อินเดีย...เดินเดี่ยวสู่สิกขิม/ตอน1. ฝันเป็นจริง
ฝันเป็นจริง .......... เมื่อพูดถึงอินเดียหรือแดนภาระตะฉันเชื่อว่ามีผู้คนไม่น้อยที่มีความใฝ่ฝันอยากจะไปเยือนอย่างน้อยก็สักครั้ง แต่ในขณะเดียวกันกับผู้คนอีกจำนวนหนึ่งอาจต้องร้องยี้ชนิดจ้างให้ไปก็คงปฏิเสธเป็นพัลวัน ทำไมภาพลักษณ์ของอินเดียในสายตาของผู้คนจึงมีความขัดแย้งกันได้สุดขั้วขนาดนั้น มันเป็นคำถามที่ฉันเคยสงสัย และสุดท้ายก็สรุปเอาเองว่านั่นคงเพราะทุกสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นอินเดียไม่ว่าจะมิติไหนก็มีความหลากหลายและสุดโต่งในตัวของมันเองได้อย่างน่าอัศจรรย์ สำหรับฉันอยู่ในประเภทแรก อินเดียเป็นเหมือนตัวแทนของโลกในอดีตที่ยังมีชีวิตและจับต้องได้ มีเรื่องราวและความเป็นมามากมายหลายมิติที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะในมิติของสังคม การเมือง ศาสนา หรือวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงความเชื่อของผู้คน จนบัดนี้ก็ยังมีสิ่งแปลกๆ และเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นให้เป็นข่าวได้รับรู้อยู่เป็นระยะ อินเดียของฉันจึงเป็นเสมือนดินแดนลี้ลับ ชวนค้นหาและท้าทายยิ่งนัก ลามะ หิมาลัย ไสบาบา คงคา ยะมุนา หรือแม้แต่ทัชมาฮาล จึงเป็นเสมือนลายแทงที่ชวนให้ฉันอยากตามไปค้นหาด้วยตัวเอง หลังจากเก็บดองความใฝ่ฝันที่จะไปเยือนดินแดนแห่งนี้ไว้เป็นเวลายาวนาน เพราะจังหวะชีวิตไม่อำนวย แต่แล้วความฝันก็เกิดเป็นจริงขึ้นมาชนิดที่ตั้งตัวไม่ติด ฉันได้มีโอกาสไปเยือนอินเดียด้วยเรื่องของหน้าที่การงาน และก็โชคดีที่ได้ไปชมทัชมาฮาลสิ่งก่อสร้างที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งกษัตริย์ชาร์จะฮานได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานของพระนางมุมตัสมาฮาลผู้เป็นมเหสีอันเป็นที่รักยิ่งหลังจากที่ความตายได้พรากเธอให้จากเขาไปโดยไม่มีวันที่จะหวนกลับมามีความสุขร่วมกันได้อีก มันเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่และดูมหัศจรรย์ไม่ต่างจากเรื่องราวของความรักระหว่างเขาและเธอ ฉันก็ได้แต่อึ้งและทึ่งแกมเศร้ากับเรื่องราวของรักอมตะและที่มาของสิ่งมหัศจรรย์นี้ การได้ไปอินเดียครั้งนั้นจึงเสมือนการได้เปิดประตูมองไปสู่ทิศทางแห่งความฝันแต่กลับยังไม่ได้เดินตามรอยฝันนั้นอย่างจริงจัง หรืออาจเปรียบได้กับการได้มีโอกาสชิมอาหารจานเด็ดที่ชื่นชอบเมื่อยามหิวจัด แต่กลับไม่มีโอกาสได้กินอาหารจานนั้นให้อิ่มสมใจอยาก ฉันจึงได้แต่หมายมาดว่าจะต้องหาโอกาสไปกินอาหารจานนี้ให้ได้อีกอย่างน้อยสักครั้ง บัดนี้ ฉันมีโอกาสที่จะได้เดินตามรอยฝันอย่างจริงๆจังๆแล้ว เพราะได้เกษียณการทำงานก่อนกำหนด โดยหวังจะใช้ชีวิตส่วนที่เหลือกับการเดินทางท่องเที่ยวไปในโลกกว้างตามที่เคยฝันไว้ ถึงวันนี้แม้วัยจะล่วงเข้าปลายคนแล้ว สังขารอาจไม่อำนวยให้สมบุกสมบันได้เต็มที่เหมือนช่วงวัยรุ่น แต่เชื่อว่าหัวใจยังสรวมวิญญาณวัยรุ่นอยู่เต็มร้อย จะทำยังไงได้ในเมื่อเราเกิดมาอยู่ในเมืองไทย ไม่อาจลาหยุดได้นานหลายเดือนเพื่อออกไปแบคแพคท่องโลกได้เหมือนชาวโลกตะวันตกหรืออเมริกา นับเป็นครั้งแรกที่ต้องเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวและจะใช้เวลายาวนานมากถึงสองเดือนกับอีกยี่สิบสองวัน เพราะได้ออกตั๋วเครื่องบินไป-กลับไว้แล้ว ตั้งใจมั่นว่าจะดำรงตนเป็นนักเดินทางแบคแพคที่กินอยู่อย่างง่ายๆ เข้าไปสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่หรือท้องถิ่นที่ไปเยือนให้มากที่สุด จะเป็นฝ่ายเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของผู้คน ไม่ใช่ดึงผู้คนเข้ามาอยู่ในโลกของเราเอง หรือแค่เพียงมองผู้คนผ่านหน้าไปมาเฉกเช่นการนั่งดูหนังในโรง หรือไปเที่ยวกับทัวร์ นึกถึงการเดินทางคราใด ความรู้สึกตื่นเต้น ท้าทาย และวิตกกังวลก็เกิดขึ้นเกือบเท่าๆกัน แต่เมื่อความตั้งใจที่จะไปให้ถึงฝั่งฝันให้ได้มันถาโถมเข้ามาเต็มที่ก็ยากที่จะรั้งไว้ ได้แต่ปลอบและบอกกับตัวเองอย่างบ้าบิ่นว่า ลุยเดี่ยว ก็ลุย...(วะ) ด้วยเวลาของชีวิตลงตัวเอาช่วงปลายเดือนสิงหาคม จึงถือเป็นฤกษ์ดีของการเดินทาง หวั่นใจเล็กน้อยเมื่อรู้ว่าช่วงสิงหาคมของอินเดียเป็นช่วงปลายฝนเชื่อมต่อต้นหนาว โดยเฉพาะการท่องจากแถบเบงกอลตะวันตกขึ้นไปถึงสิกขิมอาจจะเจอฝนจนเที่ยวไม่สนุกและเมื่อขึ้นไปทางเหนือด้านตะวันออกแถวมะนาลีก็อาจจะเจอหนาวและหิมะตกจนไม่สามารถขึ้นไปถึงเลห์อดีตเมืองหลวงของกรุงลาดักห์ซึ่งเป็นสุดยอดของเป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ได้ ฉันกางแผนที่อินเดียลงตรงหน้า บรรจงแต้มสีแดงเป็นจุดกลมๆด้วยปากกาลูกลื่นลงไปในพื้นที่เป้าหมาย มันกระจายไปทั่วดินแดนแถบเหนือทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอินเดีย และต่อเนื่องลงมาตอนกลางค่อนไปทางตะวันตก สีแดงนั่นหมายถึงจุดที่ฉันสัญญากับตัวเองว่าหากไม่เกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆจะต้องไปให้ถึง ฉันเริ่มจากฝั่งตะวันออกเพราะใกล้เมืองไทย นั่นคือเมืองโกลกาตา(Kolkata)หรือกัลกัตตาตามที่เคยเรียกในสมัยเรียนหนังสือตอนเด็ก แต่มาวันนี้ชื่อดังกล่าวได้เพี้ยนไปแล้วตามสำเนียงของคนในพื้นที่ เมืองนี้ ถือเป็นเมืองหน้าด่านที่ฉันจะต้องไปลงเครื่องบินที่นั่นเพื่อนั่งรถไฟต่อไปยังเมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) และ สิกขิม(Sikkim) จากนั้น จะย้อนกลับลงมาแวะวาราณสี(Varanasi) หรือที่คนไทยเรียกกันว่าพาราณสี ผ่านนิวเดลี (New Delhi) ขึ้นไป ชิมลา(Shimla) มะนาลี(Manali) และขึ้นไปเมืองเลห์(Leh)เมืองในหุบเขาแห่งทะเลทรายซึ่งชายแดนติดกับทิเบตของจีน จากนั้นจะอ้อมไปแคชเมียร์(Kashmir) แล้วลงมาเมืองอัมริทสาร์(Amritsar) และต่อไปยังแค้วนราชสถาน(Rajasthan) เรื่องการขอวีซ่า คำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้ว ยุคน้ำมันแพงแบบนี้ยกให้เป็นภาระของเอเย่นต์ทัวร์น่าจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ว่าแล้ว ก็เตรียมหลักฐานชนิดไม่ให้ขาดตกบกพร่อง พร้อมแนบโปรแกรมท่องเที่ยวคร่าวๆโดยระบุจุดหมายหลักๆลงไป ซึ่งขาดไม่ได้เด็ดขาดก็คือสิกขิม เนื่องจาก การเข้าสิกขิมจำเป็นต้องขออนุญาตจากรัฐบาลอินเดียเป็นการพิเศษ หากไม่ได้ขอไปจากเมืองไทยก็สามารถไปขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อินเดียได้ซึ่งจะมีอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ โดยทั่วไปแล้ว การขอเข้าสิกขิมด้วยมักจะไม่มีปัญหา เพียงแต่ในใบขอวีซ่าจะต้องระบุว่าขอเข้าสิกขิมด้วย ซึ่งเมื่อสถานทูตอนุญาตแล้วในวีซ่าจะประทับตราระบุจำนวนวันที่ให้อยู่ในสิกขิมได้ว่าเป็นจำนวนกี่วัน ที่เห็นมาส่วนใหญ่จะให้ 15 วัน หากใครไปแล้วเกิดติดใจอยากอยู่ต่อก็สามารถยื่นเรื่องขออยู่ต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สิกขิมได้ จะด้วยความไม่มืออาชีพของเอเย่นต์ทัวร์หรือเป็นคราวโชคไม่ดีของฉันก็ว่าได้ วีซ่าที่ได้มากลับไม่มีประทับตราข้อความอนุญาตให้เข้าสิกขิม ฉันโวยวายกับเอเย่นต์ทัวร์อยู่สองสามตั้ง แต่ก็เสียเวลาเปล่าเพราะเอเย่นต์ทัวร์มือใหม่ไม่รู้แม้กระทั่งว่าการเข้าสิกขิมจะต้องมีการขออนุญาตเป็นการพิเศษ เขาเลยไม่ได้ระบุในใบขอวีซ่าว่าขอเข้าสิกขิมให้ฉันและยิ่งกว่านั้นยังไม่แนบโปรแกรมท่องเที่ยวที่ฉันให้ไว้ ไปกับใบขอวีซ่าด้วย สุดท้ายฉันต้องเสียเวลาไปสถานทูตอินเดียด้วยตัวเองเพื่อขอเข้าสิกขิมด้วย ซึ่งก็ถือว่ากระบวนการไม่ยุ่งยากแต่เสียเวลาไปหนึ่งวัน สำหรับเอเย่นต์ทัวร์ยอมรับผิดโดยคืนเงินค่าบริการที่รับไปแล้วให้เศษหนึ่งส่วนสี่ของทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งเขาบอกง่ายๆว่าได้จ่ายให้เด็กที่รับจัดทำวีซ่าไปแล้ว อีกครึ่งหนึ่งขอแบ่งเป็นสองส่วน คืนให้ฉันส่วนหนึ่งอีกหนึ่งส่วนเขาขอเป็นค่าบริการที่ได้ทำให้ไปแล้ว ฉันเลยจำต้องยอมเพราะไม่อยากมากเรื่อง ก่อนการเดินทางไม่กี่วันพี่น้องผองเพื่อนต่างก็บอกให้ทบทวน และคิดให้ดีๆอีกครั้งเผื่อจะเปลี่ยนใจ ดูทุกคนจะไม่เข้าข้างพาสปอร์ต วีซ่า และตั๋วเครื่องบินของฉันที่มันนอนรออยู่ในเป้ใบเล็กมาหลายวันแล้ว ก็มันพร้อมที่จะทะยานออกไปสู่โลกกว้างกับฉันได้ทุกเมื่อแล้วน่ะสิ มันอันตรายนะไปคนเดียว พี่ว่าชวนเพื่อนไปด้วยซักคนเถอะ อย่างน้อยมีปัญหาอะไรก็จะช่วยกันได้ พี่สาวที่ใกล้ชิดสะกิดให้เฉลียวใจไว้บ้างกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเดินทางตามประสาคนขี้กลัว ฉันได้แต่ตอบในใจว่า 'ไม่มีใครเขาไปได้นานๆชนิดหมดอายุวีซ่าแบบนี้หรอก' ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลหลักที่ฉันไม่ยอมเอ่ยปากชวนเพื่อนคนไหนอย่างจริงจังเพื่อร่วมทางไปด้วย ท้ายสุดความแน่วแน่และดึงดันของฉันก็ไม่มีใครต้านทานได้ วันสุดท้ายก่อนออกเดินทางยังไม่วายที่จะมีเสียงตามสายจากเพื่อนฝูงที่น่ารักส่งความห่วงใย และกำลังใจมาให้อย่างไม่ขาดสาย ตอนนี้ดูทุกคนจะตื่นเต้นมากกว่าฉันซะอีก เฮ้ย เจอปัญหาก็กลับเมืองไทยเลยนะ(เว้ย) บ้างก็ เอาเสื้อหนาวไปเยอะๆนะ ขึ้นไปทางเหนือของอินเดียถึงขั้นหิมะลงเลยนะ(เฟ้ย) ไม่รู้เตือนด้วยความห่วงใยหรือคำขู่ แต่ก็ต้องขอบคุณที่เพื่อนยังนึกถึง เฮ้ย..อย่าลืมส่งอีเมล์ หรือโทรศัพท์รายงานเป็นระยะๆด้วยนะอยากรู้ว่าไปถึงไหนมั่ง... ยังมีชีวิตอยู่รึเปล่า ฮ่า...ฮ่า
อันนี้เริ่มต้นเหมือนเป็นคำสั่งที่แอบมีเจือความห่วงใยเล็กน้อย แต่ตบท้ายนี่มันออกแนวทะแม่งสาปแช่งแกมเยาะเย้ยกันนี่(หว่า)...ไอ้เพื่อน!! ฯลฯ ความห่วงใยจากคนรอบข้างทำให้ฉันต้องแอบปลอบและให้กำลังใจตัวเองอีกครั้ง ต้องไม่มีปัญหาอะไรสิ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นกับตัวเรา ยกเว้นเหตุสุดวิสัยขอยกให้แค่สิบเปอร์เซ็นต์.......ลุย เป้ขนาดกลางที่ซุกอยู่มุมห้อง ถูกอัดด้วยเสื้อผ้ากันหนาวถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ เสื้อกันหนาวสามตัว ชนิดหนาวน้อย หนาวมากและหนาวปานกลาง ตัวสำหรับหนาวมากเป็นยี่ห้อดังแต่เลียนแบบของจริง อุตสาห์หอบมาจากเมืองจีนเมื่อสองปีก่อน เพราะเห็นว่ามันถูกดี ถึงตอนนี้ยังใหม่เอี่ยมเหมือนเดิมเพราะไม่มีโอกาสเอาไปใช้ที่ไหนชนิดที่หนาวมากๆสักที คราวนี้จะได้ใช้สมใจอยากล่ะ หมวก ผ้าพันคอ ถุงมือ ถุงเท้าและที่เขาเรียกว่าลองจอน ครบครัน อีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เป็นของกินซะสิบเปอร์เซ็นต์ เช่น ปลาสลิด (แทนหมูหยองและหมูแผ่นที่กะว่าจะเอาไปแต่มีคนเตือนว่าไม่ควรเอาผลิตภัณฑ์หมูเข้าอินเดียเพราะที่นั่นอิสลามิกชนมีกระจายอยู่ทั่วไป) และขนมขบเคี้ยวที่ชอบ มีไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด หากช่วงแรกๆหาอะไรกินไม่ได้ ปกติฉันเป็นคนกินง่ายจึงไม่ค่อยกังวลกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ที่เหลืออีกสิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ เป็นเสื้อผ้าที่ใส่สบายๆท้าทายอากาศร้อน รวมทั้ง สมุดบันทึก ปากกาลูกลื่น(ของแจกคนอินเดีย โดยเฉพาะตามชนบททราบว่าเด็กๆชอบมาก) และของจิปาถะ....ที่งอกออกมาโดยสามารถรัดติดไว้กับเป้ได้ก็คือถุงนอน นอกจากจะเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายแล้วยังอุ่นใจเผื่อใช้ปกป้องเนื้อตัวจากที่หลับที่นอนที่วันไหนรู้สึกว่าไม่อยากเกลือกกลั้วบนที่นอนโดยตรง (ผู้มีประสบการณ์แนะนำไว้) ส่วนเอกสารสำคัญและกล้อง แยกไว้ในเป้เล็กที่จะติดตัวตลอดเวลา ที่สำคัญยิ่งกว่าที่กล่าวมาแล้วก็คือเงินและพาสปอร์ต เพื่อความปลอดภัยขอเลียนแบบพวกแบคแพคมืออาชีพทั้งหลายซึ่งนิยมใช้กระเป๋าคาดเอวโดยซุกไว้ใต้เสื้อตัวนอกไม่มีใครมองเห็นและมันก็ปลอดภัยหายห่วงตลอดรอดฝั่งกลับมาถึงเมืองไทยได้โดยสวัสดิภาพจริงๆ ฉันใช้เวลาเตรียมการกับสัมภาระและสิ่งของเครื่องใช้อยู่สองอาทิตย์ ทุกชิ้นที่เอาไปต้องจำเป็นจริงๆเพราะมันคือภาระที่เราต้องแบกรับคนเดียว ฉันหยิบของเข้า-ออก และยกเป้ขึ้น-ลงบนตาชั่งอยู่หลายรอบกว่าจะลงตัวด้วยน้ำหนักเก้ากิโลกรัม
... ต้องไหวสิน่ะ บอกตัวเองก่อนวางเป้ลงเป็นครั้งสุดท้าย ตั๋วเครื่องบิน เอกสารการเดินทาง สัมภาระและฤกษ์สะดวก.... บวกหัวใจเต็มร้อยพร้อม...ลุย!!
-------------
Create Date : 29 มีนาคม 2555 |
Last Update : 4 มีนาคม 2556 16:29:04 น. |
|
8 comments
|
Counter : 1853 Pageviews. |
|
|
ได้เตือนความหลัง เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน
รออ่านอยู่นะคะ