นักดมกลิ่นกับนักปรุงกลิ่น ... จริงๆแล้วมันคนละอาชีพเดียวกันนะครับ
 พักนี้ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากรายการทีวีต่างๆเพื่อขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับอาชีพนักปรุงกลิ่น คงสืบเนื่องมาจากปีที่แล้วผมไปออกรายการ "มิตรนิยม" ในฐานะนักดมกลิ่น ... ประกอบกับข่าวประกาศขายวัดแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีกลิ่นอาหารสัตว์รบกวนและมีการกล่าวถึง "อาสาสมัครนักดมกลิ่น" ที่ทำหน้าที่พิสูจน์กลิ่นตัวอย่าง lll นักดมกลิ่น lll โดยปกติแล้วอาสาสมัครนักดมกลิ่นจะเป็นหนึ่งในทีม QC หรือ QA ในบริษัทเครื่องสำอางประเภททำความสะอาด เช่นโรงงานทำสบู่ โรลออนดับกลิ่นกาย หรือสเปรย์ดับกลิ่นกาย โดยผู้ที่เป็นอาสาสมัครจะทำหน้าที่ประเมินกลิ่นของบุคคลตัวอย่างที่ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่าผลิตภัณฑ์นั้นสามารถกลบกลิ่นหรือป้องกันกลิ่นกายได้ดีขนาดไหน บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ประเมินได้จะต้องมีประสาทการรับกลิ่นที่ดีและเสถียร โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายแต่ผู้หญิงจะมีข้อจำกัดในเรื่องประจำเดือน เนื่องจากเมื่อระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง จะส่งผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทและการหลั่งของเหลวในจมูก ทำให้การรับรู้กลิ่นผิดออกไป ... แต่บางครั้งก็เป็นประโยชน์นะครับเพราะช่วงนี้ของผู้หญิง จะทำให้จมูกไวขึ้น 10 เท่าเลยทีเดียว คุณผู้ชายที่หนีภรรยาไปเที่ยว ระวังถูกจับได้เพราะผิดกลิ่นเข้าบ้านนะครับ อาสาสมัครนักดมกลิ่นในประเทศไทย ทำงานโดยไร้ค่าจ้างครับ และต้องผ่านการทดสอบการดมกลิ่นก่อน เท่าที่ทราบนั้นจะเป็นการทดสอบเชิงคุณภาพ (ทดสอบว่าได้กลิ่นหรือไม่) มากกว่าเชิงปริมาณ (บอกว่ากลิ่นแรงหรือไม่แรงเท่าใด) ถึงแม้ว่าจะมีการจัดลำดับได้ว่าตัวอย่างไหนแรงที่สุด ปานกลาง น้อยและไม่มี แต่ก็ไม่สามารถบอกเป็นปริมาณจำเพาะได้ ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดอคติ (Bias) ได้หากดมต่อเนื่องกันโดยไม่ถูกหลักวิธีการดมจริงๆ สรุปคือนักดมกลิ่นทำหน้าที่ดมกลิ่น และประเมินผลการทดสอบเชิงคุณภาพเท่านั้นครับ ... งานหลักมีเพียงอย่างเดียวคือ "ดมกลิ่น" lll นักปรุงกลิ่น lll ส่วนนักปรุงกลิ่นจะมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Perfumer เป็นผู้ทำหน้าที่นำสารหอม (Aromatic oil) และน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) มาผสมกันอย่างมีหลักการจนกลายเป็นกลิ่นใหม่ๆ อาชีพนี้ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ... อาชีพนี้สามารถแบ่งได้เป็นสองสายครับ สายแรกคือ Technical Perfumer ซึ่งจะเป็นผู้ที่เก่งมากทั้งทางเคมีและการปรุงน้ำหอม สามารถรื้อสูตรน้ำหอมมาปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับชนิดของผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ เชื่อหรือไม่ครับทุกวันนี้คนมักเข้าใจผิดว่าหัวน้ำหอมสามารถนำไปผสมในผลิตภัณฑ์ได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสบู่ เทียนไข น้ำหอม ฯลฯ ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่สามารถใช้ร่วมกันได้นะครับ (แม้แต่บริษัทตัวแทนขายน้ำหอมบางแห่งในบ้านเราก็ยังนำเสนอ มั่วและหลอกลูกค้าอยู่เลยครับ) Technical Perfumer นี่แหละที่จะทำได้ทั้งปรุงกลิ่นใหม่หรือปรับกลิ่นเก่าเพื่อให้สามารถใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างได้โดยไม่มีผลข้างเคียง (เช่น น้ำหอมที่ไม่เหมาะสมเมื่อนำไปผสมในสบู่แล้วจะทำให้กลิ่นด้านลง ไม่หอมล้ำลึกและดูราคาถูก บางครั้งทำให้สบู่เปลี่ยนสีและอาจจะส่งผลเสียต่อผิวหนัง) อีกสายหนึ่งจะเน้นไปทางด้านศิลปะมากกว่า นั่นก็คือ Creative Perfumer ... ในสายนี้บางทีก็เป็นเรื่องของพรสวรรค์นะครับ เพราะต้องใช้ทั้งทักษะความจำที่สูงมาก และความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้กัน ต้องจับเอาความลับของธรรมชาติให้เจอ ว่ากลิ่นอะไรผสมกับกลิ่นอะไรแล้วได้เป็นกลิ่นอะไร กลิ่นหอมๆของดอกไม้บางกลิ่น มีสารหอมหลักๆที่เป็นองค์ประกอบนับสิบๆตัว นักปรุงน้ำหอมต้องคัดเลือกสารหอมไม่กี่กลิ่นจากทั้งหมดสามถึงสี่พันกลิ่นให้ถูก จึงจะปรุงกลิ่นขึ้นมาได้น้ำหอมที่เราฉีดๆกันบางกลิ่นมีสารหอมผสมกันมากกว่า 60 ชนิดเลยนะครับ ... ถ้าจะนับรวมสารหอมที่อยู่ในน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติด้วยแล้วมันก็อาจจะถึงร้อยหรือแม้กระทั่งพันชนิดได้เลยครับ อย่างไรก็ตามนักปรุงน้ำหอมทั้งสองสายนี้ จะต้องรู้จักสารหอมและกลิ่นเป็นพื้นฐาน นักปรุงน้ำหอมต้องดมกลิ่นต่างๆและบันทึกไว้ในความทรงจำสามารถดึงออกมาใช้งานได้ทันที รวมถึงต้องสามารถรวมกลิ่นคร่าวๆในหัวก่อนจะลงมือทำได้อีกด้วย จึงไม่แปลกที่นักปรุงกลิ่นจะมีความเป็นเลิศด้านการดมกลิ่นด้วยในตัวและมักจะเป็นเลิศกว่านักดมกลิ่นด้วย เราจะเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า The nose ครับ ... หากเก่งมากๆก็จะเป็น Golden nose ครับ เรื่องของการดมกลิ่นแล้วจำได้หมายรู้นั้น นักปรุงกลิ่นคนนั้นจะต้องเคยดมกลิ่นเหล่านั้นมาก่อน ... โดยเฉพาะกลิ่นที่สามารถนำมาปรุงน้ำหอมได้ นักปรุงกลิ่นแทบทุกคนจะจำได้ดีเลยล่ะครับ ... บางคนนั้นสามารถแยกได้แม้กระทั่ง กลิ่นกลิ่นนี้มีสารอะไรเป็นองค์ประกอบครับ อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นปาฏิหาริย์นะครับ จริงๆแล้วมันไม่ยากเลยแต่ต้องมีใจรักและต้องใช้เวลา เพียงแต่ประเทศไทยเรา จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่เคยมีใครทำอาชีพนี้หรือสนใจอาชีพนี้จนหันมาศึกษากันสักคนเท่านั้นเอง อย่างมากก็แค่อาสาสมัครนักดมกลิ่นครับ น่าเสียดายนะครับ .. ทั้งๆที่คนไทยเราเองผ่านกลิ่นอะไรๆมากกว่าคนชนชาติอื่นๆด้วยซ้ำ หัวสมองของคนไทยมีช่องบันทึกกลิ่นไม่แพ้ชาติใดในโลกหรอก แต่วิชาชีพเหล่านี้ไม่ถูกสนับสนุนโดยมหาวิทยาลัย สถาบันหรือรัฐบาลเลยครับ วัตถุดิบหอมๆในบ้านเราก็เยอะจนล้น แต่ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะเป็นคอขวดอยู่ตรงทัศนคติของผู้ใหญ่และเด็กเก่งๆว่าต้องไปอยู่องค์กรใหญ่ๆเท่านั้น (ส่วนใหญ่มักโกงประเทศชาติด้วย) ก่อนจะออกเรื่องการเมืองมากกว่านี้ ... ผมว่ากลับมาที่เรื่องของเราต่อดีกว่า ผมเชื่อว่าเมื่อถึงตรงนี้แล้ว ทุกท่านคงเข้าใจสองอาชีพนี้มากยิ่งขึ้นนะครับ ส่วนตัวผมเองเป็น Perfumer ครับ ... ยังคงเป็นมือสมัครเล่นที่เน้นไปทางด้าน Creative มากกว่า Technical แต่ด้วยความที่ผมเรียนจบเคมี จึงไม่ยากอะไรเวลาที่ต้องปรับสูตรน้ำหอมให้ลูกค้า หลังจากที่ออกรายการ "มิตรนิยม" ไป ทำให้ถูกทักและถูกลองของให้ดมสิ่งต่างๆมากมาย มีทั้งตอบถูกและผิดครับ เพราะความเป็นจริงนั้น สิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่ออาชีพก็ไม่รู้จะดมไปทำไม อย่างจะให้ดมกลิ่นใบไม้ ว่ามันเป็นใบอะไรนั้น ... ผมก็อยากจะบอกว่า เกือบทุกใบไม้ในโลกตั้งแต่ใบหญ้า ใบตอง ยันใบอะไรก็ตาม ถ้ามีกลิ่นเขียวๆก็คือสาร Cis-Hexenol (Leaf alcohol) ทั้งนั้น ... ให้ดมก้อนหินแล้วบอกว่าเป็นก้อนหินก็คงทำไม่ได้ เพราะก้อนหินแท้ๆไม่มีกลิ่น (ยกเว้นจะมีดิน มีตะไคร่น้ำ มีขี้หมาติดอยู่) ... เรื่องดมๆเนี่ย บางทีก็ถูกคนเถียงด้วยอย่างไม่เป็นเรื่องหลายครั้งแล้วครับ เอาล่ะครับ ... หอมปากหอมคอกันเท่านี้ก็แล้วกัน หากท่านใดต้องการดมกลิ่นหอมๆ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นดอกมะลิผสมดอกส้ม กลิ่นไม้กฤษณาผสมไม้เทพธาโร กลิ่นชาขาวผสมกลิ่นกุหลาบขาว หรือกลิ่นมะม่วงอกร่องผสมกลิ่นพีช สามารถมาดมได้ที่งานเกษตรแฟร์ถึงวันที่ 9 ก.พ. 56 นี้เป็นวันสุดท้ายนะครับ ที่บูทร้านน้ำหอม KenGSoHigH โซนQ ติดแอร์เดินสบายๆ หมายเลขบูท Q58 ครับ www.KenGSoHigH.com
Facebook > KenGSoHigH
Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2556 |
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2556 23:50:33 น. |
|
0 comments
|
Counter : 2185 Pageviews. |
|
 |
|