ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
17 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
"ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย"

มาอัพแล้วจ้า หลังจากดองมานาน...

อยากชวนเพื่อนๆ คุยเรื่องบทกวีครับ

ถ้าจะถามเพื่อนๆว่า บทกวีบทไหนถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ตัวชี้วัดอย่างหนึ่งคือ คนทั่วไปต้องสามารถท่องบทกวีนั้นได้ขึ้นใจ ไม่ผิดเพี้ยน

คุณลองนึกดูเล่นๆ สิครับว่า ชีวิตนี้คุณท่องบทกวีบทไหนได้ครบถ้วน ไม่มีขาดตกบกพร่องบ้าง

ลองบอกกันมาเล่นๆ นะครับ
แต่ถ้าจะรอให้คุณตอบแล้วค่อยเขียนต่อ คงจะกินเวลาไม่น้อย ยิ่งเจ้าของบลอกเป็นคนขยันหมั่นเพียรระดับนี้ด้วย ขืนรอคงหงำเหงือกแห้ง(ศัพท์ใหม่ที่ผมคิดได้เมื่อกี้) กันพอดี

เลยขอเอาตัวผมเป็นตัวชี้วัดเลยแล้วกัน บทกวีที่ผมท่องได้ไม่ผิดเพี้ยน ถ้าไม่รวมแนวผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ มานีมีนาแล้ว ก็คงหนีไม่พ้น

บทกวีของท่านกวีเอกสุนทรภู่ที่ว่า แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์... พ่วงด้วยไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก เนื่องจากท่องบ่อย (อันหลังคงไม่ต้องบอกนะครับว่า ท่องที่ไหน)
นอกนั้นก็มีบทกวีที่ว่า ธรณีนี่นี้เป็นพยาน ของท่านศรีปราชญ์

คิดไปคิดมาก็น่าแปลกใจ ทั้งที่ท่านศรีปราชญ์ก็ซี้ไปหลายปีแล้ว รูปร่างหน้าตาประวัติก็ไม่ค่อยจะมีใครรู้แล้ว แต่กลอนบทนี้ยังคง"ป็อป"อยู่ถึงทุกวันนี้
คำพูดของอ.ศิลป์ พีระศรีที่ว่า ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาวยังใช้ได้เสมอ

ส่วนบทกวีรุ่นใหม่ที่เป็นเรื่องเป็นราวหน่อยก็ ดอกไม้จะบาน,อหังการ์ของดอกไม้ ที่ว่าสตรีมีสองมือ ของคุณจิรนันท์ พิตรปรีชา
อนิจจาน่าเสียดาย ของท่านอังคาร

แต่ยังมีบทกวีอีกบทนึงที่หลายคนไม่รู้จักแม้ชื่อผู้แต่งแต่ท่องได้คล่องปื๋อ

บทกวีที่ว่านั้นคือ

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว


แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า กลอนบทนี้ที่จริงมันยาวกว่านี้มาก และชื่อกลอนที่คนส่วนใหญ่คิดว่าชื่อ ฉันจึงมาหาความหมาย จริงๆ แล้วชื่อของมันคือ เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน

และกลอนเต็มๆ เขาว่าอย่างนี้ครับ

ดอกหาง นกยูง สีแดงฉาน
บานอยู่เต็มฟากสวรรค์
คนเดินผ่าน ไปมากัน
เขาด้นดั้น หาสิ่งใด

ปัญญา มีขาย ที่นี่หรือ
จะแย่งซื้อ ได้ที่ไหน
อย่างที่โก้ หรูหรา ราคาเท่าใด
จะให้พ่อ ขายนา มาแลกเอา

ฉันมา ฉันเห็น ฉันแพ้
ยินแต่ เสียงด่า ว่าโง่เง่า
เพลงที่นี่ ไม่หวาน เหมือนบ้านเรา
ใครไม่เข้า ถึงพอ เขาเยาะเย้ย

นี่จะให้ อะไร กันบ้างไหม
มหาวิทยาลัย ใหญ่โตเหวย
แม้นท่าน มิอาจให้ อะไรเลย
วานนิ่งเฉย อย่าบ่น อย่าโวยวาย

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

มืดจริงหนอ สถาบัน อันกว้างขวาง
ปล่อยฉัน อ้างว้าง ขับเคี่ยว
เดินหา ซื้อปัญญา จนหน้าเซียว
เทียวมา เทียวไป ไม่รู้วัน

ดอกหาง นกยูง สีแดงฉาน
บานอยู่เต็ม ฟากสวรรค์
เกินพอ ให้เจ้า แบ่งปัน
จงเก็บกัน อย่าเดิน ผ่านเลยไป


บทกวีบทนี้อยู่ในหนังสือชื่อ ฉันจึงมาหาความหมาย แต่งโดย วิทยากร เชียงกูล ครับ



ครับ จนเดี๋ยวนี้ คนอาจลืมไปแล้วว่า วิทยากร เชียงกูลคือใคร ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาวจริงๆ

ผมเอาข้อมูลของอ.วิทยากรที่ค้นมาจาก wikipedia มาฝากครับ

ประวัติผู้เขียน

วิทยากร เชียงกูล เกิดปี พ.ศ.๒๔๘๙ และเติบโต ที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เรียนจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสวบกุหลาบ จบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ในปี ๒๕๑๒ และทำงานสิบกว่าปีก่อนที่จะไปศึกษาขั้นปริญญาโท จากสถาบันศึกษา สังคม เมืองเฮก เนเธอร์แลนด์ เพียงเพราะอยากจะเปลี่ยนงานจากนักวิชาการของธนาคาร มา เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

งานประจำที่เคยทำคือ กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช นักเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายวิจัยและวางแผน ที่ธนาคารกรุงเทพฯ เป็นอาจาย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เป็นผู้ชำนาญการคณะกรรมาธิการ การ คลังฯ ประจำรัฐสภา เคยเป็นรองอธิการบดี, เป็นคณบดีคณะนิเทศศาสตร์, คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

มีผลงานเขียนและแปลมาแล้วประมาณ ๕๐ เล่ม ที่เป็นบันเทิงคดี ก็มีเรื่อง ฝันของ เด็กชายชาวนา และฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึง นอกจากนั้น เป็นงานประเภทบทความ และการ วิเคราะห์เชิงวิชาการ เช่น เราจะไปทางไหนกัน ปัญหาพื้นฐานของประเทศด้อยพัฒนา แนวคิด ใหม่ทางการศึกษา ปัญหาพื้นฐานของชาวนาไทย การพัฒนาทุนนิยมในประเทศไทย ปัญญาชน กับการเปลี่ยนแปลงสังคม ทางออกการเมืองไทย ศึกษาบทบาทและความคิดของ ป๋วย อึ๊งภา กรณ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ ส.ศิวรักษ์ วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง สังคมไทย การกอบกู้ฟื้นฟูชาติจากพันธนาการของ IMF ฯลฯ ได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๑



ประวัติของกลอน

เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน หรือที่นิยมเรียกว่า ฉันจึงมาหาความหมาย เป็นกลอนที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเขียนหนึ่งในหลายชิ้น ที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา "หัวก้าวหน้า" ยุคก่อนและหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เนื้อหาของกลอนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของนักศึกษาคนหนึ่ง ซึ่งตั้งคำถามเชิงเสียดสีเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาในมหาวิทยาลัย

กลอนชิ้นนี้แต่งโดย วิทยากร เชียงกูล เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่งขึ้นสำหรับ วันสถาปนาธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ. 2511 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ยูงทอง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และถูกตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ในหนังสือชื่อ "ฉันจึงมาหาความหมาย" ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานจำพวกบทกวีของวิทยากรในช่วงสมัยที่ยังศึกษาอยู่และช่วงที่เพิ่งจบ


แถมบทวิเคราะห์จากคุณสุมาลี วีระวงศ์ครับ

วิทยากร เชียงกูล ถือกำเนิดใน พ.ศ.๒๔๘๙ ที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ศึกษาชั้นประถมและมัธยมต้น
ในถิ่นเกิด แล้วย้ายตามผู้ปกครองเข้ามาจังหวัดธนบุรี เข้าเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบจนจบชั้นเตรียมอุดมซึกษา จึง
เข้าศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนจบในปีพ.ศ.๒๕๑๒

เนื่องจากมีความสนใจในการเรียนและทำหนังสือมาแต่สมัยที่เรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา วิทยากรเริ่มทำงานในกอง
บรรณาธิการวารสารในเครือของไทยวัฒนาพานิช (ได้แก่ ชัยพฤกษ์ และ วิทยาสาร ฯลฯ) ก่อนที่จะเปลี่ยนไปทำงาน
ทำนองเดียวกันในธนาคารกรุงเทพระยะหนึ่ง จากนั้นจึงเปลี่ยนแนวไปสอนคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ช่วงหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ วิทยากรเดินทางไปต่างประเทศพร้อมภรรยา (พรภิรมย์ สกุลเดิม เอี่ยมธรรม) ชั่ว
ระยะหนึ่ง เมื่อกลับมาเข้าทำงานธนาคารได้ไม่นาน ก็เปลี่ยนไปทำงานในมหาวิทยาลัยรังสิตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ผลงานจำพวกบทกวี (เรื่องสั้นกับบทละคร) ของวิทยากร เป็นผลงานช่วงแรกๆสมัยที่ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยและ
ช่วงที่จบใหม่ ภายหลังรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ ฉันจึงมาหาความหมาย ส่วนผลงานช่วงหลังเป็นบทวิจารณ์และงาน
เขียนเชิงวิชาการในลักษณะพจนานุกรม เช่น ศัพท์ใหม่ อธิบายโลกยุคข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น ล่าสุดเมื่อต้นปี ๒๕๔๑
วิทยากรได้จัดทำหนังสือรวมบทกวีออกมาเล่มหนึ่งชื่อ เรายังมีชีวิตและยังใฝ่ฝันอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบทกวีแปล แต่มีผล
งานที่เขียนเองรวมอยู่ด้วย

บทกวีของวิทยากร เชียงกูล ที่ชื่อ เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ซึ่งแต่งขึ้นสำหรับวันสถาปนาธรรมศาสตร์ในพ.ศ. ๒๕๑๑
บทนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในหมู่นิสิตนักศึกษา "หัวก้าวหน้า" ยุคก่อนและหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๔ ผู้นิยามตัวเอง
ว่าเป็น "ผู้แสวงหา" ความหมายของชีวิตและการศึกษา อันที่จริงคำถามที่ว่า มหาวิทยาลัยให้ (หรือมิได้ให้) สิ่งใดแก่ผู้
เรียนบ้าง เป็นคำถามที่มีผู้นำมาใช้เป็นแรงกระตุ้นทางความคิดมาแต่ราวสมัยที่อุชเชนียังเขียนบทกวีนั้นแล้ว แต่วิทยากร
เป็นผู้สรุปประเด็นและให้คำตอบที่ "สะใจ" ได้มากกว่าผู้อื่น วรรคทองของเขาที่ว่า
ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว
จึงมีผู้นำไปเอ่ยอ้างกันมากมายจนแทบว่าวรรคที่สองนั้นจะกลายเป็นชื่อที่แท้จริงของบทกวี พร้อมๆกับที่กลายเป็นสำนวน
ติดปากที่นับว่าทันสมัย ในขณะที่ส่วนประกอบอื่นของบทกวีเลือนไปจากความทรงจำของคนโดยมาก

ข้อที่น่าสังเกตคือ ในขณะที่เนื้อความหลักของบทกวีเป็นการเสียดสีการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา ว่าเป็นการ
ซื้อขาย "ปัญญา" ที่ "มิอาจให้อะไรเลย" คือไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่พึ่งแก่นักศึกษาที่ "เทียวมาเทียวไปไม่รู้วัน" โดย
"ไม่เข้าถึง" (อะไรๆ) พอ และถูกเยาะเย้ยหรือ "ด่าว่าโง่เขลา" เป็นประจำ วิทยากรก็เสนอว่าที่นั้นยังมี "ดอกหางนกยูงสีแดง
ฉาน บานอยู่เต็มฟากสวรรค์ " และกล่าวเชิญชวนให้ (นักศึกษา) ทุกคนเก็บดอกไม้นั้นมาแบ่งปันกันอย่างทั่วถึง ดูเหมือน
วิทยากรต้องการปลุกเร้าความคิดทางการเมืองของนักศึกษาโดยเสนอเป็นนัยว่า อุดมการณ์นั้นน่าจะมีคุณค่าและความ
หมายมากกว่าปริญญา ซึ่งเขาถือว่าเป็นเพียง "กระดาษแผ่นเดียว" ที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยด้วยการ "ขายนาเอามาแลก"

แม้เวลาหรือสมัยของอุดมการณ์ดังกล่าวจะผ่านพ้นไปแล้ว ข้อสังเกตเชิงวิจารณ์ของวิทยากรทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับมหา
วิทยาลัยและตัวนักศึกษาเอง ก็ยังกระตุ้นเร้าความคิดของผู้รับสารได้อยู่ดี แม้ว่าข้อสรุปหรือคำตอบอาจจะแปรไปจากที่
วิทยากรกล่าวไว้แล้วก็ตาม ผู้เป็นอาจารย์ก็จะต้องตอบปัญหาที่ว่าตนเอง (หรือสถาบันที่ตนเป็นตัวแทน) ควรจะ "ให้"
อะไรแก่นักศึกษา เช่นเดียวกับที่นักศึกษาโดยเฉพาะชาวต่างจังหวัดที่พ่อต้องขายที่นามาส่งเสียให้เรียนสูงๆ จะต้องตอบ
ตัวเองว่า เข้ามาในมหาวิทยาลัยเพื่อ "เก็บ" อะไรไปบ้าง

ลีลากลอนของวิทยากรในเพลงเถื่อนแห่งสถาบัน มีลักษณะคล้ายกลอนบทละครในแง่ที่จำนวนคำและจังหวะแปรผัน
อย่างค่อนข้างอิสระ วรรคหนึ่งอาจมีได้ตั้งแต่ ๖-๙ คำ ไม่ใช่กลอนแปดแบบสุนทรภู่ ซึ่งจำนวนคำและสัมผัสสม่ำเสมอ
จนเกือบจะตายตัว อย่างกลบทมธุรวาที แต่ก็ไม่ถึงกับจงใจสละเสียงสัมผัสเสียเลยทีเดียว คำที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นคำ
ร่วมสมัย เห็นได้ชัดว่ารับวิธีคิดและโวหารอุปมาใหม่ๆจากประสบการณ์การเรียนรู้และใช้ชีวิตในกลุ่มนักศึกษา/อาจารย์
รุ่นใหม่ เข้ามาสอดแทรกไว้ โดยเฉพาะการตั้งแง่เกี่ยวกับภารกิจและคุณค่าของสถาบัน.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



สาเหตุที่อยู่ดีๆ ก็คิดถึงกลอนบทนี้ขึ้นมาไม่ใช่อะไรหรอกครับ เรื่องมันมีที่มาที่ไป

พอดีไปสัปดาห์หนังสือมา พอเข้างานปุ๊บก็ตรงดิ่งไปที่บูทสามัญชนทันทีเพื่อจะไปซื้อวันที่ถอดหมวก หนังสือเล่มใหม่ของอ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แล้วเห็นหนังสือเล่มนี้ลดราคาอยู่ เพราะได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาเยอะ เลยหยิบมาด้วยอย่างไม่ต้องคิดมาก

(พูดถึงบูทนี้แล้วก็อดขำไม่ได้ ใครหนอดันเอาไปตั้งติดกับบูทขายหัวเราะ บูทนึงมีแต่หนังสือเครียดๆ หน้าคนเขียนเข้มๆ ส่วนอีกบูทนึงเปิดเพลงหมีแพนด้าทั้งวัน ขัดแย้งกันอย่างมาก ตอนนักเขียนสามัญชนมาแจกลายเซ็นจะมีแอบขำกันไหมเนี่ย)

ภายในเล่มประกอบด้วยเรื่องสั้น และบทกลอน ซึ่งถ้าได้อ่านตอนอยู่มหาวิทยาลัยแล้วล่ะก็ ระดับความสะเทือนอารมณ์นี่ไม่แพ้การได้ดูหนังเรื่อง Dead Poets Society ตอนเราอยู่ม.ปลายเลย

น่าเสียดายที่ผมเรียนจบมาหลายปีแล้ว แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะสัมผัสถึงพลังของมันไม่ได้

ไม่แน่เผลอๆ ยิ่งเรียนจบแล้ว ชีวิตจริงยิ่งมีอะไรให้ค้นหาแต่มีค่าแค่กระดาษแผ่นเดียวมากกว่าตอนอยู่มหาวิทยาลัยอีกมาก

สรุปอย่างย่นย่อว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนทุกคนที่เคยสับสนกับระบบ ไม่ใช่ว่าขบถแม่งทุกเรื่อง ยังอยู่ในระบบอยู่ แต่ไม่เออออห่อหมกไปซะหมด พูดง่ายๆ ว่าต่อต้านข้อผิดพลาดในระบบมากกว่าระบบนั่นเอง

พูดมากเดี๋ยวสปอย คาดว่าถ้าใครอยากอ่านคงไม่ยากเกินไปที่จะตามหาแล้วกัน

ผมลองคิดดู สาเหตุหนึ่งที่กลอนบทนี้ยังไม่เสื่อมความนิยมไป อาจเกิดจาก ความรู้สึกร่วมสมัยของมันนี่เอง

อย่างที่บอก ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัย หลายสิ่งในสังคมยุคปัจจุบันก็มีค่าไม่หนีกระดาษใบเดียวเท่าไร
ภาวะปัจจุบันที่คนดิ้นรนไขว่คว้าเงินตรา เกียรติยศชื่อเสียงกันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง
ไม่ว่าเมื่อก่อนใครจะมีสาระสำคัญของชีวิตเป็นอะไร พอเข้ามาในวัฏจักรนี้นานๆ สุดท้ายก็ต้องแพ้พ่ายกระแส ยอมให้ความคิดพิมพ์นิยมแบบคนกรุงมาครอบงำจนได้

หรือบางคนที่รู้จุดหมายชัดเจน แต่ก็ต้องเจอความคิดที่ว่า ทำๆ ไปก่อน พอปัจจัยทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยทำตามจุดหมายที่ตั้งไว้ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเข้าอิหรอบเดิมอยู่ดี

ไม่ต้องดูที่ไหนไกล เอาแค่ชีวิตคนชั้นกลางในกทม.ทั่วๆไป (รวมทั้งผมด้วยนั่นแหละ) ดูเผินๆ เหมือนชีวิตจะงานยุ่ง ไม่มีเวลา มีแต่เรื่องตื่นเต้น เคลี่อนไหว มีสีสัน
แต่เมื่อลองเดินออกมาก้าวนึง แล้วย้อนมองกลับไปจากวงนอก ก็พบว่าแม้จะยุ่งเหยิงแต่มันก็ยุ่งเหยิงแบบเดิมๆ เช้าลืมตาขึ้นมาก็มีแต่เรื่องเดิมๆ(พี่บี้มาเอง) ปัญหาเดิมๆ คนเดิมๆ ความรู้สึกเดิมๆ

เปรียบไปก็คงเหมือนกับนั่งม้าหมุน แม้จะขึ้นลงวนเวียนวูบวาบไปมา แต่จริงๆมันก็วนเป็นวงกลมวงเดิมอยู่แค่ตรงนั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ใครที่สนุกกับม้าหมุนก็คงมี ผมจะคงจะไม่ห้าม แต่สำหรับคนที่เริ่มเวียนหัวเพราะวนมาหลายรอบแล้ว

ลองกระโดดออกมาวงนอกสิครับ
แล้วจะรู้ว่า โลกนี้มีอะไรมากกว่ากระดาษแผ่นเดียว...

ขอให้ทุกคนมีความสุขครับ

***********************************************************


Create Date : 17 เมษายน 2550
Last Update : 24 เมษายน 2550 3:19:45 น. 41 comments
Counter : 54976 Pageviews.

 
ได้ยินบ่อยเลยค่ะ ตอนเรียนธรรมศาสตร์


โดย: กระพรวนน้อยเสียงใส วันที่: 17 เมษายน 2550 เวลา:8:13:44 น.  

 


สำหรับหนังสือเล่มนี้
บอกเลยว่า มีตั้งแต่เล่มแรกที่พิมพ์ออกมา
คงเป็นเพราะป้าเป็นคน " สว..สูงวัย" แล้วนั้น่เอง อิ อิ

ตอนที่ซื้อนั่ยังเรียนอยู่เหมียนกันค่ะ ซึ้งมาก

มาได้อ่านในวันนี้ จึงอดรำลึกถึงเหตุการณ์เก่าๆ ไม่ได้
ขอบคุณ ที่ยังมีคนอ่านกันอยู่อีก





โดย: ป้าแอ็ด (addsiripun ) วันที่: 17 เมษายน 2550 เวลา:12:25:54 น.  

 
แวะมาอ่านค่า



โดย: gripenator วันที่: 17 เมษายน 2550 เวลา:13:41:55 น.  

 
เป็นบทกวีที่ดีมากเลยค่ะ



บทกวีที่เราท่องได้ขึ้นใจมีอยู่บทหนึ่ง
ซึ่งไม่รู้ที่มาที่ไป (เพราะจำไม่ได้ว่าไปเอามาจากไหน)

" รอนแรมเดินทางมา
เพียงเพื่อรู้ว่าฟ้าเปลี่ยนสี
คนเคยคุ้นเคยไม่มี
ที่มีก็แค่สายลม
แผ่วพลิ้วไปกับฟ้ากว้าง
อ้างว้างในใจสับสน
ใจร้ายเหลือคนบางคน
ฟ้าหม่น คนเศร้า เหงาใจ "


โดย: printcess of the moon วันที่: 17 เมษายน 2550 เวลา:13:51:50 น.  

 
ลป. รบกวนคุณฟ้าดินตั้งหน้านี้เป็นหน้าแรกด้วยค่ะ เพราะบางทีถ้าไม่ได้เข้าทางหน้าลิส ก็จะไม่ทราบว่าคุณอัพบล้อกแล้วค่ะ


โดย: printcess of the moon วันที่: 17 เมษายน 2550 เวลา:13:53:06 น.  

 
"ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย" ... อันนี้ได้ยินบ่อยค่ะ
วงสลึง (วงของมหิดล)เอามาร้องเป็นเพลงด้วย.. เพราะดีค่ะ แต่แอบเศร้าๆ


โดย: chichiro วันที่: 17 เมษายน 2550 เวลา:20:14:53 น.  

 
เป็นบทกวีที่ไพเราะมากเลยค่ะ
ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมเยียนค่ะ



โดย: ชะตาฟ้า วันที่: 17 เมษายน 2550 เวลา:23:46:00 น.  

 
อ่านจากเรื่องราวในช่วงท้ายแล้วทำให้มีอีกหลายคนหันกลับมามองตัวเองอย่างที่คุณว่า....ก็จริงเนอะ...


โดย: อนันตลัย วันที่: 18 เมษายน 2550 เวลา:1:45:55 น.  

 
น่าแปลกมากครับ จขบ. กับผมท่องกวีได้บทเดียวกับผมเลย
แต่ของผมเป็น "ฉันจึงมาหาความหงอย" นะครับ

ฉันเมา ฉันหง่าว ฉันอึ้ง
ฉันจึง มาหา ความหงอย
ฉันหวัง จะดึง ให้หมดปอย
สุดท้าย ดึงได้น้อย แค่กระจุกเดียว

ที่มาจากหนังสือชื่อเดียวกันนี้ครับ "ฉันจึงมาหาความหงอย" ผลงานของคุณไพบูลย์ วงษ์เทศ
เป็นหนังสือล้อเลียนงานเขียนของนักเขียนและกวีไทยดังๆ หลายคน
อย่างเช่นท่านอังคาร ท่านเนาวรัตน์ คุณวานิช และคุณวิทยากรด้วย
ผมรู้จักหนังสือเล่มนี้ก่อนที่จะรู้จัก "ฉันจึงมาหาความหมาย" อีกหละครับ

เกี่ยวกับเนื้อหาของ "ฉันจึงมาหาความหมาย"
เมื่อมองจากแนวคิดแล้วผมว่ามันร่วมสมัยจริงๆ แหละ
และคงจะยังร่วมสมัยไปอีกนานด้วย
ตราบใดที่ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมการทำงานของไทยยังเหมือนเดิม

อ้อ

ผมเคยเข้าไปอยู่ในม้าหมุนแค่ไม่กี่ปีครับ
ยังไม่นานพอจะเวียนหัวหรือเหนื่อย

ปัจจุบันผมปั่นจักรยานล้อเดียวอยู่ข้างนอกโดยตลอด
สนุกโลดโผนดีครับ
แต่มันเหนื่อยกว่านะครับผมว่า...


โดย: พลทหารไรอัน วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:0:13:00 น.  

 

ดอกไม้บนสวรรค์ คือ อุดมการณ์นี่เอง

...พึ่งรู้...ผมแปลความหมายมันผิดมาตลอด...


โดย: เล่งฮู้ IP: 58.9.172.251 วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:1:13:21 น.  

 
แวะมาทักทายค่ะ


โดย: ชะตาฟ้า วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:5:44:00 น.  

 
บทเดียวบทนั้น .. ป้ามดยังท่องได้ขึ้นใจ


โดย: ป้ามด วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:12:11:23 น.  

 
หลังๆ มันมีบทนี้ด้วยครับ (ตอนครบรอบ 36 ปี คณะศิลปศาสตร์ โดย อ.ศิลปศาสตร์ท่านหนึ่ง)

เธอเยาว์ เธอเขลา เธอทึ่ง
เธอจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังให้อะไร เธอมากมาย
สุดท้าย เอากระดาษ ฉันแผ่นเดียว


โดย: KMS&หมาป่าสำราญ วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:12:48:28 น.  

 
กลอนบทที่ว่า ผมก็จำขึ้นใจเหมือนกันครับ ผมยังคิดว่าผมไม่เห็นด้วยอยู่เลย

พอมาดูบทสุดท้ายของกลอนเต็มๆ ก็เข้าใจได้ว่าผู้แต่งก็ไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายนัก


เห็นกลอนบทดัดแปลงใน คห.13 แล้วก็เห็นด้วยอย่างแรงครับ เพราะที่ไม่เห็นด้วยกับกลอนต้นฉบับก็เพราะเหตุผลที่แสดงอยู่ในกลอนบทดัดแปลงนี่แหละครับ

สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวนักเรียนนักศึกษาเองว่า เข้ามาแล้วขวนขวายหาอะไรใส่ตัวกันมากน้อยแค่ไหน


โดย: คนทับแก้ว วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:13:18:00 น.  

 
สุขสันต์วันศุกร์ค่ะ


โดย: ชะตาฟ้า วันที่: 20 เมษายน 2550 เวลา:16:32:31 น.  

 
สวัสดีวันจันทร์


โดย: gripenator วันที่: 23 เมษายน 2550 เวลา:11:14:16 น.  

 
เรีนรยาพว
กดะปกพ


โดย: แบงค์ IP: 124.157.247.213 วันที่: 23 เมษายน 2550 เวลา:13:35:31 น.  

 


ขอมอบบทกวีนี้แด่ทุกท่านค่ะ

" สถาบันชั้นเอก เฉกตลาด
ทุกคนอาจซื้อหาวิชาได้
แต่ผลที่ได้รับนำกลับไป
ต่างหรือไม่ เราไม่รู้อยู่ที่คน"

จากส่วนหนึ่ง ของ "ตลาด"
กลอนของคุณอนันต์ สวัสดิพละ
ตีพิมพ์ในหนังสือกระดาษแก้ว เดือนกันยายน ปี พ.ศ.2511



โดย: ป้าแอ๊ด (addsiripun ) วันที่: 23 เมษายน 2550 เวลา:13:37:14 น.  

 
สวัสดีตอนเย็นๆค่ะ
มาตอบว่าดาราคนโปรดที่คุณชอบค่ะ
วิขอเดาว่าเป็นดาราชาย3คนนี้ค่ะ

1.Bruce Willis
2.Tom Cruise
3.เฉินหลง (Jackie Chan)

ฝันดีนะค้ะ


โดย: ชะตาฟ้า วันที่: 23 เมษายน 2550 เวลา:19:55:29 น.  

 
อ่านแล้วคุณวิทยากร เชียงกูล เก่งจังเลยนะคะ แต่น่าเสียดายที่ฝนเพิ่งจะได้ยินหรือได้อ่านประวัติคร่าวๆ จากที่บล๊อกนี้เนี่ยค่ะ

ไม่รู้จักหรือได้ยินมาก่อนเลย


โดย: Malee30 วันที่: 23 เมษายน 2550 เวลา:23:55:55 น.  

 
เคยได้ยินมานานแล้วค่ะ แหม กลอนที่คุณฟ้าดินท่องได้ บีก้อท่องได้เหมือนกันทั้งนั้นเลย งิงิ ส่วนของวิทยากร เชียงกูล นี่ก็ท่องได้แต่ท่อนฮิต เช่นกัน

ชอบนะคะ แล้วมันก็จริงและที่ยังคงความอมตะอยู่ได้จนทุกวันนี้ เป็นเพราะว่าสังคมไทย ยังคงมองการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นแค่เพียงทางผ่านอยู่เหมือนเดิม ที่ใช้คำนี้เพราะ บัณฑิตมากมายที่เรียนเพียงเพื่อแค่ "เอาวุฒิ" ไปสมัครงาน สุดท้ายก็เหมือนเรียนเพื่อต้องการกระดาษแผ่นเดียวจริง ๆ

น่าจะ print ขายกันไปเลยง่ายกว่ามั๊ย มานั่งเรียนตั้ง 4 ปี จบออกมาไม่มีอะไรเหมือนเดิม เหอะ ๆ

ขอบคุณสำหรับประวัติและความรู้ดี ๆ นะคะ ขอ add blog เลยนะคะ


โดย: Beee (Beee_bu ) วันที่: 24 เมษายน 2550 เวลา:1:58:38 น.  

 
It's very nice blog you are very good man my brother


โดย: lookmoo IP: 58.10.84.75 วันที่: 15 พฤษภาคม 2550 เวลา:1:41:12 น.  

 
ได้อ่านเต็มๆ ก็ครั้งนี้เองค่ะ
อ่านแล้วรักธรรมศาสตร์จังเลย
ที่นี่ให้อะไรที่มากกว่ากระดาษ 1 ใบแน่นอนค่ะ รักรุ่นพี่ทุกๆคน รู้สึกอบอุ่นตั้งแต่ก้าวแรกที่ได้มาเป็นลูกแม่โดม

- เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้


โดย: สินสาด L'Arts -- TU ปี50 IP: 124.120.22.214 วันที่: 25 กรกฎาคม 2550 เวลา:22:15:25 น.  

 

เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง ฤาจึงมุ่งมาศึกษา
เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้นฤา
แท้ควรสหายคิด จงตั้งจิตร่วมยึดถือ
รับใช้ประชาคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน

เห็นข้อความนี้บนรูปถ่ายใส่ครุยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของคุณพ่อ.....


โดย: angelina IP: 203.113.28.6 วันที่: 14 ตุลาคม 2550 เวลา:14:35:31 น.  

 


โดย: เพ IP: 222.123.87.93 วันที่: 7 เมษายน 2551 เวลา:11:53:34 น.  

 
ขนลุก!!

ชอบมากจริงๆกลอนนี้ อ่านกี่ทีก็เศร้า


โดย: huou IP: 118.174.67.31 วันที่: 17 พฤษภาคม 2551 เวลา:12:15:14 น.  

 
ชอ บมากจริงๆคับ กวีบทนี้
ใครรู้ช่วยแปลให้ทีนะคับ
ไม่ค่อ ยเข้าใจ ตรง..

ดอกหาง นกยูง สีแดงฉาน
บานอยู่เต็ม ฟากสวรรค์
เกินพอ ให้เจ้า แบ่งปัน
จงเก็บกัน อย่าเดิน ผ่านเลยไป


โดย: กาปอม IP: 58.8.207.91 วันที่: 12 ตุลาคม 2551 เวลา:23:35:57 น.  

 
สวัสดีค่ะ ฉันได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว
ฉันจึงมาหาความหมาย สนุกดี
โดยเฉพราะเรื่อง บทสนทนาทางโทรศัพย์ในค่ำคืนแห่งความหว้าเหว่


โดย: mary IP: 124.157.241.19 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2551 เวลา:14:28:06 น.  

 
ปี2552มาคนแรกเลย


โดย: ไม่มีชื่อ IP: 118.172.80.95 วันที่: 14 ธันวาคม 2552 เวลา:20:17:14 น.  

 
ผมแปลไม่ออกเลยจริงๆอะครับกลอนบทนี้ ตอนเรียนในห้องผมก็งงว่า ทำไมกลอนบทนี้ถึงทำให้เกิดเหตุการณืเหล่านั้นได้ แต่ผมชอบนะครับ เพราะผมเข้ามหาลัยมา สิ่งที่ผมได้จริงๆคือเพื่อนร่วมงานอะครับ ความรู้เป็นส่วนหนึ่งจริงๆ ซึ่งจากที่ผมได้ทำงานจริงผมคิดว่าคนเราเรียนรู้จากตรงนั้นได้มากกว่าการเข้าเรียนมหาลัยในบางสาขาวิชาด้วยซ้ำ


โดย: MICKEY IP: 183.89.201.244 วันที่: 25 กรกฎาคม 2553 เวลา:1:36:01 น.  

 



โดย: yoddel19 วันที่: 6 สิงหาคม 2553 เวลา:18:06:02 น.  

 
อยากได้หนังสือเล่มนี้ค่ะ มีขายที่ไหนบ้างคะตอนนี้ เพราะหาแล้วยังไม่ได้เลย


โดย: lamyai IP: 115.67.227.114 วันที่: 20 กันยายน 2553 เวลา:23:12:49 น.  

 
หาซื้อไม่ได้เแล้ว


โดย: อ IP: 58.64.99.5 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2553 เวลา:19:38:28 น.  

 
การเรียนในมหาวิทยาลัย ความรู้จากตำราหรือจากที่ฟังจากอาจารย์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจริงๆ ครับ สิ่งที่คุณควรเรียนรู้ คือการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ อยู่อย่างไรให้เป็นสุข อยู่อย่างไรให้ร่วมกันพัฒนาสังคมได้


โดย: nai IP: 101.108.160.25 วันที่: 7 กรกฎาคม 2555 เวลา:8:10:55 น.  

 
ถ้าจำไม่ผิดมีคุณเสถียร จันทิมาธรเขียนล้อเลียนไว้..จำได้ไม่แม่นครับแต่ประมาณนี้แหละว่า..
ฉันเมาฉันเขลาฉันอึ้ง
ฉันจึงมาหาความหงอย
ฉันหวังจะดึงให้หมดปอย
สุดท้ายฉันดึงได้น้อย แค่กระจุกเดียว..
....
ผิด ถูกไม่ไกลจากนี้เท่าไรครับ..


โดย: เฟี้ยม IP: 118.172.210.0 วันที่: 12 มกราคม 2556 เวลา:15:52:10 น.  

 

ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย...

ที่จริงตามหาเรียงความเรื่องที่บอกว่า
" ถ้าฉันเป็นนายกรัฐมนตรี ฉันจะกินถนน กินสะพาน กินปูน กินหิน กินทราย ฯลฯ " เนื้อหาทำนองนี้ เกิดขึ้นช่วงเดียวกับกวีบทนี้เหมือนกัน ยังหาไม่เจอ ใครมีช่วยแบ่งปันด้วย จะได้นำมาเปรียบเทียบกับยุคปัจจุบัน ว่าเขากินอะไรกันบ้างแล้ว..


โดย: Mr.T IP: 58.8.124.43 วันที่: 23 พฤษภาคม 2556 เวลา:14:00:21 น.  

 
viagra generic name cheap viagra generic viagra //canadianpharmacynda.com/


โดย: cheap viagra IP: 212.47.252.101 วันที่: 24 ตุลาคม 2562 เวลา:19:42:46 น.  

 
hydroxycloroquine https://plaquenilx.com/# hydroxyquine medication


โดย: quinine for lupus IP: 92.204.174.134 วันที่: 16 กรกฎาคม 2564 เวลา:3:13:36 น.  

 
chlooquine https://chloroquineorigin.com/# hydoxychloroquine


โดย: what is hydroxychloroquine used to treat IP: 92.204.174.134 วันที่: 20 กรกฎาคม 2564 เวลา:21:32:09 น.  

 
https://cialiswithdapoxetine.com/ cialis online


โดย: cialis support 365 IP: 46.161.11.64 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา:17:17:39 น.  

 
//erythromycinn.com/# erythromycin uses


โดย: ajxoolbu IP: 46.161.11.64 วันที่: 7 มิถุนายน 2565 เวลา:18:32:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.