Group Blog
 
All Blogs
 
๘. ไตรสรณคมน์



หลักพระพุทธศาสนา

๘. ไตรสรณคมน์

ไตรสรณคมน์


ได้แสดงแล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นสรณะที่พึ่งได้จริง คนอาจพึ่งพระพุทธศาสนาเป็นหลักดำเนินชีวิตให้พ้นภัย อย่างน้อยก็พ้นภัยที่เกิดจากตนเอง เพราะตนไม่ประพฤติก่อภัยเวรขึ้นตามหลักพระพุทธศาสนา ฉะนั้น คนที่ต้องการสรณะ ที่พึ่งที่ถูกที่ดีจริง เมื่อได้พบพระพุทธศาสนา จึงมีศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส และนับถือพระพุทธศาสนา ด้วยการถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันรวมเรียกว่าพระรัตนตรัยหรือพระไตรรัตน์ เป็นสรณะของตน การถึงดังกล่าวนี้เรียกว่า ไตรสรณคมน์ ไตรสรณะ แปลว่า สรณะ ๓ คมน์ แปลว่า การถึง ไตรสรณคมน์ แปลว่าการถึงสรณะ ๓ อธิบายว่า ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะครบทั้ง ๓

บทบาลีสำหรับตั้งใจถึง หรือสำหรับเปล่งวาจาพร้อมด้วยตั้งใจถึง ว่าดังนี้

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ

ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ

ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

ไตรสรณคมน์นี้เป็นสาเหตุทำให้คนเป็นพุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ทุกประเภท ทั้งเด็กผู้ใหญ่ ทั้งหญิงชาย ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต ใครมีไตรสรณคมน์ก็เป็นพุทธศาสนิกชนขึ้นทันที เมื่อไตรสรณคมน์ขาดความเป็นพุทธศาสนิกชนก็ขาดทันทีเหมือนกัน ฉะนั้น จึงเป็นข้อสำคัญข้อแรกที่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ในการถึงสรณะ ๓ นี้ ควรทำความเข้าใจในวัตถุ (ที่ตั้ง) ที่ถึง ๑ วิธีถึง ๑ การเป็นสรณะ ๑

ไตรวัตถุ

ข้อ ๑ วัตถุที่ถึง
คำว่าวัตถุในที่นี้ มิได้หมายความว่าพัสดุสิ่งของ แต่หมายความว่าที่ตั้งของการถึงหรือที่ถึง เพราะการถึงทุกๆ อย่างนั้นต้องมีที่ถึง เหมือนอย่างทุกๆ คนมาถึงบ้านหรือวัด บ้านหรือวัดก็เป็นวัตถุ คือที่ตั้งของการถึง แม้ในการทำอะไรทุกๆ อย่างก็มีวัตถุที่ตั้งของการทำว่าเพื่ออะไร ดังที่เรียกว่าวัตถุประสงค์ วัตถุที่ตั้งของการถึงสรณะก็คือพระรัตนตรัย ได้แก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดังได้แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ โดยลำดับ คำว่าพระรัตนตรัย หรือพระไตรรัตน์ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรวัตถุ วัตถุ ๓ พระรัตนตรัยเป็นวัตถุที่ควรถึงเป็นสรณะโดยแท้ แม้เช่นนี้คนที่ไม่รู้จักพระคุณว่าเป็นรัตนะดวงแก้วอันประเสริฐที่มีคุณค่าเป็นสรณะที่พึ่งได้จริง ก็ผ่านเลยไปเปล่าๆ ถึงจะได้พบพระองค์พระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงดำรงอยู่ก็ชื่อว่าไม่ได้พบ เหมือนอย่างอุปกะอาชีวก ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๕ ส่วนคนที่รู้พระคุณว่าเป็นพระรัตนอันประเสริฐจริงจึงจะรู้จักว่าเป็นวัตถุที่พึงถึงเป็นสรณะ เหมือนอย่างพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น ทางที่จะรู้พระคุณนั้นในบัดนี้ก็ยังมีอยู่ไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งพุทธกาล คือจะรู้ได้ด้วยวิธีศึกษาให้รู้พระพุทธศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๕ ที่ ๖ เมื่อศึกษาให้เข้าใจพระพุทธศาสนาจนรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้จริง บริสุทธิ์จริง มีพระกรุณามากจริง พระธรรมทรงบอกแสดงดีจริง พระสงฆ์ปฏิบัติดีจริง ก็ชื่อว่าได้รู้พระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นรัตนะดวงแก้วอันประเสริฐจริง เป็นวัตถุที่ควรถึงเป็นสรณะได้จริง ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นรัตนากรบ่อเกิดแห่งรัตนะอันประเสริฐทั้งปวง มีสาระแก่นสารบริบูรณ์ เพียงพอที่จะเป็นสรณะที่พึ่งของชีวิตได้ ผู้ที่ได้สดับศึกษาพระพุทธศาสนาให้รู้ซาบซึ้งแล้วย่อมอดอยู่มิได้ที่จะต้องเกิดความเคารพนอบน้อมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรม แล้วทรงแสดงพระธรรมเป็นพระศาสนา ดังบทนโมว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น บางทีคนที่ไม่รู้จักพระองค์ของพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักพระประวัติ แต่เมื่อได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจนเห็นจริง ที่เรียกว่าเห็นพระธรรม ก็ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า คือเห็นว่าท่านผู้บอกแสดงได้อย่างนี้แหละ เป็นพระพุทธเจ้าคือผู้ตรัสรู้จริง และเกิดความเคารพนอบน้อมแด่ท่านผู้บอกแสดงผู้เป็นต้นเดิม ผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นทางให้ทราบวัตถุที่พึงถึงเป็นสรณะอย่างนี้

วิธีถึง

ข้อที่ ๒ วิธีถึง
วิธีถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะนั้น โดยตรงคือศึกษาพระพุทธศาสนาให้มีความซาบซึ้งถึงคุณของพระพุทธเจ้า ถึงคุณของพระธรรม ถึงคุณของพระสงฆ์ แสดงตนเป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งอย่างสูงสุด และนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลักปฏิบัติของตนตามภูมิตามชั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาให้มีความรู้ซาบซึ้งถึงคุณของวัตถุทั้ง ๓ เป็นหัวใจของการถึง เพราะการถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์นั้น มิใช่เป็นการถึงด้วยกาย แต่เป็นการถึงด้วยจิตใจ ด้วยความรู้ ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงดำรงพระชนม์อยู่ ถ้าจะมีใครคอยตามเสด็จใกล้ชิดพระองค์จนถึงจับผ้าสังฆาฏิของพระองค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ผู้มีศรัทธาได้สร้างพระพุทธปฏิมาไว้เป็นอันมาก ใครที่ใกล้ชิดพระพุทธปฏิมาที่ประดิษฐานตั้งไว้บูชาในที่ต่างๆ หรือห้อยพระพุทธปฏิมาไว้ที่คอของตน เพียงเท่านี้ก็ยังไม่ชื่อว่าถึงพระพุทธเจ้า ใครที่เข้าไปในหอพระไตรปิฎก เข้าไปใกล้ตู้พระธรรม หรือหยิบหนังสือพระธรรมถือไว้ด้วยมือ หรือสักพระธรรมเป็นยันต์ต่างๆ ไว้ตามตัว เพียงเท่านี้ก็ยังไม่ชื่อว่าถึงพระธรรม หรือใครที่เข้าไปหาพระสงฆ์ ดังเช่นเข้าไปหาพระภิกษุสงฆ์ผู้กำลังประชุมกันอยู่ก็ดี เข้าไปหาพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ดี เพียงเท่านี้ก็ยังไม่ชื่อว่าถึงพระสงฆ์ ต่อเมื่อได้ศึกษาพระพุทธศาสนา จนคุณของพระพุทธเจ้าซาบซึ้งถึงใจ ใจซาบซึ้งถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรมซาบซึ้งถึงใจ ใจซาบซึ้งถึงคุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ซาบซึ้งถึงใจ ใจซาบซึ้งถึงคุณของพระสงฆ์ เห็นคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ปรากฏชัด เหมือนอย่างเข้าไปถึงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มองเห็นองค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรประจักษ์ชัดแก่ตา อย่างนี้จึงชื่อว่าถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ต้องถึงอย่างนี้ก่อนแล้วจึงจักถึงท่านเป็นสรณะที่พึ่งอย่างสูงสุดของตนได้โดยถูกต้อง ถ้าไม่ถึงอย่างนี้ก่อน การถึงท่านเป็นสรณะก็ถึงไม่ถูกท่าน คือถึงไม่ถูกพระพุทธเจ้า ถึงไม่ถูกพระธรรม ถึงไม่ถูกพระสงฆ์ จึงถือเป็นสรณะในทางที่ผิดกันไปต่างๆ

การถึงด้วยจิตใจด้วยปัญญานี้ มิใช่มีเฉพาะการถึงพระรัตนตรัย แต่มีในการถึงทางใจทั่วๆ ไป ดังเช่นความเป็นมิตรหรือความเป็นศัตรูก็เกิดจากจิตใจของฝ่ายหนึ่ง จนไปปรากฏถึงในจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่ง จึงจะเกิดเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูของกันขึ้น ถ้ายังไม่ปรากฏถึงในจิตใจของกันแล้วก็ยังไม่รู้กัน ยังไม่เกิดเป็นอย่างไรแก่กัน แม้จะไปในที่ใดโดยปกติ จิตใจก็ไปถึงก่อน เช่นจะมาฟังเทศน์ใจก็คิดมาก่อนแล้ว เมื่อกำลังฟังเทศน์ถ้าจิตใจไม่คิดถึงเทศน์ คือหูฟังแต่จิตใจไม่ฟัง แต่คิดไปถึงเรื่องอื่น ก็ชื่อว่าไม่ถึงเทศน์ ต่อเมื่อจิตใจฟังเทศน์ด้วยจึงชื่อว่าเทศน์ เหล่านี้เป็นตัวอย่างแสดงว่าการถึงทางใจมีประกอบอยู่ในเรื่องทั่วๆ ไป

โดยเฉพาะ การถึงพระรัตนตรัยต้องเป็นการถึงด้วยจิตใจ ด้วยความรู้ซาบซึ้งในคุณพระรัตนตรัย อันเกิดจากต้นทางคือศึกษาให้รู้ให้เข้าใจซาบซึ้งพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว การถึงด้วยจิตใจด้วยความรู้ดังนี้ เป็นรากแก้วของการถึงพระรัตนตรัย แต่ก็เป็นเรื่องในจิตใจของแต่ละคน ยังไม่แสดงออกให้ประจักษ์แก่ใคร ถึงเช่นนั้น เมื่อศรัทธาความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส และความเคารพนับถือ มีท่วมท้นอยู่ในจิตใจแล้ว ก็อดอยู่มิได้ที่จะแสดงออกมาให้ประจักษ์แก่ผู้อื่น ว่าตนเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ เป็นสรณะ คือที่พึ่งอันสูงสุด ด้วยวิธีต่างๆ

การถึงสรณะ

ข้อที่ ๓ การถึงเป็นสรณะ
การถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ประสงค์ว่าถึงเป็นสรณะที่พึ่งอันสูงสุด จึงมาถึงปัญหาว่าทำอย่างไรจึงเรียกว่าถึงเป็นสรณะ คำว่าถึงเป็นสรณะ คือถึงเป็นที่พึ่ง พูดอย่างไทยๆ ว่าเข้าไปพึ่ง การถึงเป็นสรณะนั้นพิจารณาดูพุทธศาสนประวัติทั่วไปแล้วประมวลลงโดยย่อได้เป็น ๒ คือ

ก. ถึงเป็นสรณะด้วยใจด้วยความรู้
ข. แสดงตนออกว่าถึงเป็นสรณะ

การถึงทั้ง ๒ ประการนี้มีประกอบกันอยู่ จึงเป็นการถึงที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะข้อ ก. เมื่อมีขึ้นจริงแล้วก็เป็นเหตุให้มีข้อ ข. ตามกันมา ส่วนข้อ ข. อาจมีเพราะทำตามๆ กันก็ได้ แต่ถ้าไม่มีข้อ ก. ก็เหมือนต้นไม้ไม่มีแก่น ปรากฏในประวัติพระพุทธศาสนา ว่าท่านที่พึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะย่อมถึงด้วย ๒ ประการนี้ประกอบกัน

ตัวอย่าง

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม เมื่อราตรีวันวิสาขปุณณมี ณ ควงไม้พระมหาโพธิแล้ว ได้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดแต่วิมุตติ ความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง) ณ ภายใต้ร่มไม้พระมหาโพธินั้น ๑ สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ ๒ ได้เสด็จไปประทับนั่งภายใต้ร่มไม้ไทร ในสัปดาห์ที่ ๓ ได้เสด็จไปประทับนั่งภายใต้ร่มไม้จิก ในสัปดาห์ที่ ๔ ได้เสด็จไปประทับนั่ง ณ ภายใต้ร่มไม้เกต ในระหว่างสัปดาห์นี้ พาณิช ๒ คนชื่อ ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เดินทางมาจากอุกกลชนบทถึงที่นั้น ได้เห็นพระพุทธเจ้าจึงนำข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อนซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าทรงรับเสวยเสร็จแล้ว พาณิช ๒ คนกราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ เป็นปฐมอุบาสกผู้เปล่งวาจาถึงรัตนะ ๒ คือพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ เพราะยังไม่มีพระสงฆ์ พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงแสดงพระธรรม แต่ก็ได้ทรงบรรลุพระธรรมแล้ว และพาณิชทั้ง ๒ คนนั้นก็น่าจะคิดว่าได้ทรงบรรลุพระธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง การถึงสรณะของพาณิชทั้ง ๒ คนนี้ ถึงด้วยข้อ ก. คือด้วยใจที่เลื่อมใส เพราะได้เห็นพระฉวีวรรณและอากัปกิริยาเป็นต้นของพระพุทธเจ้า ทำให้เห็นว่าต้องทรงบรรลุธรรมอย่างสูง แต่ยังไม่มีความรู้ เพราะพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงแสดงพระธรรมสั่งสอน และถึงด้วยข้อ ข. คือแสดงตนออกมาว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

ในสัปดาห์ที่ ๕ ได้เสด็จกลับไปประทับนั่ง ณ ร่มไม้ไทรอีก ได้ทรงพิจารณาถึงพระธรรมที่ได้ตรัสรู้ว่าเป็นพระคุณอันลึก ยากที่คนจะรู้ตามได้ เกือบทอดพระหฤทัยที่จะทรงสั่งสอน แต่อาศัยพระกรุณาจึงทรงพิจารณาอีก ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ว่าเป็นต่างๆ กัน หมู่สัตว์ที่เป็นเวไนยผู้รับแนะนำก็มี เหมือนอย่างดอกบัวสามเหล่า จึงทรงอธิษฐานตั้งพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงพระธรรม ทรงพิจารณาหาผู้ที่เป็นเวไนยสมควรจะรับเทศนาครั้งแรก จึงเสด็จไปทรงแสดงปฐมเทศนา อันเรียกสั้นๆ ว่าพระธรรมจักร โปรดฤษีปัญจวัคคีย์ ในวันอาสาฬหปุณณมี ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๕ (พระพุทธศาสนา) เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาจบแล้ว ฤษีโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม) จึงขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระพุทธดำรัสว่า “เอหิภิกฺขุ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด สฺวากฺขาโต ธมฺโม ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จรพฺรหฺมจริยํ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พระโกณฑัญญะหรือพระอัญญาโกณฑัญญะได้เป็นพระอริยบุคคลผู้บรรลุอริยภูมิชั้นแรก (ที่ท่านกล่าวว่าโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล) เป็นพระโสดาบัน ผู้ถึงกระแสพระธรรมแล้ว และเป็นปฐมภิกษุในพระพุทธศาสนา ในวันอาสาฬหปุณณมีนั้น ส่วนฤษีอีก ๔ รูปยังไม่ได้ธรรมจักษุ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเบ็ดเตล็ดอบรมต่อมาจนได้ธรรมจักษุทั้งหมด และได้ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุทั้งหมดแล้ว พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเทศนาที่ ๒ เรียกสั้นๆ ว่าอนัตตลักขณะ (ลักษณะอนัตตา) โปรดพระภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้เป็นพระโสดาบันแล้วทั้งหมด ในวันแรม ๕ ค่ำนับแต่วันอาสาฬหปุณณมี เมื่อจบเทศนาพระภิกษุปัญจวัคคีย์ได้มีจิตพ้นจากกิเลสทั้งปวงเป็นพระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวกิเลส (กิเลสที่หมักดองอยู่ในดวงจิต) จึงเกิดมีอริยสงฆ์ผู้บรรลุอริยภูมิชั้นสูงสุด (อรหัตตมรรคอรหัตตผล) เป็นพระอรหันต์ขึ้นในโลกจำนวน ๕ รูป และทั้ง ๕ รูปนั้นก็เป็นพระภิกษุสงฆ์ จึงเกิดมีพระสงฆ์อย่างสมบูรณ์ครบพระรัตนตรัยบริบูรณ์ในวันแรม ๕ ค่ำนั้น รวมพระอรหันต์ที่มีในโลกในวันนั้น ทั้งพระพุทธเจ้าด้วย เป็น ๖ รูป พระปัญจวัคคีย์ได้ถึงสรณะด้วยข้อ ก. คือได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นพระธรรมเป็นขั้นแรก ได้ตรัสรู้พระธรรมตามเมื่อฟังเทศนาที่ ๒ จบเป็นขั้นที่สุด และด้วยข้อ ข. คือแสดงตนขอบรรพชาอุปสมบท พูดสั้นๆ ว่าขอบวชในสำนักพระพุทธเจ้า

วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘

เรื่องเกี่ยวกับวันแรม ๕ ค่ำนี้ ที่ควรเล่าแทรกไว้ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชยสมบัติ ถึงเทศกาลเข้าพรรษาเสด็จถวายพุ่มที่วัดบวรนิเวศวิหาร อันเป็นวัดที่เสด็จประทับปกครองอยู่ในขณะที่ทรงผนวช พระศิษย์หลวงเดิมผู้เคยถวายสักการะในกาลเช่นนั้น ได้จัดสักการะไปตั้งไว้ที่ชุกชีหน้าพระพุทธชินสีห์ เพื่อทรงจบพระราชหัตถ์เป็นพุทธบูชา ทรงทราบความประสงค์แล้วตรัสว่า พระผู้ระลึกถึงพระองค์ ถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ให้ไปทำวัตรสวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายพระราชกุศล พระสงฆ์ในวัดบวรนิเวศวิหารและวัดอื่นๆ ที่เนื่องกัน จึงได้ไปประชุมทำวัตรสวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ทุกปี ตลอดมาจนบัดนี้ วันแรม ๕ ค่ำนี้ตรงกับวันที่มีพระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลกบริบูรณ์ดังกล่าวแล้ว

พระพุทธเจ้าได้ทรงจำพรรษาที่ ๑ ที่สวนกวางอิสิปตนะ แขวงเมืองพาราณสีนั้น ในระหว่างพรรษานั้นได้ทรงให้อุปสมบทพระยสะ บุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี ซึ่งได้ฟังพระธรรมเกิดดวงตาเห็นธรรมและทูลขออุปสมบท และได้ทรงแสดงพระธรรมโปรดเศรษฐีผู้บิดาของพระยสะ ซึ่งเกิดดวงตาเห็นธรรมแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต เป็นอุบาสกคนแรกผู้เปล่งวาจาถึงทั้ง ๓ รัตนะ พระยสะฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บิดาได้สำเร็จพระอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ขึ้นอีกองค์หนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงบิณฑบาตที่เรือนเศรษฐี ทรงแสดงพระธรรมโปรดมารดาและภริยาเก่าของพระยสะให้เกิดดวงตาเห็นธรรม สตรีทั้ง ๒ นั้นได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต เป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระพุทธเจ้าได้ทรงให้อุปสมบทสหายของพระยสะอีก ๕๐ คน พระทั้ง ๕๐ ได้สำเร็จพระอรหัตตผลทั้งหมด จึงบรรจบเป็นพระอรหันต์ ๖๑ องค์

บุคคลดังกล่าวมาเหล่านี้ ได้ถึงสรณะด้วยข้อ ก. คือด้วยใจด้วยความรู้ และด้วยข้อ ข. คือด้วยแสดงตนออกเป็นภิกษุบ้าง อุบาสกอุบาสิกาบ้าง เมื่อพระสาวกมีมากขึ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในทิศทางต่างๆ กัน และต่อมาได้ทรงอนุญาตให้พระสาวกอุปสมบทกุลบุตรได้เอง ด้วยสอนนำให้ว่าบทไตรสรณคมน์ดังกล่าวแล้วแล

๘ สิงหาคม ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 08 ตุลาคม 2553
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:11:40 น. 0 comments
Counter : 1944 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.