Group Blog
 
All Blogs
 
๑๐. เบญจศีล - เบญจธรรม



หลักพระพุทธศาสนา

๑๐. เบญจศีล – เบญจธรรม


ศรัทธาที่ถูกต้องนำให้ได้ไตรสรณคมน์ ซึ่งนำให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมในพระพุทธศาสนาดังได้แสดงแล้วว่าศรัทธาคือความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง และเชื่อในบุญบาป เป็นเหตุให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะครบทั้ง ๓ วิธีถึงเป็นสรณะได้แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๗ (สรณะ) ในตอนท้ายว่า “พึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทางให้ พึ่งพระธรรมเป็นทางเดิน พึ่งพระสงฆ์เป็นผู้เดินนำไปในเบื้องหน้าเป็นหมู่” และได้แสดงในกัณฑ์นั้นว่า “ให้พึ่งตนในการปฏิบัติทั้งปวง พระพุทธเจ้าเป็นเพียงตรัสบอกทางปฏิบัติให้รู้ เมื่อฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้ารู้ทางปฏิบัติแล้วก็ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง ในการปฏิบัติจึงต้องพึ่งตน” ในกัณฑ์ที่ ๘ (สุดตอนไตรสรณคมน์) ได้แสดงโดยสรุปว่า “การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่พูดเพื่อเข้าใจง่ายๆ ว่าการเข้าพึ่งพระรัตนตรัย โดยตรงคือเข้าพึ่งพระพุทธศาสนาที่ชี้ทางที่ถูกให้แก่ตน เมื่อเห็นทางที่ถูกแล้ว ก็ต้องปฏิบัติไปในทางที่ถูกนั้นด้วยตนเอง จึงจะได้รับผลเหมือนอย่างต้องเรียนเองจึงจะรู้ ต้องบริโภคเองจึงจะอิ่ม เมื่อพึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะอย่างนี้ก็จะกลับเป็นผู้พึ่งตนเองได้ เพราะตนเองจะทวีความดีขึ้นทุกที จนเป็นที่พึ่งของตนเองได้ ไตรสรณคมน์จึงสัมฤทธิ์ผลอย่างนี้” การปฏิบัติในทางที่ถูกดังกล่าว ได้แสดงในกัณฑ์ที่ ๘ นั้นว่า “เมื่อนับถือหนักมาทางเหตุผลหรือความจริงตามเหตุผล เพราะรู้ตระหนักในพระพุทธศาสนาขึ้น การปฏิบัติก็เข้าทางที่ชอบประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ เห็นชอบ ดำริชอบ ฯลฯ” และได้แสดงในกัณฑ์ที่ ๖ ว่า “ใครเดินทางชอบมีองค์ ๘ ประการรวมกันเป็นทางเดียวนี้แลคือพุทธศาสนิก” ฉะนั้น ทางสายเอกนี้จึงเป็นทางปฏิบัติของผู้มีศรัทธาถึงพระไตรสรณะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสประกาศไว้ตั้งแต่ปฐมเทศนา แต่จะพักไว้อธิบายเมื่อถึงคราวแสดงอริยสัจจ์ในกัณฑ์นี้จะแสดงเบญจศีลเบญจธรรมก่อน ให้ต่อไปจากศรัทธา เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นพื้นฐานสำหรับคนทั่วไป และนับเข้าไปในทางที่ชอบสายเอกนั้น

เบญจศีล

เบญจศีล แปลว่า ศีล ๕ ตามประเพณีนิยมของพุทธศาสนิกชนทั่วไปเมื่อจะบำเพ็ญกุศลหรือประกอบพิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวแก่พระภิกษุสงฆ์ นิยมขอสรณะและศีล โดยปกติเบญจศีลก่อน พระภิกษุหรือแม้สามเณร ก็ว่าคำนมัสการ คือ นโมฯ ๓ จบ ต่อไปก็สรณะ ต่อไปก็ศีล เป็นการให้สรณะและศีล คฤหัสถ์ผู้ขอก็ว่ารับหรือกำหนดใจรับตามไป จบแล้วพระบอกอานิสงส์ศีลต่อท้าย

คำขอสรณะและศีล ๕

มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.
ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.
ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.


แปลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล ๕ พร้อมกับสรณะ ๓ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล ๕ พร้อมกับสรณะ ๓ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล ๕ พร้อมกับสรณะ ๓
คำดังกล่าวนี้เป็นคำขอกลางๆ จะรับรักษาแยกกัน คือเมื่อรับศีลแล้วไปทำศีลข้อใดขาดก็ขาดไปเฉพาะข้อนั้น ข้ออื่นไม่พลอยขาดไปด้วย หรือจะรับรักษารวมกัน คือเมื่อรับศีลไปแล้ว ไปทำศีลข้อใดข้อหนึ่งขาด ข้ออื่นๆ ก็พลอยขาดไปด้วยทั้งหมด จะรับรักษาอย่างไรใน ๒ อย่างนี้ก็แล้วแต่จะตั้งเจตนา แต่ถ้าต้องการจะระบุไว้ในคำขอให้ชัดก็ได้ ดังต่อไปนี้

คำขอที่มีระบุรักษาแยกกัน

มยํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขนตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.
ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขนตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.
ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต วิสุง วิสุง รกฺขนตฺถาย ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.


แปลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอศีล ๕พร้อมกับสรณะ ๓ เพื่อรักษาแยกกัน ในวาระที่ ๒ และที่ ๓ ก็มีคำแปลอย่างเดียวกัน

คำขอที่มีระบุรักษาเป็นนิจศีล

มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจงฺคสมนฺนาคตํ นิจฺจสีลํ ยาจาม.
ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจงฺคสมนฺนาคตํ นิจฺจสีลํ ยาจาม.
ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจงฺคสมนฺนาคตํ นิจฺจสีลํ ยาจาม.


แปลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนิจศีลอันประกอบด้วยองค์ ๕ พร้อมกับสรณะ ๓ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้วาระที่ ๒ – ๓ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนิจศีลอันประกอบด้วยองค์ ๕ พร้อมกับสรณะ ๓ ในคำขอ ถ้าคนเดียวเปลี่ยน มยํ เป็น อหํ เปลี่ยน ยาจาม เป็น ยาจามิ

สรณะและศีลที่พระให้

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (๓ จบ)

(นอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า อรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง พระองค์นั้น)

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
(ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ)

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
(ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ)

สงฺฆฺ สรณํ คจฺฉามิ
(ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ)

ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
(แม้ในวาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ)

ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
(แม้ในวาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ)

ทุติยมฺปิ สงฺฆฺ สรณํ คจฺฉามิ
(แม้ในวาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ)

ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
(แม้ในวาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ)

ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
(แม้ในวาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ)

ตติยมฺปิ สงฺฆฺ สรณํ คจฺฉามิ
(แม้ในวาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ)

เมื่อจบสรณคมน์แล้ว ถ้าพระผู้ให้บอกว่า สรณคมนํ นิฏฺฐิตํ (ถึงสรณะเสร็จแล้ว) ผู้รับพึงว่า อาม ภนฺเต (ขอรับ เจ้าข้า) ถ้าพระผู้ให้ไม่ได้บอกอย่างนั้นก็ไม่ต้องรับ ต่อจากนี้ก็พึงรับศีลต่อไป

ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต)

อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยจิตคิดลัก)

กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท เว้นจากการประพฤติผิดในกาม)

มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท เว้นจากการกล่าวคำเท็จ)

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)

เมื่อสมาทานองค์สิกขาบทจบ ถ้าประสงค์จะสมาทานรวม พระก็นำให้ผู้รับว่า
อิมนิ ปญฺจ สิกฺขาปทานิ สมาทิยามิ
(ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท ๕ เหล่านี้)

ถ้าสมาทานเป็นนิจศีล พระผู้ให้จักบอกว่า
อิมานิ ปญฺจ สิกฺขาปทานิ นิจฺจสีลวเสน สาธุกํ รกฺขิตพฺพานิ
(สิกขาบททั้ง ๕ เหล่านี้ พึงรักษาให้เป็นนิจศีล ด้วยดี)

ผู้รับศีลที่ประสงค์รักษาให้เป็นนิจศีลพึงรับว่า อาม ภนฺเต (ขอรับ เจ้าข้า) เมื่อไม่แน่ใจว่าจะรักษาให้เป็นนิจศีลได้ก็ไม่ต้องรับ คำที่พระบอกนั้นก็ถือว่าเป็นคำแนะนำ ถัดจากนี้พระจะบอกอานิสงส์ของศีลต่อไปว่า

อิมานิ ปญฺจ สิกฺขาปทานิ (สิกขาบททั้ง ๕ เหล่านี้)
สีเลน สุคตึ ยนฺติ (ชนทั้งหลายไปสู่สุคติด้วยศีล)
สีเลน โภคสมฺปทา (ความถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติมีด้วยศีล)
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ (ชนทั้งหลายถึงความดับทุกข์ร้อนด้วยศีล)
ตสฺมา สีลํ วิโสธเย (เพราะฉะนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์)

ศีล แปลว่า ปกติ หมายถึง ปกติกาย วาจา ใจ เพราะมีใจคิดงดเว้นจากโทษทางกายทางวาจาที่ควรงดเว้น ดังเช่นที่ระบุไว้ในศีล ๕ ศีลจึงสำเร็จด้วยวิรัติเจตนา แปลว่า เจตนาคิดงดเว้น คำว่า วิรัติ กับคำว่า เวรมณี แปลว่างดเว้นเหมือนกัน วิรัติ โดยทั่วไปมี ๓ คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ ความเว้นจากวัตถุที่จะพึงล่วงได้อันมาถึงเฉพาะหน้า คือไม่ได้รับถือศีลมาก่อน แต่เมื่อได้พบสัตว์มีชีวิตที่จะฆ่าได้ ไปพบทรัพย์ที่จะลักได้ แต่ก็เว้นได้ไม่ฆ่า ไม่ลัก เป็นต้น ความคิดงดเว้นได้อย่างนี้ก็เป็นศีลเหมือนกัน แต่ถ้างดเว้นเพราะไม่ได้โอกาส ไม่จัดว่าเป็นศีล

๒. สมาทานวิรัติ ความงดด้วยอำนาจการถือเป็นกิจวัตร การรับถือศีลที่เรียกว่า สมาทานศีล เพราะคำว่าสมาทานแปลว่าการับถือ จะสมาทานด้วยตนเองคือตั้งจิตว่าจะงดเว้นจากโทษข้อนั้นๆ เองได้ จะสมาทานด้วยรับจากผู้อื่นซึ่งเป็นผู้มีศีล เช่น จากพระภิกษุสามเณรก็ได้ ถึงแม้จะรับจากผู้อื่นก็มิใช่จะรับแต่ปาก ต้องตั้งใจรับจึงจะได้ศีล ก่อนแต่รับศีลจากผู้มีศีล มีธรรมเนียมขอสรณะและศีลดังกล่าวแล้ว

๓. สมุจเฉทวิรัติ ความเว้นด้วยตัดขาดมีอันไม่ทำอย่างนั้นเป็นปกติตามภูมิของตนผู้ปฏิบัติ ท่านกล่าวว่าเป็นวิรัติของพระอริยเจ้า แต่เมื่อจะอธิบายให้ฟังทั่วๆ ไป ก็อาจอธิบายได้ว่า คือเว้นจนเป็นปกติของตนจริงๆ

สรุปเบญจศีล คือ

๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิต
๒. เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยจิตคิดลัก
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากการกล่าวเท็จ
๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


เบญจธรรม แปลว่าธรรม ๕ ประการ คำว่า ธรรม แปลว่าทรงไว้หรือดำรงรักษาไว้ในที่นี้หมายถึงส่วนที่ดี จึงมีความหมายว่า ทรงคือรักษาไว้หรือดำรงรักษาไว้ ๕ ประการ ในที่นี้ หมายถึงธรรมที่คู่กันกับศีล ๕ เรียกกันว่า กัลยาณธรรม แปลว่า ธรรมงาม เป็นเครื่องบำรุงจิตใจให้งดงาม สร้างอัธยาศัยนิสัยที่ดี ศีลเห็นเหตุให้งดเว้นไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ ถ้ามีเพียงศีลก็มีเพียงงดเว้นได้จากโทษ แต่ก็ยังมิได้ทำคุณความดี ต่อเมื่อมีธรรมอยู่ด้วยจึงจะเป็นเหตุให้ทำคุณความดี ยกตัวอย่างเช่น รักษาศีล ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เดินไปพบคนนอนหลับอยู่ในทางรถไฟ มีรถไฟแล่นมาแต่ไกล ควรจะปลุกบอกเขาได้แต่ไม่ปลุกบอก อย่างนี้ศีลไม่ขาดเพราะมิได้ไปฆ่าเขา แต่ขาดธรรมคือเมตตา ต่อเมื่อปลุกให้เขารีบหลีกออกเสียจากรางด้วยเมตตาจิต จึงจะชื่อว่ามีธรรม ฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสทั้งศีลทั้งธรรมคู่กันไว้ในที่หลายแห่งว่า “สีลวา กลฺยาณธมฺโม มีศีลมีกัลยาณธรรม” ดังนี้

๑. เมตตากรุณา คู่กับศีลสิกขาบทที่ ๑
๒. สัมมาอาชีวะ คู่กับศีลสิกขาบทที่ ๒
๓. ความสำรวมในกาม คู่กับศีลสิกขาบทที่ ๓
๔. ความมีสัจจะ คู่กับศีลสิกขาบทที่ ๔
๕. ความมีสติรอบคอบ คู่กับศีลสิกขาบทที่ ๕


เบญจธรรมนี้ไม่ต้องขออย่างขอศีล ให้ปฏิบัติอบรมบ่มเพาะปลูกให้มีขึ้นประจำจิตใจด้วยตนเอง ได้มีพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า

ธมฺมญฺจเร สุจริตํ พึงประพฤติสุจริตธรรม
น ตํ ทุจฺจริตํ จเร ไม่ประพฤติทุจริตธรรม
ธมฺมจารี สุขํ เสติ ผู้ประพฤติธรรมโดยปกติย่อมอยู่เป็นสุข
อสฺมิ โลโก ปรมฺหิ จ ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกอื่น


เบญจศีล เบญจธรรม ที่ได้จำแนกเป็นข้อๆ เหล่านี้ จักได้แสดงเป็นคู่ๆ ในกัณฑ์สืบต่อไปแล

๑๙ กันยายน ๒๕๐๒


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




Create Date : 09 มีนาคม 2553
Last Update : 19 พฤษภาคม 2553 19:59:04 น. 1 comments
Counter : 1895 Pageviews.

 
เบญจธรรมอยู่ไหนใครรู้บอกด้วยนะค่ะ


โดย: Wasana IP: 182.232.97.189 วันที่: 28 พฤษภาคม 2560 เวลา:6:59:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.