Group Blog
 
All Blogs
 
๒. พระธรรม



หลักพระพุทธศาสนา

๒. พระธรรม


เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมแล้ว ก็ได้มีพระกรุณาแสดงพระธรรมสั่งสอนแก่โลก พระธรรมจึงเป็นสมบัติเลิศล้ำที่พระพุทธเจ้าประทานแก่โลก ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้

พระธรรมเป็นสมบัติสำหรับประดับใจให้งดงาม บำรุงใจให้วัฒนะ (เจริญ) ทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์ ให้เป็นกัลยาณชน (คนงาม) ให้เป็นอารยชน (คนเจริญ คนประเสริฐ) และให้อยู่เป็นสุขสงบ ถ้าเทียบอย่างสมบัติภายนอกก็เทียบได้กับโภคสมบัติเครื่องบำรุงร่างกายและชีวิตให้เจริญเติบโต ให้ดำรงอยู่ และอาภรณ์สมบัติ เครื่องประดับตบแต่งร่างกายให้งดงาม

เพื่อกำหนดง่าย จักได้แสดงพระธรรมเป็นข้อๆ ไปตามปัญหาว่า อะไร อย่างไร ทำไม เพื่ออะไร เป็นต้น

อะไร

๑. คำว่า ธรรม แปลว่าอะไร และพระธรรมคืออะไร? คำว่า ธรรม แปลว่า ทรงไว้ หมายถึงทรงตัวเองคือคงตัวอยู่เสมอ และหมายถึงทรงคือรักษาคนที่มีธรรมไว้ให้เป็นตามธรรม ฉะนั้น ธรรมจึงเป็นกฏธรรมดาที่คงตัวอยู่เสมอ ใครจะค้นพบหรือไม่ ธรรมก็คงเป็นธรรม คือเป็นกฏธรรมดาอยู่นั่นเองตลอดไป เทียบอย่างกฏธรรมชาติต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายได้ค้นพบ กฏธรรมชาติเหล่านี้คงมีอยู่คู่กับโลก ใครจะค้นพบหรือไม่ก็คงมีอยู่อย่างนั้นนั่นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม ก็คือ ได้ทรงค้นพบกฏธรรมดาของโลกที่นำให้ออกไปหรือให้พ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวงได้ กล่าวแต่เพียงส่วนหนึ่ง คือทรงค้นพบกฏธรรมดาที่เป็นไปในชีวิตของคน ว่าคนประสบผลต่างๆ ในชีวิตอย่างนี้เพราะเหตุอย่างนี้ หรือเพราะทำเหตุนี้จึงได้รับผลอย่างนี้ เหมือนอย่างสอบไล่ได้เพราะตั้งใจเรียนดี หรือเพราะทำดีจึงได้รับชมว่าเป็นคนดี

ปรากฏการณ์หรือทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่ปรากฏในโลก ดังเช่น ตะวัน เดือน ดาว ที่มองเห็นเมื่อแหงนขึ้นไปดูบนฟ้า พื้นแผ่นดินที่มองเห็นเมื่อทอดตาดู พืชพันธุ์ ผู้คน สัตว์นานาชนิด อาคารบ้านเรือน และสิ่งต่างๆ ที่มองเห็นเมื่อเหลียวดูรอบๆ ตลอดทั้งความสว่าง ความมืด ความหนาว ความร้อน เป็นต้น ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ ล้วนมีเหตุผล มีกฎเกณฑ์ คือเป็นไปตามกฎธรรมชาติธรรมดาที่แน่นอน ฉันใด ความเป็นไปแห่งชีวิตของคน หรือที่เรียกวิถีชีวิต ก็มีเหตุผลมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ฉันนั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้กฎธรรมดาเหล่านี้ทั้งหมด จึงมีคำเรียกพระนามว่า พระสัพพัญญู แปลว่า พระผู้รู้สิ่งทั้งปวง แต่ถึงแม้จะทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็ทรงเลือกแสดงสั่งสอนแก่โลกเฉพาะที่จะให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟังเท่านั้น ฉะนั้นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอน จึงจำกัดเฉพาะข้อที่อาจนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นประโยชน์ขึ้นได้เท่านั้น

ถ้าจะตั้งปัญหาว่า พระธรรม หมายถึงเฉพาะธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนคืออะไร ก็พึงตอบได้โดยย่อว่า คือกฎธรรมดา หรือธรรมดา คือความจริงที่ประกอบด้วยประโยชน์ต่างๆ ความจริงเหล่านี้ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนเองก็ตาม ที่ท่านผู้รู้อื่นๆ แสดงตามพระพุทธเจ้าก็ตาม เรียกว่าพระธรรมทั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมดังกล่าวในรูปของศาสนาที่แปลว่า คำสั่งสอน คือวางเป็นสูตรสำหรับปฏิบัติได้ทีเดียว ดังเช่นทรงแสดงว่า “ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว” นี้เป็นรูปศาสนา คือคำสั่งสอนที่วางรูปเป็นสูตรปฏิบัติไว้เลย

ใครมีเพียงศรัทธา คือความเชื่อเพียงอย่างเดียว ก็สามารถปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ของตนได้ และถ้าประสงค์จะใช้ปัญญา คือพิสูจน์เหตุผลต้นปลายของสูตรสำเร็จนี้ ก็ทำได้ แต่ต้องตั้งใจศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งด้านพระปริยัติ คือแบบแผนตำรับตำรา ทั้งด้านปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะได้ข้อพิสูจน์ ได้ความเข้าใจชัดเจนขึ้นทุกที จนหมดสงสัย ตัวศาสนาคือคำสั่งสอนนี้ทั้งหมดก็เรียกว่าพระธรรม

อันที่จริงตัวธรรม คือธรรมดา คือความจริง กับศาสนา คือคำสั่งสอน ต้องประกอบกันกลมกลืน รับรองกัน จึงจะจริงแท้ถูกต้อง เหมือนอย่างธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ และทฤษฏีว่าด้วยธรรมชาติ ถ้าทฤษฏีนั้นยังผิดพลาดบกพร่องจากธรรมชาติที่ปรากฏเป็นไปจริง ก็ยังไม่เป็นทฤษฏีที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ ยังไม่อยู่ตัว ต้องแก้ไขกันต่อไป แต่ถ้าทฤษฏีนั้นไม่มีผิดที่จะต้องแก้ ไม่มีบกพร่องที่จะต้องเพิ่มเติม จึงเป็นทฤษฏีที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นทฤษฎีที่อยู่ตัว ไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมกันต่อไป ฉันใด ในเรื่องของความจริงและคำสั่งสอนก็ฉันนั้น ถ้าคำสั่งสอนยังผิดพลาดบกพร่องจากความจริง ก็ยังเป็นคำสั่งสอนที่ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ยังไม่อยู่ตัวต้องแก้ไขกันต่อไป แต่ถ้าคำสั่งสอนนั้นไม่มีผิดที่จะต้องแก้ ไม่มีบกพร่องที่จะเพิ่มเติม ถูกต้องกับความจริงตลอดไปหมด จึงเป็นคำสั่งสอนที่อยู่ตัว ไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมกันต่อไป

คำสั่งสอนที่อยู่ตัวบริบูรณ์ดังกล่าวนี้แหละ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่าพระพุทธศาสนา แปลว่าศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า (พระผู้รู้แล้วบริบูรณ์) พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ดังมีคำกล่าวไว้แปลความว่า พระธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด (คือถูกต้องกับความจริงตลอดไปทั้งหมด) กล่าวแสดงข้อที่ควรประพฤติปฏิบัติอย่างประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถ (ความ) พร้อมทั้งพยัญชนะ (ถ้อยคำ) บริบูรณ์ (ไม่มีข้อบกพร่องที่จะเพิ่มเติม) บริสุทธิ์ (ไม่มีข้อผิดพลาดที่จะต้องแก้ไข) สิ้นเชิง เพราะเหตุนี้ จึงมีบทสวดสรรเสริญพระธรรมว่า สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวดีแล้ว ดังนี้

อย่างไร

๒. พระธรรมดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร ? พระธรรมดังกล่าวนั้นเป็นความจริงในตนเองของทุกๆ คน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่าควรจะทำอย่างไรกับความจริงนั้น

ความจริงตรงกันข้ามกับความเท็จ เหมือนอย่างสัจวาจา (วาจาจริง) ตรงกันข้ามกับมุสาวาจา (วาจาเท็จ) อย่างไรเรียกว่าวาจาจริงหรือพูดจริง อย่างไรเรียกว่ามุสาหรือพูดเท็จ คงเข้าใจกันดีแล้ว แต่เพื่อทบทวนและกระชับความเข้าใจเข้าอีก จักกล่าวโดยสมมติให้เป็นคน ๒ คน ชื่อนายกุศลกับนายอกุศล วันหนึ่งเวลาเย็น บิดาถามบุตรทั้งสองว่า วันนี้ได้ไปโรงเรียนหรือเปล่า นายกุศลได้ไปโรงเรียนจึงตอบว่าไป ส่วนนายอกุศลไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ก็ตอบว่าไป ถ้าตั้งปัญหาว่า ทั้ง ๒ คนนี้ ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ ทุกคนคงตอบได้ทันทีว่า นายกุศลพูดจริง นายอกุศลพูดเท็จ คราวนี้ตั้งปัญหาต่อไปว่า พูดจริงเพราะอะไร พูดเท็จเพราะอะไร ปัญหานี้อาจต้องคิดสักหน่อยหนึ่ง ก็คงตอบได้ว่า พูดจริงเพราะพูดถูกกับเรื่องที่เป็นจริง พูดเท็จเพราะพูดผิดจากเรื่องที่เป็นจริง

คราวนี้จะย้อนมากล่าวถึงพระธรรม ความจริงในตนเอง ก็คือเรื่องที่เป็นจริงในตัวเอง เกี่ยวแก่ที่ตัวเราเองทำอะไรบ้าง พูดอะไรบ้าง คิดอะไรบ้าง ซึ่งบางทีตัวเราเองต้องการปกปิด จึงปฏิเสธคนอื่น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธตนเองได้ เรื่องของตัวเราเองนี้แหละที่พระพุทธเจ้าแสดงเป็นธรรมสั่งสอนว่าควรทำอย่างไร โดยครบถ้วนทุกเรื่อง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น

ในเวลาเช้า ถึงเวลาควรจะออกจากที่นอน ก็ยังนอนซบเซาต่อไป ควรจะช่วยกันทำอะไรบ้าง ก็ไม่ช่วย ควรจะรีบทำกิจต่างๆ ให้สำเร็จทันเวลา ก็ไม่รีบทำ พระธรรมจักสอนว่า “อถ ปจฺฉา กุรุเต โยคํ กิจฺเจ อาวาสุ สีทติ ถ้าทำความเพียรในกิจการล้าหลัง จะจมอยู่ในวิบัติ”

เมื่อจะไปโรงเรียน ไปทำงาน เกิดคร้านที่จะไป คิดจะหนีจะเลี่ยงหลบ หรือในเวลาเรียนเวลาทำงานคิดท้อแท้ คิดมักง่าย สักแต่ว่าเรียน สักแต่ว่าทำไปหยุดไป พอให้สิ้นเวลา หมดความตั้งใจให้ก้าวหน้าในการเรียนในการงาน พระธรรมจักสอนว่า “วายเมเถว ปุริโส ยาวอตฺถสฺส นิปฺปทา คนพึงพยายามไปกว่าสำเร็จประโยชน์”

เมื่อเกิดความรักต้องการในวัตถุ (ที่ตั้งของความรัก เป็นบุคคลหรือสิ่งของก็ได้) ที่ไม่สมควร ในกาลสมัยที่ไม่สมควร พระธรรมจักสอนว่า “เปมโต ชายเต ภยํ ภัยเกิดจากรัก”

เมื่อเกิดความชิงชังโกรธแค้นขัดเคือง พระธรรมจักสอนว่า “ทุกฺขํ สยติ โกธโน คนโกรธนอนจมทุกข์”

เมื่อควรจะให้การศึกษา แต่ก็กลัวจะสิ้นเปลืองทรัพย์ พระธรรมจักสอนว่า “ปญฺญาว ธเนน เสยฺโย ปัญญาเทียวประเสริฐกว่าทรัพย์”

เมื่อปล่อยตัวไปตามใจ พระธรรมจักสอนว่า “วิหญฺ ญติ จิตฺตวสานุวตฺตี ผู้ประพฤติตามอำนาจจิตย่อมลำบาก” และสอนให้ห้ามใจด้วยสติ ให้หักใจด้วยปัญญา

รวมความว่า พระธรรมจักสั่งสอนในเรื่องตัวเราทุกเรื่องทุกราวไป ว่าข้อนี้ๆ เป็นอกุศล ไม่ดีอย่าทำ ข้อนี้ๆ เป็นกุศล ดีงามควรทำ ใจของตนนี้ให้หมั่นชำระให้สะอาด อย่าเที่ยวพล่านไปเพราะรักชังและหลงจนเสียหาย และพระธรรมสอนให้หมั่นศึกษาให้เป็นคนสมบูรณ์ ให้มีความเพียรพยายาม ให้มีความอดทน เป็นต้น พระธรรมที่ยกมานี้เพียงเล็กน้อย เป็นตัวอย่างพอสาธกให้เห็นว่าพระธรรมเป็นอย่างไร ฉะนั้น เมื่อพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเพียงพอกับเรื่องของตนทุกแง่ทุกมุมโดยครบถ้วน พระธรรมจึงเป็นประมวลระบบของชีวิตทั้งหมด เป็นประทีปส่องให้เห็นความจริงของชีวิต ให้เห็นความจริงของตนเอง ตลอดของโลกทั้งหมด

๑๘ เมษายน ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 08 กันยายน 2553
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:07:51 น. 2 comments
Counter : 728 Pageviews.

 
สาธุ


โดย: นิติโก ฉันข้าวชามโต IP: 86.97.63.242, 86.96.226.93 วันที่: 8 กันยายน 2553 เวลา:5:30:35 น.  

 
คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ
[ของตกแต่งโดนๆคลิกเลย]

ขอบคุณมากค่ะที่นำมาฝากค่ะ สาธุ


โดย: แม่ออมบุญ วันที่: 8 กันยายน 2553 เวลา:9:11:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.