<<
ธันวาคม 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
6 ธันวาคม 2555

จวกยับ “มติชน” อาเศียรวาทกำกวม-ไม่เหมาะสม แจงวุ่นยันเปรียบเทียบ “ฟ้าสว่าง” กับ “ฟ้าครึ้ม”









 






ชาวเน็ตวิจารณ์ขรมอาเศียรวาท “มติชน” ใช้คำกำกวม-ถูกตีความไม่เหมาะสม “บิลลี่” สุดทนแต่งบทกลอนโต้ “มติหมาภาษาสัตว์” คอลัมนิสต์ดังถามจำเป็นหรือไม่ต้องเขียนกำกวมให้สื่อความหลายแง่-ซ่อนปมในเชิงลบหรือไม่ อีกด้านมองคนแต่งพยายามซ่อนความหมายแต่มือไม่ถึง จึงไม่เนียน ไม่แยบยล และหมิ่นเหม่

วันนี้ (6 ธ.ค.) เว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้ออกคำชี้แจงกรณีอาเศียรวาท สืบเนื่องจากมีผู้ตั้งคำถามต่อบทอาเศียรวาท ที่ตีพิมพ์ในมติชน ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาว่ามีความหมายอย่างไร มีความกำกวมไม่เหมาะสมหรือไม่ มีเนื้อความดังนี้

“วันหนึ่งฟ้าสว่างกระจ่างแจ้งลมแล้งในใจไห้โหยหาย
ข้าวกล้านาไร่ได้กลิ่นอาย ยามฝนขวนขวายมุ่งหมายมา
วันหนึ่งเมฆคลุ้มเป็นกลุ่มก้อน ลมร้อนลมเย็นเป็นปัญหา
พฤกษ์พุ่มชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร”


ต่อไปนี้ คือคำอธิบายจากผู้ประพันธ์บทอาเศียรวาทดังกล่าว

“....อาเศียรวาทสองบทนี้ มีความหมายตรงตามตัวอักษรทุกประการ

ด้วยวิธีการเขียนบทกวีที่มีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ จึงใช้วันฟ้าสว่างกับวันฟ้ามืดครึ้ม

วันฟ้าสว่างนั้นแม้แต่ลมแล้งในใจผู้คนที่โหยไห้ก็ยังหาย ข้าวกล้านาไร่ยังได้กลิ่นอายฝนที่มุ่งหมายมาตกต้องตามฤดูกาลย่อมหมายถึงความสว่างในพระบรมเดชาเมตตาบารมี ที่ปกเกล้าพสกนิกรและทุกสรรพสิ่ง อันเนื่องมาจากพระวิริยะอุตสาหะเช่นฟ้าฝน ชลประทาน หรืออ่างเก็บน้ำอันยังประโยชน์สม่ำเสมอแก่ไร่นา

ดังนั้น เมื่อมีวันมืดครึ้ม ซึ่งแม้แต่ธรรมชาติปัจจุบันเช่นที่เห็นกันก็ผันผวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นเป็นปัญหา

จึงมีหรือที่จะไม่นึกฝันถึงวันฟ้าสว่าง วันที่กระจ่างแจ้งร่มเย็นอยู่ในพระบรมโพธิสมภาร ว่าดีอย่างไร ดีขนาดไหน คือความหมายซึ่งอธิบายได้ตามตัวอักษรทุกวรรคตอน”

กองบรรณาธิการหวังว่า คำอธิบายความหมาย สัญลักษณ์ และเจตนาของผู้ประพันธ์ น่าจะสร้างความกระจ่างและทำให้เกิดการตีความที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของผู้ประพันธ์ ลงชื่อ กองบรรณาธิการมติชน 6 ธันวาคม 2555

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะตีพิมพ์บทอาเศียรวาท ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ได้มีการแต่งบทอาเศียรวาทลงในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ ซึ่งมองว่ามีการใช้คำและสัมผัสที่กำกวมและไม่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง

“บิลลี่ โอแกน” ดารานักแสดงชื่อดัง โพสต์บทกลอนตอบโต้ ระบุว่า

“อาเจียรวาทชาติหมาประสาหนอน
แต่งคำหอนโหยหวนชวนคลื่นเหียน
มติหมาภาษาสัตว์ร่วมกัดเกรียน
จงวนเวียนเดียรัจฉานสถานเอย”


ขณะที่ นายสุรวิชช์ วีรวรรณ บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และคอลัมนิสต์ นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องถามมติชนก็คือบทอาเศียรวาทนั้น จำเป็นต้องเขียนกำกวม ให้สื่อความหมายไปหลายแง่ จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาสัญญลักษณ์ที่ซ่อนเงื่อนปมให้ตีความไปในเชิงลบก็ได้ด้วยหรือไม่

ก่อนหน้านี้นายสุรวิชช์ กล่าวว่า ตนแปลกใจกับบทกวีถวายพระพรของมติชนวันนี้มาก อย่าไปติดใจการใช้คำสามัญ เพราะต้องเข้าใจว่า การใช้ถ้อยคำสามัญเพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจความหมายของบทกวีเป็นเรื่องที่ดี มติชนใช้คำสามัญแบบนี้มาหลายปีแล้ว แต่ละปีก็มีความหมายที่ลึกซึ้งคมคายเสมอ แต่ปีนี้นอกจากความหมายจะมีปัญหาก็ยังอ่อนในเรื่องการใช้คำมากอีกด้วย แม้จะเคยเขียนกลอนงูๆปลาๆมาบ้าง อ่านแล้วก็รู้เลยว่า ไม่ได้ความทั้งเสียงและการใช้คำ ซึ่งถ้าให้เดาก็พอจะเดาออกว่าเป็นฝีมือของใคร

“คนเขียนบทกวีชิ้นนี้แบ่งบทกวีเป็นสองช่วงเวลาในบทแรกเวลาหนึ่ง บทที่สองเวลาหนึ่ง เช่น บทแรกพยายามสื่อว่า ฟ้าสว่าง ความแห้งแล้งในใจก็เหือดหายไป ข้าวในนาก็อุดมสมบูรณ์ แล้วอยู่ฝนก็ตกลงมา อันนี้มีปัญหานะครับ ถ้าฝนจะตกฟ้ามันต้องครื้มก่อนไม่ใช่ฟ้าสว่าง บทที่สอง บอกว่า ท้องฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป เกิดเหตุน้ำท่วมไร่นา คนก็นึกถึงวันที่ต้องฟ้าโปร่งใส สรุปก็คือ กำลังบอกว่า วันนี้ ท้องฟ้ากำลังมืดมัว ความหมายนัยที่เขาต้องการเล่นและซ่อนเร้นอยู่ตรงคำว่า "ฟ้า" นั่นเอง แต่เดี๋ยวมติชนก็คงออกมาอธิบาย เขาคงเตรียมทางออกไว้แล้ว ผมคิดว่า เขาคงจะอธิบายทำนองว่า ไม่ว่า จะสุขหรือทุกข์ประชาชนก็จะระลึกถึงฟ้า อะไรทำนองนี้” นายสุรวิชช์ กล่าว

ด้านนายบัณรส บัวคลี่ คอลัมนิสต์ กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่ดิ้นได้ มีระดับชั้น ละเมียดละไม ซ่อนความแยบยลเอาไว้หลายมิติ แถมจริตคนไทยก็รู้ๆ ว่าเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบพูดจากันอ้อมๆ ค้อมเป็นวงกว่าจะมาลงเข้าเรื่อง คำประพันธ์ร้อยกรองก็ถอดจริตดังกล่าวออกมาทั้งหมด มีตัวอย่างร้อยกรองมากมาย แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ประชดประเทียด หลอกด่า แดกดัน เช่น “โรคมาก รากโมกต้มกินหาย” ฟังเผินๆ เหมือนจะเป็นตำรายา แต่ทว่าเมื่อผวนกลับกลายเป็น “ต้มกินหาย” มีเสียง “ตาย”ซ่อนอยู่ในความ ภาษาที่มีระดับชั้น ที่ใช้กับผู้ใหญ่เขาจึงเข้มงวดกับคำที่แปรความไปในทางลบ เช่น ผักบุ้ง ปลาสลิด ดอกสลิด อะไรเหล่านี้

เมื่อนำมาใส่ในคำอวยพรจึงต้องระวังคำที่มีความหมายแปรนัย ซ่อนนัย เหล่านี้ แม้กระทั่งคำพ้องเสียงเขาก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ใช้กันเช่นคำว่า “โลกันต์” ที่มีบทอาเศียรวาทชิ้นหนึ่งของหน่วยงานใหญ่ปรากฏในมติชนเมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานนั้นแรกก็เถียงว่าหมายถึงโลก ซึ่งเป็นการเถียงแบบข้างๆ คูๆ เพราะธรรมเนียมของอาเศียรวาทจะไม่ใช้คำแบบนั้นเลย เพราะมันใกล้กับ “โลกันตร์” แถม “โลกันต์” ก็ไม่มีความหมายอะไร เหมือนกับภาษาพาไป ควบคุมภาษาที่ใช้ไม่ได้

มาถึงบทอาเศียรวาทของมติชนรายวันที่กำลังเป็นที่สนใจของโซเชียลมีเดีย ตนตั้งข้อสังเกตว่า คนแต่งฝีมือไม่ถึง พยายามซ่อนความหมาย ความนัยชั้นสูง แต่เมื่อมือไม่ถึง จึงไม่เนียน ไม่แยบยล และหมิ่นเหม่ น่าประหลาดใจที่ปกติแล้วบทอาเศียรวาทที่ขึ้นหน้าหนึ่ง เป็นตัวแทน “ในนามองค์กร” คือประพันธ์ในนามหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับจะต้องมาจากผู้ประพันธ์ที่มีชื่อเสียง หรือได้รับความไว้วางใจจากองค์กรนั้นๆ ปกติแล้วเขาจะมีชื่อจริงสกุลจริงเป็นเกียรติให้ผู้แต่ง

“ผมเคยได้ยินมาว่าซีไรต์ท่านหนึ่งเขียนแค่ 2 บรรทัดก็ได้หลักแสนบาทเขียนให้ “ในนาม” บรรษัทการค้ายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง แต่หากไม่มีชื่อเขียนในนามองค์กรเลยก็ไม่มีข้อห้ามไว้ สิ่งเดียวที่คนในวงการนี้ทำกันคือ ในเมื่อเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะแล้ว ผิดชอบชั่วดียังไงองค์กรนั้นๆ (ก็คือมติชนรายวัน) ก็ต้องค้อมรับเอาไว้ เนื่องเพราะเผยแพร่ในนามองค์กรตน ในเมื่อมติชนยอมรับให้เป็นบทอาเศียรวาทขององค์กรย่อมต้องผ่านการคัดกรอง ตรวจสอบผ่านตามาแล้ว

ตีความได้ว่า บทประพันธ์ชิ้นนี้มีความดีเด่น อาจจะซ่อนความหมายลึกซึ้ง ยากแก่คนทั่วไปตีความ ประมาณว่าคนที่มีสติปัญญาทั่วไปไม่เข้าใจอาเศียรวาทบทนั้นของมติชนได้ แต่ในความเป็นจริงคนในองค์กรสื่อด้วยกันก็ต่างรู้กันว่า มันไม่มีจริงหรอกกระบวนการคัดกรองเนื้อหาบทประพันธ์ก่อนจะตีพิมพ์แบบที่ทุกคนเชื่อว่านี่เป็นบทประพันธ์ที่ล้ำลึกสุดยอดอะไรนั่น เพราะแท้จริงแล้ว อาจจะแค่มีคนเส้นใหญ่คนหนึ่งที่ร้อนวิชาเขียนขึ้นมาแล้วผลักดันลงกันเองก็เป็นไปได้ ที่สำคัญอ่านยังไงก็ไม่สามารถเรียกว่าลึกซึ้งได้เพราะ การประพันธ์ก็คือการสื่อสารชั้นสูง หากไม่สามารถสื่อออกมาได้ดี การรับสารย่อมยากจะเข้าใจสิ่งที่ต้องการแสดงออกอยู่ดี” นายบัณรส กล่าว

นายบัณรส กล่าวว่า มองในแง่ดี ผู้เขียน มีความตั้งใจดี ประมาณว่าจะเปรียบเทียบว่ายามที่บ้านเมืองปกติฟ้ายังแจ้งสว่าง ชาวนาไร่ไพร่ฟ้าก็สดชื่นมีสุข ในวันที่บ้านเมืองไม่ปกติฟ้าไม่สว่างเกิดทุกข์เข็ญ ไพร่ฟ้าตั้งหน้ารอวันที่บ้านเมืองดีด้วยพระบารมีอีกครั้ง ฯ แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกว่าผู้เขียนไม่ใช่นักกลอนที่ช่ำชอง ดูจากวรรคที่สอง “ลมแล้งในใจไห้โหยหาย” ที่ไม่มีความหมาย เป็นกลอนพาไป ลากคำให้ลงสัมผัสเท่านั้น ยิ่งเมื่อร้อยคำทั้ง 2 บทเข้าด้วยกัน ยิ่งพบเห็นสิ่งบกพร่องในสื่อคำที่ต้องการส่งสารออกไป เพราะผู้แต่งไม่สามารถหยิบคำที่สื่อออกมาแล้วคนอ่านเข้าใจได้มาใช้ ต่อให้ผู้เขียนมีความตั้งใจดีเพียงใด แต่กฎเกณฑ์-เป้าหมายของบทประพันธ์แต่ละอย่างจะบังคับเป็นพื้นฐาน เช่น หากเขียนอาเศียรวาท ก็ควรเข้าใจว่านี่คือคำสรรเสริญ ปกติแล้วจะใช้ลีลาชั้นสูง เช่น ฉันท์ กาพย์ หรือต่อให้เป็นแค่กลอนก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคำสรรเสริญ ดังนั้นผู้แต่งต้องหลีกเลี่ยงใช้คำกำกวม มีความหมายส่อนัยด้านลบ

ที่สำคัญคนไทยรู้ดีว่าสัญลักษณ์ที่ใช้แทนพระเจ้าแผ่นดินที่เข้าใจกันทั่วไปคือ “ฟ้า” ผู้ประพันธ์จงใจเล่นกับ “ฟ้า” คือฟ้าสว่าง กับ วันที่ฟ้ามืดเมฆมัว มองยังไงก็เข้าใจว่าต้องการสื่อถึงพระมหากษัตริย์ หากไม่มีความช่ำชอง ร้อยคำที่มีความหมายสื่อสารชัดเจน ความเข้าใจของผู้รับสารจะแตกต่าง ตีความเป็นลบได้ โดยเฉพาะวรรคส่งบทท้าย “ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร” ชวนให้ประหวัดถึงคำขวัญของพคท. ในอดีตที่ว่า “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ” พร้อมๆ กัน แม้ผู้แต่งจะไม่ตั้งใจก็ตาม ในมิติของการมองในแง่ดี เนื่องจากผู้แต่งยังอ่อนด้อยไม่สามารถเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสม การสื่อสารเลยเกิดปัญหาให้เกิดการตีความในแง่ลบ ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติว่าด้วยอาเศียรวาทเขาถือกันเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชคงมีปัญหาแล้ว

แต่หากมองในแง่ลบ เนื่องจากค่ายมติชนรายวันสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรฝ่ายแดงที่มีหลายเฉด รวมไปถึงข้อเสนอเรื่องแก้กฎหมาย ม.112 ฯลฯ อาจต้องการนำเสนออุดมการณ์ความคิด แบบที่เคยมีผู้เสนออยากเห็นสถาบันกษัตริย์เป็นแบบเนปาล ญี่ปุ่น ฯลฯ ผู้ประพันธ์จึงต้องการแทรกอุดมการณ์ความคิดลงในบทอาเศียรวาท จึงปรากฏชุดคำที่สื่อความหมายถึง “ฟ้า” การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศและท้องฟ้า รวมไปถึงการถวิลหา “ฟ้าสว่าง” แทนที่สภาพปัจจุบัน ซึ่งคิดว่าแม้จะมีความเป็นไปได้อยู่บ้างแต่ผู้บริหารมติชนคงไม่เหิมเกริมถึงขั้นนั้น อย่างไรก็ตามด้วยชั้นเชิงของคนประพันธ์ที่ยังอ่อนด้อยอยู่ ทำให้การพยายามจะนำเสนออุดมการณ์ทั้งชุดยังไม่ละเมียดละไม ปรากฏเพียงชุดคำสีแดง ที่แยกๆ แตกๆ กันแต่ละบทละวรรคให้พอจับต้องเป็นร่องรอยได้ ถามว่าสังคมประชาธิปไตยแบบเปิดรัฐธรรมนูญรับรอง Right of speech ทำได้ไหม ตอบว่าทำได้ แต่ในมิติทางสังคมวัฒนธรรมแล้วดูยังไงก็ไม่เหมาะสมกับกาละเทศะด้วยประการทั้งปวง

ด้าน “เอิน-กัลยกร นาคสมภพ” อดีตนักร้องสาว ได้โพสต์ข้อความพร้อมแสดงความคิดเห็น ระบุว่า “เมื่อใดที่กำกวม แสดงว่ามีความแฝง แต่การเทิดทูนในหลวง ไม่มีความจำเป็นต้องแฝง แถมฝีมือขนาดนี้ หากอยากเขียนดีๆ ก็คงไม่ยาก แต่หากไม่อยากเทิดทูนก็ไม่ได้ว่า เก็บไว้สักวันคงไม่ทุรนทุรายมั้งคะ หรือมันอดไม่ได้ ความอิจฉา ความหมั่นไส้มันเอ่อล้นใจมากใช่มั้ย ...หรือการยั่วอารมณ์คนให้กรุ่น ให้มีปากเสียงกันมันสนุกดี?” พร้อมกับเรียบเรียงบทร้อยกรองใหม่ ระบุว่า

“วันหนึ่งฟ้าสว่าง กระจ่างแจ้ง
ดั่งแดนดินที่แห้งแล้ง กลับสดใส
ข้าวกล้านาไร่ ต่างผลิใบ
สายฝนชโลมใจ มุ่งหมายมา
วันหนึ่งเมฆคลุ้ม คลุมนคร
ธ คลายร้อนผ่อนเย็น สิ้นปัญหา
ทรงสถิตย์ในดวงใจ ปวงประชา
เห็นแล้วว่าฟ้าสว่าง เป็นอย่างไร”


นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Paisal Puechmongkol ระบุว่า "สื่อสำนักหนึ่ง ทำทีถวายพระพร แต่ประชดแฝงไว้ตอนท้ายว่า "ฝันว่า ฟ้าสว่าง ดีอย่างไร" นี่มันสื่อมวลชนหรือสื่อมวลชินกันแน่ เมื่อถามก็จะตอบว่า -

“มิใช่ฝัน! นั่นกลางวัน อันบรรเจิด
ฟ้าพราวเพริศ ไสวสว่างทั้งแหล่งหล้า
นับแสนล้าน แสนสดใส ใจประชา
ไหลหลั่งมา เทิดไท้ ให้ไทยเย็น

นี่ความจริง มิใช่ฝัน ดังที่ฝัน
เนิ่นนานวัน ทรงสร้างสุข ปลดทุกเข็ญ
ทรงเมตตา ปวงประชา ได้ร่มเย็น
อย่าถือเช่นใจตัว มามั่วเลย”


นอกจากนี้ ยังมีกวีในเฟซบุ๊กอีกจำนวนหนึ่ง ที่แต่งบทร้อยกรองตอบโต้สื่อในเครือมติชน อาทิ เฟซบุ๊ก “Nakarach กลอนรักชาติ by กวีซีฟู๊ด” ได้แต่งบทร้อยกรอง ระบุว่า

“แด่... ไอ้เศียรชาด

คนตื่นรู้ ฟ้าสว่าง ทางปัญญา คนบอดบ้า หาฝัน กันไม่แจ้ง
คนสอดซ่อน ความนัย ใจแสดง คนเคลือบแคลง แดงชาด ประกาศใด
“ฝน” ชุ่ม อุดมดิน ถิ่นไทยแล้ว ด้วยหยาดแก้ว เหงื่อพ่อ ทอมอบให้
ตาสว่าง ย่อมรู้ อยู่แก่ใจ มืดบอดไร้ ปัญญา ว่าไม่จริง

“เมฆ” ฝนหลวง ปวงไทย ใจทราบดี แล้งไร้นี้ มีฝน ดลเย็นยิ่ง
น้ำตาชุ่ม ชื่นใจ ได้พึ่งพิง พ่อไม่ทิ้ง ทวยราษฎร์ ชาติประชา
“ลม” ร้อนเย็น กระแส แค่การเมือง อย่ามาเคือง โทษใส่ ไคล้ท่านหนา
ถ้า พ่อ มีอำนาจ ดั่งว่ามา ใครนำพา? รัฐไหน? ใช้นำทาง

“ฝัน” ด้วยมืด สามานย์ จะคว่ำฟ้า รีบลืมตา แสงทอง ส่องกระจ่าง
เหลืองอำพัน ผืนไทย ไม่เคยจาง หวังล้มล้าง ข้างไหน ได้เห็นดี
“ฟ้าสว่าง” ทางธรรม นำปัญญา มิใช่บ้า คลั่งไคล้ ในสรรสี
ประโยชน์ชน ส่วนใหญ่ ได้พบมี ล้างกาลี อ้างสี “มติโจร” !!!”


ด้านเฟซบุ๊ก “เตชะ ทับทอง หนึ่งร้อยตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ” ได้แต่งบทร้อยกรองตอบโต้มติชนเช่นกัน ระบุว่า

“วันหนึ่งเมฆคลุ้ม กลุ่มเป็นก้อน
แดงเรื่อร้อนเผาไทย ใคร่ตัณหา
สร้างทุกข์ ปลดสุข เกลื่อนน้ำตา
ทุกหย่อมหญ้า สื่อเปลี่ยนแปลง แดงเรื่อยมา

จวบวันนี้ท้องฟ้าสว่าง กระจ่างแจ้ง
แม้ลมแรง เรารักพ่อ มิห่างหาย
ข้าวทุกต้น คนทุกไทย ไม่เดียวดาย
ล้านไทย ใจเพื่อพ่อ หมายมุ่งมา

คงถึงครา ปราบจัญไร ให้พ้นชาติ
ไทยเลิกขลาด ปรับสร้างชาติ ให้หมดสี
ร่วมเทิดทูนไทยทุกผู้ ชูคนดี
สร้างศักดิ์ศรี ไทยพร้อม ให้เป็นไท.”




ข้อมูลโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์








Create Date : 06 ธันวาคม 2555
4 comments
Last Update : 6 ธันวาคม 2555 12:46:06 น.
Counter : 3852 Pageviews.

 


 

โดย: ญามี่ 6 ธันวาคม 2555 12:48:38 น.  

 

มาอ่านข่าว บ้านน้องมี่ค่า
ขอบคุณนะค่าที่นำมาแบ่งปันค่า

รักษาสุขภาพนะค่า

 

โดย: ลงสะพาน...เลี้ยวขวา 6 ธันวาคม 2555 14:05:37 น.  

 

มาอ่าน
ขอบคุณค่ะพี่มี่

 

โดย: ที่เห็นและเป็นมา 6 ธันวาคม 2555 14:52:40 น.  

 

เห้อ....

 

โดย: ขุนพลน้อยโค่วจง 6 ธันวาคม 2555 19:24:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ญามี่
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 260 คน [?]






อัพบล็อกครั้งแรก ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑
free counters
who's online
คนพูดน้อยคิดบ่อยแต่ไม่เงียบ
ไร้ระเบียบเคลิ้มครุ่นอณูคุ้นฝัน
ไม่ประวิงหากทิ้งจักลืมวัน
พลัดผ่านพลันหากจากยากฝากคอย...











[Add ญามี่'s blog to your web]