อินเดีย...เดินเดี่ยวสู่สิกขิม /กาลิมปง ตอน 26.กลับกลายเป็นคุ้นเคย
กลับกลายเป็นคุ้นเคย ............. วันนี้น่าจะยังมีเวลาพอที่จะออกไปเตร็ดเตร่ที่ใกล้ๆได้บ้าง สอบถามเด็กหนุ่มคนดูแลเกสต์เฮ้าส์เขาถามฉันว่าจะอยู่กี่วันฉันตอบไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าจะมีที่ให้เที่ยวได้แค่ไหน แผนที่คร่าวๆที่เขาให้มาดูสถานที่เที่ยวที่น่าสนใจก็จะเป็นพวกวัดมีอยู่สองสามแห่งที่อยู่ย่านเดียวกันและเดินจากที่พักไปถึง ไกลไปอีกในทิศทางเดียวกันเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงดอกไม้ (flowers nursery)และมีจุดชมวิวบนเขาสูงอยู่สองสามแห่งแต่ไม่ยักมีเดโล (Deolo) สำหรับบ่ายนี้กะว่าจะไปวัดที่อยู่ใกล้ๆสักสองแห่งและย้อนกลับมาเดินตลาดท้องถิ่นที่อยู่อีกด้านไม่ไกลจากที่พักชนิดเดินถึง บนถนนที่ผ่านหน้าเกสต์เฮ้าส์มองไปรอบๆสังเกตได้ว่าเมืองนี้เป็นเมืองภูเขาที่มีลักษณะผังเมืองที่ดีพอสมควรตึกรามบ้านช่องแม้จะตั้งอยู่บนไหล่เขาแต่ก็ดูเป็นระเบียบมองดูเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีถนนลาดยางเก่าๆผ่านหน้าตึกหรืออาคาร เขาลูกนี้มีถึงสามชั้น ฉันเดินอยู่บนถนนชั้นกลาง บางช่วงสามารถมองเห็นถนนได้ทั้งชั้นล่างและชั้นบน ระหว่างเดินบนถนนบางช่วงรู้สึกเหมือนเดินอยู่บนหลังคาตึกหรือบ้านคนที่ตั้งอยู่ชั้นล่างลงไป ได้อารมณ์ไปอีกแบบ เดินไปเจอแขกกำลังคั่วถั่วลิสงขายมีเด็กๆรุมล้อมเลยเข้าไปอุดหนุน เขาม้วนกระดาษสีน้ำตาลเป็นรูปกรวยหยิบถั่วลิสงใส่ลงไปก่อนพับปากกรวยส่งให้ แว่บหนึ่งรู้สึกเหมือนได้กลายเป็นเด็กอีกครั้งด้วยวิธีการขายและบรรยากาศแบบเก่าๆที่คุ้นเคยเมื่อยามเด็กตามมาอยู่ที่นี่เอง มันช่างมหัศจรรย์จริงๆ... นี่แหละอินเดีย..ชีวิตที่ย้อนกลับสู่อดีตได้ ผ่านบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวก่อด้วยหินทั้งหลังตั้งอยู่บนไหล่เขาสูงขึ้นไปจากขอบถนน กุหลาบสีแดงและชมพูริมรั้วกำลังบานแข่งกันเต็มต้นโน้มลงมายิ้มรับผู้คนที่ผ่านไปมาช่างดูคลาสสิกซะจริงๆ เดินต่อไปถนนเริ่มลาดลงจากไหล่เขาแล้วไปบรรจบกับถนนชั้นล่าง บรรยากาศเริ่มมืดครึ้มเหมือนฝนกำลังจะตกเมฆดำเคลื่อนตัวมาให้เห็นอย่างรวดเร็ว จะถอยหลังหรือเดินหน้าดูจากระยะทางคงไม่ต่างกันฉันเลือกเสี่ยงเดินหน้าเพราะน่าจะมีอะไรใส่เติมให้กับชีวิตได้มากกว่า ก้าวยาวๆไปตามแผนที่ผ่านบ้านชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามตึกเก่าๆสภาพทรุดโทรมตึกเหล่านี้ส่วนมากจะมีรูปทรงหรือสไตล์แบบยุโรปสะท้อนความเป็นจริงที่ว่าเมืองนี้ในอดีตเคยถูกครอบครองโดยอังกฤษมาช่วงหนึ่งเช่นเดียวกับดาร์จีลิ่ง สภาพบ้านเมืองทั่วไปที่เห็นไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างหรือผู้คนส่วนใหญ่ บอกเล่าให้รับรู้ได้ถึงร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองที่เคยมีมาก่อน หากมีใครสักคนบอกว่านี่คือผลพวงของการเป็นประเทศอาณานิคมมาก่อน ถ้าฟังเผินๆก็ชวนสงสัยว่าถ้าการเคยเป็นประเทศอาณานิคมหมายถึงการเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนก็อยากจะถามกลับไปอีกว่า แล้วการรักษาความเจริญรุ่งเรืองที่เคยมีให้คงไว้มันน่าจะง่าย กว่าการที่จะต้องสร้างความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่เองมิใช่หรือ? แต่ความจริงมันคงมิได้เป็นเช่นนั้นหรอกมันมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าที่เห็นเป็นแน่ เดินไปอีกไม่ไกลก็เจอวัดแรกคือวัดทองสา(Thongsa Gompa) เป็นวัดขนาดเล็กแต่เก่าแก่ที่สุดในกาลิมปง วัดในแถบนี้ของอินเดียส่วนใหญ่เป็นวัดพุทธสายทิเบต จากรูปลักษณ์ภายนอกไม่ว่าจะรูปทรงหรือลวดลายสีสันของตัวโบสถ์ หรือแม้แต่กงล้ออธิษฐาน(wheel prayer)รอบโบสถ์ที่มีสีสันสดใสก็ไม่ต่างจากวัดทิเบตที่ดาร์จีลิ่ง แต่จากประวัติความเป็นมาของวัดนั้นแปลกออกไปตรงที่ว่าวัดนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยชาวภูฏานมีอายุมานานไม่ต่ำกว่าสามร้อยปีแล้ว แต่กงล้ออธิษฐานมาสร้างใหม่ภายหลังอายุประมาณร้อยกว่าปีได้ หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าที่นี่มีชาวภูฏานมาปักหลักอาศัยอยู่เป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว ชวนให้รู้สึกว่าชาวทิเบตและชาวภูฏานจะต้องมีความใกล้ชิดสนิทกันมากมาตั้งแต่อดีตอันยาวไกลโดยดินแดนของอินเดียแถบนี้ก็คงเคยเป็นที่พำนักของชนสองชาติมาแล้วเช่นกัน ด้วยกลัวฝนมาเลยไม่ได้เข้าไปในโบสถ์แค่เดินชมภายนอก ลักษณะภายนอกโดยรวมก็เหมือนวัดทิเบตที่เห็นผ่านๆมาภายในบริเวณวัดนอกจากจะมีโบสถ์ก็มีเจดีย์หรือสถูป (stupa) ขาวแบบทิเบต และอาคารที่พักของพระสงฆ์อยู่ข้างโบสถ์ช่วงนี้วัดดูเงียบๆที่เห็นมีเพียงเณรหนึ่งรูปและหญิงแก่หนึ่งคนกำลังเดินหมุนกงล้ออธิษฐานด้วยแรงศรัทธาในอาการสำรวม ฉันตัดสินใจไม่ไปต่ออีกหนึ่งวัดซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณห้าร้อยเมตร แต่ระหว่างเดินกลับอากาศที่มืดครึ้มกลับเริ่มแจ่มแจ้งขึ้นเพราะเมฆฝนได้ถูกลมบนหอบพาไปที่อื่นเกือบหมดแล้ว พอดีข้างทางที่ผ่านมีวัดทิเบตเล็กๆเห็นได้ชัดเจนเลยแวะเข้าไปชมแต่ลักษณะและบรรยากาศทั่วๆไปดูแล้วก็เหมือนจะจำลองกันละกันมาเกือบทั้งหมดเลยแอบถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกแล้วก็กลับ มาถึงหน้าที่พักเดินเลยลงจากเนินเขาไปไม่ถึงสองร้อยเมตรก็เจอตลาดท้องถิ่นที่กำลังจะวาย มีของวางขายในบรรยากาศที่คล้ายๆตลาดต่างจังหวัดของไทย เลยได้อุดหนุนกล้วยชาวบ้านกลับมาทาน 4-5 ลูก มื้อเย็นวันนี้ฝากท้องที่เกสต์เฮ้าส์ระเห็จขึ้นไปกินบนดาดฟ้าเคล้ากับวิวเมฆหมอกที่ครึ้มเกลื่อนเต็มนภาอีกครั้ง หากหวังจะชมกังเชนจุงกาที่นี่ก็ต้องบอกว่าลืมไปได้เลย...... ตอนนี้ทำใจได้แล้ว ก็อยากมาหน้าฝนมันก็ต้องเจอแบบนี้แหละ แต่ยังไงวันนี้ก็นับเป็นวันที่ปลอดโปร่งจากผู้คนมากที่สุดเหมือนเป็นเจ้าของเกสต์เฮ้าส์ซะเองยังไงยังงั้นมีอะไรก็เรียกเด็กคนงานซึ่งได้รับการบริการที่ดีเยี่ยม หลังมื้อเย็นเลยได้โอกาสอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองกาลิมปงซึ่งทำให้ได้รู้ว่าเมืองนี้ในอดีตเคยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศสิกขิมมาก่อน จากนั้นจึงตกเป็นของประเทศภูฏานในช่วงศตวรรษที่สิบแปด แต่ต่อมาอังกฤษได้เข้ามาครอบครองอยู่ช่วงหนึ่งสุดท้ายเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ กาลิมปงก็ตกเป็นของอินเดียโดยปริยาย และกาลิมปงก็กลายเป็นเมืองชายแดนของอินเดียที่ติดกับประเทศภูฎานและสิกขิมโดยอัตโนมัติ(ปัจจุบันสิกขิมกลายเป็นรัฐที่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย) อย่างนึกไม่ถึงมันได้รื้อฟื้นความจำของฉันให้ระลึกได้ว่าเมืองกาลิมปงนี่เองที่ฉันเคยรู้จักโดยผ่านหนังสือสองสามเล่มที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทิเบตและการอพยพของชนชาวทิเบตที่หนีการรุกรานของจีนลงมายังดินแดนทางใต้ของประเทศทิเบตซึ่งติดกับประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน และสิกขิม และเมืองหนึ่งที่ชาวทิเบตชอบผ่านชายแดนเข้ามาก็คือเมืองกาลิมปงนี่เอง..ฉันเริ่มคุ้นกับชื่อนี้แล้ว
ไม่น่าเชื่อว่าฉันจะได้มาเยือนดินแดนที่เคยรู้จักแห่งนี้โดยไม่ได้ตั้งใจมาก่อน...อัศจรรย์อีกแล้ว.... การที่จีนได้เข้าไปครอบครองทิเบตเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ชาวทิเบตที่ถูกรุกรานส่วนหนึ่งไม่พอใจที่จะอยู่ภายไต้การปกครองของจีนจึงได้ตัดสินใจเดินเท้ารอนแรมบุกหิมะและฝ่าลมหนาวระหกระเหินลงมายังดินแดนซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศ ที่เลวร้ายและแสนเศร้าสำหรับฉันก็คือเมื่อฉันได้ดูหนังสารคดีเกี่ยวกับการอพยพของชาวทิเบต ซึ่งไกด์นักปีนเขาชาวยุโรปบังเอิญถ่ายไว้ได้มันเป็นภาพการเดินเท้าของกลุ่มชาวทิเบตที่พยายามจะหลบหนีออกจากทิเบต ระหว่างการเดินทางย่ำเท้าไปบนหิมะหญิงสาวคนหนึ่งต้องล้มลงแดดิ้นด้วยลูกกระสุนปืนของทหารจีนที่แอบไล่ล่ามาโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว กลุ่มคนแตกกระเจิงหนีเอาตัวรอดเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก เมื่อภาพนี้ออกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลกรัฐบาลจีนก็พยายามออกมาปฏิเสธด้วยเหตุผลต่างๆนาๆแต่ยังไงชาวโลกก็พิจารณาได้ ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่รับผู้อพยพชาวทิเบตไว้มากที่สุด ส่วนใหญ่ชาวทิเบตจะอาศัยอยู่ในเมืองทางแถบเหนือของประเทศอินเดีย เช่นที่ธรรมศาลา เลห์ และเมืองในแถบเบงกอลตะวันตก ท่านดาไลลามะองค์ปัจจุบัน(องค์ที่ 14) ถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตซึ่งพวกเขาให้ความเคารพรักและบูชายิ่ง ก็ได้หนีเข้ามาตั้งหลักอยู่ในอินเดียเช่นกัน โดยรัฐบาลอินเดียได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี และนี่นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนและอินเดียต้องหมางเมินกันด้วยจีนกล่าวหาว่าอินเดียแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนโดยการให้ที่พักพิงแก่ท่านดาไลลามะ ปัจจุบันท่านดาไลลามะพำนักอยู่ที่เมืองธรรมศาลา ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อเชื่อมโยงกันทำให้ชาวอินเดีย ทิเบต เนปาล ภูฏานและสิกขิมไปมาหาสู่ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและยาวนานมาตั้งแต่อดีต จึงไม่แปลกที่ชนทั้งห้าชาติจะมีความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันมาก ดังนั้น กาลิมปงจึงเป็นเมืองชายแดนของอินเดียเมืองหนึ่งที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และด้วยเคยอยู่ภายใต้การปกครองของภูฏานมาก่อนจึงทำให้ยังคงมีชาวภูฏานอาศัยอยู่ในเมืองนี้อีกไม่น้อยเช่นกัน ฉันเองรู้สึกปลาบปลื้มแกมแปลกใจไม่หายเพราะคาดไม่ถึงว่าจะมีโอกาสได้มาสัมผัสกับดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัยอันห่างไกลซึ่งเคยรู้จักจากตัวหนังสือด้วยความสนุกสนานและชื่นชอบไม่เพียงแต่จากเรื่องราวของความลี้ลับแห่งดินแดนแถบนี้แต่รวมถึงอดีตที่น่าตื่นเต้นและซับซ้อนของผู้คนที่เกี่ยวข้องด้วย.....มันเป็นการได้ก้าวไปสู่ความเป็นจริงในโลกที่ก่อนนั้นฉันเคยสัมผัสได้เพียงจินตนาการ (แม้ความเป็นจริงในปัจจุบันกับจินตนาการที่เคยมีจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ตาม) .......................
Create Date : 25 พฤษภาคม 2555 |
Last Update : 31 ตุลาคม 2560 14:52:04 น. |
|
0 comments
|
Counter : 864 Pageviews. |
|
|