กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
19 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

ฉันทะอย่างไหนต้นตอของทุกข์ อย.ที่ตั้งต้นของกุศลธรรม




"ฉันทะ"   อย่างไหนเป็นต้นตอของทุกข์  อย่างไหนคือที่ตั้งต้นของกุศลธรรม


     ได้อธิบายมา  ให้เห็นความหมายของฉันทะอย่างกว้างขวางครอบคลุมครบทุกแง่ทุกนัย ถือว่าเพียงพอแล้ว ก่อนจะผ่านไป ขอแสดงตัวอย่างสำคัญให้เห็น "ฉันทะ" ที่มาในรูปศัพท์เดียวกัน ในพุทธพจน์ที่แสดงหลักการสำคัญต่างกรณี และมีความหมายที่เรียกได้ว่าตรงกันข้าม  กรณีหนึ่งเป็นอกุศล  อีกกรณีหนึ่ง  เป็นกุศล  ความเข้าใจฉันทะที่มาในพุทธพจน์ต่างกรณีกันนี้  นอกจากย้ำความหมายของฉันทะที่ว่าใช้ได้ทั้งด้านอกุศล และด้านกุศลแล้ว   ก็จะช่วยกระชับความเข้าใจความหมายของฉันทะที่ยังเห็นพร่าๆ ให้ชัดตรงและมั่นใจยิ่งขึ้น

     ฉันทะที่ว่านี้   มาในรูปศัพท์เดียวกันว่า   "ฉันทมูลกะ"   แปลว่า  มีฉันทะเป็นมูล คือเป็นต้นตอ หรือเป็นจุดก่อตัวเริ่มต้น   พุทธพจน์ต่างกรณีที่ว่านั้น  บางแห่งว่า  ทุกข์ไม่ว่าอย่างใดมีฉันทะเป็นมูล  บางแห่งว่า  ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล  สาระเป็นอย่างไร  ขอยกมาให้พิจารณาดูเอง

นัยที่ ๑:  ฉันทะ  เป็นมูลแห่งทุกข์ และเป็นมูลของอุปาทานขันธ์ ๕

      เริ่มด้วยพุทธพจน์ที่ว่า ทุกข์มีฉันทะเป็นมูล ดังนี้  (สํ.สฬ.18/628/406)

          ดูกรนายคามณี ความที่ว่านั้น พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจะเกิดก็เกิด ทุกข์ทั้งหมดนั้น มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นต้นเหตุ เพราะฉันทะเป็นมูลแห่งทุกข์


     ขอต่อด้วยพุทธพจน์ว่า   เบญจอุปาทานขันธ์มีฉันทะเป็นมูล ดังนี้  (ม.อุ.14/121/101 ฯลฯ)

          ภิกษุนั้นชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า สาธุ แล้วทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ มีอะไรเป็นมูล ?  (ตรัสตอบว่า) ดูกรภิกษุ  อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้  มีฉันทะเป็นมูล

     พุทธพจน์ ๒ แห่งนี้ กล่าวได้ว่า มีความหมายตรงกัน ดังพุทธพจน์ในพระธรรมจักรที่คุ้นกันดี ตรัสแสดงความหมายไว้ว่า  "โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์"  (สํ.ม.19/1665/528)

     อรรถกถา-ฎีกา  ที่อธิบายความตอนนี้  ที่ว่าอุปาทานขันธ์ ๕ มีฉันทะเป็นมูล บอกตรงกันทุกแห่งว่า ที่ตรัสว่า  "มีฉันทะเป็นมูล"  หมายความว่า  มีตัณหาเป็นมูล หรือไม่ก็ว่า มีตัณหาฉันทะเป็นมูล (เช่น ม.อ.4/52 ฯลฯ) และบางแห่งก็อธิบายโยงต่อไปด้วยว่า ที่อุปาทานขันธ์ ๕ มีฉันทะเป็นมูล คือ มีตัณหาฉันทะเป็นมูล ก็ตรงกับที่ว่าตัณหาเป็นทุกขสมุทัยนั่นแหละ


นัยที่ ๒:  ฉันทะ  เป็นมูลของธรรมทั้งปวง

      มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า "ฉนฺทมูลกา ... สพฺเพ  ธมฺมา"   แปลว่า   ธรรมทั้งปวง  มีฉันทะเป็นมูล หรือแปลให้เป็นภาษาไทยมากขึ้นว่า   ธรรมทั้งปวง   มีความต้องการเป็นต้นกำเนิด  หรือว่ามีความอยากเป็นที่ตั้งต้น

     ข้อความสั้นๆเท่านี้    ก็แสดงหลักที่สำคัญอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจและน่าสังเกตเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ พุทธพจน์แสดงหลักข้อนี้   รวมอยู่ในพุทธพจน์ที่เป็นข้อความยาวแสดงหลักธรรมใหญ่ถึง ๑๐ ข้อ จะเรียกว่าเป็นประมวลหลักการสำคัญ ๑๐ ประการ ของพระพุทธศาสนา ก็ได้ มีตั้งแต่หลักปฏิบัติสำคัญไปจนถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา

      ขอยกมาให้รู้กัน  ดังนี้  (องฺ.ทสก.24/58/113 ฯลฯ )

        ภิกษุทั้งหลาย   ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามอย่างนี้ว่า   ท่านทั้งหลาย  ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่ตั้งต้น ... มีอะไรเป็นที่จบ   เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว   พึงตอบแก่อัญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้น อย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย:

     ๑) ธรรมทั้งปวง มีฉันทะเป็นที่ตั้งต้น      (ฉนฺทมูลกา ... สพฺเพ ธมฺมา)

     ๒) ธรรมทั้งปวง มีมนสิการเป็นที่ก่อตัว   (มนสิการสมฺภวา สพฺเพ ธมฺมา)

     ๓) ธรรมทั้งปวง มีผัสสะเป็นแหล่งเกิด   (ผสฺสสมุทยา สพฺเพ ธมฺมา)

     ๔) ธรรมทั้งปวง มีเวทนาเป็นที่ชุมนุม    (เวทนาสโมสรณา สพฺเพ ธมฺมา)

     ๕) ธรรมทั้งปวง มีสมาธิเป็นประมุข      (สมาธิปฺปมุขา สพฺเพ ธมฺมา)

     ๖) ธรรมทั้งปวง มีสติเป็นอธิปไตย       (สตาธิปเตยฺยา สพฺเพ ธมฺมา)

     ๗) ธรรมทั้งปวง มีปัญญาเป็นยอดยิ่ง    (ปญฺญุตฺตรา สพฺเพ ธมฺมา)

     ๘) ธรรมทั้งปวง มีวิมุตติเป็นแก่น        (วิมุตฺติสารา สพฺเพ ธมฺมา)

     ๙) ธรรมทั้งปวง มีอมตะเป็นที่หยั่งลง   (อมโตคธา สพฺเพ ธมฺมา)

     ๑๐) ธรรมทั้งปวง มีนิพพานเป็นที่จบ    (นิพฺพานปริโยสาน สพฺเพ ธมฺมา)

        ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอถูกถามดังนี้   พึงตอบแก่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น อย่างนี้แล

    หลักธรรมชุดนี้    เห็นได้ชัดเจนทันทีว่า  เป็นข้อธรรมสำคัญยิ่งในระบบการปฏิบัติของพระพุทธศาสนา   เป็นการเจริญหรือพัฒนากุศลจนจบถึงจุดหมาย   จึงเป็นธรรมดาที่จะมีได้เฉพาะธรรมที่เป็นกุศล คือ ฝ่ายดี  อย่างน้อยก็ต้องเป็นธรรมกลางๆ ที่มาร่วมในพวกกุศลได้  เพราะฉะนั้น ฉันทะในที่นี้  จึงแน่นอนว่าไม่เป็นอกุศล

    ในอรรถกถา   ท่านไขความว่า  ธรรมทั้งปวง  หมายถึงเบญจขันธ์  คือรวมสังขตธรรมทั้งหมด  (ก็ต้องเว้นนิพพานที่เป็นจุดหมาย  อันเป็นที่จบลงของสังขาร)

    พึงสังเกตความแตกต่างว่า   ในตอนก่อน  ที่ว่าอุปาทานขันธ์ ๕ (เบญจอุปาทานขันธ์) มีฉันทะเป็นมูล และท่านไขความว่าอันนั้นมีตัณหาฉันทะ คือ ตัณหานั่นเองเป็นมูล แต่ที่นี่ไม่ใช่อุปาทานขันธ์ ๕  หากเป็นขันธ์ ๕  (ที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน)

   
    ขอพูดเป็นความรู้แทรกเล็กน้อย  ขันธ์ ๕  (เบญจขันธ์) กับ อุปาทานขันธ์ ๕  (เบญจอุปาทานขันธ์)  ต่างกันอย่างไร  มีพุทธพจน์ตรัสแสดงไว้  ตัวตัดสินคือ ขันธ์ ๕ ที่เป็นสาสวะ และเป็นอุปาทานิยะ  คือเป็นปัจจัยแห่งอาสวะ   เป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน   จึงเป็นอุปาทานขันธ์ ๕  (ถ้าปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปาทาน ก็เป็นขันธ์ ๕ ล้วน) 

    นอกจากนั้น   มีคัมภีร์ชั้นฎีกาหลายแห่ง   เมื่ออธิบายหลักธรม ๑๐ ข้อชุดนี้  บอกไว้ตรงทีเดียวว่า เหล่ากุศลธรรม   มีฉันทะเป็นมูล (ฉนฺทมูลกา กุสลา ธมฺมา) นี่คือ  ระบุว่า ฉันทะเป็นมูลของกุศลธรรม และแห่งหนึ่งระบุเจาะจงลงไปด้วยว่า คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ ซึ่งก็คือเป็นกุศลฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ (หรือจะเรียกเต็มก็ว่า กุศลธรรมฉันทะ) ด้วยนั่นเอง 

 




 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2566
0 comments
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2566 7:57:23 น.
Counter : 190 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space