Group Blog
 
All Blogs
 
๑๖. ปกติภาพ - ปกติสุข



หลักพระพุทธศาสนา

๑๖. ปกติภาพ - ปกติสุข


ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประเภทหนึ่ง คนมักจะอ่าน ไม่ปล่อยให้ผ่านไป แต่ไม่มีใครอยากเป็นข่าว คือข่าวฆาตกรรม ข่าวโจรกรรม ข่าวเกี่ยวกับผิดศีลข้อที่ ๓ ข่าวหลอกลวง ข่าวคนเมาเกะกะอาละวาด เป็นต้น คนที่เป็นตัวการในข่าวล้วนเป็นคนกวนบ้านกวนเมืองให้เดือดร้อน ใครประพฤติก่อกรรมอย่างนั้น ถึงไม่ปรากฏเป็นข่าว ก็ทำเข็ญให้เดือดร้อนเช่นเดียวกัน ในบ้านทุกบ้านมีใครก่อกรรมทำเข็ญเช่นนั้นเข้าสักคนก็พากันเดือดร้อนไปหมด จนอาจถึงบ้านแตกสาแหรกขาด และเมื่อทำให้เดือดร้อนถึงส่วนรวมก็เป็นการบ่อนทำลายความสงบสุขของเมืองคือประเทศชาติ คนที่เป็นตัวการก่อความเดือดร้อนดังกล่าวมิใช่ใครที่ไหน คือแต่ละคนที่ประพฤติผิดศีล ๕ นั้นเอง ใครอยากเป็นตัวข่าวในเรื่องเช่นนี้บ้าง ถ้าไม่อยากก็อย่าประพฤติให้ผิดศีล ๕ และต้องคอยหลบหลีกคนที่ประพฤติผิดศีล ๕ ให้ดีด้วย เพราะเมื่อตนเองไม่ทำแก่เขาเขาอาจจะคิดทำแก่ตนก็ได้ จึงต้องไม่ประมาท ระมัดระวังตนเองให้ปลอดภัย เพราะภัยอันตรายอันเป็นเครื่องทำลายความปกติสุขทุกอย่างเกิดจากคนไม่มีศีลทั้งนั้น ในด้านตรงกันข้ามความปกติสุขทุกอย่างเกิดจากคนมีศีล เหมือนอย่างในบ้านทุกบ้านอยู่กันเป็นปกติสุขเรียบร้อย (ไม่เกิดวิกฤตการณ์ตรงกันข้ามกับปกติการณ์หรือปกฤตการณ์) ในเมื่อไม่มีใครบันดาลโทสะทำร้ายใคร จนถึงไม่มีใครดื่มสุราเอะอะอาละวาด ฉะนั้น ศีลจึงจำเป็นเพื่อความปกติสุขเรียบร้อยแก่ทุกคน

ยังอาจมีผู้เข้าใจว่า ศีลเป็นข้อห้ามข้อบังคับทางพระศาสนาที่ต้องรับจากพระ เป็นข้อห้ามที่ผิดปกติวิสัยไม่อาจจะทำได้

อันที่จริง ศีลคือปกติภาพ ความเป็นปกติของคน คือโดยปกติคนเราก็ไม่ได้ฆ่าใคร ไม่ลักของใคร จนถึงดื่มน้ำเมาก็ยังไม่เป็น ต่อเมื่อเกิดโลภอยากได้ขึ้นมา บันดาลโทสะขึ้นมา มัวเมาหลงใหลขึ้นมา จนถึงยั้งใจไว้ไม่อยู่ทำลงไป บางอย่างก็ต้องหัดเหมือนอย่างดื่มน้ำเมา เมื่อจิตใจยังเป็นปกติดีอยู่ยังไม่โลภโกรธหลง หรือเมื่อโลภโกรธหลงสงบลงแล้ว ก็ไม่มีใครทำลงไปได้ ฉะนั้น ศีลจึงเป็นตัวปกติภาพของคนโดยแท้ แต่คนโดยมากมักควบคุมตนเองไว้ไม่ได้ ยั้งใจไว้ไม่อยู่ จึงรักษาปกติภาพของตนไว้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติศีลเป็นขอบเขตของความประพฤติไว้ เพื่อช่วยให้คนรักษาปกติภาพของตนไว้นั้นเอง ส่วนที่ต้องรับจากพระนั้นก็เป็นเพียงวิธีชักนำอย่างหนึ่ง เพราะโดยตรงศีลนั้นต้องรับจากใจของตนเอง คือใจของตนเองต้องเกิดวิรัติทั้ง ๓ ข้อใดข้อหนึ่งขึ้น จึงจะเกิดเป็นศีล เพื่อทบทวนความจำ จะนำวิรัติทั้ง ๓ มากล่าวไว้อีกครั้งหนึ่ง คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ ความเว้นได้ในทันทีที่เผชิญหน้ากับวัตถุ
๒. สมาทานวิรัติ ความเว้นได้ด้วยตั้งใจถือศีลไว้
๓. สมุจเฉทวิรัติ ความเว้นได้เด็ดขาดทีเดียว


เมื่อใจมีวิรัติขึ้น ก็มีศีลขึ้นทันที คำว่าใจมีวิรัติมิได้หมายความว่าต้องคิดว่าเราจะเว้นๆ อยู่ทุกวินาที แต่หมายความว่าคิดตั้งใจไว้ จะรับจากพระมาตั้งใจไว้ก็ได้ จะตั้งใจด้วยตนเองก็ได้ ในเวลาไหนก็ได้ เมื่อคิดตั้งใจไว้แล้วจะทำพูดคิดอะไรที่ไม่ผิดข้อห้ามที่ให้เว้นนั้นแล้วก็ได้ทั้งนั้น และจะตื่นอยู่หรือหลับไป ศีลก็มีอยู่ทุกเวลา

ส่วนที่ว่าเป็นข้อห้ามที่ผิดปกติวิสัยนั้น เป็นการว่าที่ผิด เพราะศีลเป็นข้อห้ามเพื่อรักษาปกติภาพของคนดังกล่าวแล้ว จึงถูกต้องกับปกติวิสัยอย่างที่สุด ถ้าจะแย้งว่าคนสามัญทุกคนก็ต้องมีโลภ โกรธ หลง อยู่ด้วยกัน จึงไม่อาจปฏิบัติได้ ข้อแย้งนี้ถ้าคิดสักหน่อยก็จะเห็นว่าแย้งไม่ถูก พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลก็เพื่อให้คนสามัญนี้แหละรักษา ถ้าไม่มีคนสามัญดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องทรงบัญญัติศีลข้อไหนๆ ขึ้นเลย และเมื่อใครอยากได้ขึ้นมา โกรธขึ้นมา ก็ทำร้ายเขา ลักของเขา เป็นต้น จะอยู่กันได้อย่างไร ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลขึ้นไว้ควบคุมความประพฤติของคนให้อยู่ในขอบเขตที่ดี มิให้เบียดเบียนกันให้เดือดร้อน เป็นการคุ้มครองปกติภาพของทุกๆ คน เพื่อได้อยู่ด้วยกันเป็นปกติสุข เมื่อคนรักษาศีลตลอดไปถึงสัตว์ดิรัจฉาน คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตลอดถึงในสัตว์ดิรัจฉาน ก็ชื่อว่าได้แผ่ความปกติสุขให้กว้างออกไปถึงในสัตว์ดิรัจฉานทั่วไปด้วย เรียกว่าเป็นการให้อภัยทานแก่สัตว์ทั่วไป

มีปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่มิใช่น้อยว่า พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้ฆ่าสัตว์ แต่ทำไม่จึงไม่ทรงห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์ เมื่อบริโภคเนื้อสัตว์ได้ก็ต้องมีการฆ่าสัตว์ ไม่เป็นอันอำนวยให้ฆ่าสัตว์โดยอ้อมหรือ ในการเฉลยปัญหานี้ ควรแสดงข้อที่เป็นมูลฐานก่อนว่า การทำอะไรแก่สัตว์ที่ตายแล้ว จะบริโภคก็ตาม จะนำไปเผาไปฝังก็ตาม ไม่เป็นปาณาติบาตคือฆ่าสัตว์ เพราะไม่เป็นการทำร้ายแก่ร่างที่ปราศจากชีวิตแล้วไม่มีภาวะเป็นสัตว์มีชีวิตเหลืออยู่ เมื่อได้ความจริงชัดเจนดังนี้แล้ว จึงมาถึงปัญหาว่าถึงไม่เป็นปาณาติบาตแต่ก็ควรบริโภคหรือไม่ ปัญหานี้ตอบตามพระวินัยว่า พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้ภิกษุบริโภคอุทิสสมังสะ แปลว่าเนื้อเจาะจง คือเนื้อที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อปรุงอาหารถวายพระภิกษุ เมื่อภิกษุได้เห็น ได้ยิน หรือรังเกียจสงสัยว่าเป็นเนื้อเช่นนั้น ห้ามมิให้ฉัน ทรงอนุญาตให้ฉันได้แต่ปวัตตมังสะ แปลว่าเนื้อที่เป็นไปทั่วไป คือเนื้อที่เขาทำไว้สำหรับคนทั่วไปบริโภค ถึงภิกษุจะฉันหรือไม่ฉันเขาก็ทำบริโภคกัน แม้เช่นนั้นก็ทรงอนุญาตให้ฉันได้แต่เนื้อสุก ไม่ให้ฉันเนื้อดิบ เป็นอันห้ามตลอดถึงกะปิดิบ น้ำปลาดิบ (ผู้รู้วินัยเมื่อจะใช้กะปิหรือน้ำปลาดิบ ประกอบอาหารเพื่อพระภิกษุจึงทำให้สุกก่อน) และทรงห้ามมิให้ฉันเนื้อ ๑๐ จำพวกที่ชาวโลกเขารังเกียจกัน คือเนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อสีหะ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว การที่ทรงห้ามอุทิสสมังสะเป็นอันตัดทางมิให้อำนวยปาณาติบาต ถ้ามีปัญหาต่อไปว่าถ้าห้ามปาณาติบาตไม่สำเร็จ จะบัญญัติศีลห้ามไว้ทำไม จะไม่เหมือนบัญญัติห้ามไว้เล่นๆ และผู้รับก็รับกันเล่นๆ ไป หรือจะบัญญัติไว้อย่างในศาสนาอื่นคือห้ามบ้าง อนุญาตบ้าง เช่นห้ามฆ่าคน อนุญาตให้ฆ่าสัตว์ดิรัจฉานได้ ข้อนี้ตอบได้ง่ายว่า พระพุทธเจ้าทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณาในสัตว์โลกเสมอกัน จะทรงบัญญัติดังนั้นไม่ได้ นึกดูถึงคนเราธรรมดาทุกคน เมื่อมีสัตว์เลี้ยงก็ฆ่าไม่ได้ เพราะอำนาจเมตตากรุณานั่นเอง ฉะนั้น เมื่อเมตตากรุณาแผ่ออกไปยังสัตว์ใดๆ ก็ฆ่าสัตว์นั้นๆ ไม่ได้ เมื่อแผ่ออกไปในสัตว์ทั้งปวงทั่วโลกก็ฆ่าไม่ได้ทั่วโลก ไม่ต้องมีใครห้าม คนที่มีเมตตากรุณานั้นทำไม่ได้เอง เหมือนอย่างพ่อแม่ผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาในลูกๆ ไม่อาจทำร้ายลูกได้ ไม่มีใครห้าม แต่ทำไม่ได้เอง ซ้ำคอยป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่ลูกด้วยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้าทรงมีพระเมตตากรุณาในสัตว์โลกทั่วหน้าเสมอกัน เหมือนอย่างพ่อแม่ของโลก จึงไม่ทรงเบียดเบียนแม้ด้วยความคิดแก่สัตว์โลกไหนๆ เลย และประทานความคุ้มครองทั่วหน้าเสมอกันหมด ปราศจากอคติในทุกๆ ชีวิต จึงไม่มีข้ออ้างเพื่อประโยชน์ตนอย่างเรื่องหมาป่าอ้างเพื่อจะกินลูกแกะในนิทานอีสปอยู่ในพระพุทธศาสนาเลย ส่วนที่ว่าจะเป็นการบัญญัติไว้เล่นๆ เพราะห้ามไม่สำเร็จนั้น ก็ไม่เป็นดังนั้น เพราะผู้ที่ถือศีลข้อนี้และข้ออื่นๆทั้ง ๕ ข้อ หรือยิ่งกว่า ชั่วระยะกาลบ้าง เป็นนิตย์บ้าง ก็มีอยู่มิใช่น้อย แม้ผู้ที่นับถือลัทธิศาสนาอื่นบางลัทธิศาสนาถือไม่ฆ่าสัตว์ทั้งปวงก็มี ฉะนั้น ถ้าไม่มีศีลข้อนี้หรือมีอย่างยกเว้นศีลในพระพุทธศาสนาก็จักขาดตกบกพร่อง แสดงว่าด้อยด้วยคุณธรรม และแม้มีข้อยกเว้นก็ยิ่งไม่จำเป็น เพราะไม่ยิ่งไปกว่ากฎหมายของบ้านเมืองซึ่งบัญญัติในแบบยกเว้นอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่ถือปฏิบัติก็ต้องมีตามกระแสโลก มิใช่เฉพาะศีลเท่านั้น แม้หลักธรรมอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน มิใช่เฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน มีคนปฏิบัติบ้าง ไม่ปฏิบัติบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ จะหาว่ามีคนปฏิบัติได้น้อยแล้วเลิกเสียหาควรไม่ เหมือนอย่างการตั้งโรงเรียนชั้นสูงจนถึงมหาวิทยาลัย มีชั้นของการศึกษาตลอดถึงปริญญาต่างๆ จะหาว่ามีคนเข้าเรียนได้สำเร็จได้น้อยแล้วเลิกล้มเสียก็หาควรไม่เช่นเดียวกัน เพราะคนที่สามารถปฏิบัติสามารถเรียนสำเร็จได้มีอยู่ ถึงจะน้อยคนก็เป็นประโยชน์แก่หมู่ชนเป็นอันมาก เพราะโลกยังต้องการคนดี ต้องการคนฉลาดที่เรียกว่าคนชั้นมันสมอง อยู่ทุกเมื่อ

ส่วนที่มีบางคนกลัวว่า ถ้ารักษาศีลกันเสียหมดประเทศชาติจะไปไม่รอดนั้น ข้อนี้ไม่ต้องกลัว ควรจะกลัวว่าจะไปไม่รอดถ้าไม่รักษาศีลกันให้มากกว่านี้ คิดดูง่ายๆ ถ้าต่างทำร้ายชีวิตร่างกายกัน ต่างลักขโมยฉ้อโกงกันไปหมด เพียงเท่านี้ก็ไปไม่รอดแล้ว ถึงในหมู่โจรที่ไม่มีศีลแก่คนอื่น ก็ต้องมีศีลในพวกของตน ถ้าไม่มีศีลในพวกของตน คือฆ่ากันเอง คดโกงกันเอง ก็คุมกันอยู่ไม่ได้ เป็นโจรไปไม่รอดเหมือนกัน ฉะนั้น คนตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะอยู่ด้วยกันได้เป็นปกติสุข ก็เพราะมีศีลในกันและกัน เมื่ออยู่รวมกันเป็นบ้านเป็นเมืองก็เหมือนกัน ความเดือดร้อนไม่เป็นปกติสุขเกิดจากคนไม่มีศีลหรือคนทุศีล (ศีลทราม) ทั้งนั้น จึงต้องมีการปราบปรามป้องกันตามควรแก่เหตุ บ้านก็ต้องมีรั้วรอบขอบชิดและเครื่องป้องกันอื่นๆ เมืองก็มีตำรวจทหารเป็นต้น มีชาดกเป็นอันมากทางพระพุทธศาสนาเล่าถึงความฉลาดในการรักษาตนให้ปลอดภัย เช่นเล่าถึงวานรโพธิสัตว์ในชาดกหนึ่งว่า มีนางจระเข้ตัวหนึ่งแพ้ท้อง อยากจะกินเนื้อหัวใจของวานรตัวหนึ่งที่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำ จึงบอกแก่จระเข้ผู้สามี จระเข้นั้นจึงคิดอุบายเชื้อเชิญวานรให้ขึ้นหลังของตนเพื่อจะนำไปยังเกาะในระหว่างแม่น้ำ ให้บริโภคผลมะม่วงบนเกาะนั้น วานรเชื่อก็ขึ้นหลังจระเข้ ครั้นจระเข้ออกไปไกลตลิ่งแล้ว ก็เริ่มจมลง วานรถามว่าจมลงทำไม จระเข้ก็แจ้งว่าจะฆ่าวานรแหวะเนื้อหัวใจให้แก่ภริยาของตน วานรระงับความกลัวคิดอุบายช่วยตัวได้ทันที จึงถามว่า ท่านคิดว่าเนื้อหัวใจของเราอยู่ในทรวงอกหรือ เรากระโดดโลดเต้นอยู่เสมอ หัวใจเราต้องแตกเสียเป็นแน่ เราจึงต้องถอดเก็บไว้นอกตัว จระเข้ถามว่าเก็บไว้ที่ไหนเล่า วานรตอบว่าห้อยอยู่บนต้นมะเดื่อนั้นไม่เห็นหรือ จระเข้หน้าโง่มองขึ้นไปเห็นผลมะเดื่อ จึงเชื่อว่าเป็นหัวใจวานร จึงให้วานรสัญญาว่าจะปลิดหัวใจนั้นให้แล้วนำวานรไปส่งที่ฝั่งข้างโคนต้นมะเดื่อ วานรขึ้นฝั่งได้แล้วก็กระโดดขึ้นต้นมะเดื่อ ปลิดผลมะเดื่อโยนไปให้จระเข้ คนที่มีศีลและฉลาดดังเช่นวานรโพธิสัตว์ในชาดกนี้ไฉนจะไปไม่รอด เมื่อเป็นหัวหน้าหมู่ก็นำหมู่ให้ไปรอดได้ด้วย ส่วนคนไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายทั้งศีลของตน ทั้งศีลของผู้อื่น เพราะทำให้ผู้อื่นต้องลุกขึ้นป้องกันต่อสู้ เสียปกติภาพและปกติสุขไปด้วยกัน อย่างวานรต้องทำกลอุบายลวงจระเข้เพื่อป้องกันตนตามความจำเป็น

เรื่องตามความจำเป็นนี้ควรกล่าวย้ำอีกสักหน่อย ว่าตามความจำเป็นจริงๆ อย่าให้เป็นการตามใจ หรือตามความโลภ โกรธ หลงของตนในฐานเป็นฝ่ายก่อเหตุ เพราะที่มักจะอ้างว่าจำเป็นอย่างพร่ำเพรื่อนั้นเป็นการตามใจมากกว่า คนที่ประพฤติผิดศีลโดยมากมักประพฤติโดยไม่จำเป็น เช่นฆ่าสัตว์โดยไม่จำเป็น ลักทรัพย์โดยไม่จำเป็น เพราะไม่ทำก็ได้ ดังนี้เป็นการปล่อยตนไปตามใจที่ต่ำทรามนั้นเอง

พระพุทธเจ้าได้ประทานหลักธรรมสำหรับคุ้มครองใจมิให้ต่ำทรามดังกล่าว คือ หิริ ความละอายใจต่อความประพฤติชั่ว รังเกียจความชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความประพฤติชั่ว โดยปกติเราก็รังเกียจเกลียดกลัวคนชั่วอื่นๆ อยู่แล้ว เช่นรังเกียจเกลียดกลัวคนโหดร้ายและโจรเป็นต้น แต่มักลืมรังเกียจเกลียดกลัวตนเองที่จะเป็นคนชั่วอย่างนั้นบ้าง ฉะนั้น ก็ให้ย้อนมานึกถึงตนให้ดี จะมีหิริโอตตัปปะขึ้นไม่ยากนัก และธรรมคู่นี้แหละจักเป็นตำรวจประจำใจที่ดีนัก

อนึ่ง เมื่อพระให้ศีลแล้วก็บอกอานิสงส์คือ ผลที่ดีของศีลว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลนโภคสมฺปทา สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ แปลว่า ไปสู่สุคติ (การไปทางไปที่ดี) ด้วยศีล ความถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์มีด้วยศีล ถึงความดับทุกข์ด้วยศีล อานิสงส์ศีลนี้ คิดดูง่ายๆ ว่า ทุกๆ คนไปไหนๆ ไปโรงเรียน มาที่นี่ ไปบ้านเป็นต้นโดยสวัสดีเพราะไม่มีใครทำร้าย ทรัพย์สิ่งของจะเก็บไว้หรือจะนำไปไหนก็ปลอดภัยเพราะไม่มีใครลักขโมย อยู่เย็นเป็นสุขเพราะไม่มีใครทำร้ายลักขโมยเป็นต้น นี่แหละเป็นอานิสงส์ของศีลที่เห็นได้ง่ายๆ และทุกๆ คนต้องการศีล คนไม่มีศีลแก่คนอื่นเช่นทำร้ายเขาลักของเขา ก็ยังปรารถนาให้คนอื่นมีศีลแก่ตน คือ ปรารถนาไม่ให้ใครทำร้ายตนลักของของตน เป็นต้น

ส่วนข้อวิตกว่าถือศีลไม่ร่ำรวยนั้น ไม่ร่ำรวยในทางทุจริตจริง ถ้าคิดดูโดยรอบคอบ จักเห็นว่าศีลเป็นข้อเว้นจากการถือเอาในทางทุจริต จึงไม่ได้ในทางนั้นตรงตัวอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทำให้ใครต้องเสียต้องยากจนเพราะทุจริตของตน ทั้งส่วนตัวทั้งส่วนรวม และเมื่อตั้งใจประกอบอาชีพโดยชอบด้วยความไม่ประมาทก็จักตั้งตนได้โดยลำดับ อันโภคทรัพย์นั้นเกิดจากอาชีพในทางชอบของคน เช่นข้าวที่บริโภค ก็เกิดจากการกสิกรรมของชาวนาจึงมีข้าวให้บริโภคตลอดถึงให้ขโมย ถ้าไม่มีใครทำนามีแต่คอยจะขโมยข้าวเท่านั้นก็คงไม่มีข้าวจะขโมย ฉะนั้น ผู้ที่ถือเอาในทางทุจริต ถึงจะร่ำรวยขึ้น ก็เหมือนปลวกอ้วนเพราะกัดเสากัดฝาเรือน ปลวกกัดเรือนยิ่งมากยิ่งอ้วนเท่าไร เรือนก็ใกล้พังเข้าไปเท่านั้น จนอาจพังครืนลงไป ฉะนั้น โภคทรัพย์จะสมบูรณ์พูนเพิ่มก็เพราะพากันประกอบกระทำในทางที่ชอบสุจริต และไม่ทำตนเป็นปลวกอ้วนดังกล่าว

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแนะนำให้รักษาศีล แต่ไม่ทรงบังคับใคร เพราะเกี่ยวแก่จิตใจ เมื่อใครมีใจศรัทธาก็ต้องคิดเว้นให้เป็นวิรัติด้วยตนเอง จึงมีธรรมเนียมต้องขอศีลก่อน พระจึงให้ศีลแก่ผู้ขอ ตลอดถึงผู้ที่จะนับถือพระพุทธศาสนาก็ต้องแสดงประกาศตนเองตามจิตใจศรัทธาของตน นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงให้ปฏิบัติขัดขวางกับทางบ้านเมือง เช่น ผู้ที่มาบวชก็ต้องได้รับอนุญาตจากมารดาบิดา ถ้าเป็นข้าราชการก็ต้องได้รับอนุญาตให้ลาบวชได้ เพราะทุกๆ คนต่างต้องมีสังกัดอยู่กับบ้านบ้าง กับเมืองบ้าง แปลว่าคนหนึ่งๆ มีหน้าที่หลายอย่าง เมื่อรู้จักหน้าที่ของตนดีอยู่ และปฏิบัติให้เหมาะแก่หน้าที่ ก็จะรักษาไว้ได้ทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งศาสนา ทั้งตนเอง ทั้งผู้อื่น สามารถรักษาปกติภาพซึ่งเป็นศีลตามวัตถุประสงค์และรักษาปกติสุขซึ่งเป็นอานิสงส์ของศีลโดยสรุป และศีลนี้แหละเป็นมนุษยธรรม เพราะทำให้ผู้ที่มีศีลได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์โดยธรรม คิดดูว่าคนไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่รู้จักผิดชอบ ประพฤติตนต่ำทราม จะควรเรียกว่ามนุษย์ได้อย่างไร

การทำตนให้อยู่ในระเบียบอาจอึดอัดลำบากในขั้นแรก เมื่อทำจนเป็นปกติแล้วจักมีความสุข ทำตนให้อยู่ในศีลก็เหมือนกันอาจอึดอัดทีแรก เมื่อเป็นปกติแล้วจักมีสุข ความเป็นปกตินี้แหละเป็นตัวศีล ทำจนเป็นปกตินิสัยได้ก็ยิ่งดี เป็นศีลนิสัยไปทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้แผ่เมตตาความปรารถนาสุขให้กว้างออกไป คนมีใจเมตตาจักไม่อึดอัดเพราะศีลเลย เพราะใจย่อมวิรัติงดเว้นด้วยอำนาจเมตตาเป็นปกติภาพ เป็นปกติสุข

ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
เพราะฉะนั้น ควรทำศีลให้บริสุทธิ์แล


๑๖ มกราคม ๒๕๐๓

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 07 เมษายน 2553
Last Update : 24 พฤษภาคม 2553 10:50:01 น. 1 comments
Counter : 929 Pageviews.

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 7 เมษายน 2553 เวลา:10:21:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.