Iceicy Blog Dhamma หน้าแรก หลักธรรม ปรัชญา ท่องเที่ยวธรรม เก็บตกธรรม บทสวดมนต์ บทเพลงธรรม เว็บบอร์ด iceicy ไอที ไดอารี่
Link to us:
Group Blog
 
All blogs
 

"พระโพธิสัตว์" หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ











 









พระโพธิสัตว์
หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ
ประตูธรรม หน้า ๙๙-๑๐๒





เราต้องเอาคุณธรรมของพระโพธิสัตว์มาช่วยโลกให้มองโลกในแง่ดี ให้คนมีแบ่งปันคนจน ให้คนจนนั้นมีสติปัญญาลืมตาอ้าปากได้ เหมือนช่วยพวกปลาที่ตกคลั่กอยู่ในน้ำ เราก็จับไปปล่อยในบ่อใหญ่ซะ ให้เขารอดพ้นจากการเป็นเหยื่อแร้งกา ไม่ใช่เราเป็นอีแร้งอีกาเสียเอง ไปเจอปลาตกคลั่ก..กูก็กินซะเลย คนรวยทุกวันนี้มันเป็นยังงั้นนะ แต่ถ้าพระโพธิสัตว์ไปเจอปลาในที่ตกคลั่กแล้วก็เมตตาสงสารว่า..เจ้าจงมีชีวิตต่อไป เจ้าจะได้มีพืชพันธุ์ จะได้มีลูกหลาน มีชีวิตเหมือนกับเราๆ ก็เอาไปปล่อยสระใหญ่มันก็ไม่สูญพันธุ์ มันก็ไม่ทำลายกัน นี่คือช่วยอย่างพระโพธิสัตว์

โลกทุกวันนี้ที่เดือดร้อนกันมาก เพราะว่าขาดคนที่คิดอย่างพระโพธิสัตว์ ขาดคนที่จะเข้าไปช่วยกันแก้ไข จะแก้ด้วยอาวุธก็แก้ไม่ได้ จะแก้ด้วยโทสะก็แก้ไม่ได้ มันต้องแก้ด้วยคุณธรรม เขาขาดอะไร เราก็ไปช่วยเขา เพราะโลกนี่สามารถจะช่วยได้ ผู้มีอำนาจวาสนาสามารถจะช่วยได้ ไม่ต้องรบราฆ่าฟัน เพียงแต่ไปดูว่าเขาขาดอะไร แล้วเราก็เอาสิ่งนั้นไปช่วย การช่วยอย่างนี้ทุกคนจะไม่เกลียดเลย ถึงจะช่วยได้ไม่มากแต่ทุกคนก็รู้ว่านี่เป็นมิตร เป็นเหมือนญาติ พระพุทธเจ้าบอกว่า
" สัตว์โลกเป็นไปตามกรรมก็จริง แต่สัตว์นั้นเป็นญาติกัน ให้ทุกคนเป็นญาติกัน ช่วยกันได้"

พระโพธิสัตว์แม้เกิดเป็นนกเป็นกาก็ไม่เบียดเบียนใคร เป็นผู้ให้ พระโพธิสัตว์ไปอยู่ที่ไหนก็จะมองคนอื่นเป็นญาติเป็นมิตร แล้วก็คิดจะช่วยคนอื่น แม้ตัวจะตายก็ยอม พระโพธิสัตว์จะสละชีวิตตัวเองเพื่อคนอื่น ไม่หวังความสุขของตนเองเลย เป็นบุคคลที่คนธรรมดาทำไม่ได้ ต้องเป็นพระโพธิสัตว์เท่านั้น ถึงจะทำได้ ซึ่งชาวโลกก็มองว่าเหมือนคนไม่มีเหตุผล

อย่างพระเวสสันดรให้ลูกให้เมียให้ช้างให้ม้าเหมือนคนไม่มีเหตุผล แต่ปณิธานอย่างนี้จะมีอยู่แต่เพียงพระโพธิสัตว์เท่านั้น คนอื่นทำไม่ได้ มันเหนือใจมนุษย์ธรรมดา เหนือใจเทวดาด้วย เทวดายังหวงเลย ยังหวงวิมาน ยังหวงรัศมี ยังหวงอำนาจ แต่พระโพธิสัตว์เกิดมาเพื่อให้อย่างเดียว นี่คือลักษณะหนึ่งไม่มีสอง เกิดมาต้องเสียสละอย่างเดียว ยิ่งบารมีแก่กล้าเท่าไรก็ยิ่งให้มากเท่านั้น ให้จนไม่มีอะไรเหลือเลย ที่สุดก็มาเป็นพระพุทธเจ้า..

คนเราถ้าเรียนรู้ประวัติพระโพธิสัตว์แล้วนำมาปฏิบัติตามก็จะเป็นสิ่งดี อย่างเช่นผู้เสียสละนี่มันเป็นนิสัยเป็นเชื้อของพระโพธิสัตว์ ยิ่งให้มาก็เป็นพระโพธิสัตว์เต็มตัว ถ้าให้น้อยก็ถือว่าเป็นการเดินตามพระโพธิสัตว์

ดังนั้นพระโพธิสัตว์จึงเกิดมาเพื่อดับทุกข์เข็ญ ยิ่งโลกมีทุกข์เดือดร้อนเท่าไร พระโพธิสัตว์ก็ยิ่งมีโอกาสสร้างบารมีได้มาก ยิ่งได้สร้างบารมีช่วยเหลือเกื้อกูลคนจนมากเท่าไร พระโพธิสัตว์ก็ดีใจมากเท่านั้น คือพอใจที่ตัวเองได้ทำ เพราะเขาไม่กลัวความจน ไม่กลัวความเจ็บ ไม่กลัวความตาย ตายแล้วพวกนี้ก็ไปสู่สุคติอย่างเดียว เพราะจิตของเขาเป็นผู้ให้ ผู้มาเอานั้นจิตมันโลภ ตายไปก็ลงนรก ไปเป็นเปรตเป็นอสุรกายเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ฉะนั้นพระโพธิสัตว์จึงเชื่อเรื่องบุญบาป เชื่อเรื่องกรรมเวร เรื่องสร้างความดี เกิดมาแล้วเชื่อเลย ไม่ต้องให้ใครสอน พวกเรานี่ต้องสอน พระโพธิสัตว์จะมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว แต่คนที่ฉลาดแบบโลกๆ นี่จะเห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวมที่บ้านเมืองเราเจริญได้ทุกวันนี้ เพราะมีพวกที่เสียสละ โลกที่ยังอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะยังมีผู้เสียสละ ที่บ้านเมืองพังก็เพราะมีคนคิดแต่จะเอาเปรียบคนอื่น แล้วในที่สุดกรรมก็ตามมาให้ผลอย่างหนีไม่พ้น

ก็ขอให้เอานิสัยพระโพธิสัตว์มาใช้กันให้มากขึ้น เราควรจะเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง ที่จริงพระไตรปิฎกนี่ทุกคนควรจะอ่าน อ่านไม่จบก็ควรจะอ่าน ทุกคนที่เป็นชาวพุทธควรจะอ่านพระไตรปิฏก จะได้เรียนรู้จิตใจของพระโพธิสัตว์เข้าใจจิตใจของพระพุทธเจ้า เข้าใจคำสอนของพระองค์ ว่าตื้นลึกหนาบางอย่างไร ไม่ใช่มาเห็นรูปที่ประตูโบสถ์หรือผนังโบสถ์แล้วผ่านเลยไป เราก็จะสูญเสียประโยชน์ ที่ถูกเราควรจะค้นคว้าให้ลึกซึ้งกว่านี้ ซึ่งอาจจะทำให้เราพบธรรมเครื่องดับทุกข์ได้

คนเดี๋ยวนี้พอนึกถึงพระโพธิสัตว์ก็คิดแค่จะกราบไหว้อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากท่าน เมื่อประสบทุกข์ก็มักจะงอมืองอเท้า ไม่คิดเพียรพยายามที่จะช่วยเหลือตัวเอง หวังแต่จะให้ท่านบันดาลให้พ้นจากปัญหานั้น เราจึงมาทำตรงนี้ขึ้นเพื่อเตือนสติให้ระลึกถึงพระโพธิสัตว์ในแง่ที่ถูกต้อง..

ความจริงแล้วเบื้องต้นพระโพธิสัตว์ก็คือ บุคคลธรรมดาเหมือนพวกเรานี่เอง แต่ด้วยความเพียรพยายามของท่านในการสร้างสมบุญบารมีโดยไม่ย่อท้อ แม้จะลำบากยากเข็ญหรือประสบอุปสรรคมากมายเพียงใด ท่านก็ยังคงทำความดีต่อไปจนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงเป็นตัวอย่างอันดีของบุคคลผู้มีความหมั่นเพียรฝึกฝนพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จโดยไม่คิดจะพึ่งพาใคร เมื่อเราระลึกถึงจริยาวัตรและความจริงจังในการสร้างสมบารมีของท่าน ก็จะทำให้เราเกิดกำลังใจในการทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป








Create Date : 06 มีนาคม 2551    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2551 22:46:37 น.
Counter : 1024 Pageviews.  

โอวาทปาติโมกข์ ๓









 






โอวาทปาฏิโมกข์ ๓
(ตำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักใหญ่)



๑. สัพพปาปัสสะ อกรณัง

( เว้นจากความชั่วทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา ใจ)

๒. กุลัสสูปสัมปทา

( ทำความดีให้ถึงพร้อมด้วย กาย วาจา ใจ)

๓. สจิตตปริโยทปนัง

( ชำระใจของตนให้ผ่องแผ้วหมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง เช่น โลภ โกรธ หลง เป็นต้น)

(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๔)



ที่มา : หนังสืออภิมหามงคลธรรม ๕๙




โอวาทปาติโมกข์
เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ ( หลวงพ่อทัตตชีโว)
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕



วันนี้ หลวงพ่อตั้งใจที่จะมาเทศน์เรื่องโอวาทปาฏิโมกข์ให้กับพวกเรา ซึ่งโอวาทนี้ เป็นเรื่องใหญ่ ว่าด้วยหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ให้กับกัลยาณมิตรรุ่นแรกของโลก ก่อนที่จะออกไปประกาศธรรม เมื่อวันมาฆบูชาครั้งแรกนั่นเอง

โอวาทปาฏิโมกข์นี้ เป็นโอวาทที่แปลก คือโอวาทต่างๆ นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสให้กับผู้ที่ยังไม่หมดกิเลสฟัง เพื่อจะได้ปรับปรุงตัวเองให้ดี จะได้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ แต่โอวาทปาฏิโมกข์นี้ เป็นบทเทศน์ที่พระองค์ ตรัสให้กับพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วจำนวน ๑, ๒๕๐ รูปฟัง ซึ่งต้องวางหลักการต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อพระอรหันต์ทั้ง ๑, ๒๕๐ รูปนั้น จะได้ไปทำหน้าที่ เป็นกัลยาณมิตร ปลุกสัตวโลกให้พลิกฟื้นตื่นจากกิเลส และประกาศพระศาสนาอย่าง เป็นระเบียบแบบแผน เป็นปึกแผ่นเหมือนๆ กัน
โครงสร้างคำสอนในพระพุทธศาสนา
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อเรื่อง หลวงพ่อขอนำโครงสร้างคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเอามาจากโอวาทปาฏิโมกข์มาให้พวกเราได้เห็นภาพกันก่อน ให้พวกเรานึกถึงภาพปิระมิด บนยอดปิระมิดมีธงติดไว้ เขียนว่าจะไปนิพพานด้วยความอดทนและไม่เบียดเบียนฆ่าใคร และที่ยอดยังแบ่งเป็นก้อนหิน ๓ ก้อน ถ้าจะไปนิพพานต้อง ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส และขยายความต่อว่า
ละชั่ว
หรือการไม่ทำบาปทั้งปวง ต้องมีเจรจาชอบ ทำการงานชอบ และประกอบอาชีพชอบ ได้แก่ การรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ข้อ ซึ่งขยายออกเป็นพระวินัย อยู่ในพระวินัยปิฎก ๒๑, ๐๐๐ ข้อ
ทำดี
ต้องมีความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ ซึ่งขยาย ออกเป็นความดีทุกรูปแบบ ขยายเป็นการทำความดีในพระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร ๒๑, ๐๐๐ ข้อ
ทำใจให้ผ่องใส
ต้องมีความเห็นชอบหรือความเข้าใจถูกเรื่องโลกและชีวิตตรงตามความเป็นจริง มีความดำริชอบหรือมีความคิดถูกเรื่องการออกจากกาม คิดออกจากพยาบาท และคิดออกจากความเบียดเบียน ซึ่งขยายออกเป็น พระอภิธรรมปิฎก อีก ๔๒, ๐๐๐ ข้อ

รวมคำสอนในพระพุทธศาสนา จากพระวินัย ๒๑, ๐๐๐ ข้อ พระสูตร ๒๑, ๐๐๐ ข้อ และพระอภิธรรม ๔๒, ๐๐๐ ข้อ เป็น ๘๔, ๐๐๐ ข้อ ดูโครงสร้างได้จากภาพ ดังนี้











โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ดังนี้



ตอนที่ ๑ อุดมการณ์ของชาวพุทธ
อุดมการณ์ข้อที่ ๑ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา ความอดทน คือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง คนเราเมื่อเกิดมาแล้วต้องอดทน ถ้าไม่ทนถึงจะมีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลมแค่ไหนก็ใช้ไม่ได้ ใครที่เป็นหัวหน้าคนจะซาบซึ้งเรื่องความอดทนได้ดีว่า ถ้าลูกน้องของเราคนไหนไม่อดทน ก็ไม่อยากได้เข้ามาร่วมงานเลย

เรื่องที่ต้องอดทนมีอะไรบ้าง ?
๑.ทนต่อความลำบากตรากตรำ
เพราะคนเรามีโรคติดตัวมาทุกคน คือ โรคหิว เมื่อยังเล็กเวลาหิวนม แม่ยังป้อนนมให้เราได้ แต่พอโตแล้วก็ต้องหากินเอง ถ้าไม่อดทนจะทำมาหากินได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีความอดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ แดด ลม ฝน ร้อน หนาว เย็น
๒.อดทนต่อทุกขเวทนา
อันเกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ยิ่งใครอายุเกินเลขห้าไปแล้วจะลุกนั่งก็โอย หายามากินแล้วก็ยังไม่หาย ได้แต่ประคอง ในระหว่างการรักษาก็ต้องทนกันไป
๓.อดทนต่อความกระทบกระทั่ง
เพราะเราเป็นสัตว์เมืองอยู่กันเป็นหมู่เหล่า จึงอดที่จะกระทบกระทั่งกันไม่ได้ คนนี้จะเอาอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ได้มีถูกใจกันง่ายๆ ถ้าเราไม่อดทนต่อการกระทบกระทั่งแล้วเราจะอยู่กับคนได้อย่างไร และเมื่อเราเจอการกระทบกระทั่ง ถูกเขาใส่ความ ให้จำหลักนี้ไว้ คือไม่สู้ ไม่หนี แต่ให้ทำดีเรื่อยไป
๔.อดทนต่ออำนาจกิเลส
ตั้งแต่คำสรรเสริญเยินยอ ความเห่อเหิมทะเยอทะยานต่างๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะพลาดต่อความสรรเสริญเหล่านี้ เขาด่าแล้วไม่โกรธ ยังถือว่าพอไปได้ แต่คนชมแล้วไม่ยิ้ม หายาก นั่นเตรียมตัวพลาดต่ออำนาจกิเลสแล้ว
อุดมการณ์ข้อที่ ๒
นิพพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม เท่ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบอกว่า นิพพานมีจริง ขอให้อดทนปฏิบัติธรรมปราบกิเลสให้หมดจริง แล้วจะได้ไปนิพพานเหมือน กับพระองค์
อุดมการณ์ข้อที่ ๓
นหิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํวิเหฐยนฺโต บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าสมณะเลย คำว่า "บรรพชิต" แปลว่า นักบวช ในยุคก่อนพุทธกาลนั้น มีนักบวชประเภทบรรพชิตนี้อยู่หลายพวก เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ชาวโลกเขาก็ถือเอาว่าพระภิกษุเป็นบรรพชิตหรือนักบวชประเภทหนึ่ง แต่บรรพชิตบางพวกนอกจากไม่ปฏิบัติธรรมกันแล้ว ยังมีความเห็นผิด ฆ่าสัตว์บูชายัญกันมากมาย เพราะคิดว่าการฆ่าสัตว์บูชายัญทำให้ไปนิพพานได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งพระอรหันต์ไปบอกชาวโลกว่า การฆ่าสัตว์บูชา ยัญนั้น ไม่มีทางไปพระนิพพานได้ วิธีการนี้เท่ากับเป็นการล้มล้างลัทธิฆ่าสัตว์บูชายัญนั่นเอง

ทั้งหมดนี้ เราเรียกกันว่าอุดมการณ์ของชาวพุทธ พูดภาษาชาวบ้านว่า ๓ ข้อนี้ คือเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธในการดำเนินชีวิต โดยมีเป้าหมายว่า เราจะอดทนให้ได้ถึงที่สุด เพื่อจะได้ไปพระนิพพาน แล้วเรื่องแก่งแย่งชิงดีกันเราจะไม่ทำเด็ดขาด นี่คืออุดมการณ์

ตอนที่ ๒ หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
หลักการข้อที่ ๑ สพฺพ ปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
คนเราจะทำดีทำชั่วก็ด้วยหนทาง ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ ถ้าไม่ควบคุมหนทางทั้ง ๓ ไว้ให้ดี เดี๋ยวก็ก่อเหตุทำความชั่วขึ้นจนได้ เพราะฉะนั้น การไม่ทำบาปทั้งปวง ตั้งแต่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว พระพุทธองค์ตรัสให้เลิกเสียให้หมด
หลักการข้อที่ ๒ กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
ในการทำความดีนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ทำความดีให้ถึงพร้อมทั้ง ๓ ทาง คือกาย วาจา ใจ เช่น จะทำทานทางกาย มีข้าวของอะไรก็แบ่งปันกัน ทำทานทางวาจา มีความรู้อะไรก็มาเล่ากันฟัง ทำทานทางใจก็นั่งสมาธิแผ่เมตตาทำใจให้ผ่องใส เป็นต้น
หลักการข้อที่ ๓ สจิตฺต ปริโยทปนํ การกลั่นจิตทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
การทำความดีด้วยการทำใจให้ผ่องใสโดยการนั่งสมาธิ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นหลักการโดยมีหลักพิจารณาดังนี้ คือทำอะไรแล้วเดือดร้อนใจภายหลังอย่าทำ อะไรที่ทำแล้วได้บุญกุศลเพิ่มเรื่อยๆ จงทำเถิด
ตอนที่ ๓ วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
วิธีการที่ ๑ อนูปวาโท ไม่ว่าร้ายใคร
จากเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่จะต้องอดทนเพื่อจะไปนิพพาน วิธีการขั้นต้นที่เราจะต้องทำคือระวังปากให้ดี เพราะคำพูด พูดมากก็มากเรื่อง พูดน้อยก็น้อยเรื่อง แต่ถ้าไม่พูดก็ไม่รู้เรื่อง ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรเผยแผ่พระพุทธศาสนา ข้อแรกต้องไม่ว่าร้าย ไม่โจมตีใคร อย่าไปว่าศาสนาอื่นไม่ดี แต่ให้บอกว่าพุทธศาสนาดีอย่างไร
วิธีการที่ ๒ อนูปฆาโต ไม่ทำร้ายใคร
การเผยแผ่ศาสนาต้องระวังมือ ระวังเท้า อย่าทำร้ายหรือฆ่าใคร อย่าไปบังคับใครเขาด้วยกำลังให้เขาเชื่อ แต่ให้ค่อยพูดค่อยจา อ้างเหตุผลทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งเขาคล้อยตาม
วิธีการที่ ๓ ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร มีความสำรวมในศีลและมารยาทให้ดี
ต้องระวังรักษาศีล ทั้งศีล ๕ ศีล ๘ รวมทั้งรักษามารยาทตั้งแต่การยืน เดิน นั่ง นอนให้ดี หลาย ๆ คนศีลไม่บกพร่องแต่ไม่น่าเข้าใกล้ เพราะมารยาทดีไม่พอ
วิธีการที่ ๔ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้จักประมาณในการกิน
นักเผยแผ่ศาสนา ถ้าเห็นแก่กินอย่างเดียว จะประกาศศาสนาไม่ได้ ต้องระวังท้องให้ดี ข้าวปลาอาหารการกินดูให้ดี กินมากไปน้อยไปก็ไม่ดี ไม่รู้จักกิน กินล้างกินผลาญก็ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมารยาทในการกินอาหารต้องไปฝึก บางคนถึงเวลาทำงาน เราอยากจะได้เขามาช่วยงาน แต่ถึงเวลากินเราไม่อยากไปกินกับเขา เพราะกินมูมมาม ก็ต้องฝึกกัน
วิธีการที่ ๕ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ นั่งนอนในที่สงบ
นักเผยแผ่ศาสนาถ้าอยู่ในที่โอ่อ่าฟุ้งเฟ้อ เขาไม่เชื่อถือหรอก นักปฏิบัติธรรมต้องอยู่ในที่สงบ การเลือกอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงบ มีผลทำให้สมาธิก้าวหน้า มีเวลาให้เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วความสงบของสถานที่ จะทำให้เกิดความน่าเลื่อมใสตามมา
วิธีการข้อที่ ๖ อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบความเพียรในอธิจิต
นักเผยแผ่ศาสนาต้องฝึกสมาธิให้มาก เพราะว่าเราจะต้องเป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องหนักอยู่แล้ว ยังต้องไปเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนอื่นด้วย ซึ่งหนักขึ้นอีกตั้งหลายเท่า ถ้าฝึกสมาธิน้อย จะรับอารมณ์ใครไม่ไหว

ทั้งหมดนี้คือโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงให้ไว้
ที่มา
//www.dhammakaya.or.th/events/480223_th.php



Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2551 22:46:55 น.
Counter : 865 Pageviews.  

วีธีดับทุกข์ เพราะ..ฝืนธรรมชาติ











 





วีธีดับทุกข์ เพราะ..ฝืนธรรมชาติ








ธรรมชาติ คือ ของที่เกิดเอง และเป็นเองตามวิสัยของโลก เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น มันเป็นของธรรมดา ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปของมัน "เช่นนั้นเอง"

ขอแยกธรรมชาติออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มีจิตใจเช่น คน และสัตว์ และฝ่ายที่ไม่มีจิตใจ เช่น ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ฝนตก แดดออก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นต้น

ทุกคนที่เกิดมาอยู่ในโลก ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ มากบ้างน้อยบ้างไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ก็จะไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ได้ ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้ อาจ ก่อคุณให้แก่เรา อย่างสูงสุดจนถึงพระนิพพานได้ ถ้ามีสติและปัญญาพอ

แต่เพราะเหตุที่เราไม่เข้าใจ ในกฎของธรรมชาติหรือชอบ "ฝืนธรรมชาติ" ธรรมชาติจึงก่อความทุกข์ให้เราในหลายๆ รูปหลายๆ แบบ เช่น
* ฝ่ายที่มีจิตใจ คือ คนและสัตว์
- อยากได้สิ่งที่รักก็ไม่ได้ ได้ที่รักมาแล้วก็ไม่อยากให้พลัดพรากจากกันไป ไม่ว่าจะจากเป็น หรือจากตายก็ตาม
- สิ่งที่หวังก็ไม่ได้ดังใจหวัง ครั้นได้แล้วก็ยึดถือและหวงแหนห่วง กังวล วิตกทุกข์ร้อน กลัวจะสูญไป
- อยากให้ลูกเป็นคนดี เป็นที่ชื่นใจ ก็กลับนำแต่ความเดือนร้อนนานาประการมาให้ อยาก..อยาก..อยาก..
*ฝ่ายที่ไม่มีจิตใจ เช่น ฝนตก แดดออก
- ฝนตกลงมา ทำให้เปียกแฉะ เสียข้าวของ จึงไม่อยากให้ฝนตก ครั้นฝนไม่ตกก็แห้งแล้ง อยากให้ฝนตกก็ไม่ตก
- แดดออกมา ทำให้ร้อนมาก ต้นไม้ปลูกใหม่ๆ ก็ตาย ไม่อยากให้แดดออก ครั้นแดดออก ก็ทำให้ของเสียก็ไม่อยากให้แดดออก อยาก..ไม่อยาก..

อย่าว่าแต่หลายคนหลายความคิด ชนิดนานาจิตตังเลย แม้ในคนเดียวกัน บางวันบางเวลาก็อยากให้ฝนตก และอยากให้แดดออก ถ้าแดดฝนมีจิตใจ มันคงเป็นบ้าตายไปนานแล้ว เพราะไม่รู้ใจของมนุษย์แม้ในคนเดียวกัน

รวมความว่า ความอยากของคนนี่แหละ ทำให้คนชอบฝืนธรรมชาติ และเมื่อฝืนธรรมชาติ คนที่ฝืนนั่นแหละจะถูกธรรมชาติมัน "ตบหน้า" เอา ถ้าไม่รู้จักเข็ดก็จะต้องถูกมันตบแล้วตบอีก และจะถูกตบอยู่เรื่อยไป จนกว่าจะปฏิบัติต่อธรรมชาติ อย่างถูกต้องและยุติธรรม

เมื่อนั้น ธรรมชาติก็จะประทานพร ให้เรามีความสงบเย็น แม้จะอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า ส่องแสงร้อนแรงเพียงใดก็ตามที

ถ้าเราเอาแต่คร่ำครวญว่า
"แหม..แดดจะออกอีกแล้ว..ฝนจะตกอีกแล้ว"
แล้วก็เอาแต่หงุดหงิด รำคาญใจ ทุกข์ใจ แต่ถ้าแดดมันจะออกหรือฝนมันจะตก มันก็เป็นของมันไปตามธรรมชาติใครจะบังคับขอร้องต้องการหรือไม่ต้องการ ถึงคราวออกหรือตก มันก็เป็นของมันไป

ถ้าเราไปฝืนหรือบังคับ ก็มีแต่จะได้รับ "ความทุกข์กินเปล่า" คือ ทุกข์โดยไม่ได้อะไร ที่เป็นมรรคผลตอบแทนเลยนอกจาก "สุขภาพจิตเสื่อม"

เมื่อเรารู้ว่าธรรมชาติทุกสิ่งไม่มีใครฝืนได้ เรา "ปรับใจ" ยอมรับกฎของธรรมชาติ แล้วใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ เช่น

"แดดออกก็ดีเหมือนกัน จะได้ตากข้าวตากของ ฝนตกก็ดีเหมือนกัน จะได้มีน้ำกินน้ำใช้ ต้นไม้ชุ่มชื่น อากาศเย็นสบาย.."

โปรดทราบว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไร ที่จะมีคุณหรือโทษเพียงด้านเดียวหรือส่วนเดียว ย่อมมีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้ปัญญาจัดให้ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะมีคุณมากกว่าโทษ

คำว่า "ดีเหมือนกัน" เท่ากับยอมรับธรรมชาติ และปรับตัวให้คล้อยตามธรรมชาติ "ปฏิฆะ" อันมีธรรมชาติเป็นเหตุ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

คนเรามีทั้งความคิดและสติปัญญา เหตุใดจึงไม่เอามาใช้เล่า? เมื่อฝนตกจำเป็นต้องออกจากบ้าน ก็หาร่มกางเข้า หรือไม่จำเป็นมากนักก็เลื่อนไปวันอื่น เป็นต้น






ทางแก้
๑.อย่าฝืนโลก อย่าแบกโลก "อะไรมันจะเกิดมันก็เกิด อะไรมันจะดับมันก็ดับ" ไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน หน้าที่ของเรา คือ "ทำเหตุที่ดีและถูกต้อง" เท่านั้นเป็นพอ
๒. ธรรมชาติจะไม่โหดร้าย ถ้าเราปรับใจได้ถูกต้อง แถมจะได้รับบทเรียนที่ล้ำค่ำจากธรรมชาติ เป็นของขวัญเสียอีกด้วย
๓. ถ้าอยากให้ธรรมชาติ ตอบปัญหาอันเร้นลับ ก็จงตั้งปัญหาถามธรรมชาติดูเถิด แล้วธรรมชาติจะตอบคำถามเอง ถ้าท่านไม่มีเชื้อ "ปทปรมะ" อย่างหนาแน่น ท่านก็จะได้ยินเสียงธรรมชาติตอบปัญหาจนหูแทบพัง !!!






ดับทุกข์ด้วย ๓ ไม่
๑.ไม่ฝืนธรรมชาติ
๒.ไม่ลุอำนาจความโกรธ
๓.ไม่โลดแล่นไปตามความอยาก





ที่มา : หนังสืออภิมหามงคลธรรม ๓๐๐

***********



Create Date : 01 มกราคม 2551    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2551 22:47:41 น.
Counter : 956 Pageviews.  

เรื่อง โกรธคือโง่ (กิเลน ประลองเชิง)









 





 iceicy การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง

เรื่อง โกรธคือโง่ (กิเลน ประลองเชิง)
หนังสือ ชักธงธรรม หน้า ๔๑




"ผลของ...ทุกข์ แสดงออกด้วยอาการ ที่ภาษาชาวพุทธว่า ความโศกเศร้ารำพัน..ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ"
มาจาก..เหตุ ได้ของรักแล้วรักษาไว้ไม่ได้ อยากได้แล้วไม่ได้ และได้ในสิ่งที่ไม่อยากได้
รู้จักผล รู้จักเหตุของความทุกข์แล้ว ก็ยังรู้สึกว่าเวลาทุกข์จะมา ก็จะมายังกะพายุใหญ่ มาแล้วก็กดขี่บีฑาจิตใจให้บอบช้ำ ทนไม่ได้ ถึงตายไปก็มาก

พุทธศาสนา เรียกอาการนี้ว่า นิวรณ์ สิ่งที่กีดขวาง การทำงานของจิตแบ่งออกเป็น ๕ ข้อ
๑.กามฉันท์ พอใจในกามคุณ ๒.พยาบาทคิดร้ายผู้อื่น ๓.ถีนมิทธะ ความหดหู่ซึมเซา ๔.อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ ๕.วิจิกิจฉาความลังเลสงสัย

ทุกข้อ เป็นเหตุเป็นผล..ของกันและกัน
เมื่อเริ่มต้นด้วยความรัก ความพอใจ สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งนั้น ไม่เป็นตามที่คิด ความผิดหวังก็จะนำไปสู่ ความคิดร้าย จิตเริ่มคิดแต่เรื่องร้ายๆ..จิตเดียวกันก็มักเปลี่ยนอาการ เป็นหดหู่เหงาเศร้า

ทุกข์ อาการสุดท้าย คือ ลังเลสงสัย เลือกทางไปไม่ถูก
รู้จักเหตุ รู้จักผลของทุกข์แล้ว ก็ต้องรู้จักการแก้ทุกข์
วิธีของพระพุทธเจ้า สอนให้แก้ที่เหตุ เมื่อรู้ว่าเหตุมากจากความรัก ไม่ว่าจะรักตัว รักชาติ รักพวก รักมาก ก็โกรธมาก ทุกข์มาก ก็ต้องพยายามลดความรักให้น้อยลง ถ้าเป็นความรักเจือราคะ ท่านสอนให้พิจารณาศพ หรืออสุภะ แต่กระนั้น ความสูญเสียยิ่งใหญ่ก็ทำให้โกรธอาฆาตพยาบาทต้องล้างแค้นเข่นฆ่าราวีกันต่อไป

ขั้นนี้ท่านสอนให้แผ่เมตตา
น้อมจิต..ไปให้เกิดความรัก ความปรารถนาให้เขามีความสุขแผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า..ไม่นานไม่ช้า..ก็ละลายสลายความโกรธได้บ้าง แต่ขนาดของความโกรธใหญ่โต จริตบางท่าน ใช้หลักธรรมนี้แก้ไม่ได้ พุทธศาสนาก็มีกุศโลบาย..สอนให้คิดเสียว่าเป็นกรรมเก่า

เรื่องหนึ่ง..จากตำนานสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง พระลูกวัดฟ้อง ถูกพระอีกรูปตีหัว สมเด็จฯ ท่านก็ตัดสิน รูปที่มาฟ้องนั่นแหละตีหัวเขาก่อน สมเด็จฯ กลายเป็นจำเลย โทษฐานเป็นสมภารตัดสินไม่เป็นธรรม เรื่องไปถึงเจ้าคณะหนใหญ่ ต่อหน้าทายกทายิกา สมเด็จฯ ท่านก็ได้โอกาสวิสัชนา กฎแห่งกรรม รูปที่ถูกตีหัวในชาตินี้ ไปตีหัวเขาเมื่อชาติที่แล้ว ที่ฆ่ากันวันนี้ ก็เป็นผลมาจากการฆ่ากันเมื่อก่อน หนทางเดียวที่จะตัดเวร ไม่ให้ก่อกรรมกันต่อไป ท่านก็ให้พระทั้งสองรูปอโหสิให้กันและกัน

ถ้าเป็นในยุคสมัยนี้ ก็เห็นจะต้องใช้สำนวนพระพยอม วัดสวนแก้ว..โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ความโง่ความบ้าไม่ช่วยแก้ปัญหา ไม่แน่ด้วยว่า อาจจะเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น

Create Date : 01 ธันวาคม 2550    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2551 22:47:56 น.
Counter : 1088 Pageviews.  

คติธรรม ข้อคิด ๑๑ เกจิอาจารย์








 













































Create Date : 24 กันยายน 2550    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2551 22:48:46 น.
Counter : 4231 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

lcelcy
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




มิถุนายน เดือนดี๊ดี " จุดกำเนิด iceicy's blog Dhamma"
ครบรอบ ๗ ปี แล้วค่ะ"

คนมาจากไหน?
เริ่มจาก เกิด แก่ เจ็บ และก็ตาย
คนก็หายไป !!...แต่ความดีไม่เคยหายไปด้วย..
ทุกคนจำวันเกิดตัวเองได้ไหม... ก็คงจำได้กันหมดอะน่ะ
เคยคิดจะทำอะไรดีดี....
ให้กับตัวเองและคนอื่น..ในวันครบรอบวันเกิดของตัวเองไหมค่ะ?

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ (๗ ปีได้ผ่านมาแล้ว)
ฉันได้ทำสิ่งที่ชอบ และชอบในสิ่งที่ฉันได้ทำ
สิ่งนั้น คือ " บล๊อกเกี่ยวกับหลักธรรมข้อคิดต่างๆ "
เริ่มจากทำไม่เป็น ลองผิดลองถูก ทำจนสำเร็จ
ทั้งนี้ ขอขอบพระคุณ " กำลังใจ " คนรอบข้าง
และทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม iceicy's blog Dhamma น่ะค่ะ
(ซึ้งน่ะซึ้งน่ะเนี่ย!!!!)
<

วัตถุประสงค์ iceicy blog Dhamma
1. เพื่อเผยแพร่และสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับประเทศไทย
2. เพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา
3. เพื่อแบ่งปันความรู้ทางพระพุทธศาสนา และแลกเปลี่ยนข่าวสารทั่วไป
4. สรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง

Google



Link to us:
ท่านสามารถนำ code ของ banner นี้
ไปติดที่เว็บของท่านได้ตามสะดวกน่ะค่ะ
ขอขอบคุณและขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วยน่ะค่ะ

Iceicy blog dhamma



New Comments
Friends' blogs
[Add lcelcy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.