุณแม่ก็หยุด ไม่ป้อน ปล่อย คอยดูลูกทำ ดูแลให้เขาทำได้เอง นี่คืออุเบกขา แม้แต่ปอกผลไม้ ปอกกล้วย เป็นต้น คุณแม่เคยปอกให้ใส่ปาก ต่อมาก็บอก ก็ดูให้ลูกทำได้ทำเป็นเอง
 
     ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่หยุดแค่ขั้นเบื้องต้นแค่นี้ ก็ใช้ปัญญาต่อไปว่า ลูกเราควรทำอะไรเป็นบ้าง ควรทำเก่งในเรื่องอะไร ก็ใช้วิธีอุเบกขา เอาเรื่องที่จะฝึกมาบอก เป็นที่ปรึกษา และดูให้เขาทำ ปล่อยให้เขาทำ ต่อไปลูกก็เก่ง ทำได้หมด
 
     ถ้าอยู่แค่เมตตา กรุณา ก็ทำให้ลูกๆ เรื่อยไป  ถ้าอุเบกขามา  ก็ทำให้ลูกดู แล้วก็ดูให้ลูกทำๆ เรื่องก็อย่างนี้เอง
 
     ถ้าใช้แค่ เมตตา กรุณา ก็ได้ความสุข ที่ลูกสุขสมปรารถนาเฉพาะหน้าไปทีหนึ่งๆ แต่ถ้ามีอุเบกามาคุมมาดุล   ก็จะได้ความสุขที่ยืนนานระยะยาว เพราะได้เห็นลูกพัฒนามีความสามารถก้าวไปด้วยดีในวิถีชีวิตที่ยาวไกลในโลกอันกว้างใหญ่
 
     เป็นอันว่า พ่อแม่เป็นตัวอย่างของการนำบ้าน นำครอบครัวให้มีความสุขเชิงสังคม จะต้องพัฒนามนุษย์ให้มีธรรมชุดนี้ โดยเฉพาะเข้าใจ และใช้อุเบกขาให้ถูกต้อง
 
     มองอย่างกว้าง อุเบกขาต้องการธรรม ต้องการความถูกต้อง ให้มวลมนุษย์ที่เรารักเราปรารถนาดีนั้น มีธรรม มีความถูกต้อง มีความไม่ผิดพลาด ซึ่งเป็นความปรารถนาดีอย่างสูงสุด แล้วเมื่อสมปรารถนาสมใจของเรา ตัวเราก็จะมีความสุขที่ประณีตลึกซึ้งยืนยาวและแท้จริง
 
     เมื่อบ้านดี ครอบครัวมีความสุขอย่างถูกทาง ถูกธรรมอย่างนี้ บ้านนั้นครอบครัวนั้น ก็เป็นหน่วยแกนที่จะร่วมสร้างกันขึ้นเป็นสังคมที่เจริญงอกงามมีความสุข
 


235 พัฒนากามสุขที่สุขแย่งกัน ให้มีความสุขที่สุขด้วยกัน


     มองออกไปอีกด้านหนึ่ง  แม้แต่ท่ามกลางกามสุขที่ผูกอยู่ กับ ความเห็นแก่ตัวนั้น เมื่อมนุษย์มีธรรมชุดพรหมวิหารมาแผ่ขยายจิตใจออกไปแล้ว  จิตใจของเขาก็จะเริ่มคลายออกจากความเห็นแก่ตัวนั้น เขาจะมีจิตใจที่ไม่แต่เพียงคิดอยากได้โน่นได้นี่ และหาทางให้ได้เสพสมปรารถนาแล้วก็มีความสุข เอาสุขแต่ตัว แต่ตอนนี้ เขาไม่คิดแค่นั้น บางครั้งเขาคิดถึงความสุขของคนอื่นขึ้นมาบ้าง และเขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ที่พอจะมาถ่วงมาดุลได้บ้าง คือ ฉันทะและความสุขเชิงสังคมนี้ ที่ว่า เมื่อเห็นใคร ก็อยากให้เขามีหน้าตาดี มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ มีความสุข เป็นต้น ไม่ใช่เอาแค่ตัว แต่คิดจะให้คนอื่นเป็นสุขด้วย


     อย่างที่ว่าแล้ว แค่อยากให้เขามีความสุข ก็เป็นเมตตา ก็คือไมตรี หรือมีความเป็นมิตรนั่นเอง ถ้าอยากให้เขาพ้นจากทุกข์ ก็เป็นกรุณา ถ้าพลอยสุขด้วย เมื่อเขามีความสุขสำเร็จยิ่งขึ้นไป ก็เรียกว่า มุทิตา แล้วเมื่อเขาจะทำอะไรผิดพลาด เราอยากให้เขาอยู่ในความถูกต้อง เป็นไปในทางที่ชอบธรรม เราก็วางใจอยู่ในอุเบกขาที่จะรักษาธรรมไว้ พอมี ๔ อย่างนี้ จิตใจคนก็กว้างใหญ่แผ่ขยายออกไป สมอย่างที่เรียกว่าเป็นพรหม แล้วคนก็มีความสุขเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ คือ เป็นความสุขร่วมกัน หรือสุขด้วยกัน


     ถ้าอยู่แค่ความสุขแบบกามสุข คือ ความสุขที่อาศัยอามิสวัตถุภายนอก ก็แน่ชัดว่า จะเป็นความสุขแบบแย่งกัน แย่งกันสุข ชิงกันสุข ถ้าฉันได้ คุณก็เสีย หรือฉันได้ คุณอด คุณได้ ฉันอด ถ้าฉันสุข เขาก็ไม่ได้สุข หรือ เขาอาจจะทุกข์ไปเลย หรือถ้าเขาสุข ฉันก็ไม่ได้สุข หรือฉันอาจจะได้ความทุกข์ สรุปก็คือ ไม่ได้สุขร่วมกัน แต่เป็นการแย่งกันสุข หรือสุขแบบแย่งกัน

     อย่างที่พูดแล้ว ผลเสียที่สำคัญของกามสุข หรือสามิสสุข อยู่ตรงนี้ และที่โลกเดือดร้อน มีปัญหาเบียดเบียนรบราฆ่าฟันกันนัก ก็เพราะแย่งกามสุขกันนี่แหละ จึงต้องปฏิบัติจัดการกับมันให้ลดปัญหา และขยายประโยชน์ พร้อมทั้งให้คนพัฒนาสูงขึ้นไป

     แต่ถ้าเป็นความสุขจากชุดพรหมวิหาร เริ่มแต่เมตตาไป ก็เป็นการร่วมกันสุข คือเป็นความสุขร่วมกัน สุขด้วยกัน อยากให้เขามีความสุข เมื่อเขาสุขสมใจเราแล้ว เราก็สุขด้วย แม่ต้องการให้ลูกมีความสุข ถ้าลูกยังไม่สุข แม่ก็สุขไม่ได้ ต้องให้ลูกมีความสุข แม่จึงจะเป็นสุขได้ ลูกสุขได้ แม่ก็สุขได้ ก็จึงสุขด้วยกัน ร่วมกันสุข

     อันนี้ คือ การพัฒนาความสุขขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นความสุขเชิงสังคม ก้าวจากความสุขแบบแย่งกัน หรือ สุขแบบตัวใครตัวมัน แย่งกันสุข ขึ้นมาเป็นความสุขแบบร่วมกัน หรือสุขด้วยกัน ซึ่งเป็นการศึกษาและพัฒนาจริยธรรมอย่างสำคัญยวดยิ่ง จะช่วยให้โลกก้าวไปสู่สันติสุขได้อย่างมั่นใจ

     เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นมากให้สร้าง ให้พัฒนาความสุขทางสังคมขึ้นมาให้ได้ จึงเน้นเหลือเกินในเรื่อง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

     แต่ที่จริงไม่ใช่เท่านี้ อันนี้เป็นเรื่องของการพัฒนาจิตใจให้มีคุณภาพ ถ้าจะให้เป็นผลจริง ก็ต้องออกสู่ปฏิบัติ การด้วยสังคหวัตถุ และสาราณียธรรมด้วย

     ในที่นี้ แม้จะไม่พูดเรื่องการบริหารจัดการกามสุขโดยตรง แต่เรื่องกามสุขโยงเข้ามา ในแง่ของการพัฒนาที่มาสัมพันธ์ กับ ความสุขเชิงสังคม จึงต้องพูดบ้างเล็กน้อยตามที่จำเป็น หรือพาดพิงอิงกัน

     ดังที่กล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องกามสุข ว่าจะจัดการอย่างไรให้เป็นไปโดยถูกต้องชอบธรรม ให้ไม่เสียหาย อย่างน้อยก็ให้ลดทุกข์บรรเทาโทษลงมา และให้รู้จักในทางบวก ให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด

     พระองค์ตรัสตามที่มันเป็นว่า กามสุขนั้นก็เป็นสุข   แล้วก็ตรัสต่อไปตามหลักที่เคยบอกแล้วว่า กามนั้น มีอัสสาทะ คือ ข้อดี  มีอาทีนวะ  คือข้อเสีย และมีนิสสรณะ คือทางออกที่แก้ไข  หรือให้หลุดพ้นไปจากข้อบกพร่องนั้นอย่างไรด้วย  (จะใช้เป็นคำไทยให้ง่ายขึ้นว่า อัสสาห์ อาทีนว์ และนิสสรณ์ ก็ได้)

     จะเอานิสสรณ์ของกาม ก็มาที่นี่แหละ คือมาพัฒนาความสุขที่สูงขึ้นไป เริ่มด้วยการพัฒนาความสุขทางสังคมนี่เอง ถึงยังจะเสพกามสุข ท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่นอกจากใช้ศีล ๕ คุมยั้งกันไว้บ้างแล้ว ก็มาพัฒนาความสุขทางสังคมขึ้นไป ก็จะช่วยให้ประดามนุษย์ ไม่มัววุ่นวายอยู่กับตัวเองมากเกินไป และไม่มัวมุ่งแต่แข่งขันแย่งชิงกัน แต่จะมีการช่วยเหลือร่วมมือกันมากขึ้น ขณะที่ตัวเองก็มีความสุขเพิ่มขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง ที่ยั่งยืนกว่ากามสุขด้วย


     บางทีคนไม่รู้ตัวว่า การหาความสุขให้กับตัวเอง ที่มัวเห็นแก่ความสุขของตนนั้น ไปๆมาๆ โดยไม่รู้ตัว มันทำให้กลายเป็นคนที่ทุกข์ง่าย และเมื่อทุกข์ได้ง่าย ก็มีความโน้มเอียงที่จะมีทุกข์มากขึ้น เรื่องเป็นอย่างไร

     หันไปดูด้านความสุขแบบร่วมกันสุขนั้น เริ่มจากเราเห็นคนทั้งหลายอยู่ดีมีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย นี่คือเมตตา ทีนี้ต่อไปก็คือกรุณา ที่ว่าเราอยากเห็นเขาพ้นจากทุกข์ หายป่วยหายไข้ และพอเขาหายได้จริง มีร่างกายแข็งแรงดี เราก็มีความสุข แต่ข้อกรุณานี้ ไม่ใช่ให้ผลแค่นั้น ยังมีผลดีมากกว่านั้นอีก

     แม้แต่ว่าเราเจ็บไข้อยู่ หรือว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราเป็นโรคนั้นโรคนี้ มีความทุกข์ทรมานเหลือเกิน ทีนี้ ถ้าเรามัวแต่ใส่ใจเรื่องตัวเอง นึกถึงตัวเองว่า ทำไมฉันถึงต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมฉันถึงต้องเป็นอย่างนี้ ก็ทุกข์แย่เลย บางคนหนักกว่านั้นอีก คิดว่าโรคนี้ ใครจะเป็นก็เป็นไป ทำไมจะต้องเป็นกับเราด้วย คิดอย่างนี้ ก็มีแต่จะต้องทุกข์ แล้วก็ทุกข์มากมากเกินกว่าธรรมดาด้วย

     ทีนี้ ถ้ามีกรุณา พอเราเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่ครุ่นคิดอยู่แค่ตัวเอง แต่จะมองกว้างออกไปถึงเพื่อนมนุษย์ ก็คิดถึงคนอื่นๆ เออ นี่เราเจ็บไข้ เป็นโรคนี้ ขนาดนี้ ยังมีทุกขเวทนาและยากลำบากอย่างนี้ แล้วคนในโลกนี้ แม้แต่ในเมืองไทยเรานี้ ที่ยากจนข้นแค้น ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีเงินซื้อยา ไม่มีคนดูแล เขาจะเป็นอย่างไร

     เราเจ็บป่วยอย่างนี้ก็จริง แต่ยังมีญาติมิตรดูแล ยังมีคนพาไปหาคุณหมอ หรือบางทีคุณหมอก็มารักษาให้ อย่างน้อยก็ยังมีที่อยู่ที่กินที่นอน แล้วคนที่ป่วยอย่างนี้ แถมไม่มีที่อยู่ที่กินที่นอน จะทุกข์ยากลำบากแค่ไหน

     พอนึกขึ้นมาอย่างนี้ โรคที่เจ็บป่วยของตัวเอง ก็กลายเป็นเบา เลยบางทีหมดความหมาย คือแทบไม่รู้สึกอะไรเลย ความเจ็บป่วยของเรานี้ ไม่สำคัญอะไรเลย

     พอคิดด้วยกรุณาต่อไปอีกชั้นหนึ่ง ความเจ็บป่วยของเรากลับเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกว่า เออ ถ้าเราไม่ป่วยอย่างนี้ เราก็คงลืมนึกไปเลย ถึงคนในโลกที่ยังมีทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บอย่างนี้ ตอนนี้เรานึกขึ้นมาได้แล้ว เราจะไปช่วยคนเหล่านั้นอย่างไรดี

     นี่ก็คือว่า ความเจ็บป่วยของเรานี้ กลับมาเป็นสัญญาณเตือนว่า เราจะต้องเร่งหาทางไปช่วยเพื่อนมนุษย์เหล่านั้น ซึ่งมีอยู่มากมาย ที่ขัดสนข้นแค้นทุกข์ยากลำเค็ญ ไร้ญาติขาดมิตร ขาดคนดูแลเอาใจใส่ เราจะต้องไปช่วยคนเหล่านั้นให้พ้นทุกข์

     รวมแล้ว ก็กลายเป็นว่า โรคนั้นมากระตุ้นเร้ากรุณา นอกจากมองออกไปที่จะหาทางช่วยคนอื่นแล้ว ก็กลายเป็นว่า ทำให้ทุกข์ของตนเองลดน้อยลงไป หรือบางทีก็เลยไม่ทุกข์ แต่ความเจ็บไข้นั้นแทบหมดความหมายไปเลย

     จะเห็นว่าคุณธรรมเหล่านี้สำคัญมาก ไม่ใช่เป็นแค่นามธรรมที่นอนอยู่เฉยๆ ในจิตใจ แต่ส่งผลกว้างไกลอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นการพัฒนามนุษย์ และแน่นอนว่าจุดสำคัญ ตัวตั้งต้น ที่ว่าเป็นมูล ก็คือฉันทะ ซึ่งในที่นี้ ได้เน้นการพัฒนาฉันทะในเชิงสังคม และก็เพียงแต่ยกตัวอย่างมาเน้นให้ฟังว่า มันเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่กันให้จริงจัง

     ตอนนี้ ก็เป็นอันได้พูดถึงว่า กามสุขที่อาศัยอามิสที่เสพที่ได้ที่เอาเพื่อตัว ซึ่งมีทางก่อทุกข์ภัยได้นักหนานั้น นอกจากต้องบริหารจัดการให้ดีแล้ว ต้องให้ประสานไปด้วยกันกับการพัฒนาตัวคน ให้เขาเกิดมีความสุขทางสังคม โดยส่งเสริมฉันทะที่เป็นไปต่อเพื่อมนุษย์ทาง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่จะทำให้เขามีความสุขร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ แล้วไปกระตุ้นเร้าให้มนุษย์ทำความดีช่วยเหลือกันต่างๆ อย่างน้อยก็จะมาช่วยดุล ทำให้ปัญหาจากกามสุขเบาบางลงไป




* กามสุข” ความสุขที่อาศัยกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย  ส่วนที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ กามสุข  นั้นก็เป็นสุข   แต่ก็ให้มองอีกด้านหนึ่ง กามสุขนั้น กลายเป็นกามทุกข์ได้ ฉะนั้น ท่านจึงให้รู้เท่าทัน และไม่ประมาท
 


Create Date : 24 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2566 17:23:48 น. 0 comments
Counter : 116 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space