Group Blog
 
All Blogs
 
๑๑. เบญจศีล - เบญจธรรม คู่ที่ ๑



หลักพระพุทธศาสนา

๑๑. เบญจศีล – เบญจธรรม คู่ที่ ๑


ในโลกนี้ มีหมู่มนุษย์และดิรัจฉานนานาชนิดสืบต่อกันมาอยู่ เพราะอาศัยความไม่ล้างผลาญชีวิตกันและความมีเมตตาต่อกัน ส่วนสัตว์บางชนิดที่ดุร้ายและอยู่รวมกันเป็นหมู่ใหญ่ไม่ได้เพราะความดุร้าย ปรากฏว่าได้สูญพันธ์ไปแล้วก็มี เช่นสัตว์ไดโนเสา และที่เห็นกันว่ากำลังจะสูญพันธุ์ไปก็มี เช่นเสือ มีคำกล่าวยกเสือเป็นข้อเปรียบเทียบว่า เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ ก็แสดงถึงความดุร้ายของเสือที่ทำลายแม้พวกเดียวกัน มีบางคนเห็นว่า สัตว์ที่มีกำลังมากจะคงอยู่ได้ในโลก ส่วนสัตว์ที่มีกำลังน้อยจะหมดไป เพราะสัตว์ที่มีกำลังมากเบียดเบียนสัตว์ที่มีกำลังน้อยเหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก ฉะนั้น เมื่อต้องการจะดำรงอยู่ก็ต้องทำให้ตนมีกำลังมาก ความเห็นนี้ยกเหตุผลคัดค้านได้ว่า มีกำลังมากอย่างเดียวไม่อาจดำรงอยู่ได้ ดังสัตว์บางจำพวกที่กล่าวมานั้น ส่วนสัตว์ที่มีกำลังน้อยแต่อยู่รวมกันได้เป็นหมู่ใหญ่ ไม่เบียดเบียนทำลายล้างชีวิตกัน มีเมตตาต่อกัน สามารถดำรงอยู่ได้ พึงเห็นมนุษย์ตลอดจนถึงในหมู่สัตว์ดิรัจฉาน แม้ชนิดเล็กๆ เช่นมดปลวก เป็นต้น ฉะนั้น ความไม่ทำลายล้างชีวิตกันตามศีลข้อที่ ๑ ของพระพุทธเจ้า และความมีเมตตากรุณาตามธรรมของพระพุทธเจ้าที่คู่กับศีลข้อที่ ๑ นั้น จึงเป็นเหตุเพื่อความดำรงอยู่ของชีวิตทั้งหลายในโลก

ศีลข้อที่ ๑

ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต คำว่าสัตว์มีชีวิต แปลกจากคำว่าปาณาติปาตา คำว่าปาณะคืออินทรีย์ที่หายใจ ที่มีชีวิตเป็นอยู่ หมายถึงมนุษย์และดิรัจฉานทั่วไปทุกชนิด เพราะเมื่อมีชีวิตเป็นอยู่ ก็ต้องหายใจเหมือนกันหมด การหายใจหมายถึงความมีชีวิต หรือความมีชีวิตก็หมายถึงการหายใจ คำว่าปาณาจึงแปลฟังง่ายๆ ว่าสัตว์มีชีวิต ซึ่งหมายถึงทั้งมนุษย์ทั้งดิรัจฉานที่ยังหายใจได้อยู่ดังกล่าวนั้น การฆ่าคือการทำให้ตายด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม ตลอดจนถึงการทำให้แท้งลูกก็ชื่อว่าเป็นการฆ่าเหมือนกัน เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตคือความตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด ความตั้งใจงดเว้นหรือความงดเว้นได้ไม่ฆ่านี้ ถ้าไม่ได้รับศีลไว้ก่อน แต่เมื่อพบสัตว์มีชีวิตพอจะฆ่าได้ก็คิดงดเว้นขึ้นได้ เช่นเมื่อยุงกัดจะตบให้ตายก็ได้แต่ไม่ตบ เพียงแต่ปัดให้ไป อย่างนี้เป็นสัมปัตตวิรัติ (ความเว้นจากวัตถุที่จะพึงล่วงได้อันมาถึงเฉพาะหน้า) ถ้างดเว้นได้ด้วยรับศีลไว้ก่อนหรือตั้งใจถือศีลไว้ก่อนเป็นสมาทานวิรัติ (ความเว้นด้วยการถือเป็นกิจวัตร) ถ้างดเว้นได้เป็นปกตินิสัยของตนจริงๆ ก็เป็นสมุจเฉทวิรัติ (ความเว้นด้วยการตัดขาดมีอันไม่ทำอย่างนั้นเป็นปกติ) ความตั้งใจงดเว้นดังกล่าวมีเมื่อใดศีลข้อนี้ก็มีเมื่อนั้น มีปัญหาว่า เด็กๆ ไม่รู้เดียงสาไม่ได้ฆ่าสัตว์อะไรจะชื่อว่ามีศีลหรือไม่ คนที่ยังไม่ฆ่าสัตว์เพราะยังไม่มีโอกาสจะฆ่าจะชื่อว่ามีศีลหรือไม่ ก็อาจตอบได้ด้วยอาศัยหลักวิรัติว่า ไม่ชื่อว่ามีศีล เพราะไม่มีวิรัติเจตนา คือความตั้งใจงดเว้น เช่นเด็กไม่รู้เดียงสานั้นยังไม่รู้จักตั้งใจงดเว้น คนที่ยังไม่มีโอกาสจะฆ่าก็ไม่มีความตั้งใจงดเว้น

การล่วงศีลข้อนี้เมื่อมีขึ้นในเมื่อสิ่งที่จะฆ่าเป็นสัตว์มีชีวิต ตนก็รู้อยู่ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต มีเจตนาคิดจะฆ่า พยายามฆ่าด้วยเจตนานั้น ด้วยการทำเองก็ตาม สั่งใช้ให้คนอื่นทำก็ตามและสัตว์ก็ตายด้วยความพยายามนั้น เมื่อประกอบด้วยองค์ลักษณะดังกล่าว ศีลก็ขาด มีปัญหาว่าไม่ได้เจตนาเหยียบมดตาย ศีลขาดหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าไม่ขาด เพราะไม่รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ยุงกัดตบยุง แต่ยุงบินหนีไปเสียก่อน ศีลขาดหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าไม่ขาด เพราะว่าสัตว์ไม่ตาย

การฆ่าสัตว์ท่านแสดงว่ามีโทษมากและน้อยต่างๆ กัน คือ ถ้าฆ่าผู้ที่มีคุณมาก มีเจตนาฆ่าแรงมาก มีความพยายามมาก ก็มีโทษมาก ถ้าฆ่าผู้ที่มีคุณน้อย มีเจตนาอ่อน มีความพยายามน้อย ก็มีโทษน้อยลงมาตามส่วน

ผู้ทำศีลข้อนี้ขาดแล้ว เมื่อรับศีลใหม่ หรือไม่รับจากใครแต่ตั้งใจถือศีลขึ้นใหม่ด้วยตนเอง ศีลก็กลับขึ้นใหม่ เพราะหลักอยู่ที่วิรัติเจตนา คือความตั้งใจงดเว้นดังกล่าวแล้ว ตั้งใจงดเว้นขึ้นเมื่อใด ศีลก็เกิดเมื่อนั้น ฉะนั้น ถึงจะรับศีลจากพระแต่รับเพียงด้วยปากใจไม่ได้คิดงดเว้นอะไรก็ไม่เกิดเป็นศีลขึ้น ถึงไม่ได้รับศีลจากพระแต่มีใจงดเว้นก็เกิดเป็นศีลขึ้นได้ มีข้อที่แตกต่างกันอยู่ว่า การรับจากพระเป็นการแสดงตน และเป็นการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณซึ่งทำให้ต้องสำนึกตนในคำสัตย์ปฏิญาณนั้น เป็นเครื่องช่วยทำให้ศีลมั่นเข้า และการรับศีลเมื่อไม่ได้ตั้งใจรับเป็นนิจ ถึงจะไปล่วงศีลเข้าในภายหลังเพราะความพลั้งเผลอ หรือเพราะเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่เสียสัตย์ปฏิญาณอะไร ทั้งนี้ก็สุดแต่จะตั้งเจตนาไว้อย่างไร

หลักแห่งการบัญญัติศีลข้อ ๑

พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีความว่า ตนรักชีวิตของตน สะดุ้งกลัวความตายฉันใด สัตว์อื่นก็รักชีวิตของตนๆ และสะดุ้งกลัวความตายฉันนั้น ฉะนั้น จึงไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า อนึ่ง ตนรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด สัตว์อื่นรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น จึงไม่ควรสร้างความสุขให้แก่ตนด้วยการก่อทุกข์ให้แก่คนอื่น อาศัยหลักพระพุทธภาษิตดังกล่าวนี้จึงเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๑ ด้วยอาศัยหลักยุติธรรมและหลักเมตตากรุณา หลักยุติธรรมคือหลักการให้ความยุติธรรม คุ้มครองชีวิตสัตว์ทั้งหลายโดยเที่ยงธรรมเสมอหน้ากันทั้งหมด ทั้งมนุษย์สัตว์ดิรัจฉานทุกชนิด มิใช่บัญญัติด้วยลำเอียงเข้ากับมนุษย์ ว่ามนุษย์ควรจะฆ่าสัตว์ดิรัจฉานกินได้ หรือลำเอียงเข้ากับสัตว์ดิรัจฉาน เพราะทั้งมนุษย์ทั้งดิรัจฉาน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องหายใจเหมือนกัน และต่างก็รักชีวิตรักสุขเกลียดทุกข์อยู่เหมือนๆ กัน ฉะนั้น การให้ความคุ้มครองชีวิตโดยเสมอหน้ากันหมดไม่เลือกว่าเราว่าเขา ไม่เลือกว่าตนว่าผู้อื่น ไม่เลือกว่ามนุษย์ว่าดิรัจฉานชนิดไหน จึงเป็นการยุติธรรมปราศจากความลำเอียงอย่างแท้จริง แต่มนุษย์เรามีปกตินิสัยเข้ากับตัวด้วยอำนาจความโลภโกรธหลง จึงพอใจบัญญัติอะไรให้อนุโลมกับปกตินิสัย และอ้างปกตินิสัยอันมีกิเลสนี้แหละให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่บัญญัติให้มนุษย์มีสิทธิ์ตัดชีวิตดิรัจฉานเมื่อใช้เนื้อทำอาหารได้โดยไม่ผิด ทั้งเป็นการชอบธรรมด้วย ลองนึกดูว่าถ้าเสืออ้างว่าคนเกิดมาเป็นอาหารของเสือ คนก็คงไม่ยอมเป็นแน่ โดยทำนองเดียวกัน ถ้าปลาเนื้อพูดได้ ก็คงไม่ยอมให้ถือว่าเกิดมาเป็นอาหารของคนเหมือนกัน ข้อที่คนเราลำเอียงเข้ากับตัวนี้มีตัวอย่างให้เห็นได้อีกมากมาย เช่นในบางคราว สัตว์ดิรัจฉานทำร้ายคน คนก็พูดกันเป็นข่าวว่าสัตว์นั้นๆ ดุ แต่คนทำร้ายสัตว์ดิรัจฉานทั่วๆ ไปไม่พูดกันว่าคนดุ ในคราวหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ปลาฉลามกินคนที่ลงเล่นน้ำที่ศรีราชา เกิดเป็นข่าวเกรียวกราว สมเด็จพระสังฆราชเจ้าในพระโกศ (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) รับสั่งเป็นเชิงประทานแง่คิดว่า “ปลากินคนเป็นข่าวเอะอะกันใหญ่ แต่คนกินปลาเงียบ ไม่มีใครพูด” เมื่อพิจาณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าคนเรามีความลำเอียงเข้ากับตัวอยู่มากมายนักดังกล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงตัดความลำเอียงได้หมด ประทานความยุติธรรมแก่ทุกๆ ชีวิตสัตว์เสมอเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงมีพระเมตตากรุณาแก่สัตว์ทุกถ้วนหน้า เหมือนอย่างมารดาบิดามีเมตตากรุณาแก่บุตรธิดา มารดาบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาไม่อาจจะฆ่าเองหรือยอมให้ใครฆ่าบุตรธิดาของตนได้ฉันใด พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น เพราะทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาในสรรพสัตว์

ทำร้ายร่างกายและทรกรรมสัตว์

เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๑ เพื่อมิให้เบียดเบียนชีวิตของกันและกันด้วยเมตตากรุณา ฉะนั้น จึงมิใช่ควรเว้นจากการฆ่าสัตว์เพียงอย่างเดียว ควรเว้นจากการทำร้ายร่างกายกันและการทรมานสัตว์ให้ลำบากด้วย แม้การทำร้ายร่างกายอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรเว้น เช่นคนที่โตกว่าชกต่อยข่มเหงคนที่เล็กกว่า พี่รังแกน้อง การทรกรรมคือการทำสัตว์ให้ลำบากแม้เพื่อเล่นสนุกก็ควรเว้น เช่นเล่นเผาหนูทั้งเป็น ใช้น้ำมันราดตัวให้ชุ่มจุดไฟปล่อยให้วิ่งไฟติดโพลงไป เป็นการเล่นสนุก ตลอดถึงการเล่นกัดจิ้งหรีด เป็นต้น สำหรับผู้ใหญ่บางทีก็เล่นทรกรรมสัตว์ เช่นชนวัว ชนไก่ เป็นการสนุกบ้าง เป็นการพนันบ้าง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำทั้งสิ้น การใช้งานสัตว์จนเกินกำลังเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเหมือนกัน การทำเหล่านี้เป็นการก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น แสดงว่าผู้ทำมีใจขาดเมตตากรุณา ไม่ได้คิดย้อนมาดูตัวว่าถ้าถูกทำเช่นนั้นบ้างจะเป็นอย่างไร

การล่าสัตว์

การเล่นสนุกอีกอย่างหนึ่งของคน คือการล่าสัตว์ในป่า บางคนถือว่าเป็นการฝึกผจญภัยทำให้ใจกล้า แต่ก็ผจญอย่างเอาเปรียบ เพราะใช้อาวุธและหลบอยู่บนห้างบนต้นไม้หรือในที่กำบัง และสัตว์มากชนิดไม่มีทางจะต่อสู้ด้วยเลย สัตว์บางชนิดยังไม่คุ้นกับความมีใจดำอำมหิตของคน เห็นคนเข้าก็คงไม่คิดว่าเป็นเพชรฆาต รีรอมองดูอย่างทึ่ง สงสัยว่าคนคงเป็นเพื่อนสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนั้น จึงถูกยิงอย่างสะดวก บางสัตว์ที่ถูกยิงเป็นแม่มีลูกอ่อนติดตาม ครั้นถูกยิงแล้วก็พยายามปิดบาดแผล อดกลั้นความเจ็บปวด มิให้ลูกเห็นแสดงอาการเศร้าโศก และแสดงความรักอาลัยลูกอย่างสุดซึ้ง แล้วก็ตกลงมาตาย คนที่ยิงแม้ทีแรกจะไม่คิดอะไร ครั้นเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นสายตาสัตว์ผู้แม่ที่มองตนอย่างละห้อยเหมือนจะถามสาเหตุ เกิดสงสารสังเวชจนเลิกการล่าสัตว์ตั้งแต่บัดนั้นก็มี บางทีในฤดูแล้งสัตว์ป่าจำต้องกระเสือกกระสนมาดื่มน้ำในสระที่มีคนไปคอยดักยิงอยู่ แม้น่าจะรู้ว่ามีภัยก็ต้องมาเพราะความระหายน้ำแล้วถูกยิงอย่างยอมให้ยิง การยิงสัตว์เป็นการกีฬาในคราวสัตว์เผชิญทุกข์เช่นนี้ เป็นการแสดงความโหดร้ายยิ่งนัก ผู้ที่มีใจอำมหิตโหดร้ายนี้แหละคือยักษ์ในหมู่มนุษย์และในหมู่ดิรัจฉาน ผู้ที่ใช้ความคิดให้ถูกต้องสักหน่อยจักทำอย่างนั้นไม่ได้เลย ในฐานะนับถือพระพุทธเจ้าก็ยิ่งไม่ควรทำ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้นึกเปรียบเทียบระหว่างตัวเรากับผู้อื่นสัตว์อื่นว่าต่างรักชีวิตกลัวตายเหมือนกัน แล้วควรเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน ควรปลูกเมตตากรุณาในสรรพสัตว์

อัตวินิบาตกรรม

มิใช่แต่การฆ่าสัตว์มีชีวิตอื่นเท่านั้น ถึงการฆ่าตัวเองตายที่เรียกว่าอัตวินิบาตกรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงห้ามมิให้ทำ การฆ่าตัวเป็นการแสดงความอับจน พ่ายแพ้ หมดทางแก้ไข หมดทางออกอย่างอื่น สิ้นหนทางแล้ว เมื่อฆ่าตัวก็เป็นการทำลายตัว เมื่อทำลายตัวก็เป็นการทำลายประโยชน์ทุกๆ อย่างที่พึงได้ในชีวิต ในบางหมู่เห็นว่าการฆ่าตัวในบางกรณีเป็นเกียรติสูง แต่ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่าเป็นโมฆกรรม คือกรรมที่เปล่าประโยชน์ เรียกผู้ที่ทำว่าโมฆบุคคลคือคนเปล่า เท่ากับว่าตายไปเปล่าๆ ควรจะอยู่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อไปได้ก็หมดโอกาสเสียแล้ว ตรงกับคำที่พูดกันว่าเสียไปเสียแล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สงวนรักษาตนให้ดีตลอดเวลาทั้งปวง ทรงห้ามมิให้มอบตนให้แก่ใครและไม่ให้ฆ่าตัวเอง เช่นเดียวกับมิให้ฆ่าสัตว์อื่น โดยปกติคนทุกคนรักชีวิต รักตนกลัวตาย แต่เพราะเหตุบางอย่างบางครั้งอาจเกิดการคิดสละชีวิต ก็เมื่อเกิดความคิดเช่นนั้นขึ้นได้ ไฉนจะทำให้เกิดความคิดอีกอย่างหนึ่งขึ้นไม่ได้ คือคิดอยู่ต่อไป เว้นไว้แต่จะแพ้แก่ความคิด แพ้แก่ใจตนเอง ฉะนั้น เมื่อมีสติระวังมิให้เป็นผู้พ่ายแพ้อย่างหมดประตูเช่นนั้น แต่ให้เป็นผู้ชนะตนเอง ชนะใจตนเองได้แล้วจะไม่ก่อกรรมนั้นให้แก่ตนได้เลย

ธรรมคู่กับศีลข้อ ๑

คือ เมตตา กรุณา เป็นกัลยาณธรรม ธรรมที่งาม หรือธรรมที่ทำให้เป็นกัลยาณชนคนงาม เมตตากรุณานี้เป็นมูลฐานให้เกิดศีลข้อที่ ๑ และทำให้จิตใจงาม เป็นเหตุก่อการกระทำเกื้อกูลขึ้นอีก ดังเช่นไม่ฆ่าสัตว์ด้วยมีศีล และเกื้อกูลสัตว์ด้วยมีธรรมคือความเมตตากรุณา การไม่เกื้อกูลใครไม่ทำให้เสียศีล เพราะไม่ได้ฆ่าใคร แต่ขาดธรรมคือกรุณา ฉะนั้น จึงควรปลูกเมตตากรุณาให้มีคู่ไปกับศีล

เมตตา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข คำว่าไมตรีจิต หรือมิตรจิต ก็คือจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตา คนที่มีมิตรจิตเรียกว่ามิตร ตรงกันข้ามกับศัตรูหรือไพรีซึ่งมีจิตพยาบาทมุ่งร้าย เมตตาจึงตรงข้ามกับโทสะพยาบาท เมตตาเป็นเครื่องอุปถัมภ์ โทสะพยาบาทเป็นเครื่องทำลายล้าง ฉะนั้น เมื่อมีเมตตาต่อกันย่อมคิดจะเกื้อกูลกันให้มีความสุข ถึงจะประพฤติผิดพลั้งพลาดต่อกันบ้างก็ให้อภัยกันไม่ถือโทษ เหมือนอย่างมารดาบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตาไม่ถือโทษด้วยโทสะพยาบาทในบุตรธิดา แต่ถ้าขาดเมตตาต่อกันแล้วก็ตรงกันข้าม สถานและสิ่งของเป็นเครื่องเกื้อกูลที่มีอยู่ทั่วไป เช่นวัด โรงเรียน และที่ศึกษาอบรมต่างๆ เป็นต้น ล้วนประกาศเมตตาจิตของผู้จัดตั้งหรือจัดทำเพื่อให้เกิดสุขประโยชน์แก่คนทั้งหลาย

กรุณา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นปราศจากทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์เกิดแก่ผู้อื่นก็พลอยหวั่นใจสงสาร เป็นเหตุให้คิดช่วยทุกข์ภัยของกันและกัน กรุณานี้ตรงกันข้ามกับวิหิงสาความเบียดเบียน สิ่งที่เป็นเครื่องช่วยเปลื้องช่วยบำบัดทุกข์ภัยทั้งหลายเช่นโรงพยาบาล เป็นต้น ล้วนประกาศกรุณาของท่านผู้สร้าง

ชีวิตของทุกคนดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยความเมตตากรุณาของผู้อื่นมาตั้งแต่เบื้องต้น คือตั้งต้นแต่บิดามารดา ครูอาจารย์ พระมหากษัตริย์ และรัฐบาล ญาติมิตรสหาย เป็นต้น ไม่เช่นนั้นถึงไม่ถูกใครฆ่าก็ไม่อาจจะดำรงชีวิตอยู่ได้เลย เหมือนอย่างมารดาบิดาทิ้งทารกไว้เฉยๆ ไม่ถนอมเลี้ยงดู ไม่ต้องทำอะไรทารกก็จะสิ้นชีวิตไปเอง ฉะนั้น เมื่อทุกๆ คนมีชีวิตเจริญมาด้วยความเมตตากรุณาของท่าน ก็ควรปลูกเมตตากรุณาในชีวิตอื่นสืบต่อไป

วิธีปลูกเมตตา คือคิดตั้งใจปรารถนาให้เขาเป็นสุข นี้เป็นเมตตา และคิดตั้งใจปรารถนาให้เขาปราศจากทุกข์ นี้เป็นกรุณา ทีแรกท่านแนะนำให้คิดไปในตนเองก่อนแล้วให้คิดเจาะจงไปในคนที่รักนับถือซึ่งเป็นที่ใกล้ชิดสนิทใจ อันจะหัดให้เกิดเมตตากรุณาได้ง่าย ครั้นแล้วก็หัดคิดไปในคนที่ห่างใจออกไปโดยลำดับ จนในคนที่ไม่ชอบกัน เมื่อหัดคิดโดยเจาะจงได้สะดวก ก็หัดคิดแผ่ใจออกไปด้วยเมตตากรุณาในสรรพสัตว์ไม่มีประมาณทุกถ้วนหน้า เมื่อหัดคิดตั้งใจดังกล่าวบ่อยๆ เมตตากรุณาจะเกิดขึ้นในจิตใจ เหมือนอย่างหว่านพืชลงไปแล้วหมั่นปฏิบัติตามวิธีเพาะปลูก เช่นรดน้ำเป็นต้นเนืองๆ พืชก็งอกขึ้น ฉันนั้น ฉะนั้นควรเริ่มเพาะปลูกเมตตากรุณาในพี่ในน้อง ในมารดาบิดา ตลอดถึงในเพื่อนที่ไม่ค่อยชอบ เป็นต้น เมื่อพืชคือเมตตากรุณางอกขึ้นแล้ว ตัวเรานี้แหละจะเป็นสุขก่อนใครหมด

โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา
เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก


๓ ตุลาคม ๒๕๐๒


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 12 มีนาคม 2553
Last Update : 12 มีนาคม 2553 12:53:53 น. 2 comments
Counter : 741 Pageviews.

 


โดย: onedermore วันที่: 12 มีนาคม 2553 เวลา:13:02:45 น.  

 


โดย: อัสติสะ วันที่: 16 มีนาคม 2553 เวลา:17:13:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.