All Blog
หลงไฟ : กฤษณา อโศกสิน






หลงไฟ 


บทประพันธ์ : กฤษณา อโศกสิน


ISBN 974-602-877-4 ฉบับปก สำนักพิมพ์ดอกหญ้า. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2538

จำนวน 650 หน้า ราคา 210 บาท


รายละเอียด

ก้านแก้ว สาวสวยผิวสีน้ำตาลอมแดง ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว เลือกทำงานในบริษัทเอกชนเพื่อหน้าตาทางสังคม แต่เพราะความปรารถนาอันแรงกล้าที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้เทียบชั้นผู้มีอันจะกิน หล่อนจึงต้องรับงาน “เพื่อนเที่ยว” หรือ “สาวเอสคอร์ท” เป็นอาชีพเสริม เพื่อพาหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ซึ่งถูกคัดมาแล้วว่าร่ำรวยกระเป๋าหนักออกไปท่องเที่ยวหาความสำราญ 

แม้ก้านแก้วจะบริการชายหนุ่มเหล่านั้นเกินกว่าเพื่อนเที่ยวเสมอ แต่หล่อนมักทะนงตนว่า ไม่ใช่โสเภณีอาชีพ หล่อนใช้ค่า (ตัว) ของเงินและระดับชั้นของแขกที่หล่อนบริการ ยกระดับตัวเองให้อยู่เหนือกว่าผู้หญิงโสเภณีทั่วไป แต่เพราะความทะเยอทะยานของหล่อนไม่มีคำว่า “พอ” สุดท้ายชีวิตของก้านแก้วก็แทบไม่ต่างจากผู้หญิงมีค่าตัวคนอื่น ๆ ในสังคม แต่กระนั้น หล่อนก็ยังลุ่มหลงอยู่ในไฟปรารถนาของตนอย่างไม่เคยสิ้นหวัง


ทางเดินสายเก่านั้น

เป็นเส้นทางที่หล่อนหวังจะหลบลี้ให้ห่างที่สุด...

อนาคตอันยาวเหยียดที่ทอดอยู่ตรงหน้า

อาจเป็นอนาคตที่ขึ้นอยู่กับการเสี่ยงอย่างมากก็จริง

หากมันก็ให้ความหวังอันเรืองรอง

- หลงไฟ


REVIEW

หลงไฟ บทประพันธ์ของ กฤษณา อโศกสิน เป็นนิยายเรื่องหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นความปรารถนาของตัวละครเอกอย่าง ก้านแก้ว ชัดเจนมาก อีกทั้งนิยายยังสะท้อนปัญหาความเลื่อมล้ำในสังคมให้เห็นค่อนข้างชัด ในขณะเดียวกันก็พยายามย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงการแสวงหาหนทางชีวิต ไม่ว่าเราจะยากดีมีจน การศึกษาสูง-ต่ำ อยู่ในสังคมชั้นสูง หรือเป็นเพียงสามัญชนในชุมชนแออัด ทุกคนก็เลือกหนทางที่ดีให้กับชีวิตตนเองได้ และเราไม่จำเป็นต้องทะยานสูงเกินกำลัง กระทั่งปล่อยให้ความทะยานอยากเหล่านั้น ย้อนกลับมาทำลายตัวเราเอง 

นิยายได้เลือกนำเสนอชีวิตของตัวละครสาวสองคนให้เป็นคู่เปรียบเทียบกันในเรื่องนี้ คนแรกคือ ก้านแก้ว หญิงสาวต่างจังหวัดที่พ่อแม่ส่งเข้ามาอยู่กับป้าที่สลัมในกรุงเทพฯ ก้านแก้วเรียนจนจบชั้นปริญญาตรี เข้าทำงานประจำในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เพราะหล่อนเป็นคนชอบใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ จึงเลือกถีบตัวเองให้สูงขึ้น ด้วยการใช้เงินซื้อวัตถุราคาแพงเป็นเครื่องมือในการยกระดับตัวเอง โดยเบื้องหลังเงินทองที่หล่อนนำมาจับจ่ายค่าวัตถุนิยมต่าง ๆ นั้น มาจากการทำอาชีพเป็นสาวเอสคอร์ท ถึงแม้หล่อนจะมีผู้ชายดี ๆ อย่าง กุญชร และ อาวุธ มาติดพัน คอยทุ่มเทความรักและเงินทองให้อย่างเต็มที่ แต่เพราะความต้องการที่ไม่รู้จักพอของก้านแก้ว หล่อนเลยไม่ได้เลือกชายหนุ่มทั้งสองเป็นคู่ชีวิต นอกจากลวงหลอกให้คอยดูแล ส่งเงินให้ใช้เท่านั้น 

กระทั่งหล่อนเกิดถูกใจชายหนุ่มลูกเศรษฐี โชน นาคา ก้านแก้วถึงกับยอมทุ่มเทเงินทองของตัวเองให้เขาจนหมดสิ้น ด้วยหวังใจไว้ว่า วันหนึ่งหล่อนจะยกระดับทางสังคมของตัวเองให้สูงขึ้น จากการก้าวขึ้นมาเป็นลูกสะใภ้ของตระกูลนาคา โดยหารู้ไม่ว่า หล่อนกำลังเหมือนแมงเม่าที่หลงระเริงอยู่กับกองไฟโชนแสง ซึ่งเนื้อแท้ไม่ได้งดงาม หากมีแต่จะเผาผลาญหล่อนให้มอดไหม้ และชีวิตของก้านแก้วก็ค่อย ๆ พลิกผัน เลวร้ายลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่หล่อนดึงโชนเข้ามาสู่ชีวิต


ก้านแก้วหลงลืมไปสิ้นถึงมายาที่หล่อนวางหมากไว้ว่าจะทำ

หล่อนฝืนตัวเองฝืนจิตวิญญาณที่ชื่นชอบไม่ไหว ร่างหล่อนทั้งร่างคือเส้นลวดบางเล็ก มิใช่ท่อนไม้

ดังนั้น มันจึงบิดจึงพลิ้วตามมือไปสู่รูปแบบประสาหล่อน

หญิงสาวเสียดายนาทีทองที่จะต้องมัวขืนแข็ง ขณะที่เชื้อเพลิงลุกโหมด้วยเปลวไฟสูงลอย

หากไม่โผเข้าไปเริงเล่นก็แสนโง่เสียหนักหนา...

เขียงขาวที่ปูผ้าไว้ตึงเรียบเริ่มยุ่งเหยิง

ด้วยว่าเขากำลังเป็นมีด เงื้อง่าลงมายังชิ้นเนื้อซึ่งประมาณเอาว่าสดใหม่

แต่เนื้ออย่างหล่อนมิใช่เนื้อแพ้มีด มือที่จับที่กดก็ต้องมั่นคงไม่หละหลวม

มีดต้องคมกริบ เมื่อกรีดลงมานั้น เนื้อจะแยกออกจากกันเป็นชิ้นงามตามกระบวนการแล่

มิใช่ต้องเถือแล้วเถืออีกจนยับเยิน

มีดของเขาคมจริง ๆ เขากรีดหล่อนอย่างที่เรียกว่ามันไปถึงไหน ๆ

แม้หล่อนจะเคยถูกลงมีดมาแล้วนับครั้งไม้ถ้วน

แต่คมมีดคราวนี้ของเขาเป็นคมที่หล่อนจะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการพเนจร

- หลงไฟ , หน้า 342-343


ส่วนตัวละครสาวคนที่สองคือ ชาลา เป็นเพื่อนรักของก้านแก้ว เคยอยู่ร่วมชุมชนเดียวกันมา แต่นิสัยใจคอและความคิดฝันแตกต่างจากก้านแก้วลิบลับ ชาลาค่อนข้างเจียมตน แม้ตัวชาลาจะคาดหวังในความรัก ความเจริญทางวัตถุและสังคม แต่เมื่อชาลาได้ประสบความจริงว่า ผู้ชายบางคนที่เข้ามาสนใจเธอ มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเธอ ชาลาก็เลือกที่จะเด็ดเดี่ยวในแนวทางและศักดิ์ศรีของเธอเอง และดูเหมือนว่า คนที่ทำให้ชาลาค้นพบความสุขของชีวิตในแบบของเธอนั้น ก็คือ กุญชร เพื่อนชายที่เกือบเสียคนเพราะหลงรักก้านแก้ว

นิยายหลงไฟ หากมองเผิน ๆ อาจกลายเป็นเรื่องอคติต่อทางเลือกในชีวิตของผู้หญิงอย่างก้านแก้ว แต่จริง ๆ แล้ว ตัวตนหรือเนื้อแท้ของตัวละครเอง ที่กำหนดให้คนอย่างก้านแก้วเลือกเดินในทางลัดเพื่อรีบก้าวไปหาความมั่งคั่ง จนหลงลืมอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่ก้านแก้วไม่ยอมหยุดแค่อาชีพสาวเอสคอร์ท แต่กลับปล่อยให้ชีวิตถลำลึกจนหล่อนกลายเป็นโสเภณีที่น่าสงสารที่สุด ทั้งที่ผ่านมา ก้านแก้วมีทางเลือกที่ดีกว่าให้หล่อนเลือกอยู่เสมอ แต่ชีวิตคนจริง ๆ ก็คงคล้ายก้านแก้วนี่แหละ เป็นคนเทา ๆ ซึ่งเราเข้าใจว่าเหตุใดหล่อนจึงเลือกทางเดินชีวิตดังในนิยาย ผมเชื่อว่า หลายคนอ่านแล้วคงไม่ได้มองว่าก้านแก้วเป็นผู้หญิงเลวหรอก แต่อาจเกิดความเวทนาด้วยซ้ำ ว่าทำไมชีวิตของก้านแก้วถึงไม่เป็นไปในทางที่ดีกว่านี้

นอกจากนั้น นิยายยังบอกเล่าถึงปัญหาในวัฒนธรรมบริโภคนิยม ความลุ่มหลงในวัตถุนิยม ความรุนแรงทางเพศ และการค้าประเวณีผิดกฎหมาย ซึ่งอำนาจของทางการไม่อาจก้าวเข้าไปคุ้มครองชีวิตของผู้หญิงโสเภณีได้เลย ผมไม่รู้ว่านิยายเอาความจริงมานำเสนอแค่ไหน แต่อ่านแล้วน่ากลัวมาก เพราะดูเหมือนจะไม่มีหนทางรอดเลย เช่นเดียวกับตอนที่ก้านแก้วต้องเข้าไปพัวพันกับ เขียว ดัทสัน เป็นต้นมา

ด้านสำนวนภาษาของกฤษณา อโศกสิน เขียนได้ลื่นไหล อ่านง่าย ใช้ภาษาดี และผมชอบการถ่ายทอดบทสนทนาของกฤษณาเป็นพิเศษ เพราะอ่านแล้วรู้สึกเข้าถึงอารมณ์และความคิดของตัวละครได้ทันที ใครชอบนิยายแนวสะท้อนสังคมที่มีสีสัน แต่สะเทือนใจสุด ๆ ผมขอแนะนำหลงไฟให้ลองอ่านกันดูสักหนึ่งเรื่องครับ


Jim-793009

29 : 01 : 2019





Create Date : 29 มกราคม 2562
Last Update : 29 มกราคม 2562 9:34:06 น.
Counter : 5513 Pageviews.

2 comment
ล่า : ทมยันตี






ล่า


บทประพันธ์ : ทมยันตี


ISBN 974-7039-58-3 ฉบับปก สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4. 2537

จำนวน 349 หน้า ราคา 130 บาท

รายละเอียด

มธุสร เคยเพียบพร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติและครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่หล่อนจำต้องยอมสละทุกสิ่งที่มี เพียงเพื่อต้องการใช้ชีวิตอยู่กับ มธุกร ลูกสาวคนเดียวของหล่อน และละทิ้งสามีที่ไม่ซื่อสัตย์ไปเสีย หากแต่การแสวงหาชีวิตใหม่ ทั้งที่ปราศจากเงินทองติดตัวกลับไม่ใช่เรื่องง่าย ความลำบากและขัดสนทำให้มธุสรจำต้องพามธุกรมาเช่าบ้านอยู่ในสลัมแห่งหนึ่ง 

สภาพแวดล้อมของสลัมแห่งนั้นไม่ค่อยดีนัก เต็มไปด้วยอันตรายที่หล่อนต้องคอยระมัดระวังให้ลูกสาวอยู่ห่างๆ แต่แล้วโชคชะตาอันเลวร้าย ก็ชักนำให้แก๊งวัยรุ่นค้ายาเสพติดเข้ามาพัวพันกับชีวิตของมธุสรและลูกสาว อีกทั้งการตัดสินใจทำหน้าที่พลเมืองดี นำตุ๊กตาซุกยาบ้าที่มธุกรได้รับจากแก๊งค้ายาไปมอบให้ตำรวจ ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของมธุสรไปตลอดกาล


ความพยาบาทเป็นของหวาน...

ใช่แล้ว

สิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจของฉันให้ชุ่มชื้นอยู่ได้

คือ ความพยาบาท

- ล่า


REVIEW

ล่า บทประพันธ์ของ ทมยันตี เมื่อเอ่ยถึงนิยายเรื่องนี้ คิดว่าคงมีน้อยคนที่ไม่รู้จัก เพราะช่วงปลายปี 2560 ได้ถูกทำเป็นละครฉายทางช่อง One และเป็นที่พูดถึงอย่างเกรียวกราวพอสมควร 

พล็อตนิยายเรื่อง “ล่า” ไม่ได้ซับซ้อนนัก ประเด็นหลักเล่าถึงการแก้แค้นของ มธุสร คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เพิ่งหย่าขาดกับสามีหมาด ๆ และต้องพา มธุกร (ผึ้ง) ลูกสาวมาลำบากด้วย แต่เพราะตั้งใจจะประพฤติตนเป็นพลเมืองดี เอายาบ้าที่แก๊งวัยรุ่นแอบซุกใส่ในตุ๊กตาไปมอบให้ตำรวจ แก๊งวัยรุ่นซึ่งนึกแค้นเคืองเลยตามมาข่มขืนสองแม่ลูก กระทั่งมธุกรเสียสติกลายเป็นคนวิกลจริตไปในที่สุด แม้มธุสรจะขึ้นศาลต่อสู้คดีความ แต่ศาลก็ไม่ได้พิจารณาโทษตายให้แก่คนทำผิด มธุสรจึงใช้ความพยาบาทเป็นแรงผลักดันให้หล่อนออก “ล่า” พวกคนโฉดทั้ง 7 คนในนามของ “แม่รุ่งฤดี” เพื่อทวงความยุติธรรมให้แก่ชีวิตที่ย่อยยับของหล่อนและลูกสาว

ความลุ้นระทึกของเรื่องราว คือการรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ ว่าแม่รุ่งฤดีจะออกล่าใครเป็นรายต่อไป แล้วหล่อนจะเลือกใช้วิธีไหนฆ่าคนที่เคยทำร้ายหล่อนกับลูกสาว บางวิธีก็น่ากลัวเอามาก ๆ อ่านแล้วรู้สึกโหดร้ายจริง ๆ แต่เพราะผู้เขียนพยายามแทรกคำถามในใจของมธุสรอยู่เสมอ ทำนองว่าหล่อนและลูกไม่ได้รับความเป็นธรรม กฎหมายคุ้มครองชีวิตของหล่อนกับลูกไม่ได้ หล่อนจึงต้องเลือกหนทางแก้แค้นเป็นทางออก ซึ่งสะท้อนปัญหาความอ่อนแอของกฎหมายที่หลายครั้งก็พ่ายแพ้อำนาจของผู้มีอิทธิพล ทำให้ “ล่า” เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่แสดงออกผ่านจินตนาการ ว่าด้วยการเรียกร้องสิทธิของสตรี และเรียกร้องความเป็นธรรมจากสังคมไปโดยปริยาย

เนื่องจากนิยายล่าได้รับการพิมพ์มานานหลายสิบปี การบรรยายฉาก รูปแบบชีวิต และสังคมในนิยาย จึงเป็นภาพสะท้อนสังคมกรุงเทพฯ ในยุคเก่า (ผมเดาเอาเองจากบริบท ว่าน่าจะเป็นยุค 2520-2530 โดยประมาณ) เพราะมธุสรไม่ได้ย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์อย่างในละครช่อง One แต่ไปเช่าบ้านไม้เก่า ๆ ในซอยเปลี่ยวแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสลัมที่เต็มไปด้วยอบายมุข

นอกจากนี้ การปรากฏตัวของอาจารย์ญี่ปุ่นที่สอนให้มธุสรเรียนรู้ศิลปะการแต่งหน้า และท่องจำวลีเด็ดจนขึ้นใจว่า “ความพยาบาทเป็นของหวาน” ในนิยายนำเสนอออกมาพอดี ๆ จนเข้าขั้นน้อยมาก และไม่ได้เล่นใหญ่อย่างคุณรัดเกล้าในเวอร์ชั่นละคร แต่ถ้าใครทันดูเวอร์ชั่นสินจัยกับทราย เจริญปุระ ก็น่าจะได้รับอรรถรสหรือความประทับใจไปอีกแบบ ซึ่งผมไม่รู้ว่าละครถ่ายทอดดีแค่ไหน เพราะไม่ได้ดูทุกตอนจนจบ แต่สำหรับเวอร์ชั่นนิยายผมว่าสนุกดี เพราะทำให้เราลุ้นและอยากติดตามได้ตลอดเวลา แล้วการฆ่าเหยื่อแต่ละรายก็ดูโหดเหี้ยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่น่าแปลกที่การตามล่าของมธุสรมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางน้อยมาก เหมือนว่าโชคชะตาเปิดทางให้หล่อนตามฆ่าเหยื่อทั้ง 7 รายได้อย่างสบายใจมากไปสักหน่อย ภายใต้เหตุผลที่ว่า “ผู้หญิงเป็นสื่อชักนำความตายเสมอ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน”

ส่วนภาษาสำนวนของทมยันตีในเรื่องนี้ นำเสนอออกมาได้พอดี ตรงประเด็น อ่านเข้าใจง่าย ที่สำคัญคือทำให้เราซาบซึ้งไปกับความรัก ความเจ็บปวดของแม่ที่รักลูกมาก ๆ และแม้ว่าแม่จะตามฆ่าคนที่ทำให้ลูกทุกข์ทรมานได้สำเร็จ แต่สุดท้ายมันก็ไม่อาจทำให้ลูกกลับมาเป็นปกติได้ดังเดิม และนี่คือชีวิตจริงของคนที่ตกเป็นเหยื่อ ดังที่ผู้เขียนบอกเตือนใจเอาไว้ตอนท้ายเรื่องว่า


ความเป็นไปในโลกยังดำเนินต่อไป

ความโหดร้ายทารุณ ความขมขื่น เคียดแค้น ชิงชัง

ยังไม่มีวันสิ้นสุดและทุกชีวิตจะต้องเผชิญกับการ ‘ล่า’ และ ‘การถูกล่า’

อย่างไม่หยุดยั้ง ใครเล่าจะเป็นฝ่าย ‘ถูกล่า’ หรือ “ล่า” เป็นคนต่อไป ?

- ล่า


ใครเล็ง ๆ ว่าอยากอ่าน แนะนำให้ลองหยิบมาอ่านกันครับ สนุกดี แม้ว่าตัวละครเอกจะคอยล่าและฆ่าคนแท้ ๆ แต่เรากลับอยากเอาใจช่วย และนึกเวทนาในชะตากรรมของมธุสรจริง ๆ ครับ ในขณะเดียวกัน เราก็อาจตั้งคำถามกับมโนธรรมในจิตใจของตัวเองไปด้วยว่า หากกฎหมายจัดการคนที่ทำชั่วไม่ได้ การออกตามล่าและฆ่าคนชั่วด้วยตัวเอง เป็นหนทางของความเป็นธรรมที่แท้จริงหรือไม่






Jim-793009

28 : 11 : 2018





Create Date : 28 พฤศจิกายน 2561
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2561 11:31:14 น.
Counter : 4245 Pageviews.

4 comment
ภูผา กำแพง แสงดาว : สิรปกรณ์






ภูผา กำแพง แสงดาว


บทประพันธ์ : สิรปกรณ์


ISBN 978-616-445-539-9 ฉบับปก สำนักพิมพ์นิลุบล. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2560

จำนวน 224 หน้า ราคา 265 บาท


รายละเอียด

ร้อยเอกคีรี เด่นภูมิ นายทหารหนุ่ม ผู้ตั้งใจอุทิศตนเพื่อปกป้องชาวบ้านแสนพนมจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายมาตลอด 3 ปี กำลังเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่ เมื่อมีรายงานถึงการปรากฏตัวของ รุสลัน ซามะ หัวหน้าผู้ก่อการร้ายที่ทางการกำลังตามตัวในเขตชุมชนแสนพนม เป็นเหตุให้นายทหารหนุ่มคัดค้านการเปิดทำการโรงเรียนแสนพนมที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ เพราะเกรงว่าผู้ก่อการร้ายจะเข้ามาก่อความไม่สงบ จนอาจเกิดอันตรายต่อครูและนักเรียน แต่เพราะขัดความประสงค์ของผู้ใหญ่ (ในแวดวงราชการ) ไม่ได้ โรงเรียนแสนพนมจึงต้องเปิดทำการอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง 

แล้วโชคชะตาก็ได้พา นิจ เดชดำรง ครูสาว อดีตชาวชุมชนแสนพนมกลับมาเป็นครูที่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่หล่อนต้องจากไปนานนับสิบปี เพราะสูญเสียพ่อไปกับการเหตุการณ์โรงเรียนถูกเผาในอดีต การกลับมาครั้งนี้ ทำให้นิจได้พบกับผู้กองคีรี ที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อปกป้องบ้านเกิดของหล่อน และ ร้อยตำรวจเอกมหรรณพ ธยานันท์ หัวหน้าฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนสายกำแพง ซึ่งมีใจชอบพอหล่อนตั้งแต่แรกพบ

ผู้กองคีรีไม่เพียงดูแลชาวบ้านให้ปลอดภัยจากผู้ก่อการร้าย แต่เขายังต้องต่อสู้กับหัวใจของตัวเองด้วย ว่าเขาพร้อมจะเปิดรับความรักครั้งใหม่หรือไม่  เพราะอาชีพและหน้าที่ของเขาไม่อาจมอบความมั่นคงแก่คนที่จะอยู่เคียงข้างได้ แม้ว่าเขายังต้องการใครสักคนที่คอยรับฟังความทุกข์ และร่วมยินดีไปกับความสุขของเขาก็ตาม ทว่าท้ายที่สุดอุดมการณ์ ความรัก และวิถีแห่งวีรบุรุษก็ได้มอบคำตอบทั้งหมดให้แก่เขา...ไปอ่านกันต่อในเล่มนะครับ


“ดาวของที่นี่สวยสว่างมากที่สุดในคืนเดือนมืด สมแล้วที่ชื่อบูกิตบินตัง

นิจคงจะรู้ความหมายของชื่ออำเภอที่นี่ดี”

“พ่อเคยบอกนิจว่า บูกิตคือภูผา และบินตังคือดวงดาว

ชื่อของที่นี่เมื่อรวมแล้วก็จะแปลได้ว่า

ภูผาแห่งดวงดาว”

- ภูผา กำแพง แสงดาว


REVIEW

ภูผา กำแพง แสงดาว ของ สิรปกรณ์ เป็นหนึ่งในนวนิยายรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดรางวัลประภัสสร เสวิกุล ครั้งที่ 1 ประจำปี 2559 ผมอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบมานานหลายเดือนมากแล้ว แต่เพิ่งมีเวลาหยิบมารีวิว (ยังมีดองเอาไว้อีกหลายเล่มเลย) หากต้องนิยามแก่นของนิยายให้เข้าใจอย่างง่าย คงไม่มีอะไรดีไปกว่าโปรยปกหน้าที่เขียนบอกไว้แล้วว่า “ความรัก มิตรภาพ และอุดมการณ์ของวีรบุรุษชายแดนใต้” ที่มีกลิ่นอายของความโรแมนติก-ดราม่า แฝงเอาแทบทุกช่วงทุกตอนของเรื่องราว




ภูผา กำแพง แสงดาว บอกเล่าถึงความกล้า ความเสียสละของทหารและตำรวจที่ปกป้องชายแดนใต้จากกลุ่มผู้ก่อการร้าย เกิดขึ้นในสถานที่สมมติที่ผู้เขียนจินตนาการขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอำเภอบูกิตบินตัง หมู่บ้านแสนพนมและสายกำแพง เพียงแต่ชื่อที่คิดขึ้นนี้ก็ทำให้ผมหลงเชื่อเสียแล้วว่าเป็นสถานที่จริง และเมื่ออ่าน ๆ ไปคุณอาจคิดเหมือนผมว่า คนเขียนน่าจะเป็นทหารหรือตำรวจที่เคยประจำการอยู่ชายแดน เพราะบรรยายรายละเอียดการทำหน้าที่รั้วของชาติได้อย่างสมจริง น่าเชื่อ แม้กระทั่งวิธีพูดจากันของพวกตำรวจ-ทหาร ที่ผู้น้อยจะเรียกผู้ใหญ่ว่า ‘พี่’ และผู้ใหญ่เรียกผู้น้อยว่า ‘น้อง’ เราจึงได้เห็นความรัก ความผูกพันธ์ของเหล่าทหารจากนิยายเรื่องนี้อย่างเต็มที่ จนอาจเกิดความรู้สึกคล้อยตามว่าพวกเขาต่างก็มีอุดมการณ์เพื่อความสงบสุขของชาติจริง ๆ 

แต่ในทางกลับกัน เราผู้อ่านต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ผู้เขียนได้คัดเลือกเอามุมมองและอุดมการณ์ที่ดีของทหารตำรวจออกมานำเสนอเป็นหลัก (ตามที่กล่าวไว้ในคำนำ) ดังนั้น เราจึงแทบไม่พบเหตุผลเบื้องหลังของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในเรื่องนี้เลย ว่าเหตุใดพวกเขาถึงต้องเผาโรงเรียน มีอะไรเป็นสาเหตุกันแน่ ส่วน นายรุสลัน ก็มีลักษณะเป็นเหมือนเงามืดที่ตะคุ่มอยู่เบื้องหลังเรื่องราวตลอดเวลา ไม่ได้มีการนำเสนอให้เรามองเห็นตัวเขาชัด ๆ ผมอ่านทีแรกก็ติดใจสงสัยอยู่ว่า ทำไมถึงไม่ให้เรารู้จักตัวตนของรุสลันเลย แต่พอมาคิดดูแล้ว ผู้เขียนอาจทำถูกที่ไม่ไปแตะเรื่องราวดังกล่าว เพราะปัญหาชายแดนใต้ค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก ควรละไว้ในฐานที่เข้าใจ และเลือกโฟกัสไปที่มุมมองของตัวละครเอกคือ ร้อยเอกคีรี และทัศนคติของเขาเป็นสำคัญ ดังคำพูดของเขาที่ว่า...


“ผมรักหมู่บ้านแสนพนม คืนไหนที่ผมเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน

ผมจะขึ้นไปที่ริมผาด้านหลังฐานปฏิบัติการเพื่อนั่งมองดวงดาวบนท้องฟ้า

แสงดาวที่กระพริบอยู่บนนั้นทำให้ผมมีกำลังใจต่อสู้

บูกิตบินตังเป็นเมืองคนกล้า

มีนักรบ ทหาร ตำรวจหลายร้อยคนทิ้งชีวิตไว้ที่นี่เพื่อปกป้องประเทศชาติ

แต่พวกเขาไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ ยังคงคุ้มครองทุกคนอยู่บนฟากฟ้าโน่น

นิจรู้ไหมว่าดวงดาวทุกดวงมีจิตวิญญาณของผู้กล้าเหล่านั้น

วันหนึ่งถ้าผมตาย ผมจะไปอยู่บนท้องฟ้า

เป็นดวงดาวที่ส่องแสงลงมาให้ทุกคนในแสนพนมที่ผมรัก”

- คีรี

ภูผา กำแพง แสงดาว หน้า 200


ข้อดีอย่างหนึ่งของ ภูผา กำแพง แสงดาว คือการนำเสนอภาพการอยู่ร่วมกันของชุมชนชาวพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งดำเนินไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แม้จะนับถือคนละศาสนา แต่พวกเขาพร้อมร่วมมือร่วมใจปกป้องอันตรายที่อาจมาจากบุคคลภายนอกชุมชน แต่ถึงอย่างนั้น บางฉากเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความสูญเสียในนิยาย ก็ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์โรงเรียนถูกเผา พระสงฆ์ถูกฆาตกรรม หรือการวางระเบิด หากแต่สิ่งเหล่านี้คือ “เรื่องจริงที่เกิดขึ้น” ผมคิดว่าเราทุกคนต่างก็รับทราบข่าวสารกันดี เลยมองว่านิยายเรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนาไปในทางส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง หรือชี้นำให้เข้าข้างฝ่ายทหาร หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เชื่อว่าคนเขียนหยิบความจริงมานำเสนอ ก็เพื่อทิ้งบางอย่างเอาไว้ให้ผู้อ่านนำไปคิดต่อเอง ว่าเราควรจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร เช่นเดียวกับชาวบ้านแสนพนมที่ยังคงมองหาปลายทาง คือ “ความสงบสุข” ซึ่งบอกใบ้ความประสงค์นั้นผ่านคำพูดของตัวละครแล้วว่า 


"...นะดาเชื่ออย่างที่พ่อบอกว่าทุกอย่างเป็นไปตามประสงค์ของอัลเลาะห์

ครูสอนว่าทุกศาสนาล้วนสอนให้ทุกคนเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น

แต่อาจจะมีบางคนที่ทำให้ความเข้าใจของศาสนาคลาดเคลื่อนจนต้องมุ่งเอาชีวิตกัน...

เขาฆ่าแม่เรา เราฆ่าเพื่อนเขา เขาฆ่าเพื่อเรา

ตราบใดที่ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ถูกรัฐบาลแก้ไขอย่างจริงจัง

มันก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป

ผู้กองแค่คนเดียวไม่สามารถยุติปัญหาได้หรอกค่ะ

เท่าที่ผู้กองเสียสละมาอยู่กับพวกเราที่นี่ พวกเราก็ขอบคุณผู้กองมากแล้ว

ทุกคนรู้ว่าผู้กองรักพวกเรา ยังไงก็จะไม่มีวันลืมผู้กอง"

- นะดา

ภูผา กำแพง แสงดาว หน้า 179-180


ส่วนประเด็นความรักของพระเอก นางเอก และพระรอง ก็ดำเนินไปตามขนบนิยายที่พูดถึงความรักโดยทั่วไป ไม่มีแกร่งแย่งชิงดี แต่เต็มไปด้วยมิตรภาพและความจริงใจที่ดีต่อกัน ซึ่งตัวละครคีรี นิจ และ มหรรณพ ก็นำเสนอออกมาได้ค่อนข้างโอเค เราอ่านแล้วไม่รู้สึกเข้าข้างใครเป็นพิเศษ แต่นึกเอ็นดูและอยากจะเอาใจช่วยทุกคน 

ด้านสำนวนภาษาและวรรณศิลป์ ผู้เขียนใช้ภาษาได้ดี ละเมียดละไม อ่านแล้วลื่นไหล เข้าใจง่าย โดยภาพรวมเป็นนิยายที่ไม่ได้หวือหวา แต่อ่านแล้วประทับใจ ต้องชื่นชมผู้เขียนที่กล้าหยิบ “สถานการณ์ปัญหาชายแดนภาคใต้” มานำเสนอในรูปแบบของนิยาย เพราะน้อยมากที่เราจะเห็นใครกล้าเอาเรื่องราวดังกล่าวมาเขียน แต่ถ้าจะให้ผมติงอะไรสักอย่างในเรื่อง ก็คงเป็นฉากลาดตระเวนของทหารตำรวจที่มีมาบ่อยมาก น่าจะมีฉากอื่น ๆ มาทดแทนได้บ้าง แต่ความจริงก็ไม่ได้แย่เลย เพราะนี่คือนิยายที่นำเสนอชีวิตของทหารตำรวจประจำชายแดน พวกเขาย่อมต้องทำหน้าที่ลาดตระเวน และป้องกันอันตราย...

ใครลังเลว่าจะอ่านดีไหม อยากให้ได้ลองอ่านกันดูครับ ความละมุนละม่อมในการนำเสนอ และแก่นสำคัญของเรื่องราว ทำให้เรารู้สึกไม่เสียเวลาเลยที่ได้หยิบนวนิยายรางวัลเรื่องนี้ขึ้นมาอ่าน


Jim-793009

08: 10 : 2018





Create Date : 08 ตุลาคม 2561
Last Update : 9 ตุลาคม 2561 9:30:13 น.
Counter : 1320 Pageviews.

7 comment
หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา : อุรุดา โควินท์






หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา



บทประพันธ์ : อุรุดา โควินท์


ISBN 978-974-02-1559-2 ฉบับปก สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2560.

จำนวน 408 หน้า ราคา 370 บาท


รายละเอียด

อุรุดา หรือ ชมพู นักเขียนสาว-อดีตพนักงานธนาคาร หนีอะไรบางอย่างมาถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช จะเรียกว่าโชคชะตาได้หรือเปล่า ที่พาให้เธอมารู้จักและใกล้ชิดกับ กนกพงศ์ ผู้มีฉายาว่า “นักเขียนหนุ่มตลอดกาล” ซึ่งหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งของเขาเคยได้รับรางวัลซีไรต์มาแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ความสำเร็จในอดีตกำลังกลายเป็นกรอบปิดกั้นการสร้างสรรค์ผลงานของเขา 

อุรุดาเคยสนทนา (เรียกว่าสนทนาได้ไหมนะ) กับกนกพงศ์ครั้งแรกผ่านไปรษณียบัตร ซึ่งเขาเขียนตอบกลับเกี่ยวกับงานเขียนของเธอ เมื่อครั้งที่เธอเขียนบทกวีส่งไปให้เขาพิจารณาในนิตยสารไรเตอร์ และได้พบหน้าเขาอีกครั้งในงานชุมนุมช่างวรรณกรรม โดยไม่ได้พูดคุยกันเลย แต่แล้วกาลเวลาก็พาทั้งสองมาเจอและทำความรู้จักกันอย่างจริงจังที่อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช

ความสัมพันธ์ของทั้งสองค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นท่ามกลางความสวยงามของธรรมชาติและขุนเขา อ้อมกอดของกนกพงศ์สั่นสะเทือนหัวใจของอุรุดาให้เริ่มหวั่นไหว เธอเฝ้าคิดถึงเขา คิดถึงกอดนั้นจนรำคาญตัวเอง และแล้วหัวใจของอุรุดาก็ยินยอมอยู่เคียงข้างเขา ในวันที่เขากระชับอ้อมแขนโอบเธอเอาไว้ แล้วกระซิบกับเส้นผมของเธอว่า “อยู่ด้วยกันนะ ทำงานด้วยกัน” หากเพียงเขาจะเอ๋ยคำรัก เธอคงไม่หลงเหลือความลังเล เธอยังรอคำนั้น รอตั้งแต่วันแรก เมื่อมองย้อนกลับไปในวันเวลาที่ล่วงผ่านเลย อุรุดาได้แต่ยิ้มอย่างเอ็นดูตัวเอง เพราะความหลังระหว่าง ‘เขา’ กับ ‘เธอ’ ดูราวกับจะจบลงด้วยหยาดน้ำตา ทว่าในทุกหยาดน้ำตาแห่งความคิดถึง ล้วนเจือเอาไว้ด้วยหยดน้ำหวานแห่งความทรงจำ


ฉันพูดคำรักอย่างสามัญเพราะไม่มีคำอื่นให้กล่าว

และฉันไม่อาจหาคำใดมาแทนค่าความรู้สึกที่มีต่อรัก อย่างเรียบง่าย

ฉันพอจะขยายความได้, ฉันพร้อมร่วมชะตากรรมกับพี่

ฉันทำให้เห็นทุกเมื่อเชื่อวันว่าความรักของฉันไม่ใช่การแตะต้องสัมผัส

คำหวาน หรือการเอาใจ

แต่มันคือการยืดหยัดข้างพี่ ไม่ว่าพี่จะเป็นอย่างไร

และไม่ว่าจะเกิดอะไรกับเรา

- หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา


REVIEW

หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา บทประพันธ์ของ อุรุดา โควินท์ สำหรับผมแล้วนิยายเรื่องนี้เป็นเหมือนหนังสารคดีชีวิตที่ถูกหยิบมานำเสนอในรูปแบบของนิยาย ทุกเรื่องราว ทุกเหตุการณ์ คือเรื่องจริงซึ่งผู้เขียนใช้ภาษาและวรรณศิลป์ถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม ทำให้เราเชื่อสนิทใจว่า ภายใต้หยาดน้ำตาของความคิดถึงที่อุรุดามีต่อกนกพงศ์ มีหยดน้ำหวานของความทรงจำมากมายที่มีค่ามาก และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้อุรุดาเดินหน้าไปสู่เส้นทางของนักเขียนอาชีพ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ คือหนึ่งในความสำเร็จที่ทุกคนควรได้ลองอ่าน 

หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา เล่าเรื่องราวชีวิตของสองนักเขียน โดยนำเสนอผ่านความทรงจำของนักเขียนสาว คือ อุรุดา ตัวละครเอกซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตคู่เคียงข้าง กนกพงศ์ จนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของเขา ผู้เขียนเริ่มต้นเล่าเรื่องจากความคิดถึงที่อุรุดามีต่อกนกพงศ์ แล้วจึงพาผู้อ่านย้อนกลับไปยังเรื่องราวในวันวานที่พวกเขาได้พบเจอและตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันที่หุบเขาฝนโปรยไพร อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งสลับมุมมองกลับมายังช่วงเวลาที่กนกพงศ์จากเธอไปแล้ว




นิยายเรื่องนี้ นับเป็นนิยายรักที่ดีเรื่องหนึ่งเลย เพราะไม่เพียงแต่ถ่ายทอดความรักของหนุ่มสาวที่มีความฝันเหมือนกัน แต่ยังนำเสนอแง่มุมของชีวิตคู่ ซึ่งเป็น “ชีวิตคู่จริง ๆ” ที่มีทั้งสุข ทุกข์เศร้า เหงา การโต้เถียง รอยยิ้ม กำลังใจ การยอมรับซึ่งกันและกัน เมื่อ อุรุดา ตัดสินใจเลือกที่จะใช้ชีวิตร่วมกับ กนกพงศ์ นักเขียนหนุ่มผู้มีชื่อเสียง เขาหวังให้เธอเป็นแรงใจคอยสนับสนุนให้เขาเขียนงานได้สำเร็จ เธอเองก็คาดหวังเช่นนั้น เธออยากช่วยเขา อยากเรียนรู้และทำงานเขียนของเธอไปพร้อมกับเขา เหนือสิ่งอื่นใดคือเธอรักเขา แต่ทว่าชีวิตคู่จริง ๆ ไม่เหมือนนิยายพาฝัน เรื่องราวของเธอและเขาจึงไม่ง่ายเลย 

ผมรู้สึกชื่นชอบนางเอกของเรื่องมากที่สุด ชอบทั้งความคิด บุคลิกลักษณะ การแสดงออกแบบแก่น ๆ ของเธอในบางครั้ง หรือแม้แต่การประชดประชันที่เธอแสดงต่อกนกพงศ์ ซึ่งเธอทั้งรักและทั้งหมั่นไส้ สำคัญคือเรามองเห็นความอดทนและความจริงใจที่อุรุดามีต่อคนรักของเธอ พยายามเป็นกำลังใจให้เขากลับมาเขียนเรื่องสั้นดี ๆ ได้อีกครั้ง ช่วยทลายกรอบและอีโก้ของเขา ไม่ใช่เพียงเพื่อหวังเอาชนะเขาเป็นที่ตั้ง แต่เพื่อให้เขาชนะตัวเองด้วย

ในมุมมองของผม อุรุดา คือตัวละครหญิงที่สุดยอดมาก ยิ่งฉากที่มีการประชันความคิดกับกนกพงศ์ ผมยิ่งชอบใจ เพราะทำให้เราเห็นการชิงไหวชิงพริบของทั้งสองคน ก่อนจบลงด้วยการยอมรับความเห็นต่าง การให้เกียรติกัน ทั้งที่แสดงและไม่แสดงออก นอกจากนี้ นิยายยังนำเสนอความเป็นมนุษย์เอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งในแง่การใช้ชีวิต ความรัก การทำงาน ความคิด และจิตวิญญาณ


กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

นักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2539 : รวมเรื่องสั้นแผ่นดินอื่น

Cr. bookster.blog


พี่ขังตัวเองไว้ชั้นบน มัดขาติดเก้าอี้ ไม่ยอมไปไหน ฉันรู้ว่าพี่พยายามเพียงใดเพื่อจะกลับมา พี่กรีดหนัง เลาะเนื้อ เผื่อบางทีเขาจะอยู่ในกระดูก-นักเขียนหนุ่มคนนั้น... 

บ้านแทบระเบิด เพราะความเคร่งครัดที่พี่ยัดเยียดให้การงาน ฉันแน่ใจ แม้แต่การอ่านก็ไม่ทำให้ผ่อนคลาย 

พี่บอกตัวเอง-ต้องทำให้ได้ ทั้งที่สูญเสียความมั่นใจไปแล้ว 

หากนักเขียนมีความมั่นใจ เราจะไม่บอกตัวเองว่าต้องทำได้ ความมั่นใจช่วยให้เรามีสองทางเลือก, เขียน หรือไม่เขียน 

ฉันเชื่อ, เชื่อมั่นว่าพี่จะได้นักเขียนหนุ่มกลับมา ฉันจะอยู่ในบ้านซึ่งไร้เสียงสนทนา รอคอยเรื่องสั้นของพี่ถือกำเนิด... 

พี่คะ มันเศร้าเสียจนโกรธไม่ลง ไม่ว่าพี่จะเย็นชากับฉันแค่ไหน ความเห็นใจข่มความถือดีของฉันจนสิ้น... 

พี่ส่งบุหรี่ให้ฉัน 

“ได้งานมั๊ยคะ” 

“ยังไม่น่าพอใจ” 

“แล้วแบบไหนที่พี่จะพอใจคะ”

“เราไม่ใช่พูนะ อยากเขียนอะไรก็ได้ จะเขียนยังไงก็ได้”

ฉันยิ้ม “เป็นโชคดีของพูที่ไม่ได้เติบโตมากับคำชม และรางวัล”

พี่จ้องตาฉันอย่างกับจะกินเนื้อ ฉับพลันก็เปลี่ยนเป็นประกายวูบวาบ แต่แล้วความเศร้าก็ลบทุกอย่างทิ้ง พี่จุดบุหรี่ตัวใหม่ “มันนานมาก มากจริงๆ ที่เราไม่มีงานออกมา”

“พี่ไม่เขียนอะไรเลยเหรอ สามสี่ปีที่ผ่านมา”

“เขียนก๊อกแก๊ก ไม่ใช่งานที่ตั้งใจไว้”

“ขออ่านได้มั๊ยคะ” ฉันเคาะบุหรี่ออกมาตัวหนึ่ง “งานก๊อกแก๊กเหมาะกับนักเขียนป๊อกแป๊กที่สุด”

พี่ถอนใจ “เขียนสนุกๆ เท่านั้นเอง”

“นั่นล่ะค่ะ น่าสนใจ”

“ถ้าอยากอ่าน พรุ่งนี้พิมพ์ให้”

“พูจะบอกพี่อย่างตรงไปตรงมา อย่าด่วนตัดสินงานตัวเองค่ะ บางทีพี่ก็ไม่มีสิทธิ์”

พี่เลิกคิ้ว

“พี่ไม่ได้อ่านมันอย่างอิสระ พี่อ่านโดยมีกำกับว่านี่คืองานของนักเขียนซีไรต์” ฉันยักคิ้ว “เพื่อชีวิตคนสุดท้ายด้วยสิ”

“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราจะไม่พูด” พี่ปล่อยควันบุรี่ “จริงๆ”

“ก็ถือว่าไม่ได้พูดสิคะ ช่างหัวมัน”

“เราพูดเองนะ”

“พูดได้ก็ลืมได้ค่ะ”

“เรากลับมาอยู่พรหมคีรี เพราะต้องการบรรยากาศเหมือนตอนเขียนแผ่นดินอื่น เข้ามาสู่วิถีแห่งการงาน แต่เราไม่สนุกแบบเดิมอีกแล้ว มันแย่นะที่ไม่สนุก”

“พี่จะเขียนแผ่นดินอื่นเล่มที่สองเหรอ ?”

พี่ขมวดคิ้วแน่น

“ไม่ได้กวนตีนนะคะ ถามจริง ถ้าไม่ใช่ พี่ก็ต้องไม่เหมืนเดิมแล้วล่ะ”

“เราอยู่ที่นี่ ถือเป็นการบวชชนิดหนึ่ง ถ้าไม่ได้งานก็ไม่ออกไป”

ฉันชูกำปั้น “ลุยเลยค่ะ”

“เราไม่ใช่นักเขียนกิ๊กก๊อกนะ”

“ลองเป็นมั๊ยล่ะ สนุกนะ” ฉันหัวเราะ

จะทำ, พูดอะไรได้อีก ในยามนั้น หวนกลับไปทบทวน ฉันจนตรอกอยู่ดี



Cr. ksamphan.wordpress.com

บทสนทนาข้างต้นที่ผมยกมา (เสียยาวเยียดเลย) เป็นตอนหนึ่งในหนังสือที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ อ่านแล้วได้กำลังใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะหลังจากที่อุรุดาต้องทนอยู่ในบ้านแสนอึดอัด ขณะที่กนกพงศ์เอาแต่เคร่งเครียดกับการเขียนเรื่องสั้นไม่ได้ดังใจ จนความเครียดเหล่านั้นแผ่ซ่านไปทั่วบ้าน บางคนอาจเลิกทนแล้วขอแยกทาง (ก็ใครกันจะทนไหว อันนี้ต้องลองอ่าน แล้วลองตัดสินใจกันเองครับ) แต่สำหรับอุรุดา เมื่อหมดความอดทน เธอเลือกที่จะพูดกับกนกพงศ์ตรง ๆ และคำพูดของเธอก็แฝงไว้ด้วยพลังพร้อมปลุกไฟนักเขียนในตัวเขาขึ้นมาอีกครั้ง

อุรุดาเองก็อยากเป็นนักเขียนมืออาชีพ การถูกคนรักย้อนเข้าให้ว่า “เราไม่ใช่พูนะ อยากเขียนอะไรก็ได้ จะเขียนยังไงก็ได้” แหม ถ้าเป็นใครได้ยินก็คงเจ็บจี๊ดน่าดู แต่เธอแกร่งจริง ๆ ความจริงใจของเธอเลยเอาชนะอคติของเขาได้มากทีเดียว เพราะหลังจากนั้น แม้ว่ากนกพงศ์จะเขียนงานได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เขาก็เพียรเขียนจนได้ผลงานหลายเล่มเลย (แต่ละเล่มทำให้ผมอยากตามไปอ่านเลยล่ะ) ขณะเดียวกัน เขาก็คอยเป็นพลังสนับสนุนอุรุดาให้สร้างสรรค์งานเขียนของตัวเองด้วย เหมือนดังคำพูดที่เขาบอกเธอ และเธอจดจำมันไว้เป็นกำลังใจให้ตัวเองเสมอว่า “ให้พูเขียนหนังสือ แล้วงานเขียนจะปกป้องพูจากทุกอย่าง”

อาจเป็นประโยคสั้น ๆ นั้นก็ได้ ที่ทำให้ อุรุดา โควินท์ ก้าวขึ้นมาเป็นนักเขียนอย่างเต็มภาคภูมิในวันนี้



บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
(มีคนบอกผมว่า ถ้าอยากได้ภาพของหยดน้ำหวานในหยาดน้ำตาที่ครบสมบูรณ์ ต้องอ่านเล่มนี้ด้วย)

อุรุดาเขียนงานจากความรัก ความจริงใจของเธอจริง ๆ ผมเชื่อว่าทุกคนจะสัมผัสได้เมื่อลองหยิบงานเขียนของเธอขึ้นมาอ่าน อย่างเรื่อง หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ซึ่งอุรุดานำเสนอด้วยสำนวนภาษาที่สั้น ง่าย กระชับ แต่ทั้งหมดในทุกถ้อยคำตั้งแต่บทนำ (ก่อนนวนิยาย) จนถึงบทที่ 39 หน้าสุดท้าย ล้วนเต็มไปด้วยพลังของถ้อยคำที่อ่านแล้วอิ่ม ยอมรับว่าเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ผมอ่านเพลินจนวางไม่ลงเลย

นอกจากประเด็นเรื่องการสร้างงานเขียนของทั้งสอง ในนิยายยังมีอีกหลายแง่มุมชีวิตของสองนักเขียนที่สนุก ชวนติดตาม เช่น การเดินป่า การทำอาหาร ความสัมพันธ์กับเพื่อนนักเขียน หญิงสาวแฟนคลับกนกพงศ์ที่เขามาปั่นป่วนหัวใจนางเอกของเรา ฯลฯ ต้องลองไปอ่านกันดูครับ สนุกดีนะ

แม้เรื่องราวในนิยายจะไม่ได้จบลงอย่างเศร้าโศก แต่เพราะรู้แก่ใจว่าทุกตัวหนังสือนำเสนอมาจากความทรงจำที่เธอมีต่อกนกพงศ์ อดีตคนรักที่ได้จากไปแล้วร่วมสิบปี ผมก็อดไม่ได้ที่จะน้ำตาคลอ (นิดหน่อย) แต่ถึงอย่างนั้น ในหยาดน้ำตา ไม่ว่าของอุรุดาหรือผู้อ่าน ก็น่าจะมีหยดน้ำหวานเจือจานอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

แนะนำให้ลองอ่านกันดูครับ




Jim-793009

27 : 11 : 2017




Create Date : 27 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2560 9:50:42 น.
Counter : 3776 Pageviews.

17 comment
เพชรกลางไฟ : ว.วินิจฉัยกุล





เพชรกลางไฟ


บทประพันธ์ : ว.วินิจฉัยกุล


ISBN 978-974-253-517-9 ฉบับปก สำนักพิมพ์ทรีบีส์. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2559.

จำนวน 482 บาท ราคา 350 บาท


รายละเอียด

หม่อมเจ้าอุรวศี หรือ ท่านหญิงหลง ต้องตกอยู่ในวังวนแห่งไฟริษยา นับแต่เสด็จในกรมผู้เป็นพระบิดาสิ้นพระชนม์ หม่อมต่วน หม่อมใหญ่ของเสด็จในกรมก็เฝ้ารังควานหม่อมเล็ก ๆ และบรรดาลูก ๆ ของพวกเธอ หม่อมสลวย ผู้เป็นหม่อมมารดาของอุรวศี จึงจัดการส่งท่านหญิงเข้าไปพึ่งใบบุญ เสด็จพระองค์หญิง (เสด็จป้า) ในพระบรมมหาราชวัง 

ถึงกระนั้น ความริษยาอาฆาตของหม่อมต่วนก็ยังคงตามไปแผดเผาอุรวศีไม่เลิกรา 

แม้ชะตาชีวิตกำหนดให้อุรวศีต้องอดทน ทะนงตนสู้กับคนคิดร้าย เหมือนดั่ง ‘เพชร’ ที่ต้องแกร่งอยู่ท่ามกลาง ‘ไฟ’ ทว่าท่านหญิงก็ยังคงชุ่มชื่นหัวใจจากมิตรภาพที่ได้รับจาก อนล ข้าราชการหนุ่ม ลูกผู้ดี ผู้หลงใหลการอ่านหนังสือ ดีดจะเข้ และเป็นนักกลอนกวีที่แอบฝากใจไปกับทุกถ้อยคำในบทกลอน ซึ่งเขาบังอาจส่งให้อุรวศีหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งความรักของหนุ่มสาวต่างฐานันดรศักดิ์ก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นทีละนิดภายใต้ความจริงใจที่มีให้กัน หากแต่ความรักของ ‘หม่อมเจ้าหญิง’ กับ ‘สามัญชน’ จะสอดประสานกันได้เช่นไร อีกทั้งไฟริษยาจากหม่อมต่วนก็จ้องแต่จะเผาผลาญอุรวศี ให้มอดม้วยอยู่ทุกห้วงลมหายใจ ยากนักจักดับด้วยความเมตตา


“อยู่นี่กับพี่อนล

แม้ว่าต้องทำนั่นทำนี่เหนื่อยอยู่บ้าง ฉันก็ไม่เดือนร้อน

กลับสบายใจที่ไม่มีใครตามมาราวี

ฉันก็เพิ่งรู้ว่าชีวิตที่ลำบากกายแต่สบายใจ

ดีกว่าลำบากใจแต่สบายกาย”

- เพชรกลางไฟ


REVIEW

เพชรกลางไฟ บทประพันธ์ ว.วินิจฉัยกุล คงเป็นนิยายอีกหนึ่งเรื่องที่แฟน ๆ ของอาจารย์วินิตา ดิถียนต์ ต่างบอกต่อถึงความสนุกและความชื่นชอบทั้งในตัวพระเอกที่อ่อนโยน แสนสุภาพ หรือนางเอกที่แกร่งและฉลาด พล็อตหลักนั้น ว่าด้วยเรื่องของ หม่อมเจ้าอุรวศี ที่ชีวิตต้องตกระกำลำบาก เพราะความริษยาอาฆาตของ หม่อมต่วน ผู้ไม่ต้องการเห็นหม่อมหรือบุตรธิดาองค์ใดของเสด็จในกรม ได้ดีไปกว่าตนและบุตรธิดาของตน อันที่จริงนั้น หม่อมต่วนก็จงเกลียดจงชังทุกคนพอ ๆ กัน แต่ที่นางเจาะจงเคียดแค้นอุรวศีมากกว่าใคร ๆ นั่นเพราะอุรวศีทรงเป็นธิดาองค์เล็กที่เสด็จในกรมรักมาก และเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมลงให้แก่หม่อมต่วน อุรวศีนางเอกของเรื่องจึงเปรียบเหมือนเพชรที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางไฟ หากแต่เพชรแท้ถือเป็นรัตนชาติที่มีความแกร่งที่สุด ต่อให้ถูกไฟแผดเผาย่อมไม่ไหม้นั่นเอง ชื่อนิยายเลยบอกใบ้บทสรุปของเรื่องไปในตัวแล้ว 

ความน่าสนใจของเพชรกลางไฟ ที่ผมสังเกตเห็นจากบทประพันธ์ คือการสอดแทรกพล็อตรองซึ่งมีประเด็นที่น่าศึกษา นอกเหนือไปจากเรื่องความอิจฉาริษยา บาปบุญคุณโทษ ซึ่งปรากฏชัดอยู่แล้วในพล็อตหลักของเรื่อง การรีวิวในครั้งนี้ ผมจึงเลือกหยิบประเด็นน่าสนใจ 3 ประเด็นมาพูดถึง และต้องชื่นชมนักเขียนที่ท่านสามารถ Blend ประเด็นเหล่านี้ ให้อยู่ภายในนิยายเรื่องเดียวได้อย่างพอดี งดงาม




ประเด็นแรก ว่าด้วยเรื่อง ความเป็นเจ้า 

นิยายเรื่องนี้มีนางเอกและตัวละครแวดล้อมเป็น ‘เจ้านาย’ ค่อนข้างเยอะ ในความเป็นจริงแล้ว สังคมของชนชั้นเจ้าสำหรับคนยุคนี้ ถือได้ว่าห่างไกลและยากที่จะจินตนาการได้หมด แต่แน่นอนว่าการนำเสนอ ‘ความเป็นเจ้า’ ในเพชรกลางไฟ ผมรู้สึกได้ว่าผู้เขียนทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจ โดยความน่าสนใจอยู่ที่การบอกเล่าวิถีความเป็นเจ้าผ่านตัวละคร เสด็จพระองค์หญิง ซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมจารีต แสดงออกถึงการวางตัวและทะนงในศักดิ์ศรีความเป็นเชื้อพระวงศ์ ตลอดจนวิธีคิดของชนชั้นเจ้า สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านบทพูดของเสด็จพระองค์หญิงอย่างชัดเจน และได้กลายเป็นกรอบจารีตที่ขีดเส้นกั้นระหว่างอุรวศีกับอนล ตัวอย่างเช่น ตอนที่อุรวศีถูกจับได้ว่าแอบเก็บกลอนของอนลไว้ในหนังสือ


“คนเกิดมา ต้องแบกทั้งบุญและกรรมจากกำเนิดเอาไว้ทั้งสองอย่าง มีบุญเกิดเป็นเจ้า ก็ต้องรักษาบุญเอาไว้ คนอื่นที่เป็นไพร่เขาก็ทำบุญมาอย่างไพร่ เขาก็รักษาบุญอย่างไพร่ หลานนี่สิ เป็นเจ้าหากไปทำตัวอย่างไพร่ บุญก็หมดเหลือแต่กรรม” 

“ตัวต้องรู้ตัวว่าเกิดเป็นเจ้า จะไปเกลือกกลั้วกับไพร่ไม่ได้ เจ้าผู้ชายมันไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงก็ช่างมันเถิด มันเกี้ยวตัวไม่ได้ มันก็ไปเกี้ยวผู้หญิงอื่นต่อ มันไม่เสียอะไร แต่ตัวสิ มีแต่เสียหาย รู้ถึงไหนอับอายถึงนั่น” 

“ดีแล้วที่รู้จักไว้ตัว เกิดเป็นหงส์ต้องรู้ว่าเป็นหงส์ อย่าไปเกลือกกลั้วกับกา ถ้าไม่รักศักดิ์ของตัวเอง ใครเขาจะมารักแทนให้ หญิงหลงเป็นสาวแล้ว ทางโน้นก็ผู้ชายหนุ่ม ขึ้นชื่อว่าชายหญิงย่อมเหมือนแม่เหล็กดึงดูดเข้าหากัน แต่คนดีย่อมรู้จักยับยั้งชั่งใจ เอาแต่ทำตามใจตัวเองไม่ได้”

“ไหน ๆ พูดแล้ว ก็พูดเสียให้หมด ป้าไม่เก็บหลานไว้ในวังจนแก่ตาย วันหนึ่งก็คงมีคู่ แต่คู่นั้นมิใช่ว่าสักแต่เห็นแล้วถูกตาถูกใจ ต้องดูให้ถี่ถ้วนด้วย เกิดมาเป็นเจ้านาย ก็เหมือนเพชร หาเรือนรองรับก็ต้องเรือนทองเนื้อเก้า ไม่ใช่อ้ายพวกทองชุบเสาชิงช้า...”

“ลองนึกดู หากคิดผิดไปได้คนชั้นต่ำ หลานจะไหว้พ่อแม่มันได้ลงหรือ ถ้าแม่ผัวชี้นิ้วสั่งให้กวาดพื้นเทกระโถนเหมือนสะใภ้อื่น จะทำไหวไหม หากผัวไพร่มันจืดจาง ด่าทอทุบตีเอาตามประสาไพร่ จะร้องให้ใครหน้าไหนช่วย ญาติพี่น้องเขาก็ตัดขาดกันไปหมดแล้ว เสื่อมเสียไม่ใช่แค่ตัวเอง เสียถึงเสด็จพ่อด้วย”


แม้มองเผิน ๆ คำพูดของเสด็จพระองค์หญิงจะบ่งบอกถึงการปิดกั้นความรักต่างชนชั้น และเหยียดชนต่างฐานันดรอยู่ในที แต่จริง ๆ แล้วผมเดาว่าจุดประสงค์อันแท้จริง คือการสั่งสอนให้อุรวศีวางองค์เองอย่างเหมาะสมแก่ชาติกำเนิด ไม่ยึดเอาอารมณ์รักใคร่เป็นใหญ่ เพราะถึงแม้เกิดมาสูงส่ง เป็นเจ้านาย แต่หากประพฤติตนไม่คู่ควรเสียแล้ว ย่อมเสื่อมทั้งศักดิ์และศรี ไม่มีคุณค่าให้คนเขาเชิดชู

เรื่องความทะนงในศักดิ์และชาติกำเนิด ถูกย้ำอีกครั้งในตอนที่หม่อมสลวยได้สามีใหม่เป็นนายบุญทัน ซึ่งเป็นชนชั้นไพร่ เสด็จพระองค์หญิงทรงเห็นว่าอุรวศีไม่ควรนับถือไพร่เสมอด้วยพระบิดาของตน ความว่า


“หญิงจงสำนึกเสมอว่า พ่อของหญิงเป็นใคร สูงยิ่งกว่านั้นคือปู่ของหญิงเป็นใคร!...จะให้คนอย่างเจ้าผัวใหม่ของแม่มาแทนที่เสด็จพ่อได้หรือ ไม่ต้องพูดกันมาก ถึงบอกว่าเขาไม่มา เอาเข้าจริงเกิดมา แค่เจอกัน จะให้ใครไหว้ใคร ก็ประดักประเดิดกันทั้งสองฝ่าย”


หากพ่อของหม่อมเจ้าหญิงคือ เสด็จในกรม แน่นอนว่าปู่ของท่านหญิงก็อาจเป็น พระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ความเป็นเจ้าในสังคมสยามยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีระเบียบแบบแผนที่เคร่งครัด เจ้านายอยู่สูงเหนือชนชั้นไพร่ เจ้านายไม่กราบไหว้ไพร่ เจ้านายเกิดมามีข้าทาสคอยปรนนิบัติรับใช้ ดังนั้น สิ่งที่อุรวศีกำลังเผชิญ ทั้งชายหนุ่มที่เข้ามาฝากรักผ่านบทกลอน หรือพ่อเลี้ยงที่มาแต่งงานกับหม่อมมารดา จึงทำให้เสด็จพระองค์หญิงหวั่นเกรงว่าจะเป็นการทำลายเกียรติแห่งความเป็นเจ้าของหลานสาว และอาจฉุดให้ชีวิตของอุรวศีตกต่ำตามไปด้วย หากแต่ความเป็นเจ้าก็มิอาจอยู่เหนือ ‘คุณงามความดี’ รักต่างชนชั้นของอุรวศีกับอนลจึงเกิดขึ้นในที่สุด 




ประเด็นสอง ว่าด้วยเรื่อง รักต่างชนชั้น 

เรื่องความรักต่างชนชั้น นับว่าเป็นพล็อตคลาสสิกอย่างหนึ่งของนิยายไทย และนิยายอื่น ๆ ทั่วโลก ทว่าความน่าสนใจของเพชรกลางไฟ คือการสร้างภาพสะท้อนของสังคมสยามยุครัตนโกสินทร์ที่กำลังก้าวข้ามจากขนบเก่าไปสู่ความศิวิไลซ์ตามอย่างสากล อย่างแรกคือ การให้ความสำคัญกับความรัก ความพึงพอใจ เหนือความเหมาะสม สิ่งนี้เราเห็นชัดได้จากอุรวศีที่ปฏิเสธความรักและการหมั้นหมายของ หม่อมเจ้าสุรคม ซึ่งผู้ใหญ่ต้องการให้อภิเษกสมรสกัน เพราะมองว่าเหมาะสมด้วยชาติกำเนิด

กฎมณเฑียรบาลในอดีตกำหนดเคร่งครัดว่า เจ้านายผู้หญิงจะอภิเษกสมรสกับชายที่มีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าตนไม่ได้ ถ้าใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาบ้าง ก็คงเห็นว่า เหตุใดเจ้าหญิงในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์จึงครองตนเป็นโสด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนเจ้านายผู้ชายที่สมกันมีน้อย และโอกาสที่ชายหญิงจะได้พบปะทำความรู้จักกันอย่างเสรีก็แทบไม่มีเลย คู่อภิเษกสมรสส่วนใหญ่จึงเกิดจากการสู่ขอหมั้นหมายโดยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบเป็นหลัก 

การถอนหมั้น หม้ายขันหมาก และการหย่าร้าง ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่าอดสู เป็นที่อับอายขายหน้าของคนในสังคม ประเด็นนี้ เราเห็นได้จากกรณีหม่อมเจ้าสุรคมปฏิเสธการอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าอรุณวาสี หรือ ท่านหญิงเล็ก พี่สาวต่างหม่อมมารดาของอุรวศี หรือจะเป็นกรณีของ ดวงแข ที่กำลังจะเป็นหม้ายขันหมากหลังจากอนลถูกจับในข้อหากบฏ ผู้ใหญ่เลยต้องแก้ด้วยการให้ อนึก พี่ชายของอนลแต่งงานแทนน้อง เพื่อรักษาหน้าตาและเกียรติของฝ่ายหญิง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การหมั้นหมายในสมัยก่อนถือเป็นเรื่องใหญ่และจริงจัง ฝ่ายหญิงเมื่อถูกหมั้นก็เท่ากับเป็นของฝ่ายชายเป็นแล้วครึ่งหนึ่งนั่นเอง 

เช่นเดียวกันกับการหย่าร้าง ในกรณีของ หม่อมเจ้าเมรา ที่อดทนจำใจอยู่กับ หม่อมเจ้าอธิป ไม่กล้าหย่าร้าง แม้เหตุผลสำคัญคือการอดทนเพื่อความสุขสบายของหม่อมมารดาและพระโอรส แต่อีกหนึ่งเหตุผลที่แฝงอยู่ คือการรักษาเกียรติของตน ไม่ให้เป็นที่ครหานินทาด้วย 

สำหรับความรักต่างชนชั้นของอุรวศีกับอนล นับว่านักเขียนผูกเรื่องได้ดี ด้วยการให้พระเอกมีความพึงใจต่อนางเอกโดยไม่รู้ว่านางเอกเป็นเจ้า ดังนั้น ความรักแรกพบของเขาจึงเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ จริงใจ ไม่ใช่การบังอาจต่อเบื้องสูง แต่เมื่อความรักบังเกิดขึ้นแล้ว หัวใจก็ยากจะหักห้าม เขาจึงต้องเลือกหาวิธีสารภาพรักอย่างสุภาพ และยังอยู่ภายใต้การเคารพในความเป็นเจ้าของอุรวศี


มิอาจพบประสบพักตร์.............................ใช่ว่าจักคิดหักใจ

        คิดถึงทุกวันไป..........................................แม้มิได้อยู่ใกล้กัน

ไม่ใกล้ก็เหมือนใกล้...................................เพราะดวงใจอันผูกพัน

        เหมือนเห็นกันทุกวัน.................................เราพบกันนั้นด้วยใจ


ผมเชื่อว่า กลอนบทนี้คงประทับใจทุกคนที่รักนิยายเรื่องนี้ ถือว่าเป็นวรรคทองของบทประพันธ์เพชรกลางไฟเลยก็ว่าได้ สื่อถึงความรักความจริงใจที่พระเอกมีต่อนางเอก เรื่องความรักของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 6 พบว่าได้มีการตรากฎมณเฑียรบาล ให้เจ้านายที่จะอภิเษกสมรสต้องทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน จึงจะอภิเษกสมรสกันได้ กฎดังกล่าว เข้าใจว่าตราขึ้นเพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของเจ้านายที่จะออกเรือน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการปิดกั้นความรักอันเสรี และมักมีผลกระทบต่อเจ้านายผู้หญิงอย่างมาก 

ด้วยเหตุนี้ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 กฎข้อนี้จึงถูกปรับแก้ว่า หากเจ้านายผู้หญิงประสงค์จะแต่งงานกับชายสามัญชน ให้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เสียก่อนจึงจะแต่งงานกันได้ ซึ่งปรากฏว่ามีเจ้านายผู้หญิงหลายองค์ทีเดียว ที่ยอมลาออกจากฐานันดรศักดิ์

ทว่าสำหรับ หม่อมเจ้าอุรวศี ผู้มีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งกฎมณเฑียรบาลดังกล่าวยังคงบังคับใช้อยู่นั้น นักเขียนก็ได้ใช้กลวิธีให้นางเอกของเราเสมือนตายและสิ้นความเป็นเจ้าไปแล้ว ก่อนกลายเป็นสามัญชนในนามของ อุษา จึงสามารถแต่งงานกับอนลได้อย่างไม่ขัดต่อกฎมณเฑียรบาล ผมรู้สึกชื่นชอบการวางกลวิธีตรงนี้มาก เพราะทำให้เรื่องราวดูสมเหตุสมผล อีกทั้งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นต่อความรักของอุรวศี ซึ่งลั่นวาจามาแต่ไหนแต่ไรว่า “แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า” อันหมายถึงการได้เลือกชายที่ตนรักมาเป็นคู่ครอง





ประเด็นสาม ว่าด้วยเรื่อง กบฏ ร.ศ.130 

เหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 เป็นเหตุการณ์สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดจากกลุ่มนายทหารหนุ่ม หรือเรียกกันว่า ยังเติร์ก ได้ร่วมมือกับพลเรือนกลุ่มหนึ่ง คิดวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยในเบื้องต้นต้องการเพียงให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกษัตริย์ของประเทศอังกฤษ หรือพระจักรพรรดิของประเทศญี่ปุ่น แต่แล้วกลับเลยเถิดถึงขั้นคิดวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัว โดยมีชนวนเหตุหนึ่งมาจากความบาดหมางระหว่างทหารกับมหาดเล็ก เมื่อครั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ยังคงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

หากแต่ท้ายที่สุด ผู้ร่วมขบวนการทุกคนก็ถูกจับกุมได้ทั้งหมด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2454 และถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกกองมหันตโทษ ซึ่งตามกฎหมายแล้วโทษฐานกบฏ คือ ‘ประหารชีวิต’ แต่ด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานอภัยโทษให้กลุ่มผู้ก่อกบฏพ้นจากโทษตายทุกคน ในคราวพระราชพิธีฉัตรมงคล เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2467

กบฏ ร.ศ.130 ถูกนำเสนอในนิยายผ่านตัวละคร อนล ที่เข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์กบฏเพียงเพราะต้องการช่วยเหลือ อนึก ผู้เป็นพี่ชายให้หลุดจากขบวนการดังกล่าว ผมคิดว่าการที่นักเขียนเลือกฉากหลังของนิยายเป็นยุคสมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะต้องการนำเสนอเหตุการณ์ กบฏ ร.ศ.130 ซึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมสยามยุคนั้นเริ่มมีการตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย ตลอดจนแนวคิดและค่านิยมของสังคมสมัยใหม่ตามแบบชาติตะวันตก

นอกจากนี้ ยังแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ทรงละเว้นโทษตายให้แก่ผู้ก่อกบฏ ทั้งที่ทรงรู้ดีว่า พวกเขาคิดลอบปลงพระชนม์พระองค์ก็ตาม ถือว่าเป็นพระเมตตาอันใหญ่หลวงอย่างยิ่ง แต่ถึงอย่างนั้น ระบอบประชาธิปไตยก็ยังคงถูกเป็นที่ถกเถียงในสังคมสยามอยู่เรื่อย ๆ จนนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในที่สุดนั่นเอง




เพชรกลางไฟ ไม่เพียงเป็นนิยายที่ถ่ายทอดความบันเทิงตามแบบอย่างละครไทย แต่ยังแฝงเสน่ห์ด้วยการหยิบภาพสังคมสยามมาเล่า อีกทั้งท้ายเรื่องยังสื่อถึงความคิดอ่านของอุรวศี ในฐานะผู้หญิงสมัยใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า คิดพึ่งพาความสามารถของตนเป็นหลัก โดยไม่ได้หวังพึ่งผู้ชายอย่างสังคมโบราณ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอุรวศีเห็นตัวอย่างความล้มเหลวจาก หม่อมเจ้าเมรา มาแล้วก็เป็นได้ ตัวอย่างความคิดดังกล่าว ถูกนำเสนออย่างชัดเจนในบทสนทนาระหว่างหม่อมสลวยและอุรวศี เมื่อหม่อมสลวยเอ่ยถึงชะตากรรมของท่านหญิงเมรา แต่อุรวศีกลับมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากหม่อมมารดา ความว่า


“ผู้หญิงเราเรื่องใดก็ไม่สำคัญเท่าได้ผัวดี จะเกิดมาชาติตระกูลสูง จะสวยจะงามขนาดไหน หากว่าผัวเลว ทิ้งขว้างร้างหย่าเสียอย่าง ก็เสียหมดทุกอย่าง”

อุษามองหม่อมมารดาอย่างไม่เห็นด้วย เธอถอนใจเบา ๆ ตอบว่า

“ถ้าคิดอย่างนั้นก็น่าสงสารนะจ๊ะ แม่ เหมือนเด็กทารก พ่อแม่ทิ้งก็อดตาย ทำมาหากินไม่ได้ ฉันอ่านหนังสือธรรมะถวายเสด็จป้า จำได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ท่านไม่เคยสอนให้พึ่งคนอื่นถึงจะควร ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูอย่างป้าผ่อง ลุงตายไปหลายปีแล้ว ป้าผ่องก็ไม่เห็นเสียอะไรตรงไหน ยังค้าขายได้ทองมาใส่พรึ่บทั้งตัว มีเงินมากกว่าเมื่อลุงหาเลี้ยงเสียอีก”




ใครสนใจเพชรกลางไฟ แต่ยังไม่ได้ลองหยิบมาอ่าน ผมแนะนำให้ลองอ่านกันดูนะครับ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะได้รับมุมมองและสาระดี ๆ จากบทประพันธ์ที่นอกเหนือจากความสนุก ดราม่า ส่วนเรื่องสำนวนภาษา ว.วินิจฉัยกุล ยังคงถ่ายทอดออกมาได้ลื่นไหล งดงามเช่นเดิมครับ



เพชรกลางไฟ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 และ 2


เพชรกลางไฟ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4


Jim-793009

03 : 09 : 2017




Create Date : 03 กันยายน 2560
Last Update : 13 กันยายน 2560 15:18:00 น.
Counter : 9125 Pageviews.

8 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments