ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
พระเจ้าสุตโสมเว้นบาปเพราะฟังธรรมของกาฬหัตถี ๓

มหาสุตโสมชาดก ๐๓
พระเจ้าสุตโสมเว้นบาปเพราะฟังธรรมของกาฬหัตถี


เจ้าโปริสาทจับพระเจ้าสุตโสมยกขึ้น เวลาที่เธอจับพระราชาอื่น ๆ จับพระบาทยกขึ้น ห้อยพระเศียรลงเบื้องต่ำ ส่วนพระโพธิสัตว์ เธอน้อมตัวเขาไปยกขึ้นให้นั่งบนบ่า คิดว่า ถ้าเราไปทางประตูจะเป็นการเสียเวลา ครั้นเมื่อไม่เห็นทางที่จะไป จึงกระโดดขึ้นกำแพงที่สูงถึง ๑๘ ศอกที่ตรงหน้านั่นเอง และแล้วกระโดดเหยียบกระพองพญาช้างซับมัน แล้วเหยียบหลังม้าต่อ ๆ ไป ด้วยกำลังอันรวดเร็วดุจสายลม ประหนึ่งว่ากระโดดเหยียบยอดเขาที่ตั้งอยู่เรียงรายกันไปฉะนั้น เหยียบแอกรถงอนรถวิ่งไปโดยเร็ว พักเดียวก็ไปได้ไกลถึง ๓ โยชน์ ในใจคิดว่า มีใครตามมาช่วยท่านสุตโสมบ้างหรือเปล่า เหลียวดูก็ไม่เห็นใคร จึงค่อย ๆ เดินไป เห็นหยาดน้ำแต่ปลายพระเกศาของพระเจ้าสุตโสมตกลงมาที่อกของตน ก็คิดว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ ไม่มีที่จะไม่กลัวความตาย แม้พระเจ้าสุตโสมก็เห็นจะร้องไห้เพราะกลัวต่อความตาย คิดแล้วจึงกล่าวว่า
บัณฑิตทั้งหลายเช่นพระองค์ ย่อมเป็นผู้บรรเทาความเศร้าโศกของคนอื่นเสียได้ การบรรเทาความเศร้าโศกนั้น ย่อมเป็นที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยมของคนอื่น เปรียบเหมือนเกาะเป็นที่พำนักของคนที่เรือแตกในมหาสมุทร ฉะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีความรู้เช่นพระองค์ย่อมไม่ร้องไห้ ดูก่อนสุตโสมผู้เป็นสหาย เมื่อคนเช่นท่านร้องไห้อยู่อย่างนี้ เพราะกลัวความตาย คนเหล่าอื่นจะเป็นอย่างไรเล่า ข้าพเจ้าขอถามท่าน ดูก่อนท่านสุตโสม ในบรรดา ผู้ที่เป็นที่รัก อย่างเช่นตัวพระองค์เองเองเป็นต้น พระองค์คิดถึงใคร พระองค์ทรงเศร้าโศกรำพึงถึงอะไรเล่า.
พระเจ้าสุตโสมตรัสว่า
ข้าพเจ้าไม่ได้ร้องไห้ ไม่ได้โศกเศร้าเลย ไม่ได้คิดถึงประโยชน์แก่ตนเอง เหล่านี้เลย ข้าพเจ้าเศร้าโศกถึงการนัดแนะไว้กับพราหมณ์นั้น ข้าพเจ้าจักเป็นผู้รักษาความสัตย์ไว้ ด้วยว่าพราหมณ์นั้นนำเอาคาถา ๔ คาถา ที่พระกัสสปทศพล ทรงแสดงแล้วมาจากเมืองตักกศิลา ข้าพเจ้าได้สั่งให้กระทำอาคันตุกวัตรแก่พราหมณ์นั้น แล้วจึงมาอาบน้ำ ข้าพเจ้าได้กระทำการนัดหมายกับพราหมณ์ไว้ว่า ข้าพเจ้าจักฟังคาถานั้น ขอให้ท่านพราหมณ์จงรออยู่จนกว่าข้าพเจ้าจะกลับมา แต่ท่านมิได้ให้ข้าพเจ้าฟังคาถานั้น จับเอาข้าพเจ้ามาเสียก่อน ถ้าท่านปล่อยข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าฟังธรรมแล้ว จักเป็นผู้รักษาความสัตย์ กลับมาหาท่าน
ครั้งนั้น เจ้าโปริสาททูลพระเจ้าสุตโสมว่า คนผู้มีความสุข หลุดออกจากปากของความตายเพราะพ้นจากเงื้อมมือโจรเช่นข้าพเจ้าแล้ว จะพึงกลับมาอีก ถ้อยคำนี้ข้าพเจ้ายังไม่ยอมเชื่อเลย ข้าแต่ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐสุด พระองค์จะไม่มายังสำนักของหม่อมฉันอีกกระมัง ดูก่อนท่านสุตโสม ท่านพ้นจากเงื้อมมือของเจ้าโปริสาทแล้ว เสด็จไปยังพระราชมนเฑียร เพลิดเพลินด้วยกามคุณารมณ์ พระองค์ได้ชีวิตอันเป็นที่รักจิตสนิทใจพระองค์จักกลับมาหาข้าพเจ้าได้อย่างไร.
พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับฟังดังนั้น เป็นดุจพระยาไกรสรราชสีห์ ไม่หวาดหวั่น ตรัสตอบว่า
ดูก่อนเจ้าโปริสาทผู้เป็นสหาย ท่านก็เป็นสหายผู้สนิท เคยเล่าเรียนในสำนักอาจารย์เดียวกันกับข้าพเจ้าถึงแม้จะมีเหตุให้ข้าพเจ้าถึงแก่ชีวิต ข้าพเจ้าก็จะไม่กล่าวคำเท็จ
ดูก่อนเจ้าโปริสาทผู้เจริญ ถ้ามีใครกล่าวว่า ฟ้าจะพึงแตกได้ ทะเลจะพึงแห้งได้ แผ่นดินอันทรงไว้ซึ่งภูตจะพึงพลิกได้ เมรุบรรพตจะพึงเพิกถอนได้ตลอดราก ท่านก็จงเชื่อเขาเถิด ส่วนคำที่ว่า ข้าพเจ้าจะพูดเท็จนี้ ถ้าชนทั้งหลายกล่าวแก่ท่านแล้ว ท่านจงอย่าเชื่อเลย.
แม้พระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าโปริสาทก็ยังไม่ย่อมเชื่อ พระโพธิสัตว์จึงทรงคิดว่า เจ้าโปริสาทนี้ไม่ยอมเชื่อเรา เราจะสาบานให้เธอยอมเชื่อ แล้วตรัสว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ท่านจงให้ข้าพเจ้าลงจากบ่าก่อน ข้าพเจ้าจะทำสาบานให้ท่าน ครั้งพอเจ้าโปริสาทเอาลงวางไว้ บนพื้นแล้ว เมื่อจะทรงทำการสาบาน ได้ตรัสว่า
ดูก่อนเจ้าโปริสาทผู้เป็นสหาย ถ้าท่านปรารถนา ข้าพเจ้าก็จะจับดาบและหอกสาบานว่า ขออย่าให้ข้าพเจ้าได้บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ซึ่งมีการรักษาอันกวดขันเป็นอย่างดีด้วยอาวุธเช่นนี้ ดูก่อนสหาย หากว่าท่านปรารถนาคำสาบานอย่างอื่นอีก ข้าพเจ้าก็จะทำการสาบานให้แก่ท่านอีกก็ได้ เราไปจากท่านแล้ว ก็จะไปหาพราหมณ์ ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับพราหมณ์แล้ว ก็จะกลับมาตามที่ได้ให้สัจจะไว้แก่ท่าน.
ลำดับนั้น เจ้าโปริสาทจึงทูลเจ้าสุตโสมว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทรงกระทำการสาบานที่พวกกษัตริย์ไม่ควรทำแล้ว จงทรงระลึกถึงพระดำรัสที่ได้ทรงปฏิญาณนั้นไว้ พระมหาสัตว์จึงตรัสให้เจ้าโปริสาทเชื่อด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ท่านรู้จักข้าพเจ้าตั้งแต่เวลายังเยาว์ คำเท็จของข้าพเจ้าไม่เคยพูดเลย แม้แต่การพูดเท็จเพียงเพื่อการล้อเลียนข้าพเจ้าก็ไม่เคยกระทำ ข้าพเจ้าจักพูดเท็จได้หรือ บัดนี้ข้าพเจ้าดำรงอยู่ในราชสมบัติแล้ว รู้จักถูกและผิด จักพูดเท็จได้หรือ ท่านจงเชื่อข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักกลับมาให้ทันพลีกรรมของท่านในวันพรุ่งนี้
เจ้าโปริสาทจึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น ขอเชิญพระองค์เสด็จเถิด เมื่อพระองค์ไม่เสด็จมา จักไม่เป็นพลีกรรมเพราะเทวดาจักไม่รับพลีกรรมของข้าพเจ้า ถ้าไม่มีพระองค์ ขอพระองค์อย่าทำอันตรายแก่พลีกรรมของข้าพเจ้า แล้วส่งพระมหาสัตว์ไป พระมหาสัตว์เป็นดุจพระจันทร์พ้นจากปากแห่งราหู พระองค์มีกำลังดุจพญาช้างสมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรงได้เสด็จถึงพระนครโดยฉับพลัน.
ลำดับนั้น แม้เสนาของพระเจ้าสุตโสมนั้น ก็ยังตั้งขบวนอยู่นอกพระนคร เพราะดำริว่า พระเจ้าสุตโสมมหาราชเจ้า พระองค์เป็นบัณฑิตทรงแสดงธรรมไพเราะ เมื่อได้ตรัสกถาเรื่องหนึ่งหรือสองเรื่อง จักทรมานเจ้าโปริสาทได้แล้วกลับมา ดุจพญาช้างซับมันตัวประเสริฐพ้นแล้วจากปากแห่งสีหะฉะนั้น และเกรงชาวพระนครจะติได้ว่าให้พระราชาแก่เจ้าโปริสาทแล้วมาเสีย ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จมาแต่ไกล จึงพากันลุกขึ้นต้อนรับ ถวายคำนับแล้วกราบทูลปฏิสันถารว่า พระมหาราชเจ้า ถูกเจ้าโปริสาททำให้ลำบากอย่างไรบ้าง เมื่อตรัสตอบว่า เจ้าโปริสาทได้ทำกิจที่มารดาบิดาทำได้ยากแก่เรา เธอดุร้ายสาหัสเช่นนั้น ได้สดับธรรมกถาของเราแล้วปล่อยเราดังนี้ จึงแต่งองค์เจ้าสุตโสมเชิญเสด็จขึ้นคอช้างพระที่นั่ง แวดล้อมเข้าสู่พระนคร
ชาวเมืองได้เห็นดังนั้นก็ชื่นชมทั่วหน้ากัน พระโพธิสัตว์ เพราะว่าพระองค์มีความเคารพธรรม เป็นนักธรรมะ ไม่ทันเข้าเฝ้าพระราชมารดาบิดา ตั้งพระหฤทัยว่าจักเฝ้าทีหลัง จึงเสด็จเข้าพระราชนิเวศน์ประทับนั่ง ณ พระราชอาสน์รับสั่งให้เรียกหาพราหมณ์มา และตรัสสั่งให้ทำอุปัฏฐานกิจมีการแต่งหนวดเป็นต้น แก่พราหมณ์นั้นด้วยเวลาที่เจ้าพนักงานแต่งหนวดพราหมณ์แล้ว ให้อาบน้ำลูบไล้ด้วยของหอมประดับด้วยผ้าและเครื่องอลังการแล้วนำเฝ้า พระองค์เสด็จสรงทีหลัง พระราชทานโภชนะของพระองค์แก่พราหมณ์นั้น เมื่อพราหมณ์บริโภคแล้ว พระองค์เสวยแล้ว เชิญพราหมณ์ให้นั่ง ณ บัลลังก์ควรบูชา พระองค์ประทับนั่ง ณ อาสนะต่ำ พอบูชาพราหมณ์ด้วยสักการะ มีของหอมและดอกไม้เป็นต้น เพราะทรงเคารพในธรรม ตรัสอาราธนาว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าขอฟังคาถาชื่อว่าสตารหาที่ท่านนำมาเพื่อข้าพเจ้า.
ลำดับนั้น ในเวลาที่พระโพธิสัตว์อาราธนาแล้ว พราหมณ์จึงฟอกมือทั้งสองด้วยของหอม นำเอาคัมภีร์อันเป็นที่น่ารื่นรมย์ ออกจากถุง จับขึ้นสองมือแล้วทูลว่า บัดนี้ของมหาบพิตรจงสดับคาถาชื่อว่าสตารหา ๔ คาถาตามที่พระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้ อันจะถอนความเมา มีความเมาด้วยราคะเป็นต้น ให้สร่าง ให้สำเร็จอมตมหานิพพานนี้แล้ว ดูคัมภีร์กล่าวคาถาว่า
ข้าแต่ท่านสุตโสมมหาราช
การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้น ย่อมรักษาผู้สมาคมนั้น การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากก็รักษาไม่ได้
พึงคบกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้สัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีความเจริญไม่มีความเสื่อม
ราชรถที่เขาให้วิจิตรเป็นอันดี ยังคร่ำคร่าได้แล.แม้สรีระก็เข้าถึงความชราได้เหมือนกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความชรา
สัตบุรุษกับสัตบุรุษด้วยกันย่อมรู้กันได้.ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝังข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวกันว่าไกล ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษทั้งสองนี้ ท่านกล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้นแล.
พราหมณ์กล่าวคาถา ชื่อว่า สตารหา ๔ คาถา ตามที่พระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้อย่างนี้แล้ว ได้นั่งนิ่งอยู่ พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น มีพระหฤทัยโสมนัสว่า การมาของเรามีผลหนอ ทรงดำริว่า คาถาเหล่านี้ไม่ใช่ภาษิตของพระสาวก ไม่ใช่ภาษิตของฤาษี ไม่ใช่ภาษิตของกวี แต่เป็นภาษิตของพระสัพพัญญู จะควรค่าเท่าไรหนอ
ทรงพระดำริต่อไปว่า แม้เราจักให้จักรวาลทั้งสิ้น กระทำให้เต็มด้วยรัตนะ ๗ ตลอดถึงพรหมโลก ก็ไม่อาจจะทำให้สมควร ส่วนเราพอที่จะให้ราชสมบัติในพระนครอินทปัตประมาณ ๗ โยชน์ ในกุรุรัฐประมาณ ๓๐๐ โยชน์แก่พราหมณ์นี้ โชคที่จะได้ราชสมบัติของพราหมณ์นี้มีอยู่หรือหนอ ทรงตรวจดูด้วยอานุภาพแห่งองค์วิทยาไม่เห็นมี
ทรงตรวจถึงฐานันดร มีตำแหน่งเสนาบดีเป็นต้น ไม่ทรงเห็นโชคฐานันดรแม้เพียงนายบ้านหมู่หนึ่ง
เมื่อทรงตรวจถึงโชคลาภ ทรงตรวจตั้งแต่ทรัพย์โกฏิหนึ่ง ทรงเห็นโชคลาภเพียงสี่พันกหาปณะ ตกลงพระทัยว่า จักบูชาพราหมณ์นั้นด้วยทรัพย์เท่านี้
รับสั่งให้พระราชทานทรัพย์ถุงละพันกหาปณะ รวมสี่ถุงตรัสถามว่า ท่านอาจารย์แสดงคาถานี้แก่พวกกษัตริย์อื่น ๆ ได้ทรัพย์เท่าไรพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ได้คาถาละร้อยกหาปณะ เพราะฉะนั้น คาถาเหล่านี้จึงได้นามว่า สตารหา (ควรร้อย) ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะพราหมณ์นั้นต่อไปว่า ท่านอาจารย์ไม่รู้ราคาของภัณฑะที่ตนถือเที่ยวไป ตั้งแต่นี้ คาถาเหล่านี้จงชื่อว่าสหัสสารหา (ควรพัน) ดังนี้
ครั้งแล้วพระมหาสัตว์ จึงพระราชทานยานน้อยที่เป็นสุขคันหนึ่ง ตรัสสั่งราชบุรุษว่า จงส่งพราหมณ์ให้ถึงบ้านโดยสวัสดี แล้วทรงส่งพราหมณ์นั้นไป ขณะนั้นได้เกิดเสียงสาธุการใหญ่ว่า คาถาชื่อสตารหา พระเจ้าสุตโสมทรงเปลี่ยนเป็นสหัสสารหา ทรงบูชาแล้ว สาธุ สาธุ พระราชมารดาบิดาของพระโพธิสัตว์ ได้ทรงสดับเสียงนั้น ตรัสถามว่า นั่นเสียงอะไร ได้ทรงทราบตามความเป็นจริง กริ้วพระมหาสัตว์เพราะเสียดายทรัพย์ ส่วนพระมหาสัตว์ทรงส่งพราหมณ์แล้ว เสด็จไปเฝ้าพระราชมารดาบิดา ถวายบังคมประทับยืนอยู่
ครั้งนั้น พระราชบิดาโดยเหตุที่ทรงเสียดายทรัพย์ จึงไม่ทรงกระทำ แม้เพียงจะปฏิสันถารว่า เจ้าพ้นจากมือโจร ผู้ร้ายกาจเห็นปานนั้น มาได้อย่างไรพ่อ กลับตรัสถามว่า ได้ยินว่า เจ้าฟังคาถา ๔ คาถา ให้สี่พันจริงหรือ เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลว่า จริง พระราชบิดาตรัสว่า
คาถาควรแปดสิบหรือเก้าสิบ แม้ร้อยก็ควร พ่อสุตโสมเอ๋ย เจ้าจงรู้ด้วยตนเอง คาถาควรพันมีที่ไหน.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะกราบทูลพระราชบิดาให้ทรงทราบว่า ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาความเจริญทางทรัพย์เท่านั้น ย่อมปรารถนาความเจริญทางการศึกษาด้วย ได้ตรัสดังต่อไปนี้ว่า
ครั้งตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าสุตโสมจึงทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม พระองค์อย่าทรงบริภาษข้าพระองค์เพราะทรัพย์ ข้าพระองค์ให้ปฏิญาณต่อโปริสาท ขอพระทูลกระหม่อมจงทรงรับราชสมบัตินี้เถิด
ในสมัยนั้น พระหฤทัยของพระราชบิดาร้อนขึ้นทันที ท้าวเธอตรัสว่าพ่อสุตโสม ทำไมจึงพูดอย่างนี้ บิดาจักจับโจรด้วยไพร่พลของเรา
ลำดับนั้น พระราชมารดาบิดา มีพระพักตร์นองด้วยอัสสุชล ทรงกันแสงพิไรร่ำรำพันอยู่ว่า อย่าไปนะพ่อ ไปไม่ได้นะพ่อ ทั้งพระสนมกำนัลจำนวนหมื่นหกพันนาง ทั้งราชบริพารนอกจากนี้ ก็ปริเวทนาว่าพระองค์จะเสด็จไปไหน ทิ้งพวกข้าพระองค์ไว้ให้อนาถา แม้ใคร ๆ ในพระนครทั้งสิ้น ก็เช่นเดียวกัน ได้เกิดโกลาหลกันทั่วพระนครว่า ได้ยินว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงรับปฏิญาณพระเจ้าโปริสาทมา บัดนี้ ได้ทรงสดับสตารหาคาถา ๔ คาถา ทรงทำสักการะแก่พราหมณ์ธรรมกถึก ถวายบังคมลาพระราชมารดาบิดาแล้ว จักเสด็จไปสู่สำนักโจรอีกดังนี้ ส่วนพระมหาสัตว์ได้ทรงสดับพระดำรัสพระราชมารดาบิดาแล้วตรัสว่า
โปริสาทได้ทำกิจที่ทำได้แสนยาก จับข้าพระองค์ได้ทั้งเป็นแล้วปล่อยมา ข้าพระองค์ยังนึกถึงบุรพกิจเช่นนั้นอยู่ ข้าพระองค์จะพึงประทุษร้ายเขาได้อย่างไร.
ในคืนนั้นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ในพระราชนิเวศน์ รุ่งขึ้นเช้าพอได้อรุณก็ถวายบังคมลาพระราชมารดาพระราชบิดา ตรัสสั่งนิกรชนทั่วกันแล้ว อันมหาชนมีพวกฝ่ายในเป็นต้น มีหน้านองด้วยน้ำตา คร่ำครวญอยู่เซ็งแซ่ พากันไปส่งเสด็จ พระองค์เสด็จออกจากพระนคร เมื่อไม่อาจให้มิตรชนเหล่านั้นกลับได้ จึงทำขีดขวางด้วยท่อนไม้ในหนทางใหญ่ตรัสว่า ถ้ามีความรักใคร่ในเรา อย่าล่วงขีดนี้มา มหาชนไม่อาจล่วงขีดอาชญาของพระโพธิสัตว์ผู้มีศีลมีเดช จึงคร่ำครวญอยู่ด้วยเสียงอันดัง และดูพระโพธิสัตว์ ผู้มีอาการอันองอาจดุจราชสีห์เสด็จไป เมื่อพระมหาสัตว์ล่วงลับสายตาแล้ว ต่างก็ร้องเซ็งแซ่ขึ้นพร้อมกัน แล้วพากันกลับเข้าพระนคร ฝ่ายพระโพธิสัตว์เสด็จไปยังสำนักของเจ้าโปริสาทโดยหนทางที่เสด็จมา
ตั้งแต่พระโพธิสัตว์เสด็จไป เจ้าโปริสาทคิดว่า ถ้าท่านสุตโสมสหายของเราต้องการจะมา ก็จงมา ถ้าไม่ต้องการจะมา ก็อย่ามา รุกขเทวดาจงลงโทษแก่เราตามความปรารถนา เราจักฆ่าพระราชาเหล่านี้แล้ว จักทำพลีกรรมด้วยมังสะมีรส ๕ เวลาที่โปริสาททำจิตกาธาร ก่อไฟขึ้นลุกโพลง นั่งถากหลาวรอเวลาจะให้เป็นถ่านเสียก่อน พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปถึง เจ้าโปริสาทครั้งได้เห็นพระโพธิสัตว์ก็มีจิตโสมนัส ทูลถามว่า สหายเอ๋ย ท่านเสด็จไปทรงทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้วหรือ
พระมหาสัตว์ตอบว่า ใช่แล้วมหาราช คาถาอันพระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้ เราได้สดับแล้วและการสักการะ สำหรับพราหมณ์ธรรมกถึก เราได้กระทำเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นอันว่า เราได้ไปทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ขอเชิญท่านฆ่าข้าพเจ้าเสียแล้วจงบูชายัญแก่เทวดา หรือจงเคี้ยวกินเนื้อของข้าพเจ้า ก็เชิญตามสบายเถิด.
เจ้าโปริสาทได้สดับดังนั้น จึงคิดว่า พระราชานี้ไม่กลัว เป็นผู้องอาจไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัยตรัสได้อย่างนี้ นี่อานุภาพของอะไรหนอ จึงสันนิษฐานว่า สิ่งอื่นไม่มี พระเจ้าสุตโสมนี้ตรัสว่า เราได้สดับคาถาที่พระกัสสปทศพลทรงแสดงแล้ว นั่นพึงเป็นอานุภาพของคาถาเหล่านั้น เราจะให้เธอตรัสฟังคาถาคงจักเป็นผู้หาความกลัวมิได้อย่างนี้ แล้วกล่าวว่า
การกินตัวท่านเสียนั้น สำหรับข้าพเจ้าจะกินก่อนหรือหลังก็ได้ มิได้หายไปไหน แต่ว่าข้าพเจ้าจะพึงกินท่านในภายหลัง ทั้งจิตกาธานนี้ก็ยังมีควันอยู่ เนื้อที่ให้สุกในไฟที่ไม่มีควัน คือ ไม่มีเปลว ย่อมชื่อว่าเป็นเนื้อที่สุกดี. ข้าพเจ้าขอสดับคาถาชื่อว่าสตารหาเสียก่อน.
พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงดำริว่า โปริสาทนี้เป็นคนมีธรรมอันลามก เราจะข่มเธอหน่อยหนึ่งให้เกิดความละอายแก่ใจ แล้วจึงจะแสดงให้ฟัง แล้วตรัสคาถาว่า
ดูก่อนท่านโปริสาท ท่านเป็นคนประพฤติไม่ชอบธรรม ต้องจำจากแคว้น ก็เพราะเหตุแห่งท้อง ส่วนคาถาเหล่านี้ ย่อมกล่าวสรรเสริญธรรม ธรรมและอธรรมจะลงรอยกันได้ที่ไหน.
คนที่ประพฤติไม่ชอบธรรม ทำกรรมที่ร้ายแรงมีฝ่ามือนองด้วยเลือดเป็นนิจ ย่อมมหาสัจจะมิได้ ธรรมจักมีแต่ที่ไหน ท่านจะทำอะไรด้วยการสดับ.
แม้เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้ เจ้าโปริสาทก็ไม่โกรธ เพราะเหตุไรเพราะพระมหาสัตว์เป็นผู้ประเสริฐด้วยเมตตาภาวนา ลำดับนั้น เจ้าโปริสาทจึงทูลว่า พระสหายสุตโสม ข้าพเจ้าเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมคนเดียวละหรือแล้วกล่าวว่า
พวกพระราชาในพื้นชมพูทวีป แต่งตัวประดับประดาแล้ว มีพลนิกรเป็นบริวารใหญ่ ทรงรถอย่างดี เที่ยวประพาสป่าที่สำหรับล่าฆ่ามฤค แทงมฤคด้วยลูกศรที่คม ๆ ฆ่าจนให้ตาย ทำไมพระองค์จึงไม่ตรัสว่าพระราชาเหล่านั้นตรัสว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมแต่คนเดียว ถ้าเขาไม่มีโทษ แม้ข้าพเจ้าก็ไม่มีโทษเหมือนกันแหละ.
พระมหาสัตว์ทรงสดับดังนั้น เมื่อจะทรงแก้ลัทธิของเจ้าโปริสาทนั้นจึงตรัสว่า
กษัตริย์ผู้รู้จักขัตติยธรรมควรบริโภคเนื้อสัตว์ ๕ ชนิด คือ กระต่าย เม่น เหี้ย หมู เต่า ในบรรดาสัตว์ที่มี ๕ เล็บเหล่านี้เป็นภักษาหาร ไม่ควรบริโภคเนื้อชนิดอื่นส่วนท่านบริโภคเนื้อมนุษย์ ซึ่งมิใช่เป็นเนื้อที่ควรบริโภคเลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม.
เจ้าโปริสาทถูกพระมหาสัตว์ตรัสข่มอย่างนี้ ก็มองไม่เห็นอุบายที่จะโต้ตอบเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อจะโต้กลับพระมหาสัตว์บ้าง จึงได้กล่าวว่า
พระองค์พ้นจากมือของโปริสาทแล้ว ไปถึงพระราชมณเฑียรของตน แล้วยังกลับมาถึงมือของโปริสาทผู้เป็นศัตรูอีก พระองค์เป็นผู้ไม่ฉลาดในขัตติยธรรมเสียเลย พระองค์ไม่รู้จักความเจริญและความพินาศของตน เกียรติของพระองค์เลื่องลือระบือไปในโลกว่าเป็นบัณฑิตนั้น ได้มาได้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยว่า พระองค์เป็นบัณฑิต เห็นแต่เพียงว่าพระองค์เป็นคนโง่มากที่สุด.
พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น ตรัสว่า ดูก่อนสหาย อันคนที่ฉลาดในขัตติยธรรม ควรเป็นเช่นตัวเรานี้แหละ เพราะเรารู้จักขัตติยธรรม แต่มิได้ปฏิบัติอย่างที่ท่านกล่าว
เจ้าโปริสาทกล่าวว่า ปราสาทราชมณเฑียร แผ่นดิน โค และม้า สตรีที่น่าอภิรมย์ ทั้งกาสิกพัสตร์ และแก่นจันทร์แดง เครื่องเหล่านี้ และเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างอื่น พระองค์ย่อมได้ในพระนครของพระองค์นั้นทุกอย่าง เพราะทรงเป็นเจ้าของ เมื่อทรงเป็นเจ้าของแล้วจะปรารถนาสิ่งใด ก็ย่อมได้บริโภคสิ่งนั้นทุก ๆ อย่าง ทุก ๆ ประการ พระองค์ละสิ่งนั้นทั้งหมด ทำตนเป็นผู้รักษาความสัตย์ เสด็จกลับมาในที่นี้ ทรงเห็นอานิสงส์อะไรด้วยความสัตย์
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสพระคาถาว่า
รสเหล่าใดบรรดาที่มีอยู่แผ่นดิน ความสัตย์ย่อมดีกว่ารสเหล่านั้น เพราะสมณพราหมณ์ที่ตั้งอยู่ในความสัตย์ ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติและมรณะเสียได้.
พระมหาสัตว์ ตรัสอานิสงส์ในความสัตย์แก่เจ้าโปริสาทด้วยประการฉะนี้แล้ว ลำดับนั้น เจ้าโปริสาทแลดูพระพักตร์ของพระมหาสัตว์ ซึ่งคล้ายกับดอกบัวที่แย้มแล้ว และคล้ายพระจันทร์เต็มดวง ทรงดำริว่า ท่านสุตโสมนี้ แม้เห็นถ่านและกองเพลิงสุมอยู่ เห็นเราผู้ถากหลาวอยู่ แต่เธอแม้จะแสดงอาการหวาดเสียวสักนิดก็ไม่มี นี้เป็นอานุภาพแห่งสตารหาคาถา หรือของความสัตย์ หรืออะไรหนอ จะถามเธอดูก่อน เมื่อจะถามได้กล่าวว่า
พระองค์พ้นจากมือของโปริสาทแล้ว เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์ ทรงอภิรมย์ด้วยกามคุณแล้ว ยังกลับมาสู่มือของโปริสาทผู้เป็นศัตรูอีกได้ ข้าพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งประชาชน ความกลัวตายของพระองค์ไม่มีแน่ละหรือ และพระองค์ไม่มีพระทัยท้อแท้บ้างเทียวหรือ.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะตรัสแจ้งแก่เจ้าโปริสาทนั้น จึงตรัสว่า
กัลยาณธรรมหลายอย่าง เราได้ทำแล้ว ยัญที่ไพบูลย์บัณฑิตสรรเสริญ เราก็ได้บูชาแล้ว ทางปรโลกเราก็ได้ชำระให้บริสุทธิ์แล้ว พระชนกและชนนี เราก็ได้บำรุงแล้ว อุปการกิจในพวกญาติและมิตร เราก็ได้กระทำแล้ว ทานเราก็ได้ให้แล้วเป็นอันมากแก่คนจำนวนมาก สมณพราหมณ์ เราก็ได้อุปถัมภ์ให้อิ่มหนำแล้ว ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เราก็ได้ปกครองแล้วโดยธรรม ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวตาย เราไม่เดือดร้อนที่จะไปสู่ปรโลก ดูก่อนท่านโปริสาท เชิญท่านจงบูชายัญกินเราเสียเถิด.

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 26 สิงหาคม 2554
Last Update : 26 มีนาคม 2564 13:25:36 น. 1 comments
Counter : 407 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 11 ธันวาคม 2563 เวลา:11:22:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.