ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 
ค่าชดเชยในคดีอาญา

เขียนโดย ลีลา LAW

ท่านคงเคยสงสัยว่า เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น เช่น ข่มขืน ฆ่าคนตาย ทิ้งเด็กไว้ในถังขยะ ทอดทิ้งคนชราในประการที่อาจเกิดอันตรายแก่ชีวิต เป็นต้น ถ้าจับผู้กระทำผิดได้ จักถูกลงโทษตามหลักกฎหมายนั้นๆ แล้วผู้เสียหายหรือทายาทของเขาจะไม่ได้รับการทดแทนใดๆเหมือนในคดีแพ่งบ้างหรือ เพื่อความยุติธรรมและเมตตาจิตของรัฐ จึงออกกฎหมายเพื่อชดเชยความสูญเสียของผู้เสียหายหรือจำเลยในคดีอาญาที่อาจถูกใส่ร้ายในคดี ต่อมาศาลได้พิพากษาให้พ้นผิด แต่เขาได้สูญเสียหรือเสียหายจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐไปแล้ว ดังเช่น การจับและฟ้องผู้ต้องหาผิดคนในดคีฆ่าเชอรี่แอน ดังแคน ซึ่งทำลายครอบครัวจำเลยไปหลายคน บางคนก็ตายไประหว่างการจำขัง เป็นต้น
พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 มีผลใช้ในทางปฏิบัติได้ประมาณต้นปี 2545 นี้ ซึ่งรัฐจักช่วยชดเชยความเสียหายแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ไม่รวมถึงกรณีที่เอกชนฟ้องคดีกันเอง
บุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนหรือค่าทดแทนได้ คือ
1. ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น
2. จำเลย หมายถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำผิดอาญา และมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ด้วย คือ
1. ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
2. ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี
3. ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้กระทำผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือ ปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
ฐานความผิดที่ทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย คือ
1. ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 ถึง มาตรา 287 เช่น ข่มขืนหญิงหรือเด็ก ทำอนาจารเด็ก ล่อลวงในทางเพศ เป็นต้น
2.ความผิดต่อชีวิต มาตรา 288 ถึง มาตรา 294 เช่น การฆ่าผู้อื่น ประมาททำให้คนอื่นตาย เป็นต้น
3. ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295 ถึง มาตรา 300 เช่น ทำร้ายร่างกาย ชุลมุนต่อสู้แล้วมีคนบาดเจ็บ ประมาทในการทำร้ายแล้วเกิดบาดเจ็บ เป็นต้น
4. ความผิดฐานทำให้แท้งลูก มาตรา 301 ถึง มาตรา 305 เช่น การทำแท้งด้วยตนเอง หรือ ยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง ทำแท้งโดยหญิงไม่ยินยอม หรือ ผิดเงื่อนไขของกฎหมาย เป็นต้น
5. ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ หรือ คนชรา มาตรา 306 ถึง มาตรา 308 เช่น ทิ้งเด็กทารกในถังขยะไม่ว่าเด็กจะตายหรือไม่ เป็นต้น
ลักษณะเงินชดเชยที่รัฐจ่ายให้ แยกเป็น
กรณีเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา สิ่งที่ได้รับคือ
1. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ
2. ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตายเป็นจำนวนตามที่กฎกระทรวงกำหนด
3. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
4. ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นๆตามที่กำหนดเห็นควร
จำนวนค่าตอบแทนนั้น ต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมถึงโอกาสที่จะได้รับการบรรเทาโดยทางอื่นด้วย
กรณีเป็นจำเลยในคดีอาญา จักได้รับ
1. ค่าทดแทนการถูกคุมขัง
2. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล
3. ค่าทดแทนกรณีจำเลยถึงแก่ความตาย และ ความตายเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
4. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี
5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี
จำนวนค่าทดแทนจักได้รับเพียงใดหรือไม่ ต้องคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดี ความเดือดร้อนที่จำเลยได้รับและโอกาสที่จำเลยจะได้รับการชดเชยความเสียหายทางอื่นด้วย
ระยะเวลาในการยื่นคำขอ คือ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำผิด หรือ วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือ วันที่มีคำพิพาษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
ผู้มีหน้าที่รับคำร้องและพิจารณาเรื่อง คือ คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ ของสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม
การยื่นอุทธรณ์ เมื่อไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย โดยอาจยื่นต่อสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินฯ หรือ ศาลจังหวัดที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเพื่อส่งให้แก่ศาลอุทธรณ์ก็ได้
ข้อเตือนใจในการใช้สิทธิเรียกร้องนี้
1. การยื่นคำขอรับค่าตอบแทนตามกฎหมายนี้ โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
2. การให้ถ้อยคำหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ ต่อคณะกรรมการฯหรือพนักงานสอบปากคำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
3. การไม่ยอมให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร มีโทษจำคุก 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น เมื่อได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการยุติธรรมและเป็นคดีอาญาตามที่กำหนดไว้ อาจใช้สิทธิต่างๆซึ่งรัฐมอบให้ เพื่อหวังบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายจากคดีได้ แต่มิใช่เพื่อให้คุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียไป เพราะหลายอย่างที่เสียหายก็มิอาจตีราคาเป็นเงินได้

รู้สิทธิ ใช้สิทธิ บรรเทาได้

*********************


Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2550 14:04:42 น. 0 comments
Counter : 895 Pageviews.

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.