วิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมของคนเป็น "โรคเบาหวาน"
การออกกำลังกายเป็นการใช้กล้ามเนื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระดูกและข้อต่อของร่างกาย ซึ่งต้องใช้พลังงานจากสารอาหาร โดยเฉพาะน้ำตาลและไขมันเป็นสำคัญ ในการสลายสารอาหารดังกล่าวต้องอาศัยการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดเพื่อจ่ายออกซิเจน ร่วมกับระบบฮอร์โมนคือ อินซูลิน กลูคากอนและเคธิคอลามีน ดังนั้นในโรคเบาหวานซึ่งมีปัญหาของการใช้อินซูลิน ย่อมมีความบกพร่องในการออกกำลังกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีภาวะความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจร่วมด้วย ทำให้มีความจำกัดในการออกกำลังกายมากขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกันทางการแพทย์ก็พบว่า การออกกำลังกายที่เหมาะสม สามารถป้องกันและลดอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานได้ อีกทั้งช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ลดความอ้วนและเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย หลักสำคัญคือการคัดกรองผู้ป่วยและให้โปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมไม่มีอันตราย ร่วมกับการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยให้เขาใจถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ประโยชน์ของการออกกำลังกายในโรคเบาหวาน

1. เพิ่มสมรรถภาพร่างกาย ช่วยให้ร่างกายมีสัดส่วนปกติ มีความยืดหยุ่น มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ มีความทนทานของหัวใจ สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดไขมันเพราะหลังจากออกกำลังกายจะลดความอยากอาหาร และมีการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้น เป็นเวลาประมาณ 1 ชม. ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์, โคเลสเตอรอล และเพิ่มระดับ HDL โคเลสเตอรอลในเลือดได้
3. ส่งเสริมขบวนการใช้น้ำตาล โดยเพิ่มความไวของอินซูลิน เพิ่มความสามารถในการจับน้ำตาลไปใช้ให้แก่กล้ามเนื้อ
4. ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
5. ลดความดันโลหิตทั้งซิสโตลิกและไดแอสโตลิกได้ประมาณ 8-10 มม.ปรอท
6. ลดความเครียด เพิ่มคุณภาพชีวิต
7. ช่วยป้องกันโอกาสเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีความเสี่ยง: คนอ้วน

ภาวะแทรกซ้อนจากการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน

1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในผู้ที่ใช้อินซูลินชนิดฉีด มักเกิดในระหว่าง 24 ชม.หลังการออกกำลังกาย
2. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะเลือดเป็นกรด อาจเกิดในผู้ป่วย IDDM ที่ออกกำลังกายขณะมีระดับน้ำตาลสูงที่ไม่ได้ควบคุม
3. ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือมีความบกพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ
4. ภาวะแทรกซ้อนของตา
5. ภาวะแทรกซ้อนจากไตทำงานบกพร่อง อาจมีปัญหาเกลือแร่ไม่สมดุล ซีด ความดันสูง
6. ภาวะแทรกซ้อนของเท้า อาจเกิดจากการบาดเจ็บ แผลติดเชื้อได้ง่าย
7. การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ กระดูก จากการออกกำลังกายไม่เหมาะสม

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการออกกำลังกาย

ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ สามารถป้องกันได้ โดยการตรวจประเมินผู้ป่วยอย่างละเอียด ตรวจดูภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน พิจารณาว่ามีข้อห้ามของการออกกำลังกายหรือไม่ และสอนวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมปลอดภัย

1. งดออกกำลังกายในกรณีที่มีข้อห้าม ซึ่งได้แก่ภาวะต่างๆ ดังนี้
1.1 เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ระดับน้ำตาลในเลือด > 300 มก.ดล. หรือ > 250 มก.ดล. ร่วมกับภาวะคีโตซีส
1.2 ความดันโลหิตขณะพักเกิน 180/100 มม.ปรอทหรือความดันโลหิตตกขณะออกกำลังกาย เกิน 20 มม.ปรอท
1.3 มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
1.4 มีอาการเจ็บหน้าอกหรือมีภาวะหัวใจขาดเลือดที่ควบคุมไม่ได้
1.5 ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน อักเสบ
1.6 ภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน
1.7 มีปัญหาโรคกระดูกและข้อที่เป็นอุปสรรคในการออกกำลังกาย

2. มาตรการป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
2.1 ประกอบกิจวัตรประจำวัน ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ให้มีความสม่ำเสมอ
2.2 ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยๆ ขณะเริ่มออกกำลังกาย หรือเมื่อเปลี่ยนแปลงเพิ่มความหนักของกิจกรรม
2.3 หากตรวจพบระดับน้ำตาลก่อนออกกำลังกายต่ำกว่า 100 มก.ดล. ให้รับประทานอาหารพวกแป้ง น้ำตาล ก่อน ระหว่างออกกำลังกาย 10-15 กรัมทุก 30 นาที
2.4 ไม่ฉีดอินซูลินบริเวณที่จะออกกำลังกาย
2.5 หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงที่อินซูลินออกฤทธิ์สูงสุด
2.6 มีความรู้เกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และวิธีแก้ไข
2.7 ออกกำลังกายเป็นกลุ่มหรือมีเพื่อนร่วมออกกำลัง มีบัตรแจ้งโรคประจำตัว

3. วิธีออกกำลังกายที่ถูกต้อง
ชุด : สวมสบาย ระบายเหงื่อได้ดี ไม่หนาหรือบางเกินไป ถุงเท้าหนาพอสมควร
รองเท้า : พื้นหนาช่วยรับแรงกระแทก ด้านหัวรองเท้ากว้าง สูง สามารถปรับได้ไม่บีบเท้า
ชนิด : แอโรบิก เคลื่อนไหวแขน ขาเป็นจังหวะต่อเนื่อง ไม่มีแรงกระแทก เช่น เดิน ถีบจักรยานอยู่กับที่ ว่ายน้ำ เดินในน้ำ
หลีกเลี่ยง : การออกกำลังกายที่ใช้แรงเกร็งมาก ไม่กลั้นหายใจขณะออกแรง การออกกำลัง หรือกีฬาที่มีแรงกระแทก
ความหนัก : เบา-ปานกลาง เหนื่อยเล็กน้อย ให้ชีพจรขณะออกกำลังกาย = ชีพจรขณะพัก + 15 หรือ 20 ครั้ง/นาที หรือ = 50-60% HRmax ชีพจรสูงสุด = 220 - อายุ
ความถี่ : 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์
สถานที่ : พื้นเรียบ อากาศถ่ายเท ไม่ร้อนจัด เย็นจัด
น้ำดื่ม : ดื่มน้ำเป็นระยะ เพราะผู้ป่วยอาจมีภาวะขาดน้ำโดยไม่รู้สึกกระหาย
น้ำหวาน ลูกอม เผื่อกรณีน้ำตาลในเลือดต่ำ

*** หลังออกกำลังกาย ตรวจดูเท้าทุกครั้ง



ที่มาthaiza.com



Create Date : 30 มีนาคม 2554
Last Update : 30 มีนาคม 2554 17:57:59 น.
Counter : 910 Pageviews.

0 comments

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
มีนาคม 2554

 
 
1
2
4
5
6
8
9
10
11
12
13
15
19
20
22
23
26
27
29
 
 
All Blog