Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2564
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
21 กรกฏาคม 2564
 
All Blogs
 

Tech Support




 

     ทุกวันนี้ระบบดิจิทัลหรือระบบเครือข่ายออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว มีหลากหลายช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มีแพลตฟอร์มมากมายให้เลือกใช้ โดยแต่ละช่องทางที่เราใช้งาน ก็จะมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเราก่อนเข้าใช้งานด้วย เช่น ชื่อ นามสกุล , Email , เบอร์โทรศัพท์, ที่อยู่ หรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ตามแต่ที่เจ้าของ ช่องทางเรียกขอข้อมูล

       การที่เราจะให้ข้อมูลส่วนบุคคลใครไป ย่อมพิจารณาว่าให้ใครไปและให้เพราะอะไร? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะสั่งซื้อของออนไลน์ เราก็ยินยอมที่จะให้ข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ในการติดต่อ เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการส่งสินค้ามาให้เรา ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเข้าใจได้และยินยอมที่จะให้ไปเพื่อส่งสินค้ามายังเรา  หรือว่า ข้อมูลส่วนบุคคลที่เราให้ต่อบริษัทเพื่อสมัครเข้าทำงาน

       แต่เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าข้อมูลที่เราให้ไปนั้น จะใช้เพื่อวัตถุประสงค์นั้นจริงๆ และไม่นำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้เพื่อผลประโยชน์อื่นใด ที่นอกเหนือความยินยอมของเรา



ความเป็นมา

     เมื่อปี 2561 ในประเทศภาคพื้นยุโรป มีการประกาศกฎหมายตัวหนึ่งเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เรียกว่า General Data Protection Regulation หรือที่มักได้ยินในนาม GDPR 

     กฎหมายฉบับดังกล่าว ได้เข้ามากำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และมาตรการลงโทษ หากมีผู้ใดล่วงละเมิดเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งมาตรการลงโทษค่อนข้างเข้ม ในต่างประเทศเลยมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับกฎหมายที่ประกาศใช้ หลังจากนี้.. ข้อมูลส่วนบุคคล ได้รับความคุ้มครอง ไม่ให้ถูกนำไปใช้หรือเปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอม

    แม้กฎหมายดังกล่าว จะใช้ในภาคพื้นยุโรป แต่เมื่อโลกในยุคปัจจุบัน ไร้ซึ่งพรมแดน ประเทศต่าง ๆ ก็เลยต้องมีการปรับตัว และออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อคุ้มครองประชาชน และเพื่อให้สอดคล้องกับ GDPR ด้วย รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน


 
 


 

PDPA คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562

 

       PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต โดยกฎหมาย PDPA Thailand (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และปัจจุบันได้ถูกเลื่อนให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565


     PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่จะบังคับใช้ในประเทศไทยนี้ จะมีบทบาทในการคุ้มครองและให้สิทธิที่เราควรมีต่อข้อมูลส่วนบุคคลของเราเองได้ รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานของบุคคลหรือนิติบุคคล ในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล, รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล, ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล หรือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลก็ตาม ซึ่งล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่จะต้องปฏิบัติตาม  หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามย่อมมีบทลงโทษตามกฎหมายตามมา ซึ่งบทลงโทษของ PDPA สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนั้น มีทั้งโทษทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครองด้วย
 

     ดังนั้น PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ ก็นับว่าเป็นกฎหมายที่เราทุกคนควรทราบและตระหนักรู้ถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กร บริษัท ห้างร้าน หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ใช้งาน หรือจะเป็นพนักงานที่ทำงานภายในองค์กรเองก็ตาม   
 

     องค์กรต่าง ๆ จึงได้รับผลกระทบพอสมควรกับการประกาศใช้ PDPA เพื่อเพิ่มมาตรฐานนโยบายการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัยและนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยิมยอนที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ให้ไว้ และที่สำคัญต้องสอดคล้องต่อ PDPA ด้วย ทำให้กระบวนการทำ PDPA ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสักทีเดียว ที่เราจะทำได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลและมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เป็นจำนวนมาก
 

       แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ก็ยังมีเวลาเพียงพอที่จะเริ่มดำเนินการกับข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับ PDPA ภายในระยะเวลาที่เหลืออีก 1 ปี (บทความเขียนเมื่อปี 64) เพราะกฎหมายฉบับนี้อย่างไรก็จะมีมาบังคับใช้ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลอย่างแน่นอน จึงควรเริ่มทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ไว้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะอาจตามมาทางด้านกฎหมาย ซึ่งจะมีผลเสียหายต่อองค์กร หากวันใดวันหนึ่งเกิดมีข้อมูลรั่วไหล หรือเผลอนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้อย่างไม่ถูกต้องแล้ว บุคคลหรือองค์กรที่ไม่ได้ดำเนินการตาม PDPA ไว้ ย่อมเสียหายร้ายแรงกว่าผู้ที่ดำเนินการไว้แล้ว และผู้รับโทษตามกฎหมายก็อาจเป็นเจ้าของกิจการที่ต้องรับโทษแทนพนักงานเองก็เป็นได้ จึงนับว่าผู้นำองค์กรก็ควรตระหนักและให้ความใส่ใจต่อการทำ PDPA ก่อนถึงวันบังคับใช้เป็นอย่างยิ่ง



ข้อมูลส่วนบุคคล คืออะไร?
 

ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม แต่จะไม่นับรวมข้อมูลของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
 

ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล, เลขประจำตัวประชาชน, เบอร์โทรศัพท์มือถือ, วันเกิด, อีเมล, เพศ, อาชีพ, ข้อมูลการศึกษา, ข้อมูลการเงิน, เลขบัตรเครดิต, เลขบัญชีธนาคาร, เลขที่ใบขับขี่, รูปถ่าย เป็นต้น
 

     นอกจากนี้ยังมีข้อมูลส่วนบุคคลอีกประเภท ที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้ความสำคัญและมีบทลงโทษที่รุนแรงด้วยกรณีเกิดการรั่วไหลสู่สาธารณะ คือ ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน (Sensitive Personal Data) ได้แก่ ข้อมูลทางพันธุกรรม-ชีวภาพ (เช่น ข้อมูลสแกนลายนิ้วมือ), ศาสนาและปรัชญา, พฤติกรรมทางเพศ, ข้อมูลสุขภาพ, เชื้อชาติ, เผ่าพันธุ์, ความคิดเห็นทางการเมือง, ความเชื่อในลัทธิ, ประวัติอาชญากรรม, ความพิการ, ข้อมูลสหภาพแรงงาน, ข้อมูลภาพจำลองใบหน้า, ข้อมูลจำลองม่านตา, ข้อมูลจำลองลายนิ้วมือ เป็นต้น
 

     เหตุที่ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน (Sensitive Personal Data) เป็นข้อมูลที่มีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป (Personal Data) เพราะหากข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อนมีการรั่วไหลไปสู่สาธารณะแล้ว จะเกิดผลเสียที่ร้ายแรงกับผู้เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล(Data Subject)ได้มากกว่าข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลลายนิ้วมือ เราไม่สามารถไปเปลี่ยนลายนิ้วมือได้ ลายนิ้วมือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่จะอยู่กับเราไปจนวันเสียชีวิต หรือว่าจะเป็น ข้อมูลพฤติกรรมทางเพศ เชื่อชาติ ศาสนา ประวัติอาชญากรรม ถ้ารั่วไหลไปแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาสู่ความเป็นอคติและจะมีผลกระทบต่อชีวิตส่วนบุคคลได้มากกว่าข้อมูลทั่วไปเป็นอย่างมาก

     
 




ใครเป็นใครใน PDPA

1. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) คือ ประชาชนทุกคน ที่ข้อมูลชี้ไปถึงแต่ไม่รวมถึงคนตายและนิติบุคคล ทั้งนี้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในข้อมูลนั้น

ใน พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จะให้ สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject Right) สรุปได้ดังต่อไปนี้

  • สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบ

    การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้ง ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ ก่อนหรือในขณะที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล (ยกเว้นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ทราบถึงรายละเอียดนั้นอยู่แล้ว เช่น ไปธนาคารเพื่อจะไปเปิดบัญชี หรือว่าการสมัครใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ ) โดยมีรายละเอียดการแจ้งให้ทราบ เช่น เก็บข้อมูลส่วนบุคคลอะไรบ้าง, วัตถุประสงค์การเก็บข้อมูล, การนำไปใช้หรือส่งต่อไปมีให้ใครบ้าง, วิธีเก็บข้อมูลอย่างไร, เก็บข้อมูลนานแค่ไหน, วิธีขอการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิกถอนข้อมูลส่วนบุคคลที่ให้ไปสามารถทำได้อย่างไรบ้าง

  • สิทธิขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล

    เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล หรือขอให้เปิดเผยถึงการได้มาของข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอมได้ โดยสิทธินี้จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือคำสั่งศาล หรือส่งผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ถ้าไม่ขัดหรือส่งผลกระทบดังกล่าว เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะได้รับสิทธิภายใน 30 วันนับจากวันที่ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ได้รับคำขอ

  • สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

    เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดด้วยกฎหมายที่สำคัญยิ่งกว่า หรือขัดต่อสิทธิการเรียกร้องตามกฎหมาย หรือข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเป็นไปเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สถิติ

  • สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย

    กรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลถูกขอให้ลบ หรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลเจ้าของได้ โดยผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องผู้รับผิดชอบดำเนินการทั้งในทางเทคโนโลยีและค่าใช้จ่ายเอง

  • สิทธิในการเพิกถอนความยินยอม

    ถ้าเจ้าของข้อมูลเคยให้ความยินยอมในการใช้ข้อมูลไปแล้ว ต่อมาภายหลังต้องการยกเลิกความยินยอมนั้น ก็สามารถทำเมื่อใดก็ได้ และการยกเลิกความยินยอมนั้นจะต้องทำได้ง่ายเหมือนกับตอนแรกที่เจ้าของข้อมูลให้ความยินยอมด้วย โดยการยกเลิกจะต้องไม่ขัดต่อข้อจำกัดสิทธิในการถอนความยินยอมทางกฎหมาย หรือสัญญาที่ให้ประโยชน์แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ให้ความยินยอมไปก่อนหน้านี้

  • สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูล

    เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนใจไม่ต้องการให้ข้อมูลแล้ว หรือเปลี่ยนใจระงับการทำลายข้อมูลเมื่อครบกำหนดที่ต้องทำลาย เพราะมีความจำเป็นต้องนำข้อมูลไปใช้ในทางกฎหมาย หรือการเรียกร้องสิทธิ ก็สามารถทำได้

  • สิทธิในการขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล

    เจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะขอแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองให้มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยการแก้ไขนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสุจริต และไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย

  • สิทธิในการขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล

    ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลต้องการนำข้อมูลที่เคยให้ไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลรายหนึ่ง ไปใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลอีกราย เช่น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายแรกได้ทำจัดทำข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปในอยู่ในรูปแบบต่างๆ ที่เข้าถึงได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่จัดทำข้อมูลนั้น ทำการส่งหรือโอนข้อมูลดังกล่าวให้ได้ หรือจะขอให้ส่งไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายอื่นโดยตรงก็สามารถทำได้ หากไม่ติดขัดทางวิธีการและเทคนิค โดยการใช้สิทธินั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย สัญญา หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น


     

2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) คือ หน่วยงาน องค์กร สถาบัน ที่กำหนดวัตถุประสงค์ วิธีการประมวลผลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคล

หน้าที่ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
  • จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
  • ป้องกันมิให้ผู้อื่นใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ
  • จัดให้มีระบบการตรวจสอบเพื่อดำเนินการลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคล
  • แจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ภายใน 72 ชม. นับแต่ทราบเหตุ
  • แต่งตั้งตัวแทนภายในราชอาณาจักร กรณีเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต่างชาติ
  • จัดทำบันทึกรายการ (มาตรา 39)
 
ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตาม มาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายได้กำหนดไว้
  • พื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล หมายความว่า
    • Confidentiality (ธำรงไว้ซึ่งความลับ)
    • Integrity (ความครบถ้วนสมบูรณ์)
    • Availability (ความพร้อมใช้งาน)  
ของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ
  • มีการแจ้งถึงมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และสร้างเสริมความตระหนักรู้ ด้านความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้แก่ บุคลากร พนักงาน ลูกจ้างหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
    • การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล มีหลักการดังนี้
      • เก็บเท่าที่จำเป็น ภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย
      • การแจ้งรายละเอียด ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบก่อนหรือขณะเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลถึงรายละเอียด ดังนี้
        • วัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวม
        • ข้อมูลที่จะมีการเก็บและระยะเวลาในการเก็บรวบรวม
        • ประเภทของบุคคลหรือหน่วยงาน ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมอาจจะถูกเปิดเผย
        • ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล สถานที่ติดต่อ และวิธีการติดต่อ
      • การเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการประมวลผล ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ใหม่ ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบและได้รับความยินยอมก่อน ยกเว้นว่า กฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้ทำได้
    • ข้อยกเว้น ไม่ต้องได้รับความยินยอม
      • เพื่อจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุ วิจัย สถิติ
      • เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต
      • มีความจำเป็นเพื่อปฏิบัติตามสัญญาระหว่างผู้ควบคุมข้อมูลเจ้าของข้อมูล
      • มีความจำเป็นเพื่อดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้ควบคุมข้อมูล หรือปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐที่ได้รับมอบหมายแก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
      • มีความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูล แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเจ้าของข้อมูล
      • เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูล
  • จัดให้มีมาตรการเรื่องการเข้าถึงหรือควบคุมการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล (Access Control) โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
    • การควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและอุปกรณ์ในการจัดเก็บและประมวลผล
    • การกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตหรือการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
    • การบริหารจัดการการเข้าถึงของผู้ใช้งาน เพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว
    • การกำหนดหน้าทึ่ความรับผิดชอบของผู้ใช้งาน เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต
    • การจัดให้มีวิธีการตรวจสอบย้อนหลังการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้
 


 
  • สามารถใช้มาตรฐานที่สูงกว่าประกาศฉบับนี้ได้



3. ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) คือ ผู้ที่ทำตามคำสั่งของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล outsource ที่รับจ้าง ไม่ใช่พนักงานหรือส่วนหนึ่งของหน่วยงาน /องค์กร

หน้าที่ของผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
  • ทำตามคำสั่งที่ได้รับจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น เว้นแต่คำสั่งนั้นขัดต่อกฎหมายหรือบทบัญญัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
  • แจ้งให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทราบถึงเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้น
  • จัดทำและเก็บรักษารายการของกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
  • แต่งตั้งตัวแทนภายในราชอาณาจักร กรณีเป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต่างชาติ
  • ประมวลผลข้อมูส่วนบุคคลซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ให้ถือว่า ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล



4. เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Officer) คือ คนที่ได้รับมอบหมายเพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำหรือ ตรวจสอบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงาน  / องค์กร ให้เป็นไปตามกฎหมาย

หน้าที่ของเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • ให้คำแนะนำ
  • ตรวจสอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
  • ประสานงานและให้ความร่วมมือกับสำนักงานฯ
  • รักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลที่ตนล่่วงรู้หรือได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหนมายนี้


 
 
 



 


บทลงโทษ

     ถ้าไม่ปฏิบัติตาม PDPA บทลงโทษของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีถึง 3 ประเภท ได้แก่



 



















 

สรุปใจความสำคัญของ PDPA

 

       จะเห็นได้ว่า PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีหัวใจสำคัญก็เพื่อต้องการรักษาสิทธิที่พึงมีแก่เจ้าของข้อมูล    ว่าข้อมูลส่วนตัวของเราจะปลอดภัย นำไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามความต้องการและยินยอมของเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบเช่นกันว่าการให้ข้อมูลส่วนบุคคลในแต่ละครั้ง เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? ข้อมูลที่ให้ไปมีเพียงพอกับวัตถุประสงค์นั้นแล้วหรือยัง? หากมองว่ามีการให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของการขอข้อมูล เราก็สามารถปฏิเสธการให้ข้อมูลนั้นได้ เพื่อเป็นการป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดหรือหาผลประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลของเราก็เป็นได้
       สำหรับในส่วนผู้เก็บข้อมูลนั้น นับว่าได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นอย่างมากกับ PDPA ที่จะต้องปฏิบัติตาม ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจึงต้องมีการกำหนดนโยบายความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลภายในองค์กรและให้ความรู้แก่บุคคลากรในองค์กร, รู้ขอบเขตการเก็บรวบรวม การใช้ การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล, มีระบบการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่ปลอดภัย, มีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล, มีการบันทึกกิจกรรมการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งเหล่านี้ล้วนจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้สอดคล้องกับ PDPA ต่อไป มาถึงตรงนี้ผู้อ่านก็พอจะทราบแล้วว่า PDPA คืออะไร และเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2564
0 comments
Last Update : 24 สิงหาคม 2564 10:47:43 น.
Counter : 913 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สมาชิกหมายเลข 2436574
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 2436574's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.