|
หมวดธงหมายยศ
ธงจอมพลเรือ ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนผ้าสีขาบ ข้างหน้าช้างมีรูปสมอไขว้ ๒ ตัว กับมหามงกุฎสีเหลือง ทรงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดฯให้ใช้สำหรับหมายตำแหน่งยศจอมพลเรือ ถ้าใช้ในเรือใหญ่ให้ชักขึ้นที่เสาใหญ่
 ธงจอมพลเรือ พ.ศ. ๒๔๕๓
ธงเกตุ เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าสีขาบ สำหรับหมายยศแม่ทัพเรือ ตำแหน่งนายพลเรือเอกชักขึ้นที่เสาใหญ่ ตำแหน่งนายพลเรือโทชักขึ้นที่เสาหน้า ตำแหน่งนายพลเรือตรีชักขึ้นที่เสาท้าย ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯให้เรียกว่า "ธงฉาน" สำหรับนายพลเรือเอกชักขึ้นบนเสาใหญ่ สำหรับนายพลเรือโทเพิ่มรูปจักรสีขาวที่มุมธงข้างหน้าช้างจักร ๑ ชักขึ้นบนเสาหน้า สำหรับนายพลเรือตรีเพิ่มจักรสีขาวข้างมุมบนมุมล่างหน้าช้าง ๒ จักร ชักขึ้นบนเสาหลัง หรือถ้าเป็นเรือ ๒ เสาชักขึ้นบนเสาหน้า
 ธงเกตุ เปลี่ยนชื่อเป็น ธงฉาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ต่อมาใช้เป็นธงหมายยศนายพลเรือเอก
ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯให้ใช้ธงพื้นสีขาบ กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหน้าเข้าข้างเสาไม่มีจักร เรียกว่า "ธงฉาน" สำหรับชักหน้าเรือหลวงทั้งปวง ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งหรือเรือรบในขณะที่อยู่ในราชการ ถ้าชักขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าเรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว และใช้เป็นธงประจำกองสำหรับกองทหารเรือเวลาขึ้นบกด้วย
ส่วนธงฉานที่มีจักร เรียกว่า "ธงนายพลเรือ" ไม่มีจักรสำหรับยศนายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่ มีจักรดวง ๑ ข้างมุมบนสำหรับยศนายพลเรือโท ชักขึ้นเสาหน้า มีจักร ๒ จักรข้างมุมบนและมุมล่างสำหรับยศนายพลเรือตรี ถ้าเรือ ๓ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหลัง ถ้า ๒ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหน้า
 ธงหมายยศนายพลเรือเอก
 ธงหมายยศนายพลเรือโท
 ธงหมายยศนายพลเรือตรี
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ โปรดฯให้แก้ธงชาติเป็นพื้นสีแดงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสา สำหรับใช้เป็นธงราชการ ส่วนธงค้าขายใช้สำหรับสาธารณชนที่เป็นชาติชาวสยามทั่วไป เป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นแดง มีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาวส่วนครึ่ง มีแถบขาว ๒ แถบ กว้าง ๑ ใน ๖ ส่วนของธง ทาบภายในติดตามยาว ห่างจากขอบล่างและบน ๑ ใน ๖ ส่วนของส่วนกว้างแห่งธง ได้ใช้อยู่หนึ่งปี ถึงพ.ศง ๒๔๖๐ ทรงพระราชดำริว่าธงชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้นยังไม่สง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่งให้เป็น ๓ สี ตามลักษณะธงชาติของนานาประเทศที่ใช้อยู่โดยมากนั้น และสีน้ำเงินก็เป็นสีประจำพระชนมวารเฉพาะพระองค์ด้วย จึงโปรดฯให้แก้ธงชาติสยามเป็นรูปสี่เหลี่ยมรีมีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบน้ำเงินแก่กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดกว้างแห่งธง ข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ให้เรียกนามว่า "ธงไตรรงค์" สำหรับใช้ชักขึ้นในเรือพ่อค้าทั้งหลาย และในที่ต่างๆของสาธารณชนที่เป็นชาติชาวสยามทั่วไป ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้าง ซึ่งใช้เป็นธงชาติสยามมาแต่ก่อนนั้นให้ยกเลิก
 ธงชาติ พ.ศ. ๒๔๕๙ (ธงราชการ)
 ธงค้าขาย พ.ศ. ๒๔๕๙
 ธงไตรรงค์ หรือ ธงชาติ พ.ศ. ๒๔๖๐
ในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดฯ ให้แก้ธงฉานเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีรูปสมอไขว้กับจักร และมีรูปพระมหามงกุฎสีเหลืองอยู่เบื้องบนตรงกลางพื้นธงด้วย
 ธงฉาน พ.ศ. ๒๔๖๐
ธงหางแซงแซว ข้างต้นพื้นแดง กลางเป็นวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายหางแซงแซวนั้นมีสีขาบ สำหรับหมายตำแหน่งยศนายพลเรือเอก ตำแหน่งยศนายพลเรือโทมีจักร ๓ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือตรีมีจักร ๒ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือจัตวามีจักรดวง ๑ ชักขึ้นที่เสาใหญ่
 ธงหางแซงแซวหมายยศนายพลเรือเอก
 ธงหางแซงแซวหมายยศนายพลเรือโท
 ธงหางแซงแซวหมายยศนายพลเรือตรี
 ธงหางแซงแซวหมายยศนายพลเรือจัตวา
ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯให้ใช้ธงฉานตัดชายเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซวแทน เรียกว่า ธงหางแซงแซวรับชัว สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ เป็นที่หมายว่านายพลเรือจัตวาอยู่ในเรือนั้น ใช้ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯให้สร้างธงนายพลเรือเหมือนธงฉาน เป็นเครื่องหมายตำแหน่งยศนายพลเรือเอก ถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นที่เสาใหญ่ ถ้าและธงนี้มีรูปจักรสีขาวจักร ๑ อยู่ที่มุมบนข้างหน้าช้าง เป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือโท ถ้ามี ๒ จักรเป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือตรี ธงนายพลเรือโทถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นที่เสาหน้า ส่วนนายพลเรือตรีนั้น ถ้าเป็นเรือ ๓ เสา ให้ชักขึ้นที่เสาหลัง ถ้าเป็นเรือ ๒ เสาให้ชักขึ้นที่สาหน้า ถ้านายพลเรือจัตวาให้คงใช้ธงฉานตัดชายเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซวเป็นเครื่องหมายตำแหน่งยศ ถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นบนเสาหลัง
 ธงหางแซงแซวรับซัว พ.ศ. ๒๔๔๐ ใช้หมายยศนายพลเรือจัตวา
ธงหางจรเข้ ข้างต้นพื้นแดง กลางเป็นวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายสีขาบ ยาว ๓๐ ฟิต กว่าง ๖ นิ้ว สำหรับใช้ในเรือรบ เป็นที่หมายตำแหน่งผู้บังคับการ มีจักร ๔ ดวงสำหรับนายเรือเอก ๓ ดวงสำหรับนายเรือโท ๒ ดวงสำหรับนายเรือตรี ดวง ๑ สำหรับนายเรือจัตวา
 ธงหางจระเข้ (พ.ศ.๒๔๓๔) สำหรับหมายตำแหน่งผู้บังคับการเรือชั้นนายเรือเอก
 ธงหางจระเข้ (พ.ศ.๒๔๓๔) สำหรับหมายตำแหน่งผู้บังคับการเรือชั้นนายเรือโท
 ธงหางจระเข้ (พ.ศ.๒๔๓๔) สำหรับหมายตำแหน่งผู้บังคับการเรือชั้นนายเรือตรี
 ธงหางจระเข้ (พ.ศ.๒๔๓๔) สำหรับหมายตำแหน่งผู้บังคับการเรือชั้นนายเรือจัตวา
ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯให้ใช้ธงหางจรเข้ไม่มีรูปจักร สำหรับชักขึ้นบนเสา เป็นที่หมายเฉพาะนายเรือ ได้ใช้ต่อมาจึนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯให้เรียกว่า "ธงนายเรือ" สำหรับชักขึ้นบนเสา เป็นที่หมายเฉพาะนายเรือ
 ธงนายเรือ หรือ ธงหางจระเข้ สำหรับหมายตำแหน่งผู้บังคับการเรือ
ธงผู้ใหญ่ ข้างต้นกว้าง ๑๔ นิ้ว ยาวศอกคืบ เรียวปลายแหลม ส่วนหนึ่งข้างต้นพื้นสีขาบ สองส่วนข้างปลายพื้นสีขาว มีจักรสีขาวอยู่กลางพื้นสีขาบ ทรงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ สำหรับใช้กับธงหางจรเข้เมื่อเรือหลวงทอดอยู่นอกพระมหานครตั้งแต่ ๒ ลำขึ้นไป อันได้ชักธงหางจรเข้ขึ้นไว้บนเสาใหญ่ทุกลำ ถ้าลำใดชักธงนี้ขึ้นบนเสา เป็นที่หมายว่านายเรือผู้ใหญ่อยู่ในเรือลำนั้น
 ธงผู้ใหญ่ (ปัจจุบันรูปแบบของธงนี้เปลี่ยนแปลงและเรียกชื่อใหม่ว่าธงหัวหน้าชั่วคราว)
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับนายทหารผู้ใหญ่ในกระบวนเรือซึ่งอยู่ในลำนั้น เว้นไว้แต่ถ้านายทหารผู้ใหญ่เป็นนายพลจึงให้ใช้ธงนายพลตามตำแหน่งยศ
ธงนำร่องของกรุงสยาม เป็นรูปช้างเผือกเปล่าพื้นแดง ขอบนอกขาวทั้ง ๔ ด้าน สำหรับชักบอกเป็นที่หมาย ชักขึ้นในที่ใด นำร่องอยู่ที่นั้น ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ โปรดฯให้แก้ไขธงนำร่องเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีขอบขาวโดยรอบ เป็นเครื่องหมายตำแหน่งพนักงานนำร่อง ให้ชักธงนี้ขึ้นบนเสาหน้าเป็นสัญญา และโปรดฯให้สร้างธงราชนาวีขึ้นใหม่ในคราวเดียวกันนี้ มีลักษณะเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีวงกลมสีแดงอยู่กลาง ขอบจุดแถบสีแดงของพื้นธงภายในดวงกลมนั้นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักขึ้นที่ท้ายเรือและสถานที่ราชการต่างๆของราชนาวีด้วย
 ธงนำร่องของกรุงสยาม สมัยรัชกาลที่ ๕
 ธงนำร่อง พ.ศ. ๒๔๖๐
 ธงราชนาวี พ.ศ. ๒๔๖๐
ส่วนธงตำแหน่งราชการ สำหรับหน้าที่กระทรวงทบวงการต่างๆ ก็โปรดฯให้เปลี่ยนพื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ แต่ต้องเติมเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดลงที่กลางธงเป็นสำคัญ เจ้าพนักงานกรมใดจะใช้เครื่องหมายธงนั้นเป็นอย่างไร ต้องแจ้งความให้กระทรวงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาพระราชบัญญัติธงนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนจึงจะใช้ได้
 ธงกรมเจ้าท่า
 ธงกรมไปรษณีย์โทรเลข
 ธงกรมตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธร
 ธงกระทรวงมหาดไทย
 ธงกระทรวงยุติธรรม
 ธงราชการในราชสำนัก
....................................................................................................................................................
Create Date : 03 เมษายน 2550 |
Last Update : 23 เมษายน 2550 11:02:24 น. |
|
0 comments
|
Counter : 6323 Pageviews. |
|
 |
|
|
|
|
|
กัมม์ |
 |
|
 |
|