|
จุลสาร ลีลากฎหมาย
จุลสารกฎหมาย แบบE-book บทความกฎหมายดี อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นาน เนื้อหาน่าสนใจเช่น สิทธิเลือกตาย มรดกสยอง คู่สมรสต่างชาติกับสัญชาติไทย สถานภาพลูกอุ้มบุญในไทย หลักการแบ่งมรดก ชนิดของทายาท ชาย/หญิงนอกสมรส สถานภาพทารกในก.ม. ความรุนแรงในครอบครัว และอื่นๆ ชื่อเล่ม คือ ลีลากฎหมาย จุลสารกฎหมาย ฉบับ E-book สร้างสรรค์โดย สำนักพิมพ์ neo_redhorse เขียนโดย ลีลา LAW เนื้อหามีหลากหลาย เรื่องใกล้ตัว ย่อยให้อ่านง่ายและเร็ว คุณภาพเนื้อหาเพียบ ราคา 59 บาท ดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่ //tinyurl.com/leelalaw1 อ่านได้ในแท็บเลต และไอแพด เรื่องที่คนไทยอยากรู้ แต่ขยาดกับความยาก เสริมวัคซีนก.ม.ได้ง่ายขึ้นแล้วกับ ลีลากฎหมาย สำหรับชาวไอที หวังว่า เพื่อนๆที่ติดตามบทความในเว็บนี้ จะให้กำลังใจกับจุลสารกฎหมายฉบับไอทีที่ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อคนไทย เก็บไว้อ่านได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนฝากจุลสารฉบับนี้และขอบคุณทุกน้ำใจของเพื่อนด้วย
***************************
Create Date : 24 พฤศจิกายน 2554 | | |
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2554 14:53:33 น. |
Counter : 1879 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
บริจาคที่ดิน เอาคืนไม่ได้
บริจาคให้รัฐ เรียกคืนไม่ได้ เขียนโดย ลีลา LAW กาลเวลาผ่านไปบ้านเมืองย่อมมีการพัฒนาตามไปด้วยเช่นกัน นอกจากรัฐจะเป็นผู้ริเริ่มในการปรับปรุงให้เจริญแล้ว บางครั้งก็จำต้องได้รับการสนับสนุนจากเอกชน เรามักได้ยินเสมอว่า มีคนไทยใจบุญซึ่งมีฐานะดีหลายท่านบริจาคเงินหรือที่ดินในการสร้างสถานที่ราชการหรือถนนหนทางเพื่อสาธารณประโยชน์มากมาย บางกรณีเกิดปัญหาขึ้นหลังจากบริจาคไปแล้ว ทางราชการกลับนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นแทน อันสร้างความไม่พอใจแก่ผู้บริจาค จนกระทั่งยึดสิ่งของที่ให้คืน ทำให้เกิดข้อพิพาทต่อกัน ปัญหาใช้ที่ดินซึ่งได้รับบริจาคมาผิดวัตถุประสงค์เดิมของผู้บริจาคได้มีการตัดสินคดีไว้แล้วใน คำพิพากษาฎีกาที่ 2004/2544 ว่า ตอนแรกทางกรุงเทพมหานครได้กำหนดแนวสร้างถนนใหม่เพื่อมารับกับสะพานที่สร้างใกล้เสร็จ จึงติดต่อเจรจากับ นางจิตรา เพื่อขอใช้ที่ดินแปลงพิพาททำเป็นถนน ด้วยความใจบุญและเห็นว่าเป็นการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม จึงบริจาคอุทิศที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะและจดทะเบียนยกให้ด้วย กรณีนี้จึงถือว่า ที่ดินแปลงนี้ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) เวลาผ่านไประยะหนึ่งกรุงเทพมหานครเกิดเปลี่ยนแนวถนนใหม่ จึงมิได้ใช้ที่ดินดังกล่าวทำถนนแต่อย่างใด นางจิตราจึงกลับเข้าครองที่ดินอีกครั้ง หลายปีต่อมากรุงเทพมหานครมีโครงการใช้ที่ดินแปลงนั้นสร้างเป็นท่าเทียบเรือขนขยะ ทำให้นางจิตราโต้แย้งว่า อีกฝ่ายมิได้ทำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บริจาคให้สร้างถนน กรรมสิทธิ์จึงกลับมาเป็นของเจ้าของที่ดินเดิมอีกครั้ง และด้วยเวลาที่ยาวนานในการครอบครองหลังบริจาคให้แล้ว ศาลได้ตัดสินข้อพิพาทดังกล่าวว่า เมื่อบริจาคที่ดินให้รัฐ ทำให้กลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว การไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ใดๆ มิได้ทำให้สภาพความเป็นสาธารณสมบัติสูญสิ้นไป แม้กรุงเทพมหานครจะมิได้ใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ที่ขอรับบริจาค และ นางจิตราอดีตเจ้าของที่ดินกลับเข้าครอบครองที่ดินพิพาทใช้ประโยชน์นานเพียงใด มิทำให้กรรมสิทธิ์ตกไปเป็นของนางจิตราได้อีก เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กรณีศึกษาข้างต้นถือเป็นข้อเตือนใจอย่างหนึ่งว่า การรู้จักบริจาคเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน เป็นสิ่งที่ดี แต่ท่านพึงระลึกไว้ด้วยว่า การบริจาคเงินหรือที่ดินให้รัฐนั้น ไม่อาจเปลี่ยนใจกลับมาทวงสิ่งของบริจาคคืนได้อีก เพราะเมื่อเป็นของรัฐ กฎหมายถือว่ามันกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปทันที รัฐจะนำไปใช้ทำอย่างไรเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมได้ ยกเว้นการทำเพื่อบุคคลใดโดยเฉพาะเท่านั้น ดังนั้น ก่อนที่จะบริจาค ท่านต้องทำใจบุญเสียสละอย่างสมบูรณ์เสียก่อน เพื่อจะไม่ต้องเสียดายหรือผิดหวังทีหลัง เพราะมีกฎหมายคุ้มครองรัฐในกรณีนี้ไว้แล้ว
*******************
Create Date : 10 พฤษภาคม 2554 | | |
Last Update : 10 พฤษภาคม 2554 14:15:20 น. |
Counter : 1967 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ค่าสินไหมทางแพ่ง
เขียนโดย ลีลา LAW
การดำเนินคดีในศาลแบ่งเป็นทางแพ่งหรือทางอาญา คู่กรณีต้องการให้ลงโทษผู้กระทำผิดหรือสร้างความเสียหายแก่ตน คดีแพ่งและคดีอาญามีการลงโทษแตกต่างกัน คือ คดีอาญาจะเน้นการลงโทษที่ร่างกายของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก เช่น โทษประหารชีวิต จำกัดอิสรภาพหรือพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือครอบครัว เป็นต้น ส่วนคดีแพ่งจะเน้นลงโทษโดยการบรรเทาหรือชดใช้ความเสียหายจากทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด เช่น จ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย หรือ บังคับทางทะเบียน เป็นต้น ดังนั้น การเลือกดำเนินคดีทางใดนั้น ผู้ฟ้องคดีต้องพิจารณาก่อนว่า ต้องการให้ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างไร พฤติกรรมเป็นเหตุให้ฟ้องคดีนั้นเข้าองค์ประกอบทางแพ่งหรือทางอาญา ศาลจะลงโทษไม่เกินกว่าที่ร้องขอหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย กรณีคดีแพ่งซึ่งจะลงโทษด้วยการให้ชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายจากทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดนั้น ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องได้และได้รับจริงไม่เท่ากับที่ร้องขอไป หลายคนสงสัยว่าเหตุใดศาลจึงไม่ให้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ร้องขอ ศาลมีอำนาจเพิ่มหรือลดค่าเสียหายได้หรือไม่ คำตอบมีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย ข้อบัญญัติเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายกำหนดชัดว่าเป็นอำนาจของศาลจะใช้ดุลพินิจว่าค่าสินไหมทดแทนควรเป็นเท่าไร แต่ต้องไม่เกินกว่าคำฟ้องหรือร้องของโจทก์ อีกทั้งยังบอกด้วยว่าค่าสินไหมทดแทนได้แก่ การคืนทรัพย์สิน การใช้ราคาทรัพย์สิน และ ค่าเสียหายรูปแบบอื่นที่ใช้บังคับชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งอาจมิใช่เงินก็ได้ หลายครั้งจักเห็นคำสั่งศาลให้ผู้แพ้คดีต้องจ่ายเงินค่าลงประกาศขอโทษทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆเมื่อแพ้คดีละเมิดหรือหมิ่นประมาท ซึ่งกระทำได้เพราะกฎหมายให้อำนาจแก่ศาลเพื่อชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดทางแพ่ง กรณีการเรียกค่าเสียหายที่หลายคนสงสัยว่า เหตุใดร้องขอไปจำนวนหนึ่ง แต่ศาลอาจให้น้อยกว่าที่ร้องขอก็ได้ คำตอบคือ การพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่วินิจฉัยตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง ที่รับฟังจากการพิจารณาคดีซึ่งโจทก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ได้รับความเสียหายอย่างไร มากน้อยเพียงใด ตัวเลขที่ร้องขอสมเหตุสมผลกับข้อเท็จจริงอย่างไร ส่วนจำเลยมีสิทธิ์โต้แย้งค่าเสียหายนี้ได้ด้วยการพิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างกับโจทก์ ศาลมีหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่โจทก์และจำเลยอย่างเสมอภาค หากศาลเห็นว่าโจทก์ร้องขอมากเกินสมควร ย่อมมีสิทธิ์ลดจำนวนเงินลงได้ หลายครั้งจึงมักเห็นว่าโจทก์ร้องขอค่าเสียหายหลายสิบล้านบาท แต่ศาลอาจตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเพียงหลักแสนบาทก็ได้ถ้าเชื่อว่าความเสียหายของโจทก์ไม่มากอย่างที่ยื่นขอไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐานพิสูจน์ของโจทก์และจำเลยเป็นหลัก ส่วนใหญ่คดีแพ่งนั้นโจทก์มักเรียกค่าเสียหายจำนวนสูงไว้ก่อน เพราะศาลจะเป็นผู้กำหนดค่าเสียหายในคดีดังกล่าว ข้อสังเกตสำหรับการฟ้องคดีแพ่งคือ ยิ่งผู้เสียหายเป็นคนหรือบริษัทมีชื่อเสียงมากเพียงใด ค่าเสียหายที่จักได้รับหากชนะคดีต้องสูงขึ้นไปด้วยเหตุมูลค่าของชื่อเสียงนั่นเอง สิ่งพึงระลึกให้มั่นในใจคือ จงหลีกเลี่ยงการมีคดีในศาลไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา เพราะนอกจากแพ้คดีแล้วต้องจ่ายค่าสินไหมจำนวนสูง ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะท่านต้องจ่ายค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมดำเนินคดีในศาล ค่าใช้จ่ายจิปาถะ จนกว่าคดีสิ้นสุด สิ่งสุดท้ายที่มักลืมคิดถึง คือ ค่าเสียเวลาไปขึ้นศาลหรือปรึกษาคดีกับทนายความเป็นระยะซึ่งตีค่าเป็นตัวเงินไม่ชัดเจนนัก วิธีป้องกันดีที่สุด คือ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะกฎหมายบัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของคนไทยเป็นพื้นฐาน ถ้ากระทำตามอย่างถูกขั้นตอน จักได้รับความคุ้มครองดูแลจากกฎหมาย การหลีกเลี่ยงหรือมักง่าย จักต้องรับความเสี่ยงในการสูญเสียหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยตนเป็นผู้รับความเสียหายเพียงคนเดียว แทนที่คู่สัญญาอีกฝ่ายจะต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียวหรือร่วมรับความเสียหายด้วย หากต้องการหลีกเลี่ยงการมีคดีความในศาล คนไทยควรหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งหรืออาญาไว้เพื่อจะรู้ว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดเป็นเรื่องต้องห้าม ตัวอย่างเช่น หลักการทำสัญญาทางแพ่ง ความผิดอาญาที่อาจพบบ่อยในชีวิตประจำวัน สิทธิเบื้องต้นของผู้ถูกกล่าวหาทางคดี ขอบเขตอำนาจของตำรวจ เป็นต้น กฎหมายกำหนดสิทธิ อำนาจของประชาชนคนไทยไว้ ถ้าไม่รักษาสิทธิ์ไว้ ไม่รู้จักใช้ จักกลายเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ของผู้มีอำนาจที่ไม่ดีในสังคมได้ ความรู้มีอยู่รอบกาย สุดแต่ผู้ใดจักไขว่คว้าเก็บมาเป็นเกราะป้องกันภัยส่วนตัว สิ่งของอาจถูกฉกชิงไปจากตัวได้ แต่ความรู้เป็นสมบัติล้ำค่าส่วนตัวที่ไม่มีผู้ใดแย่งไปจากท่านได้
*********************************
Create Date : 05 พฤษภาคม 2550 | | |
Last Update : 5 พฤษภาคม 2550 13:46:44 น. |
Counter : 1071 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
เจ้าของกับคดีบุกรุก
เขียนโดย ลีลา LAW หลายท่านซึ่งมีบ้านหรือที่ดินไว้ให้เช่าอาจเคยประสบปัญหาผู้เช่าไม่ยอมจ่ายค่าเช่าและยังคงอยู่ต่อไปอย่างท้าทาย หรือ ทำละเมิดสัญญาเช่าข้ออื่นอันเป็นเหตุให้เจ้าของจำต้องให้ออกจากสถานที่เช่า แต่ผู้เช่ามีทีท่าดื้อดึงไม่ยอมออกง่ายๆ บางท่านถึงขั้นเข้าไปขนย้ายข้าวของซึ่งเป็นของผู้เช่าออกไปจากบ้าน ทำให้ถูกแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกกับตำรวจ เจ้าของบ้านกลับกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีบุกรุกไปในท้ายที่สุด ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับความผิดอาญาฐานบุกรุกซึ่งบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ว่า ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับกรณีตัวอย่างในที่นี้ คือ การเช่าบ้าน เมื่อมีการทำละเมิดสัญญาเช่า เช่น ค้างค่าเช่า ก่อความเสียหายแก่บ้านเช่าเกินเหตุ เป็นต้น หากผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าและให้ผู้เช่าออกไป แต่เขายังดื้อดึงอยู่อาศัยต่อไป ทำให้ผู้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเดือดดาลใจจนกระทั่งบุกเข้าไปรื้อย้ายสิ่งของที่เป็นของผู้เช่าในบ้านพิพาท ขอให้พึงเข้าใจด้วยว่า การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการเข้าไปกระทำการใดๆเพื่อรบกวนการครอบครองบ้านพิพาทของผู้เช่าโดยปกติสุข อันเป็นการกระทำผิดฐานบุกรุกทันที แม้ว่าท่านจะเป็นเจ้าของบ้านก็ตาม เพราะการขับไล่ออกจากบ้านเช่าหลังจากเลิกสัญญาเช่าอันเป็นกรณีทางแพ่งต้องกระทำตามขั้นตอนของกฎหมายเท่านั้น นอกเหนือจากผู้เช่ายอมปฏิบัติตามเองแล้ว เจ้าของบ้านต้องฟ้องคดีขับไล่โดยอาศัยสัญญาเช่าเป็นหลักซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะได้บ้านคืนมา ทำให้ผู้เช่าอาศัยบ้านเช่าต่อไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุดซึ่งอาจสร้างความอึดอัดใจแก่เจ้าของหรือผู้ให้เช่าอย่างมาก กฎหมายบัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้สุจริต จึงมีหนทางบรรเทาความเสียหายไว้เช่นกัน ดังนั้น ศาลมีคำพิพากษาฎีกาสำหรับกรณีดังกล่าว คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 3025/2541 ข้อตกลงล่วงหน้าระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าที่ว่า หากผู้เช่าทำผิดสัญญาข้อใด จักยินยอมให้ผู้ให้เช่าเข้าครอบครองห้องเช่าได้ทันที ใช้บังคับกันได้ ดังนั้น ผู้ให้เช่าย่อมมีอำนาจใช้สิทธิเข้ายึดถือครอบครองตึกแถวที่ให้เช่าได้โดยชอบตามที่ตกลงกันไว้ กรณีศึกษาข้างต้นนี้ คงเป็นวิธีการหนึ่งในการปกป้องสิทธิของผู้ให้เช่าในการดูแลทรัพย์สินของตัวเองได้ดีกว่าการใช้กำลังแก้ปัญหา ซึ่งอาจทำให้ท่านต้องถูกดำเนินคดีบุกรุกบ้านของตัวเอง ดังนั้น ในการทำสัญญาเช่าทุกครั้ง ผู้ให้เช่าพึงกำหนดสิทธิดังกล่าวไว้ในสัญญาเช่าเพื่อป้องกันการถูกฟ้องคดีบุกรุกให้ต้องเจ็บใจภายหลัง และพึงระลึกด้วยว่า กฎหมายคุ้มครองผู้สุจริตเสมอ ทุกวิธีซึ่งใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งกันต้องอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมาย สังคมจึงสงบสุขได้
*******************
Create Date : 25 มีนาคม 2550 | | |
Last Update : 25 มีนาคม 2550 14:42:50 น. |
Counter : 1232 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ค่าชดเชยในคดีอาญา
เขียนโดย ลีลา LAW
ท่านคงเคยสงสัยว่า เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น เช่น ข่มขืน ฆ่าคนตาย ทิ้งเด็กไว้ในถังขยะ ทอดทิ้งคนชราในประการที่อาจเกิดอันตรายแก่ชีวิต เป็นต้น ถ้าจับผู้กระทำผิดได้ จักถูกลงโทษตามหลักกฎหมายนั้นๆ แล้วผู้เสียหายหรือทายาทของเขาจะไม่ได้รับการทดแทนใดๆเหมือนในคดีแพ่งบ้างหรือ เพื่อความยุติธรรมและเมตตาจิตของรัฐ จึงออกกฎหมายเพื่อชดเชยความสูญเสียของผู้เสียหายหรือจำเลยในคดีอาญาที่อาจถูกใส่ร้ายในคดี ต่อมาศาลได้พิพากษาให้พ้นผิด แต่เขาได้สูญเสียหรือเสียหายจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐไปแล้ว ดังเช่น การจับและฟ้องผู้ต้องหาผิดคนในดคีฆ่าเชอรี่แอน ดังแคน ซึ่งทำลายครอบครัวจำเลยไปหลายคน บางคนก็ตายไประหว่างการจำขัง เป็นต้น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 มีผลใช้ในทางปฏิบัติได้ประมาณต้นปี 2545 นี้ ซึ่งรัฐจักช่วยชดเชยความเสียหายแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ไม่รวมถึงกรณีที่เอกชนฟ้องคดีกันเอง บุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนหรือค่าทดแทนได้ คือ 1. ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น 2. จำเลย หมายถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำผิดอาญา และมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ด้วย คือ 1. ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ 2. ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี 3. ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้กระทำผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือ ปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ฐานความผิดที่ทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย คือ 1. ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 ถึง มาตรา 287 เช่น ข่มขืนหญิงหรือเด็ก ทำอนาจารเด็ก ล่อลวงในทางเพศ เป็นต้น 2.ความผิดต่อชีวิต มาตรา 288 ถึง มาตรา 294 เช่น การฆ่าผู้อื่น ประมาททำให้คนอื่นตาย เป็นต้น 3. ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295 ถึง มาตรา 300 เช่น ทำร้ายร่างกาย ชุลมุนต่อสู้แล้วมีคนบาดเจ็บ ประมาทในการทำร้ายแล้วเกิดบาดเจ็บ เป็นต้น 4. ความผิดฐานทำให้แท้งลูก มาตรา 301 ถึง มาตรา 305 เช่น การทำแท้งด้วยตนเอง หรือ ยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง ทำแท้งโดยหญิงไม่ยินยอม หรือ ผิดเงื่อนไขของกฎหมาย เป็นต้น 5. ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ หรือ คนชรา มาตรา 306 ถึง มาตรา 308 เช่น ทิ้งเด็กทารกในถังขยะไม่ว่าเด็กจะตายหรือไม่ เป็นต้น ลักษณะเงินชดเชยที่รัฐจ่ายให้ แยกเป็น กรณีเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา สิ่งที่ได้รับคือ 1. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ 2. ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตายเป็นจำนวนตามที่กฎกระทรวงกำหนด 3. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ 4. ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นๆตามที่กำหนดเห็นควร จำนวนค่าตอบแทนนั้น ต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมถึงโอกาสที่จะได้รับการบรรเทาโดยทางอื่นด้วย กรณีเป็นจำเลยในคดีอาญา จักได้รับ 1. ค่าทดแทนการถูกคุมขัง 2. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล 3. ค่าทดแทนกรณีจำเลยถึงแก่ความตาย และ ความตายเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี 4. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี 5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี จำนวนค่าทดแทนจักได้รับเพียงใดหรือไม่ ต้องคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดี ความเดือดร้อนที่จำเลยได้รับและโอกาสที่จำเลยจะได้รับการชดเชยความเสียหายทางอื่นด้วย ระยะเวลาในการยื่นคำขอ คือ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำผิด หรือ วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือ วันที่มีคำพิพาษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ผู้มีหน้าที่รับคำร้องและพิจารณาเรื่อง คือ คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ ของสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม การยื่นอุทธรณ์ เมื่อไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย โดยอาจยื่นต่อสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินฯ หรือ ศาลจังหวัดที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเพื่อส่งให้แก่ศาลอุทธรณ์ก็ได้ ข้อเตือนใจในการใช้สิทธิเรียกร้องนี้ 1. การยื่นคำขอรับค่าตอบแทนตามกฎหมายนี้ โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 2. การให้ถ้อยคำหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ ต่อคณะกรรมการฯหรือพนักงานสอบปากคำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 3. การไม่ยอมให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร มีโทษจำคุก 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น เมื่อได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการยุติธรรมและเป็นคดีอาญาตามที่กำหนดไว้ อาจใช้สิทธิต่างๆซึ่งรัฐมอบให้ เพื่อหวังบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายจากคดีได้ แต่มิใช่เพื่อให้คุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียไป เพราะหลายอย่างที่เสียหายก็มิอาจตีราคาเป็นเงินได้
รู้สิทธิ ใช้สิทธิ บรรเทาได้
*********************
Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2550 | | |
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2550 14:04:42 น. |
Counter : 980 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|