การเดินทางนอกจากจะทำให้จิตใจแกร่งขึ้นแล้ว...ยังช่วยบ่มเพาะความคิดให้เติบโตตามไปด้วย...
Group Blog
 
All Blogs
 

อินเดีย...เดินเดี่ยวสู่สิกขิม /ตอน 2. ออกเดินทาง


                     ออกเดินทาง
                        ...........


                 วันเดินทางกำหนดเวลาเครื่องบินออกเกือบเที่ยงคืน ฉันรีบเช็คตั๋วไปรอขึ้นเครื่องที่ห้องผู้โดยสารก่อนใครๆ แต่ไม่นานก็มีคนทยอยมาเรื่อยๆ เป็นชาวอินเดียเกือบทั้งนั้น มีฝรั่งนักท่องเที่ยวแบบแบคแพคเหมือนฉันประปราย เพิ่งรู้ว่าคนอินเดียมาเมืองไทยกันมากมายก็วันนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากันเป็นกลุ่มกลุ่มละสองสามคน ดูน่าจะเป็นทั้งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ ถึงเวลาขึ้นเครื่องฉันมองไม่เห็นผู้โดยสารคนไทยแม้แต่คนเดียว
                 จากที่นั่งตรงหน้าต่างบนเครื่องมองผ่านกระจกลงไป เห็นพนักงานกำลังลำเลียงกระเป๋าสัมภาระขึ้นท้องเครื่อง และแล้วฝนก็เริ่มโปรยปรายลงมาเป็นสายและหนักขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกังวลว่าจะมีเป้ฉันท้าทายสายฝนอยู่ในนั้นด้วยหรือเปล่าหนอ? เพราะพาหนะที่ใช้ขนกระเป๋าดูแล้วก็คือรถเล็กๆพ่วงท้ายด้วยกระบะสี่ล้อที่มีกระเป๋าสัมภาระทับถมกันสูงไม่มีหลังคาหรือแม้แต่พลาสติกคลุมป้องกันสายฝน
               เครื่องบินออกช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยจะด้วยเหตุฝนตกหนักหรืออะไรไม่อาจรู้ได้ หนุ่มแขกที่นั่งข้างดูแต่งตัวโทรมๆ ผมเผ้าเหมือนไม่ได้หวีมา หรือจะทรงสมัยใหม่ของวัยรุ่นยุคนี้ก็ไม่แน่ใจ แต่ก็ยังดีที่ไม่มีกลิ่นประจำชาติติดตัวมาด้วย

               เมื่อพูดถึงกลิ่นประจำชาติพลันให้นึกอยากรู้ว่ามีชาติใดบ้างอยู่รอบๆตัวฉัน เลยลองเอี้ยวตัวเพื่อหันไปมองด้านหลังโดยผ่านช่องเล็กๆระหว่างหน้าต่างเครื่องบินกับเก้าอี้ที่นั่งและแล้วก็ต้องสะดุดกึกกับกลิ่นที่กำลังนึกถึง ฉันรีบเอี้ยวตัวกลับมาโดยไม่กล้าหันกลับไปอีก เป็นที่แน่นอนว่าที่นั่งแวดล้อมฉันมีแต่แขกกับแขกเท่านั้น
                พูดถึงเรื่องกลิ่นประจำชาติ ทำให้ฉันนึกถึงครั้งแรกที่ไปอินเดียกับเพื่อนร่วมงาน พอลงจากเครื่องเข้าไปในสนามบินเพื่อนผู้ชะตาคงจะไม่ค่อยสมพงศ์กับเมืองแขกเท่าไหร่ก็รีบบ่นขึ้นมาทันทีว่า
                     “พอลงเหยียบแผ่นดินก็ได้กลิ่นแขกเลยนะเนี่ย”
                 ได้ฟังแบบนั้นฉันชักอยากจะรู้ว่ากลิ่นแขกเป็นอย่างไรเลยลองทำจมูกฟุตฟิดสูดอากาศรอบๆตัวดู แต่ก็ไม่เห็นมีกลิ่นอะไรก็เลยต้องลงความเห็นว่า คนเราถ้าไม่ชอบอะไรก็มักจะพาลไปได้เสมอแบบนี้แหละ เพื่อนฉันคนนี้เริ่มแรกพอรู้ว่าจะต้องไปเรื่องงานที่อินเดียก็ไม่ค่อยจะพึงใจเท่าไหร่ แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบทำให้เธอเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตรงข้ามกับฉันเนื้อเต้นเลยล่ะแต่ก็ต้องออมอาการไว้เพราะเกรงจะถูกหมั่นไส้เข้าให้
                  ถึงสนามบินโกลกาตาจอภาพบนเครื่องบอกเวลาเกือบตีสอง แต่นาฬิกาข้อมือฉันยังบอกเวลาเมืองไทยคือเกือบตีสี่ ที่นี่ช้ากว่าเมืองไทยประมาณ 2 ชั่วโมง ฉันปรับนาฬิกาให้ตรงกับที่นี่เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดในการเดินทางอันเนื่องจากเวลาในระยะต่อไป
                 หนุ่มน้อยมาดเซอร์ที่นั่งข้างๆใจดีช่วยยกเป้ใบเล็กและถุงนอนจากที่เก็บสัมภาระลงมาให้ เห็นมาดเฉยๆไม่ยิ้มแต่ก็ใจดีไม่เบา ฉันบอกขอบคุณพลันได้เห็นริมฝีปากบางๆแย้มรับ นับเป็นยิ้มแรกที่ได้เห็นบนแผ่นดินอินเดีย…อุ่นใจขึ้นเป็นกอง
                    ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองได้ไม่ยาก อินเดียนับเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องการรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศ จึงไม่เข้มงวดเรื่องคนเข้าเมืองเท่าไรนัก แต่การรอรับสัมภาระนี่สิต้องใช้เวลานานพอควรแต่ก็ไม่ได้ทำให้ฉันกังวลเพราะไม่ได้รีบร้อนที่จะออกไปจากสนามบิน เพิ่งจะเห็นว่าแขกแต่ละคนมีสัมภาระมากมายหลายชิ้นก็ตอนต่างออกมาลากข้าวของของตัวเองออกจากสายพานส่งกระเป๋านี่แหละไม่รู้ขนอะไรกันนักหนา ‘แล้วน้ำหนักไม่เกินหรือไงนะ?’ ยังเป็นคำถามในใจฉัน !
                  ดึกขนาดนี้กับสถานที่แปลกใหม่เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัย ฉันเตรียมใจไว้แล้วที่จะนั่งหรือนอนรอเวลาที่สนามบินจนกว่าจะสว่างแล้วค่อยใช้บริการแท็กซี่จ่ายเงินล่วงหน้า (prepaid taxi) จากสนามบินไปยังที่พัก
                  ก่อนการเดินทางฉันได้ศึกษาและอ่านข้อมูลท่องเที่ยวเกี่ยวกับอินเดียมามากพอควรจากหลายแหล่ง ทั้งจากนิตยสารท่องเที่ยว หนังสือเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวในอินเดีย รวมทั้งค้นหาจากอินเทอเน็ท หรือแม้แต่สอบถามโดยตรงกับคนที่เคยท่องอินเดียเป็นเวลาหลายเดือน ข้อมูลที่ได้นับเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการเตรียมตัวในการเดินทางครั้งนี้
                   และที่สำคัญคลังข้อมูลที่ต้องติดตัวตลอดเวลาระหว่างการเดินทางก็คือ เจ้าโลกเหงา (lonely planet) เล่มเขื่องที่ตัดทอนเอาส่วนที่ไม่อยู่ในแผนการเดินทางออกไปแล้วแต่ก็ยังดูเขื่องอยู่ดี มันอัดแน่นด้วยข้อมูลท่องเที่ยวทุกรูปแบบ แม้ราคาจะดูสุดแพงในความรู้สึกแต่ประโยชน์ที่จะได้นั้นบอกได้เลยว่าสุดคุ้มทีเดียว ฉันหาซื้อหนังสือเล่มนี้อย่างไม่ลังเล เพราะเคยได้บทเรียนมาแล้วจากการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศครั้งแรก ด้วยความที่อยากประหยัดเลยไม่ยอมซื้อหนังสือคู่มือการเดินทางเพราะรู้สึกว่าหาข้อมูลได้ในระดับหนึ่งน่าจะใช้ได้แล้ว แต่เมื่อไปจริงๆข้อมูลที่มีไม่สมบูรณ์พอ แค่วันแรกที่ไปถึงก็ถูกหลอกให้ควักเงินจ่ายมากกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะค่าแท็กซี่หรือค่าโรงแรมคิดแล้วเกินกว่าค่าหนังสือซะอีก
                    สนามบินโกลกาตาดูจากภายในไม่ได้ใหญ่โตอะไร น่าจะเล็กกว่าสนามบินดอนเมือง เข็นรถออกมาเจอเคาท์เตอร์แลกเงินเลยถือโอกาสเอาเงินดอลลาร์สหรัฐแลกเป็นเงินรูปีไว้ใช้จำนวนหนึ่งก่อน อัตราที่ได้ใกล้เคียงกับเงินบาทมากแต่ค่อนไปทางอ่อนค่ากว่าเงินบาทเล็กน้อย เวลาซื้อของคิดเป็นอัตราเดียวกันก็คงไม่ผิดไปมากนักแต่เท่าที่ทราบอัตราแลกเปลี่ยนในนี้ไม่ค่อยจะดีนักเมื่อเทียบกับตามสถานที่แลกเงินข้างนอก ไม่ไกลออกไปเป็นเคาท์เตอร์แท็กซี่จ่ายเงินล่วงหน้า หมายตาไว้ได้ใช้บริการแน่นอนเพราะน่าจะปลอดภัยกว่าเรียกแท็กซี่ทั่วไป ตอนนี้ต้องหาที่นั่งหรือนอนชนิดถาวรไปจนสว่างก่อน
                     นับว่าโชคดี ยังไม่ทันออกจากส่วนของผู้โดยสารขาเข้าก็เจอป้ายบอกส่วนของผู้โดยสารขาออกซึ่งอยู่ในโถงเดียวกันเพียงถูกกั้นด้วยที่กั้นโปร่งๆและมีเจ้าหน้าที่ยืนดูแลอยู่ตรงทางออกเท่านั้น เหมาะที่จะเอาเป็นที่พักชั่วคราวได้ดีทีเดียว

                ห้องโถงที่ดูไม่กว้างนักมีผู้โดยสารขาออกนั่งหรือนอนบนเก้าอี้อยู่ประปราย ฉันตรงไปยังห้องน้ำเป็นอันดับแรก จำต้องลากรถเข็นเข้าไปด้วยนี่คือความกังวลที่เกิดขึ้นแบบนึกไม่ถึงสำหรับการเดินทางคนเดียว แต่ก็ช่างโชคดีที่ห้องน้ำไม่กว้างและไม่มีใครอยู่ในนั้น เลยรีบเข้าไปทำธุระอย่างรวดเร็วโดยเสี่ยงทิ้งรถเข็นไว้หน้าห้อง
                    ออกมาเลือกที่นั่งให้ห่างจากผู้คนพอควรแต่ใกล้ร้านขายหนังสือและของที่ระลึก ในร้านโชว์หนังสือเกี่ยวกับประเทศอินเดียดูน่าสนใจหลายเล่ม ร้านรวงในนี้มีไม่กี่ร้านแต่ตอนนี้ปิดหมดแล้ว ฉันเอนตัวลงบนเก้าอี้ที่ว่างทั้งแถวเท้าข้างหนึ่งยื่นไปเกี่ยวบางส่วนของรถเข็ญสัมภาระไว้ ปิดเปลือกตาลงด้วยความรู้สึกเพลียมากกว่าที่จะง่วง แต่ยังไงก็ควรจะหลับเพื่อเอาแรงไว้วันพรุ่งนี้...นึกๆก็ขำอยู่ดีๆก็หาเรื่องมานอนทรมานสังขารอยู่โดดเดี่ยว...เดียวดายถึงที่นี่ !
                   หลับไปครู่ใหญ่ลืมตาขึ้นมาอีกทีเห็นฝรั่งนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่นั่งๆนอนๆกับพื้นอยู่ไม่ห่าง มองกวาดรอบๆห้องตอนนี้ผู้คนเริ่มมากขึ้นมีทั้งแขกและฝรั่งบางส่วนยืนเข้าคิวเป็นแถวยาวเพื่อรอเช็คตั๋วเที่ยวบินไปลอนดอน ห้องดูแคบลงถนัด
                   ก้มลงมองนาฬิกาที่ข้อมือปาเข้าตีสามครึ่งแล้ว พอเงยหน้าขึ้นก็เจอหนุ่มแขกผอมเกร็งมายืนอยู่ตรงหน้าพอดี เขาส่งคำถามเป็นภาษาอังกฤษว่า
                     “คุณมาจากกรุงเทพฯใช่ไหม?” 
                    “ใช่ ” ฉันตอบแบบงงๆ
                   เขายกแผ่นป้ายที่อยู่ในมือขึ้นเพื่อให้ฉันอ่านพร้อมกับถามต่อ
                     “ชื่อนี้หรือเปล่า”
                   ฉันอ่านป้ายชื่อหญิงไทยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วต้องส่ายหน้าและบอก
                    “โน...ไม่ใช่”
                    ดวงตาเขาส่อแววผิดหวังชัดเจนเขาบอกต่อว่าเขากำลังรอผู้หญิงที่ชื่อตามป้ายเธอมาจากกรุงเทพฯคนเดียว ได้จองที่พักไว้ที่วัดพุทธ(Buddhist Temple) และให้มารับที่สนามบิน พอได้ฟังเรื่องที่พักฉันก็หูผึ่งทันที รู้สึกดีใจหากได้ที่พักที่นี่ก็คงจะดี ปลอดภัย และนับเป็นโอกาสที่จะได้ติดตามไปพร้อมกับหนุ่มนี้และคนไทยด้วยกันเลย ฉันรีบถามดูว่ามีห้องว่างอีกหรือไม่ ปรากฏว่ายังมีห้องว่างราคาห้องละ 300 รูปี เขาบอกหากฉันพ่วงไปด้วยก็ไม่ต้องจ่ายค่ารถจากสนามบินไปยังที่พัก ฟังแล้วนับเป็นข้อเสนอที่ดีทีเดียวฉันรีบบอกเขาไปว่า
                  “ถ้าคุณเจอผู้หญิงคนนี้แล้วช่วยแวะมาหาฉันหน่อยจะขอไปพักด้วย” ซึ่งเขาก็ตอบรับ
                    เมื่อเขาไปแล้วฉันถึงนึกได้ว่าตั้งแต่ขึ้นเครื่องมาฉันยังไม่เจอผู้โดยสารคนไทยเลยแม้แต่คนเดียวไม่ว่าหญิงหรือชาย ก่อนหน้านั้นเขาคงจะรอและเดินหาเธอมานานพอสมควร เพราะเครื่องบินจากกรุงเทพฯสำหรับคืนนี้ก็มีเพียงเที่ยวเดียวที่ฉันมา พักใหญ่หนุ่มแขกคนเดิมก็กลับมา พร้อมกับบอกว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่มาแล้ว แต่ถ้าฉันจะไปกับเขาก็ต้องจ่ายค่ารถ 300 รูปี...
                      ‘ อ้าว...ไหงเป็นงั้นล่ะ?’ ฉันตั้งคำถามในใจด้วยความงง แต่เขามีสีหน้าปกติและไม่มีเหตุผลให้ ข้อเสนอใหม่นี่ไม่ค่อยจะไฉไลนัก...คำนวณแล้วต้องเพิ่มเงินอีกตั้ง 300 รูปี บวกกับค่าห้องพักอีก 300 รูปี สำหรับการนอนไม่เกิน3- 4 ชั่วโมง ! จะด้วยเหตุผลกลใดของแขกหนุ่มก็ตามฉันไม่จำเป็นต้องสนองหากไม่พึงพอใจ จึงรีบปฏิเสธไปด้วยสีหน้าปกติเช่นกัน......
                  นั่งหลับๆตื่นๆและมองดูผู้คนไปพลางๆต่อ แถวที่รอเช็คตั๋วยาวมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนบางส่วนกำลังล่ำลากัน สาวน้อยวัยเรียนคนหนึ่งใบหน้าหมองเศร้าโผเข้ากอดลาพ่อ แม่ และญาติพี่น้องที่มาส่ง เธอกรีดน้ำตาก่อนก้มลงลากกระเป๋าเดินทางออกจากเขตผู้โดยสารขาออกเพื่อไปเตรียมขึ้นเครื่อง...วินาทีนั้นฉันเข้าใจและซึ้งถึงความรู้สึกของเธอได้เป็นอย่างดี
                  ตอนนี้ไม่อยากหลับต่อแล้วมองดูนาฬิกาตีห้าเศษๆ ลองมองผ่านประตูทางเข้า-ออกไปข้างนอก ‘อ้าว....สว่างแล้วนี่!’ ข้างนอกฝนกำลังตกปรอยๆแต่ก็น่าจะสะดวกที่จะออกไปหาที่พักได้แล้ว

                        ..................
                                                         













 

Create Date : 29 มีนาคม 2555    
Last Update : 9 ตุลาคม 2555 11:47:06 น.
Counter : 787 Pageviews.  

อินเดีย...เดินเดี่ยวสู่สิกขิม/ตอน1. ฝันเป็นจริง

                                                         

 ฝันเป็นจริง

 ..........
             เมื่อพูดถึงอินเดียหรือแดนภาระตะฉันเชื่อว่ามีผู้คนไม่น้อยที่มีความใฝ่ฝันอยากจะไปเยือนอย่างน้อยก็สักครั้ง แต่ในขณะเดียวกันกับผู้คนอีกจำนวนหนึ่งอาจต้องร้องยี้ชนิดจ้างให้ไปก็คงปฏิเสธเป็นพัลวัน ทำไมภาพลักษณ์ของอินเดียในสายตาของผู้คนจึงมีความขัดแย้งกันได้สุดขั้วขนาดนั้น มันเป็นคำถามที่ฉันเคยสงสัย และสุดท้ายก็สรุปเอาเองว่านั่นคงเพราะทุกสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นอินเดียไม่ว่าจะมิติไหนก็มีความหลากหลายและสุดโต่งในตัวของมันเองได้อย่างน่าอัศจรรย์
               สำหรับฉันอยู่ในประเภทแรก อินเดียเป็นเหมือนตัวแทนของโลกในอดีตที่ยังมีชีวิตและจับต้องได้ มีเรื่องราวและความเป็นมามากมายหลายมิติที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะในมิติของสังคม การเมือง ศาสนา หรือวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงความเชื่อของผู้คน จนบัดนี้ก็ยังมีสิ่งแปลกๆ และเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นให้เป็นข่าวได้รับรู้อยู่เป็นระยะ อินเดียของฉันจึงเป็นเสมือนดินแดนลี้ลับ ชวนค้นหาและท้าทายยิ่งนัก
                      ลามะ หิมาลัย ไสบาบา คงคา ยะมุนา หรือแม้แต่ทัชมาฮาล จึงเป็นเสมือนลายแทงที่ชวนให้ฉันอยากตามไปค้นหาด้วยตัวเอง
                      หลังจากเก็บดองความใฝ่ฝันที่จะไปเยือนดินแดนแห่งนี้ไว้เป็นเวลายาวนาน เพราะจังหวะชีวิตไม่อำนวย แต่แล้วความฝันก็เกิดเป็นจริงขึ้นมาชนิดที่ตั้งตัวไม่ติด ฉันได้มีโอกาสไปเยือนอินเดียด้วยเรื่องของหน้าที่การงาน และก็โชคดีที่ได้ไปชมทัชมาฮาลสิ่งก่อสร้างที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งกษัตริย์ชาร์จะฮานได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานของพระนางมุมตัสมาฮาลผู้เป็นมเหสีอันเป็นที่รักยิ่งหลังจากที่ความตายได้พรากเธอให้จากเขาไปโดยไม่มีวันที่จะหวนกลับมามีความสุขร่วมกันได้อีก มันเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่และดูมหัศจรรย์ไม่ต่างจากเรื่องราวของความรักระหว่างเขาและเธอ ฉันก็ได้แต่อึ้งและทึ่งแกมเศร้ากับเรื่องราวของรักอมตะและที่มาของสิ่งมหัศจรรย์นี้
                  การได้ไปอินเดียครั้งนั้นจึงเสมือนการได้เปิดประตูมองไปสู่ทิศทางแห่งความฝันแต่กลับยังไม่ได้เดินตามรอยฝันนั้นอย่างจริงจัง หรืออาจเปรียบได้กับการได้มีโอกาสชิมอาหารจานเด็ดที่ชื่นชอบเมื่อยามหิวจัด แต่กลับไม่มีโอกาสได้กินอาหารจานนั้นให้อิ่มสมใจอยาก ฉันจึงได้แต่หมายมาดว่าจะต้องหาโอกาสไปกินอาหารจานนี้ให้ได้อีกอย่างน้อยสักครั้ง
                 บัดนี้ ฉันมีโอกาสที่จะได้เดินตามรอยฝันอย่างจริงๆจังๆแล้ว เพราะได้เกษียณการทำงานก่อนกำหนด โดยหวังจะใช้ชีวิตส่วนที่เหลือกับการเดินทางท่องเที่ยวไปในโลกกว้างตามที่เคยฝันไว้ ถึงวันนี้แม้วัยจะล่วงเข้าปลายคนแล้ว สังขารอาจไม่อำนวยให้สมบุกสมบันได้เต็มที่เหมือนช่วงวัยรุ่น แต่เชื่อว่าหัวใจยังสรวมวิญญาณวัยรุ่นอยู่เต็มร้อย จะทำยังไงได้ในเมื่อเราเกิดมาอยู่ในเมืองไทย ไม่อาจลาหยุดได้นานหลายเดือนเพื่อออกไปแบคแพคท่องโลกได้เหมือนชาวโลกตะวันตกหรืออเมริกา
                   นับเป็นครั้งแรกที่ต้องเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวและจะใช้เวลายาวนานมากถึงสองเดือนกับอีกยี่สิบสองวัน เพราะได้ออกตั๋วเครื่องบินไป-กลับไว้แล้ว ตั้งใจมั่นว่าจะดำรงตนเป็นนักเดินทางแบคแพคที่กินอยู่อย่างง่ายๆ เข้าไปสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่หรือท้องถิ่นที่ไปเยือนให้มากที่สุด จะเป็นฝ่ายเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของผู้คน ไม่ใช่ดึงผู้คนเข้ามาอยู่ในโลกของเราเอง หรือแค่เพียงมองผู้คนผ่านหน้าไปมาเฉกเช่นการนั่งดูหนังในโรง หรือไปเที่ยวกับทัวร์
                  นึกถึงการเดินทางคราใด ความรู้สึกตื่นเต้น ท้าทาย และวิตกกังวลก็เกิดขึ้นเกือบเท่าๆกัน แต่เมื่อความตั้งใจที่จะไปให้ถึงฝั่งฝันให้ได้มันถาโถมเข้ามาเต็มที่ก็ยากที่จะรั้งไว้ ได้แต่ปลอบและบอกกับตัวเองอย่างบ้าบิ่นว่า
                           “ลุยเดี่ยว ก็ลุย...(วะ)”
                 ด้วยเวลาของชีวิตลงตัวเอาช่วงปลายเดือนสิงหาคม จึงถือเป็นฤกษ์ดีของการเดินทาง หวั่นใจเล็กน้อยเมื่อรู้ว่าช่วงสิงหาคมของอินเดียเป็นช่วงปลายฝนเชื่อมต่อต้นหนาว โดยเฉพาะการท่องจากแถบเบงกอลตะวันตกขึ้นไปถึงสิกขิมอาจจะเจอฝนจนเที่ยวไม่สนุกและเมื่อขึ้นไปทางเหนือด้านตะวันออกแถวมะนาลีก็อาจจะเจอหนาวและหิมะตกจนไม่สามารถขึ้นไปถึงเลห์อดีตเมืองหลวงของกรุงลาดักห์ซึ่งเป็นสุดยอดของเป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ได้
                ฉันกางแผนที่อินเดียลงตรงหน้า บรรจงแต้มสีแดงเป็นจุดกลมๆด้วยปากกาลูกลื่นลงไปในพื้นที่เป้าหมาย มันกระจายไปทั่วดินแดนแถบเหนือทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอินเดีย และต่อเนื่องลงมาตอนกลางค่อนไปทางตะวันตก สีแดงนั่นหมายถึงจุดที่ฉันสัญญากับตัวเองว่าหากไม่เกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆจะต้องไปให้ถึง
                   ฉันเริ่มจากฝั่งตะวันออกเพราะใกล้เมืองไทย นั่นคือเมืองโกลกาตา(Kolkata)หรือกัลกัตตาตามที่เคยเรียกในสมัยเรียนหนังสือตอนเด็ก แต่มาวันนี้ชื่อดังกล่าวได้เพี้ยนไปแล้วตามสำเนียงของคนในพื้นที่ เมืองนี้ ถือเป็นเมืองหน้าด่านที่ฉันจะต้องไปลงเครื่องบินที่นั่นเพื่อนั่งรถไฟต่อไปยังเมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) และ สิกขิม(Sikkim) จากนั้น จะย้อนกลับลงมาแวะวาราณสี(Varanasi) หรือที่คนไทยเรียกกันว่าพาราณสี ผ่านนิวเดลี (New Delhi) ขึ้นไป ชิมลา(Shimla) มะนาลี(Manali) และขึ้นไปเมืองเลห์(Leh)เมืองในหุบเขาแห่งทะเลทรายซึ่งชายแดนติดกับทิเบตของจีน จากนั้นจะอ้อมไปแคชเมียร์(Kashmir) แล้วลงมาเมืองอัมริทสาร์(Amritsar) และต่อไปยังแค้วนราชสถาน(Rajasthan)
                
                  เรื่องการขอวีซ่า คำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้ว ยุคน้ำมันแพงแบบนี้ยกให้เป็นภาระของเอเย่นต์ทัวร์น่าจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ว่าแล้ว ก็เตรียมหลักฐานชนิดไม่ให้ขาดตกบกพร่อง พร้อมแนบโปรแกรมท่องเที่ยวคร่าวๆโดยระบุจุดหมายหลักๆลงไป ซึ่งขาดไม่ได้เด็ดขาดก็คือสิกขิม เนื่องจาก การเข้าสิกขิมจำเป็นต้องขออนุญาตจากรัฐบาลอินเดียเป็นการพิเศษ หากไม่ได้ขอไปจากเมืองไทยก็สามารถไปขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อินเดียได้ซึ่งจะมีอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ
                   โดยทั่วไปแล้ว การขอเข้าสิกขิมด้วยมักจะไม่มีปัญหา เพียงแต่ในใบขอวีซ่าจะต้องระบุว่าขอเข้าสิกขิมด้วย ซึ่งเมื่อสถานทูตอนุญาตแล้วในวีซ่าจะประทับตราระบุจำนวนวันที่ให้อยู่ในสิกขิมได้ว่าเป็นจำนวนกี่วัน ที่เห็นมาส่วนใหญ่จะให้ 15 วัน หากใครไปแล้วเกิดติดใจอยากอยู่ต่อก็สามารถยื่นเรื่องขออยู่ต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สิกขิมได้
                    จะด้วยความไม่มืออาชีพของเอเย่นต์ทัวร์หรือเป็นคราวโชคไม่ดีของฉันก็ว่าได้ วีซ่าที่ได้มากลับไม่มีประทับตราข้อความอนุญาตให้เข้าสิกขิม ฉันโวยวายกับเอเย่นต์ทัวร์อยู่สองสามตั้ง แต่ก็เสียเวลาเปล่าเพราะเอเย่นต์ทัวร์มือใหม่ไม่รู้แม้กระทั่งว่าการเข้าสิกขิมจะต้องมีการขออนุญาตเป็นการพิเศษ เขาเลยไม่ได้ระบุในใบขอวีซ่าว่าขอเข้าสิกขิมให้ฉันและยิ่งกว่านั้นยังไม่แนบโปรแกรมท่องเที่ยวที่ฉันให้ไว้ ไปกับใบขอวีซ่าด้วย
                    สุดท้ายฉันต้องเสียเวลาไปสถานทูตอินเดียด้วยตัวเองเพื่อขอเข้าสิกขิมด้วย ซึ่งก็ถือว่ากระบวนการไม่ยุ่งยากแต่เสียเวลาไปหนึ่งวัน สำหรับเอเย่นต์ทัวร์ยอมรับผิดโดยคืนเงินค่าบริการที่รับไปแล้วให้เศษหนึ่งส่วนสี่ของทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งเขาบอกง่ายๆว่าได้จ่ายให้เด็กที่รับจัดทำวีซ่าไปแล้ว อีกครึ่งหนึ่งขอแบ่งเป็นสองส่วน คืนให้ฉันส่วนหนึ่งอีกหนึ่งส่วนเขาขอเป็นค่าบริการที่ได้ทำให้ไปแล้ว ฉันเลยจำต้องยอมเพราะไม่อยากมากเรื่อง
                     ก่อนการเดินทางไม่กี่วันพี่น้องผองเพื่อนต่างก็บอกให้ทบทวน และคิดให้ดีๆอีกครั้งเผื่อจะเปลี่ยนใจ ดูทุกคนจะไม่เข้าข้างพาสปอร์ต วีซ่า และตั๋วเครื่องบินของฉันที่มันนอนรออยู่ในเป้ใบเล็กมาหลายวันแล้ว ก็มันพร้อมที่จะทะยานออกไปสู่โลกกว้างกับฉันได้ทุกเมื่อแล้วน่ะสิ 
                            “ มันอันตรายนะไปคนเดียว พี่ว่าชวนเพื่อนไปด้วยซักคนเถอะ อย่างน้อยมีปัญหาอะไรก็จะช่วยกันได้” พี่สาวที่ใกล้ชิดสะกิดให้เฉลียวใจไว้บ้างกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเดินทางตามประสาคนขี้กลัว
                ฉันได้แต่ตอบในใจว่า 'ไม่มีใครเขาไปได้นานๆชนิดหมดอายุวีซ่าแบบนี้หรอก' ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลหลักที่ฉันไม่ยอมเอ่ยปากชวนเพื่อนคนไหนอย่างจริงจังเพื่อร่วมทางไปด้วย
                ท้ายสุดความแน่วแน่และดึงดันของฉันก็ไม่มีใครต้านทานได้ วันสุดท้ายก่อนออกเดินทางยังไม่วายที่จะมีเสียงตามสายจากเพื่อนฝูงที่น่ารักส่งความห่วงใย และกำลังใจมาให้อย่างไม่ขาดสาย ตอนนี้ดูทุกคนจะตื่นเต้นมากกว่าฉันซะอีก
                          “เฮ้ย เจอปัญหาก็กลับเมืองไทยเลยนะ(เว้ย)” บ้างก็
                          “เอาเสื้อหนาวไปเยอะๆนะ ขึ้นไปทางเหนือของอินเดียถึงขั้นหิมะลงเลยนะ(เฟ้ย)” ไม่รู้เตือนด้วยความห่วงใยหรือคำขู่ แต่ก็ต้องขอบคุณที่เพื่อนยังนึกถึง
                       “เฮ้ย..อย่าลืมส่งอีเมล์ หรือโทรศัพท์รายงานเป็นระยะๆด้วยนะอยากรู้ว่าไปถึงไหนมั่ง... ยังมีชีวิตอยู่รึเปล่า ฮ่า...ฮ่า…” อันนี้เริ่มต้นเหมือนเป็นคำสั่งที่แอบมีเจือความห่วงใยเล็กน้อย แต่ตบท้ายนี่มันออกแนวทะแม่งสาปแช่งแกมเยาะเย้ยกันนี่(หว่า)...ไอ้เพื่อน!!
                                                                                ฯลฯ

                       ความห่วงใยจากคนรอบข้างทำให้ฉันต้องแอบปลอบและให้กำลังใจตัวเองอีกครั้ง
                       “ต้องไม่มีปัญหาอะไรสิ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นกับตัวเรา ยกเว้นเหตุสุดวิสัยขอยกให้แค่สิบเปอร์เซ็นต์.......ลุย ”
                    เป้ขนาดกลางที่ซุกอยู่มุมห้อง ถูกอัดด้วยเสื้อผ้ากันหนาวถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ เสื้อกันหนาวสามตัว ชนิดหนาวน้อย หนาวมากและหนาวปานกลาง ตัวสำหรับหนาวมากเป็นยี่ห้อดังแต่เลียนแบบของจริง อุตสาห์หอบมาจากเมืองจีนเมื่อสองปีก่อน เพราะเห็นว่ามันถูกดี ถึงตอนนี้ยังใหม่เอี่ยมเหมือนเดิมเพราะไม่มีโอกาสเอาไปใช้ที่ไหนชนิดที่หนาวมากๆสักที คราวนี้จะได้ใช้สมใจอยากล่ะ หมวก ผ้าพันคอ ถุงมือ ถุงเท้าและที่เขาเรียกว่าลองจอน ครบครัน
                     อีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เป็นของกินซะสิบเปอร์เซ็นต์ เช่น ปลาสลิด (แทนหมูหยองและหมูแผ่นที่กะว่าจะเอาไปแต่มีคนเตือนว่าไม่ควรเอาผลิตภัณฑ์หมูเข้าอินเดียเพราะที่นั่นอิสลามิกชนมีกระจายอยู่ทั่วไป) และขนมขบเคี้ยวที่ชอบ มีไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด หากช่วงแรกๆหาอะไรกินไม่ได้ ปกติฉันเป็นคนกินง่ายจึงไม่ค่อยกังวลกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ที่เหลืออีกสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ เป็นเสื้อผ้าที่ใส่สบายๆท้าทายอากาศร้อน รวมทั้ง สมุดบันทึก ปากกาลูกลื่น(ของแจกคนอินเดีย โดยเฉพาะตามชนบททราบว่าเด็กๆชอบมาก) และของจิปาถะ....ที่งอกออกมาโดยสามารถรัดติดไว้กับเป้ได้ก็คือถุงนอน นอกจากจะเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายแล้วยังอุ่นใจเผื่อใช้ปกป้องเนื้อตัวจากที่หลับที่นอนที่วันไหนรู้สึกว่าไม่อยากเกลือกกลั้วบนที่นอนโดยตรง (ผู้มีประสบการณ์แนะนำไว้)
                    ส่วนเอกสารสำคัญและกล้อง แยกไว้ในเป้เล็กที่จะติดตัวตลอดเวลา ที่สำคัญยิ่งกว่าที่กล่าวมาแล้วก็คือเงินและพาสปอร์ต เพื่อความปลอดภัยขอเลียนแบบพวกแบคแพคมืออาชีพทั้งหลายซึ่งนิยมใช้กระเป๋าคาดเอวโดยซุกไว้ใต้เสื้อตัวนอกไม่มีใครมองเห็นและมันก็ปลอดภัยหายห่วงตลอดรอดฝั่งกลับมาถึงเมืองไทยได้โดยสวัสดิภาพจริงๆ
                   ฉันใช้เวลาเตรียมการกับสัมภาระและสิ่งของเครื่องใช้อยู่สองอาทิตย์ ทุกชิ้นที่เอาไปต้องจำเป็นจริงๆเพราะมันคือภาระที่เราต้องแบกรับคนเดียว ฉันหยิบของเข้า-ออก และยกเป้ขึ้น-ลงบนตาชั่งอยู่หลายรอบกว่าจะลงตัวด้วยน้ำหนักเก้ากิโลกรัม…...
                            “ ต้องไหวสิน่ะ” บอกตัวเองก่อนวางเป้ลงเป็นครั้งสุดท้าย
       ตั๋วเครื่องบิน เอกสารการเดินทาง สัมภาระและฤกษ์สะดวก.... บวกหัวใจเต็มร้อยพร้อม...ลุย!!



      -------------





 

Create Date : 29 มีนาคม 2555    
Last Update : 4 มีนาคม 2556 16:29:04 น.
Counter : 1831 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

SmileIce
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




"คนฉลาดที่อยู่แต่ที่เก่า...ไม่เท่าคนโง่ที่เดินทาง.."
จากหลวงปู่หล้าตาทิพย์ วัดป่าตึง


"การเปลี่ยนแปลง...ต้องนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า..."

New Comments
Friends' blogs
[Add SmileIce's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.