The Hurt Locker ‘ฮีโร่นอกคอก’รีเทิร์น




The Hurt Locker
‘ฮีโร่นอกคอก’รีเทิร์น

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 24 มกราคม 2553


*สงครามปลดปล่อยอิรักผ่านมาหลายปี ฮอลลีวู้ดยังคงเลียบๆ เคียงๆ อยู่แค่วงนอก โดยพูดถึงผลกระทบด้านลบต่อชาวอเมริกันในหลายรูปแบบ หรือไม่อย่างนั้นก็นำเสนอเหตุการณ์คู่ขนานอย่างการก่อการร้ายและภารกิจของหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทหาร รวมทั้งเหตุการณ์ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของสงคราม เปิดโอกาสให้แสดงท่าทีทั้งเชิดชูและวิพากษ์บทบาทของสหรัฐอเมริกา

ภาพสงครามที่ผูกติดกับการรบในสมรภูมิ เด็กหนุ่มอเมริกันในเครื่องแบบทหาร ภาพความรุนแรง ความตาย ยังคงเป็นสิ่งที่ควรเลี่ยงบนจอใหญ่ อาจจะมีเล็ดรอดแค่หนึ่งหรือสองเรื่อง เช่น Home of the Brave เมื่อปี 2006 แต่ผลลัพธ์คือถูกลืมไปแบบเงียบๆ

The Hurt Locker จึงถือเป็นหนังสงครามอิรักเรื่องแรกที่สร้างความแตกต่างได้สำเร็จแม้จะขายภาพทหารในสมรภูมิโดยตรง ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ คว้ารางวัลมากมาย กระแสดีจนค่อยๆ ทำรายได้เกินทุนสร้าง ถึงกระนั้น หนังสงครามอิรักเรื่องนี้ก็ยังไม่ใช่ผลผลิตของสตูดิโอใหญ่ แต่สร้างโดยบริษัทสร้างหนังอิสระ

น่าคิดว่าท่ามกลางความเบื่อหน่ายสงครามและข่าวความตายรายวันจากตะวันออกกลาง ปัจจัยใดบ้างที่ส่งให้ The Hurt Locker มาถึงจุดนี้

The Hurt Locker (2008) กำกับโดย แคธริน บิเกโลว์ หญิงเก่งแห่งวงการหนังแอ็คชั่นจากผลงานอย่าง Point Break (1991) และ Strange Days (1995) ก่อนจะล้มเหลวไม่เป็นท่ากับหนังสงครามเย็นเรื่อง K-19: The Widowmaker (2002) ความสำเร็จของ The Hurt Locker จึงถือเป็นกลับมาอย่างเหนือความคาดหมายหลังจากห่างหายไปนาน

บทหนังโดย มาร์ค โบล นักข่าวอิสระ ดัดแปลงเป็นเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงเมื่อครั้งติดสอยห้อยตามหน่วยเก็บกู้ระเบิดในสงครามอิรัก ถ่ายทำในประเทศจอร์แดนและคูเวต กลุ่มตัวละครหลักรับบทโดยนักแสดงโนเนม 3 คน ได้แก่ เจเรมี เรนเนอร์ แอนโธนี แมคกี และไบรอัน เจราห์ตี แต่บทสมทบเล็กๆ ได้นักแสดงระดับ กาย เพียร์ซ เรล์ฟ ไฟนส์ เดวิด มอร์ส และเอวานจิลีน ลิลี มาปรากฏตัวคนละฉากสองฉาก องค์ประกอบที่เด่นมากคืองานกำกับภาพของ แบร์รี แอคครอยด์

ฉากหลังในกรุงแบกแดดหลังจากสหรัฐยึดครองอิรักได้ไม่นาน เริ่มต้นด้วยการเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำหน่วยเก็บกู้ระเบิดประจำกองร้อยบราโวแห่งกองทัพบกสหรัฐ สิบโทวิลเลียม เจมส์ (เรนเนอร์) จึงย้ายมาเป็นผู้นำหน่วยแทน ร่วมกับลูกทีมเดิมคือแซนบอร์น (แมคกี) และโอเวน (เจราห์ตี)

การออกเก็บกู้ระเบิดแต่ละครั้งต้องทำงานกันเป็นทีมโดยผู้นำหน่วยจะสวมชุดป้องกันเดินไปหาเป้าหมาย อีกสองคนคอยฟังสถานการณ์ผ่านวิทยุสื่อสารและเฝ้าระวังทั่วบริเวณ แม้ภารกิจแรกของวิลเลียมจะประสบความสำเร็จและไม่มีใครได้รับอันตราย แต่แซนบอร์นออกอาการไม่พอใจอย่างรุนแรงเมื่อวิลเลียมตัดการสื่อสารและลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตนเองโดยที่ลูกทีมไม่สามารถรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ภารกิจต่อๆ มามีอีกหลายครั้งที่วิลเลี่ยมยังคงลุยเดี่ยวหรือตัดสินใจโดยลูกทีมไม่เข้าใจว่าเขาคิดอะไรอยู่ แต่ด้วยความสนิทสนมที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวเข้าหากันทำให้ภารกิจหลากหลายรูปแบบซึ่งมากมายด้วยอันตรายยังผ่านไปด้วยดี

วิลเลียมเชี่ยวชาญในงานของตัวเอง บุคลิกเด็ดเดี่ยวแต่ผ่อนคลาย ไม่ลังเลหวาดหวั่นแม้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือระเบิดทำลายล้างสูง ต่างจากเวลาอยู่คนเดียวในห้องพักซึ่งเขาดูนิ่งเงียบครุ่นคิดและดื่มหนักราวกับมีบางสิ่งติดค้างในใจ เขามีภรรยาและลูกน้อยอยู่ที่บ้าน แต่เมื่อโทรศัพท์ไปกลับไม่ยอมพูดจา

*ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นเมื่อวิลเลียมรับรู้เรื่องเลวร้ายที่เกิดกับเด็กอิรักคนหนึ่ง เขาโกรธแค้นจนออกสืบหาคนที่ต้องรับผิดชอบตามลำพัง จากนั้นเขาพาลูกทีมบุกถิ่นของฝ่ายต่อต้านจนตกอยู่ในอันตรายทั้งที่ไม่จำเป็นและนอกเหนือคำสั่ง

จำนวนวันประจำการที่ลดน้อยลงไม่ได้รับประกันว่ามีโอกาสรอดตายเพิ่มมากขึ้น แซนบอร์นและโอเวนเฝ้าหวังถึงการมีชีวิตรอดกลับบ้าน แต่ทหารอย่างวิลเลียมอาจไม่ได้คิดเช่นนั้น

มาร์ค โบล เขียนบทโดยต้องการให้ The Hurt Locker เป็นหนังเรื่องแรกที่นำเสนอความเป็นไปของทหารอเมริกันในอิรักอย่างใกล้ชิดชนิดที่ข่าวไม่อาจนำเสนอได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ารวมถึงหนังโทรทัศน์มีหนังชุดขนาดสั้นของช่องเอชบีโอเรื่อง Generation Kill (2008) ทำออกมาก่อนด้วยลักษณะใกล้เคียงกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่สร้างจากบันทึกประสบการณ์ของนักข่าวคนหนึ่งเมื่อคราวติดตามหน่วยทหารในอิรัก และเนื้อหาว่าด้วยภารกิจแต่ละวัน

ส่วนที่ The Hurt Locker ต่างไปจาก Generation Kill และหนังสงครามส่วนใหญ่คือ หนังไม่มีพล็อตเป็นเรื่องเป็นราวชัดเจน นอกจากเฝ้าดูภารกิจบีบหัวใจแต่ละครั้งอย่างใกล้ชิด ไม่มีฉากรบดุเดือดเลือดสาด ไม่ต้องสับสนกับตัวละครในเครื่องแบบที่ดูคล้ายกันไปหมดเพราะมีหลักๆ แค่ 3 คน นั่นหมายถึงการตัดทิ้งเนื้อหายุ่งเหยิงอย่างสายการบังคับบัญชา แผนการรบ นโยบายจากฝ่ายบริหาร ปัญหามากมายภายในอิรัก และรายละเอียดของตัวละคร

เวลาส่วนใหญ่ของหนังผู้ชมจึงได้เห็นแค่ทหาร(โดยเฉพาะวิลเลียม) จดจ่ออยู่กับสถานการณ์เบื้องหน้าโดยไม่มีปัจจัยเชื่อมโยงอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง

เมื่อปลดเรื่องยุ่งยากให้ตัวละครแล้วก็เหมือนปลดภาระให้หนังด้วย เพราะผู้สร้างไม่ต้องห่วงว่าหนังจะไปแตะต้องเรื่องที่อาจทำให้เกิดท่าทีในทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ตีแผ่เปิดเผย หรือแม้แต่เชิดชูหนุนหลังสหรัฐอเมริกา

ผลที่ตามมาคือผู้ชมชาวอเมริกันทั้งกลุ่มที่เบื่อหน่ายสงคราม ต่อต้านนโยบายยึดครองอิรัก รวมไปถึงฝ่ายสนับสนุนบทบาทของสหรัฐน่าจะชมหนังเรื่องนี้ด้วยความสบายใจในระดับหนึ่ง

อีกจุดที่น่าสนใจคือตัวละครนำอย่างวิลเลียมซึ่งหนังสร้างบุคลิกให้เป็นทหารผู้ “เสพติด” สงคราม มุ่งมั่นกับหน้าที่ของตนเอง หรือกระทั่งออกไปลุยชำระล้างความชั่วร้ายตามลำพังโดยไม่สนใจว่าอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ กระทั่งกลายเป็นทหารที่ดูแตกต่างจากทหารทั่วไป ชวนให้นึกถึงแบบฉบับ “ฮีโร่นอกคอก” อย่างแฮร์รี คัลลาแฮน ตัวละครของ คลินต์ อีสต์วูด ในหนังชุด “มือปราบปืนโหด”

แฮร์รี คัลลาแฮน หรือ “เดอร์ตี แฮร์รี” คือตัวละครตำรวจผู้ไม่ลังเลที่จะจัดการกับคนร้ายด้วยตนเองโดยไม่หวังพึ่งกฎหมายภายใต้ความเน่าเฟะของระบบตำรวจ การปรากฏตัวครั้งแรกใน Dirty Harry เมื่อปี 1971 ยุคที่สงครามเวียดนามคือความผิดพลาดอันน่าอดสูของรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งซึ่งไม่ถึงกับต่อต้านอำนาจรัฐและเป็นกบฏสังคมจนต้องยกย่องคนนอกกฎหมายอย่างตัวละครใน Bonnie and Clyde (1967) มีที่พึ่งเป็น “ฮีโร่นอกคอก” ที่ยังยึดถือความถูกต้องโดยไม่แคร์ว่าระบบที่อยู่เหนือขึ้นไปนั้นจะย่ำแย่เพียงใด

ในยุคปัจจุบันที่สงครามอิรักคือความผิดพลาดของอำนาจรัฐ ตัวละครสิบโทวิลเลียม เจมส์ จึงถือเป็นการกลับมาของ “ฮีโร่นอกคอก” ในรูปแบบใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ เขาไม่ใช่ทหารทั่วไปที่ยึดติดกับสายการบังคับบัญชาและนโยบายรัฐ แต่เป็นทหารที่ยึดถือความถูกต้องตามแบบของตนเอง

จึงไม่น่าแปลกใจถ้าหนังจะยิ่งถูกจริตชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ว่าจะคิดเห็นต่อสงครามอิรักอย่างไร ลึกๆ แล้วก็ชอบบทบาทฮีโร่อยู่ดี




 

Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2553
8 comments
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2553 20:41:20 น.
Counter : 1580 Pageviews.

 


ตั้งใจแวะเข้ามาอ่านค่ะ
ขอบคุณที่นำมาฝาก
เพิ่งกลับจากเวียนเทียนค่ะเอาบุญมาฝากจ้า
หลับฝันดีเน้อ

 

โดย: อุ้มสี 28 กุมภาพันธ์ 2553 21:43:05 น.  

 


สัปดาห์หน้าต้องหาทางตะเกียกตะกายไปดูให้ได้ค่ะ
ว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้ จะล้มยักษ์อดีตสามีเธอได้หรือไม่
ชิง Oscar 9 ตัว เท่าหนัง Avatar ของ ผกก. James Cameron

 

โดย: เริงฤดีนะ 28 กุมภาพันธ์ 2553 22:55:13 น.  

 


ตื่นเต้น

ระทึก

และชวนหดหู่ใจเรื่อง(วงจร)เด็กขายแผ่นหนัง



 

โดย: renton_renton 1 มีนาคม 2553 20:50:02 น.  

 

เขย่าหัวใจให้ตื่นเต้นขณะดูได้ดีทีเดียวครับ

เสียดายที่ส่วนของน้องเบ็คแฮมถูกทิ้งไว้ห้วนๆ อย่างนั้น แต่ก็นะ หนังมันแมนๆ อยู่นี่ จะมาดราม่าอ้อยอิ่งก็ใช่ที่ ^^

แต่ส่วนตัวชอบ Up In The Air มากกว่าครับ

 

โดย: เอกเช้า IP: 203.144.144.164 3 มีนาคม 2553 22:49:36 น.  

 

ผมล่ะชอบเรื่องนี้จริงๆ
อเมริกันบิวตี้ชัดๆ

 

โดย: beerled IP: 118.172.80.144 3 มีนาคม 2553 23:23:11 น.  

 

ผมทึ่งที่หนังแมนๆเรื่องนี้กำกับโดย ผกก หญิงครับ อย่างว่าครับผมเคยได้ผ่านงานของเธอเพียงแต่ Strange Days เท่านั้นแล้วมันก็นานมากๆแล้วด้วย

ระทึกและปวดดีครับ ผมชอบมากกว่าอวตาร

 

โดย: Seam - C IP: 203.144.144.165 4 มีนาคม 2553 16:34:20 น.  

 

ระทึกดีครับ แต่ดูจบโดยรวมแล้วออกแนวเฉยๆนะครับ และก็ไม่ชอบตัวเอกที่เป็นเหมือนฮีโร่แบบนี้เลยอ่ะครับ

 

โดย: McMurphy 4 มีนาคม 2553 22:34:44 น.  

 

ผมชอบเรื่องนี้ครับ

มันให้รสชาติหนังสงครามไม่เหมือนเรื่องอื่นๆดี เหมือนเราเป็นตัวละครตัวนึงที่ติดตามสามทหารนั้นไปด้วยตลอด เห็นในสิ่งที่เขาเห็น ไม่มากกว่านั้น

บทสิบโทวิลเลี่ยม เจมส์ ห่ามเอามากๆจนทำให้หนังดูสนุกและมีสีสันมากทีเดียวครับ

 

โดย: jonykeano 8 มีนาคม 2553 22:31:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
28 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.