Group Blog
 
 
เมษายน 2560
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
29 เมษายน 2560
 
All Blogs
 

Tech Support










โรคที่มากับคอมพิวเตอร์


โรคที่มากับคอมพิวเตอร์ในที่นี้ไม่ใช่ “ไวรัสคอมพิวเตอร์” หรือ  “โปรแกรมตัวหนอน” ที่บ่อนทำลายข้อมูลในคอมพิวเตอร์ แต่หมายถึง ความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ด้วยในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันไปแล้ว ทั้งด้านการทำงานที่ใช้งานเกือบทุกอย่างสารพัด ทั้งใช้เพื่อความเพลิดเพลินใช้เพื่อการศึกษา สืบค้นข้อมูลและการติดต่อสื่อสารต่าง ๆ  ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า คอมพิวเตอร์จะมีบทบาทยิ่งในชีวิตประจำวัน จนแทบจะแยกจากกันไม่ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งใดที่มีคุณประโยชน์ ก็ย่อมต้องมีโทษได้เช่นกัน เนื่องจากคอมพิวเตอร์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ให้ทั้งคุณและโทษ ได้


กลุ่มคนทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก  บางคนอยู่หน้าคอมพิวเตอร์มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันด้วยซ้ำ และส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย ตัวอย่างเช่น คอ หลัง สมอง ไหล่ รวมทั้งสายตา โดยส่วนมากผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์เองจะไม่ค่อยรู้ตัวว่ามีความผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งโรคภัยที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ในที่นี้จะสรุปลักษณะอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ได้ดังนี้


1. โรคเกี่ยวกับสายตา (Computer Vision Syndrome)



ลักษณะการใช้คอมพิวเตอร์ของเรา ถูกออกแบบมาให้ต้องนั่งอยู่หน้าจอมอนิเตอร์ที่มีขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง โดยมีข้อกำหนดในเรื่องระยะห่างประมาณ 1-2 ฟุต เมื่อต้องจ้องหน้าจอดูข้อมูลเป็นเวลานาน ส่วนของนัยน์ตาอย่างน้อย 2 ส่วนคือ กล้ามเนื้อตาที่จะต้องคอยหดตัว เกร็งตัว เพื่อปรับเลนส์ตาให้มีความหนาที่เหมาะสม เพียงพอให้แสงจากจอไปตกบนฉากรับภาพด้านหลังของตาที่เรียกว่าเรตินา ทำให้เกิดภาพคมชัด ซึ่งหากมองจอมอนิเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ กล้ามเนื้อตาจะต้องทำงานหนัก จนทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการล้าได้ เมื่อใช้สายตานานวันเข้าก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของสายตาได้ทั้งสายตาสั้นหรือสายตายาว


          อาการเริ่มต้นคือตาแห้ง แสบตา เคืองตา ปวดตา ตาพร่า เกิดภาพเบลอหรือภาพซ้อน ปวดศีรษะ เมื่อมีอาการมากๆ จึงจะมาพบแพทย์ ซึ่งการจะระบุว่าผู้ป่วยเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมหรือไม่นั้น แพทย์จะต้องวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด  เราสามารถปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อลดอาการได้ เช่น ปรับทิศทางการเป่าของแอร์หรือพัดลม โดยไม่ให้เป่าโดนตา หรือตรวจสอบว่าความชื้นในห้องเป็นอย่างไร ถ้าเราปรับสิ่งเหล่านี้แล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องให้การรักษาโดยการใช้น้ำตาเทียม


นอกจากโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมแล้ว ก็ยังมีโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสายตาอีกเช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อหิน โรควุ้นในลูกตาเสื่อม  ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการต่างๆ เราควรหาวิธีป้องกัน ดังต่อไปนี้


วิธีป้องกัน
1. จัดตำแหน่งการนั่งทำงานให้เหมาะสม แสงสว่างเพียงพอ ไม่มีแสงจากหน้าต่างส่องเข้าตาโดยตรง โต๊ะ เก้าอี้ สูงพอเหมาะ จัดระดับของจอภาพให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 10-20 องศา
2. ควรมีการหยุดพักสายตาเป็นระยะ ทุกๆ 20-30 นาที   โดยมองไปบริเวณพื้นที่กว้างหรือนอกหน้าต่าง เพื่อลดการเพ่งของสายตาประมาณครึ่งถึงหนึ่งนาที
3. กระพริบตาประมาณ 10-15 ครั้งต่อนาที  หรือให้หลับตา 3-5 วินาที บ่อยๆ เพื่อให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตามาฉาบ ให้ความชุ่มชื่นต่อลูกตา หรืออาจใช้น้ำตาเทียมหยอดหล่อเลี้ยงลูกตาในรายที่มีอาการตาแห้งมากๆ
4. การใส่แว่น จะช่วยผู้ที่อาจมีปัญหาเรื่องของสายตา ให้ปวดเมื่อยล้าตาง่าย เช่น คนสายตาเอียง หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีปัญหาเวลามองใกล้


2. โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)

อวัยวะอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นถืออวัยวะหลักที่จะคอยกด คลิก เลื่อน พิมพ์งาน นั่นก็คือมือของเราเอง ซึ่งหากใช้มือในการพิมพ์งานมากๆ ก็อาจจะเกิดอาการเมื่อยนิ้วมือได้ แต่การใช้งานคอมพิวเตอร์มีอีก 2 ลักษณะที่อาจจะเป็นปัญหาจากการใช้งานได้ นั่นคือข้อมือข้างที่ถนัดที่มักใช้เม้าส์ มีการขยับข้อมือมากจนบางครั้งเกิดการอักเสบของพังผืดบริเวณข้อมือทำให้มีอาการบวมไปกดเส้นประสาทที่วิ่งผ่านใต้พังผืดบริเวณของข้อจนเกิดอาการชานิ้วหรือฝ่ามือได้ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Carpal tunnelsyndrome

อาการ

1. ปวด ชาบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือจะมีอาการข้างเคียงหรือทั้ง 2 ข้างมักจะมีอาการเด่นชัดในมือข้างที่ถนัด โดยเฉพาะนิ้วโป้ง ชี้ กลางและนิ้วนางครึ่งนิ้ว (ดังรูป)
2. อาการอ่อนแรงของมือ และนิ้วมือ เช่น กำมือได้ไม่แน่น หยิบจับของแล้วหล่นง่ายถ้าไม่รีบรักษา จะสังเกต เห็นกล้ามเนื้อในมือฝ่อลีบ บางครั้งอาจพบว่ามีอาการมากขึ้นในตอนกลางคืนบางครั้งผู้ป่วยอาจตื่นขึ้นมาเนื่องจากอาการปวดแต่เมื่อสะบัดข้อมือ แล้วมีอาการดีขึ้น
3. เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย
4. อายุที่พบบ่อยคือประมาณ 35-40 ปี
5. ผู้ที่มีข้อมือค่อนข้างกลม
6. สตรีอาจมีอาการขณะตั้งครรภ์
7. ผู้ที่ใช้ข้อมือกระดกขึ้นลงบ่อยๆ หรือทำงานที่มีการสั่นสะเทือนของมือและแขนอยู่เป็นเวลานาน ตังนั้นจะพบโรคนี้ได้บ่อยในกลุ่มแม่บ้านที่ทำกับข้าวซักผ้า พนักงานโรงงาน พนักงานขุด เจาะถนน1
8. กระดูกหักหรือเคลื่อนบริเวณข้อมือ
9. ข้ออักเสบรูมาตอยด์
10. โรคเบาหวาน โรคธัยรอยด์


การรักษา

รักษาทางกายภาพบำบัดโดยการประคบร้อน, กดนวดบริเวณผังผืดที่กดทับเส้นประสาท,การยืดเส้นประสาทหรือใช้การรำไทยมาใช้เพื่อให้เส้นประสาทแขนมีความยืดหยุ่น,การขยับกระดูกข้อมือเพื่อให้ทางเดินของเส้นประสาทดีขึ้น,การใช้เครื่องมือทางกายภาพเพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาทและคลายพังผืดที่รัดบริเวณข้อมือร่วมกับการออกกำลังกาย


3. โรคกระเพาะอาหาร (Gastritis)


โรคกระเพาะอาหารอาจสงสัยว่าการใช้งานคอมพิวเตอร์มีความเกี่ยวข้องกับโรคกระเพาะอาหารได้อย่างไรต้องอธิบายว่า เพราะในปัจจุบันมีการใช้งานคอมพิวเตอร์กันมาก โดยเฉพาะในส่วนของอินเตอร์เน็ตซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายแทบทุกเครื่องต้องมีการใช้งานซึ่งประโยชน์ของการใช้งานก็จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารและใช้ติดต่อสื่อสารกันอย่างกว้างขวางเสมือนเป็นการย่อโลกลงมา แต่ในขณะเดียวกัน การใช้อินเตอร์เน็ตก็มักจะทำให้ผู้ใช้เพลิดเพลินจนเลยเวลารับประทานอาหารจึงทำให้รับประทานอาหารไม่ตรงเวลาจนทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและเกิดอาหารปวดท้องจากโรคกระเพาะได้

วิธีป้องกัน 

ไม่อยากปวดท้องโรคกระเพาะ หรือไม่อยากกลับมาเป็นอีก ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันตามนี้้เลย
-  รับประทานอาหารจำนวนน้อย ๆ แต่ให้บ่อยมื้อ ไม่ควรรับประทานจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
-  ทานอาหารให้ตรงเวลา หากหิวก่อนเวลาให้ดื่มน้ำ
-  หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม กาแฟ ของทอด ของมัน และของขบเคี้ยว เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากกว่าปกติ 
-  งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะมีส่วนกระตุ้นให้กรดในกระเพาะหลั่งออกมา 
-  งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยารักษาโรคข้อกระดูกอักเสบทุกชนิด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์

-  อย่าเครียด ให้หาวิธีผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ

- อย่านอนดึก  พอยิ่งดึกเราก็จะยิ่งหิว เพราะกรดถูกหลั่งออกมาในท้องมากเกินไป ดังนั้น ถ้าหิวเมื่อไรก็ให้เข้านอนไปเลย อย่าทานอาหาร

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเลือกการเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เพื่อขจัดความเครียด และยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงด้วย


4. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)


นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นได้กับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับคนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ เป็นเหตุให้ไม่ค่อยจะลุกขึ้นไปทำการปัสสาวะ โดยเฉพาะในผู้หญิงการกลั้นปัสสาวะไว้นานๆ จะทำให้มีโอกาสให้เชื้อโรคบริเวณปากช่องคลอดเข้าไปในท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย เวลาปัสสาวะจะมีอาการแสบขัด บางรายถึงกับลุกลามเป็นกรวยไตอักเสบ มีไข้ ปวดหลัง ดังนั้นระหว่างใช้คอมพิวเตอร์ หากปวดปัสสาวะควรเข้าห้องน้ำทันที

การป้องกัน

-  ดื่มน้ำสะอาดมากๆอย่างน้อย 8 - 10 แก้วต่อวันเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม

-  ไม่กลั้นปัสสาวะนาน

-  พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ

- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรงและลดเชื้อแพร่ไปสู่ผู้อื่น



5.   โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)



ปัญหาการนอนไม่หลับจากการใช้คอมพิวเตอร์ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายคนเป็นอยู่แต่อาจจะไม่รู้ตัวมีการวิจัยแล้วพบว่าความสว่างของหน้าจอมีผลต่อการนอนไม่หลับ จริงๆแล้วไม่ใช่แค่การใช้คอมพิวเตอร์ แต่รวมถึงการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่างๆ ด้วย

เมลาโทนิน (Melatonin) คือฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการนอนหลับและเวลาตื่นของมนุษย์จากการศึกษาของนักวิจัยพบว่าการที่เราสัมผัสกับแสงของหน้าจอคอมพิวเตอร์/โทรศัพท์ต่างๆทำให้จำนวนของเมลาโทนินลดลงนอกจากนี้การใช้คอมพิวเตอร์ในช่วงกลางคืนยังทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวและยังทำให้นาฬิกาชีวิตเปลี่ยนแปลงด้วย นี่คือสาเหตุที่ทำให้เรานอนไม่หลับนั่นเอง


วิธีป้องกัน

- ตั้งเวลาเข้านอนให้เป็นกิจวัตร หากิจกรรมที่ช่วยให้คุณสงบจิตใจก่อนเข้านอนและทำตามตารางการตื่นนอน/เข้านอนอย่างเคร่งครัด ห้ามละเลยโดยเด็ดขาดแม้กระทั่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

- ออกกำลังกายยามเช้า การศึกษาพบว่า การออกกำลังกายอย่างพอประมาณจะช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ ควรออกกำลังกายก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายมีเวลาได้พักก่อนเข้านอน

ออกไปสูดอากาศข้างนอกบ้าง เนื่องจากแสงแดดจะช่วยปรับสมดุลให้กับเมลาโทนินซึ่งจะทำให้คุณนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

-  ปิดหน้าจอทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นจอโทรทัศน์, โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เนื่องจากแสงสีฟ้าบนหน้าจออุปกรณ์เหล่านี้จะรบกวนการนอนหลับของคุณ





6.  อาการปวดหลัง (Back Pain)



หลายคนนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ จะรู้สึกปวดหลังทั้งหลังส่วนบนและหลังส่วนล่าง ทั้งนี้เนื่องจากการนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานานโดยไม่ได้ขยับเปลี่ยนท่า กล้ามเนื้อหลังตั้งแต่ บ่า สะบัก และกล้ามเนื้อ 2 ข้าง ของกระดูกสันหลังจะต้องมีการหดเกร็งตัวเพื่อรักษาร่างกายให้อยู่ในท่าเดิมตลอดเวลาซึ่งเราสามารถแก้ไขได้โดย พยายามเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆในระหว่างทำงานกับคอมพิวเตอร์


วิธีที่ควรปฏิบัติในการทำงานเพื่อแก้อาการปวดหลัง

  1. การเลือกขนาดของโต๊ะ เก้าอี้ให้เหมาะสมพอดีกับสรีระ
  2. ไม่ควรใช้เก้าอี้สปริงที่เอนได้ เพราะไม่มีการรองรับหลังเท่าที่ควร ควรเลือกเก้าอี้ที่เอนได้และมีความสูงของเก้าอี้และโต๊ะได้ระดับและมีหมอน หนุนหลัง
  3. คอมพิวเตอร์ที่ใช้ต้องปรับให้จออยู่ในระดับสายตา คือกึ่งกลางของจออยู่ระดับสายตา การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ด ควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ จะได้ไม่ต้องยกแขนขึ้นมาพิมพ์
  4. ใช้เมาส์ ควรเป็นแทรกกิ้งบอล หรือไร้สาย ที่นำมาใกล้ตัวได้ ใช้ถนัดไม่ต้องยื่นแขน
  5. ไม่ควรนั่งหน้าจอเป็นเวลานานๆ ควรพักทุก 45 นาทีเพื่อพักผ่อนอิริยาบถและควรนั่งให้ตรงกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะได้ไม่ต้องบิดตัวไปมา
  6. ควรนั่งเก้าอี้ให้เต็มก้น
  7. ควรบริหารร่างกายอยู่สม่ำเสมอ ท่าง่ายๆ นอกจากเดินไปมาคือการบีบคอ ยืดกล้ามเนื้อคอ เอียงไปซ้ายและขวา ก้มหน้าเงยหน้า โดยแต่ละท่าค้างไว้ 10 วินาที ต่อมาเป็นการยืดกล้ามเนื้อหลังโดยการก้มตัว หน้าอกประชิดหัวเข่า การยืดและคลายกล้ามเนื้อควรทำช้าๆ และค้างไว้ 10 วินาทีเช่นกัน เพื่อให้กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นยืดตัว ถ้าก้มแรงๆ หรือกระแทกแรงๆ จะทำกล้ามเนื้อฉีกขาดหรือบาดเจ็บได้


7.  ขาดการออกกำลังกาย


การใช้งานคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นประจำจนติด เช่นติดการใช้อินเตอร์เน็ต ติดเกมคอมพิวเตอร์ ทำให้ใช้เวลาในแต่ละวันนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์หลายๆชั่วโมงจนบางครั้งไม่มีเวลาหรือไม่มีความคิดที่จะออกกำลังกายการขาดการออกกำลังกายทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อในร่างกายขาดการฝึกฝนใช้งานทำให้กล้ามเนื้อหดลีบขาดความคล่องตัว ดังที่มีคนทำนายไว้ว่ามนุษย์ในอนาคตจะมีลักษณะหัวโตเพราะใช้สมองมากแต่ตัวลีบเพราะขาดการออกกำลังกายจะมีแต่นิ้วที่ยาวแต่แข็งแรงไม่มากเพราะใช้แต่คอมพิวเตอร์ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะอ่อนแอลงทำให้เชื้อโรคติดได้ง่าย เป็นหวัดเจ็บคอบ่อยๆจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ เพราะนั่งใช้คอมพิวเตอร์อยู่แต่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศเกือบตลอดเวลาไม่ค่อยออกไปสัมผัสกับแสงแดดและอากาศบริสุทธิ์

ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างของโรคที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์และจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันที่คนจำนวนไม่น้อยทำในแต่ละวันโรคที่มากับการใช้คอมพิวเตอร์ก็จะเป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นตามไปด้วยแต่ส่วนมากเป็นโรคหรือภาวะที่หลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้เมื่อทราบและมีการปฎิบัติที่ถูกต้องจึงควรหันมาใส่ใจตนเองให้มากขึ้นเมื่อต้องมีการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน





 

Create Date : 29 เมษายน 2560
0 comments
Last Update : 5 พฤษภาคม 2560 14:20:07 น.
Counter : 2402 Pageviews.


สมาชิกหมายเลข 2436574
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 2436574's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.