ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 
ลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง

เขียนโดย ลีลา LAW

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 กำหนดความหมายของ ลิขสิทธิ์ ว่า เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น เช่น การเผยแพร่ต่อสาธารณชน การทำซ้ำ ดัดแปลง อนุญาตให้ใช้งาน โอนลิขสิทธิ์ เป็นต้น งานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้มีหลายอย่าง อาทิเช่น วรรณกรรม ดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง ภาพยนตร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เมื่อท่านสร้างสรรค์งานเหล่านี้ขึ้นมาจักได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายทันที โดยไม่ต้องมีขั้นตอนระเบียบทางราชการใดๆมาเกี่ยวข้องอีก มันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ปัญหาที่พบในเรื่องลิขสิทธิ์อย่างหนึ่ง คือ กรณีที่ลูกจ้างได้สร้างงานตามคำสั่งของนายจ้างหรือหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่เพื่อนำไปใช้ในสถานที่ทำงาน ต่อมาได้ลาออก จึงมักสงสัยว่า ใครคือผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างขึ้น ทำให้เกิดกรณีพิพาทกันบ่อยครั้งและได้มีคำตอบใน คำพิพากษาฎีกาที่ 9523/2544 ดังนี้ นายพิชิต เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานด้านสินเชื่อของ บริษัทเกียรติ ซึ่งเป็นนายจ้างของเขา จึงถือเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา 8 ซึ่งกำหนดว่า “ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น......” แม้นายพิชิตจะสร้างงานชิ้นนี้เพื่อใช้ในกิจการของบริษัทเกียรติในฐานะลูกจ้าง แต่มาตรา 9 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์กำหนดว่า “งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น” ทำให้นายพิชิตเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้ แต่บริษัทเกียรติได้รับอนุญาตโดยกฎหมายให้นำงานไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลาที่นายพิชิตยังเป็นลูกจ้างอยู่ ต่อมานายพิชิตได้ลาออกจากบริษัทและไม่ประสงค์จะอนุญาตให้นายจ้างใช้โปรแกรมดังกล่าวต่อไป เขาย่อมมีสิทธิทวงถามให้นายจ้างคืนโปรแกรมนั้นได้ เมื่อบริษัทเกียรติไม่ยอมคืนและยังใช้โปรแกรมดังกล่าวต่อไปอันมีลักษณะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของนายพิชิตโดยมิชอบ ย่อมทำให้ได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าบริษัทเกียรติทำละเมิดต่อนายพิชิต จำต้องจ่ายค่าเสียหาย แม้คดีนี้นายพิชิตซึ่งเป็นโจทก์จะนำสืบไม่ได้แน่ชัดว่าได้รับความเสียหายอย่างใดและเป็นเงินเท่าใดก็ตาม ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ได้ โดยต้องจ่ายค่าเสียหายนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดให้คืนโปรแกรมตามที่โจทก์มีหนังสือแจ้งระงับการใช้ไปยังบริษัทซึ่งถือเป็นวันที่บริษัททำละเมิดและโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย มิใช่นับจากวันที่นายพิชิตลาออก
กรณีศึกษาข้างต้นทำให้ลูกจ้างรับทราบสิทธิในงานสร้างสรรค์ของตนซึ่งทำเพื่อสถานประกอบการได้ชัดเจน ถ้านายจ้างต้องการให้งานสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานสามารถนำไปใช้ได้ยาวนาน แม้ลูกจ้างคนนั้นจักลาออกไป ย่อมมีวิธีแก้ไขโดยการทำหนังสือข้อตกลงโอนลิขสิทธิ์ในงานชิ้นนั้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ชัดเจน ระยะเวลาในการใช้งานซึ่งลูกจ้างสร้างสรรค์ขึ้น นายจ้างย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานโดยอำนาจของกฎหมายเพียงเท่าที่ผู้สร้างสรรค์ยังคงเป็นลูกจ้างอยู่ แต่ผลของคดีจักแตกต่างไปหากคู่พิพาทเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งกฎหมายกำหนดให้งานที่สร้างสรรค์ตามคำสั่งหรือการจ้างหรือในความควบคุมของตน ถือเป็นลิขสิทธิ์ของหน่วยงานรัฐ ดังนั้น นายจ้างและลูกจ้างต้องตระหนักและเคารพในสิทธิของแต่ละฝ่ายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย จึงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้

*********************


Create Date : 23 มิถุนายน 2548
Last Update : 23 มิถุนายน 2548 13:33:43 น. 0 comments
Counter : 1663 Pageviews.

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.