ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
25 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
ผู้มีปัญญาย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่เสียไปแล้ว

ทสรถชาดก
ว่าด้วยผู้มีปัญญาย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่เสียไปแล้ว
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกุฎุมพี (ผู้มีทรัพย์) ผู้บิดาตายแล้วคนหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
ความพิสดารว่า กุฎุมพีนั้น เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้วถูกความเศร้าโศกครอบงำ จึงทอดทิ้งหน้าที่การงานเสียทุกอย่าง ครุ่นแต่ความเศร้าโศกอยู่อย่างเดียว พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตร เห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของเขา รุ่งขึ้นจึงเสด็จโปรดสัตว์ในกรุงสาวัตถี เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงส่งภิกษุทั้งหลายกลับ ทรงชวนไว้เป็นปัจฉาสมณะ (ภิกษุผู้ติดตาม) เพียงรูปเดียว เสด็จไปยังเรือนของเขา เมื่อตรัสเรียกเขาผู้นั่งถวายบังคมด้วยพระดำรัสอันไพเราะ จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก เจ้าเศร้าโศกไปทำไม เมื่อเขากราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเศร้าโศกถึงบิดากำลังเบียดเบียนข้าพระองค์ จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก บัณฑิตในปางก่อน ทราบโลกธรรม ๘ ประการ ตามความเป็นจริง เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ก็มิได้ประสบความเศร้าโศก แม้สักน้อยหนึ่งเลย เขากราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า
ในอดีตกาล พระเจ้าทสรถมหาราช ทรงละความถึงอคติ เสวยราชสมบัติโดยธรรมในกรุงพาราณสี พระอัครมเหสีผู้เป็นใหญ่กว่าสตรี ๑๖,๐๐๐ นางของท้าวเธอ ประสูติพระโอรส ๒ พระองค์ พระธิดา ๑ พระองค์ พระโอรสองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า รามบัณฑิต องค์น้องทรงพระนามว่า ลักขณกุมาร พระธิดาทรงพระนามว่า สีดาเทวี ครั้นจำเนียรกาลนานมา พระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์ พระราชาเมื่อพระนางสิ้นพระชนม์แล้ว ทรงถึงอำนาจแห่งความเศร้าโศกตลอดกาลนาน หมู่อำมาตย์ช่วยกันกราบทูลให้ทรงสร่าง ทรงกระทำกาเกี่ยวกับพระศพที่ควรกระทำแก่พระนางแล้ว ทรงตั้งสตรีอื่นไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีพระนางเป็นที่รัก เป็นที่จำเริญพระหฤทัยของพระราชา
ครั้นกาลต่อมา พระนางก็ทรงพระครรภ์ ทรงได้รับพระราชทานเครื่องครรภ์บริหาร จึงประสูติพระราชโอรส พระประยูรญาติขนานพระนามพระโอรสนั้นว่า ภรตกุมาร พระราชาตรัสว่า แน่ะนางผู้เจริญ ฉันขอให้พรแก่เธอ เธอจงรับเถิด ด้วยทรงพระเสน่หาในพระโอรส พระนางทรงเฉยเสีย ทำทีว่าทรงรับแล้ว จนพระกุมารมีพระชนมายุได้ ๗ - ๘ พรรษา จึงเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า พระทูลกระหม่อม พระองค์พระราชทานพระพรไว้แก่บุตรของกระหม่อมฉัน บัดนี้ ขอทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระพรนั้นแก่เธอ
เมื่อพระราชาตรัส ว่ารับเอาเถิด นางผู้เจริญ
จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม ขอพระองค์โปรดทรงพระราชทานราชสมบัติ แก่บุตรของกระหม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า
พระราชาทรงตบพระหัตถ์ตรัสขู่ว่า เจ้าจงย่อยยับเสียเถอะ นางถ่อย บุตรของข้า ๒ คน กำลังรุ่งเรืองเหมือนกองเพลิง เจ้าจะให้ข้าฆ่าเขาทั้ง ๒ คน เสีย แล้วขอราชสมบัติให้ลูกของเจ้า
พระนางตกพระทัยเสด็จเข้าสู่พระตำหนักอันทรงสิริ ถึงในวันอื่น ๆ เล่าก็คงทูลขอราชสมบัติกับพระราชาเนือง ๆ ทีเดียว พระราชาครั้นไม่พระราชทานพระพรแก่พระนาง จึงทรงพระดำริว่า ขึ้นชื่อว่ามาตุคามเป็นคนอกตัญญู มักทำลายมิตร นางนี้พึงปลอมหนังสือ หรือจ้างคนโกง ๆ ฆ่าลูกทั้ง ๒ ของเราเสียได้ พระองค์จึงตรัสสั่งให้พระราช โอรสทั้ง ๒ เข้าเฝ้า ตรัสความนั้น มีพระดำรัสว่า พ่อเอ๋ย อันตรายคงจักมีแก่พวกเจ้า ผู้อยู่ ณ ที่นี้ เจ้าทั้งหลายจงพากันไปสู่แดนแห่งสามันตราช หรือสู่ราวป่า พากันมาก็ต่อเมื่อพ่อตายแล้ว ยึดเอาราชสมบัติของตระกูลเถิด
ดังนี้แล้ว รับสั่งให้พวกโหราจารย์เข้าเฝ้าอีก ตรัสถามกำหนดพระชนมายุของพระองค์ ทรงสดับว่า จักยั่งยืนไปตลอด ๑๒ ปีข้างหน้า จึงตรัสว่า พ่อเอ๋ย โดยล่วงไป ๑๒ ปีถัดจากนี้ พวกเจ้าจงพากันมา ให้มหาชนยกฉัตรถวาย
พระราชโอรสเหล่านั้น กราบทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า พากันถวายบังคมพระราชบิดา ทรงพระกันแสง เสด็จลงจากพระปราสาท พระนางสีดาเทวี ทรงพระดำริว่า ถึงเราก็จักไปกับพี่ทั้ง ๒ ถวายบังคมพระราชบิดา ทรงพระกันแสงเสด็จออก
กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์นั้น แวดล้อมไปด้วยมหาชนออกจากพระนครไป ครั้นสุดระยะทางหนึ่งก็ทรงให้มหาชนพากันกลับ เสด็จเข้าสู่หิมวันตประเทศโดยลำดับ สร้างอาศรม ณ ประเทศอันมีน้ำและมูลผลาผลสมบูรณ์ ทรงเลี้ยงพระชนมชีพด้วยผลาผล พากันประทับอยู่แล้ว
ฝ่ายพระลักขณบัณฑิต และพระนางสีดา ได้ทูลขอร้องพระรามบัณฑิตรับปฏิญญาว่า พระองค์ดำรงอยู่ในฐานะแห่งพระราชบิดาของหม่อมฉัน เหตุนั้นเชิญประทับประจำ ณ อาศรมบท เท่านั้นเถิด หม่อมฉันทั้ง ๒ จักนำผลาผลมาบำรุงเลี้ยงพระองค์ นับแต่นั้นมา พระรามบัณฑิต คงประทับประจำ ณ อาศรมบทนั้นเท่านั้น พระลักขณบัณฑิต และพระนางสีดา พากันหาผลาผลมาปรนนิบัติพระองค์
เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์นั้นทรงเลี้ยงพระชนมชีพอยู่ด้วยผลาผลอย่างนี้ พระเจ้าทสรถมหาราช เสด็จสวรรคตลงในปีที่ ๙ เพราะทรงเศร้าโศกถึงพระราชโอรส ครั้นจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าทสรถมหาราชเสร็จแล้ว พระเทวีมีพระดำรัสให้พวกอำมาตย์ถวายพระเศวตฉัตรแด่พระภรตกุมารผู้โอรสของตน แต่พวกอำมาตย์ทูลว่า เจ้าของเศวตฉัตรยังอยู่ในป่า ดังนี้แล้ว จึงไม่ยอมถวาย
พระภรตกุมารตรัสว่า เราจักเชิญพระรามบัณฑิต ผู้เป็นพระภาดามาจากป่า ให้ทรงเฉลิมพระเศวตฉัตร ทรงถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง พร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า บรรลุถึงที่ประทับของพระรามบัณฑิตนั้น ให้ตั้งค่ายพักแรมอยู่ ณ ที่อันไม่ไกล เสด็จเข้าไปสู่อาศรมบทกับอำมาตย์ ๒ - ๓ นาย ในเวลาที่พระลักขณบัณฑิต และพระนางสีดาเสด็จไปป่า เข้าเฝ้าพระรามบัณฑิตผู้ทรงประทับนั่งอย่างสบาย ประหนึ่งรูปทองคำที่ตั้งไว้ ณ ประตูอาศรมบท ครั้นเมื่อเข้าเฝ้าแล้วจึงทรงถวายบังคม ประทับยืน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง กราบทูลข่าวของพระราชาแล้ว ก็ทรงฟุบลงแทบพระบาททั้งคู่ ทรงพระกันแสงพร้อมกับเหล่าอำมาตย์
พระรามบัณฑิตมิได้ทรงเศร้าโศกเลย มิได้ทรงพระกันแสงเลย แม้เพียงอาการผิดปกติแห่งอินทรีย์ก็มิได้มีแก่พระองค์เลย ในเวลาที่พระภรตะทรงพระกันแสงประทับนั่งเป็นเวลาสายัณหสมัย พระลักขณบัณฑิต และพระนางสีดาทั้ง ๒ พระองค์ ทรงพากันถือผลาผลเสด็จมาถึง พระรามบัณฑิตทรงดำริว่า เจ้าลักขณะและแม่สีดายังเป็นเด็กยังไม่มีปรีชากำหนดถี่ถ้วนเหมือนเรา ได้รับบอกเล่าว่า บิดาของเธอสวรรคตแล้วโดยรวดเร็ว เมื่อไม่อาจจะยับยั้งความเศร้าโศกไว้ได้ แม้หัวใจของเธอก็อาจแตกไปได้ เราต้องใช้อุบายให้เจ้าลักขณะและแม่สีดาจงไปแช่น้ำแล้ว ให้ได้ฟังข่าวนั้น ลำดับนั้น ทรงชี้แอ่งน้ำแห่งหนึ่งข้างหน้าแห่งกษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์นั้น ตรัสว่า เจ้าทั้ง ๒ มาช้านัก นี่เป็นทัณฑกรรมของเจ้า เจ้าจงลงไปแช่น้ำยืนอยู่ ดังนี้แล้ว จึงตรัสกึ่งพระคาถาว่า
[๑๕๖๔] มานี่แน่ะ เจ้าลักษณ์และนางสีดาทั้งสองจงมาลงน้ำ
พระลักขณะและพระนางสีดาทั้ง ๒ พระองค์นั้น พากันเสด็จลงไปประทับยืนอยู่ ด้วยพระดำรัสครั้งเดียวเท่านั้น ลำดับนั้น พระรามบัณฑิต เมื่อจะทรงบอกข่าวแห่งพระราชบิดาแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์นั้น จึงตรัสกึ่ง คาถาที่เหลือว่า
พระภรตนี้กล่าว อย่างนี้ว่า พระเจ้าทสรถสวรรคตเสียแล้ว.
พระลักขณะและพระนางสีดาทั้ง ๒ พระองค์นั้น พอได้สดับข่าวว่า พระราชบิดาสวรรคตเท่านั้น ก็พากันวิสัญญีสลบไป พระรามบัณฑิตตรัสบอกซ้ำอีก ก็พากันสลบไปอีก หมู่อำมาตย์ช่วยกันอุ้มกษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ อันทรงถึงวิสัญญีภาพไปถึง ๓ ครั้ง ด้วยอาการอย่างนี้ ขึ้นจากน้ำให้ประทับนั่งบนบก เมื่อเธอทั้ง ๒ ได้ลมอัสสาสปัสสาสะแล้ว ทุกพระองค์ต่างก็ประทับนั่ง ทรงพระกันแสงคร่ำครวญกันเรื่อย
ครั้งนั้น พระภรตกุมารทรงพระดำริว่า พระภาดาของเรา ลักขณกุมารและพระภคินีสีดาเทวีของเรา สดับข่าวว่า พระทสรถสวรรคตเสียแล้ว มิอาจจะยับยั้งความเศร้าโศกไว้ได้ แต่พระรามบัณฑิต มิได้ทรงเศร้าโศก มิได้ทรงคร่ำครวญเลย อะไรเล่าหนอ เป็นเหตุแห่งความไม่เศร้าโศกของพระองค์ ต้องถามพระองค์ดู เมื่อท้าวเธอจะตรัส ถามพระองค์ จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า
[๑๕๖๕] พี่ราม ด้วยอานุภาพอะไรเจ้าพี่ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ควรเศร้าโศก ความ
ทุกข์มิได้ครอบงำพี่เพราะได้ทรงสดับว่า พระราชบิดาสวรรคตเล่า?
ลำดับนั้น พระรามบัณฑิต เมื่อจะแสดงเหตุที่บังคับมิให้พระองค์ทรง เศร้าโศก แก่พระกุมารภรตะนั้น จึงตรัสว่า
[๑๕๖๖] คนเราไม่สามารถจะรักษาชีวิต ที่คนเป็นอันมากพร่ำเพ้อถึง นักปราชญ์
ผู้รู้แจ้งจะทำตนให้เดือดร้อนเพื่ออะไรกัน?
[๑๕๖๗] ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งคนมั่งมีทั้งคนยากจน ล้วนบ่าย
หน้าไปหามฤตยูทั้งนั้น.
[๑๕๖๘] ผลไม้ที่สุกแล้ว ก็พลันแต่จะหล่นลงเป็นแน่ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายเกิดมา
แล้ว ก็พลันแต่จะตายเป็นแน่ ฉันนั้น.
[๑๕๖๙] เวลาเช้าเห็นกันอยู่มากคน พอถึงเวลาเย็นบางคนไม่เห็นกัน เวลาเย็น
เห็นกันอยู่มากคน พอถึงเวลาเช้าบางคนไม่เห็นกัน.
[๑๕๗๐] ถ้าผู้ที่คร่ำครวญหลงเบียดเบียนตนอยู่ จะพึงได้รับประโยชน์สักเล็กน้อย
ไซร้ บัณฑิตผู้มีปรีชาก็จะพึงทำเช่นนั้นบ้าง.
[๑๕๗๑] ผู้เบียดเบียนตนของตนอยู่ ย่อมซูบผอมปราศจากผิวพรรณ สัตว์ผู้ละไป
แล้วไม่ได้ช่วยคุ้มครองรักษา ด้วยการร่ำไห้นั้นเลย การร่ำไห้ไร้ประโยชน์.
[๑๕๗๒] คนฉลาดพึงดับไฟที่ไหม้เรือนด้วยน้ำ ฉันใด คนผู้เป็นนักปราชญ์ได้รับ
การศึกษามาดี มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงรีบกำจัดความโศกที่เกิดขึ้นโดย
ฉับพลัน เหมือนลมพัดปุยนุ่น ฉันนั้น.
[๑๕๗๓] คนๆ เดียวเท่านั้นตายไป คนเดียวเท่านั้นเกิดในตระกูล ส่วนการคบ
หากันของสรรพสัตว์ มีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง.
[๑๕๗๔] เพราะเหตุนั้นแล ความเศร้าโศกแม้จะมากมายก็ไม่ทำจิตใจของนัก
ปราชญ์ ผู้เป็นพหูสูต มองเห็นโลกนี้และโลกหน้า รู้ทั่วถึงธรรมให้
เร่าร้อนได้.
[๑๕๗๕] เราจักให้ยศ และโภคสมบัติ แก่ผู้ที่ควรจะได้ จักทะนุบำรุงภรรยา
ญาติทั้งหลาย และคนที่เหลือ นี้เป็นกิจของบัณฑิตผู้ปรีชา.
พระรามบัณฑิต ได้ประกาศถึงอนิจจตาด้วยคาถา ๖ คาถาเหล่านี้.
ฝูงชนฟังธรรมเทศนาอันประกาศความไม่เที่ยง ของพระรามบัณฑิตนี้ แล้วพากันสร่างโศก ต่อจากนั้น พระภรตกุมารบังคมพระรามบัณฑิตทูลว่า เชิญพระองค์ทรงรับราชสมบัติ ในพระนครพาราณสีเถิด
ดูก่อนพ่อ ท่านจงพาพระลักขณ์และสีดาเทวีไปครองราชสมบัติกันเถิด
ทูลถามว่า ก็ พระองค์เล่า พระเจ้าข้า
ตรัสว่า พ่อเอ๋ย พระบิดาของฉันได้ตรัสไว้ กะฉันว่า ต่อล่วง ๑๒ ปี เจ้าค่อยมาครองราชสมบัติ เมื่อฉันจะไป ณ บัดนี้เล่า ก็เป็นอันไม่ชื่อว่าไม่กระทำตามพระดำรัสของพระองค์ แต่ครั้น พ้นจาก ๓ ปี อื่นไปแล้ว ฉันจักยอมไป
ทูลถามว่า ตลอดกาลเพียงนี้ ใครจักครองราชสมบัติเล่า
พวกเธอครองเถิด
ทูลว่า หากหม่อมฉันไม่ครอง
ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นรองเท้าคู่นี้จักครองจนกว่าฉันไป
แล้วทรงถอดฉลองพระบาททำด้วยหญ้าของพระองค์ประทานให้ กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์รับฉลองพระบาทบังคมพระรามบัณฑิต แวดล้อมด้วยมหาชน เสด็จไปสู่พระนครพาราณสี อัญเชิญฉลองพระบาทไว้บนพระราชบัลลังก์เพื่อแทนพระองค์รามบัณฑิต ให้รองพระบาทนั้นครองราชสมบัติตลอด ๓ ปี
พวกอำมาตย์พากันวางฉลองพระบาทหญ้าเหนือราชบังลังก์ แล้วพากันตัดสินคดี ถ้าตัดสินไม่ดี ฉลองพระบาทก็กระทบกัน ด้วยสัญญานั้น ต้องพากันตัดสินใหม่ เวลาที่ตัดสินชอบแล้ว ฉลองพระบาทปราศจากเสียงและคงเงียบอยู่ ต่อนั้นสามปี พระรามบัณฑิตจึงเสด็จออกจากป่าบรรลุถึงพระนครพาราณสี เสด็จเข้าสู่พระราช อุทยาน พระกุมารทั้งหลายทรงทราบความที่พระองค์เสด็จมา มีหมู่อำมาตย์แวดล้อมเสด็จไปพระอุทยาน ทรงกระทำนางสีดาเป็นอัครมเหสีแล้วอภิเษกทั้งคู่
พระมหาสัตว์ทรงปราบดาภิเษกแล้ว ประทับเหนือราชรถอันอลงกต เสด็จเข้าสู่พระนครด้วยบริวารขบวนใหญ่ ทรงเลียบพระนครแล้วเสด็จขึ้นสู่ท้อง พระโรง แห่งพระสุนันทนปราสาท ตั้งแต่นั้น ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ตลอดหมื่นหกพันปี ในเวลาสิ้นพระชนมายุ ทรงยังเมืองสวรรค์ให้เนืองแน่น แล้วอภิสัมพุทธคาถานี้ว่า
[๑๕๗๖] พระเจ้ารามผู้มีพระศอดุจกลองทอง มีพระพาหาใหญ่ ทรงครอบครอง
ราชสมบัติอยู่ตลอด ๑๖,๐๐๐ ปี.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ ในเวลาจบสัจจะ กุฎุมพีดำรงในโสดาปัตติผล ทรงประชุมชาดกว่า พระทสรถมหาราชครั้งนั้น ได้มาเป็นสุทโธทนมหาราช พระมารดาได้มาเป็น พระมหามายา สีดาได้มาเป็นมารดาของราหุล เจ้าภรตะได้มาเป็น อานนท์ เจ้าลักขณ์ ได้มาเป็นสารีบุตร บริษัทได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วน รามบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคตแล.

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 25 สิงหาคม 2554
Last Update : 29 มีนาคม 2564 12:26:19 น. 2 comments
Counter : 418 Pageviews.

 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
//abhinop.blogspot.com
//abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 29 มีนาคม 2564 เวลา:11:26:50 น.  

 
ททมาโน ปิโย โหตื ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 29 มีนาคม 2564 เวลา:12:02:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.