Group Blog
 
All Blogs
 
๒. พระธรรม (ต่อ)



หลักพระพุทธศาสนา

๒. พระธรรม

ทำไม ? เพื่ออะไร ?


๓. ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรม และทรงแสดงเพื่ออะไร ? พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมมิใช่ด้วยทรงมุ่งหมายให้เขาชอบให้เขาชมแล้วจักได้บูชาพระองค์ต่างๆ คือมิได้ทรงมุ่งผลตอนแทนอะไรสำหรับพระองค์เองเลย

แต่ทำไมจึงทรงแสดงพระธรรม ? ทรงแสดงก็เพราะทรงมีพระกรุณาอนุเคราะห์จำแนกแจกพระธรรมให้แก่โลก

เพื่ออะไร ? ก็เพื่อให้โลกหรือสัตว์โลกทุกๆ ผู้ทุกๆ คนประสบประโยชน์ประสบสันติสุขถ้วนทั่วหน้า เหมือนพ่อแม่มีเมตตากรุณาอนุเคราะห์ลูกๆ อย่างบริสุทธิ์ จึงทนยากลำบากถนอมเลี้ยงส่งเสริมลูกๆ มิได้มุ่งผลอะไรตอบแทนจากลูก เพียงแต่หวังจะได้เห็นความสำเร็จ ความสุข ความเจริญของลูก แล้วพลอยปีติยินดีด้วยเท่านั้น บางที เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ผู้ฟังไม่ชอบใจหาว่าทรงสาปแช่งเขาก็มี แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงยับยั้งที่จะแสดงในเมื่อทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ เหมือนอย่างผู้พยาบาลไข้ที่ดีพยายามให้ยาแก่คนไข้แม้ว่าคนไข้ไม่ชอบ ทั้งไม่ยอมตามใจให้ของแสลงแม้คนไข้จะเรียกร้อง บางทีถูกคนไข้บริภาษด่าว่าต่างๆ ก็ทนได้ด้วยเมตตากรุณา คิดปลงใจว่า ถ้าเป็นคนดีไม่เป็นคนไข้ก็คงไม่เป็นอย่างนี้ ไฉนคนดีจะถือคนไข้

มีเรื่องในสมัยพระพุทธเจ้าที่เล่าไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร กรุงราชคฤห์ มคธรัฐ มีพระนามว่า อภยราชกุมาร กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ตรัสพระวาจาเช่นไร พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า พระองค์ตรัสวาจาแต่ที่ทรงทราบว่าจริงแท้และประกอบด้วยประโยชน์ และทรงรู้กาลเวลาเพื่อที่จะตรัสวาจาดังกล่าว จะเป็นที่ชอบใจหรือไม่ก็ตาม เพราะทรงอนุเคราะห์เท่านั้น ในขณะนั้นพระราชกุมารกำลังทรงประคองกุมารน้อยให้นอนอยู่บนเพลา พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่า ถ้ากุมารน้อยนั้นอมเสี้ยนไม้หรือเศษกระเบื้องในปากเพราะพี่เลี้ยงหรือพระราชกุมารเผลอไป จะทรงทำอย่างไร พระราชกุมารกราบทูลว่า จะต้องทรงบีบศีรษะกุมารน้อยให้อ้าปากล้วงเสี้ยนไม้หรือเศษกระเบื้องนั้นออกให้จงได้ แม้จะต้องถึงเลือดออก เพราะเป็นวิธีเดียวที่เป็นการอนุเคราะห์ ฉะนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเต็มเปี่ยมด้วยพระกรุณาอนุเคราะห์ทุกบท ได้ฟังพระธรรมเมื่อใด ก็ได้รับพระกรุณาของพระองค์ที่ประทับอยู่ในพระธรรมเมื่อนั้น ทุกครั้งทุกคราวไป

เกี่ยวข้องอะไร

๔. พระธรรมเกี่ยวข้องอะไรกับคน ? คนควรจะทำอย่างไรกับพระธรรม ? เพราะพระธรรมเป็นความจริงของคน ที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงสั่งสอนชี้ทางปฏิบัติของคนเพื่อให้บรรลุถึงประโยชน์ต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว พระธรรมจึงเกี่ยวข้องกับคนโดยตรง

กล่าวให้ใกล้ที่สุด พระธรรมนั้นเกี่ยวข้องกับตัวเราทุกๆ คน จะกล่าวว่า พระธรรมคือตัวเราเอง ที่พระพุทธเจ้ายกขึ้นแสดงก็ได้ และทรงแสดงแก่ใคร ทรงแสดงแก่ตัวเราเองนี้แหละ ข้อสำคัญให้ตัวเราเองนี้

๑. เงี่ยหูให้ได้ยินพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง อันเรียกว่าพระปริยัติธรรม คือคำสั่งสอนที่ควรเรียนควรฟังทั้งหมด

๒. เดินเข้าไปหาพระธรรม เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “จงมานี่” แล้วก็เดินเข้าไปเฝ้าพระองค์ นี้เป็นภาคปฏิบัติ คู่กับปริยัติเทียบดังภาคทฤษฎี การเดินเข้าไปหาพระธรรมเรียกว่าปฏิบัติธรรม กล่าวโดยสรุป คือ

ก. ศีล ประพฤติดีงาม เว้นจากประพฤติเสียหายต่างๆ เป็นต้นว่า ศีล ๕
ข. สมาธิ ตั้งใจมั่นคงดี
ค. ปัญญา รอบรู้ดีในเหตุผล บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ และในวิธีนำตนให้พ้นจากทุกข์ภัยพิบัติ บรรลุถึงความสวัสดี

ทุกๆ คนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง ประพฤติดี ตั้งใจมั่นคงดี รู้จักเหตุผล และรู้จักช่วยตนได้ดีเมื่อใด ก็ชื่อว่าเดินเข้าไปหาพระธรรมเมื่อนั้น นี้ก็คือเดินเข้าไปหาทางที่ถูก หรือเดินไปในทางที่ถูกนั้นเอง

การฟังพระธรรม และการปฏิบัติพระธรรมดังกล่าวมานี้แหละ เป็นกิจอันทุกๆ คนควรทำกับพระธรรม แต่ก็ควรน้อมมาปฏิบัติให้พอเหมาะแก่ภาวะของตน ดังพระธรรมคุณบทว่า “โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา” ดังที่เรียกว่าประยุกต์กับตน แต่ให้รักษาแนวของพระธรรม คือให้ดำเนินไปในทางที่ชอบ การน้อมพระธรรมมาประยุกต์กับตนโดยชอบนั้น เช่น

สำหรับนักเรียน ศีล คือประพฤติดี เพราะเว้นการที่ควรเว้น ประพฤติการที่ควรประพฤติ สมาธิ คือตั้งใจเรียนดี ปัญญา คือจำได้ เข้าใจดี มีความรอบรู้

สำหรับผู้ประกอบการงาน ศีล คือประพฤติดี เว้นอบายมุขต่างๆ เป็นต้น สมาธิ คือ ตั้งใจทำดี ปัญญา คือรอบรู้ฉลาดสามารถในการงาน

สำหรับคนวัยรุ่น ศีล คือระมัดระวังตนให้ประพฤติอยู่ในขอบเขตที่ชอบ ไม่ปล่อยตนให้เหลวแหลก สมาธิ คือตั้งใจมั่นคงดี ไม่ให้ตกจมลงไปในห้วงรัก ห้วงชัง ห้วงหลง ที่มีเหตุชักจูงยั่วเย้าอยู่มากมาย ปัญญา คือคิดให้รู้ตลอดเหตุผล ตลอดปัจจุบัน ตลอดภายหน้า คิดให้กว้างให้ยืดยาว ไม่คิดแคบๆ สั้นๆ

คนวัยรุ่นกำลังเจริญด้วยพลัง กำลังทะยานกายทะยานใจ เหมือนน้ำตกแรง เมื่อไม่สมหวังก็มักจะทำอะไรแรงๆ จึงมักพลาดง่าย และถ้าพลาดลงไปในห้วงอะไรที่แรงๆ แล้ว ก็อันตรายมาก เหมือนอย่างไปเล่นสนุกกับน้ำตก เผลอพลาดตกลงไปกับน้ำตกที่โจนลงไปจากหน้าผาสูงชัน ฉะนั้น ถ้าหันมาสนใจพระธรรมบ้างก็จะมีพระธรรมคุ้มครองรักษา เป็นเครื่องป้องกันแก้ไขมิให้เป็นอันตรายดังกล่าว ข้อสำคัญควรป้องกันไว้ก่อนดีกว่าแก้ หรือถ้าจะต้องแก้ ก็แก้เมื่อยังเล็กน้อยง่ายกว่าแก้เมื่อโตใหญ่ เหมือนอย่างดับไฟกองเล็กง่ายกว่าดับไฟกองโต และไม่ควรเชื่อใจตนเองเกินไป เพราะอาจไม่มีเหตุผลถ้าใจนั้นถูกบังคับหรือท่วมทับเสียแล้ว จึงควรหารือกับท่านผู้ที่สามารถจะให้เหตุผลที่ถูกต้องได้ ทั้งเมื่อสนใจในพระธรรมอยู่ พระธรรมอาจให้เหตุผลแก่ตนได้กระจ่าง พร้อมกับชี้ทางปฏิบัติได้ถูกต้อง พระธรรมจึงเป็นกัลยาณมิตร (มิตรดี) ของใจ เทียบอย่างบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตรซึ่งเป็นผู้ชี้เหตุผลให้แก่ตนดังกล่าวนั้น

อีกอย่างหนึ่ง พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเปรียบเหมือนกระจกเงาสำหรับส่องดูตัว หรือภาพยนตร์ฉายเรื่องของตน โดยปกติ ตัวเราเห็นหน้าของคนอื่นยิ้มย่องบ้าง มึนตึงเกรี้ยวกราดบ้าง เห็นแล้วก็ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง แต่ไม่เห็นหน้าของตนเอง ครั้นเมื่อยืนอยู่หน้ากระจกเงา จึงอาจเห็นหน้าของตนเองว่าเป็นอย่างไร น่าเกลียดหรือไม่น่าเกลียดอย่างไร บางทีก็อาจรู้สึกไม่ชอบหน้าของตนเอง จึงต้องตกแต่งแก้ไขให้งดงาม ฉันใด โดยปกติ คนเราก็มองไม่เห็นตนเอง ฉันนั้น ต่อมาได้ศึกษาพระธรรมที่ส่องย้อนเข้ามาหาตนเอง จึงจักมองเห็นตนเองว่าเป็นอย่างไร ดีไม่ดี ถูกผิด ตามเหตุผลที่เป็นจริงอย่างไร เมื่อมองเห็นตนเอง รู้จักตนเองตามเป็นจริงแล้ว จึงสามารถแก้ไขตนให้ดีได้ ดูภาพยนตร์ก็เหมือนกัน เห็นตัวแสดงเป็นคนร้ายคนดีต่างๆ เมื่อนำพระธรรมมาฉายดูตน ก็จักเห็นตนเป็นเช่นไร

ฉะนั้น ศึกษาพระธรรม (อันหมายถึงปริยัติคือเรียน กับปฏิบัติพระธรรม) จึงเป็นการศึกษาตนเอง ข้อเตือนใจสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ นึกถึงอะไรๆ ก็ให้หวนนึกถึงพระธรรม มองอะไรๆ ภายนอกก็ให้มองย้อนดูตน กำหนดนิ่งดูที่ใจ ดูให้ดี จักเห็นทางสว่าง

ผลอย่างไร ?

๕. เมื่อศึกษาพระธรรมอย่างนี้แล้ว จะรับผลอย่างไร ? กล่าวอย่างสั้นจะได้รับผลคือ ความไม่ตกต่ำ เพราะเมื่อรักษาพระธรรม พระธรรมก็ย่อมรักษา สมดังพระพุทธภาษิตว่า “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” คือรักษาไว้มิให้ตกต่ำ ดังบทสวดพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ธมฺโม กุโลกปตนา ตทธาริธารี พระธรรมทรงผู้ทรงธรรมไว้มิให้ตกไปอยู่โลกที่ชั่ว” ด้วยประการฉะนี้

ในที่สุดนี้ ขอกล่าวความที่ควรกำหนดโดยย่อแล้วประมวลลงในบทพระธรรมคุณว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอน เปรียบเหมือนกระจกสำหรับส่องดูตน เปรียบเหมือนภาพยนตร์ที่ฉายเรื่องของตน เปรียบเหมือนไฟฉายที่ฉายแสงย้อนมาที่ตน เพื่อให้เห็นตนเองตามเป็นจริง หรือให้เห็นความจริงทุกๆ อย่างที่ตนแล้วพระธรรมก็เป็นดังประทีปส่องทางให้ตนทุกๆ คนดำเนินไปในทางที่ถูก

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
สนฺทิฏฺจิโก อันผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง
อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล
เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู
โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญญู (ผู้รู้) พึงรู้เฉพาะตน

๒ พฤษภาคม ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 11 กันยายน 2553
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:08:39 น. 0 comments
Counter : 705 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.