Group Blog
 
All Blogs
 
มหาเวสสันดรชาดก - ทานบารมี



เรื่องมหาเวสสันดรชาดกในนิบาตชาดกประกอบด้วยจำนวนคาถามากถึง ๑,๐๐๐ บท จึงเรียกเรื่องนี้ในภาคที่เป็นคาถาภาษาบาลีว่า “คาถาพัน” นับเป็นชาดกที่สังคมไทยให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องอื่นๆ ถือเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่หรือ “มหาชาติ” หลังจากที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรแล้ว ได้อุบัติเป็นท้าวสันดุสิตเทวราชในสวรรค์ชั้นดุสิตเป็นพระชาติสุดท้าย ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าจะตรัสเทศนาชาดกเรื่องนี้คือ ครั้งหนึ่งหลังจากที่ทรงประดิษฐานศาสนามั่นคงแล้ว พระบรมศาสดาได้เสด็จไปโปรดพระประยูรญาติยังกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับที่นิโครธาราม พระญาติทั้งหลายพากันมาเฝ้า ครั้งนั้นบันดาลให้เกิดฝนโบกขรพรรษตกลง “ชนเหล่าใดใคร่ให้เปียก ชนเหล่านั้นก็เปียก ฝนนั้นไม่ตกต้องกายชนผู้ไม่ใคร่ให้เปียกแม้หยาดเดียว” ยังให้เกิดความอัศจรรย์ใจแก่หมู่มหาชนที่ประชุมอยู่พระบรมศาสดามีพุทธดำรัสว่าฝนโบกขพรรษเช่นนี้เคยมีมาแล้วในกาลก่อน ภิกษุทั้งหลายจึงทูลขอให้ทรงแสดงอดีตนิทาน ความโดยสังเขปมีดังนี้

พระเจ้ากิกิราชมีพระราชธิดาองค์เล็กทรงพระนามว่าสุธรรมา พระนางมีพระทัยฝักใฝ่ในการกุศล ครั้นสิ้นอายุขัยก็ได้ไปอุบัติในเทวโลกมีนามว่าผุสดี และได้เป็นชายาของท้าวสักกเทวราช อยู่มาถึงกาลที่นางจะต้องจุติจากสวรรค์มาลงมาเกิดยังโลกมนุษย์ ท้าวสักกเทวราชจึงประทานพร ๑๐ ประการให้ พรที่สำคัญคือ ขอให้พระนางมีพระราชโอรสที่กอปรด้วยความเมตตากรุณา บริจาคทานอยู่เป็นนิตย์ จากนั้นพระนางได้เกิดเป็นมเหสีของพระเจ้าสญชัย กษัตริย์แห่งกรุงเชตุดร แคว้นสีพี อยู่มาก็ประสูติพระราชโอรสนามว่า “เวสสันดร” ในวันประสูตินั้นเอง บังเกิดช้างเผือกคู่บารมีนามว่าปัจจัยนาคหรือปัจจัยนาเคนทร์ พระราชกุมารทรงยินดีในการบริจาคทาน ยิ่งทรงจำเริญวัยขึ้นก็ทรงบริจาคมากขึ้นเป็นลำดับ พระเวสสันดรได้อภิเษกกับพระนางมัทรี ราชธิดาของกษัตริย์แคว้นมัทราชมีพระโอรสนามว่าชาลี และพระธิดานามว่ากัณหา

ครั้งหนึ่งในนครกาลิงครัฐ เกิดฝนแล้ง ราษฎร์ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จึงพากันไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้ากาลิงคราช ขอให้แต่งพราหมณ์ไปขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคจากพระเวสสันดร เพราะช้างนั้นเป็นช้างมงคล อยู่ในบ้านเมืองใดก็จะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเมืองนั้น พระเจ้ากาลิงคราชจึงแต่งพราหมณ์ ๘ คนให้เดินทางยังกรุงเชตุดร ครั้นถึงก็คอยอยู่ที่โรงทานในพระนคร ครั้นพระเวสสันดรทรงช้างปัจจัยนาคเสด็จไปบริจาคทานก็ทูลขอและได้รับพระราชทานดังประสงค์ จึงนำช้างนั้นรีบเดินทางกลับไปยังนครกาลิงครัฐ



(พราหมณ์ชาวกาลิงครัฐทูลขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคจากพระเวสสันดร)

ชาวเมืองต่างพากันโกรธแค้นที่พระเวสสันดรพระราชทานช้างสำคัญแก่เมืองอื่น พากันกราบทูลกล่าวโทษต่อพระเจ้ากรุงสญชัย ขอให้เนรเทศพระเวสสันดรไปเสียจากพระนคร พระเจ้ากรุงสญชัยจำพระทัยต้องอนุโลมตามมติมหาชน พระนางมัทรีพร้อมทั้งพระโอรสชาลีและพระธิดากัณหาขอตามเสด็จด้วยพระเวสสันดรก่อนออกจากพระนครทรงบริจาค “สัตตสดกมหาทาน” คือการให้ทานสิ่งของ ๗ สิ่ง สิ่งละ ๗๐๐



(พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระโอรสชาลี และพระธิดากัณหา เสด็จดำเนินจากพระนคร (กัณฑ์วนประเวศน์))

ทั้ง ๔ พระองค์เสด็จไปยังเขาวงกต ระหว่างทางผ่านบ้านเมืองต่างๆ กษัตริย์แต่ละนครต่างทูลชักชวนขอให้ประทับอยู่ในเมืองนั้นแต่พระองค์ทรงปฏิเสธ เมื่อเสด็จถึงแคว้นเจตรัฐต้นทางที่จะไปยังเขาวงกต พระเจ้าเจตราชได้ตั้งให้พรานเจตบุตรเป็นผู้ถวายอารักขาคอยระวังตรวจตรามิให้ผู้ใดล่วงล้ำเข้าไปรบกวนพระเวสสันดร ท้าวสักกเทวราชมีเทวบัญชาให้พระวิษณุกรรมไปเนรมิตบรรณศาลา ๒ หลังไว้ใกล้สระโบกขรณี ที่เขาวงกต จารึกอักษรกำกับว่า “ผู้ใดปรารถนาจะบรรพชา ผู้นั้นจงถือเอาบริขารเหล่านี้เถิด” พระเวสสันดรกับพระนางมัทรีก็ผนวชเป็นดาบส บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ ณ อาศรมนั้น

กล่าวถึงพราหมณ์ชรา อาชีพขอทานมีนามว่า ชูชก อาศัยอยู่บ้านทุนวิฏฐ์ ติดเนื่องกับเมืองกาลิงครัฐ เที่ยวขอทานได้ก็นำเงินไปฝากเพื่อนพราหมณ์สามีภรรยาไว้ พราหมณ์ทั้งสองนำเงินที่ฝากไว้ไปใช้จ่ายจนหมดจึงยกธิดาสาวชื่อ อมิตดาเป็นกุลสตรี ปรนนิบัติสามีเฒ่าโดยปราศจากความรังเกียจ จนเป็นที่ริษยาของเพื่อนบ้าน ก็พากันกลั่นแกล้งจนนางอมิตดาคับแค้นใจ จึงให้ชูชกเดินทางไปทูลขอพระโอรสชาลีกับพระธิดากัณหาจากพระเวสสันดร ให้มาเป็นทาสรับใช้



(ชูชกทูลขอพระราชทานสองกุมารจากพระเวสสันดร (กัณฑ์กุมาร))

ระหว่างทางชูชกได้พบกับพรานเจตบุตรผู้รักษาต้นทางไปยังเขาวงกต ชูชกลวงว่าตนเป็นทูตนำพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสญชัยไปถวายพระเวสสันดร พรานเจตบุตรหลงเชื่อจึงยอมให้ผ่านเข้าไป ชูชกเดินทางต่อไปจนพบพระอัจจุตฤาษีก็ลวงด้วยวิธีเดียวกัน ครั้นถึงเขาวงกตชูชกคอยโอกาสจนพระนางมัทรีเสด็จไปหาผลไม้ในป่า จึงเข้าไปเฝ้าพระเวสสันดรและทูลขอพระราชทานสองกุมาร พระเวสสันดรทรงยินดีพระราชทาน แต่ขอให้เลื่อนเป็นวันพรุ่งนี้ เพื่อให้สองกุมารได้ลาพระมารดาเสียก่อน ชูชกไม่ยอมจะขอรับและเดินทางทันที พระเวสสันดรทรงกำหนดค่าตัวของสองกุมารไว้ว่า ถ้าประสงค์จะพ้นจากความเป็นทาสของชูชกต้องไถ่ด้วยทรัพย์สินมีค่า คือ ค่าตัวพระโอรสชาลี ทองคำ ๑๐๐๐ ลิ่ม ส่วนค่าตัวของพระธิดากัณหาประกอบด้วย ทาสชาย ทาสหญิง ช้าง ม้าและโคอุสุภราชอย่างละ ๑๐๐ กับทองคำ ๑๐๐ ลิ่ม



(พระเวสสันดรตรัสเรียกสองกุมารขึ้นจากสระโบกขรณี)

ขณะที่ชูชกกำลังทูลขออยู่นั้นสองกุมารได้ยินจึงพากันหนีไปซ่อนในสระโบกขรณี “เอาวารีมาบังองค์ เอาใบบุษบงมาบังเกศ” ครั้นชูชกไม่เห็นสองกุมารก็เจรจาจ้วงจาบตัดพ้อพระเวสสันดรว่า ไม่รักษาวาจาสัตย์ พระโพธิสัตว์จึงออกติดตามจนพบพระโอรสชาลีและพระธิดากัณหา ทรงปลอบประโลมจนสองพระกุมารยอมปฏิบัติตามที่พระราชบิดามีพระประสงค์



(พระเวสสันดรทรงหลั่งทักษิโณทกพระราชทาน พระราชโอรสและพระราชธิดาให้แก่ชูชก)

เมื่อชูชกได้รับพระราชทานสองกุมารแล้วก็รีบเดินทางกลับ ระหว่างทางก็กระทำทารุณกรรมด้วยประการต่างๆ ฝ่ายนางมัทรีนั้นเกิดลางสังหรณ์ในพระทัยจึงรีบเสด็จกลับเทพยดาเนรมิตกายเป็น ๓ สัตว์ ขวางหนทางพระดำเนินไว้จนถึงเวลาค่ำ เพราะประสงค์จะช่วยให้พระเวสสันดรทรงบริจาคทานอันยิ่งใหญ่ได้สำเร็จดังตั้งพระทัย



(เทพยดาเนรมิตเป็น ๓ สัตว์ ขวางทางเสด็จพระนางมัทรี (กัณฑ์มัทรี))

พระนางมัทรีกลับถึงอาศรมไม่พบพระราชโอรสก็ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยจนสลบไป ครั้นฟื้นขึ้นพระเวสสันดรทรงอธิบายด้วยเหตุผลต่างๆ พระนางจึงค่อยคลายจากความโศกและทรงอนุโมทนาในมหาทานที่พระเวสสันดรทรงบริจาค ท้าวสักกเทวราชทราบว่า พระเวสสันดรพระราชทานสองกุมารแก่ชูชกไปแล้ว เกรงว่าต่อไปจะมีคนชั่วช้า เข้าไปทูลขอพระราชทานพระนางมัทรีอีก จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศยิ่งนัก ท้าวสักกเทวราชจึงเนรมิตกายเป็นพราหมณ์เฒ่า เข้าไปทูลขอพระราชทานพระนางมัทรี พระโพธิสัตว์มีพระทัยยินดีในทานก็พระราชทานให้ตามประสงค์ ท้าวสักกเทวราชจึงปรากฏพระองค์ขึ้นแล้วถวายพระนางมัทรีคืน ทั้งประสาทพร ๘ ประการ ตามที่พระเวสสันดรทรงปรารถนา พรข้อที่สำคัญได้แก่ ขอให้พระองค์ได้เสด็จกลับคืนพระนครเชตุดร ขอให้พระองค์ทรงเป็นผู้ปลดเปลื้องความทุกข์ของราษฎร์ ขอให้พระองค์มีพระราชทรัพย์พอเพียงที่จะบริจาคทานและขอให้พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า



(ท้าวสักกเทวราชเนรมิตเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระราชทานพระนางมัทรี (กัณฑ์สักกบรรพ))

ชูชกพาสองกุมารหลงทาง ผ่านไปถึงหน้าพระที่นั่งพระนครเชตุดร ขณะที่พระเจ้ากรุงสญชัยกำลังว่าราชการอยู่ท่ามกลางหมู่อำมาตย์ ทอดพระเนตรเห็นสองกุมารมีรูปร่างคล้ายพระราชนัดดา ครั้นตรัสให้สอบถามดูก็ทรงทราบความเป็นมา จึงให้นำทรัพย์สินไปไถ่ตัวพระราชนัดดาตามพิกัดที่พระเวสสันดร ทรงกำหนดไว้ ชูชกระเริงอยู่ในความสุขเกินประมาณจนถึงแก่ความตาย พระเจ้ากรุงสญชัยทรงจัดการสมโภชพระราชนัดดาอย่างเอิกเกริก ต่อมาชาลีกุมารก็กราบทูลสมเด็จพระอัยกาขอให้เสด็จไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับคืนบ้านเมือง



(พระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จไปรับพระเวสสันดร)



(กษัตริย์ทั้งหกพระองค์ พบกันที่เขาวงกต ต่างตื้นตันในพระทัยจนสิ้นสมประดี (กัณฑ์ฉกษัตริย์))

เมื่อกษัตริย์ทั้งหกพระองค์ คือ พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระโอรสชาลีและพระธิดากัณหาได้พบกันที่เขาวงกต ต่างองค์ก็ทรงตื้นตันพระทัยจนทรงสิ้นสมประดีไปพร้อมกัน บรรดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จทั้งหมดต่างก็พากันสิ้นสติ ครั้งนั้นท้าวสักกเทวราชทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลง กษัตริย์ทั้งหกพระองค์และไพร่พลจึงฟื้นขึ้น เหล่าเสนามาตย์ก็ทูลอ้อนวอนให้พระเวสสันดร ทรงลาผนวชกลับไปปกครองบ้านเมือง



(เมื่อเสด็จกลับพระนครแล้ว พระเวสสันดรทรงบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้ ภาพนี้เจ้าพนักงานกำลังโปรยทานจากต้นกรรมพฤกษ์ หน้าพระที่นั่ง (กัณฑ์นครกัณฑ์))

วันที่พระเวสสันดรเสด็จกลับจากเขาวงกตถึงพระนครเชตุดรนั้น ทรงปริวิตกว่าวันรุ่งขึ้นจะไม่มีพระราชทรัพย์เพียงพอสำหรับการบริจาคทาน ท้าวสักกเทวราชจึงบันดาลให้ห่าฝนแก้ว ๗ ประการตกลงมาเต็มบริเวณพระราชนิเวศ “ทรงบำเพ็ญทานวัตรตลอดพระชนมายุ ครั้นสวรรคตแล้วก็อุบัติในดุสิตพิภพ”

เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องมหาเวสสันดรจบแล้ว ตรัสประชุมชาดกในเบื้องปลายว่า ชูชกพราหมณ์กลับชาติเป็นพระเทวทัต นางอมิตดาเป็นนางจิญจามาณวิกา พรานเจตบุตรเป็นพระฉันนะ ท้าวสักกเทวราชเป็นพระอนุรุทธ พระเจ้ากรุงสญชัยเป็นพระเจ้าสุทโธทนะ พระนางผุสดีเป็นพระนางสิริมหามายา พระนางมัทรีเป็นพระนางพิมพา ชาลีกุมารเป็นพระราหุล กัณหากุมารีเป็นนางอุบลวัณณา และพระเวสสันดรคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ที่มา ภาพและเรื่องสำเนาและคัดลอกจากหนังสือชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
โดย คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
พิมพ์ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

หมายเหตุ สำเนาภาพและบทความในเรื่อง ได้ถูกคัดลอกมาเผยแพร่ด้วยเจตนาจะมุ่งให้เห็นความประณีต วิจิตรบรรจง อันเกิดจากแรงศรัทธาในพระศาสนาของจิตรกรรุ่นบรรพชนผู้สร้าง ซึ่งสร้างตู้ลายพระธรรมรดน้ำเป็นพุทธบูชา เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ผู้ประสงค์จะนำภาพหรือบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าของภาพและเรื่องด้วย



Create Date : 03 กรกฎาคม 2553
Last Update : 3 กรกฎาคม 2553 6:32:25 น. 5 comments
Counter : 20101 Pageviews.

 
ชอบมาก ได้ความรู้ดี


โดย: ชัย IP: 124.120.139.113 วันที่: 3 กรกฎาคม 2553 เวลา:7:17:16 น.  

 
มีคุณค่ามากเลย.....


โดย: แสนดี IP: 61.7.221.82 วันที่: 3 กรกฎาคม 2553 เวลา:15:36:48 น.  

 
สาธุ .. มาขออนุโมทนาบุญด้วยจ๊ะ


โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 5 กรกฎาคม 2553 เวลา:17:57:00 น.  

 
ได้บุญแล้ว ติดตัวไปตลอดไม่มีเสื่อมคลาย สาธุ สาธุ สาธุ


โดย: TM IP: 110.49.60.168 วันที่: 18 กรกฎาคม 2553 เวลา:7:31:10 น.  

 
ขอคำตอบแบบสรุบเรยได้ใหมว่า
พระพุทธองค์ทรงเทศนาเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เพราะอะไร ตอบด้วยค้ะผู้รู้


โดย: เฟิน IP: 49.229.89.205 วันที่: 22 พฤศจิกายน 2558 เวลา:20:26:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.