กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
20 พฤศจิกายน 2566
space
space
space

มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ ต้องเพิ่มเดชด้วยฉันทะ 




บทสรุป

235 มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ  ต้องเพิ่มเดชด้วยฉันทะ  มิใช่จะมัวเป็นทาสของตัณหา

 
     ถึงตอนนี้   ควรจะลงข้อสรุปเสียทีหนึ่ง  มีสภาพความจริงที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาอยู่ว่า  เป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน  ย่อมยังมีตัณหา  การที่จะให้มนุษย์ปุถุชนเหล่านี้ทำการใดโดยไม่มีตัณหาเข้ามาเกี่ยวข้องชักจูงด้วยเลยนั้น   เป็นอันแทบไม่ต้องหวัง   ดังนั้น  จึงไม่ต้องกลัวว่าคนจะไม่มีตัณหา

    ข้อควรคำนึ่งอยู่ที่ว่า  ตัณหาเป็นสิ่งมีโทษ  เป็นตัวการก่อทุกข์หรือปัญหาทั้งหลาย  ทั้งแก่บุคคลและสังคม  จึงต้องหาทางแก่ไข  ไม่ให้มีโทษภัยเหล่านั้น  วิธีแรก คือ ละ  หรือไม่ให้เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง   ซึ่งทำได้โดยการดับอวิชชาด้วยปัญญา (วิชชา) แล้ว  ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอย่างเดียว

    แต่ปุถุชนผู้ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งล่อเร้าเย้ายวน และเรื่องราวกระทบกระทั่งต่างๆ  โดยยังมีอวิชชา ตัณหา  อุปาทาน  พรั่งพร้อมอยู่ภายใน  คอยรอขานรับสิ่งล่อเร้าเป็นต้น นั้นอยู่ตลอดเวลา   ถึงจะระมัดระวังนึกอยากใช้ปัญญาเพียงไร  ก็อดไม่ได้ที่จะเผลอ  ปล่อยให้ตัณหาได้โอกาสแสดงบทบาทเบาบ้าง  แรงบ้าง  โจ่งแจ้ง  หรือไม่ก็แอบแฝง ไม่ที่จุดหรือขั้นตอนแห่งใด  ก็แห่งหนึ่ง

    หนทางแก้ไขที่พึงเน้นก็คือ การพยายามใช้และปลูกฝังฉันทะ  ที่เป็นความต้องการสิ่งดีงามขึ้นมา ให้เป็นตัวชักนำการกระทำให้มากที่สุด

    มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสมองเจริญมากแล้ว  จะอยู่ด้วยอวิชชา -  ตัณหา  อย่างสัตว์ทั้งหลายอื่นไม่ได้  จะต้องมีความต้องการภาวะดีงาม  หรือความใฝ่ดี  เป็นแรงควบคุม หรือถ่วงคานไว้บ้าง  มิฉะนั้น  ก็จะสามารถทำความชั่วร้ายก่ออันตรายได้อย่างร้ายแรงที่สุด   เพียงเพื่อได้สิ่งเสพเสวยสุขเวทนา หรือปกป้องเสริมรักษาความมั่นคงถาวรแห่งอัตตาของตน   หรือหาทางพ้นไปจากสิ่งที่ไม่ถูกใจไม่ปรารถนา

    มนุษย์จำนวนมากทีเดียว  แม้แต่เมื่อรู้จักฉันทะบ้างแล้ว  แต่ตัณหายังแรงกล้าเกินไป ก็ยังทนทำการโดยทางดีตามที่สำนึกแห่งความดี หรือสังคมกำหนดไว้ให้ตลอดไปไม่ไหว  คอยแต่จะหลีกไปหาทางลัด  เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัณหาต้องการ

    เรื่องของปุถุชนทั่วไป   จึงยังอยู่ในขั้นของการเลือกเอา   ระหว่างการดำรงอยู่เพียงด้วยแรงตัณหาอย่างเดียว   หรือปล่อยให้ตัณหาเป็นตัวนำครอบงำพฤติกรรมส่วนใหญ่  กับการที่สามารถเชิดชูฉันทะให้เป็นตัวเด่นขึ้นมา   และนำชีวิตให้หลุดพ้นจากอำนาจบงการของอวิชชาตัณหาอุปาทานมากขึ้นโดยลำดับ

    ข้อควรปฏิบัติก็คือ  ถ้าเป็นไปได้  ควรให้มีแต่ฉันทะล้วนๆ   แต่ถ้าทำไม่ได้   ยังยอมให้ตัณหาออกโรง  ก็ควรหันเหให้เป็น  ตัณหาที่หนุนฉันทะ  คือ เป็นปัจจัยแก่ฉันทะ

    เมื่อสามารถสร้างเสริมฉันทะขึ้นมานำพฤติกรรมได้   ตัณหาก็ถูกควบคุมและขัดเกลาไปเองในตัว

    อย่างนี้   จึงเป็นวิธีการละ   และควบคุมตัณหา   ตามหลักพุทธธรรม  ไม่ใช่ไปคุมไปกักกดไปละลดกันทื่อๆ อย่างไม่รู้เรื่องรู้ราวไม่รู้ที่ไปที่มา  ปล่อยให้อวิชชาสุมตัวหนุนอยู่หลังตัณหา  จะยิ่งก่อผลร้ายมากกว่าผลดี


235 ถึงจะพ้นตัณหา ได้ฉันทะมา  ก็ยังต้องเดินหน้าไปกับปัญญา จนกว่าจะพ้นปัญหาแท้จริง


     มีข้อความสำคัญ  ที่ขอนำมาย้ำไว้  เป็นข้อควรสังเกต และช่วยทบทวน ๓ ประการ  คือ

        ๑. เด็กชายสองคน คือ ด.ช. ตัณหา กับ ด.ช. ฉันทะ  ไปเห็นเครื่องรับวิทยุเครื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และได้ฟังเสียงจากวิทยุนั้นด้วยกัน  ด.ช. ตัณหา ได้ฟังเสียงจากวิทยุแล้ว ชอบใจเสียงไพเราะ และเสียงแปลกๆ  เขาคิดว่า   ถ้าเขามีวิทยุไว้สักเครื่อง   คงจะสนุกสนานเพลิดเพลินมาก   เขาจะเปิดฟังทั้งวันทั้งคืนทีเดียว และเขาทราบมาว่า  คนที่มีวิทยุมีไม่มาก  ใครมีก็โก้เก๋   เขาคิดว่า   ถ้าเขามีวิทยุแล้ว   เขาจะเด่นมาก   เพื่อนๆจะพากันมารุมดูเขา  เขาจะถือวิทยุเดินอย่างภาคภูมิใจ ไปไหนก็จะเอาไปด้วย จะเอาไปอวดคนโน้นคนนี้ คิดอย่างนี้แล้ว ด.ช. ตัณหา ก็อยากได้วิทยุเป็นกำลัง กลับถึงบ้าน ก็ไปรบเร้าคุณพ่อคุณแม่ ให้ไปซื้อมาให้เขาเครื่องหนึ่งให้จงได้ เขาถึงกับคิดว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ซื้อให้   เขาจะไปด้อมๆมองๆที่ร้าน   ถ้าได้ช่อง  ก็จะขโมยมาสักเครื่อง
 
      ส่วน ด.ช. ฉันทะ  ได้ฟังเสียงจากวิทยุแล้ว  ก็แปลกประหลาดใจ  เขาเริ่มคิดสงสัยว่า เสียงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  เครื่องที่ให้เกิดเสียงนั้นคืออะไร  มันทำให้เกิดเสียงได้อย่างไร  เขาทำมันอย่างไร มันมีประโยชน์อย่างไร จะเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง  เขาคิดดังนั้นแล้ว  ก็เกิดความอยากรู้เป็นอันมาก จึงคอยสังเกต หรือไปเที่ยวสอบถามว่าใครจะบอกเรื่องนี้แก่เขาได้  ครั้นรู้จากช่างแล้ว ก็หาโอกาสเข้าไปซักถาม  ได้ความรู้หลายอย่าง  ตลอดจนรู้ว่า  มันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง   ด.ช. ฉันทะ ครั้นเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ ใจเขาซาบซึ้งในคุณค่าของมัน บอกตัวเองว่า  ดีแน่  แล้วก็เกิดความอยากจะทำวิทยุขึ้นมาบ้าง

     ขอให้ลองพิจารณาว่า   กระแสความคิดของเด็กสองคนนี้  จะมีผลต่อพฤติกรรม และวิถีชีวิตของเขาอย่างไร และผลที่กว้างไกลออกไปถึงคนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสังคม และประเทศชาติ จะเป็นอย่างไร

     ในกระบวนธรรมแห่งความคิดและพฤติกรรมของเด็กทั้งสองนี้ องค์ธรรมในตอนเริ่มต้นเหมือนกัน คือ

       หู  (อายตนะภายใน) + เสียง  (อารมณ์) => ได้ยิน  (โสตวิญญาณ) = ผัสสะ (รับรู้เสียง) =>  เวทนา  (= สุขเวทนาคือสบายหู)

    แต่ต่อจากเวทนาแล้ว กระบวนธรรมแยกไปคนละอย่าง

      ด.ช. ตัณหา  เมื่อได้เวทนาเป็นสุข  สบายหูแล้ว  ก็ชอบใจติดใจอยากฟังต่อๆไป คือเกิดตัณหาขึ้น  เขาคิดเพ้อไปตามความอยากนั้น  ซึ่งล้วนเป็นอโยนิโสมนสิการ  เพราะไม่ได้คิดตามสภาวะและตามเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องวิทยุ และเสียงวิทยุนั้นเลย   มีแต่คิดสืบทอดจากตัณหา  คิดเกี่ยวกับการเสพเวทนา และการเสริมขยายตัวตน   เมื่อคิดอย่างนั้น   ก็เป็นการหล่อเลี้ยงอวิชชาเอาไว้ ทำให้ตัณหาเพิ่มพลังแข็งแรงและขยายตัวขึ้นอีก   พฤติกรรมของเขาก็จึงเป็นไปตามความบงการของตัณหา
 
     ส่วน ด.ช. ฉันทะ   เมื่อกระบวนธรรมสืบต่อมาถึงเวทนาแล้ว   เขาไม่ไหลเรื่อยต่อไปยังตัณหา แต่เกิดมีความคิดที่เป็นโยนิโสมนสิการขึ้นมาตัดหน้าตัณหาเสีย   ทำให้ตัณหาชะงักดับไป โยนิโสมนสิการนั้น คือ การคิดตามสภาวะและเหตุผลว่า อารมณ์หรือสิ่งที่ประสบนั้น คือ อะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร เป็นเพราะอะไร มีคุณโทษอย่างไร  เป็นต้น  ความคิดนี้ นำไปสู่การรู้เข้าใจคุณค่าของสิ่งที่ดีงาม   เกิดความซาบซึ้ง  มีจิตใจโน้มน้อมไปในทางที่จะรู้ความจริง ที่จะทำให้ดีให้งามให้สมบูรณ์  จึงเกิดเป็นฉันทะขึ้น และนำ ด.ช.ฉันทะไปสู่การเรียนรู้  และการกระทำสร้างสรรค์ต่อไป  (ข้อนี้ มุ่งเน้นในระดับทิฏฐธัมมิกัตถะ คือประโยชน์ปัจจุบัน หรือระดับศีลธรรมสำหรับชีวิตประจำวัน)

      ๒. ฉันทะ   เป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล  ดีงาม  ไร้โทษ  เป็นคุณประโยชน์  เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ แต่ฉันทะจะเป็นคุณประโยชน์ ก่อให้เกิดผลดีเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงและคุณค่าของสิ่งที่มันเกี่ยวข้อง เพราะฉันทะอาศัยโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นบุพภาคของปัญญา
 
    ถ้าความรู้ความเข้าใจไม่ลึกซึ้งชัดเจนแน่แท้  ฉันทะก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้เหมือนกัน   ดังนั้น   เพื่อให้ฉันทะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยชักนำชีวิตไปสู่จุดหมายที่ถูกต้องได้อย่างมั่นใจ  การฝึกอบรมเจริญปัญญา หรือการให้การศึกษาระดับปัญญา   จึงถือเป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา

    จุดเริ่มต้นที่สำคัญ คือ จะต้องฝึกโยนิโสมนสิการ  รู้จักคิดตามสภาวะ และสืบค้นเหตุปัจจัย ให้ก้าวหน้าไปในความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า  ความจริงแท้เป็นอย่างไร  อะไรมีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต  อะไรเป็นอัตถะ คือตัวประโยชน์แท้ที่ควรเป็นจุดหมาย และก้าวหน้าไปในกุศลธรรม  โดยเกิดความใฝ่รู้  ใฝ่ธรรม  รักความจริง  รักความดีงาม  รักที่จะดำรงส่งเสริมคุณภาพชีวิต  พร้อมกับทำกุศลธรรมเหล่านั้นให้เกิดให้มีเพิ่มพูนขึ้น  จนถึงขั้นมีปัญญาที่ทำชีวิตจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระได้  (ข้อนี้ เกี่ยวกับประโยชน์ ๓ ขั้น คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถ์)

       ๓. ในกรณีที่ฉันทะเป็นปัจจัยแก่ตัณหา   มันย่อมให้เกิดโทษได้แม้แก่คนดี   แม้ว่าคนดีอาจจะไม่เอาตัวตนเข้าไปยึดถือครอบครองความดีที่สร้างขึ้นด้วยฉันทะ  จนถึงกับเกิดความเย่อหยิ่งลำพอง  ยกตนข่มผู้อื่น หรือลุ่มหลง  มัวเมา  ประมาท   แต่บางทีความยึดถืออย่างอ่อนๆ เช่นว่า ทำไมบ้านเรา  วัดเรา  โรงเรียนเรา  ตำบล บ้านเมืองของเรา  จึงไม่สะอาดเรียบร้อยเหมือนของเขา หรือว่า เด็กนี้  นักเรียนนี้  ลูกศิษย์นี้  เราพยายามช่วยให้พัฒนาตัวเองทุกอย่างทุกประการ ทำไมเขาไม่กระตือรือร้น  ไม่ดีขึ้นมาทันอกทันใจเอาบ้างเลย  ดังนี้ เป็นต้น  ก็ทำให้คนดีเป็นทุกข์เดือดร้อนได้ไม่น้อย และบางครั้งเมื่อเหตุปัจจัยของเรื่องนั้นๆ  อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับบัญชาของคนดี ก็ยิ่งเป็นเรื่องบีบคั้นใจให้คนดีเป็นทุกข์มากขึ้น
 
    ทุกข์ชนิดนี้  ดูเหมือนจะเป็นความทุกข์พิเศษของคนดี ที่คนชั่วจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์เดือดร้อนด้วยเลย จะเรียกว่า คนดีก็มีทุกข์แบบของคนดีก็ได้ * และเมื่อทุกข์แล้ว  ก็เป็นโอกาสให้วงจรกิเลสเริ่มหมุนได้อีก  โดยอาจเกิดความขุ่นมัว  หม่นหมอง  น้อยใจ  ขัดเคือง  ฟุ้งซ่าน  หุนหัน เป็นต้น  อาจให้ทำการบางอย่างผิดพลาด หรือขาดความสุขุมรอบคอบ  เกิดผลเสียได้

    โดยนัยนี้  ความเป็นคนดีจึงยังไม่เพียงพอ   คนดียังต้องการสิ่งที่จะช่วยให้ทำความดีโดยไม่มีทุกข์ และเป็นคนดีผู้ไม่เป็นที่แอบแฝงของความชั่ว  หรือไม่อาจกลับกลายเปลี่ยนไปเป็นคนไม่ดีได้อีก   พูดง่ายๆ ว่า  ต้องการเครื่องป้องกันไม่ให้ตัณหากลับเข้ามา  ได้แก่  ต้องการปัญญาที่จะทำจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระ   นี่คือจุดที่คนต้องการโลกุตรธรรม  และควรให้ฉันทะทำหน้าที่นำชีวิตไปถึงจุดหมายขั้นนี้ด้วย*   (ข้อนี้  มุ่งเน้นจุดผ่าน  จากสัมปรายิกัตถะ หรือประโยชน์เบื้องหน้าสำหรับชีวิตด้านใน หรือประโยชน์ที่เป็นจุดหมายสูงสุด)


235 ปัญญามาแทนที่  ตัณหาหมดหน้าที่  มีฉันทะเต็มที่

 
    มาถึงจุดนี้  เข้าใจว่า  ข้อสงสัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง  คงจะหมดหรือหายไปด้วย  คือข้อสงสัยที่ว่า  พระอรหันต์เป็นผู้หมดสิ้นตัณหาแล้ว  เมื่อไม่มีตัณหาซึ่งเป็นแรงชักจูงการกระทำต่างๆ  พระอรหันต์มิกลายเป็นผู้อยู่นิ่งเฉย  ไม่กระตือรือร้น  ไม่อยากทำอไร  กลายเป็นคนไม่มีชีวิตชีวาไปหรือ
 
   ทั้งนี้พร้อมทั้งความสงสัยที่ว่า  พระอรหันต์เป็นอยู่ด้วยปัญญา  จะอยู่อย่างไร  มีแต่ปัญญา  ไม่มีตัณหา  จะทำการอะไรได้หรือ
 
    เนื้อความเท่าที่ได้อธิบายมา  น่าจะเป็นคำตอบที่กระจ่างแจ้งชัดเจนพอแล้ว  เพราะได้แสดงให้เห็นว่า  มิใช่ตัณหาอย่างเดียวเท่านั้น  ที่เป็นแรงจูงใจชักนำพฤติกรรมของคน  และตัณหาไม่ได้จูงใจให้ทำเท่านั้น  แต่จูงใจให้ไม่ทำ   รวมทั้งให้ขี้เกียจด้วย  แต่ที่ร้ายก็คือ  ไม่ว่าตัณหาจะจูงใจให้ทำหรือไม่ให้ทำ  ที่เปะปะปั่นป่วนไว้ใจไม่ได้ทั้งนั้น   จึงต้องพัฒนาคนให้มีแรงจูงใจที่แน่ใจว่าดีแท้  ไม่เสียหาย
 
    เป็นอันว่า  เมื่อคนพัฒนามากขึ้น  ตัณหาก็ลดบทบาทลงไป  พร้อมกับการจางลงของโมหะหรืออวิชชา  โดยมีปัญญาพาฉันทะมาทำงานอย่างชาญฉลาด   ให้เกิดผลดีทั้งแก่ชีวิตและแก่ทุกคนทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง

    จนในที่สุด  เมื่อคนพัฒนาตนจนสิ้นโมหะ  เป็นพระอรหันต์  ก็ไม่ต้องพึ่งตัณหาให้ช่วยพาทำอะไรๆ  แต่มีปัญญาที่รู้จริง  ช่วยให้ฉันทะซึ่งชัดว่าทำอะไรจึงจะเป็นคุณเป็นประโยชน์ดีแน่   มาครองบทบาทเต็มที่ในการทำกิจกรรมและกิจการทุกอย่าง
 
    ถึงตอนนี้  ฉันทะพาคนทำตามที่ปัญญาบอก  และพระอรหันต์ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง  เพราะเป็นบุคคลที่เต็มแล้วอิ่มแล้ว   ก็จึงคิดแต่ว่าทำอะไรให้คนอื่นและให้ทั้งโลกมีความสุข    ดังที่เคยบอกคติของพระอรหันต์ที่ว่า  พหุชนสุขายะ  โลกานุกัมปายะ  คือ  ทำการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก
 
    ตรงนี้  คือ จุดที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ  นอกจากนำคนในการพัฒนาคน  ก็นำอริยชนในการบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่มวลชน   พระพุทธเจ้าทำไม่หยุด   เพราะทรงเป็นอิสรชน   เป็นเสรีชนที่แท้  แม้แต่ข้างในก็ไม่มีตัณหามาเหนี่ยวรั้ง   แต่ตรงข้าม  ทรงมีฉันทะเต็มเปี่ยม  จึงทำได้เต็มที่
 
    ฉันทะที่เต็มเปี่ยมนี้   เป็นพระคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า    เรียกว่าเป็นพุทธธรรมอย่างหนึ่ง  ในพุทธธรรม  ๑๘  ประการ  คือข้อที่ว่า  “(พระพุทธเจ้า) ทรงมีฉันทะไม่ลดถอยเลย*
 
    ฉันทะที่พาทำงานทำการทำกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้  ทำงานอะไร  ก็ทำงานปลดปล่อยประชาชนให้พ้นจากกิเลสความชั่วร้าย  จากทุกข์ภัย  ปวงปัญหา  พาให้ลุถึงสันติสุข  ด้วยน้ำพระทัยแห่งพระมหากรุณานั่นเอง


235 ปัญญาและกรุณา  ตัวกำกับและขับเคลื่อนการทำงานของมหาบุรุษ

 
     โยงกับความที่กล่าวมาแล้ว  มีข้อที่ควรเน้น  ซึ่งน่าจะแยกออกมาพูดให้ชัดยิ่งขึ้น   กล่าวคือ ได้อธิบายให้เห็นว่า  เมื่อปัญญาเกิดขึ้น  มันมิได้เกิดลำพังตัวเปล่าๆ  แต่พ่วงเอาคุณธรรมที่สำคัญๆ เกิดตามมาด้วย
 
     เมื่อคนตกอยู่ใต้อวิชชา  ไม่ใช้ความรู้  อยู่ด้วยความรู้สึก  ก็ปล่อยให้ตัณหาพาไป   และพึ่งตัณหาพาให้ทำอะไรๆ  แต่พอปัญญาพัฒนาขึ้น  ฉันทะได้โอกาส  พร้อมทั้งมีกำลังมากขึ้น  ก็เข้ามานำการกระทำของคน   ให้ไม่ต้องมึนมัวมั่วหมกอยู่ใต้โมหะและตัณหา  แต่ก้าวขึ้นมาสู่การมีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญา  โดยมีฉันทะสนองงานและมิใช่เท่านั้น   ฉันทะยังส่งแรงขับเคลื่อนออกมาทางคุณธรรมต่างๆ  ที่จะทำให้เกิดความดีงามความสมบูรณ์สมความมุ่งหมาย  โดยเฉพาะคุณธรรมที่เด่นในการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนสัตว์ คือ กรุณา   ดังที่ได้พูดพาดพิงไว้
 
     เพื่อเชื่อมความ  ขอทบทวนสาระตามหลักการว่า  เมื่อเกิดปัญญารู้เข้าใจมองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายลึกซึ้งกว้างขวางออกไป ก็ดี  มองเห็นภาวะภาวะดีงามและคุณค่าของสิ่งทั้งหลายนั้นๆ ก็ดี  ถ้าไม่ปล่อยให้ตัณหาแทรกเข้ามาชิงตัดหน้ารับช่วงไปเสียก่อน   ก็ย่อมจะต้องเกิดมีฉันทะ  รู้สึกซาบซึ้ง  มีใจโน้มน้อมไปหาคุณค่าและภาวะดีงาม  พร้อมทั้งอยากให้สิ่งนั้นๆ  ดำรงอยู่ในภาวะที่ดีงามสมบูรณ์ของมัน
 
     โดยนัยนี้   ถ้าสิ่งที่ประสบยังไม่บรรลุอุดมสภาวะและคุณค่าอันสมบูรณ์  ก็ย่อมเกิดมีฉันทะที่จะทำให้ดีให้สมบูรณ์ตามนั้น  นี้เป็นกรณีเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายโดยทั่วไป
 
     แต่ถ้าเป็นกรณีของสัตว์บุคคล  ฉันทะที่เกิดขึ้น  ก็จะแสดงออกในภาวะจิตที่มีชื่อพิเศษว่า  เมตตา  คือ  ความรัก  ความปรารถนาดี  อยากให้สัตว์บุคคลอื่นดำรงอยู่ในภาวะดีงาม ประสบประโยชน์สุข  บรรลุอุดมสภาวะของเขา   คือความปลอดโปร่งโล่งสบาย   ไม่มีอะไรบีบคั้นกายใจ
 
     อย่างไรก็ตาม  ความต้องการของฉันทะต่อบุคคล คือการที่อยากให้เขาอยู่ในภาวะดีงามสมบูรณ์นั้น  มิใช่แสดงออกมาเป็นเมตตาอย่างเดียว  แต่แสดงออกแตกต่างไปตามสถานการณ์ที่สัตว์บุคคลนั้นประสบ
 
      การที่ฉันทะแสดงออกเป็นเมตตา  คือไมตรี  อยากให้เขาอยู่ดีมีความสุข  ก็คือในสถานการณ์ที่เป็นปกติ   แต่ถ้าเขาอยู่ในสถานการณ์อย่างอื่นที่เปลี่ยนไปจากปกติ  ฉันทะก็แสดงความปรารถนาดีในลักษณะอาการที่ต่างออกไป   และได้ชื่อต่างกันไปตามสถานการณ์นั้นๆ
 
     ถ้านับสถานการณ์ปกติที่จะมีเมตตานั้น  เป็นที่ ๑  สถานการณ์ที่ ๒  ก็ได้แก่คราวที่สัตว์บุคคลนั้นตกต่ำลงไปจากปกติ  คือเกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์  เช่น  เจ็บไข้  ขาดแคลน  ในสถานการณ์ที่  ๒  นี้  ฉันทะที่อยากให้เขาดีงามสมบูรณ์  ก็แสดงออกเป็น  กรุณา  คือภาวะที่พลอยมีใจหวั่นไหว  อยากแก้ไข  คิดช่วยเหลือให้เขาพ้นจากทุกข์
 
      ต่อไปเป็นสถานการณ์ที่ ๓  คือยามที่ผู้อื่นนั้นขึ้นสูงกว่าเดิมที่เป็นปกติ  อย่างที่เรียกว่าได้ดีมีสุข  เช่น  เรียนจบ  ได้งาน  หายป่วย  เลิกกินเหล้า  หันมาทำความดี คราวนี้ฉันทะที่อยากให้เขาดีงามสมบูรณ์  ก็ให้สมใจ  จึงมี  มุทิตา  คือพลอยยินดี  อนุโมทนา   ส่งเสริม  หรือช่วยสนับสนุน  อยากให้เขาดีงามเจริญก้าวหน้าดียิ่งขึ้นไป
 
     สถานการณ์สุดท้าย  คือที่  ๔  ข้อนี้พิเศษ  คือ เมื่อผู้นั้นรับผิดชอบตัวเองได้  หรือเขาควรรับผิดชอบตนเอง  เป็นความสมควรที่จะเป็นอย่างนั้น  ที่เขาจะอยู่หรือดำเนินไปในภาวะนั้น   เราไม่ควรยุ่งด้วย  เช่น  ในกระบวนการยุติธรรม  และในการฝึกคน  ดังที่พ่อแม่รัก  อยากให้ลูกเจริญงอกงาม  ดูแลลูกเล็กที่กำลังหัดเดินเตาะแตะ  ก็วางทีเฉยดูอยู่ใกล้ๆ ให้เขาเดินไป  โดยพร้อมที่จะแก้ไขถ้ามีอะไรพลั้ง  แต่ไม่ใช่มัวสงสารกลัวจะล้มจะเจ็บแล้วคอยอุ้มอยู่เรื่อย  การวางทีเฉยดู  โดยรู้เข้าใจ  ไม่เข้าไปวุ่นวายก้าวก่ายแทรกแซงนี้  เรียกว่า อุเบกขา*
 
    อาจจะสงสัยว่า  อุเบกขา นี่  มีฉันทะ  มีความปรารถนาดีอย่างไร  นี่แหละคือยอดความปรารถนาดี  ที่ต้องมีต้องใช้ปัญญาแท้จริง  คือต้องการความไม่ผิดพลาดแก่เขา  ต้องการความไม่ผิดธรรมแก่เขา  อยากให้เขาดำเนินไปในความถูกต้อง  ในความสมควรจะเป็นอย่างนั้น   ในความไม่เสียหาย   ให้เขาเป็นไปโดยธรรม  ถูกธรรม  ชอบธรรม
 
    นี่คือคุณธรรมสำคัญที่เกิดมีตามฉันทะมา  ทุกคนฝึกให้มีได้   แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์  จะมีความพิเศษ เพราะเหตุที่ท่านเป็นอิสระสมบูรณ์  ไร้ทุกข์  ท่านมองดูชาวโลก  เห็นเขาดิ้นรนวุ่นวายกันอยู่ในทุกข์   คุณธรรมเด่นของท่านก็มาอยู่ที่ข้อ  กรุณา
 
    สำหรับปุถุชน  ปัญหาเกิดขึ้นในแง่ที่ว่า   เมื่อรับรู้สถานการณ์อย่างนี้  มักมีอวิชชาตัณหาครองใจเสียก่อน คือ ตนกำลังแสวงหาเวทนาอร่อยเพื่อจะเสพอยู่เสียบ้าง  กำลังห่วงกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตน  หรือมีอัตตาที่คอยจะกระทบอยู่เสียบ้าง   เลยไม่มีช่องให้ปัญญาโล่งบริสุทธิ์เกิดขึ้นที่จะนำเอากรุณาเข้ามาได้
 
    แต่อาจมีบ้างบางเวลา  ที่จิตใจของปุถุชนนั้น  ว่างโล่งโปร่งเบา   และเขาใช้โยนิโสมนสิการ  คือการทำใจแยบคาย  หรือคิดถูกทางถูกวิธีตามสภาวะและเหตุผล   ตัดโอกาสของอวิชชา-ตัณหาเสีย   ปัญญาบริสุทธิ์ก็เข้ามาเปิดช่องทางให้กรุณาแล่นผ่านออกไปได้  ภาวะจิตที่ประกอบด้วยกรุณาก็เกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้น
 
    แต่สำหรับพระอรหันต์  ผู้สิ้นอวิชชา- ตัณหา   ไม่มีความพะวงคิดติดในการแสวงหาสิ่งเสพเสวยเวทนา หรือความห่วงกังวลเกี่ยวกับตัวตน  ปัญญาบริสุทธิ์ย่อมพร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะให้ฉันทะเผยแสดงกรุณาออกมาไม่ว่าในเวลาใดก็ตามที่ประสบอารมณ์  คือสัตว์บุคคลผู้ตกทุกข์ติดอยู่ในพันธนาการ
 
   โดยนัยนี้   ความสิ้นอวิชชา-ตัณหา-อุปาทานแล้ว  จึงเป็นเพียงเครื่องชำระให้การกระทำของพระอรหันต์เป็นไปโดยบริสุทธิ์  ปลอดภัยไร้โทษ  ปราศจากกิเลส  เช่น  ความกลัวและความเกียจคร้านที่จะเหนี่ยวรั้ง  ส่วนพลังกำกับและนำการกระทำของท่าน ก็คือ ปัญญา และ  กรุณา*   
 
    การเคลื่อนไหวและการกระทำของมหาบุรุษพิสุทธ์ชน   คือ  พระอรหันต์ทั้งหลาย   มีพระพุทธเจ้า  เป็นต้น  เมื่อได้ปัญญาเปิดช่องและส่องนำทาง  โดยมีกรุณาเป็นแรงส่งมุ่งสู่เป้าหมาย*  ย่อมเป็นไปอย่างเข้มแข็งจริงจังให้เกิดงานยิ่งใหญ่ที่เรียกว่าพุทธกิจ   และศาสนกิจต่างๆ  เพื่อประโยชน์สุขของมวลประชาชาวโลก  เป็นผลสำแดงแห่งพุทธธรรม  และพระพุทธศาสนาที่ดำรงอยู่ยั่งยืนมาจนบัดนี้





* คนที่มีฉันทะมากนั้น  ถ้าตัณหา (รวมทั้งมานะ และทิฏฐิ) เข้ามาแทรกซ้อนรับช่วงจากฉันทะ เข้าครอบงำจิตใจได้ ก็อาจทำให้เกิดทุกข์ หรือผลเสียหายที่ร้ายแรงได้มากเหมือนกั้น ขอเสนอไว้พิจารณาบ้างบางอย่าง เช่น

- เพราะความรักในความดีงามความบริสุทธิ์แห่งชีวิต ตัณหาอาจเอามาผูกเข้าเป็นความรักความยึดมั่นในความดีของตน จนในแง่หนึ่งเป็นเหตุให้คนดีมีความวิตกกังวลมากมาย เกี่ยวกับการรักษาความดีงามและความบริสุทธิ์แห่งชีวิตของตน หวั่นกลัวต่อเหตุมัวหมองต่างๆ กลัวถูกคนเข้าใจผิด เป็นทุกข์ในเรื่องเช่นนี้มากมายกว่าคนทั่วไป ข้อนี้น่าจะนำมาพิจารณาด้วย ในการศึกษาสาเหตุของสิ่งที่จิตวิทยาตะวันตกเรียกว่า guilt-feeling

- บางคนมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม หรือสถาปนาความดีงามขึ้นในสังคม แต่ทำไม่ได้อย่างใจปรารถนาหรือประสบเหตุขัดขวางมาก ก็เกิดความขัดใจ ยึดมั่นในความเห็นของตนมากขึ้น ดึงดันในทิฏฐิ หรือเกิดความปรารถนาให้ตนได้ชื่อว่า เป็นผู้สร้างผู้สถาปนาสังคมใหม่ให้ดีงามนั้น จึงมุ่งที่จะทำให้ได้อย่างเดียว อาจหันไปใช้วิธีรุนแรง กำจัดกวาดล้างผู้ที่ตนเห็นว่า ขัดขวางด้วยโทสะ โดยไม่มีความรักหรือปรารถนาความดีงามแก่ชีวิตของคนเหล่านั้นเลย ฉันทะที่ครอบด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ จึงอาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Violence ได้เหมือนกัน

- ระบบงาน ระบบสังคม หรือ  ระบบการดำเนินชีวิตที่มีการแข่งขันกันมาก ย่อมทำให้คนเกิดความรู้สึกนึกถึงตัวตนเด่นชัดมากขึ้น จึงเป็นระบบที่ส่งเสริมความยึดถือตัวตน และเป็นเหตุให้คนต้องพยายามทำการในทางที่จะสนองภวตัณหามากยิ่งขึ้น  ระบบเช่นนี้ ถ้าใช้ในสังคมที่คนมีพื้นในทางฉันทะมาก ก็จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว แต่พร้อมกันนั้นก็จะทำให้เกิดปัญหาจิตใจ มีความกดดัน คนมีความทุกข์ เครียด มี stress มี anxiety เป็นโรคจิตกันมาก   แต่ถ้านำระบบเช่นนี้มาใช้ในสังคมที่คนหย่อนฉันทะ ก็น่าจะทำให้มีความทุจริต ความสับสน ฟอนเฟะยิ่งขึ้น (ที่ว่า น่าจะ ก็เพราะจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆประกอบด้วย)

 

พุทธธรรมข้อนี้   เป็นข้อที่  ๑๐  คำบาลีว่า  “นตฺถิ  ฉนฺทสฺส   หานิ”  (เช่น  ที.อ.3/188 มิลินฺท. อ369  ที.ปา.ฎี.67 เป็นต้น


ธรรม ๔ คือ เมตตา  กรุณา  มุทิตา อุเบกขา  นี้  นิยมเรียกชื่อรวมชุดว่า พรหมวิหาร  ๔  (ธรรมประจำใจอันประเสริฐ)  ท่านแสดงหลักไว้ว่า  ธรรมทั้ง ๔ มีฉันทะเป็นจุดเริ่มต้น   หรือเป็นที่ตั้งต้น  (สพฺเพสมฺปิ  จ  เอเตสํ  กตฺตุกมฺยตาฉนฺโท  อาทิ  เช่น  สงฺคณี. อ. 249)  
 
 
 * พุทธคุณโดยสรุป   ท่านถือกันมาเป็นหลักว่ามี  ๒ อย่าง คือ ๑. ปัญญา   ซึ่งให้สำเร็จพุทธภาวะ  ความเป็นอัตตนาถะ  และอัตตหิตสมบัติ   เป็นต้น  และ  ๒. กรุณา  ซึ่งให้สำเร็จพุทธกิจ  ความเป็นโลกนาถ   และปรหิตปฏิบัติ  เป็นต้น  ... ในภายหลัง  บางครั้งท่านเน้นวิสุทธิคุณ   แยกออกมาเป็นข้อหนึ่งด้วย  แต่ตามปกติก็ถือว่า  วิสุทธิคุณเนื่องอยู่ในพระปัญญาอยู่แล้ว  เพราะเป็นผลเกิดเองจากการตรัสรู้  ท่านจึงไม่แยกเป็นข้อหนึ่งต่างหาก
 
   ในคัมภีร์วชิรพุทธฎีกา ... แสดงไว้ว่า  พุทธกิจมี  ๒  อย่าง  คือ ญาณกิจ  และ กรุณากิจ  แปลง่ายๆ ว่า งานที่ทรงทำด้วยพระญาณ  และงานที่ทรงทำด้วยพระกรุณา   ปัญญาของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย  ปลอดจากอหังการมมังการ  และกรุณาก็ปราศจากเสน่หา และความโศก  ส่วนมนุษย์ปุถุชนมีกรุณา  ก็ยังเป็นกรุณาเทียม  คือยังมีเสน่หา  เป็นความรักผูกพันเยื่อใยติดในบุคคล   และมีโศก  ยามสงสารใคร  ก็ยังมีจิตใจเหี่ยวแห้งหมองเศร้า  ไม่โปร่งผ่องใส
 
   อนึ่ง  เมื่อพระพุทธศาสนาแยกออกเป็น  ๒  นิกายแล้ว  ก็ถือกันว่า  ฝ่ายเถรวาทเน้นด้านปัญญา   มหายานเน้นด้านกรุณา
 
* ในอรรถกถามีคำเทียบความนี้  เช่น  “กรุณาเวคสมุสฺสาหิตมานส”  แปลเอาความว่า (พระพุทธเจ้า)  ทรงมีพระฤทัยอุตสาหะขึ้นด้วยกำลังแห่งกรุณา ... และพึงอ้างพระบาลีแสดงความปรารภเมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงเริ่มประกาศพระศาสนาว่า  “สตฺเตสุ  จ  การุญฺญตํ  ปฏิจฺจ”  ความว่า   “พระผู้มีพระภาค"  ทรงอาศัยพระการุณยภาพ  (จึงทรงพิจารณาดูชาวโลก) ...


 
ธรรม ๔ คือ เมตตา  กรุณา  มุทิตา อุเบกขา  นี้  นิยมเรียกชื่อรวมชุดว่า พรหมวิหาร  ๔  (ธรรมประจำใจอันประเสริฐ)  ท่านแสดงหลักไว้ว่า  ธรรมทั้ง ๔ มีฉันทะเป็นจุดเริ่มต้น   หรือเป็นที่ตั้งต้น  (สพฺเพสมฺปิ  จ  เอเตสํ  กตฺตุกมฺยตาฉนฺโท  อาทิ  เช่น  สงฺคณี. อ. 249)  
 
  
* พุทธคุณโดยสรุป   ท่านถือกันมาเป็นหลักว่ามี  ๒ อย่าง คือ  ๑. ปัญญา   ซึ่งให้สำเร็จพุทธภาวะ  ความเป็นอัตตนาถะ  และอัตตหิตสมบัติ   เป็นต้น  และ  ๒. กรุณา  ซึ่งให้สำเร็จพุทธกิจ  ความเป็นโลกนาถ   และปรหิตปฏิบัติ  เป็นต้น  ... ในภายหลัง  บางครั้งท่านเน้นวิสุทธิคุณ   แยกออกมาเป็นข้อหนึ่งด้วย  แต่ตามปกติก็ถือว่า  วิสุทธิคุณเนื่องอยู่ในพระปัญญาอยู่แล้ว  เพราะเป็นผลเกิดเองจากการตรัสรู้  ท่านจึงไม่แยกเป็นข้อหนึ่งต่างหาก
 
   ในคัมภีร์วชิรพุทธฎีกา ... แสดงไว้ว่า  พุทธกิจมี  ๒  อย่าง  คือ ญาณกิจ  และ กรุณากิจ  แปลง่ายๆ ว่า งานที่ทรงทำด้วยพระญาณ  และงานที่ทรงทำด้วยพระกรุณา   ปัญญาของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย  ปลอดจากอหังการมมังการ  และกรุณาก็ปราศจากเสน่หา และความโศก  ส่วนมนุษย์ปุถุชนมีกรุณา  ก็ยังเป็นกรุณาเทียม  คือยังมีเสน่หา  เป็นความรักผูกพันเยื่อใยติดในบุคคล   และมีโศก  ยามสงสารใคร  ก็ยังมีจิตใจเหี่ยวแห้งหมองเศร้า  ไม่โปร่งผ่องใส
 
   อนึ่ง  เมื่อพระพุทธศาสนาแยกออกเป็น  ๒  นิกายแล้ว  ก็ถือกันว่า  ฝ่ายเถรวาทเน้นด้านปัญญา   มหายานเน้นด้านกรุณา
 

* ในอรรถกถามีคำเทียบความนี้  เช่น  “กรุณาเวคสมุสฺสาหิตมานส”  แปลเอาความว่า (พระพุทธเจ้า)  ทรงมีพระฤทัยอุตสาหะขึ้นด้วยกำลังแห่งกรุณา ... และพึงอ้างพระบาลีแสดงความปรารภเมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงเริ่มประกาศพระศาสนาว่า  “สตฺเตสุ  จ  การุญฺญตํ  ปฏิจฺจ”  ความว่า   “พระผู้มีพระภาค"  ทรงอาศัยพระการุณยภาพ  (จึงทรงพิจารณาดูชาวโลก) ...

 




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2566
0 comments
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2566 20:33:00 น.
Counter : 130 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space