ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

การทำร้ายคู่สมรส

หลายท่านมีความเข้าใจว่า คู่สมรสทำร้ายร่างกายกันเองได้ ไม่ต้องรับโทษอาญาใดๆ แม้แต่ตำรวจบางท่านยังคิดเช่นนั้น ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก ก่อนอื่นต้องทราบว่า การทำร้าย คือ พฤติกรรมใช้กำลังทุกรูปแบบเพื่อให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทางกายหรือจิตใจ จะใช้อาวุธร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม
ประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษของคดีทำร้ายร่างกายไว้หลายระดับตามความหนักเบาของบาดแผลที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำต่อบุคคลเฉพาะที่กำหนดไว้ หรือมีพฤติกรรมพิเศษ ดังนี้
มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าได้กระทำต่อบุคคลเฉพาะเจาะจง เช่น บุพการี เจ้าพนักงาน เป็นต้น หรือพฤติการณ์พิเศษ เช่น การวางแผนล่วงหน้า กระทำทารุณกรรม เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี โดยกำหนดลักษณะบาดแผลซึ่งถือเป็นอันตรายสาหัสไว้ เช่น ตาบอด ใบหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือทำงานไม่ได้เกินกว่า 20 วัน เป็นต้น
มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นกระทำต่อบุคคลที่กำหนดเฉพาะเจาะจงหรือพฤติกรรมพิเศษตามที่ระบุไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี
มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามหลักกฎหมายเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายข้างต้นนั้น จักเห็นว่า มันใช้ลงโทษ ผู้ใด ที่ทำร้าย ผู้อื่น ซึ่งมีผลในการคุ้มครองผู้เสียหายและลงโทษผู้ใช้กำลังทำร้ายโดยไม่จำกัดเพศ สถานภาพทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของสามีภรรยา ครูอาจารย์ บิดามารดา ล้วนอาจถูกลงโทษตามหลักนี้ได้
สำหรับคดีอาญานั้น ผู้กระทำจักต้องรับโทษอาญาเป็นการเฉพาะตัวและต้องตีความข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองและให้ความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ความเข้าใจผิดเรื่องสามีภรรยาสามารถตบตีทำร้ายกันได้ ครูอาจารย์โบยตีลูกศิษย์ บิดามารดาฟาดตีเด็กในปกครอง จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ผู้กระทำต้องรับโทษอาญา ไม่ว่าจะเป็นจำคุก ปรับ แล้วแต่ดุลพินิจของศาล อีกอย่างหนึ่งซึ่งพึงเตือนใจก่อนใช้กำลังทำร้ายคนอื่นด้วยว่า หญิงซึ่งเป็นภรรยาก็ไม่มีอภิสิทธิ์ในการทำร้ายร่างกายของสามีด้วย ส่วนเด็กที่ทำร้ายพ่อแม่ปู่ย่าตายายซึ่งถือเป็นบุพการี จักต้องรับโทษหนักพิเศษ เพราะสังคมไม่ส่งเสริมพฤติกรรมเช่นนี้และไม่ต้องการให้ใครถือเป็นเยี่ยงอย่างด้วย
หลังจากอ่านทำความเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายอย่างถูกต้องแล้ว จึงหวังว่า ทุกท่านคงรู้จักสิทธิในร่างกายและต้องรู้จักปกป้องสิทธินี้ไว้มิให้ผู้ใดทำละเมิดได้ สามีภรรยาเป็นบุคคลเดียวกันตามหลักกฎหมายภาษี แต่ต้องรับโทษแยกกันตามหลักกฎหมายอาญา ดังนั้น พฤติกรรมการทำร้ายกันของสามีภรรยา บิดามารดากับบุตร ครูอาจารย์กับศิษย์ เช่น การตบตี การราดน้ำกรด การทุบตีด้วยท่อนไม้ การจี้บุหรี่ การกัดข่วน การทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ เป็นต้น ผู้กระทำจักต้องรับโทษอาญาตามลักษณะบาดแผล อีกปัญหาหนึ่งซึ่งหลายท่านอาจสงสัย คือ ถ้าเห็นสามีภรรยาตบตีกันสามารถช่วยเหลือได้ไหม? ตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น กรณีมิจฉาชีพแกล้งตะโกนว่ากำลังตีเมียอยู่ ทั้งที่ตั้งใจฉกชิงทรัพย์ ทำให้คนทั่วไปชะงักความช่วยเหลือไว้ อันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องสูญเสียทรัพย์และได้รับบาดเจ็บหนัก คำตอบ คือ ตามหลักมนุษยธรรมและน้ำใจอันดี คนดีสมควรช่วยเหลือผู้เสียหายที่กำลังเดือดร้อน ส่วนหลักกฎหมายอาญานั้น สามีหรือภรรยาไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายกัน ทุกคนจึงมีสิทธิหยุดยั้งการทำละเมิดกฎหมายนี้ได้ นอกเหนือจากการแจ้งความกับตำรวจ บางกรณีการทำร้ายอาจล่วงเลยไปถึงการฆ่ากัน ซึ่งบรรดาคนดูทั่วไปกลับยืนเฉย ไม่ยื่นมือช่วยเหลือบรรเทาเหตุร้ายเบื้องหน้า พวกเขาอาจต้องรับโทษอาญาไปด้วย ตาม มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มันเป็นหลักกฎหมายที่รัฐต้องการให้คนช่วยบรรเทาความเสียหายเบื้องต้นก่อนเจ้าหน้าที่รัฐจะมาถึงที่เกิดเหตุและส่งเสริมให้มีน้ำใจเมตตาต่อกัน ดังนั้น สังคมจักสงบสุขได้ เมื่อทุกคนต่างช่วยดูแลกัน เพียงแค่ท่านยื่นมือช่วยเหลือผู้ถูกทำร้าย เท่ากับเป็นการให้โอกาสแก่หนึ่งชีวิตเพื่อทำประโยชน์แก่ครอบครัวและประเทศชาติ แล้วยังเป็นการทำบุญตามหลักพุทธศาสนาอีกด้วย

เขียนโดย ลีลา LAW

************************




 

Create Date : 26 มกราคม 2548    
Last Update : 29 มกราคม 2548 0:47:30 น.
Counter : 787 Pageviews.  

อายุความหนี้บัตรเครดิต

สังคมไทยเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่าสากลในหลายด้าน แม้แต่ระบบการเงิน โดยเฉพาะการใช้จ่ายของประชาชน ในอดีตการจับจ่ายใช้สอยทุกประเภทจะต้องทำด้วยเงินสดเท่านั้น บัดนี้คนไทยพัฒนาการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตมากขึ้นตามลำดับ กอปรกับผู้ออกบัตรซึ่งมีทั้งสถาบันการเงินขนาดใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศ หรือบริษัททำธุรกิจด้านสินเชื่อ หรือห้างร้านขายปลีกขนาดใหญ่ ล้วนพยายามดึงดูดลูกค้าให้ใช้บัตรเครดิตของเขา ด้วยเงื่อนไขที่มากมูลค่าและเพิ่มความสะดวกแก่ผู้เป็นเจ้าของบัตร จึงเป็นเหตุให้มีผู้ใช้บัตรมากขึ้นทุกขณะ นั่นหมายความว่า ภาวะหนี้เสียก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เมื่อมีบัตรเครดิตแล้ว หลายท่านต้องรู้สึกสะดวกในการซื้อสินค้าและบริการ แล้วค่อยจ่ายเงินคืนทีหลังแน่นอน เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ตกงานกะทันหัน เกิดภาวะเงินออมขาดหายไป เป็นต้น ใบแจ้งให้ชำระเงินจากผู้ออกบัตรส่งมาตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ทำให้ท่านไม่อาจชำระเงินได้ตามกำหนด ท่านจึงกลายเป็นลูกหนี้ของผู้ออกบัตรเครดิตนั้นทันที คำถามชวนสงสัย คือ หนี้บัตรเครดิตมีอายุนานเท่าใด จึงหลุดพ้นตามกฎหมาย
การหลุดพ้นจากหนี้สินโดยปกติ คือ การชำระหนี้ทั้งหมด แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งก็อาจหมดพันธะหนี้ด้วยผลของกฎหมายได้ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดด้วย นั่นคือ หนี้นั้นขาดอายุความ โดยเจ้าหนี้มิได้ฟ้องคดีเรียกหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายบอกไว้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 9513/2542 เป็นกรณีที่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตฟ้องเรียกหนี้จากการใช้บัตรของเขา เมื่อ นายบาน ลูกค้าบัตรเครดิตของ ธนาคารไทย ได้ใช้จ่ายผ่านบัตรดังกล่าวเป็นจำนวนสองแสนบาท และธนาคารไทยมีหนังสือแจ้งจำนวนหนี้ให้ชำระภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 แต่นายบานไม่ยอมชำระหนี้ตามกำหนดดังกล่าว จึงถูกฟ้องคดีเรียกหนี้เงินค้างนี้ โดยธนาคารไทย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 แต่เขาต่อสู้ว่า หนี้ครั้งนี้ขาดอายุความไปแล้ว เมื่อเรื่องขึ้นสู่ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษาว่า ธนาคารไทยประกอบธุรกิจให้บริการแก่ลูกค้าโดยออกบัตรเครดิตให้ลูกค้านำบัตรไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้า และ ได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนลูกค้า จึงถือว่า ผู้ประกอบกิจการค้าซึ่งเป็นผู้รับทำการงานต่างๆให้ได้ออกเงินทดรองจ่ายแทนนายบาน จำต้องฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนภายในกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) ซึ่งกำหนดว่า สิทธิเรียกร้องเงินที่ได้ออกทดรองไป มีกำหนดอายุความ สอง ปี เมื่อธนาคารไทยแจ้งยอดหนี้ส่งให้นายบานทราบในแต่ละงวดที่เรียกเก็บ และให้ถือว่าหนี้ถึงกำหนดตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้ตามกำหนดงวดใด ธนาคารไทยก็อาจบังคับสิทธิเรียกร้องสำหรับงวดนั้นได้นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด สำหรับกรณีหนี้ของนายบานนั้น ต้องเริ่มนับอายุความสำหรับหนี้บัตรเครดิตจำนวนสองแสนบาทตั้งแต่วันที่เขาผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดในใบแจ้งหนี้ คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2538 และธนาคารไทยย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องหนี้ของตนตั้งแต่วันดังกล่าว แต่คดีนี้ธนาคารไทยได้ฟ้องคดีเรียกหนี้จากนายบานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี คดีนี้จึงขาดอายุความไปแล้ว ทำให้ธนาคารไทยไม่อาจเรียกชำระหนี้สองแสนนี้ได้อีกต่อไป
แม้นายบานจะได้รับประโยชน์จากผลของกฎหมายนี้ แต่ธนาคารก็ต้องเพิ่มความรอบคอบในการติดตามหนี้ขึ้นเช่นกัน เพื่อมิให้เกิดภาวะหนี้สูญอีก ข้อควรเตือนใจของผู้มีบัตรเครดิต คือ เมื่อมีความสะดวกในการก่อหนี้ ก็พึงมีความรับผิดชอบต่อหนี้สินนั้นเช่นกัน อย่าคิดว่าเจ้าหนี้จะมองไม่เห็นลูกหนี้เช่นท่าน การรอดพ้นจากการชำระหนี้สิน อาจทำให้ท่านไม่ต้องจ่ายเงินคืน แต่สิ่งที่ท่านคาดไม่ถึงคือ การขาดเครดิตด้านการเงิน ซึ่งเป็นข้อมูลที่แต่ละธนาคารจัดเก็บรวบรวมไว้และแจ้งแก่ธนาคารอื่นให้พึงระวังลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินไม่ดี นั่นย่อมสร้างปัญหาต่อท่านซึ่งยิ้มอย่างผู้ชนะในวันนี้ ให้ประสบความยุ่งยากในภายหน้า การสร้างเครดิตทางการเงินที่ดี ต้องอาศัยเวลายาวนาน และจริงใจ กว่าจะมีคนยอมรับ และให้ผลที่ดียามที่ท่านต้องการใช้เครดิตวันหน้า โลกปัจจุบันนี้มิได้รับเงินสดอย่างเดียว แม้ท่านไม่มีเงินในกระเป๋าเลย ขอเพียงมีเครดิตที่ดี ก็อาจช่วยสร้างอนาคตร่ำรวยแก่ท่านได้ นี่เป็นความจริงที่เศรษฐีหลายท่านได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว


************************

เขียนโดย ลีลา LAW




 

Create Date : 26 มกราคม 2548    
Last Update : 29 มกราคม 2548 0:47:49 น.
Counter : 820 Pageviews.  

ข้อควรรู้ของผู้ถูกทวงหนี้

ข้อควรรู้ของผู้ถูกทวงหนี้

ทุกช่วงชีวิตของหลายคนมิใช่จะราบรื่นเสมอไป บางท่านอาจเกิดสะดุดขัดสนเงินทอง จนกระทั่งต้องขอยืมหรือกู้เงินจากญาติสนิท เพื่อน สถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้รูปแบบต่างๆ จึงกลายเป็นลูกหนี้ในที่สุด หากมีกำลังจ่ายดอกเบี้ยหรือสามารถคืนเงินต้นได้ เรื่องคงจบลงด้วยดี หลายท่านเกิดความผันแปรในชีวิตจนกระทั่งมิอาจใช้คืนหนี้หรือผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง ตอนนี้เจ้าหนี้จะเข้ามาติดตามทวงหนี้แน่ หลังจากมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และคำบอกเล่าต่อกันมาว่า นักทวงหนี้ตัดแขน เอาเมียกับลูกแลกดอกเบี้ย คุกคามสมาชิกในบ้านของลูกหนี้ พวกเขามีสิทธิทำได้หรือไม่ จึงกลายเป็นคำถามในใจของหลายคน เราจะดูว่า ขอบเขตการทวงหนี้อยู่ที่จุดใด
เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้เจ้าหนี้ฟ้องเรียกชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยทางศาล เมื่อมีคำพิพากษาแล้วจักบังคับใช้หนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ มันเป็นขั้นตอนที่ถูกต้องในการเรียกคืนหนี้ แต่เจ้าหนี้หลายคนเกิดอาการร้อนใจ หวั่นเกรงว่าลูกหนี้อาจหนีไม่จ่ายหนี้คืนเพราะลูกหนี้ขาดการติดต่อหรือหลบหน้า หรือเป็นหนี้นอกระบบที่กฎหมายไม่รับรอง จึงจ้างนักทวงหนี้ทั้งแบบบุคคลหรือสำนักงานกฎหมายเพื่อติดตามทวงหนี้แลกกับค่าจ้างมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนหนี้ที่ทวงได้ จึงเป็นต้นเหตุให้พวกเขาต้องใช้ทุกวิธี หลายรูปแบบ ทั้งถูกกฎหมายหรือไม่ถูกต้องเพื่อบีบคั้นให้ลูกหนี้จ่ายคืนหนี้ แทนที่จะเลือกใช้วิธีการทางกฎหมายซึ่งอาจไม่ทันใจเจ้าหนี้ ทำให้ลูกหนี้หรือญาติพี่น้องต่างหวั่นเกรงกับพฤติกรรมของพวกเขาโดยมิทราบว่า นักทวงหนี้เหล่านั้นอาจกำลังทำละเมิดกฎหมายอาญาและมีสิทธิติดคุก โดยไม่มีโอกาสใช้เงินค่าจ้างก็ได้
ผู้ถูกทวงหนี้แท้จริง จักต้องมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกู้ยืมเงินเท่านั้น เช่น ลูกหนี้ ลูกหนี้ร่วม หรือผู้ค้ำประกัน เป็นต้น การข่มขู่ คุกคาม ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หรือผู้เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ ล้วนเป็นความผิดอาญาฐานกรรโชกทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 บัญญัติว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ ยอมให้ หรือ ยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่า จะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือ ของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำผิดฐานกรรโชก มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย
1. ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่น ให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ
2. มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ
ผู้กระทำต้องมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
จากหลักกฎหมายข้างต้น นักทวงหนี้ที่ใช้พฤติกรรมตัวอย่างเช่น เขียนจดหมายข่มขู่ด้วยวาจาหยาบคายหรือเป็นเท็จ ทำร้ายร่างกาย ด่าทอ กักขัง ทำการรบกวนชีวิตประจำวัน เป็นต้น หากกระทำต่อลูกหนี้หรือสมาชิกในครอบครัว เพื่อน บรรดาผู้ถูกทวงหนี้มีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านั้นได้ทันที ถ้ามีการทำร้ายบาดเจ็บหรือกักขังหน่วงเหนี่ยว พวกเขาต้องรับโทษอาญาฐานทำร้ายร่างกายหรือทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพอีกคดีหนึ่งด้วย ส่วนการส่งคำเตือนเรื่องหนี้ด้วยวิธีก้าวร้าวหรือจงใจประจานทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงด้วยวิธีใดๆ อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทก็ได้
กฎหมายคุ้มครองผู้สุจริตเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงด้วยคือ จิตสำนึกที่ดีของทั้งสองฝ่าย ยามเดือดร้อนขัดสนทางการเงิน ลูกหนี้ได้เงินมาผ่อนคลายปัญหาแล้ว จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อหนี้ คือ พยายามผ่อนใช้หนี้เต็มที่และสุจริตใจ ส่วนเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิในการรับชำระหนี้คืน แต่ควรทำตามขั้นตอนของกฎหมาย มิใช่ทำละเมิดกฎหมายจนนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเอง เจ้าหนี้บางท่านคิดว่าให้นักทวงหนี้ไปจัดการแทนตนแล้วจักไม่มีโทษใดๆ อันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะหากมีการสอบสวนเต็มที่แล้ว เจ้าหนี้อาจต้องรับโทษฐานเป็นตัวการหรือผู้ใช้จ้างวานก็ได้ ดังนั้น เจ้าหนี้และนักทวงหนี้ทั้งหลายต้องใช้สติก่อนทำงาน และตระหนักใจด้วยว่า การมีหนี้ต้องชดใช้ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงได้รับความคุ้มครองเต็มที่ ส่วนลูกหนี้ต้องชดใช้หนี้สินที่ก่อขึ้น แต่ก็มีสิทธิปกป้องตัวเองในระดับหนึ่งซึ่งเจ้าหนี้ไม่มีอำนาจล่วงละเมิดสิทธิซึ่งกฎหมายคุ้มครองร่างกายและจิตใจของคนไทยทุกคนไว้โดยไม่จำกัดสถานะว่าเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้
เมื่อลูกหนี้ไม่ยอมชดใช้หนี้หรือมีพฤติกรรมโกงเจ้าหนี้ ย่อมต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลทั้งทางแพ่งหรืออาญา แล้วแต่ข้อเท็จจริงในคดี ปัจจุบันนี้ยังมีมาตรการติดชื่อในบัญชีดำของสถาบันการเงินซึ่งทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการทำธุรกรรมต่างๆ บางครั้งยังมีการเผยแพร่ชื่อในกลุ่มเจ้าหนี้ทั้งหลายซึ่งมีผลมิอาจกู้ยืมกับเจ้าหนี้คนใดได้ อันถือเป็นโทษทางสังคมอย่างหนึ่ง มันจักส่งผลให้ลูกหนี้ทุจริตเหล่านั้นไม่มีอนาคตในชีวิตอีกต่อไป บรรดาเจ้าหนี้จึงไม่ควรใช้วิธีทวงหนี้ที่ละเมิดกฎหมายให้ตนต้องเปลืองตัวเปื้อนมลทินไปด้วย ขอเพียงเพิ่มความรอบคอบในการเลือกปล่อยสินเชื่อและทำให้เป็นลูกหนี้อันชอบด้วยกฎหมาย กอปรกับต้องระวังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น กฎหมายจักดูแลและคุ้มครองเจ้าหนี้ผู้สุจริตเต็มที่ การรู้จักความพอเพียงและเคารพกฎหมาย ย่อมทำให้เป็นเจ้าหนี้ที่น่าสรรเสริญและเป็นที่นับถือแก่คนรอบกาย อันถือเป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่งให้ตัวเองด้วย ดังนั้น เมื่อทราบสิทธิของลูกหนี้และเจ้าหนี้แล้ว จึงหวังว่าท่านจักกระทำทุกอย่างภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

เขียนโดย ลีลา LAW


********************************




 

Create Date : 24 มกราคม 2548    
Last Update : 24 มกราคม 2548 1:15:02 น.
Counter : 852 Pageviews.  

คนสาบสูญ


นับแต่วันถือกำเนิดในโลก ทุกคนจักได้รับการคุ้มครองไปจนกระทั่งตายด้วยกฎหมายของแต่ละประเทศ ช่วงดำเนินชีวิตของคนจักต้องทำงานสร้างทรัพย์สินให้ตัวเอง บางท่านอาจประสบอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยจนกระทั่งสูญหายไป โดยมิอาจระบุดชัดว่าอยู่หรือตาย อันสร้างความห่วงใย ความเศร้า และความลำบากใจแก่ครอบครัวได้ หากรู้ชัดว่า เขาตาย ย่อมจัดการทรัพย์สินตามกฎหมายมรดกได้ทันที บางกรณีเขาหายสูญไปจากอุบัติภัยต่างๆ เช่น พายุพัด อยู่ในสงคราม เรืออับปาง คลื่นสึนามิ หิมะถล่ม หรือหายตัวไปจากการลักพาตัว เป็นต้น หลายท่านเกิดปัญหาขึ้นว่า จะทำอย่างไรกับทรัพย์สินของผู้สูญหายเพราะเขายังไม่แน่ชัดว่าเป็นคนตาย
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์คำนึงถึงกรณีคนสูญหายด้วย จึงกำหนดหลักเกณฑ์เรื่อง ผู้สาบสูญ โดยมีระยะเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียจักร้องขอต่อศาลให้สั่งผู้สูญหายเป็นคนสาบสูญเพื่อนำกฎหมายมรดกมาใช้แบ่งทรัพย์สินของเขาได้ โดยกำหนดไว้ในมาตรา 61 ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ลดเหลือสองปี
1. นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุด ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2. นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
3. นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิต นอกจากที่ระบุไว้ในข้อหนึ่ง หรือ ข้อสอง ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
ระยะเวลาสำหรับกรณีปกติ
ระยะเวลาห้าปี ตามมาตรา 61 วรรคแรก ใช้กับการหายตัวไปที่มิใช่พฤติกรรมพิเศษตามที่บัญญัติเป็นการเฉพาะ นั่นคือ การไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมีสาเหตุหรือไม่ก็ได้ เช่น ทะเลาะกันแล้วออกไป หนีออกจากบ้าน คนแก่ความจำเสื่อมเดินหายไปจากบ้าน เป็นต้น อีกองค์ประกอบหนึ่ง คือ ต้องไม่มีใครรู้แน่ว่า เขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นเวลาห้าปี หากเพียงแค่เขาหนีไปอยู่ต่างประเทศซึ่งรู้ที่อยู่แน่ชัด จักไม่เข้าองค์ประกอบที่จะขอให้เป็นคนสาบสูญได้ ตัวอย่างเช่น ชายกลุ่มหนึ่งบุกมาพาสามีออกจากบ้านกลางดึก ตำรวจตามหาไม่พบเลย จึงไม่ทราบว่าเขายังมีชีวิตหรือไม่ หากล่วงพ้นห้าปีแล้วไม่มีข่าวของเขาเลย ภรรยาจึงมีสิทธิ์ร้องขอต่อศาลให้เป็นคนสาบสูญเพื่อจัดการทรัพย์สินของเขาเหมือนเป็นการจัดแบ่งมรดกได้ เป็นต้น
ระยะเวลาสำหรับกรณีพิเศษ
มาตรา 61 วรรคสอง ให้เวลาเพียงสองปี ถ้าการหายตัวไปมาจากเหตุพิเศษที่กำหนดไว้ เช่น ไปเที่ยวหรือทำงานในประเทศที่มีสงครามแล้วหายสูญไป ขับรถแล้วหายไปทั้งรถทั้งคน เรืออับปางจนหาศพไม่พบ เครื่องบินตกที่ไร้ซากให้พิสูจน์ว่าตาย พบอุบัติภัยทั้ง พายุร้าย น้ำท่วม ไฟไหม้ ภูเขาไฟระเบิด หิมะถล่มโดยหาศพไม่ได้ เป็นต้น เมื่อครบเวลาดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจึงยื่นเรื่องขอให้เป็นคนสาบสูญได้
ผลของการเป็นคนสาบสูญ
มาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 มันทำให้ทรัพย์สินของเขาถูกแบ่งแก่เหล่าทายาทโดยธรรมตามกฎหมายมรดก
ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล
กฎหมายกำหนดชัดให้เฉพาะผู้มีส่วนได้เสีย เช่น สามีภรรยา ญาติพี่น้อง หุ้นส่วน แล้วแต่กรณี และพนักงานอัยการ มีสิทธิยื่นคำร้องขอศาลให้สั่งบุคคลที่สูญหายนั้นเป็นคนสาบสูญ
การจัดการทรัพย์สินช่วงที่เวลายังไม่ครบกำหนด
หลายท่านอาจสงสัยว่า ถ้ามีปัญหาด้านจัดการทรัพย์สินของผู้สูญหายเกิดขึ้นก่อนเวลาครบกำหนด จะมีทางแก้ไขหรือไม่ กฎหมายมีทางออกไว้แล้ว นั่นคือ ตราบใดที่ศาลยังไม่สั่งให้ผู้สูญหายเป็นคนสาบสูญ ถือว่าเขายังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สินยังเป็นของเขา ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอศาลให้สั่งทำการอย่างใดอย่างหนึ่งไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้ โดยกำหนดในมาตรา 48 วรรคแรก เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปีแล้วยังไม่ได้ข่าวของผู้สูญหายเลย จึงร้องขอศาลให้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้ อันกำหนดไว้ในมาตรา 48 วรรสอง สำหรับกรณีหลังนี้ต้องมีเวลาเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย กฎหมายกำหนดขั้นตอนไว้และช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลว่า เป็นคนสาบสูญ กฎหมายยังถือว่าบุคคลนั้นมีชีวิตอยู่และเป็นเพียงผู้ไม่อยู่เท่านั้น ผู้มีส่วนได้เสียจึงทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของเขา ไม่อาจอ้างสิทธิ์ใดๆทั้งกรรมสิทธ์หรือครอบครองปรปักษ์กับทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ได้เลย หากกระทำให้เสียหายหรือสูญหายหรือยักยอกมาเป็นของตน ท่านอาจต้องเดือดร้อนกับคดีอาญา เมื่อศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ทรัพย์สินของเขาจักถูกจัดแบ่งแก่เหล่าทายาทโดยธรรมตามหลักกฎหมายมรดก ถ้าวันหนึ่งเขาปรากฏตัวแสดงตนและร้องขอเพิกถอนการเป็นคนสาบสูญ ผู้ที่ได้รับทรัพย์สินของเขาไปต้องคืนส่วนที่เหลืออยู่ ณ เวลานั้นฐานลาภมิควรได้ มิใช่คืนทั้งหมดที่รับมา ดังนั้น นอกเหนือจากการตามหาผู้สูญหายด้วยความรักและห่วงใยแล้ว ท่านจึงควรทราบวิธีจัดการทรัพย์สินของเขาในระหว่างที่เขาไม่อยู่ด้วย

เขียนโดย ลีลา LAW

****************************




 

Create Date : 24 มกราคม 2548    
Last Update : 29 มกราคม 2548 0:48:21 น.
Counter : 1482 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.