<<
กรกฏาคม 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
30 กรกฏาคม 2556

7 เล่ม 7 รส รอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้









หลังจากคณะกรรมการรอบคัดเลือกหัวบวมจากการอ่านหนังสือรวมบทกวีจำนวน 101 เล่มที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ประจำปีนี้มาตั้งแต่เดือนเมษายน ในที่สุดภารกิจก็เสร็จสิ้นเมื่อถึงวันเปิดตัวหนังสือ 7 เล่มสุดท้ายใน Short List ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปสู่รอบตัดสิน ได้แก่


1 ของฝากจากแดนไกล : โชคชัย บัณฑิต′
2 ต่างต้องการความหมายของพื้นที่ : ศิวกานต์ ปทุมสูติ
3 บ้านในหมอก : สุขุมพจน์ คำสุขุม
4 ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า : จเด็จ กำจรเดช
5 เมฆาจาริก : ธมกร
6 โลกใบเล็ก : พลัง เพียงพิรุฬห์
7 หัวใจห้องที่ห้า : อังคาร จันทาทิพย์


ต้องขอแสดงความยินดีกับทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ และระหว่างที่ข่าวสารกำลังร้อนๆ ขอนำเสนอคำนิยมหนังสือแต่ละเล่มที่คณะกรรมการตัดสินรอบคัดเลือกได้กลั่นกรอง สรุปความดีเด่นน่าสนใจของหนังสือแต่ละเล่มมาให้พิจารณาประกอบการเลือกหามาอ่านตามความชอบใจ ดังนี้







ของฝากจากแดนไกล

“บรรยายถึงความประทับใจของกวีต่อภาพชีวิตผู้คน สถานที่ สิ่งของ วัตถุต่างๆ โดยใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกลอน 8 ที่มีลีลาการบอกเล่าและจังหวะกลอนเฉพาะตัว แสดงให้เห็นถึงฝีมือในการประสานศิลปะการเล่าเรื่องเข้ากับศิลปะของภาษา ภาพสื่อสารที่ได้จึงมีทั้งภาพชีวิตที่เคลื่อนไหวของตัวละครและกระแสความคิดที่ผสานใส่เข้าไปให้เห็นข้อสรุป ครอบคลุมทั้งเรื่องราวของมิตรภาพ ความหวัง ความรัก ความแตกต่างหลากหลาย และความเชื่อมโยงกลมเกลียว

ลีลากลอนสะท้อนความพยายามของ โชคชัย บัณฑิต’ ที่จะสร้างสรรค์บทกวีที่มีลักษณะเฉพาะ บทกวีจำนวนหนึ่งตั้งใจเขียนวรรคละ ๗ คำ ก่อให้เกิดท่วงทำนองการอ่านที่แปลกต่าง เมื่อผสานกับการใช้ภาษาที่มุ่งสร้างจินตภาพเชิงกวีแบบใหม่ ทำให้หลากหลายเรื่องราวที่แม้จะดูเป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่บทกวีก็ทำหน้าที่สะกิดเตือนให้ผู้อ่านได้หยุดคิดและครุ่นมองสิ่งสามัญนั้นด้วยหัวจิตหัวใจ บทกวีเรียกร้องให้ผู้อ่านเชื่อมโยงความหมายที่ซุกซ่อนอยู่แสนไกลในหัวใจของผู้อ่านทุกคน”








ต่างต้องการความหมายของพื้นที่


“ศิวกานท์ ปทุมสูติ เป็นกวีซึ่งศรัทธาในความหมายของกวีและบทกวีอย่างยิ่ง ให้คุณค่าต่อกวีว่า ต้องถึงพร้อมในการประพฤติปฏิบัติตน เป็นผู้ชี้ถูก-ผิดให้สังคม ไม่ใช่ร่ายบทกวีไปตามกระแสนิยมหรือมีอคติ ข้อปฏิบัติหรือแง่คิดที่คนทั่วไปมองข้าม แต่ศิวกานท์กลับเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ได้แก่ ความเลื่อมใสในพุทธศาสนา แม้จะเป็นพุทธมามกะก็ยังอาจหาญวิพากษ์วิจารณ์วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ที่เห็นแก่อามิสบูชา กวียังให้ความสำคัญในเรื่องความกตัญญู การแสดงความรักต่อครอบครัว ทั้งยังแสดงทัศนะต่อครูบางคนที่ไม่เคยสำรวจตนเองด้วยถ้อยคำที่ประชดประชันหยันเย้ยอยู่ในที และที่สำคัญยิ่งคือทัศนะต่อการดื่มสุรา ศิวกานท์จะไม่สมยอมให้ผู้ที่อ้างตนเป็นกวีจำเป็นต้องดื่มสุราเพราะเห็นว่าเป็นการเสพยาพิษ



นอกจากนี้ผู้อ่านยังได้รับแง่คิดและทัศนะเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การมองสังคมด้วยความเป็นธรรม การมีจิตใจที่ดีต่อกัน การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอิงธรรมชาติ ไม่ให้ยึดติดกับสิ่งใด ให้มีมรณานุสติจะได้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ฉะนั้นถ้าทุกคนได้หมั่นปัดฝุ่นในใจตนเองบ้างก็จะค้นพบความจริงและพบความหมายในพื้นที่



ด้วยแง่งามทางด้านวรรณศิลป์ ผู้อ่านจะเพลิดเพลินไปกับลีลาคำประพันธ์ที่ชัดเจน ถูกต้องและมีความหลากหลายในรูปแบบฉันทลักษณ์ ทั้งกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กลอนสุภาพ กลอนหก เพลงพื้นบ้าน โคลงสี่สุภาพและโคลงดั้น อีกทั้งยังเคลิบเคลิ้มไปกับถ้อยคำกินใจ สะเทือนอารมณ์ ที่เลือกเฟ้นมาใช้อย่างเหมาะสม มีการเล่นคำเล่นสัมผัสอันไพเราะ ความเปรียบเชิงอุปมาให้เห็นอยู่มากมาย จึงควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่ง”








บ้านในหมอก

“สุขุมพจน์ คำสุขุม จงใจจัดวางเนื้อหาไว้เป็นเอกภาพ เดินเรื่องไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน โดยแบ่งเนื้อหาเป็นสองภาค ภาคแรก ว่าด้วย ‘บ้านในหมอก’ ที่หมายถึงภาพทั้งประเทศหรือสังคมโดยรวม ภาคสอง เหมือนส่องกล้องเข้าไปสำรวจตรวจสอบ ‘หมอกในบ้าน’ อันหมายถึงบ้านจริงๆ หรือสถาบันครอบครัว เปิดเรื่องด้วยยุคสร้างบ้านแปงเมืองในสภาพที่ธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ โดยใช้กองเกวียนเป็นสัญลักษณ์ขับเคลื่อนยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงเร็วจนตั้งรับไม่ทัน เป็นการพัฒนาแบบเสื่อมถอย พร่ามัวเสมือน ‘หมอกสีเศร้า’ ปกคลุมไปทุกพื้นที่ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน สถาบันครอบครัวจึงสำคัญที่สุด ผู้เขียนได้เน้นในเรื่องความผูกพัน ความรัก ความเข้าใจระหว่างพ่อ แม่ ลูก หลากหลายมิติ ฉายภาพปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างกันออกมาให้เห็นเหมือนมีหมอกในใจ บางเรื่องรู้สึกสะท้อนใจ บางประเด็นรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และก่อให้เกิดแง่คิดหลากหลายประการ



ด้านศิลปะการประพันธ์ นอกจากใช้ ‘กลอนแปด’ขับเคลื่อนกองเกวียนบรรทุกตัวอักษรแล้ว ผู้เขียนยังมีช่ำชองในการใช้ภาษา มีทักษะในเชิงวรรณศิลป์ มีลูกล่อลูกชน เล่นคำเล่นความอย่างลงตัว และแทรกอารมณ์ขันเป็นระยะ สามารถใช้โวหารเชิงเปรียบเทียบได้ดี ทั้งในแง่เนื้อหาที่เป็นรูปธรรมและใช้ ‘หมอก’ เป็นตัวบ่งบอกอย่างมีนัยยะ จึงทำให้ “บ้านในหมอก” มีเสน่ห์ และกระตุ้นให้ตระหนักคิด ชวนติดตาม”








ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า

“ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า” เป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) ของ “จเด็จ กำจรเดช” ผู้เล่าเรื่องได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยความแปลกใหม่ของเนื้อหาและเรื่องราวที่พาผู้อ่านก้าวข้ามมิติของห้วงเวลาและยุคสมัย ทะลุพื้นที่พรมแดนความเป็นจริงไปสู่โลกในจินตนาการ ด้วยความสามารถและชั้นเชิงการประพันธ์ในการจัดวางจังหวะคำได้อย่างทรงพลัง ด้วยถ้อยคำที่เรียบง่าย แต่ชวนคิด ลุ่มลึก เต็มไปด้วยแง่คิดเชิงปรัชญา มีปริศนาให้ตีความ และสะท้อนอารมณ์หลากหลายของมนุษย์ ซึ่งเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำ



เสน่ห์ในบทร้อยกรองอิสระเล่มนี้คือ การตีแผ่จิตวิญญาณอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของมนุษย์ ผ่านเรื่องเล่าหลากหลายบริบท ที่เปิดให้ตีความอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ทั้งเรื่องเล็กใกล้ตัว แสนจะธรรมดาสามัญ ไปจนถึงพลังเหนือธรรมชาติ และปรากฏการณ์โพ้นจักรวาล แต่ทั้งหมดนั้นยังยึดโยงอยู่กับความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง ของมนุษย์ “ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า” จึงเป็นกวีนิพนธ์เปี่ยมล้นด้วยคำถามต่อชีวิต มีครบรส ทั้งความสุข ความเจ็บปวด ความขมขื่นสิ้นหวัง และเย้ยหยันเสียดสีสิ่งที่พบเห็นระหว่างเส้นขอบฟ้า หลายบทเปี่ยมด้วยอารมณ์สะเทือนใจ นำพาจินตนาการไปสู่ดินแดนที่เราไม่รู้ ด้วยกวีโวหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และในที่สุดก็ทำให้เราได้ค้นพบคำตอบว่า ชีวิตนี้ช่างกลวงเปล่าไม่มีสิ่งใดเป็นแก่นสารเลย ทั้งโลกภายในและภายนอก สิ่งที่มนุษย์เผชิญอยู่จึงเป็นอนัตตา คือสภาพว่างเปล่า”








เมฆาจาริก

“กระตุ้นให้ผู้อ่านสัมผัสถึงแง่มุมของการเดินทางทั้งภายนอกและภายใน ด้วยของมิติที่กว้างไกลลึกซึ้ง เป็นการ “เดินทาง” แสวงบุญด้วยความหมายที่เปิดกว้างให้มนุษย์บรรลุถึง ความดี ความงาม ความจริง จนพบบทสรุปว่าทุกร่องรอยที่ปรากฏจากการเดินทางไปพร้อมกับหมู่เมฆ มองเห็นและตระหนักรู้เช่นเดียวกับเมฆนั้น ล้วนเป็น “อนิจจัง” คือความ “ไม่แน่นอน” ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางคือ ความไม่แน่นอนก็คือ “ธรรมดาของชีวิต” เป็นหลักธรรมชาติพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต ที่มีแง่งามของวรรณศิลป์เป็นตัวเชื่อมโยง



นอกจากความรู้สึกอันดื่มด่ำจากรสคำและรูปรอยการ จาริกที่สวยงามแล้ว คุณค่าสำคัญของกวีนิพนธ์เล่มนี้ก็คือจินตภาพอันงดงามภายใต้ฉันทลักษณ์เรียบง่ายได้สุนทรีย์ ทำให้ผู้อ่านมีความสุข เบิกบาน คล้อยตามวรรณศิลป์ที่งดงาม สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำเสียง จังหวะ ลีลา ที่เบาสบายแต่ลึกซึ้ง บางขณะแสดงความอ่อนโยน บางขณะเหมือนสายฝนพรำฉ่ำชื่น บางขณะอ่อนไหวดุจสายหมอกยามอรุณรุ่งของเหมันต์ฤดู เมฆาจาริก เป็นบทกวีที่ลึกล้ำทางความคิด การมองโลกมองชีวิตอย่างรู้เท่าทัน มีพลังอารมณ์และพลังปัญญาอันเข้มข้น ครบถ้วนสมบูรณ์”








โลกใบเล็ก



“ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งหมู่บ้านในกาลสมัยของความเปลี่ยนแปลง ด้วยลีลาภาษาที่เป็นวรรณศิลป์ ทั้งการส่งสัมผัสเสียง การสร้างจังหวะคำ และการใช้คำเพื่อสร้างภาพและสื่อความหมาย พลังทางภาษาใน “โลกใบเล็ก” เป็นไปอย่างอ่อนโยนทว่าหนักแน่นในความหมายด้วยลีลาการประพันธ์ที่มีทั้งความอ่อนหวานผสานไปกับความเข้มข้นกล้าแกร่งในวิถีแห่งการเผชิญโลก เกิดเป็นสุนทรียศิลป์ที่กระทบอารมณ์ และสัมผัสใจ



“โลกใบเล็ก” แบ่งออกเป็น ๔ ภาค คือ รัก เศร้า เหงา สู้ แต่ละภาคสะท้อนถึงความสุข ทุกข์ ร้อน หนาว เฉกเช่นฤดูกาลนานยาวแห่งชีวิต ท่ามกลางการดิ้นรนและแสวงหาคุณค่าแห่งยุคสมัยของผู้คน ผู้เขียนนำเราไปสัมผัสกับหมู่บ้านในกลิ่นอายแห่งอดีต ขณะเดียวกันก็เปิดประเด็นให้ครุ่นคิดถึงเรื่องราวของหมู่บ้านในปัจจุบันสมัย ผลพวงจากการพัฒนาในวิถีบริโภคนิยม ในกระแสการเปลี่ยนแปลง หมู่บ้านมิได้หยุดนิ่งอยู่กับความบริสุทธิ์หรือวิถีวัฒนธรรมอันงาม หากแต่ปรับตัวและเคลื่อนไหวไปตามโลกที่เปิดให้เห็นทั้งด้านมืดและมุมสว่าง ทั้งความกลมกลืนและความแปลกแยก แต่ก็มิได้มองโลกในแง่ร้ายหรือเลือกมองโลกแต่ในแง่ดี หากแต่เลือกที่จะมองโลกอย่างมีความหวัง ด้วยเชื่อมั่นและศรัทธาในจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์”







หัวใจห้องที่ห้า

“ใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพเป็นหลักในการนำเสนอ มีโคลงสี่สุภาพ กาพย์ฉบัง๑๖ สลับบ้าง เป็นฉันทลักษณ์ที่เขียนได้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ภาคแรก “หัวใจห้องที่ห้า” ผู้ประพันธ์นำเสนอมุมมองสังคมในมิติต่างๆของอดีต เชื่อมโยงสู่ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันท่ามกลางวิกฤติการณ์หลายด้าน แต่ผู้ประพันธ์มีหัวใจใฝ่หาความสุขสงบ เสมือนหัวใจห้องที่ห้า ในภาคแรกมีบทกวีโดดเด่นน่าอ่านหลายบท เช่น ภาพสะท้อนในวาวหยาดน้ำตาหม่อง ทองดี ความตายของสันติสุข ไม่มีของขวัญจากสงคราม



ภาคหลัง “นิทานเดินทาง” มีบทกวีที่โดดเด่นเกี่ยวกับวิถีชีวิตของกลุ่มชนในบริบทต่างๆ เล่าเรื่องราวชนกลุ่มน้อย ผู้คนในสังคมชายแดนไทยกัมพูชา ชายแดนไทยพม่า นิทาน ตำนาน เรื่องเล่าเกี่ยวกับแม่น้ำโขง วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมเมืองหลวง โดยสะท้อนภาพเหตุการณ์อย่างได้อารมณ์เกิดความหยั่งเห็น (Insight) และทรรศนะในรูปแบบต่างๆ



ผู้ประพันธ์สามารถใช้กลวิธีนำเสนอแนวคิดปัญหาสังคมชนบท สังคมเมืองในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปคิดเอง โดยเล่าเรื่องในอดีตเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในยุคปัจจุบันได้อย่างมีสัมพันธภาพ เนื้อหาสาระและรูปแบบสอดคล้องต้องกันอย่างเหมาะสมกลมกลืน มองเห็นอัตลักษณ์ของตัวผู้ประพันธ์ หัวใจห้องที่ห้าเป็นกวีนิพนธ์ที่มีกระบวนการทางศิลปะในการสะท้อนปัญหาหรือปรากฏการณ์ตามที่เป็นจริง ผู้อ่านสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจห้องที่ห้าได้อย่างมีชีวิตชีวา”




ทั้ง 7 เล่ม คุ้มค่าที่จะหามาละเลียดอ่านอย่างช้าๆ และเสพสุขไปกับทุกตัวอักษร





ข้อมูลโดย มติชน














Create Date : 30 กรกฎาคม 2556
Last Update : 30 กรกฎาคม 2556 11:05:18 น. 1 comments
Counter : 1254 Pageviews.  

 



โดย: ญามี่ วันที่: 30 กรกฎาคม 2556 เวลา:11:11:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ญามี่
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 260 คน [?]






อัพบล็อกครั้งแรก ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑
free counters
who's online
คนพูดน้อยคิดบ่อยแต่ไม่เงียบ
ไร้ระเบียบเคลิ้มครุ่นอณูคุ้นฝัน
ไม่ประวิงหากทิ้งจักลืมวัน
พลัดผ่านพลันหากจากยากฝากคอย...











[Add ญามี่'s blog to your web]