ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 
ตกงานโดยไม่ได้เงินชดเชย

เขียนโดย ลีลา LAW


การทำงาน เป็นสิ่งที่มนุษย์พึงต้องทำ เพื่อหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้น ทุกคนมักระมัดระวังตนมิให้ต้องถูกเลิกจ้าง แต่บางคนต้องตกงานเนื่องจากได้ร่วมประท้วงและนัดหยุดงานเพื่อข้อเรียกร้องต่างๆของเขา เหตุใดเขาจึงสูญเสียหน้าที่การงานโดยไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆเหมือนเช่นการออกจากงานของลูกจ้างอื่นๆ คำตอบคือ บางกรณีการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องจากนายจ้างได้กระทำผิดขั้นตอนของกฎหมาย จึงต้องสูญเสียงานไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง
กรณีศึกษาซึ่งเป็นบทเรียนอันหนึ่งใช้เตือนใจแก่ลูกจ้างที่คิดจะนัดหยุดงาน แล้วอาจตกงานได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ได้มีการฟ้องคดีแรงงานระหว่างคนงาน 60 คนกับนายจ้างเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิค ซึ่งได้บอกเลิกจ้างพวกเขาโดยไม่จ่ายเงินชดเชยเลย จนกระทั่งมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1589-1650/2543 มีรายละเอียดดังนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คนงาน 60 คน นัดหยุดงานเพื่อประท้วงและบังคับนายจ้างให้ยอมรับเงื่อนไขของตนในวันที่ 6 ตุลาคม 2540 เวลา 8 นาฬิกาเศษ โดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับแจ้งตามมาตรา 34 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ จากการสืบพยานได้ความจริงว่า มีการยื่นหนังสือแจ้งนัดหยุดงานต่อนายสอง พนักงานรักษาความปลอดภัยของนายจ้างในวันที่ 5 ตุลาคม 2540 เวลา 7 นาฬิกาเศษ ซึ่งยังไม่ถือว่า แจ้งล่วงหน้าครบตามเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น การนัดหยุดงานของคนงาน 60 คน จึงถือเป็นการละทิ้งการงานซึ่งตามปกติตนมีหน้าที่ปฏิบัติและย่อมก่อความเสียหายแก่นายจ้างได้ เพื่อความยุติธรรมของทั้งสองฝ่ายกฎหมายจึงได้บัญญัติว่า ลูกจ้างจะนัดหยุดงานได้ ต่อเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ มิใช่กระทำตามใจตนเองได้ เมื่อลูกจ้างนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้งตามมาตรา 34 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ การนัดหยุดงานดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือเป็นการละทิ้งหน้าที่อยู่ในตัว
เมื่อคนงาน 60 คน นัดหยุดงานโดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จึงถือว่า เป็นการละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควรด้วย อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้เมื่อนายจ้างบอกเลิกการจ้าง ซึ่งระบุอยู่ในมาตรา 119 (5) ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สรุปได้ว่า คดีนี้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างคนงาน 60 คน โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย พวกเขาจึงตกงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆด้วยเหตุผลดังกล่าว
กรณีศึกษาข้างต้นทำให้เห็นได้ว่า ก่อนจะนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องสิ่งใดจากนายจ้าง ขอให้ศึกษาขั้นตอนของกฎหมายให้แน่ใจ แล้วกระทำไปทุกขั้นตอน และให้ความสำคัญต่อระยะเวลา โดยเฉพาะเศษวินาทีก็ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ เมื่อคิดจะเรียกร้องสิ่งใด ควรเริ่มจากการเสนอให้นายจ้างทราบก่อน มิใช่การข่มขู่ แล้วทำการเจรจากันภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ หากเจรจาไม่สำเร็จ ถือว่า ได้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งเขาจักเรียกทั้งสองฝ่ายมาเจรจาอีกครั้งภายใน 5 วัน นับแต่วันที่เขาได้รับหนังสือแจ้ง เมื่อไม่อาจตกลงกันได้ จักถือว่า เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์ปิดงานหรือนัดหยุดงานได้ ภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่สำคัญมาก คือ ก่อนการนัดหยุดงาน ต้องแจ้งเวลานัดหยุดงานเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและนายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้ง ถ้าทำผิดคลาดเคลื่อนเรื่องเวลา แม้แต่วินาทีเดียว ท่านอาจถูกไล่ออกจากงานโดยกฎหมายรับรองว่า นายจ้างสามารถทำได้ สิ่งที่บอกเล่ามาเป็นขั้นตอนโดยสังเขปซึ่งพึงระวังไว้ หากมีความคิดจะประท้วงนายจ้าง กฎหมายมิได้ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างเท่านั้น นายจ้างก็ได้รับความยุติธรรมด้วยเช่นกัน ดังนั้นพึงระลึกไว้เสมอว่า กฎหมายคุ้มครองและให้ความยุติธรรมได้ ต่อเมื่อท่านปฏิบัติตามทุกขั้นตอนอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น


**********************


Create Date : 15 ตุลาคม 2549
Last Update : 15 ตุลาคม 2549 13:51:35 น. 0 comments
Counter : 1108 Pageviews.

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.