ข้อคิดจากพี่มน อาจารย์ที่แสนดีของผมครับ ^^
...เชื่อว่าทุกคนมีฝัน...รู้ตัวกันบ้าง...ไม่รู้บ้าง...ก็ตามแต่...

ผมจะเล่าของผมให้ฟัง...เรื่องมันมีอยู่ว่า...

...ตอนเด็ก...ฝันอยากเป็นหมอ...ครูและเพื่อนๆบอกว่า...คงตอนควายได้อย่างเดียว...ก็โง่ซะขนาดนั้น...

...เรียนไม่เอาไหน...ไปเป็นเด็กช่างกล...ไม่ได้ฝันว่าจะเป็นช่างที่เก่งที่สุดในโลก...อยากเป็นนายช่าง...

เป็นนายช่างแล้วไง...อยากสร้างอะไรให้ได้จดจำ...

...ทำไม่ได้...เพราะไม่มีฝัน...มันไม่แรงจริง...

...เป็นนักบริหาร...ท่าทางจะได้ฝัน...เป็นเบอร์หนึ่ง...นั่งสั่งอย่างที่คิด...

...เป็นไม่ได้...เพราะใจกับปาก...อยากจะรุ่งต้องมุ่งแต่เลีย...

เป็นอะไรที่อยากจะทำ...ทำไม่ได้ถ้าไม่จัดการ...ปลดพันธนาการให้หมดไป...

...มาวันนี้...ฝันอะไร...ก็ได้ทำ...

...ฝันอีกอย่าง...ที่ยังไม่สำเร็จ...ฝันอยากจะหาคนร่วมฝัน...เดินทางไกล...ไปสร้างฝันไม่รู้จบ...

ผมฝันว่าจะช่วยอีกหลายๆคนสร้างฝัน...และพากันไปปลดปล่อยพันธนาการ...สร้างฝันต่อให้คนอื่นๆต่อไป

....มีฝันกันไหม?....ไม่มีก็มีกันซะ...ชีวิตอยู่ไม่ได้...ถ้าไม่มีฝัน...

วันนี้เจอน้องคนหนึ่ง เขาบอกว่าลองมาทุกอย่างแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง

ผมถามว่าฝันว่าจะเป็นอะไร? ฝันว่าจะทำอะไร? ทำเองได้ไหม? หรือต้องให้ใครช่วยบ้าง? ขอความช่วยเหลือบ้างไหม?

ไม่มีฝัน...ไม่มีเป้าหมาย...ไม่รู้คำถาม...ก็ไม่มีวันรู้คำตอบ...

มีคนถามผมว่า...ทำไมผมจึงอยากรู้อะไรก็ได้รู้

ไม่มีอะไรมาก...สิ่งหนึ่งมีขึ้น...สิ่งหนึ่งจะมีตามมา...สิ่งเดียวที่พระพุทธเจ้าสอน

หาสิ่งหนึ่งให้พบ...มันอาจเป็นคำตอบ...ย้อนไปหาคำถาม...และจะได้คำตอบอีกมากมาย

หลาย ปีที่พระพุทธเจ้าค้นหา เรียนรู้ เมื่อทุกอย่างพร้อม...จะเกิดสิ่งหนึ่งคือ...การเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เห็น ได้รู้ ได้ลองทำมาตลอดเวลายาวนาน

พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้...แต่คือ วันพระจันทร์เต็มดวงเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ผ่านมา...ในสมองของพระองค์ เกิดการเชื่อมโยงสิ่งที่พระองค์ได้เคยปฏิบัติ

เรียนรู้ และเห็น...จนเกิดคำตอบที่ยิ่งใหญ่ สำหรับคำถามที่ไม่เคยมีใครตอบได้มาก่อน

ต้องปฏิบัติ...ต้องเห็นเอง...ต้องรู้เอง

อย่าปิดกั้นตัวเองจากการเรียนรู้...ผมสนุกกับมันตลอด...มันไม่ใช่เรื่องเงิน...ผลตอบแทน

...แต่ผมต้องการประสบการณ์เพื่อให้มากพอต่อการเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน

...ฝันของผมคือสร้างสิ่งเหล่านี้ให้ทุกคน...ไม่มีใครเคยทำมาก่อน...นอกจากพระพุทธเจ้า...ผมขอตามรอยท่าน

อย่าปิดกั้นเพียงเพราะเราไม่ถนัด...มันยิ่งใหญ่มาก



Create Date : 10 เมษายน 2554
Last Update : 10 เมษายน 2554 13:43:48 น.
Counter : 672 Pageviews.

0 comment
แก้ว 3 ประการของการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
แก้ว 3 ประการของการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในมุมมองของ Value Investor ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การ “ปฏิวัติของมวลชน” ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นระลอกต่อเนื่องกันในตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือนั้น เป็นเรื่องใหม่ที่คนทั่วโลกต่างก็งวยงง นักวิเคราะห์จำนวนมากคิดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายประชาชนผู้ประท้วงทำการ ได้สำเร็จอยู่ที่การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตสมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือ ข่ายสังคมอย่างเฟซบุคที่ทำให้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยที่ฝ่ายรัฐผู้ ครองอำนาจไม่สามารถขัดขวางได้ ผมเองยังไม่แน่ใจว่าอะไรคือปัจจัยสุดยอดจริง ๆ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติประชาชนที่ประสบความสำเร็จในอดีต อย่างในรัสเซียหรือจีน ก็จะพบว่ามีปัจจัยหรือองค์ประกอบที่สำคัญสุดยอด 3 ประการอย่างที่เลนินหรือเหมาเจ๋อต๋งเรียกว่า “แก้ว 3 ประการ” ที่ถ้ามีแล้ว ความสำเร็จก็จะอยู่แค่เอื้อมนั่นคือ แก้วประการที่หนึ่ง มวลชน แก้วที่สอง พรรคการเมืองของมวลชน และแก้วที่สาม กองกำลังติดอาวุธ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง โอกาสประสบความสำเร็จก็ยาก

ในการลงทุนเองนั้น ผมคิดว่าความสำเร็จที่ใหญ่หลวง หรือการที่จะเป็น “ผู้ชนะ” ถ้าวัดจากการที่จะกลายเป็นนักลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนใหญ่เป็นร้อย พัน หรือแม้แต่หมื่นล้านบาทนั้น อยู่ที่การมี “แก้ว 3 ประการของการลงทุน” มากน้อยแค่ไหน แก้วที่หนึ่งก็คือ เม็ดเงินลงทุนเริ่มต้นและที่จะเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากการลงทุน แก้วประการที่สองก็คือ ความสามารถในการสร้างผลผลตอบแทนการลงทุนแบบทบต้นของนักลงทุน และแก้วประการที่สามก็คือ ระยะเวลาในการลงทุนที่ต่อเนื่องยาวนาน ถ้าใครมีแก้วทั้ง 3 ประการดังกล่าวและใช้มันอย่างเต็มที่แล้ว โอกาสที่จะ “ชนะ” หรือประสบความสำเร็จในการลงทุนเหนือกว่าคนอื่นก็มีสูง

ลองมาดู “แก้ว” ทีละลูก สมมุติว่าคน ๆ หนึ่ง มีเงินค่อนข้างมากจากการทำธุรกิจ เขาตัดสินใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเนื่องจากมองว่าธุรกิจที่ทำอยู่กำลังตก ต่ำลงและเขาอาจจะต้องเลิกธุรกิจในไม่ช้า แต่เขามีเงินสดที่เก็บสะสมไว้สามารถนำมาลงทุนได้ถึง 100 ล้านบาท นี่คือเขามีแก้วลูกแรก โชคไม่ดี เขาไม่มีความรู้ในการลงทุนเพียงพอ ดังนั้น สิ่งที่เขาหวังได้จากการลงทุนก็คือ การซื้อกองทุนรวมหุ้นซึ่งคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวได้แค่ประมาณ 8% ต่อปีแบบทบต้น นั่นคือ เขาไม่มีแก้วลูกที่สอง

เช่นเดียวกัน เขาอายุ 50 ปีแล้ว ถ้าคิดว่าเขาจะลงทุนจนกระทั่งอายุแค่ 60 ปีก็จะเลิกเพื่อเกษียณและถอนเงินไปใช้ ดังนั้น ระยะเวลาการลงทุนของเขาก็มีเพียง 10 ปี ดังนั้น แก้วลูกที่สามเขาก็ไม่มี ผลก็คือ ในวันแรกที่เขาเริ่มลงทุน เขาก็อาจจะเป็นนักลงทุน “รายใหญ่” ทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปีที่เขาเลิก พอร์ตของเขาโตขึ้นเป็น 215 ล้าน แต่ในวันนั้นและที่อาจจะบันทึกในความทรงจำต่อไปในอนาคต เขาก็อาจจะเป็นแค่คนที่มีเงินพอสมควรเท่านั้นในแวดวงนักลงทุนที่มุ่งมั่น ทั้งหลาย

สมมุติว่าแทนที่จะลงทุนในกองทุนรวม เขาได้ศึกษาและมีความรู้ในการลงทุนเป็นเยี่ยมและมีเทคนิคที่ดีมากในการลง ทุน เรียกว่าเป็น “เซียน” ประกอบกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่หุ้นบูมมาก ดังนั้น เขาสามารถลงทุนจนได้ผลตอบแทนแบบทบต้นถึงปีละ 40% โดยเฉลี่ยในระยะเวลา 10 ปี ผลก็คือ เงิน 100 ล้านบาทกลายเป็น 2,892 ล้านบาท พอร์ตการลงทุนระดับนี้น่าจะทำให้เขาถือเป็นระดับนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นที่ กล่าวขวัญและจดจำกันในแวดวงนักลงทุนกันพอสมควรทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เงินในระดับนี้ ถ้าพูดในวันนี้ก็คงต้องบอกว่ามากทีเดียว แต่ถ้าไปพูดกันในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือในอนาคตที่ยาวไกลออกไปก็ยังไม่น่าจะถือเป็น “ตำนาน” ที่คนรุ่นหลังจะต้องจดจำหรือบันทึกไว้ เพราะในอนาคตก็จะมีนักลงทุนที่มีพอร์ตใหญ่โตมากขึ้นเรื่อย ๆ และมากกว่า 3,000 ล้านบาท และนั่นก็น่าจะเป็นคนที่มี “แก้วทั้ง 3 ประการของการลงทุน”

สมมุติต่อไปว่าแทนที่เขาจะมีอายุ 50 ปี เขากลับเป็นลูกของเจ้าของธุรกิจที่ได้เริ่มศึกษาการลงทุนตั้งแต่ยังเรียน ไม่จบมหาวิทยาลัย เขาเคยลงทุนด้วยเงินเพียง 1-2 ล้านที่ขอมาจากพ่อและประสบความสำเร็จในการลงทุนสูงมาก หลังจากนั้น ทางบ้านก็มั่นใจและในที่สุดให้เงินเขามาลงทุนถึง 100 ล้านบาทเมื่อเขาอายุเพียง 25 ปี ความสามารถของเขานั้น เพียงพอที่จะทำให้เขาสร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยระยะยาวได้สุดยอดขนาด “น้อง ๆ บัฟเฟตต์” ที่ 20% ต่อปี และเขามีเวลาลงทุนยาวมากถึง 35 ปี ติดต่อกัน

ผลก็คือ ในวันที่เขาอายุ 60 ปี พอร์ตของเขาจะโตขึ้นเป็น 59,066 ล้านบาท เขากลายเป็น “ตำนานนักลงทุนไทย” คนหนึ่งที่มีพอร์ต “มหึมา” ที่ทุกคนรู้จักและสื่อมวลชนกล่าวขวัญถึงเช่นเดียวกับนักลงทุนอีกหลายคนที่ อาจจะมี “แก้ว 3 ประการ” เช่นเดียวกัน

แก้วแต่ละลูกนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถไข่วคว้าได้ด้วยตนเอง เงินเริ่มต้นนั้น ถ้าไม่ได้มีพ่อแม่ร่ำรวย โอกาสที่จะมีแก้วลูกนี้ก็ยาก จริงอยู่คนบางคนอาจจะหาเงินได้มากจากการทำงานหรือทำธุรกิจอื่น แต่เขาก็มักจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมากกว่าจะได้เงินเดือนสูงมาก ๆ หรือธุรกิจจะมีเงินสดมาให้ลงทุนได้มาก

ดังนั้น แก้วลูกนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มาจาก “โชค” ที่ “เกิดมารวย” แก้วลูกที่สองคือฝีมือในการลงทุนนั้น เป็นแก้วที่สามารถสร้างขึ้นได้หรือคว้ามาได้ด้วยการศึกษาพยายามและการมี ทัศนะคติในการลงทุนที่ถูกต้อง ผมเองรู้สึกว่าคนจำนวนมากมีศักยภาพที่จะเป็นนักลงทุนที่มีความสามารถสูง ได้ ปัญหาก็คือเรื่องของอารมณ์และจิตใจที่จะต้องมุ่งมั่นและมีศรัทธาต่อการลงทุน ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วซึ่งเป็นเรื่องยากเมื่อต้องอยู่กับภาวะความผันผวน ของตลาดหุ้นที่มักทำให้ความคิดไข้วเขวไป

สุดท้ายก็คือ ระยะเวลาในการลงทุนที่เป็น “แก้วลูกที่สาม” นี่คือแก้วที่เราอาจจะทำอะไรกับมันไม่ได้มากนัก ถ้าเราอายุ 50 ปีแล้ว โอกาสที่เราจะมีแก้วลูกนี้ก็น้อยมาก จริงอยู่ ในอนาคตคนอาจจะมีสุขภาพดีและอายุยาวขึ้นเป็น 100 ปี แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น คนอื่นที่เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 25 ปี ก็จะมีระยะเวลาลงทุนยาวกว่าคุณ 25 ปีอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขภาพให้ดีก็อาจจะช่วยให้ระยะเวลาการลงทุนยาวขึ้นและเพิ่มคุณค่า แก้วลูกนี้ได้ แต่ประเด็นสำคัญจริง ๆ ในเรื่องของแก้วลูกนี้ก็คือ คนจำนวนมากที่มีแก้วลูกนี้อยู่ นั่นคือ เขามีอายุน้อยและถ้าเริ่มลงทุนตั้งแต่เริ่มมีรายได้หรือมีเงินเลย เขาก็มีแก้วลูกที่สามโดยอัตโนมัติ น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างนั้น เขามักคิดว่า การลงทุนเป็นเรื่องของคนที่มีครอบครัวและต้องสร้างฐานะ ดังนั้น เขาจึงไม่ได้คิดลงทุนจนกระทั่งแก้วที่มีค่า “หลุดลอย” ไป

ข้อสรุปทั้ง หมดก็คือ แก้ว 3 ประการของการลงทุนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะไข่วคว้ามาได้หมด มีบางลูกคว้าได้ บางลูกต้องอาศัยดวง ความ “สว่าง” ของลูกแก้วเองก็ไม่เท่ากัน คนที่เริ่มต้นด้วยเงิน 100 ล้านบาทต้องถือว่ามีลูกแก้วแล้ว แต่บางคนอาจจะเริ่มด้วยเงิน 500 ล้านบาทซึ่งเป็นแก้วที่ “สว่างจ้า” กว่า 100 ล้านบาท

ผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยระยะยาวที่ทำได้ถึง 15% ต่อปีผมก็ถือว่ามีแก้วแล้ว แต่คนที่ทำได้ 20% ต่อปีก็มีแก้วที่สว่างกว่ามาก

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หน้าที่ของเราในฐานะของนักลงทุน ถ้ามีลูกแก้ว เราต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ถ้าไม่มีเราก็ต้องพยายามเพิ่มคุณภาพของแก้วลูกนั้นถ้าทำได้ และเมื่อทำเต็มกำลังแล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ “ปล่อยวาง” อย่าไปคิดถึงผลลัพธ์สุดท้ายว่า เราจะรวยเท่าไรหรือจะทำได้จริงไหม การลงทุนเป็นเรื่องระยะยาวและเป็นเรื่องของชีวิต เป้าหมายจริง ๆ ของเราก็คือ มีความสุขในทุกเวลาที่เดินไป



Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 1 มีนาคม 2554 22:33:41 น.
Counter : 309 Pageviews.

0 comment
บทเรียนหุ้นโภคภัณฑ์ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร February 22, 2011

หุ้นที่ร้อนแรงและมีสีสันที่สุดกลุ่มหนึ่งในตลาดหุ้นนั้น ผมคิดว่าคือหุ้นที่ผลิตหรือขายสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นครั้งเป็นคราวโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจร้อนแรงอย่างในช่วงเร็ว ๆ นี้ หุ้นโภคภัณฑ์บางตัวหรือบางกลุ่มจะปรับตัวหรือวิ่งขึ้นหวือหวามาก ราคาหุ้นอาจขึ้นไปได้เป็น 5-10 เท่าอย่างง่าย ๆ ในเวลาเดียวกันก็อาจจะมีหุ้นโภคภัณฑ์อีกตัวหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งที่ปรับตัวลงเหลือครึ่งเดียวหรือต่ำกว่านั้น นี่ไม่ใช่เฉพาะราคาที่ปรับตัวขึ้น แต่มันมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วเป็นร้อยหรือเป็นพันล้านบาทต่อวัน หลาย ๆ ตัวมีปริมาณการซื้อขายสูงสุดสิบอันดับแรกเกือบทุกวันทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ดังนั้น หุ้นโภคภัณฑ์นั้น ต้องถือว่าเป็นหุ้น “ยอดนิยม” ในตลาดหุ้นไทย

ลองนึกดูย้อนหลังไปเพียงไม่นาน ธุรกิจเรือเทกองเคยเป็นขวัญใจของนักเล่นหุ้นเกือบทุกคนและก็อาจจะรวมถึง “VI” หลาย ๆ คนที่วิเคราะห์ด้วย “หลักการแบบ VI” แล้วก็สรุปว่าหุ้นเรือนั้น Undervalued หรือมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากแม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปหลายเท่าแล้ว ผมคงไม่ต้องพูดว่านั่นคือความผิดพลาดของการวิเคราะห์ เพราะว่าหุ้นเรือต่างก็ “จมลง” นั่นคือราคาที่เคยสูงลิ่วตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่กำไรของบริษัทยังดีน่าประทับใจจนถึงขณะนี้ที่กำไรเริ่มตกต่ำลงอย่างมาก ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ลดลงไปเรื่อย ๆ และคนก็เลิกพูดกันเรื่องเกี่ยวกับเรือและหันไปเล่นหุ้นโภคภัณฑ์ตัวอื่นต่อไป

หุ้นผลิตฟิล์มสำหรับบรรจุอาหารนั้น ในอดีตแทบไม่มีคนสนใจเลยเพราะกำไรของบริษัทไม่มีอะไรน่าประทับใจ การเติบโตก็ไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่านักลงทุนส่วนใหญ่ก็ไม่ใคร่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทหน้าตาเป็นอย่างไร แต่แล้วจู่ ๆ ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นราวกับติดจรวด สักระยะหนึ่งปริมาณการซื้อขายก็ตามมา หุ้นหลายตัวในกลุ่มกลายเป็นหุ้นยอดนิยม แม้แต่ “VI” จำนวนไม่น้อยก็ยังคิดว่าหุ้นเหล่านี้ยังถูกและมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นไปอีกมากหลังจากที่มันได้กระโดดขึ้นไปแล้วหลายเท่า เหตุผลก็คือ จากการวิเคราะห์ด้วย “หลักการแบบ VI” แล้ว หุ้นยังคุ้มค่าที่จะซื้อเพราะราคาหุ้นนั้นยังถูกมาก กำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมากและเพิ่มต่อไปแบบก้าวกระโดด การวิเคราะห์เรื่องกำไรนั้นดูเหมือนว่าจะถูกต้อง กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น “มโหฬาร” ดังคาด แต่ราคาหุ้นกลับถดถอยลงอย่าง “ผิดคาด”

หุ้นโภคภัณฑ์หลายตัวหรือหลายกลุ่ม ยาง เป็นตัวอย่างที่กำลัง “แสดงอยู่บนเวที” นั่นคือ ราคาหุ้นกำลังดีดตัวถึงขีดสุด กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนไม่น่าเชื่ออานิสงค์จากราคายางในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดน่าจะในประวัติศาสตร์ ปริมาณการซื้อขายหุ้นติดอันดับสูงสุดสิบอันดับเป็นว่าเล่นทั้งที่ไม่ใช่เป็นหุ้นตัวใหญ่ เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าหุ้นจะไปทางไหนหลังจาก “จบการแสดง”

ทำไมหุ้นที่วิเคราะห์ตาม “หลักการแบบ VI” และพบว่ามันเป็นหุ้นที่ถูก มี Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยสูง แต่ราคากลับลดต่ำลงไปมาก? ตลาดผิดหรือคนวิเคราะห์ผิดกันแน่? เรามาดูกัน

หุ้นโภคภัณฑ์ที่หวือหวาทั้งหลายที่กล่าวถึงนั้น ช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าแล้วนั้น บางทีจะพบว่า ข้อแรก ค่า PE หรือราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นนั้นยังต่ำมากเพียง 3-4 เท่าก็มี ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่ “ถูกมาก” ซื้อหุ้นแล้ว “เพียง 3-4 ปี ก็คืนทุนแล้ว” แต่นี่อาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะหุ้นโภคภัณฑ์นั้น กำไรมักไม่สม่ำเสมอ กำไรที่เห็นนั้นคือกำไรที่มากกว่าปกติมากและไม่ยั่งยืน กำไรโดยเฉลี่ยที่จะรักษาอยู่ได้นั้นอาจจะต่ำกว่าหลายเท่า ดังนั้น การเอาปีที่กำไรดีผิดปกติมาใช้วัดค่า PE จึงใช้ไม่ได้ หุ้นที่จะสามารถใช้ค่า PE เป็นตัววัดความถูกความแพงนั้น ควรจะเป็นกิจการที่มีกำไรสม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น ดังนั้น ในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์แบบนี้ ค่า PE จึงมีประโยชน์น้อย การบอกว่าค่า PE ต่ำแสดงให้เห็นว่าเป็นหุ้นถูกจึงอาจจะไม่ถูกต้อง นี่เป็นข้อแรก

ข้อสอง หุ้นโภคภัณฑ์ที่กำลังร้อนนั้น นอกจาก PE ต่ำแล้ว ค่า PB หรือราคาต่อมูลค่าทางบัญชี ซึ่งเป็นตัวชี้ความถูกความแพงอีกตัวหนึ่งก็อาจจะต่ำด้วย บางทีต่ำกว่า 1 เท่าหรือไม่เกิน 2 เท่า ดังนั้น นี่เป็นการ “ยืนยัน” อีกจุดหนึ่งว่าหุ้นร้อนตัวนั้น “ยังถูกมาก” นี่ก็อาจจะมีส่วนจริงบ้างถ้าคิดว่ามูลค่าทรัพย์สินทางบัญชีนั้นอาจจะเป็นมูลค่าของทรัพย์สินจริง ๆ ที่สามารถขายได้ในกรณีเลิกกิจการ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ไม่มีบริษัทไหนคิดจะเลิกกิจการ และผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเลิกจริง ๆ สินทรัพย์จะมีราคาอย่างที่ว่าจริงไหม เพราะบ่อยครั้ง เวลาเลิกกิจการ โรงงานมักจะกลายเป็นเศษเหล็กที่แทบไม่มีค่าเลย นอกจากนั้น มูลค่าทางบัญชีเองก็ลดลงได้ในกรณีที่บริษัทมีผลขาดทุนในอนาคตอันเนื่องมาจากราคาของโภคภัณฑ์ที่ลดลงก็ได้ สรุปแล้ว ค่า PB เองก็ไม่ได้บอกอะไรที่มีความหมายมากนักในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์ที่เป็นโรงงาน

ข้อสาม ค่า Dividend Yield หรือผลตอบแทนเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้น ของหุ้นโภคภัณฑ์ที่กำลังร้อนแรงนั้น มักจะสูงลิ่ว บางทีมากกว่า 6-7% ต่อปี ซึ่งเป็นปันผลที่งดงามมาก นี่เป็นตัวยืนยันความถูกของหุ้นในสไตล์หุ้น “ห่านทองคำ” ซึ่งเป็นแนวของนักลงทุนแบบ VI ที่ “อนุรักษ์นิยมมาก” ในกลุ่ม VI ด้วยกัน ดังนั้น นี่เป็นการยืนยันความปลอดภัยของหุ้นอีกจุดหนึ่ง แต่นี่ก็อาจจะเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดอีกเช่นกัน เหตุผลก็คือ ปันผลที่เห็นนั้น เป็นปันผลที่คิดจากกำไร ถ้าในอนาคตกำไรลดลง ปันผลก็ต้องลดลง ผลตอบแทนที่บอกว่า 6-7% จึงเป็นปันผลเพียงครั้งเดียว ในอนาคตอาจจะน้อยลงหรือไม่มีก็ได้ ดังนั้น Dividend Yield ในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์จึงไม่ได้บอกว่าหุ้นถูกหรือแพง

สุดท้าย ฐานะการเงินของหุ้นโภคภัณฑ์ในยามร้อนแรงก็อาจจะดีเยี่ยม บางทีมีเงินสดเหลือเฟือด้วยซ้ำ แต่นี่ก็อาจจะเป็นภาพลวงตา เพราะเงินสดนั้น ไม่ได้นำมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น บางทีอนาคตก็อาจจะหมดไปกับการลงทุนหรืออะไรต่าง ๆ ที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัท ดังนั้น เงินสดก็อาจจะมีความหมายไม่มากถ้าเจ้าของเขาไม่อยากแจกคืนให้ผู้ถือหุ้น

ข้อสรุปรวบยอดของผมก็คือ ตัวเลขและการวิเคราะห์ตามหลักการ “แบบ VI” นั้น ใช้ไม่ได้กับหุ้นโภคภัณฑ์ วิธีการที่ผมคิดว่าดีที่สุดสำหรับการเล่นหุ้นโภคภัณฑ์ก็คือ ซื้อหุ้นก่อนที่วัฏจักรราคาสินค้าจะเป็น “ขาขึ้น” อย่างน้อย 2-3 เดือนโดยที่ราคาหุ้นยังไม่ได้ขยับขึ้นหรือปรับตัวขึ้นก็เพียงเล็กน้อย ขายหุ้นเมื่อทุกอย่างกำลังร้อนแรงสุด ๆ และราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากจนไม่น่าเชื่อ ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าคนที่รู้ดีที่สุดก็คือเจ้าของหรือผู้บริหารกิจการ ดังนั้น คนที่ได้เปรียบก็คือ คนในหรือคนที่ใกล้ชิดหรือได้ข้อมูลก่อนคนอื่น



Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2554 16:47:42 น.
Counter : 327 Pageviews.

0 comment
อย่าจับจังหวะตลาด : พี่มนตรี นิพิฐวิทยา
อย่าจับจังหวะตลาด : พี่มนตรี นิพิฐวิทยา

แนว คิดง่ายๆที่นักลงทุนหลายๆท่านต่างก็เข้าใจ และพยายามทำให้ได้ในทุกครั้งที่ซื้อขายหุ้นคือ “ซื้อหุ้นตอนที่ยังถูกและขายตอนแพง” แต่พอเอาเข้าจริงทำกันไม่ค่อยได้ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีคำพูดว่า “ติดดอย และขายหมู” แน่นอน
.
ดังนั้น ผมขอบอกไว้ก่อนว่า ยุทธศาสตร์ข้อนี้ “เป็นแนวคิดง่ายๆ แต่ยากในการปฏิบัติ” !!
.
คง มีไม่กี่ครั้งที่เราสามารถซื้อขายได้ถูกเวลา เราอาจซื้อได้ถูกในบางครั้งแต่นั้นไม่ใช่เพราะเราประเมินราคาได้อย่างถูก ต้อง แต่เป็นเพราะเราโชคดี และตอนขายนี่ยากกว่าตอนซื้อมากนัก และมักจะขายแล้วราคายังขึ้นต่อ นำความเจ็บช้ำน้ำใจมาสู่เราได้ตลอดเวลา
.
จาก การศึกษาแล้ว การจับจังหวะเข้าซื้อหรือขายนั้นหากทำได้จะสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาล และมากกว่าเทคนิคการลงทุนใดๆทั้งปวง แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ ฉะนั้น ที่หลายต่อหลายท่านมักถามผมว่า “ตอนนี้ตอนนั้น ตลาดจะเป็นอย่างไร? ซื้อได้ไหม?” ผมตอบเหมือนเดิมเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้วครับ คือ “รู้ก็ดีซิ ไม่มาบอกฟรีๆหรอก ทำเป็นข้อมูลขายดีกว่า”
.
ไม่ได้กวนจริงๆ ที่ตอบอย่างนั้นก็เพราะไม่รู้ ถ้ารู้ผมคงรวยโดยไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ขายคำทำนายก็รวยแล้ว สรุปก็คือ การจับจังหวะตลาดนั้นทำได้ยากมาก และโอกาสถูกต้องนั้นก็น้อยมากๆเช่นกัน
.
แล้วถ้าเป็นอย่างนี้จะทำ อย่างไร? กำปั้นทุบดินครับ ก็ไม่ได้ไปใส่ใจกับตลาด เพราะเราไม่ได้ซื้อหุ้นทั้งตลาด เราซื้อหุ้นรายบริษัทที่เราวิเคราะห์แล้วว่าดี และใช้วิธีรอราคาถูกๆ หรือเฉลี่ยซื้อไปเรื่อยๆ ขายก็เช่นกัน เกินราคาที่ประเมินไว้แล้วก็ทยอยขาย
.
ที่ ทำอย่างนี้เพราะธรรมชาติของตลาดสินทรัพย์ทางการเงินทุกชนิดมีลักษณะตามแห่ ครับ สังเกตให้ดี เมื่อราคาหุ้นขึ้นจะมีคนมาแย่งกันซื้อ แต่ถ้าราคาลงก็แย่งกันขาย และถ้าความมั่นใจของนักลงทุนในตลาดปรับสูงขึ้นพร้อมๆกันเมื่อไร สังเกตให้ดีครับ ไม่นานตลาดจะปรับลง และต่อให้หุ้นมีพื้นฐานดีอย่างไร ราคาหุ้นนั้นก็ลงตามตลาดด้วย เป็นอย่างนี้มาตลอด กฎข้อนี้ถือว่าตายตัว เพราะเป็นนิสัยถาวรของมนุษย์ทุกคน คือ “โลภ และ กลัว”
.
และขอให้ สังเกตอีกครั้งว่า เมื่อตลาดหุ้นอยู่ในสภาพที่ไม่ดี เราจะเห็นว่ามีการซื้อขายน้อยมาก ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม นักลงทุนต่างก็นั่งทับเงินเอาไว้ก่อน
.
แน่นอนทุกคนมักจะพูดว่า “ฉันใช้วิธีซื้อถูกๆและขายตอนแพง” ด้วยกันทั้งนั้น แต่พอหุ้นลงต่างก็นั่งนิ่งๆรอให้ตลาดดูดีก่อนแล้วค่อยซื้อหุ้น ซึ่งนั้นก็คือตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว ราคาหุ้นตัวที่น่าสนใจก็ปรับขึ้นแล้วเช่นกัน และนักลงทุนหลายๆคนก็มักจะสนใจหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้นกันทั้งนั้น ผลตอบแทนที่เรามักจะได้คือ ผลตอบแทนค่าเฉลี่ยเหมือนกันกับทุกๆคนที่ซื้อหุ้นตอนตลาดดีๆ
.
หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “เราจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด หากเราคอยจับจังหวะตลาด” และถ้าหากเราคอยซื้อเมื่อตลาดดีแล้ว นั่นหมายถึงมีคนซื้อมาก่อนหน้าเรามากแล้ว ราคาหุ้นนั้นอาจจะกำลังแพงเกินไปแล้วก็ได้ กรณีนี้มีความเสี่ยงสูงที่หุ้นนั้นกำลังถูกขายทำกำไรในอีกไม่นานนี้
.
เบน จามิน เกรแฮม บิดาแห่งการวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้แต่งตำราคลาสสิคเรื่อง นักลงทุนผู้ชาญฉลาด หรือ Intelligent Investor และ การวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือ Security Analysis ได้กล่าวไว้ว่า
.
“ให้ซื้อหุ้นเมื่อหลายๆ คน…รวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่างๆ…มีความคิดในแง่ร้ายต่อตลาด และขายเมื่อพวกเขาเหล่านั้นมีความคิดต่อตลาดในเชิงบวกมากๆ”
.
เบอร์นา ร์ด บารัค อดีตที่ปรึกษาประธานาธิปดีสหรัฐฯที่ประสบความสำเร็จท่านหนึ่งในประวัติ ศาสตร์ กล่าวไว้ว่า “อย่าทำอะไรตามฝูงชนเป็นอันขาด”
.
พฤติกรรมทำอะไร ตามๆกันนั้นเป็นธรรมชาติของสัตว์หลายๆชนิด รวมถึงมนุษย์ด้วย อาจเป็นการยากสำหรับพวกเราที่จะทำอะไรสวนกระแส หลายครั้งหลายหนอาจจะถูกมองว่า “เพี้ยน” ทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน เช่น การซื้อหุ้นตอนที่ชาวบ้านเขาขายหรือช่วงที่ตลาดตกต่ำย่ำแย่ และขายตอนที่ตลาดยังดูดี หรือตอนที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหุ้นยังคงแนะนำให้ซื้อหุ้น และยังคงเชื่อว่าหุ้นจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆก็ตาม
.
สังเกตให้ดีครับ เมื่อทุกคน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างออกมาบอกว่า ตลาดจะขึ้นไปที่นั่นที่นี่ จากนั้นไม่นาน ตลาดจะปรับฐาน หรือไม่ก็ลงอย่างรุนแรง แต่ถ้าพวกเขายังมีความเห็นที่ระมัดระวังอยู่ หุ้นจะยังไม่ไปไหน
.
เห็นไหมครับ ว่าเป็นแนวคิดง่ายๆ “ซื้อตอนถูก ขายตอนแพง” แต่ปฏิบัติได้ยากจริงๆ !!!



Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 8 เมษายน 2554 18:49:51 น.
Counter : 1382 Pageviews.

0 comment
ข้อคิดการลงทุน จาก column ของพี่มนใน กรุงเทพธุรกิจครับ ^^
Value way
มนตรี นิพิฐวิทยา

ยุทธศาสตร์การลงทุน ที่6 : ซื้อหุ้นที่มูลค่าของมัน ไม่ใช่จากแนวโน้มตลาดหรือสภาพเศรษฐกิจ

เชื่อ ว่านักลงทุนทุกคนคงรู้ว่าตลาดหุ้นนั้นคือแหล่งที่เราสามารถเข้าไปซื้อหรือ ขายหุ้นกันได้ตามวันเวลาที่กำหนดไว้ ตลาดหุ้นคือที่รวมเอาหุ้นของหลายๆบริษัทเข้ามาซื้อขายกัน การขึ้นลงของตลาดหุ้นดูได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคือตัวเลขตัวเลขหนึ่งที่ใช้แสดงให้เห็นว่า ณ ขณะใดขณะหนึ่งนั้นหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่มีราคาโดยเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามขนาด ตลาด(กรณีดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)ขึ้นหรือลง มากน้อยเท่าใด

การ ที่ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าหุ้นทุกบริษัทมีราคาเพิ่มขึ้นทั้งหมด ในทางกลับกันเมื่อดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ลดลง ก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นทุกบริษัทมีราคาลดลง แต่อาจเป็นเพราะมีหุ้นบางบริษัทมีราคาเปลี่ยนแปลง และหากเป็นหุ้นที่มีขนาดตามราคาตลาดสูงก็ยิ่งทำให้ดัชนีราคาตลาดฯเปลี่ยน แปลงไปตามนั้นได้มาก

เซอร์จอห์น เทมเพอร์ตัน ได้ยกประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ “ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลง ส่งผลทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลง หรือ ราคาหุ้นของบริษัทต่างเปลี่ยนแปลงจึงทำให้ดัชนีราคาหุ้นเปลี่ยนแปลง?” แม้จะเป็นคำถามแปลกๆที่เชื่อกันว่าหลายๆคนก็พอจะตอบกันได้ไม่ยาก แต่สำหรับผมแล้วน่าคิดครับ!!

ทำไมจึงน่าคิด? ก็ผมเห็นหลายต่อหลายคนสนใจดัชนีราคาตลาดกันทั้งนั้น ผมถูกถามว่า “ตลาดหุ้นตอนนี้ดีไหม? หุ้นจะลงไปถึงไหน?” แล้วท่านที่ถามผมนั้นก็ไม่ได้ซื้อหุ้นทั้งตลาดสักหน่อย แค่ซื้อหุ้นบางบริษัทเท่านั้น ทำไม่ต้องไปสนใจตลาดกันด้วย ดัชนีราคาตลาดลดลง หุ้นเราอาจจะขึ้นก็ได้ ไม่เห็นแปลกตรงไหน

แน่นอน ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นมีสภาพดีๆเป็นตลาดกระทิง หุ้นหลายบริษัทมีราคาสูงขึ้น แต่จริงๆแล้วที่ตลาดมันดีเพราะหุ้นหลายๆบริษัทมันดีมีกำไรเพิ่มขึ้น ตลาดมันเลยขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าตลาดมันดี หุ้นต่างๆมันจึงพากันขึ้น และในบางครั้งราคาหุ้นหลายๆบริษัทที่ถึงแม้จะยังดูดีมีกำไรอยู่ แต่ราคากลับลดลง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะราคาหุ้นนั้นๆปรับขึ้นมาสูงเกินพื้นฐานแล้ว จึงมีคนขายกันออกมา แน่นอนมันก็ส่งผลไปที่ดัชนีราคาตลาดฯให้ลดลงเช่นกัน แม้ในบางครั้งอาจมีข่าวลือข่าวไม่เป็นมงคลเข้ามากระทบรบกวนความมั่นใจของนัก ลงทุนก็อาจจะพากันขายหุ้นโดยไม่สนใจว่าของดี ราคายังไม่แพงหรือไม่ ขอเอาตัวรอดก่อน เหล่านี้มีให้เห็นกันอยู่เนืองๆ

เช่นนี้แล้ว เมื่อจะลงทุนก็ให้เลือกลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าสูงกว่าราคา เพราะในบางครั้งแล้วหุ้นบางบริษัทอาจขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดโดยรวมย่ำแย่ และแน่นอนหุ้นบางบริษัทก็อาจลงในช่วงที่ตลาดรุ่งเรื่องได้เช่นกัน การตัดสินใจลงทุนโดยดูที่สภาพตลาดนั้นไม่ต่างไปจากการเดินในที่มืดโดยไม่มี ไฟฉายส่องนำทางนั่นเอง ในที่สุดก็อาจพลาดได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ เซอร์จอห์น เทมเพอร์ตัน กล่าวถึง คือ “ภาพรวมเศรษฐกิจ” ตลาดหุ้นอาจไม่ได้มีทิศทางสอดคล้องไปทางเดียวกับสภาพเศรษฐกิจเสมอไปทุกครั้ง สภาพตลาดหุ้นที่ย่ำแย่ไม่ได้หมายถึงการที่ “เศรษฐกิจถดถอย” เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ดีแต่ดัชนีราคาหุ้นก็อาจลดลงได้เช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าการซื้อขายหุ้นนั้น คือการซื้อหรือขายโดยอาศัยความคาดหวังอนาคต ไม่ใช่เรื่องของอดีตหรือปัจจุบัน ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังจะตกต่ำถึงขีดสุด เราอาจเห็นว่าตลาดหุ้นกำลังเริ่มปรับตัวขึ้น และหากเศรษฐกิจกำลังร้อนแรงถึงขีดสุด เราอาจได้เห็นตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

เรื่องทั้งหมด นี้ ไม่ว่าความคาดหวังจากดัชนีตลาดฯหรือจากสภาพเศรษฐกิจ ล้วนส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นทั้งสิ้น มันจะทำให้ตลาดมีความผันผวน มีความไม่แน่นอน คาดการกันไปต่างๆนาๆ จนกระทั่งภาพต่างๆที่เป็นสภาพจริงเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ตลาดจะขึ้นหรือลงอย่างชัดเจน

และความไม่แน่นอน ความไม่ชัดเจนนี่เองคือ “เพื่อนแท้” ของนักลงทุนผู้ชาญฉลาด เขาเหล่านั่นมักใช้ประโยชน์ตอนที่ตลาดหุ้นตกต่ำถึงขีดสุด และความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง เข้าซื้อหุ้นโดยพิจารณาจากมูลค่า และใช้ประโยชน์จากความผันผวนนั้น ซื้อหุ้นได้ในราคาส่วนลดมากๆ ซึ่งแน่นอนว่าความเสี่ยงนั้นต่ำกว่าแน่นอน และคนกลุ่มเดียวกันนี่เองที่มักใช้โอกาสตอนตลาดดีๆ ขายหุ้นที่มีราคาปรับขึ้นสูงเกินมูลค่าแล้วออกไปในราคาที่น่าพอใจ ลองสังเกตุให้ดีครับว่า ก่อนที่ท่านจะกล้าเข้าซื้อหุ้นนั้น มีคนซื้อมาก่อนท่านแล้ว และตอนที่ท่านเห็นมันกำลังขึ้น แล้วท่านเข้าไล่ซื้อเพิ่ม เพราะหวังว่ามันจะยังขึ้นได้อีกนั้น มีใครขายให้ท่าน และขายออกมามากไหม...อาจเป็นพวกเขาเหล่านั้นก็ได้ ใครจะไปรู้?

คำส่งท้ายของ เซอร์ จอห์น เทมเพอร์ตัน คือ “ซื้อหุ้นเพราะมูลค่าสูงกว่าราคา ไม่ใช่เพราะแนวโน้มตลาดหรือสภาพเศรษฐกิจ” แล้วท่านจะเป็นผู้ชนะในระยะยาว



Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2554 10:34:13 น.
Counter : 471 Pageviews.

0 comment
1  2  

noooon010
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]



สวัสดีครับผม ^^

slumdog millioanaire สุดยอดจริงๆครับ

คนทุกคน มีค่าเท่าๆกัน
คนที่ดูถูกคนอื่นเท่านั้น ที่เป็นการดูถูกตัวของคุณเอง

มาสร้างสิ่งดีๆให้โลกนี้กันดีกว่าครับ
Friends Blog
[Add noooon010's blog to your weblog]