Group Blog
 
 
มีนาคม 2562
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
19 มีนาคม 2562
 
All Blogs
 

Tech Support




     โค้งสุดท้ายของการยื่นแบบชำระภาษี ประจำปีภาษี 2561  กำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นเดือน มีนาคม 2562 (ยื่นแบบกระดาษ) แต่สำหรับการยื่นแบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตนั้น สามารถทำได้จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2562  กันเลยทีเดียว  Newsletter ฉบับนี้เลยจะพาไปทำความรู้จักกับวิธีการยื่นแบบชำระภาษีออนไลน์กันค่ะ สำหรับเพื่อนๆที่ยังกล้าๆกลัวๆ ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มอย่างไร และมีวิธีการอย่างไรบ้าง รับรองเลยค่ะว่าง่ายยยยมากกก (ก.ไก่ล้านตัว) ตามมากันเล้ยยยยย

     ก่อนที่เราจะเริ่มลงมือทำการยื่นภาษีออนไลน์ สิ่งแรกที่เราต้องเตรียมให้พร้อมก็คือเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งต้องเตรียมก่อนการยื่นภาษี มีดังนี้
  1. หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง เป็นเอกสารที่ระบุว่าปีนั้นมีรายได้รวมเท่าไหร่ มีการหักชำระกองทุน หรือเงินทุนสำรองต่างๆ
  2. รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี ได้แก่ ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา, บุตร หรืออุปการะคนพิการ
  3. เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อนำมาใช้ในการกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี เช่น จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน LTF/RMF, เบี้ยประกันชีวิต, ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการ

     เมื่อเตรียมเอกสารพร้อมแล้ว ก็เริ่มลงมือยื่นออนไลน์กันได้เลย โดยให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่  https://www.rd.go.th   ซึ่งบราวเซอร์ที่รองรับได้แก่
     - Internet Explorer version 8, 9, 10, 11
     - Google Chrome
     - Firefox
     - Safari
     
     ก็จะเจอหน้าเว็บของกรมสรรพากร ดังนี้  ให้คลิกไปที่ ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91

 
 
     ก็จะมาเจอหน้า Login เพื่อให้กรอกหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่าน  หากได้เคยยื่นออนไลน์มาแล้วก็สามารถกรอกข้อมูลลงไปได้เลย แต่หากยังไม่เคยยื่นออนไลน์มาก่อนต้องทำการลงทะเบียนกับกรมสรรพากรเสียก่อน โดยคลิกที่ ลงทะเบียนที่นี่ (ตัวอักษรสีแดง)  หรือหากเคยลงทะเบียนไว้แล้วแต่ลืมรหัสผ่าน ก็สามารถไปขอรหัสผ่านใหม่ ได้เช่นเดียวกัน โดยคลิกที่ ลืมรหัสผ่าน
 
     
     ในส่วนของการลงทะเบียนเพื่อสามารถยื่นแบบออนไลน์ได้นั้น เมื่อคลิกลงทะเบียนที่นี่ จะเจอหน้าจอเพื่อเลือกประเภทการลงทะเบียน ให้คลิกที่ บุคคลธรรมดา -> สัญชาติไทย

 

 
จะเจอหน้าจอเพื่อให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ลงไป (ให้กรอกข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งจะมีเครื่องหมายดอกจัน * อยู่ด้านหลังให้ครบถ้วน)
 

     ให้เลือกทำรายการต่อไปเรื่อยๆ เพื่อทำการตั้งรหัสผ่านและตั้งคำถามเพื่อใช้ในกรณียืนยันตัวตนเมื่อลืมรหัสผ่าน จนทำการยืนยันการลงทะเบียนเสร็จสิ้น เพื่อนๆ ก็จะได้รหัสผ่านสำหรับการยื่นแบบออนไลน์มาแล้ว อย่าลืมจดไว้ด้วยนะคะ กันลืม เพราะเรายื่นแค่ปีละครั้ง พอปีหน้าต้องยื่นใหม่ลืมแน่ๆ เลยค่ะ แอดเจอมาแล้ว ตอนนี้เราก็มีหมายเลขผู้ใช้งานและรหัสผ่านเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มทำการยื่นแบบได้เลยค่ะ

     เมื่อเข้าระบบมาแล้วจะเจอหน้าจอแบบแสดงรายละเอียดในส่วนของข้อมูลผู้มีเงินได้ ให้ตรวจสอบข้อมูลผู้มีเงินได้ที่ปรากฎ ว่าถูกต้องและเป็นปัจจุบัน หากข้อมูลไม่ถูกต้องก็สามารถเปลี่ยนข้อมูลได้ โดยกดที่ปุ่มด้านล่างว่าต้องการแก้ไขชื่อ-ชื่อสกุลของผู้มีเงินได้ หรือ ต้องการแก้ไขที่อยู่ เสร็จแล้วกดปุ่มทำรายการต่อไป

 

     ระบบจะแสดงหน้าจอข้อความแจ้งเตือนให้ตรวจสอบข้อมูล ชื่อ/ชื่อสกุล/ที่อยู่ให้ถูกต้อง เนื่องจากหากเลือกทำรายการต่อไปแล้วจะไม่สามารถกลับมาหน้านี้ได้อีก
 

เข้าสู่หน้าจอการกรอกข้อมูลการยื่นแบบ จะมี 6 หน้า ดังนี้
     1. หน้าหลัก
     2. เลือกเงินได้/ลดหย่อน
     3. บันทึกเงินได้
     4. บันทึกลดหย่อน
     5. คำนวณภาษี
     6. ยืนยันการยื่นแบบ
     โดยจะต้องกรอกข้อมูลเรียงลำดับตามแต่ละหน้าไปจนถึงหน้ายืนยันการยื่นแบบ แต่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขข้อมูลในหน้าหัวข้อต่างๆ ได้



1. หน้าหลัก
 

ระบบจะแสดงหน้าจอรายละเอียดของผู้มีเงินได้ ดังนี้
     - ผู้มีเงินได้
     - สถานภาพของผู้มีเงินได้
     - สถานะการยื่นแบบ
     - คู่สมรส
     - ข้อมูลการมีเงินได้และสถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรส


2. เลือกเงินได้/ลดหย่อน   
 
 
แสดงข้อมูลดังนี้
     - เลือกรายการเงินได้พึงประเมิน
     - เลือกเงินได้ที่ได้รับยกเว้น/ค่าลดหย่อน


* สามารถอ่านคำอธิบายแต่ละรายการได้ เมื่อกดที่เครื่องหมาย  
 


3.  บันทึกเงินได้
 

     - ระบบจะแสดงข้อมูลตามประเภทเงินได้พึงประเมินที่เลือกไว้ในขั้นตอนที่ 5.2 สามารถย้อนกลับไป เพิ่ม/ลด ประเภทเงินได้ โดยเลือกที่ 
     - เลือกประเภทเงินได้ "จำนวนเงินได้ทั้งหมด" ระบบจะคำนวณอัตราร้อยละที่ใช้หักค่าใช้จ่ายให้อัตโนมัติ หรือเปลี่ยนเลือกเป็นหักค่าใช้จ่ายจริงได้
     - บันทึกข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งหมด (ในกรณีไม่มี ให้ใส่เป็น 0.00) และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้


4.  บันทึกลดหย่อน
 

   
     - รายการลดหย่อนและยกเว้นจะปรากฎตามที่เลือกไว้ในหัวข้อ 5.2  ส่วน "เลือกเงินได้ที่ได้รับยกเว้น/ค่าลดลหย่อน" ในกรณีที่ไม่เลือกก็จะไม่ปรากฎ สามารถย้อนกลับไปเพิ่ม/ลด รายการลดหย่อน โดยเลือกที่ 
 
      - สามารถบันทึกจำนวนเงินที่ได้รับการลดหย่อนและการยกเว้นภาษีได้ไม่เกินเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด ถ้าบันทึกจำนวนเงินเกินเกณฑ์จะขึ้นข้อความปฎิเสธแจ้งเตือน
 


5.  คำนวณภาษี

     ระบบจะสรุปข้อมูลการคำนวณภาษี และเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสามารถกรอกในส่วนการคำนวณภาษีได้ ดังนี้ (ในกรณีไม่มี ให้ใส่เป็น 0.00)
     - เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/การกีฬา
     - เงินบริจาค
     - ภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์

 



6.  ยืนยันการยื่นแบบ

     - ระบบจะแสดงหน้าแบบรายการภาษี ภ.ง.ด. 90/91  ให้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้บันทึก และจำนวนเงินที่ต้องชำระภาษี กรณีไม่มีภาษีชำระจะแสดงเป็น 0.00 บาท
     - เลือก "ยืนยันการยื่นแบบ"  จะสิ้นสุดการบันทึกแบบแสดงรายการภาษี

 

     กรณีที่ผู้มีเงินได้มีภาษีชำระไว้เกิน ระบบจะปรากฎส่วนคำร้องขอคืนภาษี ดังนี้
     - มีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี
     - ไม่มีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี

     หากเลือก "มีความประสงค์จะขอคืนเงินภาษี" ระบบจะแสดงข้อความให้แจ้งผลการคืนเงินภาษีผ่านระบบ SMS โดยให้ระบุเบอร์โทรศัพท์แล้วตกลง เลือกทำรายการต่อไป ระบบจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป

 


ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน เลือก "ยืนยันการยื่นแบบ"
 

ระบบจะแสดงผลการยื่นแบบ สามารถเลือก "พิมพ์แบบ"
 



กรณีที่ผู้มีเงินได้มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม
     
     การผ่อนชำระจำนวนเงินภาษีตั้งแต่ 3,000 บาท ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอผ่อนชำระภาษีเป็น 3 งวด งวดละเท่าๆกัน โดยสามารถเลือกในส่วน "ประสงค์ หรือ ไม่ประสงค์"
 
     
     หากเลือก"ประสงค์" ระบบจะแสดง "ข้อตกลงการขอชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมเป็นงวด ผ่านระบบการยื่นแบบชำระภาษีทางอินเตอร์เน็ต" เลือก "ยอมรับ" ระบบจะแสดงรายละเอียดจำนวนเงินการขอผ่อนชำระภาษีของผู้มีเงินได้ ทั้ง 3 งวด พร้อมกับระบุ วัน/เดือน/ปี ที่สิ้นสุดในการชำระแต่ละงวด

 

     
     เลือก "ทำรายการต่อไป" จะเข้าสู่หน้าจอ "ยืนยันการยื่นแบบ" ระบบจะแสดงจำนวนเงินภาษีที่ชำระเพิ่มเติม และ จำนวนเงินภาษีที่ชำระพร้อมแบบ (งวดที่ 1) เลือก "ยืนยันการยื่นแบบ"


ระบบจะเข้าสู่ขั้นตอนการยืนยันชำระภาษี

 



     กรมสรรพากรให้บริการช่องทางการชำระภาษี ได้แก่
     1.  ชำระแบบเชื่อมต่อเว็บไซต์ (ระบบชำระเงิน) ของธนาคารโดยตรง
          - E-Payment (ตัดเงินแบบ Online Real Time)
          - ATM บนอินเตอร์เน็ต
          - บัตรเครดิตบนอินเตอร์เน็ต

     2.  ชำระภาษีด้วยชุดชำระเงิน (Pay-in Slip)  แสดงข้อมูลสำคัญใช้ชำระภาษี ได้แก่ ชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน รหัสควบคุม จำนวนเงินภาษี มีช่องทางที่เปิดให้บริการ ดังนี้
          - ตู้ ATM ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
          - Internet Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
          - Counter Service (ต้องนำชุดชำระเงินไปชำระ)
             - ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
             - 7-Eleven
             - เทสโก้ โลตัส
             - ที่ทำการไปรษณีย์
          - สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (ต้องนำชุดชำระเงินไปชำระ)
          - Tele Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
          - Phone Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
          - Mobile Banking ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

     3. เลือกยังไม่ชำระภาษี (กรณีมีภาษีต้องชำระแต่ยังไม่เลือกช่องทางการชำระเงิน)

     4. เลือกพิมพ์ เมื่อต้องการพิมพ์แบบแสดงรายการ




พิมพ์แบบฯ และ ใบเสร็จรับเงิน ภ.ง.ด.90/91 ได้ทันทีกรณีที่ไม่มีภาษีชำระหรือขอคืนภาษี และกรณีมีภาษีชำระเพิ่มเติม พิมพ์แบบฯ และใบเสร็จรับเงิน ภ.ง.ด.90/91  ได้หลังจากได้ยื่นแบบฯ และชำระภาษีแล้ว 2 วันทำการ ที่หน้าเมนู พิมพ์แบบฯใบเสร็จ ภ.ง.ด.(90/91) (94)


หวังว่าคราวนี้เพื่อนๆ คงจะยื่นชำระภาษีออนไลน์กันเป็นแล้วนะคะ ลองทำดูค่ะ ไม่ยากและสะดวกสบาย ได้เงินภาษีคืนรวดเร็วด้วย (ถ้าเราเปิดบัญชีพร้อมเพย์แบบใช้รหัสประจำตัวประชาชนไว้ด้วย)  หัวข้อถัดไปเราลองไปดูวิธีตรวจสอบการคืนเงินภาษีกันค่ะ ว่าต้องทำอย่างไรกันบ้าง ว่าแล้วก็ไปต่อกันเลยค่ะ




 

Create Date : 19 มีนาคม 2562
0 comments
Last Update : 25 มีนาคม 2562 13:25:38 น.
Counter : 1988 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สมาชิกหมายเลข 2436574
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 2436574's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.