Group Blog
 
All Blogs
 
นารทชาดก - อุเบกขาบารมี




เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เสด็จไปทรงทรมานชฎิลสามพี่น้องซึ่งมีอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และบวชเป็นภิกษุแล้ว พระอุรุเวลกัสสปะเถระตามเสด็จพระบรมศาสดาไปยังลัฏฐิวโนทยาน (สวนตาลหนุ่ม) ในแคว้นมคธ วันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารเสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปเฝ้าพระพุทธองค์ พวกพราหมณ์ คหบดีในจำพวกราชบริษัทเกิดความสงสัยขึ้นว่า “อุรุเวลกัสสปะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาโคดม หรือพระมหาโคดมประพฤติพรหมจรรย์ในอุรุเวลกัสสปะ” จึงมีพุทธดำริว่า “จักต้องประกาศความที่กัสสปะมาบวชในสำนักของเราให้พวกนี้รู้” พระเถระอุรุเวลกัสสปะได้ทราบในพุทธประสงค์จึงแสดงความเป็นสาวกให้ชนทั้งหลายได้ประจักษ์ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ดูกรท่านทั้งหลาย การที่เราผู้ถึงแล้วซึ่งสัพพัญญุตญาณทรมานอุรุเวลกัสสปะได้ในบัดนี้ ไม่อัศจรรย์เท่าครั้งที่เรายังมีราคะ โทสะ โมหะเป็นนารทมหาพรหม ทำลายข่ายคือทิฐิของเธอกระทำจนสิ้นพยศอันร้าย มีพุทธฎีกาตรัสฉะนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพ” บรรดามหาชนซึ่งประชุมอยู่ในที่นั้นจึงกราบทูลขอให้ทรงแสดงอดีตนิทาน ความโดยสังเขปว่า

ในกาลก่อนพระเจ้าอังคติราชเสวยราชสมบัติในพระนครมิถิลา แคว้นวิเทหรัฐ ทรงตั้งอยู่ในสุจริตธรรม มีพระราชธิดาองค์เดียวพระนามว่ารุจาราชกุมารี ทรงเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดายิ่งนัก พระราชธิดาประกอบกุศลกรรมไว้ในอดีตจึงทรงระลึกชาติได้ ทุกกึ่งเดือนจะได้รับพระราชทานทรัพย์จำนวนมากสำหรับบริจาคทาน พระเจ้าอังคติราชทรงมีอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษา ๓ นาย คือ วิชยอำมาตย์ สุนามอำมาตย์ และอลาตอำมาตย์

วันหนึ่งพระเจ้าอังคติราชตรัสถามอำมาตย์ทั้งสามว่าพระองค์ควรจะกระทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ อลาตอำมาตย์กราบทูลว่าควรทำสงครามขยายพระราชอาณาเขต สุนามอำมาตย์กราบทูลว่าควรบันเทิงพระทัยด้วยการเลี้ยงดูและขับร้อง ส่วนวิชยอำมาตย์กราบทูลว่าควรเข้าหาสนนทนาด้วยนักบวชผู้รู้ธรรม พระราชาทรงเห็นด้วยกับวิธีของวิชยอำมาตย์ อลาตอำมาตย์ก็กราบทูลแนะนำให้เสด็จไปยังสำนักของอาจารย์คุณาชีวกซึ่งประพฤติตนเปลือยกายอยู่ ณ ป่ามิคทายวัน ครั้นเสด็จไปถึงพระเจ้าอังคติราชก็ตรัสถามข้อธรรมกับคุณาชีวกว่า “ผู้ประพฤติธรรมไฉนละโลกนี้ไปแล้วจึงไปสู่สุคติได้ และเป็นอย่างไรชนบางพวกผู้มิได้ตั้งอยู่ในธรรมจึงตกลงไปยังนรกเบื้องต่ำ” ปัญหาที่พระเจ้าอังคติราชตรัสนั้นลึกซึ้งนักควรจะถามพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ “เมื่อทรงตรัสถามคุณาชีวกผู้เปลือยกายหาสิริมิได้และไม่มีปัญญาหยั่งรู้” คุณาชีวิกกราบทูลว่าผลของบาปไม่มี ผลของบุญไม่มี มนุษย์ทั้งหลายมีชีวิตอยู่เพื่อดำรงความสุขส่วนตนไปวันหนึ่งๆ เมื่อถึงยามดับก็แตกสลายกลายเป็นธาตุเดิม พระเจ้าอังคติราชได้ทรงสดับดังนั้น มีพระดำริว่าถ้ากระนั้นการบำเพ็ญทานและปฏิบัติธรรมของพระองค์ที่ผ่านมาก็ไร้ผล แต่นั้นมาก็ทรงใฝ่ในโลกียสุข เลิกละการปฏิบัติธรรมและงดการบริจาคทาน ชาวเมืองต่างพากันเดือดร้อน

พระราชธิดารุจาทรงสลดพระทัยในการเปลี่ยนแปลงของพระราชบิดา ราตรีหนึ่งขณะเสด็จขึ้นเฝ้า ก็กราบทูลถึงผลบาปผลบุญที่พระนางระลึกชาติได้ว่าเคยกระทำมาแต่ชาติปางก่อน แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นมิจฉาทิฐิของพระราชบิดาได้ พระราชธิดารุจาจึงตั้งสัตยาธิษฐานขอให้เทพยดาดลพระทัยพระเจ้าอังคติราชให้กลับเป็นสัมมาทิฐิดังเดิม



(นารทมหาพรหมเนรมิตเป็นฤาษีเสด็จมาโปรดพระเจ้าอังคติราชและพระราชธิดารุจา)



(ภาพ พระโพธิสัตว์นารทมหาพรหมนิรมิตเป็นพระนารทกัสสปฤาษี ที่ปรากฏบางภาพเขียนเป็นพักตร์เดียว ๒ กร บางภาพมีพักตร์เดียว ๔ กร บางภาพมี ๔ พักตร์ ๒ กร และบางภาพมี ๔ พักตร์ ๔ กร)

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนารทมหาพรหมทรงทราบในสัตยาธิษฐานของพระราชธิดารุจา มีพระกรุณาจะสงเคราะห์จึงเนรมิตเป็นพระนารทกัสสปฤาษี “แปลงเพศเป็นมนุษย์มีวรรณะผุดผ่องดุจทองน่าเลื่อมใส ผูกชฎามณฑลอันงามจับใจ ปักปิ่นทองไว้ในระวางชฎา นุ่งผ้าพื้นแดงไว้ภายใน ทรงผ้าเปลือกไม้อันย้อมฝาดไว้ภายนอก กระทำเฉวียงบ่าซึ่งผ้าหนังเสืออันแล้วไปด้วยเงินซึ่งขลิบด้วยทอง แล้วเอาภิกขาภาชนะใส่ในสาแหรกอันประดับมุดกาข้างหนึ่ง เอาคนโทน้ำแก้วประฬาสใส่ในสาแหรกอีกข้างหนึ่ง เสร็จก็ยกคานทองอันงามขึ้นวางเหนือบ่า แล้วเหาะมาโดยอากาศ โดยเพศแห่งฤาษีไพโรจน์โชตนาประหนึ่งพระจันทร์ในพื้นคัคนานตประเทศ เข้าสู่จันทกปราสาท ยืนอยู่ ณ เบื้องพักตร์พระเจ้าอังคติราช”

เมื่อพระเจ้าอังคติราชทอดพระเนตรเห็นพระนารทกัสสปฤาษีเหาะได้ดังนั้นก็สนเท่ห์ในพระทัย ตรัสถามก็ได้ความว่าพระนารทกัสสปฤาษีตั้งมั่นในคุณธรรม ๔ ประการ อันได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ พระโพธิสัตว์ทรงแสดงผลของบาปซึ่งผู้กระทำจะได้รับในอบายภูมิ ทำให้พระเจ้าอังคติราชทรงหวาดกลัวกลับพระทัยมาปฏิบัติสัมมาทิฐิในที่สุด พระโพธิสัตว์จึงเสด็จกลับพรหมโลก ชาวพระนครมิถิลาก็อยู่เย็นเป็นสุขดังเดิม

เมื่อจบเรื่องนารทมหาพรหมแล้ว พระบรมศาสดาทรงประชุมชาดกกล่าวถึงการกลับชาติของบุคคลต่างๆ คือ อลาตอำมาตย์เป็นพระเทวทัต วิชยอำมาตย์เป็นพระสารีบุตร คุณาชีวกเป็นอเจลกะ พระราชธารุจาเป็นพระอานนท์ พระเจ้าอังคติราชเป็นอุรุเวลกัสสปะและพระนารทมหาพรหมคือสมเด็จพระบรมศาสดา

ที่มา ภาพและเรื่องสำเนาและคัดลอกจากหนังสือชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
โดย คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙
พิมพ์ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

หมายเหตุ สำเนาภาพและบทความในเรื่อง ได้ถูกคัดลอกมาเผยแพร่ด้วยเจตนาจะมุ่งให้เห็นความประณีต วิจิตรบรรจง อันเกิดจากแรงศรัทธาในพระศาสนาของจิตรกรรุ่นบรรพชนผู้สร้าง ซึ่งสร้างตู้ลายพระธรรมรดน้ำเป็นพุทธบูชา เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ผู้ประสงค์จะนำภาพหรือบทความไปใช้เชิงพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบและขออนุญาตกับเจ้าของภาพและเรื่องด้วย



Create Date : 20 มิถุนายน 2553
Last Update : 20 มิถุนายน 2553 6:08:37 น. 3 comments
Counter : 3594 Pageviews.

 
ตามมาจะกระทู้ครับ


โดย: จ่าหมาน(ขี้เกียจล็อกอิน) IP: 183.89.80.177 วันที่: 20 มิถุนายน 2553 เวลา:7:54:05 น.  

 
lวัสดีตอนเที่ยงๆครับ
...............................
มาเยียมและติดตามความหมายของคุณครับ


โดย: panwat วันที่: 20 มิถุนายน 2553 เวลา:12:22:26 น.  

 
งงหวะ


โดย: นินิว IP: 180.180.223.169 วันที่: 12 กันยายน 2553 เวลา:11:15:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.