ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 
การค้นและหมายค้น

เขียนโดย ลีลา LAW

กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยกำหนดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของคนไทยไว้อย่างชัดเจน การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำอย่างใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้น จะกระทำมิได้ นอกจากมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ถ้าต้องการค้นอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในร่างกายหรือสถานที่ส่วนตัว จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลายท่านอาจมีคำถามเกี่ยวกับการค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางสถานการณ์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงขอบอกเล่าโดยสังเขปดังนี้
หลักเกณฑ์ในการค้น
ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้น เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น บุคคลธรรมดาหรือบุคคลอื่นซึ่งตำรวจขอให้ช่วยเหลือ จักกระทำตนเป็นผู้ค้นมิได้ เนื่องจากมิได้มีกฎหมายให้อำนาจไว้
บุคคลซึ่งกฎหมายมอบอำนาจออกหมายค้นได้ คือ ศาล ซึ่งมีการออกระเบียบบังคับและวิธีปฏิบัติในการออกหมายอาญาทุกประเภทไว้ รวมทั้งหมายค้นด้วย
เหตุที่ออกหมายค้นได้ มีดังนี้
1.เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
2.เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือ ได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำผิด
3.เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
4.เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ
5.เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาลในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว
กรณีต่อไปนี้ ตำรวจสามารถค้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น
1. เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน
2. เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
3. เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไป หรือ มีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
4. เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า สิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน
5. เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นต้องมีหมายจับ
หลักการค้นตัวบุคคล กฎหมายได้กำหนดว่า ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เป็นผู้ค้น โดยต้องมีเหตุอันควรสงสัยดังต่อไปนี้ร่วมด้วยคือ บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือ ซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด หรือ ซึ่งมีไว้เป็นความผิด
วิธีการค้นโดยสังเขป คือ
1. ก่อนลงมือค้น ต้องแสดงความบริสุทธิ์ของผู้ทำการค้น เช่น ชื่อหรือตำแหน่งของผู้ค้น เป็นต้น ยื่นหมายค้น และทำการค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 คน ซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน วิธีนี้ใช้กับการค้นที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในศาลด้วย
2. ผู้ค้นต้องทำบันทึกรายละเอียดและบัญชีสิ่งของที่ค้นหรือยึดได้ แล้วให้บุคคลในข้อแรกลงลายมือชื่อรับรองไว้
3. ผู้ค้นมีอำนาจยึดสิ่งของใดๆซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อเป็นประโยชน์หรือยันผู้ต้องหาหรือจำเลย และจับบุคคลตามหมายจับ เมื่อพบในสถานที่ค้น รวมถึงหากเกิดความผิดซึ่งหน้า ผู้ค้นอาจจับได้เช่นกัน
4. เมื่อเกิดการขัดขวางหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลในสถานที่ค้น หรือ จะถูกค้นจะขัดขวางถึงกับทำให้การค้นไร้ผล ผู้ค้นมีอำนาจเอาตัวผู้นั้นไปควบคุมไว้ หรือ อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานในขณะที่ทำการค้นเท่าที่จำเป็น
5. การค้นต้องทำโดยสุภาพ ไม่ก้าวร้าว มิใช่มุ่งทำลายสิ่งของ ส่วนการค้นตัวบุคคลโดยเฉพาะหญิงสาว ต้องใช้ผู้หญิงเป็นผู้ทำการค้นเท่านั้น
6. การออกหมายค้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อจับบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ย่อมทำไม่ได้ เว้นแต่จะมีหมายจับบุคคลนั้นประกอบด้วย
เมื่อได้รับทราบขอบเขตและอำนาจในการค้นของเจ้าพนักงานแล้ว หากมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมา ถือเป็นการละเมิดสิทธิและกระทำผิดกฎหมายอาญา ท่านอาจเรียกร้องฟ้องคดีเพื่อให้ผู้กระทำผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษทางอาญาได้เช่นเดียวกัน

**************************


Create Date : 04 สิงหาคม 2548
Last Update : 4 สิงหาคม 2548 14:03:17 น. 0 comments
Counter : 3482 Pageviews.

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.