Towelhead พื้นที่ความใส่ใจ




Towelhead
พื้นที่ความใส่ใจ

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 8 มีนาคม 2552


*ชื่อของ อลัน บอลล์ เป็นที่รู้จักจดจำครั้งแรกในฐานะมือเขียนบทรางวัลออสการ์จากหนังเรื่อง American Beauty (1999) แม้หลังจากนั้นบอลล์จะไม่มีผลงานหนังใหญ่อีกเลย แต่หนังชุดทางโทรทัศน์ซึ่งเขาสร้างสรรค์-เขียนบท-กำกับฯอย่าง Six Feet Under และ True Blood ยังสามารถสืบเนื่องให้เห็นถึงเอกลักษณ์ในงานของเขาได้อย่างชัดเจน

บอลล์ชอบพูดถึงความขาดพร่อง-ช่องว่างของสายสัมพันธ์ภายในครอบครัว ขณะที่การสื่อสารกับผู้อื่นก็ไม่อาจเชื่อมต่อ ตัวละครจึงแสดงตัวตนอย่างอิสระด้วยแรงขับแห่งความเปล่าเปลี่ยว กระทั่งก้าวข้ามความดีงามเหมาะควร หนังของบอลล์จึงมีองค์ประกอบอย่างเซ็กซ์ ยาเสพติด และว่าด้วยชีวิตและความตายผสมกลมกลืนกันอยู่ ส่วนโทนของหนังจะเป็นดราม่าที่มีลักษณะตลกร้าย-เสียดสี

ใน Towelhead ผลงานหนังใหญ่เรื่องล่าสุดซึ่งบอลล์เขียนบทและกำกับฯเองยังมีแก่นสารและองค์ประกอบดังกล่าวให้เห็นเด่นชัด ทั้งยังมีระดับความแรงที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีเนื้อหาหลักว่าด้วยเรื่องเพศโดยตรงและเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ สอดคล้องไปกับประเด็นเรื่องชาติ-เชื้อชาติ-สีผิว ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

หนังดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ อลิเซีย เอเรียน เปิดตัวตามเทศกาลภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2007 ในชื่อ Nothing Is Private แต่เพิ่งออกฉายในโรงทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว ฉากหลังคือปี 1990 ก่อนเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก ศูนย์กลางของเรื่องเป็นเด็กหญิงเชื้อสายเลบานอน-อเมริกันอายุ 13 ขวบ ชื่อ จาซิรา (ซัมเมอร์ บิชิล) ผู้มีรูปร่างทรวดทรงเกินอายุทั้งยังหน้าตาสะสวย ความไร้เดียงสาทำให้เธอยอมให้แฟนของแม่ช่วยจัดการส่วนเกินใต้ร่มผ้าอันน่าอับอาย (เด็กๆ ที่สระว่ายน้ำเรียกเธอว่า “ชิวเบ็คกา” ตัวละครขนยาวในเรื่องสตาร์วอร์ส) เมื่อแม่ (มาเรีย เบลโล) รู้ว่าแฟนตนเองคิดไม่ดีกับลูกสาวจึงตัดปัญหาด้วยการส่งเธอจากนิวยอร์คไปอยู่กับพ่อชาวเลบานอนที่เมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส

พ่อของจาซิราชื่อ ไรฟัต (ปีเตอร์ มักดิสซี) เป็นชาวอาหรับคริสเตียนฐานะดี มีบ้านหลังใหญ่ย่านชานเมือง เขาเป็นคนถือตัว ไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน ที่แย่สำหรับจาซิราคือ พ่อชอบเข้มงวดเคร่งครัดต่อเธอด้วยการออกกฎห้ามนั่นห้ามนี่มากมาย ไม่เว้นแม้แต่ห้ามใช้ของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้หญิงบางอย่าง นอกจากนี้ พ่อยังชอบทิ้งให้เธออยู่บ้านตามลำพังเพื่อไปอยู่กับแฟนสาวชาวกรีกที่กำลังหวานชื่นกันอยู่

เวลาว่างหลังเลิกเรียนจาซิรารับจ็อบเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับครอบครัวเพื่อนบ้าน แม้ว่าเธอและเด็กชายที่เธอต้องดูแลจะไม่ชอบหน้ากัน เพราะเขาชอบเรียกเธอด้วยคำที่มีความหมายเชิงดูถูกทางเชื้อชาติ-ศาสนา ไม่ต่างจากเด็กๆ ที่โรงเรียนที่ชอบล้อเลียนหัวเราะเยาะเธอ แต่สิ่งโปรดปรานสำหรับจาซิราในบ้านหลังนี้คือการแอบเปิดอ่านนิตยสารปลุกใจเสือป่าพร้อมกับจินตนาการว่าตนเองเป็นนางแบบวาบหวิว กระทั่งระหว่างจินตนาการนั้นเธอได้รู้จักความหฤหรรษ์เป็นครั้งแรกด้วยตนเอง

โชคร้ายสำหรับจาซิรา เมื่อ เทรวิส (อารอน เอ็คฮาร์ต) พ่อของเด็กชายซึ่งเป็นทหารกองหนุนจับได้ เขาอาศัยความอยากรู้อยากลองของจาซิรา ประกอบคำขู่ว่าจะไปฟ้องพ่อของเธอเป็นช่องทางให้เข้าถึงตัวจาซิราในที่สุด

นอกจากเพื่อนบ้านหนุ่มที่เข้าถึงตัวเธอแล้ว จาซิรายังเปิดโอกาสเด็กชายเพื่อนร่วมห้องชื่อ โธมัส เข้าถึงความเป็นส่วนตัวของเธอด้วย แม้ต้องขัดคำสั่งพ่อที่ห้ามเด็ดขาดไม่ให้เธอคบหากับเขาเนื่องจากเขาเป็นเด็กผิวดำ

ด้านหนึ่งจาซิราจึงรู้สึกหลงเพริดกับประสบการณ์ทางเพศอันลึกลับท้าทาย อีกด้านหนึ่งเธอใฝ่หาความใกล้ชิดจากคนที่ใส่ใจเธออย่างแท้จริง

ยังดีที่ความหมดเปลืองซึ่งมาพร้อมกับฮอร์โมนที่พลุ่งพล่านดังกล่าวอยู่ในสายตาของเพื่อนบ้านหญิงท้องแก่ชื่อ เมลินา (โทนี่ คอลเล็ตต์) และสามีของเธอที่คอยเป็นหูเป็นตา พยายามชี้ช่องทางที่ถูกที่ควรแก่จาซิรา แต่ถึงอย่างไรจาซิรายังมีพื้นที่ส่วนตัวที่เมลินาไม่อาจเข้าถึงได้

ที่สำคัญคือ ถึงที่สุดแล้วจาซิราต้องเรียนรู้และหาทางออกให้ตนเอง

*หากเปรียบเทียบเรื่องนี้กับ American Beauty จะเห็นส่วนคล้ายกันในหลายๆ จุด ไม่ว่าจะเป็นฉากหลังซึ่งเป็นหมู่บ้านชานเมือง ตัวละครพ่อบ้านเบื่อเมียหันไปหลงใหลเด็กนักเรียนรุ่นลูก หรือตัวละครเด็กสาวมีท่าทียั่วยวนผู้ใหญ่ เพียงแต่ Towelhead มีระดับเนื้อหาแรงกว่าด้วยลักษณะของตัวละคร (เช่น อายุของเด็กสาวน้อยกว่า) อีกทั้งมีปริมาณและความเข้มข้นของเรื่องราวทางเพศมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ Towelhead มีเนื้อหาและสารที่ต้องการสื่อซับซ้อนกว่า เพราะไม่เพียงพูดถึงสังคมอเมริกันผ่านสถาบันครอบครัว แต่ยังขยายวงกว้างไปที่ความแตกต่างขัดแย้งด้านเชื้อชาติ-สีผิว จนถึงความเป็นชาติของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว

หนังจัดวางตัวละครและกลุ่มตัวละครได้น่าสนใจ โดยเฉพาะจาซิราซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่องเป็นตัวละครที่กำลังข้ามผ่านความเป็นเด็กหญิงสู่เด็กสาวจึงอยู่ในช่วงสับสนสงสัยกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและสภาวะอารมณ์ ส่วนสถานภาพของเธอก็มีความก้ำกึ่งเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานะลูกครึ่งอเมริกัน-เลบานอน หรือสถานะทางครอบครัวที่พ่อ-แม่หย่าร้าง และไม่รู้แน่ว่าเธอต้องอยู่กับใคร

ตรงสถานะอันก้ำกึ่งนี่เองทำให้จาซิราถูกฉกฉวยแย่งชิงจากฝ่ายนั้นฝ่ายนี้เพื่อให้สถานะของพวกเขาชัดเจนขึ้น

ไล่ตั้งแต่พ่อที่ปฏิบัติกับจาซิราราวกับให้เธอเป็นตัวแทนของรากเหง้าความเป็นชาวเลบานอน เพื่อให้ตนเองปล่อยตัวตามสบายแบบชาวอเมริกัน เพื่อนบ้านอย่างเมลินาแม้จะห่วงใยจาซิรา แต่ในฐานะหญิงท้องแก่ซึ่งรู้แล้วว่าจะได้ลูกสาว ความห่วงใยใส่ใจจาซิราจึงเหมือนเธอกำลังทำหน้าที่แม่ล่วงหน้า ส่วนเพื่อนบ้านอย่างเทรวิสต้องการจาซิราชดเชยความรู้สึกต่อภรรยาที่เขาไม่ได้รักแต่จำต้องแต่งงานเพราะความพลาดพลั้ง ขณะที่เพื่อนชายอย่างโธมัสอยากมีอะไรกับจาซิราเพื่อให้ตนเองเป็นหนุ่มเต็มตัว

ฉากที่ไรฟัตติดตั้งธงชาติอเมริกันไว้บนลานหน้าบ้านเพื่อไม่ให้น้อยหน้าเทรวิสที่ติดตั้งธงเช่นกัน และเพื่อต้องการบอกว่าแม้ตัวเขามีเชื้อสายเลบานอนแต่ก็เป็นชาวอเมริกันผู้รักชาติ ต้องการโค่นซัดดัม ฮุสเซน ไม่น้อยกว่าเทรวิส ทำให้ทั้งไรฟัตและเทรวิสต่างเป็นตัวแทนความเป็นอเมริกันอันแตกต่างที่ต้องอยู่ร่วมกัน แต่กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีกำแพงอคติบดบัง

แม้ฉากหลังจะเป็นช่วงเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกตั้งแต่ปี 1990 แต่เนื่องจากนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2005 และหนังออกฉายในปี 2007 นัยยะต่างๆ จึงสามารถเชื่อมโยงกับสหรัฐอเมริกาและสถานการณ์โลกปัจจุบันหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 และสงครามก่อการร้ายได้

ถ้ากลุ่มตัวละครในหนังเป็นภาพจำลองของสังคมอเมริกันและสังคมโลก ไรฟัตย่อมเป็นฝ่ายที่ถูกตั้งข้อสงสัยเคลือบแคลง เทรวิสซึ่งเป็นทหารกองหนุนคือตัวแทนฝ่ายรัฐ(หรือสหรัฐ) ที่รุกล้ำพื้นที่ของฝ่ายแรก (มีฉากแรงๆ ที่ให้เทรวิสขอมีอะไรกับเด็กเชื้อสายอาหรับอย่างจาซิราโดยหลอกว่าวันรุ่งขึ้นเขาต้องไปอิรัก) ส่วนเมลินาและสามีไม่ต่างจากกลุ่มคนรักสันติที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กระนั้น ไม่ว่าฝ่ายไหนล้วนแต่ต้องการ “ความบริสุทธิ์” เป็นเครื่องรองรับความดีงามของตน

คือ “ความบริสุทธิ์” ที่สื่อผ่านเด็กหญิงอย่างจาซิรานั่นเอง

แม้จะเต็มไปด้วยความแตกต่างขัดแย้งและมีฉากแรงๆ มากมาย แต่หนังยังให้ทางออกสวยงามอย่างมีความหวังเมื่อฝักฝ่ายที่เคยบาดหมางใจไม่ละเลยที่จะยื่นมือช่วยเหลือกันในฐานะของคนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงหรือร่วมสังคมเดียวกัน

กระทั่งเกิด “ความบริสุทธ์” และ “ความหวัง” ครั้งใหม่ ดังเช่นภาพทารกแรกคลอดในฉากสุดท้าย




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2552
4 comments
Last Update : 4 สิงหาคม 2552 19:33:37 น.
Counter : 1397 Pageviews.

 

ชอบเรื่องนี้มากๆเลยครับ

ผมชอบในการสร้างปมต่างๆของตัวละครทุกตัวในเรื่องครับมันเป็นภาพตัวแทนของทุกคนบนโลกได้เลย

อีกทั้งมันเป็นหนังที่แรงดีที่เดียวครับ

ปล. เพิ่งทราบครับว่า อลัน บอลล์ มีเอี่ยวกับ True Blood ด้วย มิน่าละครับซีรี่ย์นี้จึงวิภาคษ์สังคมได้แสบทรวงจริงๆ

 

โดย: Seam - C IP: 58.9.202.42 5 สิงหาคม 2552 10:18:38 น.  

 

จะไปหามาดูให้ได้ครับ

 

โดย: เอกเช้า IP: 124.122.80.226 7 สิงหาคม 2552 23:36:25 น.  

 

ไม่ได้มาอ่านตั้งนานแนะ

 

โดย: ม่วน IP: 113.53.36.69 8 สิงหาคม 2552 20:49:22 น.  

 

น่าดูนะครับเรื่องนี้ คาดว่าคงไม่พลาด (ถ้ามีโอกาส)

 

โดย: beerled IP: 203.150.245.181 10 สิงหาคม 2552 12:47:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2552
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
4 สิงหาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.