ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
คนผู้รุ่งโรจน์ได้เพราะปัญญา

สัมภวชาดก
ว่าด้วยคนผู้รุ่งโรจน์ได้เพราะปัญญา
พระบรมศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพระปัญญาบารมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้มี ดังนี้.
เรื่องปัจจุบันจักมีแจ้ง ในมหาอุมมังคชาดก (มโหสถชาดก)
เรื่องปัจจุบันในมโหสถชาดก
ความย่อว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในธรรมสภา เมื่อจะสรรเสริญพระปัญญาบารมีของพระตถาคต ได้นั่งสรรเสริญพระคุณของพระ-ศาสดาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเป็นผู้มีพระปัญญาใหญ่ มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาลึกซึ่ง มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน มีพระปัญญาแหลม มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาแทงตลอดย่ำยีเสียซึ่งวาทะแห่งคนอื่น ทรงทรมานเหล่าพราหมณ์ มีกูฏทันตพราหมณ์เป็นต้น เหล่าปริพาชกมีสัพภิยปริพาชกเป็นต้น เหล่ายักษ์มีอาฬวกยักษ์เป็นต้นเหล่าเทวดามีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น เหล่าพรหมมีพกพรหมเป็นต้น และเหล่าโจรมีโจรองคุลิมาลเป็นต้น ด้วยพระปัญญานุภาพของพระองค์ ทรงทำให้สิ้นพยศ พระองค์ทรงทรมานชนเป็นอันมากประทานบรรพชาให้ตั้งอยู่ในมรรคผล พระศาสดามีพระปัญญาใหญ่ ด้วยประการฉะนี้.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไร และเรื่องอะไรที่พวกเธอสนทนาค้างในระหว่าง เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลนี้เท่านั้นที่ตถาคตมีปัญญา แม้ในอดีตกาล เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ยังบำเพ็ญบุรพจรยาเพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณอยู่ ก็เป็นผู้มีปัญญาเหมือนกัน ตรัสฉะนี้แล้วทรงดุษณีภาพ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงประกาศบุรพจริยา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.

ส่วนเรื่องในอดีตมีว่า พระราชาทรงพระนามว่า ธนัญชยโกรัพยะ เสวยราชสมบัติในอินทปัตตนคร แคว้นกุรุ พราหมณปุโรหิตนามว่า สุจีรตะ ได้เป็นผู้กล่าวสอนอรรถธรรมของพระองค์ พระราชาทรงบำเพ็ญบุญกุศลมีทานเป็นต้น ทรงครองราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม ครั้นวันหนึ่งจะทรงถกปัญหาชื่อธัมมยาคะ จึงเชิญสุจีรตพราหมณ์ให้นั่งบนอาสนะ ทรงทำสักการะแล้ว เมื่อจะตรัสถาม ได้ตรัสว่า
ดูก่อนท่านอาจารย์ สุจีรตะ ดูก่อนท่านอาจารย์ เราทั้งหลายได้ราชสมบัติในอินทปัตตนครอันมีปริมณฑลถึง ๗ โยชน์นี้ และ ได้รับความเป็นใหญ่กล่าวคืออิสรภาพในกุรุรัฐ อันมีปริมณฑลถึง ๓๐๐ โยชน์ แล้ว.ยังปรารถนาอยากได้ความเป็นใหญ่ยิ่งขึ้น เพื่อปราบดาภิเษกครอบครองพื้นปฐพีนี้.โดยธรรม ไม่ใช่โดยอธรรม เราหาชอบใจอธรรมไม่ ดูก่อนท่านอาจารย์สุจีรตะ การประพฤติธรรมเป็นกิจของพระราชาโดยแท้.*
ดูก่อนพราหมณ์ เราทั้งหลายจะไม่ถูกนินทาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยเหตุใด และจะได้รับเกียรติยศ ในเทวดาและมนุษย์ด้วยเหตุใด ขอท่านจงบอกเหตุนั้น ๆ แก่เรา.
ดูก่อนพราหมณ์ เราปรารถนาจะกระทำตามอรรถและธรรม เราถามท่านแล้ว ขอจงบอกอรรถและธรรมนั้นด้วยเถิด.
* อธิบายความว่า โลกคล้อยตามพระราชา เมื่อพระราชามีธรรม ชาวโลกทั้งหมดก็เป็นผู้มีธรรม เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าธรรมนี้เป็นกิจของพระราชาทีเดียว.
ก็ปัญหานี้ลึกซึ้งเป็นพุทธวิสัย ควรที่จะถามเฉพาะพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเท่านั้น เมื่อพระสัพพัญญูพุทธเจ้าไม่มี ควรถามพระโพธิสัตว์ ก็เพราะสุจีรตปุโรหิต มิใช่พระโพธิสัตว์ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาถวายได้ และเมื่อ ไม่สามารถ ก็ไม่ทำการถือตนว่าเป็นบัณฑิต เมื่อจะกราบทูลความที่ตนไม่สามารถจึงกล่าวว่า
ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ปัญหานี้ ใช่วิสัยของคนเช่นข้าพระพุทธเจ้าไม่ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นเบื้องต้นเบื้องปลายของปัญหานั้นเลยทีเดียว เป็นเหมือนเข้าสู่ที่มืด แต่ราชปุโรหิตของพระเจ้าพาราณสี ชื่อวิธุรพราหมณ์มีอยู่ เขาพึงเฉลยปัญหานั้นได้ เว้นเขาเสียแล้วใครอื่นไม่สามารถ ที่จะแสดงอรรถและธรรมที่พระองค์ทรงปรารถนาจะกระทำได้.
พระราชาทรงสดับถ้อยคำของสุจีรตพราหมณ์แล้วตรัสสั่งว่า ท่านพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงรีบไปยังสำนักของวิธุรพราหมณ์เถิด และเมื่อมีพระประสงค์จะส่งเครื่องบรรณาการไปพระราชทาน จึงตรัสว่า
ดูก่อนท่านอาจารย์ สุจีรตะ มาเถิดท่าน เราจะส่งท่านไปยังสำนักของวิธุรพราหมณ์ ท่านจงนำเอาทองคำพันแท่งนี้ไปมอบให้ เพื่อรับคำอธิบาย ซึ่งอรรถและธรรม.
พระเจ้าธนัญชยโกรัพยะ ครั้นตรัสสั่งอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้เอาทองคำค่าแสนหนึ่งมาแผ่เป็นแผ่น เพื่อจะได้จารึกคำวิสัชนาปัญหา ให้จัดยานพาหนะสำหรับเดินทาง จัดพลนิกายสำหรับเป็นบริวาร แลจัดเครื่องราชบรรณาการเสร็จแล้ว ก็ทรงส่งไปในขณะนั้นทีเดียว ส่วนสุจีรตพราหมณ์ออกจากพระนครอินทปัตต์แล้ว หาได้ตรงไปยังพระนครพาราณสีทีเดียวไม่ เหล่าบัณฑิตอยู่ในที่ใด ๆ ก็เข้าไปยังที่นั้น ๆ จนถ้วนทั่ว ไม่ได้รับผลกล่าวคือการ กล่าวแก้ปัญหาในชมพูทวีปทั้งสิ้น จนลุถึงพระนครพาราณสีโดยลำดับ แล้วพำนักยังที่พักแห่งหนึ่ง ครั้นในเวลาอาหารเช้า ก็ไปยังนิเวศน์ของวิธุรพราหมณ์พร้อมด้วยคนใช้สองสามคนเพื่อบอกเล่าธุระที่ตนมาให้ทราบ เมื่อสุจีรตพราหมณ์เข้าไปยังภายในเรือนตามที่วิธุรพราหมณ์เชิญเข้าไป ก็เห็นวิธุรพราหมณ์กำลังรับประทานอาหารอยู่ในเรือนของตน.
ก็สุจีรตพราหมณ์นั้น สมัยเป็นเด็ก เป็นเพื่อนกันกับวิธุรพราหมณ์ เรียนศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงร่วมรับประทานอาหารกับท่านวิธุรพราหมณ์ทันที ในเวลารับประทานเสร็จ นั่งพักสบายแล้วถูกถามว่า สหายรัก ท่านมาธุระอะไร? เมื่อสุจีรตพราหมณ์จะบอกเหตุที่ตนมา จึงกล่าวว่า
พระเจ้าโกรัพยราชผู้เรืองพระยศ ทรงส่งเราให้เป็นทูตมา พระเจ้าโกรัพย ผู้ยุธิฏฐิลโคตร ดำรัสถามถึงปัญหาชื่อธัมมยาคะ เราไม่อาจจะแก้ปัญหานั้นได้ แต่เรารู้ว่าท่านสามารถแก้ปัญหานั้นได้ จึงกราบทูลพระองค์ท่านให้ทรงทราบ พระองค์จึงพระราชทานเครื่องบรรณาการพร้อมกับส่งเรามายังสำนักของท่าน เพื่อถามปัญหา ได้ตรัสสั่งว่า เจ้าจงไปยังสำนักของวิธุรพราหมณ์ ถามถึงแนวอรรถและธรรมแห่งปัญหานี้ บัดนี้เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกอรรถและธรรมนั้น.
ก็ในครั้งนั้น ท่านวิธุรพราหมณ์ คิดว่า เราจักกำหนดจิตของมหาชน ดังนี้ จึงวุ่นอยู่กับการวินิจฉัยความ คล้ายกับปิดกั้นแม่น้ำคงคา ไม่มีโอกาสที่จะแก้ปัญหานั้นได้ เมื่อจะบอกความข้อนั้น จึงกล่าวว่า
ดูก่อนสหายพราหมณ์ เราเกิดความกังวล ขวนขวายว่า จักปิดกั้นแม่น้ำคงคา คือคติจิตต่างๆ กันของมหาชน ก็ไม่สามารถจะกั้นเสียงอันดังนั้นได้ เพราะฉะนั้น จักมีโอกาสได้อย่างไรกัน เมื่อ โอกาสไม่มี เราก็วิสัชนาชี้แจงแก่ท่านไม่ได้ เมื่อไม่ได้ความที่จิตแน่วแน่ และไม่มีโอกาส ถึงจะถูกท่านถามก็ไม่สามารถจะบอกอรรถและธรรมแก่ท่านได้.
ครั้นวิธุรพราหมณ์ กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงบอกว่า บุตรชายของเราเป็น คนฉลาด มีปัญญาปราดเปรื่องกว่าเรา เขาจักพยากรณ์ได้ ท่านจงไปสำนักของเขาเถิด
สุจีรตพราหมณ์ฟังดังนั้น จึงออกจากเรือนของวิธุรพราหมณ์ ไปยังนิเวศน์ของภัทรการมาณพ ในเวลาที่เธอรับประทานอาหารเสร็จแล้ว นั่งอยู่ท่ามกลางบริษัทของตน.
เมื่อสุจีรตพราหมณ์ไปถึงที่นั้นแล้ว ภัทรการมาณพก็กระทำการต้อนรับ และทำสักการะเคารพ นั่งแล้วถูกถามถึงเหตุที่มา จึงกล่าวว่า
เราเป็นราชทูตของพระเจ้าโกรัพยราช ผู้ยงยศทรงส่งมา พระองค์ผู้ยุธิฏฐิลโคตร ตรัสถามถึงอรรถและธรรม ได้ตรัสแล้วอย่างนี้ ดูก่อนภัทรการมาณพเธอจงบอกอรรถและธรรมนั้นแก่เราด้วย.
ลำดับนั้น ภัทรการมาณพจึงกล่าวกะ สุจีรตพราหมณ์ว่า ข้าแต่คุณพ่อ ข้าพเจ้าเคลิบเคลิ้มอยู่ในปรทาริกกรรมทุก ๆ วัน จิตของข้าพเจ้ามัวหมอง ด้วยเหตุนั้น จึงไม่สามารถจะวิสัชนาแก่ท่านได้ แต่น้องชายของข้าพเจ้า ชื่อว่า สัญชยกุมาร มีญาณประเสริฐกว่าข้าพเจ้ายิ่งนัก เชิญท่านถามเขาเถิด เขาจักแก้ปัญหาของท่านได้
ในขณะนั้นเอง สุจีรตพราหมณ์จึงไปยังนิเวศน์ของสัญชยกุมาร เมื่อสัญชยกุมารทำสักการะเคารพแล้ว ถูกถามถึงเหตุที่มา จึงแจ้งให้ทราบ.
ก็ในครั้งนั้น สัญชยกุมารกำลังคบหาภรรยาของผู้อื่นอยู่ทีเดียว ลำดับนั้น เธอจึงบอกสุจีรตพราหมณ์ว่า พ่อคุณ ข้าพเจ้ากำลังคบหาภรรยาผู้อื่นอยู่ และเมื่อคบหาก็ต้องข้ามแม่น้ำไปฝั่งโน้น มฤตยูคือความตาย ย่อม กลืนกินข้าพเจ้า ซึ่งกำลังข้ามแม่น้ำอยู่ทั้งเช้าทั้งเย็น ด้วยเหตุนั้น จิตของข้าพเจ้าจึงขุ่นมัว ไม่สามารถบอกอรรถธรรมแก่ท่านได้ แต่ข้าพเจ้ามีน้องชายอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า สัมภวกุมาร แต่เกิดมาอายุได้เพียงเจ็ดปี มีญาณความรู้ เหนือข้าพเจ้า ตั้งร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า เธอจักบอกแก่ท่านได้ เชิญท่าน ไปถามดูเถิด
สุจีรตพราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงคิดว่า ปัญหานี้จักเป็นของอัศจรรย์ ในโลกนี้ ชะรอยจะไม่มีใครที่ชื่อว่าสามารถเพื่อจะวิสัชนาปัญหานี้ แล้วได้กล่าวว่า
ชาวเราเอ๋ย ปัญหานี้เป็นธรรม น่าอัศจรรย์จริงเราไม่พอใจเลย ชนทั้ง ๓ คน คือ บิดาและบุตรสองคนยังไม่มีปัญญารู้แจ้งธรรมนี้.ท่านทั้งหลายถูกถามแล้ว ยังไม่สามารถบอกอรรถและธรรมนั้นได้ เด็กเจ็ดขวบถูกถามถึงอรรถและธรรม จะรู้เรื่องได้อย่างไร?
สัญชยกุมารได้ฟังดังนั้น จึงชี้แจงว่า ท่านอย่าเข้าใจว่า สัมภวกุมาร เป็นเด็ก ถ้าท่านมีความต้องการด้วยการวิสัชนาปัญหา ท่านจงไปถามเขา ดูเถิด เมื่อจะประกาศเกียรติคุณของกุมารน้องชาย โดยแสดงใจความให้เข้าใจจึงได้กล่าวว่า
ดูก่อนท่านพราหมณ์ ท่านยังไม่ได้ถามสัมภวกุมาร อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเธอเป็นเด็ก ท่านถามสัมภวกุมารแล้ว จะพึงรู้อรรถและธรรมได้.
พระจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาศย่อมสว่างไสวล่วงหมู่ดาวทั้งปวง ในโลกนี้ด้วยรัศมีฉันใด สัมภวกุมารแม้ยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงบัณฑิตทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยปัญญา
ดูก่อนท่านพราหมณ์ เดือน ๕ ในคิมหันตฤดูย่อมสวยงามยิ่งกว่าเดือนอื่น ๆ ด้วยต้นไม้และดอกไม้ฉันใด สัมภวกุมารแม้ยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงบัณฑิตทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยปัญญา
ดูก่อนท่านพราหมณ์ หิมวันตบรรพต ชื่อว่าคันธมาทน์ ดารดาษไปด้วยไม้ต่าง ๆ พันธุ์ เป็นที่อยู่อาศัยแห่งทวยเทพ ย่อมสง่างามและหอมตลบไปทั่วทิศ ด้วยทิพยโอสถ ฉันใด สัมภวกุมารแม้ยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงบัณฑิตทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยปัญญา
ไฟป่ามีเปลวรุ่งเรือง ไหม้ลามไปในป่าไม่อิ่มมีแนวทางดำ คุเรื่อยไป มีเปรียงเป็นอาหาร มีควันเป็นธง ไหม้แนวไพรสูง ๆ เวลากลางคืนสว่างลุกโชนอยู่บนยอดภูเขา ฉันใด สัมภวกุมารแม้ยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงบัณฑิตทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยปัญญา
ม้าดีจะรู้ได้เพราะฝีเท้า โคพลิพัทธ์จะรู้ได้เพราะเข็นภาระไป แม่โคนมจะรู้ได้เพราะน้ำนมดีและบัณฑิตจะรู้ได้เมื่อเจรจา ฉันใด สัมภวกุมารแม้ยังเป็นเด็กก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงบัณฑิตทั้งหลายเพราะประกอบด้วยปัญญา
เมื่อสัญชยกุมารสรรเสริญสัมภวกุมารอยู่อย่างนี้ สุจีรตพราหมณ์คิดว่า เราถามปัญหาดูแล้ว จักรู้กันว่าเป็นดังนั้นจริงหรือไม่ แล้วจึงถามว่า ดูก่อนกุมาร น้องชายของเจ้าอยู่ไหนเล่า?
ลำดับนั้น สัญชยกุมารจึงเปิดสีหบัญชรชี้มือบอกสุจีรตพราหมณ์ว่า นั่น สัมภวกุมาร คนที่มีผิวพรรณผ่องใสคล้ายทองคำ กำลังเล่นอยู่กับเพื่อนเด็ก ๆ ระหว่างถนนริมประตูปราสาท นี้คือน้องชายของข้าพเจ้า เชิญท่านไปหาแล้วไต่ถามเขาดู เขาจักบอกปัญหาแก่ท่านได้ โดยลีลาแห่งพระพุทธเจ้า
สุจีรตพราหมณ์ ฟังคำของสัญชยกุมารแล้ว ลงจากปราสาท ไปยังที่สัมภวกุมารซึ่งขณะนั้นสัมภวกุมาร ยืนเปลื้องผ้านุ่งออกพาดไว้ที่ตอ เอามือทั้งสองกอบฝุ่นเล่น.
ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้า เห็นพราหมณ์มายืนอยู่ข้างหน้า จึงถามว่า ข้า แต่ท่านพ่อ ท่านมาด้วยประสงค์สิ่งไร เมื่อสุจีรตพราหมณ์บอกว่า พ่อกุมาร เราเที่ยวไปในพื้นชมพูทวีป ก็ไม่พบผู้ที่สามารถจะแก้ปัญหาที่เราถามได้ จึง ได้มายังสำนักของเจ้าดังนี้แล้ว สัมภวกุมารได้ยินดังนั้นจึงคิดว่า ปัญหาที่ใคร ๆ วินิจฉัยไม่ได้ในสกลชมพูทวีป ตกมาถึงเรา เราเป็นคนแก่ด้วยความรู้ ดังนี้ ก็รู้สึกละอายใจ จึงทิ้งฝุ่นที่อยู่ในกำมือเสีย ดึงผ้าที่ตอมามานุ่ง แล้วปวารณา โดยสัพพัญญุตญาณว่า เชิญถามเถิดท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าจักบอกท่านโดยลีลาแห่งพระพุทธเจ้า.
ลำดับนั้น สุจีรตพราหมณ์ ก็ถามปัญหานั้นแก่สัมภวกุมาร สัมภวกุมารจึงกล่าวว่า
เชิญฟัง ข้าพเจ้าจักแก้ปัญหาแก่ท่านอย่างนักปราชญ์ อนึ่ง พระราชาย่อมทรงทราบอรรถและธรรมนั้นได้ แต่จักทรงทำตามหรือไม่ ไม่ทราบ.
เมื่อสัมภวกุมารยืนแสดงธรรมอยู่ระหว่างถนนด้วยเสียงอันไพเราะ เสียงกึกก้องไปทั่วพระนครพาราณสี ประมาณ ๑๒ โยชน์ ลำดับนั้น พระราชาและอุปราชเป็นต้นทั้งหมดมาประชุมกันแล้ว พระมหาสัตว์เจ้าจึงเริ่ม แสดงธรรมเทศนาในท่ามกลางมหาชน.
ครั้นสัมภวกุมาร ปฏิญาณการกล่าวแก้ปัญหา ด้วยคาถาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะกล่าวธัมมยาคปัญหาต่อไป จึงกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านสุจีรตะ ถ้าหากพระราชาของท่านตรัสแก่ผู้ใดว่า วันนี้เราจะให้ทาน รักษาศีล กระทำอุโบสถดังนี้ไซร้ แล้วผู้นั้นกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า วันนี้พวกข้าพระพุทธเจ้าจะฆ่าสัตว์ จะบริโภคกาม จะดื่มสุราก่อน ต่อพรุ่งนี้จึงจักทำบุญทำกุศล พระราชาผู้ยุธิฏฐิลโคตรของท่าน ถึงจะทรงกระทำตามคำของอำมาตย์ผู้ยิ่งใหญ่นั้นแล้ว ก็อย่าได้อยู่อย่าง ทำวันนั้นให้ล่วงไปด้วยความประมาท ในเมื่อประโยชน์เช่นนั้นเกิดขึ้น อย่าทรงกระทำตามคำของเขา รักษากุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วอย่าให้เสื่อม จงทรงบำเพ็ญกรรมอันปฏิสังยุตด้วยกุศลอย่างเดียว ท่านควรกราบทูลคำนี้แด่พระราชา ของท่าน.
ด้วยคาถานี้ พระมหาสัตว์เจ้าแสดงภัทเทกรัตตสูตรความว่า ควรทำความเพียรเสียในวันนี้ ใครเล่าจะรู้ความตายว่าจะมีในวันพรุ่งนี้ และแสดงโอวาทเกี่ยวด้วย ความไม่ประมาท ความว่า ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ด้วยประการฉะนี้
ท่านสุจีรตะ เมื่อพระราชาดำรัสถามท่านว่า สัมภวบัณฑิตกล่าวแก้ธัมมยาคปัญหาอย่างไร? ท่านพึงกราบทูลอัชฌัตธรรมอย่างเดียวแด่พระราชา คือ พึงกราบทูลถึงเบญจขันธ์อันเป็นนิยกัชฌัตธรรมว่า เป็นของไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่มี.
ด้วยคำเพียงเท่านี้ พระมหาสัตว์เจ้า ทรงแสดงอนิจจตาธรรมแจ่มแจ้ง ด้วยคาถาอย่างนี้ ความว่า
เมื่อใดบัณฑิตพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขาร
ทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ สังขาร
ทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไประงับ
สังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นสุข.
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ อันธพาลปุถุชน คนงมงายไม่มีความคิด ย่อมซ่องเสพทางผิดคือ ทิฏฐิ ๖๒ ประการฉันใด พระราชาของท่านไม่ควรซ่องเสพทางผิดฉันนั้น จงซ่องเสพเฉพาะกุศลกรรมบถ ๑๐ อันเป็นนิยยานิกธรรม ท่านควรกราบทูลพระองค์อย่างนี้
กษัตริย์ไม่ควรละเลยกรรมอันนำพาไปสู่สุคติ กรรมคือการกระทำอันใดที่ทำให้ชนทั้งหลายละเลยกุศลสมบัติ ๓ ประการในกามภพ แล้วบังเกิดในอบาย กษัตริย์ไม่ควรทำกรรมนั้น
พระมหาสัตว์เจ้า กล่าวแก้ปัญหาแก่พราหมณ์โดยลีลาแห่งพระพุทธเจ้า ดุจยังพระจันทร์ให้ปรากฏขึ้น ณ พื้นอากาศ ด้วยอาการอย่างนี้ มหาชน ต่างบันลือโห่ร้องตบมือ กระทำสาธุการพันครั้ง การยกธงและการดีดนิ้วมือก็บังเกิดขึ้นโดยทั่วไป ทั้งมหาชนเหล่านั้นต่างก็ซัดไปซึ่งวัตถุมีเครื่องประดับมือเป็นต้น ทรัพย์สินที่มหาชน ซัดไปแล้วอย่างนี้ รวมแล้วนับได้ถึงโกฏิ แม้พระราชาก็ทรงโปรดปรานพระราชทานยศใหญ่แก่สัมภวกุมารนั้น ฝ่ายสุจีรตพราหมณ์ ทำการบูชาด้วยทองคำพันลิ่ม แล้วจารึกคำวิสัชนาปัญหาลงในแผ่นทองคำด้วยชาดกับหรดาล แล้วเดินทาง ไปยังอินทปัตตนครกราบทูลธัมมยาคปัญหาแด่พระราชา พระราชาทรงประ พฤติในธรรมนั้น แล้วยังเมืองสวรรค์ให้แน่นบริบูรณ์.
พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่าดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในปางก่อน ตถาคตก็มี ปัญญามากเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าธนัญชยโกรัพยราชในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ สุจีรตพราหมณ์ ได้มาเป็นพระอนุรุทธะ วิธุรพราหมณ์ ได้มาเป็นพระอริยกัสสป ภัทรการกุมารได้มาเป็น พระโมคคัลลานะ สัญชยมาณพ ได้มาเป็นพระสารีบุตร สัมภวบัณฑิต ได้มาเป็นเราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 26 สิงหาคม 2554
Last Update : 29 มีนาคม 2564 15:42:14 น. 1 comments
Counter : 449 Pageviews.

 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
//abhinop.blogspot.com
//abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 29 มีนาคม 2564 เวลา:15:43:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.