อินเดีย...เดินเดี่ยวสู่สิกขิม/โกลกาตา ตอน 6. บรรลุสัญญาใจ
บรรลุสัญญาใจ ...................... ออกจากมัสยิดจุดต่อไปคือบ้านเกิดท่านรพินทรนาถ ฐากูร บุคคลท่านนี้เป็นทั้งกวี นักคิด นักเขียน นักปราชญ์ หรือแม้แต่จิตรกรท่านก็เป็นได้ดี โดยเฉพาะการเป็นนักการทูต ท่านเป็นได้อย่างเฉียบขาด การไปบ้านเกิดท่านครั้งนี้จึงนับเป็นความตั้งใจและใฝ่ฝันของฉันมาตั้งแต่ยังวัยเยาว์ด้วยประทับใจในงานเขียนของท่าน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันใฝ่ฝันและอยากมาทำความรู้จักอินเดียด้วยตัวเอง การมาครั้งนี้จึงเสมือนการมาตามสัญญาใจที่ให้ไว้กับตัวเองที่ว่าในชีวิตนี้จะต้องบุกบั่นมาอินเดียให้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง คราวนี้เขาพาฉันผ่านซอกเล็กซอยน้อยและเลียบทางรถไฟไปเป็นระยะทางไกลพอควรสอบถามผู้คนบ้างแต่ก็ไม่เป็นไรอภัยกันได้ ถึงทางแยกแกเลี้ยวเข้าไปในซอยแต่ไม่ลึกมาก แล้วก็เจอประตูบานใหญ่ สีน้ำตาลค่อนไปทางแดง...ที่นี่น่ะหรือ? แค่เห็นประตูทางเข้าฉันก็ขนลุกซู่แล้ว เป็นความรู้สึกที่ไม่อยากจะเชื่อว่าความฝันของเด็กตัวน้อยๆที่ไม่เคยแพร่งพรายให้ใครได้รับรู้ เพราะมันเป็นฝันที่เจ้าตัวเองก็มองไม่เห็นช่องทางที่จะเป็นจริงไปได้ รู้อย่างเดียวว่ามันซุกซ่อนอย่างมีพลังอยู่ในใจมาตลอด บัดนี้ มันเป็นจริงแล้วแม้จะเป็นจริงได้เมื่อย่างเข้าวัยเกือบปลายคนก็ตาม มันคือความสำเร็จและภาคภูมิใจที่หาใครมาร่วมรับรู้ในขณะนี้ไม่ได้เลยจริงๆ !! ฉันเดินผ่านประตูบานใหญ่เข้าไป ขวามือเป็นสนามหญ้าขนาดหนึ่งในสามของสนามฟุตบอล ขนาบด้วยตัวอาคารทั้งสามด้าน สนามหญ้าตกแต่งด้วยไม้ดอก และไม้ใบ ดูสดชื่นสวยงามได้อย่างลงตัว ด้านหน้าของอาคารขวาง มีรูปปั้นท่านรพินทรนาถ ฐากูร ขนาดใหญ่สีขาวดูโดดเด่น บรรยากาศโดยรอบเงียบเชียบไม่เห็นผู้คน ฉันยืนรีรออยู่หน้าอาคารชั่วครู่ จึงหันไปมองรูปปั้นสง่างามนั้นพร้อมยกกล้องขึ้นหวังจะเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก แต่พลันก็ได้ยินเสียงปรามมาจากด้านหลังว่า ที่นี่ห้ามถ่ายรูป..... สุดเสียดายแต่ก็ต้องเคารพกติกาของสถานที่ เป็นที่รู้กันว่าท่านรพินทรนาถ ฐากูร เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวอินเดียทั้งประเทศ จึงไม่แปลกที่ฉันจะแอบปลื้มท่านอยู่เงียบๆคนเดียวบ้างตามประสาเด็กที่ชื่นชอบเรื่องราวที่ได้อ่านจากงานเขียนของท่าน หนังสือของท่านหลายเล่มสะท้อนชีวิตและสังคมของคนอินเดียในยุคเก่า ซึ่งทำให้เด็กที่เพิ่งริอ่านหนังสือนิยายและเรื่องสั้นอย่างฉันได้รับรู้และงุนงงกับสังคมที่แปลกออกไปอย่างมากจากสังคมไทยและโลกส่วนตัวของตัวเอง ฉันหลงใหลและประทับใจกับสิ่งแปลกใหม่ในเรื่องสั้นหลายๆเรื่องของท่าน จำได้ว่าเรื่องหนึ่งได้เรียกน้ำตาในวัยเยาว์ของฉันให้ร่วงไหลพรูลงได้อย่างไม่ขาดสายทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาอ่านและก็คลอเบ้าได้ทุกครั้งที่นึกถึง มันเป็นเช่นนี้ไปหลายปีด้วยเพราะความสงสารเพื่อนในวัยเดียวกันซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง เขาเกิดมาในครอบครัวยากจนและอยู่ในวรรณะจัณฑาล อันเป็นผลให้ชีวิตทั้งชีวิตของเขาต้องอยู่ในฐานะเสียเปรียบสังคมในทุกๆด้านด้วยเหตุผลเพียงมีชาติกำเนิดที่ต่ำต้อยนั่นเอง !! ฉันเป็นคนแรกของผู้เข้าชมและมาก่อนเวลาเปิด เลยต้องนั่งรอพักใหญ่จึงได้เวลาซื้อบัตรเข้าชมน่าเสียดายที่หลายจุดกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงและซ่อมแซมจึงไม่อนุญาตให้เข้าชม จากหลักฐานที่นำมาแสดงและเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับท่านรพินทรนาถ ฐากูร กล่าวได้ว่า ท่าน เป็นบุคคลที่มีทั้งชาติกำเนิดและฐานะที่ดีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้เวลาหลายช่วงของชีวิต ท่านจะเคยไปพำนักในต่างประเทศหรือเดินทางไปเกือบทั่วโลก แต่อาคารขวางรูปทรงเก่าแก่อย่างมีสไตล์หลังนี้ก็ยังถือได้ว่าเป็นบ้านที่ท่านได้พำนักและใช้ชีวิตอยู่ยาวนานกว่าทุกๆแห่งที่เคยไปมา บ้านหลังนี้ได้รับการดูแลรักษาให้คงอยู่ในสภาพเดิมๆมากที่สุด ไม่ว่าจะห้องนอน ห้องรับแขก ห้องทำงาน หรือแม้แต่ห้องครัวซึ่งภรรยาท่านเคยใช้เป็นที่ปรุงอาหาร รวมทั้งห้องน้ำที่รูปแบบของเครื่องสุขภัณฑ์เป็นตัวบ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงกาลเวลาว่าได้ทอดยาวมาเนิ่นนานเพียงใด หลักฐานที่แสดงในห้องต่างๆทำให้ทราบถึง ประวัติชีวิตความเป็นมาของท่านรพินทรนาถ ฐากูร รวมถึง ความมั่งคั่งของตระกูลฐากูรได้ชัดเจน และเมื่อกอปรกับสิ่งดีๆที่ท่านได้ทำไว้ให้กับคนอินเดียไม่ว่าจะเพื่ออิสรภาพหรือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้ง การปลูกฝังจิตวิญญาณที่ดีให้กับเพื่อนมนุษย์บนโลกใบนี้ด้วยแล้ว นับเป็นการตอกย้ำอีกครั้งให้ฉันรู้สึกทึ่งกับความเป็นอัจฉริยะบุคคลในทุกๆด้านของท่าน รักในความเป็นผู้ที่มีจิตใจอันสูงส่ง แม้ท่านจะเกิดในตระกูลที่ดีมีฐานะร่ำรวยแต่ท่านไม่เคยลืมบุคคลที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือมีชาติตระกูลที่ต่ำต้อยด้อยกว่า ฉันลาจากบ้านที่เคยเฝ้าฝันถึงมาเนิ่นนานนั้น ด้วยความรู้สึกเต็มตื้นและอิ่มเอมกับสิ่งที่รอคอยมานาน เวลาที่เหลือของวันนี้ดูเหมือนจะเป็นกำไรที่ไม่มีต้นทุนที่ต้องคิดแล้ว!! ......................................
Create Date : 30 มีนาคม 2555 |
Last Update : 9 มิถุนายน 2555 22:02:00 น. |
|
2 comments
|
Counter : 800 Pageviews. |
|
|
ยินดีมากครับที่ได้เข้ามาอ่าน