All Blog
เด็กชายมะลิวัลย์ : ประภัสสร เสวิกุล






ด็กชายมะลิวัลย์


บทประพันธ์ : ประภัสสร เสวิกุล


ISBN 978-974-289-475-7 ฉบับปก แพรวสำนักพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 30. 2559.

จำนวน 135 หน้า ราคา 130 บาท


รายละเอียด

มะลิ เด็กชายผิวพรรณขาวผ่อง จนเพื่อนๆ เติมสร้อยให้ว่า มะลิวัลย์ เขามีภูมิลำเนาอยู่แถวเสาชิงช้า กรุงเทพฯ แต่ช่างโชคร้ายที่เขาเกิดมาในยุคข้าวยากหมากแพง ทุกสิ่งอย่างอัตคัต ทั้งอาหารหยูกยา มะลิเลยป่วยเป็นโรคโปลิโอ พิการขาลีบ แต่ถึงอย่างนั้น มะลิก็ยังมีจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งมีแม่คอยเฝ้าปลูกฝังให้เขาหยิ่งทะนงในเกียรติ และมี ติงฮั้ว เพื่อนรักลูกคนจีน ที่คอยเตือนสติให้มะลิค้นพบความกล้าที่แท้จริง “ขามันอยู่ส่วนขา นายอย่าเอามันไปใส่ไว้ในหัวให้เกะกะก็สิ้นเรื่อง” เรื่องราวของเด็กชายมะลิวัลย์ คือภาพสะท้อนชีวิตที่ตราตรึงใจ


แกยิ้มเมื่อเห็นผม

เป็นรอยยิ้มของคนที่รู้สึกว่า

ตนเองยังมีความหวังและศรัทธาต่อการมีชีวิต

ผมค่อยๆ วางเปลือกหอยลงบนมือที่เหี่ยวย่น

ตารองบีบมือผมไว้แน่นราวกับจะไม่ยอมให้หลุดไป

เรามองดูกันเงียบๆ

และเป็นครั้งแรกที่ผมรู้ว่า

คนเราสามารถพูดกันได้โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำ

- กระเช้าสวรรค์, เด็กชายมะลิวัลย์


REVIEW

เด็กชายมะลิวัลย์ บทประพันธ์ ประภัสสร เสวิกุล เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ประทับใจผมมาก ผู้เขียนนำเสนอออกมาในรูปแบบของนวนิยายกึ่งเรื่องสั้น (ตามความรู้สึกของผม) เพราะถึงแม้เนื้อหาตลอดทั้งเรื่องจะเป็นเรื่องราวของเด็กชายมะลิ แต่กลวิธีนำเสนอเป็นตอนๆ จบใจความสำคัญหรือแก่นเรื่องภายในตอน ดูเหมือนการเขียนเรื่องสั้น เมื่อนำมาร้อยเรียงเป็นเล่มเดียวกัน ก็ทำให้เรื่องสั้นหลายๆ เรื่องรวมกันเป็นนวนิยายที่ถ่ายทอดภาพชีวิตของมะลิได้อย่างงดงาม 

เด็กชายมะลิวัลย์ เปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครหลัก ส่วนใหญ่คือคนในครอบครัวของเด็กชายมะลิ แล้วจึงนำเสนอภาพวิถีชีวิตของผู้คนเมืองกรุงในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมุมมองของเด็กชายมะลิ ที่เล่าย้อนถึงวัยเด็กของเขา ผู้เขียนไม่เพียงทำให้เราหลุดเข้าไปในถ้อยคำ ซึ่งบรรยายและพรรณนาถึงกรุงเทพฯ ในอดีตได้อย่างน่าเชื่อถือว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่เรื่องแต่ง อีกทั้งหลายสิ่งที่มะลิถ่ายทอดมาให้เราอ่าน ก็ไม่อาจเรียกกลับคืนมา หรือตามหาร่องรอยในปัจจุบันได้อีกแล้ว เช่น เรื่องจับแมงดาแถวพระบรมรูปทรงม้า (รัชกาลที่ 5) เชื่อว่าไม่มีใครจินตนาการออกแน่ๆ ว่า ย้อนกลับไปราวๆ เจ็ดสิบกว่าปี แถวลานพระบรมรูปทรงม้าจะสามารถดักจับแมงดามาทำอาหารได้ เรื่องนี้เล่าไว้ในตอน “ครัวคนยาก” ความว่า


บางวันที่พ่ออยากกินน้ำพริกแมงดา ก็จะบอกพี่โมกแต่เนิ่นให้ไปจับแมงดาที่ลานพระรูป...ลานพระบรมรูปทรงม้าในตอนนั้นดูช่างกว้างใหญ่เหลือเกินในความรู้สึกของผม ยามกลางคืนมีโคมแสงจันทร์นวลตาล่อแมงดาให้บินมาเล่นไฟ ทำให้เด็กๆ มาไล่จับแมงดากันคึกคัก


นอกจากนี้ เรายังได้เห็นถึงความสัมพันธ์ ทัศนคติของคนไทยและคนจีน ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในตรอกซอยเล็กๆ แห่งหนึ่ง เรื่องราวสนุกๆ จึงไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมประเพณีแบบไทยเท่านั้น แต่ยังเล่าถึงประเพณีจีนด้วย เช่น ที่มาของความเชื่อและประเพณีไหว้พระจันทร์ ตรุษจีน ฯลฯ 

หรือในตอน “รถราง” ก็เป็นอีกหนึ่งตอนที่ผมชื่นชอบ เพราะเขายกเอาคำร้องเล่นของเด็กๆ มาให้เราได้อ่านกัน แถมด้วยเรื่องการเล่นว่าวของเด็กๆ และกลวิธีทำป่านคม สำหรับตัดเชือกว่าวของคู่แข่ง แม้ตอนนี้จะจบแบบสลดหดหู่ แต่ผมก็ยังรู้สึกชอบ โดยเฉพาะเพลงรถราง ลองอ่านแล้วเพลินดีครับ


“ปิ๊ด ปี้ ปิ๊ด...เสียงนกหวีดทำให้รถจอด

จอดจ้าจอด พอถึงสามยอดรถยอดทันที

อาเฮียอย่าเพิ่งขึ้น ขอให้คุณน้าแกลงก่อนซี

ขึ้นแล้วกระเถิบเข้าใน สตางค์เตรียมไว้อย่าได้รอรี

หลักเมืองถึง เอส.เอ.บี. ราคาเขามีห้าสิบสตางค์

ไว จ้า ไว ขึ้นแล้วเดินไปอย่าได้หยุดยั้ง

ท่านหญิงโปรดจงระวัง

กระเป๋าสตางค์ท่านจะหายไป...”


อีกหนึ่งตอนที่จบได้สะเทือนใจสุดๆ คือ “รั้วสังกะสี” เล่าถึงสภาพบ้านเมืองยุคสงครามโลกว่า มีอาชีพหนึ่งซึ่งมาพร้อมสงครามและภาวะข้าวยากหมากแพง คือ โสเภณี เมื่อหนุ่มๆ ยุคนั้นเอ่ยถึง ‘โบสถ์พราหมณ์’ ‘ตรอกไข่’ ‘ตึกดิน' จะเป็นการกล่าวอย่างมีเลศนัยหมายถึง สถานโสเภณีที่ล้อมรั้วด้วยสังกะสี ซึ่งเด็กๆ ยุคนั้นมักจะชอบวิ่งร้องเพลงที่พวกเขาไม่รู้ความหมายที่แท้จริงว่า “เดินดีๆ เป็นชีกะล็อก เดินด๊อกๆ เป็นช็อกกะลี”

เรื่องสะเทือนใจในตอนนี้ กล่าวถึงโสเภณีชื่อ ดวงจันทร์ ที่ยอมขายตัวเอง เพื่อนำเงินมาส่งเสียน้องชายให้เรียนหนังสือ พอน้องเรียนจบ ดวงจันทร์ก็จบชีวิตของเธอด้วยการผูกคอตาย อยู่ภายในสถานที่ที่ล้อมรั้วสังกะสีแห่งนั้นเอง...

ถ้าเป็นตอนที่ผมชอบมากที่สุด ผมขอยกให้ตอน “กระเช้าสวรรค์” ซึ่งเด็กชายมะลิเล่าถึง ตารอง ชายแก่ที่มักถูกเด็กๆ ล้อว่าเป็นผีปอป ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ แต่ตารองนี่แหละ คือคนแรกที่พามะลิขึ้นกระเช้าสวรรค์ และเกิดเป็นความประทับใจที่ตราตรึงเขาเสมอมา อยากรู้ว่าน่าประทับใจอย่างไร ลองหามาอ่านกันดูนะครับ

เด็กชายมะลิวัลย์ วรรณกรรมเยาวชนที่รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในความคิดของผม เด็กๆ วัยนี้น่าจะอ่านแล้วงุนงงบ้างแน่ๆ เพราะเรื่องราวและสำนวนนับว่าเกินกว่าเด็กๆ จะเข้าถึงได้ทั้งหมด แต่ถ้าเด็กโตขึ้นมาอีกสักนิด คิดว่าน่าจะพออ่านได้ไม่เบื่อหน่าย เรื่องต่างๆ ที่ผู้เขียนนำมาถ่ายทอดลงในหนังสือ มีทั้งจบด้วยความสุข ความประหลาดใจ และจบด้วยความเศร้า หากแต่แฝงไว้ด้วยข้อคิดให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงชีวิตในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะการครองตนอยู่ในความยากจนอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งเราเห็นเด่นชัดแล้วจากครอบครัวของเด็กชายมะลิ

แนะนำครับ สำหรับใครที่อยากอ่านงานเขียนขนาดสั้น แต่กินใจแทบทุกบรรทัด


“...ใน ‘เด็กชายมะลิวัลย์’

สิ่งหนึ่งนอกเหนือจากการบอกเล่าเรื่องราวของเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง

ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว (อ้างอิงฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2530)

ก็คือการบันทึกความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

และภาวะจิตใจของผู้คนที่แม้จะบอบช้ำจากพิษภัยของสงครามมาหมาดๆ

แต่ก็เปี่ยมไปด้วยน้ำจิตน้ำใจ ความอารีอารอบ

ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีคุณธรรม รวมทั้งความหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของตนเอง

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นับวันมีแต่จะเลือนหายไปจากสังคมไทย

…

ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความเคารพและศรัทธาต่อน้ำใจของคนไทย

ในสังคมไทยยุคนั้น และปรารถนาที่จะให้

‘เด็กชายมะลิวัลย์’

เป็นดั่งน้ำใสบริสุทธิ์สักหยาดที่หยาดลงบนหัวใจที่แห้งผาก

ของคนในสังคมยุคปัจจุบัน...”

- ประภัสสร เสวิกุล


Jim-793009

20 : 01 : 2017




Create Date : 20 มกราคม 2560
Last Update : 20 มกราคม 2560 9:18:47 น.
Counter : 26898 Pageviews.

9 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณออโอ

  
น่าอ่านจังเลยค่ะ
โดย: ออโอ วันที่: 20 มกราคม 2560 เวลา:22:17:59 น.
  
คุณออโอ --- แนะนำให้ลองอ่านดูครับเล่มนี้ รวบรวมเรื่องเก่าๆ น่าสนใจไว้เพียบเลยครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 21 มกราคม 2560 เวลา:0:19:09 น.
  
ตอนเด็กๆอ่านแนวนี้เยอะครับ เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ชอบ
โดย: leehua (สมาชิกหมายเลข 755059 ) วันที่: 13 มีนาคม 2560 เวลา:1:19:02 น.
  
คุณ leehua --- ผมเองก็ประทับใจมากครับ เหมือนได้อ่านสารคดีมากกว่านวนิยายขนาดสั้น ได้ความรู้มากมายเลย
โดย: Jim-793009 วันที่: 21 มีนาคม 2560 เวลา:16:35:14 น.
  
เรื่องนี้ชอบมากครับผม อ่านแล้วเหมือนกลับไปอยู่ในสมัยเก่าก่อน
โดย: ruennara วันที่: 15 กันยายน 2560 เวลา:19:08:12 น.
  
คุณ ruennara --- ชอบเหมือนกันครับ นอกจากภาพเก่า ๆ ที่เป็นฉากหลังในระลึกถึงแล้ว คำพูดต่าง ๆ ในนิยายก็กินใจดีนะครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 19 กันยายน 2560 เวลา:10:26:40 น.
  
ช่วยย่อตอนพ่อปูให้หน่อยได้ไหมค่ะ ได้โปรดค่ะ
โดย: ... IP: 223.205.250.191 วันที่: 31 มกราคม 2561 เวลา:19:25:45 น.
  
ช่วยย่อตอนพ่อปูให้หน่อยได้ไหมค่ะ ได้โปรดค่ะ
โดย: ... IP: 223.205.250.191 วันที่: 31 มกราคม 2561 เวลา:19:26:08 น.
  
ชอบมากครับ แต่ไม่ชอบตรงพ่อกินเหล้า
โดย: เมธาสิทธิ์ ศรีวรารัตน์สกุล IP: 125.26.74.191 วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา:10:14:14 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments