ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 
ค่าจ้างกับหนี้สิน

เขียนโดย ลีลา LAW

หลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่า บางครั้งนายจ้างจะหักเงินค่าจ้างเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรือชดใช้หนี้เบิกเงินล่วงหน้าตอนจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง บางทียังช่วยหักหนี้แทนเจ้าหนี้เงินกู้อื่นของลูกหนี้อีกด้วย พวกเขามีสิทธิ์ทำได้แค่ไหน เพียงใด บางครั้งนายจ้างหักเงินเดือนชดใช้หนี้ทั้งจำนวน ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับเดือนนั้นเลย อันสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก
รัฐมองเห็นการเอาเปรียบของนายจ้างลักษณะนี้และคำนึงถึงความเดือดร้อนทั้งฝ่ายลูกจ้างหรือฝ่ายนายจ้างที่อาจมีได้เช่นกัน จึงบัญญัติกำหนดขอบเขตในการหักเงินใช้หนี้ซึ่งนายจ้างมีสิทธิทำได้ดังนี้ คือ
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 76 กำหนดว่า ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ
1. ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
2. ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
3. ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิภาพที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
4. เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 (เงินประกันความเสียหายเฉพาะบางตำแหน่งงาน) หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมของลูกจ้าง
5. เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม
การหักเงินตามข้อ 2 3 4 และ 5 ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละ 10 และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
หากนายจ้างฝ่าฝืนมาตรา 76 นี้ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รูปแบบความยินยอมของลูกจ้าง เป็นไปตามมาตรา 77 ที่กำหนดว่า กรณีที่นายจ้างต้องได้รับ
ความยินยอมจากลูกจ้างฯ นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ หากนายจ้างหักเงินโดยฝ่าฝืนไม่จัดให้มีความยินยอมตามกฎหมายกำหนดก่อน ต้องรับโทษปรับไม่เกิน 20000 บาท
จากบทบัญญัติทางกฎหมายข้างต้น คงทำให้นายจ้างกับลูกจ้างทราบขอบเขตการหักใช้หนี้ได้ชัดเจน หลายการกระทำที่นายจ้างเคยกระทำ เช่น การหักหนี้ตามคำขอร้องจากเจ้าหนี้อื่นของลูกจ้าง หรือหักเงินใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการทำงานของลูกจ้าง เป็นต้น นายจ้างย่อมกระทำมิได้ ส่วนกรณีหักชดใช้ค่าเสียหายซึ่งลูกจ้างทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง นายจ้างจักหักได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของลูกจ้างก่อนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างทำงานเฝ้าคลังน้ำมัน แต่จุดบุหรี่สูบหรือก่อกองไฟป้องกันความหนาวจนเกิดระเบิดไฟไหม้สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่คลังน้ำมัน ถ้าลูกจ้างมิได้ให้ความยินยอมล่วงหน้ายอมให้หักค่าเสียหายจากค่าจ้างได้ นายจ้างก็ไม่มีสิทธิกระทำเช่นนั้น นอกจากฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่างหากทางศาลเท่านั้น เป็นต้น ท่านจักเห็นได้ว่ามีเพียง 3 กรณีเท่านั้นที่กฎหมายยอมให้หักเงินได้โดยไม่ต้องรอความยินยอมจากลูกจ้างก่อน คือ มาตรา 76 (1) (2) (5) อันเป็นเรื่องหนี้ภาษีของรัฐ หนี้ค่าบำรุงสหภาพแรงงาน และ หนี้กองทุนเงินสะสม นอกจากนั้นยังหักได้เพียงบางส่วนในแต่ละเดือนไม่เกินร้อยละ 10 หากต้องการหักเกินกว่าที่กำหนดไว้ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน แต่มิใช่การหักเต็มจำนวน เนื่องเพราะกฎหมายไม่ต้องการให้ลูกจ้างลำบากเกินควรเมื่อนายจ้างหักค่าจ้างเพื่อใช้หนี้ ถ้านายจ้างกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ย่อมได้รับโทษหนัก จึงพึงระวังให้มากเพราะอาจเกิดความเสียหายมากเกินกว่าเงินที่หักจากลูกจ้างรายเดือนและทำให้เสียเวลาในการขึ้นศาล เสียชื่อเสียงของบริษัทอีกด้วย


***********************************


Create Date : 01 ตุลาคม 2548
Last Update : 1 ตุลาคม 2548 14:06:05 น. 0 comments
Counter : 931 Pageviews.

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.