Group Blog
 
All Blogs
 

นารทชาดก - อุเบกขาบารมี




เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เสด็จไปทรงทรมานชฎิลสามพี่น้องซึ่งมีอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และบวชเป็นภิกษุแล้ว พระอุรุเวลกัสสปะเถระตามเสด็จพระบรมศาสดาไปยังลัฏฐิวโนทยาน (สวนตาลหนุ่ม) ในแคว้นมคธ วันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารเสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปเฝ้าพระพุทธองค์ พวกพราหมณ์ คหบดีในจำพวกราชบริษัทเกิดความสงสัยขึ้นว่า “อุรุเวลกัสสปะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาโคดม หรือพระมหาโคดมประพฤติพรหมจรรย์ในอุรุเวลกัสสปะ” จึงมีพุทธดำริว่า “จักต้องประกาศความที่กัสสปะมาบวชในสำนักของเราให้พวกนี้รู้” พระเถระอุรุเวลกัสสปะได้ทราบในพุทธประสงค์จึงแสดงความเป็นสาวกให้ชนทั้งหลายได้ประจักษ์ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ดูกรท่านทั้งหลาย การที่เราผู้ถึงแล้วซึ่งสัพพัญญุตญาณทรมานอุรุเวลกัสสปะได้ในบัดนี้ ไม่อัศจรรย์เท่าครั้งที่เรายังมีราคะ โทสะ โมหะเป็นนารทมหาพรหม ทำลายข่ายคือทิฐิของเธอกระทำจนสิ้นพยศอันร้าย มีพุทธฎีกาตรัสฉะนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพ” บรรดามหาชนซึ่งประชุมอยู่ในที่นั้นจึงกราบทูลขอให้ทรงแสดงอดีตนิทาน ความโดยสังเขปว่า

ในกาลก่อนพระเจ้าอังคติราชเสวยราชสมบัติในพระนครมิถิลา แคว้นวิเทหรัฐ ทรงตั้งอยู่ในสุจริตธรรม มีพระราชธิดาองค์เดียวพระนามว่ารุจาราชกุมารี ทรงเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดายิ่งนัก พระราชธิดาประกอบกุศลกรรมไว้ในอดีตจึงทรงระลึกชาติได้ ทุกกึ่งเดือนจะได้รับพระราชทานทรัพย์จำนวนมากสำหรับบริจาคทาน พระเจ้าอังคติราชทรงมีอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษา ๓ นาย คือ วิชยอำมาตย์ สุนามอำมาตย์ และอลาตอำมาตย์

วันหนึ่งพระเจ้าอังคติราชตรัสถามอำมาตย์ทั้งสามว่าพระองค์ควรจะกระทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ อลาตอำมาตย์กราบทูลว่าควรทำสงครามขยายพระราชอาณาเขต สุนามอำมาตย์กราบทูลว่าควรบันเทิงพระทัยด้วยการเลี้ยงดูและขับร้อง ส่วนวิชยอำมาตย์กราบทูลว่าควรเข้าหาสนนทนาด้วยนักบวชผู้รู้ธรรม พระราชาทรงเห็นด้วยกับวิธีของวิชยอำมาตย์ อลาตอำมาตย์ก็กราบทูลแนะนำให้เสด็จไปยังสำนักของอาจารย์คุณาชีวกซึ่งประพฤติตนเปลือยกายอยู่ ณ ป่ามิคทายวัน ครั้นเสด็จไปถึงพระเจ้าอังคติราชก็ตรัสถามข้อธรรมกับคุณาชีวกว่า “ผู้ประพฤติธรรมไฉนละโลกนี้ไปแล้วจึงไปสู่สุคติได้ และเป็นอย่างไรชนบางพวกผู้มิได้ตั้งอยู่ในธรรมจึงตกลงไปยังนรกเบื้องต่ำ” ปัญหาที่พระเจ้าอังคติราชตรัสนั้นลึกซึ้งนักควรจะถามพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ “เมื่อทรงตรัสถามคุณาชีวกผู้เปลือยกายหาสิริมิได้และไม่มีปัญญาหยั่งรู้” คุณาชีวิกกราบทูลว่าผลของบาปไม่มี ผลของบุญไม่มี มนุษย์ทั้งหลายมีชีวิตอยู่เพื่อดำรงความสุขส่วนตนไปวันหนึ่งๆ เมื่อถึงยามดับก็แตกสลายกลายเป็นธาตุเดิม พระเจ้าอังคติราชได้ทรงสดับดังนั้น มีพระดำริว่าถ้ากระนั้นการบำเพ็ญทานและปฏิบัติธรรมของพระองค์ที่ผ่านมาก็ไร้ผล แต่นั้นมาก็ทรงใฝ่ในโลกียสุข เลิกละการปฏิบัติธรรมและงดการบริจาคทาน ชาวเมืองต่างพากันเดือดร้อน

พระราชธิดารุจาทรงสลดพระทัยในการเปลี่ยนแปลงของพระราชบิดา ราตรีหนึ่งขณะเสด็จขึ้นเฝ้า ก็กราบทูลถึงผลบาปผลบุญที่พระนางระลึกชาติได้ว่าเคยกระทำมาแต่ชาติปางก่อน แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นมิจฉาทิฐิของพระราชบิดาได้ พระราชธิดารุจาจึงตั้งสัตยาธิษฐานขอให้เทพยดาดลพระทัยพระเจ้าอังคติราชให้กลับเป็นสัมมาทิฐิดังเดิม



(นารทมหาพรหมเนรมิตเป็นฤาษีเสด็จมาโปรดพระเจ้าอังคติราชและพระราชธิดารุจา)



(ภาพ พระโพธิสัตว์นารทมหาพรหมนิรมิตเป็นพระนารทกัสสปฤาษี ที่ปรากฏบางภาพเขียนเป็นพักตร์เดียว ๒ กร บางภาพมีพักตร์เดียว ๔ กร บางภาพมี ๔ พักตร์ ๒ กร และบางภาพมี ๔ พักตร์ ๔ กร)

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนารทมหาพรหมทรงทราบในสัตยาธิษฐานของพระราชธิดารุจา มีพระกรุณาจะสงเคราะห์จึงเนรมิตเป็นพระนารทกัสสปฤาษี “แปลงเพศเป็นมนุษย์มีวรรณะผุดผ่องดุจทองน่าเลื่อมใส ผูกชฎามณฑลอันงามจับใจ ปักปิ่นทองไว้ในระวางชฎา นุ่งผ้าพื้นแดงไว้ภายใน ทรงผ้าเปลือกไม้อันย้อมฝาดไว้ภายนอก กระทำเฉวียงบ่าซึ่งผ้าหนังเสืออันแล้วไปด้วยเงินซึ่งขลิบด้วยทอง แล้วเอาภิกขาภาชนะใส่ในสาแหรกอันประดับมุดกาข้างหนึ่ง เอาคนโทน้ำแก้วประฬาสใส่ในสาแหรกอีกข้างหนึ่ง เสร็จก็ยกคานทองอันงามขึ้นวางเหนือบ่า แล้วเหาะมาโดยอากาศ โดยเพศแห่งฤาษีไพโรจน์โชตนาประหนึ่งพระจันทร์ในพื้นคัคนานตประเทศ เข้าสู่จันทกปราสาท ยืนอยู่ ณ เบื้องพักตร์พระเจ้าอังคติราช”

เมื่อพระเจ้าอังคติราชทอดพระเนตรเห็นพระนารทกัสสปฤาษีเหาะได้ดังนั้นก็สนเท่ห์ในพระทัย ตรัสถามก็ได้ความว่าพระนารทกัสสปฤาษีตั้งมั่นในคุณธรรม ๔ ประการ อันได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ พระโพธิสัตว์ทรงแสดงผลของบาปซึ่งผู้กระทำจะได้รับในอบายภูมิ ทำให้พระเจ้าอังคติราชทรงหวาดกลัวกลับพระทัยมาปฏิบัติสัมมาทิฐิในที่สุด พระโพธิสัตว์จึงเสด็จกลับพรหมโลก ชาวพระนครมิถิลาก็อยู่เย็นเป็นสุขดังเดิม

เมื่อจบเรื่องนารทมหาพรหมแล้ว พระบรมศาสดาทรงประชุมชาดกกล่าวถึงการกลับชาติของบุคคลต่างๆ คือ อลาตอำมาตย์เป็นพระเทวทัต วิชยอำมาตย์เป็นพระสารีบุตร คุณาชีวกเป็นอเจลกะ พระราชธารุจาเป็นพระอานนท์ พระเจ้าอังคติราชเป็นอุรุเวลกัสสปะและพระนารทมหาพรหมคือสมเด็จพระบรมศาสดา

ที่มา ภาพและเรื่องสำเนาและคัดลอกจากหนังสือชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
โดย คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
พิมพ์ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

หมายเหตุ สำเนาภาพและบทความในเรื่อง ได้ถูกคัดลอกมาเผยแพร่ด้วยเจตนาจะมุ่งให้เห็นความประณีต วิจิตรบรรจง อันเกิดจากแรงศรัทธาในพระศาสนาของจิตรกรรุ่นบรรพชนผู้สร้าง ซึ่งสร้างตู้ลายพระธรรมรดน้ำเป็นพุทธบูชา เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ผู้ประสงค์จะนำภาพหรือบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าของภาพและเรื่องด้วย




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2553    
Last Update : 20 มิถุนายน 2553 6:08:37 น.
Counter : 3594 Pageviews.  

จันทกุมารชาดก - ขันติบารมี



เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันถึงเรื่องพระเทวทัตพยายามที่จะทำลายชีวิตชนเป็นอันมาก แต่ชนเหล่านั้นรอดชีวิตได้ด้วยพุทธบารมี พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องราวที่สนทนาด้วยทิพโสต จึงเสด็จมายังโรงธรรมสภา ตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านนั่งประชุมกันบัดนี้ด้วยเรื่องอะไรหนอ ครั้นเมื่อภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่าด้วยเรื่องนี้ แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตมิใช่แต่ในบัดนี้ ถึงในปางก่อนก็ได้พยายามที่จะฆ่าชนเป็นอันมาก อาศัยเราผู้เดียว เพราะจิตมีเวรในเรา” ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลขอให้แสดงอดีตนิทาน ความโดยสังเขปมีว่า

กาลก่อนเมื่อกรุงพาราณสียังมีชื่อว่าบุปผาวดี พระเจ้าเอกราชาได้เสวยราชสมบัติในเมืองนั้นทรงตั้งพระราชโอรสจันทกุมารไว้ในที่พระมหาอุปราช มีพราหมณ์กัณฑหาลเป็นปุโรหิตทำหน้าที่ตัดสินอรรถคดีต่างๆ พราหมณ์กัณฑหาลมีความโลภ รับสินบนตัดสินคดีความอย่างไม่เป็นธรรม ส่วนพระมหาอุปราชนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ มีพระทัยตั้งอยู่ในความสุจริตยุติธรรม เป็นที่รักใคร่สรรเสริญของมหาชน ความทราบถึงพระเจ้าเอกราชาจึงทรงมอบหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีความทั้งหมดให้แก่จันทกุมารเพียงผู้เดียว พราหมณ์กัณฑหาลเสียประโยชน์ที่เคยได้รับก็โกรธแค้น พยายามหาเหตุที่จะกำจัดพระมหาอุปราชอยู่มิได้ขาด

ราตรีหนึ่งพระเจ้าเอกราชาทรงพระสุบินว่าได้ทอดพระเนตรเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นบรรทมตื่นก็มีพระประสงค์จะได้เสด็จไปอยู่ในภพนั้นทั้งที่ยังดำรงพระชนม์ รับสั่งให้พราหมณ์กัณฑหาลทำนายพระสุบินนิมิต พราหมณ์กัณฑหาลเห็นโอกาสที่จะกำจัดพระจันทกุมารก็กราบทูลว่า แม้พระองค์มีพระประสงค์จะเสวยทิพยสูรในดาวดึงส์ภพ ต้องประกอบพิธีบูชายัญด้วยบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งได้แก่ พระราชบุตร พระราชธิดา พระมเหสี เศรษฐี ราษฎร์ โคอสุภราช ม้ามโนมัยและสัตว์อื่นๆ อย่างละ ๔ ชีวิต “บรรดาพระราชาผู้ทรงบูชายัญ เมื่อได้บั่นศีรษะแห่งสัตว์ทั้งหลาย มีพระราชบุตรเป็นต้นเหล่านั้นด้วยพระขรรค์ รองโลหิตที่ไหลจากคอด้วยถาดทองคำ ซัดลงในหลุมยัญแล้ว ย่อมเสด็จสู่เทวโลกทั้งพระสรีรกายอันนี้ทีเดียว”

พระเจ้าเอกราชาทรงหลงเชื่อคำกราบทูลยุยง จึงให้เตรียมการขุดหลุมเพลิงใหญ่สำหรับบูชายัญขึ้นภายนอกพระนคร มหาชนทั้งหลายต่างหวาดหวั่นต่อพิธีอันน่าสะพรึงกลัวครั้งนั้น ความทราบถึงพระมหาอุปราชจันทกุมารและพระญาติวงศ์ ต่างพากันกราบทูลอ้อนวอนขอให้พระเจ้าเอกราชาทรงเลิกล้มความตั้งพระทัย ทั้งทูลถึงผลบาปที่จะเกิดจากการทำลายชีวิตผู้อื่นซึ่งจะไม่ส่งผลให้พระองค์ได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นดังที่พราหมณ์กัณฑหาลกราบทูล พระมหาอุปราชทรงตระหนักดีว่ามรณะภัยที่จะเกิดขึ้นแก่พระญาติและชีวิตอื่นๆ ครั้งนี้เป็นเพราะพราหมณ์กัณฑหาลต้องการกำจัดพระองค์เพียงผู้เดียว จึงกราบทูลพระราชบิดาขอให้ยกพระองค์ให้แก่พราหมณ์กัณฑหาลเพื่อแลกกับชีวิตอื่นๆ แต่พระเจ้าเอกราชาก็ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะประกอบพิธีบูชายัญต่อไป

ครั้นถึงวันกำหนด พระโพธิสัตว์ พระญาติพระวงศ์ คหบดีและสัตว์เป็นจำนวนมากก็ถูกนำไปยังบริเวณหลุมเพลิงพิธีบูชายัญ กรรมทุกประการในหลุมยัญทั้งหลายก็สำเร็จลง อำมาตย์ทั้งหลายนำพระราชบุตรมาแล้วให้ก้มพระศอลงนั่งอยู่ กัณฑหาลพราหมณ์น้อมถาดทองคำเข้าไปใกล้ แล้วหยิบดาบมาถือ ยืนอยู่ด้วยจำนงว่า “เราจักตัดพระศอพระราชกุมาร” พระนางจันทาเทวี ชายาของพระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นคำนึงว่า “ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราจักกระทำความสวัสดีของพระสามีด้วยกำลังความสัตย์ของเรา จึ่งประคองอัญชลีดำเนินไประหว่างแห่งที่ชุมนุมแล้วทรงทำสัจกิริยา” ขอให้เทพดาช่วยคุ้มครองให้พระสามีรอดพ้นจากอันตราย



(ท้าวสักกเทวราชทำลายพิธีบูชายัญ มหาชนเกิดโกลาหลวุ่นวาย ประหารพราหมณ์กันฑหาล)

“ลำดับนั้นท้าวสักกเทวราชผู้เป็นราชาแห่งเทวดาสดับเสียงคร่ำครวญของพระนางจันทา ทรงทราบเรื่องราวแล้ว ในทันใดนั้นเทียวฉวยค้อนเหล็กอันโพลงแล้ว เสด็จมาขู่พระราชาให้ปล่อยชนเหล่านั้นทั้งสิ้น” ท้าวสักกเทวราชทรงประกาศว่า หากพระเจ้าเอกราชายังดื้อดึงจะทำพิธีบูชายัญอยู่อีกจะปลงพระชนม์เสียในวันนี้ การกระทำทั้งนี้เกิดจากความโลภอยากได้สมบัติในสวรรค์โดยมิได้คำนึงถึงความทุกข์ของผู้อื่นนับเป็นบาปอย่างยิ่ง ขณะนั้นมหาชนที่มาชุมนุมกันอยู่ก็เกิดวุ่นวายโกลาหล ใช้ก้อนดินทุ่มประหารพราหมณ์กัณฑหาลเสียในที่นั้น แล้วขับไล่พระเจ้าเอกราชาออกจากราชสมบัติ ประกาศให้เป็นคนจัณฑาล บังคับให้ไปอยู่นอกเมือง และอภิเษกพระมหาอุปราจันทกุมารสืบราชสมบัติต่อไป

เมื่อจบเรื่องจันทกุมารแล้ว พระบรมศาสดาทรงประกาศอริยสัจ ๔ และตรัสประชุมชาดกว่า พราหมณ์กัณฑหาลได้มาเป็นพระเทวทัต พระนางจันทาเทวีเป็นพระนางพิมพา ท้าวสักกเทวราชเป็นพระอนุรุทธ และพระจันทกุมารเป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า


ที่มา ภาพและเรื่องสำเนาและคัดลอกจากหนังสือชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
โดย คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
พิมพ์ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

หมายเหตุ สำเนาภาพและบทความในเรื่อง ได้ถูกคัดลอกมาเผยแพร่ด้วยเจตนาจะมุ่งให้เห็นความประณีต วิจิตรบรรจง อันเกิดจากแรงศรัทธาในพระศาสนาของจิตรกรรุ่นบรรพชนผู้สร้าง ซึ่งสร้างตู้ลายพระธรรมรดน้ำเป็นพุทธบูชา เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ผู้ประสงค์จะนำภาพหรือบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าของภาพและเรื่องด้วย




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2553    
Last Update : 13 มิถุนายน 2553 5:59:38 น.
Counter : 2404 Pageviews.  

ภูริทัตชาดก - ศีลบารมี



เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร เมืองสาวัตถี วันหนึ่งอุบาสกทั้งหลายอธิษฐานอุโบสถศีลแล้วพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดายังโรงธรรมสภา มีพุทธดำรัสถึงบุพจริยาที่ทรงสมาทานอุโบสถศีลในกาลเมื่อเสวยพระชาติเป็นนาคภูริทัต ความโดยสังเขปว่า

ในอดีตกาลพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ ณ กรุงพาราณสี ทรงระแวงว่าพระราชบุตรจะชิงเอาราชสมบัติ จึงตรัสสั่งให้ไปอยู่เสียนอกพระนครจนกว่าพระองค์จะสิ้นอายุขัย พระราชบุตรก็ถวายบังคมลาไปถือเพศบรรพชิตอยู่ที่บรรณศาลาริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ต่อมามีนางนาคมาณวิกาผู้หนึ่ง สามีตายแต่ยังสาว จากนาคพิภพมาคอยปรนนิบัติพระราชบุตรจนได้นางเป็นชายา ก็ประสูติโอรสทรงนามว่าสาครทัต กับธิดาอีกองค์หนึ่งทรงนามว่าสมุททชา เมื่อพระเจ้าพรหมทัตสิ้นพระชนม์แล้ว เหล่าอำมาตย์จึงออกไปทูลเชิญพระราชบุตรกลับมาครองราชสมบัติ ฝ่ายชายาที่เป็นนางนาคมาณวิกาไม่ประสงค์ที่จะเข้าไปอยู่ในพระนครด้วยเพราะเกรงว่าวิสัยนาคเมื่อเกิดโทสะแล้วย่อมเป็นภัยต่อมนุษย์ จึงขอกลับไปยังนาคพิภพ

กาลต่อมานางสมุททชาได้เป็นมเหสีของท้าวธตรฐ ราชาแห่งนาคในกรุงบาดาลและมีโอรส ๔ องค์คือ สุทัสนะ ทัตตะ สุโภคะ และกาณาริฏฐะ ท้าวธตรฐทรงจัดการให้โอรสทั้งสี่ ครองนาคพิภพเป็นส่วนๆ ในบรรดาโอรสทั้งหมด ทัตตะเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดที่สุด จึงได้นามว่า “ภูริทัตตะ” หรือ “ภูริทัต”

พระโพธิสัตว์ภูริทัตปรารถนาจะได้อุบัติในเทวโลก จึงปฏิบัติอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัดและได้ขึ้นมาสมาทานบนแดนมนุษย์ที่จอมปลวกริมฝั่งแม่น้ำยมุนา เนรมิตร่างเป็นนาคราช มีกายสีขาวขนาดเท่างอนไถ เมื่อที่ภูริทัตขึ้นมายังแดนมนุษย์นั้น ยามรุ่งอรุณของทุกวันนางนาคทั้งหลายจะพากันมาปรนนิบัติแล้วเชิญพระภูริทัตกลับไปยังนาคพิภพเสมอมา

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่นางนาคทั้งหลายกำลังปรนนิบัติพระโพธิสัตว์อยู่ มีพราหมณ์เนสาทกับบุตรชื่อโสมทัตออกล่าสัตว์มาถึงฝั่งแม่น้ำยมุนา พบพระโพธิสัตว์ซึ่งเนรมิตร่างเป็นมนุษย์อยู่ก็เข้าไต่ถาม ภูริทัตตั้งมั่นในอุโบสถศีลจึงเล่าความจริงให้ทราบทุกประการแล้วดำริว่า พราหมณ์เนสาทผู้นี้ต่อไปจะเป็นอันตรายแก่การสมาทานศีลของพระองค์ จึงชวนพราหมรณ์กับบุตรให้ลงไปยังนาคพิภพ เลี้ยงดูอย่างสุขสำราญด้วยสมบัติทิพย์ เมื่อทั้งสองจะเดินทางกลับก็ให้ทรัพย์สินติดตัวมา และรับสั่งว่าหากเมื่อใดมีความเดือดร้อนก็ให้ไปเฝ้าจะช่วยเหลืออีก



(เหล่านางนาคมาณวิภาบริวารพากันหลบหนีไปเมื่อพราหมณ์อาลัมพายน์ร่ายมนตร์จับพระโพธิสัตว์)

อยู่มาพราหมณ์เนสาทได้รู้จักกับพราหมณ์อาลัมพายน์ซึ่งเป็นผู้รู้มนตร์จับนาค พราหมณ์อาลัมพายน์เก็บดวงแก้วสารพัดนึกที่พวกนาคลืมทิ้งไว้ริมหาดทราย แต่ไม่ทราบคุณวิเศษของดวงแก้วนั้น ถือติดมือมาด้วย พอดีพราหมณ์อาลัมพายน์ประสงค์จะได้นาคใหญ่ พราหมณ์เนสาทรู้คุณวิเศษของดวงแก้วนั้นก็มีความต้องการ จึงบอกพราหมณ์อาลัมพายน์ถึงสถานที่จำศีลของนาคภูริทัตเป็นการแลกเปลี่ยน โสมทัตผู้บุตรไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่อกตัญญุของบิดา จึงตำหนิและปลีกตัวไปบวชเป็นฤาษี พราหมณ์อาลัมพายน์เดินทางไปตามที่พราหมณ์เนสาทบอกจนได้พบพระโพธิสัตว์ ก็ร่ายมนตร์และกรอกยาล้างพิษนาค นำใส่ภาชนะบังคับให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ตามคำสั่ง พระโพธิสัตว์สู้ระงับความโกรธไม่ทำอันตรายด้วยเกรงว่าอุโบสถศีลจะด่างพร้อย



(พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรการแสดงนาคของพราหมณ์อาลัมพายน์)

ฝ่ายทางนาคพิภพเมื่อพระโพธิสัตว์หายไปนานผิดสังเกตุก็พากันออกติดตาม สุทัสนะผู้เป็นพี่กับนางอัจจิมุขีกนิษฐาต่างมารดาของภูริทัตออกตามหาบนแดนมนุษย์ สุทัสนะเนรมิตรูปเป็นดาบส ส่วนนางอัจจิมุขีแปลงเป็นเขียดน้อยนอนอยู่ในมุ่นมวยชฎาของดาบส พบพระโพธิสัตว์ตกอยู่ใต้อำนาจของพราหมณ์อาลัมพายน์ ขณะที่กำลังนำนาคภูริทัตไปแสดงหน้าพระที่นั่งถวายพระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตร ดาบสแปลงเข้าไปดูการแสดงของนาคด้วย ได้กล่าวสบประมาทว่า นาคของพราหมณ์อาลัมพายน์มีฤทธิ์ไม่เท่าเขียดน้อยของตน ทำให้พราหมณ์อาลัมพายน์โกรธและท้าประลองกันขึ้น พระเจ้าพาราณสีรับสั่งให้จัดสถานที่ประลองฤทธิ์ระหว่างนาคกับเขียดน้อยที่สนามหน้าพระลาน ดาบสแปลงให้เขียดน้อยพ่นพิษออกมาเพียง ๓ หยด พราหมณ์อาลัมพายน์ต้องไอพิษ ทำให้ผิวหนังลอกกลายเป็นโรคเรื้อน นาคภูริทัตก็ปรากฏร่างเป็นมนุษย์แล้วสุทัสนะก็กราบทูลพระเจ้าพาราณสีว่า ตนและภูริทัตเป็นโอรสของนางสมุททชาผู้เป็นกนิษฐาของพระเจ้าพาราณสีนั่นเอง ต่อมาภูริทัตก็พาพระมารดาขึ้นมาพบกับพระเจ้าพาราณสีที่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ทรงบำเพ็ญอุโบสถศีลต่อไปในสำนักของพระเจ้าพาราณสีโดยไม่มีผู้ใดรบกวน

เมื่อจบเรื่องภูริทัตแล้ว พระบรมศาสดาตรัสประชุมชาดกว่า “มารดาบิดาของพระภูริทัตในครั้งนั้นได้มาเป็นศากยมหาราชตระกูล พราหมณ์เนสาทมาเป็นเทวทัต โสมทัตมาเป็นพระอานนท์ นางอัจจิมุขีมาเป็นนางอุบลวัณณา สุทัสนะมาเป็นพระสารีบุตร สุโภคะมาเป็นพระโมคคัลลานะ กาณาริฏฐะมาเป็นสุนักขัตตลิจฉวี ภูริทัตเป็นเราผู้รู้รอบด้วยตนเอง”

ที่มา ภาพและเรื่องสำเนาและคัดลอกจากหนังสือชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
โดย คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
พิมพ์ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

หมายเหตุ สำเนาภาพและบทความในเรื่อง ได้ถูกคัดลอกมาเผยแพร่ด้วยเจตนาจะมุ่งให้เห็นความประณีต วิจิตรบรรจง อันเกิดจากแรงศรัทธาในพระศาสนาของจิตรกรรุ่นบรรพชนผู้สร้าง ซึ่งสร้างตู้ลายพระธรรมรดน้ำเป็นพุทธบูชา เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ผู้ประสงค์จะนำภาพหรือบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าของภาพและเรื่องด้วย




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2553    
Last Update : 6 มิถุนายน 2553 6:07:22 น.
Counter : 5964 Pageviews.  

มโหสถชาดก - ปัญญาบารมี



ขณะพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับที่พระเชตวันวิหาร เมืองสาวัตถี วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนาสรรเสริญพระปัญญาบารมี พระพุทธองค์จึงตรัสเทศนาเรื่องมโหสถชาดก ความโดยย่อมีดังนี้

ในอดีตกาลมีพระราชาทรงพระนามว่า วิเทหราช เสวยราชสมบัติในพระนครมิถิลา แคว้นวิเทหรัฐ มีปุโรหิตผู้ถวายคำปรึกษา ๔ นาย คือ เสนกะ ปุกกุสสะ กามินทะ และเทวินทะ ใกล้รุ่งราตรีหนึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์จะปฏิสนธิ พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินว่า ที่มุมพระลานกรุงมิถิลาทั้ง ๔ ด้านมีกองเพลิงลุกโชติช่วงสูงเท่ากำแพงพระนครและในท่ามกลางกองเพลิงทั้งสี่นั้นมีเพลิงกองหนึ่งเล็กเท่าหิ่งห้อยแต่สว่างรุ่งเรืองยิ่งกว่า เสนกะบัณฑิตทูลทำนายว่าจะมีนักปราชญ์อุดมปัญญาอุบัติขึ้นในแผ่นดิน

มโหสถเป็นบุตรของสิริวัฒกเศรษฐีกับนางสุมนา มีนิวาสสถานอยู่ที่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของพระนครมิถิลา เมื่อมโหสถกุมารเกิดนั้นถือแท่งยาออกมาจากครรภ์มารดา บิดาซึ่งป่วยด้วยโรคปวดศีรษะมานานถึง ๗ ปี นำยานั้นไปฝนทาที่หน้าผากก็หายจากโรค จึงเป็นที่มาของนามว่า “มโหสถ”

ความเฉลียวฉลาดของมโหสถกุมารเป็นที่เลื่องลือไปทั่วพระนคร จนความทราบถึงพระเจ้าวิเทหราชทรงใคร่จะได้มาเป็นนักปราชญ์ประจำราชสำนักจึงทรงปรึกษาปุโรหิตทั้งสี่ แต่ทั้งหมดไม่เห็นชอบด้วย ต่างให้เหตุผลว่า ควรให้มโหสถแสดงปัญญาให้เป็นที่ประจักษ์กว่านี้ พระเจ้าวิเทหราชทรงติดตามความเคลื่อนไหวของมโหสถมาโดยตลอด จนในที่สุดมีรับสั่งให้เข้าไปอยู่ในพระราชวัง ทำให้ปุโรหิตทั้งสี่เกิดความริษยาหาหนทางที่จะกำจัด

ครั้นพระโพธิสัตว์เจริญวัยขึ้นสมควรมีคู่ครองก็ออกแสวงหาสตรีที่จะมาเป็นคู่ด้วยตนเองและได้พบกับนางอมรบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งของพระนครมิถิลา นางอมรเป็นสตรีที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมรู้หลักนักปราชญ์ พระเจ้าวิเทหราชทรงจัดการวิวาห์ให้อย่างเอิกเกริก

อยู่มาปุโรหิตทั้งสี่ทำอุบายว่ามโหสถคิดทรยศ พระเจ้าวิเทหราชทรงหลงเชื่อจะลงพระราชอาญา แต่มโหสถรู้ตัวจึงหนีออกจากเมืองไปก่อน ภายหลังเมื่อทรงทราบความจริงแล้วก็โปรดให้มโหสถกลับเข้ารับราชการดังเดิม มโหสถใช้ปัญญาแก้ปัญหาต่างๆ ได้สำเร็จ กระทั่งปุโรหิตทั้งสี่ยอมจำนน ไม่คิดประทุษร้ายต่อไปอีก

กล่าวถึงพระเจ้าจุลนีพรหมทัต กษัตริย์แห่งอุตรปัญจาลนคร มีพราหมณ์เกวัฏเป็นที่ปรึกษา ทูลยุยงให้ใฝ่พระทัยในการสงคราม ปรารถนาจะเป็นใหญ่กว่ากษัตริย์ทั้งปวงในชมพูทวีป จึงวางอุบายให้กษัตริย์จาก ๑๐๑ นครมาร่วมงานเลี้ยงที่กรุงมิถิลา แล้วจะลอบใส่ยาพิษลงในสุรา ปลงพระชนม์กษัตริย์ทั้งหมด ก่อนหน้านั้นมโหสถส่ง “สุวโปดก” นกแก้วแสนรู้ไปสอดแนมเหตุการณ์ในราชสำนักพระเจ้าจุลนีพรหมทัตแล้วนำความกลับมาแจ้ง มโหสถจึงแก้ไขสถานการณ์ช่วยเหลือกษัตริย์ทั้ง ๑๐๑ นคร ด้วยการส่งคนไปทำลายไหสุราเสียทั้งสิ้น ทำให้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยกำลัง เกวัฏอำมาตย์ทูลอุบายให้เอาชนะด้วย “ธรรมยุทธ” โดยมีกติกาว่า ให้ที่ปรึกษาของ ๒ พระนคร คือ พราหมณ์เกวัฏและมโหสถออกมาแสดงปัญญากันทีสนามรบ ผู้แพ้จะต้องทำความเคารพผู้ชนะ มโหสถได้ทูลขอยืม “มณีรัตนะ ๘ คด” จากพระเจ้าวิเทหราช แล้วนำออกไปยังสนามธรรมยุทธสถานที่ประลองปัญญา ครั้นเผชิญหน้ากันก็ยื่นมณีรัตนะ ๘ คดให้ เกวัฏอำมาตย์ยื่นมือออกรับ แก้วมณีตกลงใกล้เท้าของพระโพธิสัตว์ ด้วยความโลภเกวัฏอำมาตย์ก็ก้มลงจะหยิบเอา มโหสถจึงกดหลังเกวัฏอำมาตย์ไว้แล้วกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นเด็กเท่ากับหลานท่าน ท่านอย่าไหว้ข้าพเจ้าเลย” ไพร่พลของทั้ง ๒ ฝ่ายแลเห็นแต่ไกลเข้าใจว่าเกวัฏอำมาตย์ทำความเคารพมโหสถ ความพ่ายแพ้ธรรมยุทธครั้งนั้นทำให้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงอัปยศยิ่ง แต่เกวัฏอำมาตย์ก็ยังไม่ยอมแพ้ จึงทูลให้ล้อมกรุงมิถิลาไว้อย่างแน่นหนา



(มโหสถกดหลังเกวัฏอำมาตย์ในสงครามธรรมยุทธ)

ฝ่ายมโหสถจึงทำอุบายลงโทษอนุเกวัฏ ซึ่งเป็นคนรับใช้สนิทแล้วนำตัวใส่สาแหรกหย่อนลงไปนอกกำแพงพระนคร ให้ทำเป็นว่า หนีจากมโหสถไปเข้าด้วยฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ทูลลวงว่า ไพร่พลในกองทัพของพระองค์ต่างก็ได้รับสินบนจากมโหสถ จนกองทัพฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเกิดความหวาดระแวงกันเอง และในที่สุดก็ต้องยกทัพกลับไป

เกวัฏอำมาตย์ผูกใจเจ็บ ไม่ละความพยายามที่จะเอาชนะมโหสถ ได้ออกอุบายให้พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทำเป็นจะยกพระราชธิดาปัญจาลจันทีถวายแก่พระเจ้าวิเทหราช จึงส่งทูตไปยังกรุงมิถิลา ทูลเชิญให้เสด็จไปทำพิธีอภิเษกยังกรุงอุตรปัญจาล พระเจ้าวิเทหราชทรงหลงเชื่อ มโหสถทูลคัดค้านก็ไม่สำเร็จ จึงรับอาสาเดินทางไปเตรียมการล่วงหน้าก่อน พอถึงกรุงอุตรปัญจาลก็เข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนีพรหมทัต อ้างว่าจะมาสร้างพระราชนิเวศใหม่ถวายพระเจ้าวิเทหราชซึ่งจะเสด็จมาอภิเษกกับพระราชธิดา มโหสถเลือกสถานที่แห่งหนึ่งริมน้ำ สร้างพระราชฐานใหม่ขึ้นแล้วขุดอุโมงค์ทะลุไปถึงเขตพระราชฐานชั้นในของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ภายในอุโมงค์ประกอบด้วยประตูกลและดวงประทีปสว่างไสว ดับและเปิดไฟได้พร้อมกันหมด ครั้นสำเร็จแล้วก็ทูลเชิญพระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปประทับเตรียมการอภิเษก พระเจ้าจุลนีพรหมทัตและเกวัฏอำมาตย์คอยทีอยู่แล้ว พร้อมที่จะจับฝ่ายตรงข้าม ขณะนั้นมโหสถก็ส่งคนลอบเข้าไปทางอุโมงค์ถึงพระราชวังชั้นในกรุงอุตรปัญจาล ลักพาพระราชมารดา พระมเหสี พระราชโอรสและพระราชธิดาปัญจาลจันทีเชิญเสด็จทางอุโมงค์ลับไปยังพระราชนิเวศที่สร้างขึ้นใหม่ แล้วจัดการอภิเษกกับพระเจ้าวิเทหราช



(ราชบุรุษลักพาพระญาติของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตไปทางอุโมงค์ลับ)



(พิธีอภิเษกพระเจ้าวิเทหราชกับนางปัญจาลจันที)

ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตไม่ทรงทราบเลยว่า พระญาติถูกจับไปเป็นตัวประกัน ครั้นได้เวลาจึงทรงช้างพระที่นั่งยกไพร่พลไปล้อมพระราชนิเวศใหม่ของพระเจ้าวิเทหราช มโหสถก็เปิดสีหบัญชรออกแล้วทูลถึงอุบายทั้งหมดของตน พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงทราบว่า แพ้ปัญญามโหสถ ดังนั้น ก็ใคร่จะได้ทอดพระเนตรอุโมงค์ลับ มโหสถก็ทูลเชิญให้เสด็จไปพร้อมด้วยข้าราชบริพารตามเสด็จ ครั้นถึงกลางอุโมงค์ มโหสถก็เหยียบสลักยนต์ ประตูทั้งหมดในอุโมงค์ก็ปิดและประทีปทุกดวงก็ดับลงพร้อมกัน “อุโมงค์ทั้งสิ้นก็มืดราวกะโลกันตนิรยาบาย มหาชนทั้งปวงทั้งสะดุ้งอันมรณภัยคุกคามแล้ว พระมหาสัตว์ก็หยิบดาบซึ่งตนเอาเข้าไปฝังทรายไว้เมื่อวานนี้ แล้วโดดขึ้นไป จากพื้นสู่อากาศสูง ๑๘ ศอก แล้วกลับลงมาจากอากาศ จับพระหัตถ์พระเจ้าจุลนีพรหมทัตไว้ เงื้อดาบให้ตกพระราชหฤทัย”



(มโหสถโดดขึ้นไปในอากาศแกว่างพระขรรค์คุกคามพระเจ้าจุลนีพรหมทัตในอุโมงค์ลับ)

หลังจากนั้นมโหสถทูลพระเจ้าจุลนีพรหมทัตขอพระราชทานอภัยโทษในการที่ตนได้ประพฤติไม่สมควร พระองค์ทรงศรัทธาในปัญญาและความซื่อสัตย์ของมโหสถยิ่งนัก ตรัสขอให้มโหสถรับราชการอยู่กับพระองค์จะทรงปูนบำเหน็จอย่างสูงสุด มโหสถปฏิเสธแต่ทูลว่าหากสิ้นพระเจ้าวิเทหราชแล้วจึงจะมารับราชการสนองพระราชประสงค์ในภายหลัง เมื่อเสร็จภารกิจแล้วมโหสถก็เชิญเสด็จพระเจ้าวิเทหราชกับพระราชธิดาปัญจาลจันทีกลับคืนยังกรุงมิถิลา ต่อมาเมื่อพระเจ้าวิเทหราชสิ้นพระชนม์แล้ว มโหสถก็ได้ไปรับราชการอยู่กับพระเจ้าจุลนีพรหมทัต



(มโหสถถามตอบปัญหากับนางเภรีปริพาชิกา)

ยังมีนางเภรีปริพาชิกาเป็นบัณฑิตในแขวงนครอุตรปัญจาล ได้ยินกิตติศัพท์ของมโหสถก็ใคร่จะรู้จัก จนวันหนึ่งได้พบกัน บัณฑิตทั้งสองก็ถามตอบปริศนากัน “.... นางเภรีรู้ถ้อยคำของมโหสถจึงยกมือขึ้นลูบศีรษะของตน นางแสดงข้อความนี้ด้วยกิริยาว่า แน่ะบัณฑิต ถ้าท่านลำบาก เหตุใดท่านจึงไม่บวชเสียเหมือนอาตมะเล่า พระมหาสัตว์รู้ความจริงนั้นจึงลูบท้องของตนแสดงข้อความนี้ด้วยกิริยาว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า บุตรแลภรรยาข้าพเจ้าต้องเลี้ยงดู เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้ายังไม่บวช ...”

เมื่อพระบรมศาสดาแสดงเรื่องมโหสถจบแล้ว ตรัสประชุมชาดกกล่าวถึงการกลับชาติมาเกิดของบุคคลในครั้งนั้นคือ เสนกะเป็นพระกัสสปะ กามินทะเป็นพระอัมภัฏฐะ ปุกกุสะเป็นพระโปฏปาทะ เทวินทะเป็นพระโสณทัณฑกะ ปัญจาลจันทราชกุมารเป็นพระอนุรุทธ เกวัฏพราหมณ์เป็นเทวทัต อนุเกวัฏเป็นพระโมคคัลลานะ นางปัญจาลจันทีเป็นนางสุนทรีปริพาชิกา พระเจ้าวิเทหราชเป็นพระกาลุทายี นางเภรีปริพาชิกาเป็นนางอุบลวัณณา บิดามารดาของมโหสถเป็นพุทธบิดาพุทธมารดา นางอมรเป็นพระนางพิมพา นกสุวโปดกเป็นพระอานนท์ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเป็นพระสารีบุตร และมโหสถบัณฑิตคือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ที่มา ภาพและเรื่องสำเนาและคัดลอกจากหนังสือชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
โดย คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
พิมพ์ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

หมายเหตุ สำเนาภาพและบทความในเรื่อง ได้ถูกคัดลอกมาเผยแพร่ด้วยเจตนาจะมุ่งให้เห็นความประณีต วิจิตรบรรจง อันเกิดจากแรงศรัทธาในพระศาสนาของจิตรกรรุ่นบรรพชนผู้สร้าง ซึ่งสร้างตู้ลายพระธรรมรดน้ำเป็นพุทธบูชา เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ผู้ประสงค์จะนำภาพหรือบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าของภาพและเรื่องด้วย




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2553 6:16:40 น.
Counter : 5217 Pageviews.  

เนมิราชชาดก - อธิษฐานบารมี



เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ อัมพวันอุทยาน (สวนมะม่วง) กรุงมิถิลา เย็นวันหนึ่งเสด็จจาริกพร้อมด้วยพระสาวก ทอดพระเนตรรมณียสถานในอุทยานแห่งนั้น ทรงใคร่จะตรัสเรื่องในอดีตชาติของพระองค์ จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์กราบทูลถามถึงเหตุที่ทรงแย้มพระโอษฐ์ จึงมีพุทธดำรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ภูมิประเทศนี้เราเคยอาศัยอยู่ เจริญฌานในกาลเมื่อเราเสวยพระชาติเป็นมฆเทวราชา ตรัสเพียงนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่” ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลขอให้ทรงแสดงอดีตนิทาน พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องเนมิราชชาดก ความโดยย่อมีดังนี้

ในกาลอันไกลโพ้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระราชานามว่ามฆเทวราชเป็นบรมกษัตริย์ครองพระนครมิถิลา แคว้นวิเทหะ วันหนึ่งทรงสังเกตุเห็นพระเกศาเส้นหนึ่งหงอกขาว ทรงปลงธรรมสังเวชในความไม่เที่ยงของสังขาร จึงมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสแล้วพระองค์ก็ออกผนวชเป็นฤาษี ครั้นดับสังขารก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก กษัตริย์ที่สืบราชสมบัติต่อๆ มาก็ทรงประพฤติเช่นเดียวกับพระองค์สืบมาเกือบถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ หย่อนอยู่ ๒ องค์ (คือ ๘๓,๙๙๘ องค์) พระเจ้ามฑเทวราชซึ่งทรงไปบังเกิดในพรหมโลกนั้น เมื่อสิ้นอายุขัยก็ลงมาอุบัติในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีแห่งกรุงมิถิลาอีก พระราชบิดาทรงตั้งพระนามพระราชโอรสว่า “เนมิกุมาร”

พระโพธิสัตว์ทรงยินดีในการบำเพ็ญทานรักษาศีลตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ตราบจนพระราชบิดาทอดพระเนตรเห็นพระเกศาเส้นหนึ่งหงอกก็ทรงมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสแล้วออกผนวชบำเพ็ญเพียรอยู่ในพระราชอุทยาน เมื่อเนมิราชกุมารได้ครองพระนครมิถิลาแล้ว ทรงแสดงธรรมสั่งสอนชาวพระนครให้ตั้งอยู่ในการบำเพ็ญทานรักษาศีล ครั้นชาวพระนครเหล่านั้นสิ้นชีวิต ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ “เทพโลกเต็มไปด้วยเทพยเจ้า นรกปรากฏดุจว่างเปล่า” ครั้งนั้นเทพยดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ประชุมกันสรรเสริญพระคุณของพระเจ้าเนมิราชว่า “เป็นอาจารย์ของพวกเรา เราทั้งหลายอาศัยพระองค์จึงได้เสวยทิพยสมบัติ” จึงเทพยดาเหล่านั้นพากันไปทูลท้าวสักกเทวราชว่าปรารถนาจะได้เห็นพระเจ้าเนมิราชและสดับธรรมจากพระโอษฐ์ของพระองค์ ท้าวสักกเทวราชจึงมีเทวบัญชาให้พระมาตลีเทพบุตรนำเวชยันตรถไปทูลเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชมายังดาวดึงส์พิภพ



(ท้าวสักกเทวราชให้พระมาตลีเทพบุตรนำเวชยันตรถทูลเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชไปยังดาวดึงส์พิภพ)

ขณะที่พระเจ้าเนมิราชทรงรักษาอุโบสถศีลท่ามกลางเหล่าข้าราชบริพารในคืนเดือนเพ็ญ ทรงเปิดสีหบัญชรด้านตะวันออก พระมาตลีเทวบุตรก็นำเวชยันตรถอันมีรัศมีโชติช่วงปรากฏขึ้นเบื้องหน้าสีหบัญชรทูลเชิญให้เสด็จไปโปรดเทพยาดา ความในนิบาตชาดกว่า

ตโต ราชา ตรมาโน
เวเทโห มิถิลคฺคโห
อาสนา วุฏฺฐหิตวาน
ปมุโข รถามารุหิ
อภรุฬฺหํ รถ ทิพฺพํ
มาตลิ เอตฺถ พฺรวิ
เกน ตํ เนมิ มคฺเคน
ราชเสฏฺฐ ทิสมฺปติ
เยน วา ปาปกมฺมนฺตา
ปุญฺญกมฺมา จ เยน วา ฯ


ความว่า แต่นั้นพระราชามิถิลานาถวิเทหรัฐประมุข ด่วนเสด็จลุกจากราชอาสน์ขึ้นสู่เวชยันตทิพยรถ มาตลีเทพสารถีได้ทูลถามพระองค์ผู้ขึ้นสู่ทิพยรถว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ผู้ทิสัมบดี ทางไปสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบาปทางหนึ่ง ทางไปสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญทางหนึ่ง จะโปรดให้ข้าพระเจ้านำเสด็จไปทางไหน ฯ



(พระเจ้าเนมิราชตรัสให้พระมาตลีเทพบุตรนำพระองค์ไปทางภูมินรกก่อน)

พระเจ้าเนมิราชทรงขอให้พระมาตลีเทพบุตรนำพระองค์ผ่านไปทางแดนอันเป็นที่อยู่ของเหล่าสัตว์ผู้ทำบาปก่อน ได้แก่นรกขุมต่างๆ เมื่อทอดพระเนตรก็ตรัสถามถึงบุพกรรมที่สัตว์เหล่านั้นเคยกระทำไว้ในชาติปางก่อน

ขณะนั้นท้าวสักกเทวราชรออยู่ ณ สุธรรมเทวสภาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เห็นว่าเวลาล่วงไปนานแล้วจึงตรัสใช้เทพบุตรองค์หนึ่งไปเตือนพระมาตลีให้เร่งนำพระโพธิสัตว์ไปยังเทวโลก



(พระเจ้าเนมิราชเสด็จถึงเทวโลก)

พระมาตลีขับเวชยันตรถผ่านทิพยวิมานต่างๆ อันบังเกิดด้วยอำนาจกุศลกรรมของเทพยดาผู้เป็นเจ้าของ เทพยาดาทั้งหลายต่างชื่นชมยินดี บูชาพระโพธิสัตว์ด้วยดอกไม้ทิพย์ พระเจ้าเนมิราชเสด็จถึงสุธรรมเทวสภาประทับบนทิพยบัลลังก์ ทรงแสดงธรรมประทานแก่เหล่าทวยเทพสิ้นเวลา ๗ วันในแดนมนุษย์ พระมาตลีเทวบุตรก็เชิญเสด็จกลับคืนยังพระนครมิถิลา

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเรื่องเนมิราชจบแล้ว ทรงประชุมชาดกกล่าวถึงการกลับชาติของบุคคลในครั้งนั้น ได้แก่ “ท้าวสักกเทวราชเป็นพระอนุรุทธ มาตลีเทวบุตรเป็นพระอานนท์ พระเจ้าเนมิราชคือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ที่มา ภาพและเรื่องสำเนาและคัดลอกจากหนังสือชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
โดย คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
พิมพ์ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

หมายเหตุ สำเนาภาพและบทความในเรื่อง ได้ถูกคัดลอกมาเผยแพร่ด้วยเจตนาจะมุ่งให้เห็นความประณีต วิจิตรบรรจง อันเกิดจากแรงศรัทธาในพระศาสนาของจิตรกรรุ่นบรรพชนผู้สร้าง ซึ่งสร้างตู้ลายพระธรรมรดน้ำเป็นพุทธบูชา เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ผู้ประสงค์จะนำภาพหรือบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าของภาพและเรื่องด้วย




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2553 6:27:29 น.
Counter : 3052 Pageviews.  

1  2  3  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.