กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เฟิ้สท์คิงและสกันด์คิง


สองกษัตริย์



........................................................................................................................................................



เรื่อง เฟิ้สท์คิงและสกันด์คิง

ปัญหา เหตุใดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงยกย่องพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมอด้วยพระองค์ การมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์นั้นมีราชประเพณีมาแต่ครั้งใด

ตอบ เรื่องเฟิ้สท์คิงและสกันด์คิงของเมืองไทย หรือเรื่องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นี้ ในกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระปิ่นเกล้าฯ ที่นับว่ามีศักดิ์เสมอกัน ความข้อนี้สอบสวนได้จากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า เหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องพระราชอนุชาเสมอกันด้วยพระองค์นั้น มิใช่เพียงแต่ว่า “มีพระราชหฤทัยสนิทเสน่หายิ่งนัก” เท่านั้น เพราะเมื่อได้รับอัญเชิญให้ขึ้นเสวยราชย์ ได้ทรงพิจารณาดูทางโหราศาสตร์เห็นว่า พระปิ่นเกล้านี้มีพระชะตาวิเศษนัก สมควรจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเห็นเป็นอัปมงคล จึงได้ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เป็นการเสมอกันกับพระองค์ ผิดกันก็แต่คำนำหน้าที่ว่ารับพระบรมราชโองการกับพระบวรราชโองการเท่านั้น

เรื่องการยกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ขึ้นเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นี้ นัยว่าทรงอ้างถึงพระราชประเพณีอันมีมาแต่กรุงศรีอยุธยา และยึดเอาพระนเรศวรและพระเอกาทศรถเป็นตัวอย่าง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูให้ละเอียดจะเห็นได้ว่า ทั้งสมเด็จพระนเรศวร พระเอกาทศรถ พระจอมเกล้าฯ และพระปิ่นเกล้าฯ นั้น ดูเป็นการผิดแบบแผนทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ นี้ เป็นการคิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรหรือ หรือมีประเพณีอันใดมาแต่เดิม

เมื่อได้พิจารณาดูในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฏความว่าได้ทรงตั้งพระบรมราชา ราชบุตรอภิเษกให้ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระองค์เสด็จประทับ ณ เมืองพิษณุโลก และเมื่อก่อนสวรรคตพระองค์ได้ตั้งพระราชโอรสพระองค์น้อยเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลกอีกพระองค์หนึ่ง เมื่อสวรรคตแล้วพระบรมราชาผู้เป็นพระเชษฐาได้ครองกรุงศรีอยุธยา จึงให้ราชอนุชาเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลกต่อมา

เรื่องนี้ไปได้ความในหนังสือราชาธิราชตอนหนึ่งว่า สมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ครองเมืองหงสาวดี เป็นไมตรีกับเชียงใหม่ ไทย พะม่า และลังกา ได้แต่งข้าหลวงให้ส่งปริศนาไปทายกัน ไทยสมัยนั้นสอบศักราชตรงกันกับสมัยสมเด็จไตรโลกนาถ ๆ ส่งปริศนาไปถวายพระธรรมเจดีย์ ๆ แก้ได้ ยกย่องถึงแต่งราชทูตเชิญราชบรรณาการไปเฉลิมพระยศเป็น “พระมหาธรรมราชา” ตอนนี้ในราชาธิราชมีคำต่อนิดหนึ่งว่า “เหมือนพระเจ้าตา” จึงอันเป็นอันปรับเรื่องนี้ได้

ที่ว่าปรับเรื่องได้นั้นเป็นดังนี้ พิจารณาเรื่องทางสุโขทัย เมื่อเป็นอิสสระอยู่นั้นเป็นวงศ์หนึ่งต่างหากจากกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้เป็นพระญาติพระวงศ์แก่กัน เมื่อพระเจ้าอู่ทองตั้งวงศ์ขึ้นก็มีการรบพุ่งกันบ้าง ไมตรีกันบ้าง มาเกี่ยวดองกันเมื่อปรากฏในสมัยพระอินทราชาว่า มหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลกสวรรคต เมืองเหนือเป็นจลาจล พระยาบาลเมืองกับพระยารามผู้น้องแย่งราชสมบัติกัน ทรงยกทัพขึ้นไปไกล่เกลี่ยสำเร็จเรียบร้อยเพราะทั้งสองยอมตกลงรับคำตัดสิน จึงให้พระยาบาลเมืองผู้พี่เป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลก พระยารามผู้น้องครองเมืองศรีสัชนาลัย เป็นวงศ์พระร่วงทั้งคู่ และเพื่อควบคุมให้เป็นที่เรียบร้อย ได้ให้หาราชโอรสทั้งสาม คือ เจ้าอ้าย เจ้าญี่ เจ้าสาม ไปครองเมืองต่างๆกัน โดยเฉพาะเจ้าสามพระยาได้ครองอยู่ที่เมืองชัยนาท อันเป็นดินแดนติดต่อแดนระหว่างไทยสุโขทัยกับไทยอยุธยานั้น ได้ทรงขอธิดาพระยาบาลเมืองให้เป็นพระชายา การอภิเษกครั้งนี้คงไม่ได้หมายความเป็นอย่างอื่นนอกจากจะสมานให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ต่อมาไม่ได้จัดการเรื่องราชสมบัติ จึงเป็นเหตุให้เกิดแย่งราชสมบัติกันขึ้น เจ้าอ้าย เจ้าญี่ เชิงสะพานป่าถ่าน เจ้าสามพระยาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ธิดาพระยาบาลเมืองได้เป็นอัครมเหสี มีราชโอรส คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระยาบาลเมืองมหาธรรมราชาจึงเป็นพระเจ้าตา

ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พอพระราเมศวร (พระบรมไตรโลกนาถ) มีพระชนม์พรรษาได้สิบห้าปี ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่มาก พระราชบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก การที่พระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจยิ่ง ปล่อยราชโอรสอันเป็นรัชทายาทมีอายุน้อยเท่านี้ขึ้นไปครองเมืองเหนือ ซึ่งเพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องนี้ เป็นที่น่าสงสัย เพราะอาจถูกฆ่าได้โดยง่าย ฉะนั้นในตอนนี้ต้องเดาด้วยเหตุผล และไม่มีผิดว่า การที่ส่งพระราเมศวรขึ้นไปทั้งที่ยังทรงพระเยาว์นี้คงเป็นเพราะ “พระเจ้าตา” หรือมหาธรรมราชาบาลเมืองสิ้นพระชนม์ และพวกพระยารามซึ่งเคยแย่งราชสมบัติก่อการร้ายขึ้น พวกพิษณุโลกเห็นจะมากกว่าพวกศรีสัชนาลัย และคงรวมเข้าเป็นกลาง ไปทูลขอเอาพระราเมศวรซึ่งมีเชื้อสาย “พระเจ้าตา” มาครองเมืองพิษณุโลก และเมื่อเอารัชทายาทแห่งกรุงศรีอยุธยามาครองเสียเช่นนี้ ทางศรีสัชนาลัยก็ย่อมเกรงกลัวพระบารมีไม่คิดสู้

ข้างฝ่ายพระบรมราชาผู้เป็นพระราชบิดาก็คงทรงยินดีอยู่เองที่ทรงสามารถรวบรวมอาณาจักรไทยทางเหนือได้โดยไม่ลำบากแก่ไพร่พล ทั้งพระชนนีของพระราเมศวร และพระญาติข้างพระชนนีก็คงจะช่วยกันอุดหนุน ด้วยประการนี้ พระราเมศวรแม้จะมีพระชนมายุน้อยก็ไม่วิตกประการใด และเมื่อพระราชบิดาสวรรคตราชสมบัติตกอยู่แก่พระราเมศวร ซึ่งต่อมาเฉลิมพระเกียรติเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระบรมไตรโลกนาถจึงได้ราชสมบัติทั้งพระนครศรีอยุธยาและนครสุโขทัยถูกต้องตามกฎหมาย เป็น Right heir ทีเดียว และก่อนที่จะรวมเขตเข้าด้วยกันก็ผะเชิญพระยายุทษฐิระเชื้อสายพระยารามไม่พอใจ ไปคบกับท้าวลกแห่งลานนา ต้องปราบปรามกันอยู่จน “ยวนพ่าย”

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเห็นว่ายังไม่สามารถจะรวมกันได้สนิทนัก จึงได้จัดให้รัชทายาทไปครองเมือง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแต่นั้นเป็นต้นมาได้จัดส่งรัชทายาทไปครองเมืองเสมอมา ตลอดจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ คงไม่ใช่เชื้อพระร่วงจึงต้องยกราชธิดาให้ขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นเชื้อพระร่วงให้ไปครองเมืองพิษณุโลกและเมื่อได้มีเชื้อพระร่วง คือ สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ ทั้งสองพระองค์ก็ได้ครองเมืองพิษณุโลกสมประสงค์ในภายหลัง จนถึงศึกหงสาวดี เมื่อเกิดศึกนั้นพระนเรศวรจะทำศึกใหญ่ ต้องการรวบรวมกำลังอยู่ที่เดียว จึงต้อนกำลังจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมาอยู่ในกรุงสิ้น ทำให้หัวเมืองฝ่ายเหนือทรุดโทรมลง

เมื่อพระนเรศวรเสวยราชย์ หากบ้านเมืองเรียบร้อย คงตั้งให้พระอนุชาไปครองเมืองพิษณุโลก แต่ครั้งนั้นเนื่องด้วยคนเมืองเหนือลงมาอยู่กรุงศรีอยุธยาหมด เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งพระเอกาทศรถก็เลยตั้งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ครองอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาควบคุมคนหัวเมืองเหนือทั้งปวงที่อยู่ในกรุง มีกฎหมายลักษณะกบฏศึกในแผ่นดินพระเอกาทศรถ* บังคับพวกหัวเมืองฝ่ายเหนือกล่าวไว้ ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อพระเอกาทศรถเสวยราชย์ ชาวเมืองเหนือถูกกวาดมาอยู่กรุงศรีอยุธยาเสียแล้วกว่าสิบปี จึงไม่เป็นต่างพวกต่างพ้อง กลายเป็นพวกเดียวกันอยู่กรุงศรีอยุธยามาจนบัดนี้ ฉะนั้นพระเอกาทศรถจึงไม่จำเป็นต้องตั้งรัชทายาทไปครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ เรื่องพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ของเราก็เลยลงเอยที่ตรงนี้.


....................................................................................................................................................

* ตรงนี้น่าจะพิมพ์พลาดไป ในนิทานโบราณคดีทรงไว้ว่า

ความที่ว่านี้มีหลักฐาน ด้วยมีพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระเอกาทศรถปรากฏอยู่ในกฎหมายเก่าหมวดลักษณะกบฏศึกบท ๑ ตั้งเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๙๕๕ (พ.ศ. ๒๑๓๖) เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีได้หนึ่งปี ในพระราชกฤษฎีกานั้นตั้งต้นบอกศุภมาศวันคืน และอ้างพระราชโองการสมเด็จพระเอกาทศรถ แล้วกล่าวความว่าข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งเกณฑ์เข้ากระบวนทัพไป "รบพุ่งด้วยสมเด็จพระบาทบงกชลักษณ์อรรคปุริโสดม บรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศวร เชษฐาธิบดี มีชัยชำนะแก่มหาอุปราชาหน่อพระเจ้าชัยทศทิศเมืองหงสาวดี (ทั้ง)ฝ่ายทหารพลเรือนล้มตายในณรงค์สงครามเป็นอันมาก และรอดชีวิตมาได้ก็เป็นอันมากนั้น ทรงพระกรุณาพระราชทานปูนบำเหน็จ" ให้ยกหนี้หลวงพระราชทานแก่ผู้อยู่และพระราชทานแก้บุตรภรรยาผู้ตายด้วยทั้งหมด พระราชกฤษฎีกานี้เห็นได้ว่ายกหนี้พระราชทานชาวเมืองเหนือ จึงใช้พระนามสมเด็จพระเอกาทศรถ ถ้ายกหนี้พระราชทานทั่วไปทั้งหมดทั้งชาวเมืองเหนือและเมืองใต้ จำต้องเป็นพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


.........................................................................................................................................................


คัดจาก
บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประทาน หม่อมราชวงศ์ สุมนชาติ สวัสดิกุล



Create Date : 10 พฤษภาคม 2550
Last Update : 10 พฤษภาคม 2550 16:14:58 น. 0 comments
Counter : 1638 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com