Iceicy Blog Dhamma หน้าแรก หลักธรรม ปรัชญา ท่องเที่ยวธรรม เก็บตกธรรม บทสวดมนต์ บทเพลงธรรม เว็บบอร์ด iceicy ไอที ไดอารี่
Link to us:
Group Blog
 
All blogs
 

แม่คือพระของเรา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว








 






แม่คือพระของเรา




แม่...เป็นคำที่มนุษย์เปล่งเสียงได้เป็นครั้งแรก
ถือกันว่าแม่เป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์ของลูก
และมีอุปการะคุณต่อบุตรเป็นอเนกประการ
...คนทั่วไปพยายามจะเดินทางไปในที่ต่างๆ
เพื่อเสาะแสวงหาพระดีๆที่จะไปทำบุญกับท่าน
...............ที่ไหนว่าศักดิ์สิทธิ์ก็ไปกัน..........
...แต่ทั้งที่เรามีพระประจำตัวอยู่ใกล้เรา
....คือ...."มารดา" กลับมองไม่เห็น
พระที่อยู่กับเราเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์และประเสริฐที่สุด
...............ขอให้ทุกคนเร่งสร้างกุศลต่อท่าน........
และคำนึงอยู่เสมอว่า แม่คือพระของเรา...
...............ชีวิตก็จะมีสุข.............
กว่าการดั้นด้นไปหาพระศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนๆ

....ความรักของแม่...
รักใดเล่ารักแน่เท่าแม่รัก
ผูกสมัครลูกมั่นไม่หวั่นไหว
ห่วงใดเล่าเท่าห่วงดังดวงใจ
ที่แม่ให้กับลูกอยู่ทุกครา
ยามลูกขื่นแม่ขมตรมหลายเท่า
ยามลูกเศร้าแม่โศกวิโยคกว่า
ยามลูกหายแม่ห่วงดังดวงตา
ยามลูกมาแม่หมดลดห่วงใย
ยามมีกิจหวังให้เจ้าเฝ้ารับใช้
ยามป่วยไข้หวังให้เจ้าเฝ้ารักษา
ยามถึงคราวล่วงลับดับชีวา
หวังให้เจ้าเฝ้าปิดตาเมื่อสิ้นใจ...

(..จากหนังสือ..วิวาห์พระสมุทร พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันตลอดกาลทุกเมื่อ




อ้างอิง :
Welcome to iceicy.freeforums.org



Create Date : 10 สิงหาคม 2551    
Last Update : 10 สิงหาคม 2551 13:39:16 น.
Counter : 1998 Pageviews.  

ความสุข ๕ ชั้น : พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต)








 





ความสุข ๕ ชั้น
พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต)



ฝึกตนยิ่งขึ้นไป ดำเนินชีวิตให้ถูก ความสุขยิ่งเพิ่มพูน


เมื่อทำตัวเป็นพระพรหมได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็มาทำชีวิตให้เข้าถึงความสุข ในทีนี้ขอพูดคร่าว ๆ
ถึงความสุข ๕ ชั้นขอพูดอย่างย่อ ในเวลาที่เหลืออันจำกัดดังนี้

ขั้นที่ ๑ คือ ความสุขจากการเสพวัตถุ หรือสิ่งบำรุงบำเรอภายนอกที่นำมาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา
ข้อนี้เป็นความสุขสามัญที่ทุกคนในโลกปรารถนากันมาก

ความสุขประเภทนี้ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เพราะว่าเป็นวัตถุ หรืออามิสภายนอก เมื่อเป็นสิ่งภายนอก อยู่นอกตัว
ก็ต้องหา ต้องเอา เพราะฉะนั้นสภาพจิตของคนที่หาความสุขประเภทนี้จึงเต็มไปด้วยความคิดที่จะได้จะเอา แล้วก็ต้องหา
และดิ้นรนทะยานไป เมื่อได้มาก ก็มีความสุขมาก แล้วก็เพลิดเพลินไปกับความสุขเหล่านั้น พอได้มาก ๆ เข้า
ต่อมาก็นึกว่าตัวเองเก่งมาก ๆ ไป ๆ มา ๆ โดยไม่รู้ตัวก็มีภาวะอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ ชีวิตและความสุขของตัวเองต้องไปขึ้นกับวัตถุเหล่านั้น
อยู่ลำพังง่าย ๆ อย่างเก่า ไม่สุขเสียแล้ว ตอนที่เกิดมาใหม่ ๆ นี้ ไม่ต้องมีอะไรมากก็พอจะมีความสุขได้ ต่อมามีวัตถุมาก เสพมาก
ทีนี้ขาดวัตถุเหล่านั้นไม่ได้เสียแล้ว กลายเป็นว่าสูญเสียอิสรภาพ ชีวิตและความสุขต้องไปขึ้นกับวัตถุภายนอก แต่เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเก่ง
อันนี้เป็นข้อสำคัญที่คนเราหลงลืมไป ทางธรรมจึงเตือนไว้เสมอว่าเรา อย่าสูญเสียอิสรภาพนี้ไป พร้อมทั้งอย่าสูญเสียความสามารถที่จะเป็นสุข

สิ่งที่คนเราจะพัฒนากันมากก็คือ การพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข แม้แต่การศึกษา
ทำไปทำมาก็ไม่รู้ตัวว่ากลายเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิตที่ลืมไป
คือการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ถ้าเราไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข หรือแม้แต่ไม่รักษามันไว้
เราก็สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข

อาการของคนที่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ก็คือยิ่งอยู่ในโลกนานไปก็ยิ่งกลายเป็นคนที่สุขยากขึ้น
คนจำนวนมากสมัยนี้มีลักษณะอย่างนี้ คืออยู่ในโลกนานไป เติบโตขึ้น กลายเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น
ต่างจากคนที่รักษาดุลยภาพของชีวิตไว้ได้ โดยพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขควบคู่ไปด้วย
จะเป็นคนที่มีมีลักษณะตรงข้าม คือยิ่งอยู่ในโลกนานไป ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น

ถ้าเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น ก็ดี ๒ ชั้น คือ เราพัฒนาสองด้านไปพร้อมกัน ทั้งพัฒนาความสามารถ
ที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขด้วย และพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย ผลก็คือ
เราหาสิ่งมาบำเรอความสุขได้เก่ง ได้มากด้วย และพร้อมกันนั้นเราก็เป็นคนทีสุขได้ง่ายด้วย เราก็เลยสุขซ้อนทวีคูณ

ส่วนคนที่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข แม้จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้มาก แต่ความสุขก็ที่เดิมเรื่อยไป
เพราะข้างนอกได้มา ๑ แต่ข้างในก็ลดลงไป ๑ เลยเหลือ 0 ที่เดิม กระบวนการวิ่งหาความสุขจึงดำเนินไปไม่รู้จักจบสิ้น
เพราะความสุขวิ่งหนีเราไปเรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ด้วยคู่กัน เป็นคนที่สุขได้ง่ายก็เป็นอันว่าสบาย
อย่างน้อยก็ฝึกตัวเองไว้ อย่าให้ความสุขต้องขึ้นกับวัตถุมากเกินไป

ศีล ๕ เป็นตัวอย่างของวิธีฝึกไม่ให้เราสูญเสียอิสรภาพ โดยไม่เอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุ
มากเกินไป แปดวันก็รักษาศีล ๘ ครั้งหนึ่ง ลองหัดดูซิว่าให้ความสุขของเราไม่ต้องขึ้นกับการบำรุงบำเรอทางกายด้วยวัตถุ
เริ่มด้วยข้อวิกาลโภชนาฯ ไม่ต้องบำเรอลิ้นด้วยอาหารอร่อยอยู่เรื่อย ไม่คอยตามใจลิ้น กินแค่เที่ยง เพียงที่ที่ร่างกายต้องการ
เพื่อให้มีสุขภาพดี แข็งแรง ตลอดจนข้อ อุจจาสยนะฯ ไม่บำเรอตัวด้วยการนอน ไม่ต้องนอนบนฟูก ลองนอนง่าย ๆ บนพื้น
บนเสื่อธรรมดา ลองไม่ดูการบันเทิงซิ ทุก ๘ วัน เอาครั้งเดียว จะเป็นการรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ และฝึกให้เรามีชีวิตอยู่ดี
ได้โดยไม่ต้องขึ้นกับวัตถุมากเกินไป

พอฝึกได้แล้วต่อมาเราจะพูดถึงวัตถุหรือสิ่งบำรุงความสุขเหล่านั้นว่า "มีก็ดี ไม่มีก็ได้" ต่างจากคนที่ไม่พัฒนาความสามารถ
ที่จะมีความสุข ซึ่งจะเอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุ ถ้าไม่มีวัตถุเหล่านั้นเสพแล้วอยู่ไม่ได้ รุรนทุราย ต้องพูดถึงวัตถุหรือสิ่งเสพเหล่านั้นว่า
"ต้องมีจึงจะอยู่ได้ ไม่มีอยู่ไม่ได้" คนที่เป็นอย่างนี้จะแย่ ชีวิตนี้สูญเสียอิสรภาพ คนยิ่งอายุมากขึ้นสถานการณ์ก็ไม่แน่นอน
ถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายเสพความสุขจากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ เช่น ลิ้นไม่รับรู้รส กินอาหารก็ไม่อร่อย ถ้าไม่ฝึกไว้ ความสุขของตัว
ไปอยู่ที่วัตถุเหล่านั้นเสียหมดแล้ว และตัวก็เสพมันไม่ได้ จิตใจก็ไม่มีความสามารถที่จะมีความสุขด้วยตนเอง ก็จะลำบากมาก ทุกข์มาก
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ฝึกไว้ รักษาศีล ๘ นี้แปดวันครั้งหนึ่ง จะได้ไม่สูญเสียอิสรภาพนี้ไป

เพราะฉะนั้นเอาคำว่า "มีก็ดี ไม่มีก็ได้" นี้ไว้ ถามตัวเอง เป็นการตรวจสอบอยู่เสมอว่า เราถึงขั้นนี้หรือยัง
หรือต้องมีจึงจะอยู่ได้ ถ้ายังพูดได้ว่า มีก็ดีไม่มีก็ได้ ก็เบาใจได้ว่า เรายังมีอิสรภาพอยู่ ต่อไปถ้าเราฝึกเก่งขึ้นไปอีก
อาจจะมาถึงขั้นที่พูดได้ในบางเรื่องว่า "มีก็ได้ ไม่มีก็ดี" ถ้าได้อย่างนี้ก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก

คนที่พูดได้อย่างนี้ จะมีความรู้สึกว่าของพวกนี้เกะกะ เราอยู่ของเราง่าย ๆ ดีแล้ว มีก็ได้ไม่มีก็ดี ไม่มีเราก็สบาย
ชีวิตเป็นอิสระโปร่งเบาความสุขเริ่มไม่ขึ้นต่อวัตถุอามิสสิ่งเสพภายนอก ความสุขเริ่มไม่ต้องหา

-ความสุขที่ต้องหา แสดงว่าเราขาด คือยังไม่มีความสุขนั้นเราหาได้ที เสพทีก็มีสุขที แต่ระหว่างนั้นต้องอยู่ด้วยการอ
อยู่ด้วยความหวัง บางทีก็ถึงกับทุรนทุราย กระวนกระวาย เพราะฉะนั้น จะต้องทำตัวให้มีความสุขด้วยตนเองสำรองไว้ให้ได้
ด้วยวิธีฝึกรักษาอิสรภาพของชีวิต และรักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้

ขั้นที่ ๒ พอเจริญคุณธรรม เช่น มีเมตตากรุณา มีศรัทธา เราก็มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง แต่ก่อนนี้ชีวิตเคยต้องได้วัตถุมาเสพต้องได้
ต้องเอา เมื่อได้จึงจะมีความสุข ถ้าคือเสียก็ไม่มีความสุข แต่คราวนี้ คุณธรรมทำให้ใจเราเปลี่ยนไป เหมือนพ่อแม่ที่มีความสุขเมื่อให้แก่ลูก
เพราะรักลูก ความรักคือเมตตา ทำให้อยากให้ลูกมีความสุขพอให้แก่ลูกแล้วเห็นลูกมีความสุข ตัวเองก็มีความสุข เมื่อพัฒนาเมตตากรุณา
ขยายออกไปถึงใคร ให้แก่คนนั้น ก็ทำให้ตัวเองมีความสุขศรัทธาในพระศาสนาในการทำความดี และในการบำเพ็ญประโยชน์เป็นต้น
ก็เช่นเดียวกัน เมื่อให้ด้วยศรัทธา ก็มีความสุขจากการให้นั้น ดังนั้นคุณธรรมที่พัฒนาขึ้นมาในใจ เช่น เมตตากรุณา ศรัทธา
จึงทำให้เรามีความสุขจากการให้ การให้กลายเป็นความสุข

ขั้นที่ ๓ ความสุขเกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมติ
ที่ผ่านมานั้นเราอยู่ในโลกของสมมติมาก และบางทีเราก็หลงไปกับความสุขในโลกของสมมตินั้น แล้วก็ถูกสมมติ
ล่อหลอกเอา อยู่ด้วยความหวังสุขจากสมมติที่ไม่จริงจังยั่งยืน และพาให้ตัวแปลกแยกจากความจริงของธรรมชาติ
และขาดความสุขที่พึงได้จากความเป็นจริงในธรรมชาติเหมือนคนทำสวนที่มีวหวังความสุขจากเงินเดือน
เลยมองข้ามผลที่แท้จริงตามธรรมชาติจากการทำงานของตัว คือความเจริญงอกงามของต้นไม้
ทำให้ทำงานด้วยความฝืนใจเป็นทุกข์ ความสุขอยู่ที่การได้เงินเดือนอย่างเดียว ได้แต่รอความสุขที่อยู่ข้างหน้า
แต่พอใจมาอยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาติ อยากเห็นผลที่แท้จริงตามธรรมชาติของการทำงาน ของตน
คือ อยากเห็นต้นไม้เจริญงอกงาม หายหลงสมมติ ก็มีความสุขในทำสวน และได้ความสุข จากการชื่นชมความเจริญงอกงาม
ของต้นไม้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น คนที่ปรับชีวิตได้ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ จึงสามารถหาความสุขจากการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
ตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ได้เสมอ พอปัญญามาบรรจบให้วางใจถูก ชีวิตและความสุขก็ถึงความสมบูรณ์

ขั้นที่ ๔ ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง คนเรานี้มีความสามารถในการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของมนุษย์
ปรุงแต่งทุกข์ก็ได้ ปรุงแต่งสุขก็ได้ โดยเฉพาะที่เห็นเด่นชัดก็คือปรุงแต่งความคิดมาสร้างสิ่งประดิษฐ์ จนมีเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย

ที่สำคัญก็คือในใจของเราเอง เรามักจะใช้ความสามารถในทางที่เป็นผลร้ายแก่ตนเอง แทนที่จะปรุงแต่งความสุข เรามักจะปรุงแต่งทุกข์
คือเก็บเอาอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ขัดใจ ขัดหู ขัดตา เอามาครุ่นคิดให้ไม่สบายใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง โดยเฉพาะคนที่สูงอายุนี่ ต้องระวังมาก
ใจคอยจะเก็บอารมณ์ที่กระทบกระเทือน ไม่สบาย แล้วก็มาปรุงแต่ง ให้เกิดความกลุ้มใจ ว้าเหว่ เหงา เรียกใช้ความสามารถไม่เป็น

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักใช้ความสามารถในการปรุงแต่งแทนที่จะปรุงทุกข์ ก็ปรุงสุข เก็บเอาแต่อารมณ์ที่ดี
มาปรุงแต่งใจให้สบาย แม้แต่หายใจ ที่ยังให้ปรุงแต่งความสุขไปด้วย ลองฝึกดูก็ได้เวลาหายใจเข้า ก็ทำใจให้เบิกบาน
เวลาหายใจออก ก็ทำใจให้โปร่งเบาทานสอนไว้ว่าสภาพจิต 5 อย่างอย่างนี้ ควรปรุงแต่งให้มีในใจอยู่เสมอ คือ

๑. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกปานใจ
๒. ปีติ ความอิ่มใจ
๓. ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด
๔. ความสุข ความโปร่งโล่งใจ คล่องใจ สะดวกใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้น หรือติดขัดคับข้อง และ
๕. สมาธิ ภาวะที่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ได้ตามาต้องการ ไม่มีอะไรมารล[กวน จิตอยู่ตัวของมัน


ขอย้ำว่า ๕ ตัวนี่สร้างไว้ประจำใจให้ได้ เป็นสภาพจิตที่ดีมาก ผู้เจริญในธรรมจะมีคุณสมบัติของจิตใจ ๕ ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ตโต ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ

แปลว่า ภิกษุปฏิบัติถูกต้องแล้ว มากด้วยปราโมทย์ มีจิตใจร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป ท่านพูดไว้ถึงอย่างนี้


ฉะนั้น ท่านผู้เกษียณอายุนั้น ถึงเวลาแล้ว ควรจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ถือเป็นโอกาสดี มาปรุงแต่งใจ
แต่ก่อนนี้ปรุงแต่งแต่ทุกข์ทำให้ใจเครียด ขุ่นมัว เศร้าหมอง ตอนนี้ปรุงแต่งใจให้มีธรรม 5 อย่างนี้ คือ ปราโมทย์
มีความร่าเริงเบิกบานใจ ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ สุข โล่งโปร่งใจ สมาธิ
สงบใจตั้งมั่น ไม่มีอะไรมารบกวน อยู่ตัว สบายเลย ทำใจให้ได้อย่างนี้อยู่เสมอ ท่องไว้เลย 5 ตัวนี้ คือ ปราโมทย์
ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้ว ทำไมเราไม่เอามาใช้ นี่แหละความสามารถในการปรุงแต่งจิต
เอามาใช้ สบายแน่ และก็เจริญงอกงามในธรรมด้วย

โดยเฉพาะ ที่นผู้สูงอายุนั้นก็เป็นธรรมดาว่าจะต้องมีเวลาพักและเวลาว่างที่ว่างจากกิจกรรม มากกว่าคนหนุ่มสาว
และคนวัยทำงานที่เขายังมีกำลังร่างกายแข็งแรงดี ว่างจากงานเขาก็ไปเล่นไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้มาก แต่ท่านที่สูงอายุ
นอกจากออกกำลังบริหารร่างกายบ้างแล้ว ก็ต้องการเวลาพักผ่อนมากหน่อย จึงมีเวลาว่าง ซึ่งไม่ควรปล่อยให้กายว่างแต่ใจวุ่น

เพราะฉะนั้น ในเวลาที่ว่าง ไม่มีอะไรทำ และก็ยังไม่พักผ่อนนอนหลับ หรือนอนแล้วก่อนจะหลับ ก็พักผ่อนจิตใจให้สบาย
ขอเสนอวิธีปฏิบัติง่าย ๆ ไว้อย่างหนึ่งว่า ในเวลาที่ว่างอย่างนั้น ให้สูดลมหายใจเข้าและหายใจออกอย่างสบาย ๆ สม่ำเสมอ ให้ใจ
อยู่กับลมหายใจที่เข้าและออกนั้น พร้อมกันนั้นก็พูดในใจไปด้วย ตามจังหวะลมหายใจเข้าและออกว่า

จิตใจเบิกบานหายใจเข้า
จิตใจโล่งเบาหายใจออก


ในเวลาที่พูดในใจอย่างไร ก็ทำใจให้เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ด้วย หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นสำนวนใหม่ก็ได้ว่า

หายใจเข้า สูดเอาความสดชื่น
หายใจออก ฟอกใจให้สดใส


ถูกกับตัวแบบไหน ก็เลือกเอาแบบนั้น หายใจพร้อมกับทำใจไปด้วยอย่างนี้ตามแต่จะมีเวลาหรือพอใจ
ก็จะได้การพักผ่อนที่เสริมพลังทั้งร่างกายและจิตใจ ชีวิตจะมีความหมาย มีคุณค่า และมีความสุขอยู่เรื่อยไป

ขั้นที่ ๕ สุดท้าย ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คราวนี้ไม่ต้องปรุงแต่ง คืออยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต
การเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาเห็นแจ้ง ทำให้วางจิตวางใจลงตัวสนิทสบาย กับทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่อย่างผู้เจนจบชีวิต

สภาพจิตนี้จะเปรียบเทียบได้เหมือนสารถีที่เจนจบการขับรถสารถีผู้ชำนาญในการขับรถนั้น
จะขับม้าให้นำรถเข้าถนน และวิ่งด้วยความเร็วพอดี ตอนแรกต้องใช้ความพยายาม ใช้แซ่ ดึงบังเหียนอยู่พักหนึ่ง แต่พอรถม้านั้นวิ่งเข้าที่เข้าทางดี
ความเร็วพอดี อยู่ตัวแล้ว สารถีผู้เจนจบ ผู้ชำนาญแล้วนั้น จะนั่งสงบสบายเลย แต่ตลอดเวลานั้นเขามีตลอดเวลานั้นเขาไม่มีความประหวั่น
ไม่มีความหวาด จิตเรียบสนิท ไม่เหมือนคนที่ยังไม่ชำนาญ จะขับรถนี่ ใจคอไม่ดี หวาดหวั่น ใจคอยกังวลโน่นนี่ ไม่ลงตัว
แต่พอรู้เข้าใจความจริงเจนจบดี ด้วยความรู้นี่แหละ จะปรับความรู้สึกให้ลงตัว เป็นสภาพจิตที่เรียบสงบสบายที่สุด

คนที่อยู่ในโลกด้วยความรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง จิตเจนจบกับโลกและชีวิต วางจิตลงตัวพอดี
ทุกอย่างเข้าที่อยู่ตัวสนิทอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นจิตอุเบกขา เป็นจิตที่สบาย ไม่มีอะไรกวนเลยเรียบสนิท
เป็นตัวของตัวเอง ลงตัว เมื่อทุกสิ่งเข้าที่ของมันแล้ว คนที่จิตลงตัวเช่นนี้ จะมีความสุขอยู่ประจำตัวอยู่ตลอดเวลา
เป็นสุขเต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาจากข้างนอก และเป็นผู้มีชีวิตที่พร้อมที่จะทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่
เพราะไม่ต้องห่วงกังวลถึงความสุขของตนและไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป
จะมองโลกด้วยปัญญาที่รู้ความจริง และด้วยใจที่กว้างขวางและรู้สึกเกื้อกูล

คนที่พัฒนาความสุขมาถึงขึ้นสุดท้ายแล้วนี้ เป็นผู้พร้อมที่จะเสวยความสุขทุกอย่างใน ๔ ข้อแรก
ไม่เหมือนคนที่ไม่พัฒนา ได้แต่หาความสุขประเภทแรกอย่างเดียว เมื่อหาไม่ได้ก็มีแต่ความทุกข์เต็มที่
และในเวลาที่เสพความสุขนั้น จิตใจก็ไม่โปร่งไม่โล่ง มีความหวั่นใจหวาดระแวงขุ่นมัว มีอะไรรบกวนอยู่ในใจ
สุขไม่เต็มที่ แต่พอพัฒนาความสุขขึ้นมา ยิ่งพัฒนาถึงขั้นสูงขึ้น ก็มีโอกาสได้รับความสุขเพิ่มขึ้นหลายทาง
กลายเป็นว่า ความสุขมีให้เลือกได้มากมาย และจิตใจที่พัฒนาดีแล้ว ช่วยให้เสวยความสุขทุกอย่างได้เต็มที่
โดยที่ในขณะนั้น ๆ ไม่มีอะไรรบกวนให้ขุ่นข้องหมองมัว

เป็นอันว่าธรรมะ ช่วยให้เรารู้จักความสุขในการดำเนินชีวิตมากยิ่ง ๆขึ้นไป สู่ความเป็นผู้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์
จนกระทั่งความสุขเป็นคุณสมบัติของชีวิตอยู่ภายในตัวเองตลอดทุกเวลา ไม่ต้องหาไม่ต้องรออีกต่อไป ความสุข ๕ ขั้นนี้
ความจริงแต่ละข้อต้องอธิบายกันมาก แต่วันนี้พูดไว้พอให้ได้หัวข้อก่อน คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์พอสมควร

ขออนุโมทนา ท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ขอตั้งจิตส่งเสริมกำลังใจ ขอให้ทุกคนประสบจตุรพิธพรชัย
มีปีติอิ่มใจอย่างน้อยว่า ชีวิตส่วนที่ผ่านมาได้ทำประโยชน์ ได้ทำสิ่งที่มีค่าไปแล้ว ถือว่าได้บรรลุจุดหมายของชีวิตไปแล้วส่วนหนึ่ง

เพราะฉะนั้นจึงควรตั้งใจว่า เราจะเดินหน้าต่อไปอีกสู่จุดหมายชีวิตที่ควรจะได้ต่อไป เพราะยังมีสิ่งที่จะทำชีวิต
ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีกไม่ใช่แค่นี้ ชีวิตนั้นยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ ที่จะทำให้เต็มเปี่ยมได้ยิ่งกว่านี้
จึงขอให้ทุกท่านเข้าถึงความสมบูรณ์ของชีวิตนั้นสืบต่อไปและขอให้ทุกที่นมีความร่มเย็นเป็นสุข
ในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันตลอดกาลทุกเมื่อ



อ้างอิง :
คู่มือชีวิต/พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)



Create Date : 25 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2551 19:52:33 น.
Counter : 902 Pageviews.  

ทำไมชาวพุทธจึงมีความเครียดหนัก








 





หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม



ทำไมชาวพุทธจึงมีความเครียดหนัก ?...


เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ สื่อมวลชนฉบับหนึ่ง
ได้เสนอข่าวชวนให้คิด เชิงจริยธรรม ความว่า
บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง และเศรษฐกิจ
ที่ใช้อักษรย่อว่า เพิร์ด แห่งประเทศฮ่องกง
ได้จัดอันดับความเครียดของพลเมืองประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเซีย
ด้วยมาตราวัดความเครียดได้สถิติความเครียด ๖ อันดับดังนี้ : -

มีความเครียดระดับ ๑ ได้แก่ พลเมืองประเทศเวียดนาม สถิติ ๘.๕

มีความเครียดอันดับ ๒ ได้แก่ พลเมืองประเทศเกาหลี สถิติ ๘.๒

มีความเครียดสูงอันดับ ๓ ได้แก่ พลเมืองประเทศไทย สถิติ ๗.๘

มีความเครียดสูงอันดับ ๔ ได้แก่ พลเมืองประเทศจีน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น,

สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สถิติ ๖.๗

มีความเครียดสูงอันดับ ๕ ได้แก่ พลเมืองประเทศมาเลเซีย สถิติ ๕.๖

มีความเครียดสูงอันดับ ๖ ได้แก่ พลเมืองประเทศไต้หวัน สถิติ ๕.๕

นอกจากสถิติดังกล่าว เพิร์ดยังได้สถิติในด้านที่มีความเครียดน้อยที่สุดไว้
ด้วยว่า ชาวอินเดียมีความเครียดน้อยที่สุด

หลายคนสงสัยว่า ทำไมชาวอินเดียจึงมีอารมณ์ดี เครียดน้อยที่สุด

ในปัญหานี้ น่าจะชี้แนะให้เห็นความจริงว่า ชาวอินเดียโดยทั่วไปนั้น
เขาเป็นคนทะเยอทะยานน้อยที่สุด
คนวรรณะต่ำสุดของอินเดีย เป็นคนที่ลำบากยากจนมากที่สุด
คุ้นเคยชินชาอยู่กับความลำบากยากไร้มากที่สุด
มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารการกินน้อยที่สุด
อาศัยอยู่ที่อาศัยที่เป็นกระท่อมน้อย ๆ
หาความสะดวกสบายได้น้อยที่สุด
ได้รับอันตรายจากภัยธรรมชาติมากที่สุด
สรุปว่า ย่อมรับรู้ทุกข์ความเจ็บไข้ ความผิดหวัง
ความร้อน ความหนาว และการเหยียดหยามก้าวร้าวมาบ่อยทุกรูปแบบ
โดยเห็นว่าทุกข์เหล่านั้นคือ เพื่อนสนิทในชีวิตของเขา

ด้วยเหตุนั้น น่าจะเป็นผลทำให้เขาเครียดน้อยที่สุด
ส่วนชาวไทยเรา มีความเครียดมากติดอันดับ ๓ ของเอเซีย
อย่างไม่น่าเชื่อ

ไม่น่าเชื่อเพราะอะไร เพราะชาวไทยมีพระพุทธศาสนาประจำชาติ
มีพุทธธรรม เป็นโอสถยาวิเศษที่ป้องกันบรรเทาและแก้ทุกข์ได้ร้อยแปด
มีพระสงฆ์เป็นครูชั้นยอดคือ แนะนำให้ทำดี ให้หมดทุกข์ได้สิ้นเชิง

แต่เหตุไรชาวไทย จึงมีความเครียดหนักหนาเช่นนั้น
คนโดยทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่า เพราะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า
ทำให้คนไทยอยู่สบาย ๆ หรือสุขสำราญอีกต่อไปไม่ได้

แต่ถ้าจะลงลึกไปอีก เราจะเห็นสาเหตุสำคัญยิ่งไปกว่านั้น
ก็เราไม่ได้ใช้พระพุทธศาสนา เป็นเครื่องจรรโลงใจกันเลย
ทั้ง ๆ ที่รู้กันดีว่า ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ

ที่พึ่งทางกาย เรามีกันพอสมควรแล้ว คือ เรามีอาหารพอกิน
เรามีเครื่องนุ่งห่มพอใช้ เรามีบ้านเรือนพออยู่
เรามียาแก้โรคทางกาย หลายต่อหลายอย่าง

แต่ที่พึ่งทางใจ เราขาดแคลนอยู่เป็นประจำ
ทำไมจึงขาดแคลน ก็เพราะเราไม่ค่อยอยากใช้ธรรมะ
ไม่อยากสนใจ ทางพ้นทุกข์หรือทางระงับดับความเร่าร้อนใจในชีวิต
โดยเราเห็นว่า ไม่จำเป็น และไร้สาระ ช่วยอะไรไม่ได้
โดยปล่อยธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นของไร้ค่าไปเสียเฉย ๆ

ถ้าเราจะมาสนใจกันหน่อย ศึกษา และอบรมตามหลักธรรมสำคัญ ๆ
ของพระพุทธศาสนา

ให้รู้ว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุแห่งทุกข์
อะไรคือความดับทุกข์ และอะไรคือวิธีทำให้สิ้นสุดความทุกข์

และหลักธรรมประกอบอื่น ๆ อีกไม่กี่ข้อ เช่น เรื่องโลกธรรม ๘
เรื่องสันโดษ เรื่องกฏแห่งกรรม เรื่องการแผ่เมตตา
และเรื่องไตรลักษณ์ เป็นต้น เราก็จะไม่ต้องพ่ายแพ้แก่ความเครียด
ซึ่งมันเป็นเรื่องทางกายมากกว่า

บางที เพียงเรื่องโลกธรรมเรื่องเดียว
ถ้าเรารู้ซึ้งจนยอมรับไปคิดพิจารณาอยู่บ่อย ๆ
เราก็สามารถระงับยับยั้งทุกข์ระทมที่โหมโรมรันเราได้สำเร็จง่าย ๆ

ในโลกธรรม ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้เรารู้ความจริง
หรือธรรมชาติที่ทุกชีวิตจะต้องได้รับเสมอเหมือนกัน
ไม่มีผู้วิเศษอยู่เหนืออำนาจโลกธรรม ๘ กล่าวคือ

๑. มีลาภ แล้วก็ ต้องเสื่อมลาภ

๒. มียศศักดิ์ แล้วก็ ต้องเสื่อมยศศักดิ์

๓. มีสรรเสริญ แล้วก็ ถูกนินทา

๔. มีสุข แล้วก็ ต้องมีทุกข์


* เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่ลาภร่ำรวยล้นไม่หยุด

* เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่ยศศักดิ์อัครฐาน ไม่เสื่อม

* เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่คำยกย่องสดุดี ไม่ถูกด่าว่า

* เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่สุขสนุกสนาน ไม่ทุกข์

อยู่ว่าง ๆ ณ ที่สงบสงัด ทำใจให้เป็นสมาธิ คิดพิจารณาตามที่ว่ามา
จิตที่ผิดหวัง มีทุกข์ จะค่อย ๆ มั่นคงมีเหตุผล คลายความทุกข์ได้

พระพุทธองค์ทรงสอนชาวโลกไว้แจ่มแจ้งแล้ว
แต่ผู้เครียดทั้งหลาย มิได้ใส่ใจสนใจ มิได้นำมาพินิจพิจารณา
จึงต้องเครียดหนัก

ผู้ที่จะอยู่ในโลกได้อย่างสุขสบายไม่เครียด จะต้องเป็นผู้ยอมรับรู้
ยอมรับทราบ ยอมให้ตนได้รับทุกข์ โดยไม่มีการปฏิเสธ
(กายจะทุกข์ก็ให้เขาทุกข์)

คล้าย ๆ ว่า แสวงหาสุขบนกองทุกข์ของตน
คือ เห็นทุกข์เป็นเพื่อนคู่ชีวิต
เห็นความลำบากเป็นทางแห่งเกียรติยศ
เห็นความโศกสลดเป็นรสชาติของชีวิต ชีวิตที่เกรียงไกรเลิศล้ำ
ต้องมีสีสัน ต้องสามารถแสดงบทบาทโลดโผนได้อย่างดี

มิใช่ชีวิตที่ล่องลอยมาสบาย ๆ ดังพระราชนิพนธ์
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ว่า

หนทางไปสู่เกียรติศักดิ์ จักประดับดอกไม้หอมหวลยวนจิตไซร้ บ่ มี

อาจมีคนค้านว่า พูดหรือสอนเขานะ มันแสนยาก
แต่พอจะทำเอง มันยากนักยากหนา คนสอนนะยังไม่เคย
เป็นหนี้สินใครเป็นร้อย ๆ ล้าน
ยังไม่เคยถูกพิษร้ายถึงขนาดบริษัทพัง ธุระกิจล่มจม
ตกงาน เงินขาดมือ จึงนึกว่าจะแก้ทุกข์ได้ง่าย

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ควรเครียด ไม่ควรตายอยู่ดีนั่นเอง
เหตุผลก็คือ เรายังมีร่างกาย ยังมีความรู้ ยังมีความสามารถ
และยังมีคุณค่าต่อสังคมมากต่อมาก

* ไม่ตายเสีย ก็คงมีโอกาสปลอดโปร่งสว่างไสวในชีวิต

* ไม่ตายเสีย ก็ยังมีโอกาสทำงานอื่น ๆ กอบกู้ฐานะได้

* ไม่ตายเสีย ก็คงจะมีเพื่อนผู้สามารถมาชี้แนะอุ้มชู

* ไม่ตายเสีย ก็คงมีโอกาสทำงานขอทุเลาหนี้ หรือใช้หนี้ได้

ถึงไม่อาจใช้หนี้หมดได้จริง เราก็ยังมีโอกาสพบผู้เห็นอกเห็นใจ
ผู้เห็นคุณค่าของเราบ้างจนได้

ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ความสุขไม่เที่ยงแท้ เป็นจริง
เราก็ต้องเข้าใจต่อไปว่า ความทุกข์ ก็ไม่อยู่กับเราตลอดไปดอก
(ทุกข์ก็หมดไปได้) มีทางสว่างไสวอยู่ในความมืดแน่นอน
ถ้าเราไม่ด่วนดับอนาคตของตัวเองง่าย ๆ



อ้างอิง :
//www.dhammathai.org



Create Date : 22 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 22 กรกฎาคม 2551 22:25:39 น.
Counter : 865 Pageviews.  

วิธีดับทุกข์ เพราะ...ลูก









 







วิธีดับทุกข์ เพราะ..ลูก




พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงลูกไว้ในปุตตสูตร (๒๕/๒๕๗) ว่ามีอยู่ ๓ ประเภท คือ อภิชาตบุตร อนุชาตบุตร อวชาตบุตร โดยทรงยกเอาศีล ๕ มาเป็นมาตรวัดไว้ ดังนี้

อภิชาตบุตร ลูกที่สูงกว่าตระกูล คือ พ่อแม่ไม่มีศีล ๕ แต่ลูกเป็นผู้มีศีล ๕ แต่ลูกเป็นผู้มีศีล ๕

อนุชาตบุตร ลูกที่เสมอกับตระกูล คือ พ่อแม่มีศีล ๕ และลูกก็เป็นผู้มีศีล ๕ ด้วย

อวชาตบุตร ลูกที่ต่ำกว่าตระกูล คือ พ่อแม่มีศีล ๕ แต่ลูกไม่มีศีล ๕

ในขัตติยสูตร (๑๕/๑๐) พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
"ลูกคนใดเป็นลูกที่เชื่อฟัง ลูกคนนั้น นับว่าเป็นลูกที่ประเสริฐสุดกว่าลูกทั้งปวง"

โดยนัยพระพุทธวจนะ ที่ได้ยกมากล่าวไว้นี้ เป็นเครื่องแสดงว่า พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ดูว่าลูกจะดีหรือชั่ว ที่มีศีล ๕ และการเชื่อฟังพ่อแม่ จากสูตรนี้ เราจะเห็นว่ามันช่าง “สวนทาง” กับความคิดและการกระทำของพ่อแม่ในยุคปัจจุบันเพียงไร พ่อแม่ในยุคปัจจุบันมักมุ่งแต่จะหาเงินไว้ให้ลูก หวังให้ลูกเรียนเก่ง เรียนสูง ทำงานเบา ทำงานมีเกียรติ ได้เงินเดือนสูง ร่ำรวย

ส่วนมากจะไม่สนใจคุณธรรมในตัวของลูกเลย ผลก็คือ พ่อแม่ส่วนมากในยุคนี้ ต้องผิดหวังน้ำตาตก เป็นโรคประสาท ทั้งที่มีเงินทองเหลือล้น ต้องกับพุทธภาษิต (นันทิสูตร ๑๕/๙) ว่า

"คนมีลูก ย่อมเสียใจเพราะลูกคนมีวัว ก็ย่อมเสียใจเพราะวัวเหมือนกัน"
เพราะลูกในยุคปัจจุบัน พากันเป็น "ลูกบังเกิดเกล้า" กันเป็นส่วนมากเสียแล้ว ต้นเหตุ ก็เกิดจาการ "เลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี" นั่นเอง คือมักตามใจลูกในทางผิดๆ เช่น ถนอมลูก ไม่ยอมให้ลูกทำอะไรเลย มีพ่อแม่หรือมีคนรับให้ทำให้เสร็จ ลูกอยากได้อะไรก็ให้ อยากได้เงินเท่าไหร่ก็ตามใจ ประเคนให้ ตามใจลูกทุกสิ่ง ผลหรือ ? ลูกก็เลยกลายเป็นลูกเทวดา ปรารถนาอะไรก็ได้ดั่งใจ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวจัด ใช้เงินเก่งไม่เห็นคุณค่า ของเงินทำอะไรเองก็ไม่เป็น ตีนไม่ติดดิน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ

ทางที่ถูกนั้น ควรมุ่งปลูกฝังคุณธรรม หรือศีลธรรมลงในจิตใจขอลูก เสียแต่เมื่อยังเล็กๆอยู่ เพราะเด็กมีศีลธรรมหรือคุณธรรมในใจ ย่อมเป็นลูกที่มีกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ เคารพและเชื่อฟังพ่อแม่ย่อมทำในสิ่งที่ดีงามนำความชื่นใจและปลื้มในมาให้พ่อแม่ เมื่อระลึกถึงเขา

แต่ถ้าลูกขาดคุณธรรมแล้ว ถึงจะมีความรู้วิชาชีพสูงก็เอาตัวไม่รอด แม้พ่อแม่จะมีฐานะร่ำรวย ลูกมันก็จะผลาญหมด แต่ถ้าลูกเป็นคนดีถึงฐานะจะยากจน ลูกก็สร้างขึ้นมาได้

ถ้าไม่รับปลูกฝังศีลธรรม ลงในตัวของลูกไว้แต่เล็ก ๆ แล้วโอกาสที่ลูกจะเป็นเด็กดีค่อนข้างยาก และจะยิ่งยากมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้เพราะวิทยาการทางวัตถุ ยิ่งเจริญมากขึ้นเท่าไร จิตใจของคนในโลกก็ยิ่งต่ำลงเห็นแก่ตัวมากขึ้น โหดร้ายมากขึ้น

ต้นเหตุที่สำคัญคือ ทุกคนต้องแข่งขันกันมีวัตถุให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมความสุขทางเนื้อหนัง การเอารัดเอาเปรียบกัน ก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
พ่อแม่ก็ต้องออกไปหาเงินเพื่อให้พอใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนพลเมือง โอกาสที่จะเลี้ยงลูกเองแบบเก่าจึงไม่มี สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ก็ยิ่งจะห่างไกลออกไปทุกที

ด้วยเหตุนี้ เพื่อนจึงมีความสำคัญ ที่ลูกมักจะให้ความเชื่อถือมากกว่าพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ที่ดีส่วนมาก มักจะไม่ตามใจลูกในทางที่ผิดเมื่อเห็นลูกทำผิด ก็มักจะตักเตือนหรือดุด่า จนถึงเฆี่ยนตี เป็นต้น

ตรงกันข้ามกับเพื่อน มีแต่คำหวาน ตามอกตามใจแม้ในสิ่งที่ผิดๆ ลูกจึงมักจะรักเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ คนเราเมื่อรักกันแล้วย่อมจะถนอมน้ำใจกัน ก็มักจะพยายามทำอะไร ๆ ตามที่เพื่อนชอบหรือขอร้อง

จุดมืดหรือจุดสว่างของลูก จึงอยู่ตรงนี้เอง ถ้าคบกับเพื่อนที่ดีก็เป็นบุญตัว ถ้าคบเพื่อชั่ว ก็พาตัวพินาศเสียอนาคต กว่าจะรู้สึกตัวก็หมดโอกาสเสียแล้ว

สาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่ลูก ๆ ไม่ให้ความเคารพหรือเชื่อฟังพ่อแม่ก็เกี่ยวกับการประพฤติตัวของพ่อแม่เอง เช่น

-ไม่ให้ความอบอุ่นกับลูก ถือว่ามีเงินให้ใช้ มีข้าวให้กินอิ่มท้องก็เป็นบุญแล้ว ลืมไปว่าคนเรา มีทั้งกายและใจ การให้อาหารก็ควรให้ให้ครบ คือให้ทั้งอาหารกายและอาหารใจ

-ทำตัวอย่างที่ไม่ดี เช่น ติดเหล้า ติดการพนัน ติดผู้หญิง (เมียเก็บ-เมียเช่า) โกง หากินทางผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบสังคมฯ

-ถืออารมณ์มากกว่าเหตุผล เมื่อลูกทำผิดเล็กน้อย ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่โตคอขาดบาดตายใช้อารมณ์ ใช้อำนาจเข้าข่ม ก็จะเอาชนะได้ก็แต่กาย แต่หาได้ชนะจิตใจลูกไม่

- รักลูกตามอารมณ์ คือ ต้องการให้ลูกทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ เช่น ต้องเรียนวิชานั้น ต้องทำงานอย่างนี้ ทำเหมือนลูกไม่มีหัวใจ เหตุเพียงเพราะพ่อหรือแม่ชอบ เป็นต้น

- จู้จี้ขี้บ่น ทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ย่อมไม่ชอบคนจู้จี้ขี้บ่นด้วยกันทั้งนั้น คนฟังมักรำคาญ ส่วนคนบ่นมักไม่รำคาญ พ่อแม่ที่อยากให้ลูกๆ อยู่ใกล้ชิด ควรจะระวังนี้ไว้ด้วย

- เลี้ยงลูกให้ขี้เกียจ คือ กลัวลูกจะเหนื่อยจะลำบาก เลยทำอะไร ๆ แทนเสียหมด ลูกจะทำก็กลัวเสียของ ลูกก็เลยทำอะไรไม่เป็นบางคนโตจนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ซักผ้าของตัวเองก็ไม่เป็น หุงข้าวก็ไม่สุก..ก็เลยกลายเป็น "เลี้ยงลูกไม่ให้โต" ไป

การหาเงินหรือมีเงิน เป็นของดีควรทำ แต่เงินก็เป็นของกลางเป็นสมบัติกลาง ถ้าคนดีก็ใช้เงินให้เป็นคุณ ถ้าคนชั่วก็จะใช้เงินให้เป็นโทษ

ดังนั้น พ่อแม่ที่ดี จึงไม่ควรจะงมโข่ง ก้มหน้าหาแต่เงินลูกเดียว จนลืมปลูกฝังคุณธรรมลงในจิตใจลูก เพราะถ้าลูกมันชั่วแล้วเงินร้อยล้านพันล้าน มันก็ผลาญหมดในไม่ช้า แถมพาตัวเขาให้พินาศด้วย

การเลี้ยงลูกที่ดี ควรใช้หลัก ๔ ขั้น คือ แม่น้ำ ลูกยอ กอไผ่ ใส่เตา

- แม่น้ำ คือ เอาน้ำเย็นเข้าปลอบ พูดจาด้วยภาษาดอกไม้ เชื่อเถอะ ! จิตใจของคนเรามิได้สร้างด้วยหินดอก เมื่อลูกรู้ว่ายังมีคนรักและเมตตาเขาด้วยความจริงใจ ด้วยเหตุผลและความเป็นจริง ไม่ใช้อารมณ์ เขาก็ย่อมจะเชื่อฟังบ้าง

- ลูกยอ คือ ใช้วิธียกย่องชมเชย ในสิ่งที่ลูกมีและทำได้ ให้กำลังใจในการทำความดี ถ้าถลำทำชั่วก็ขอให้กลับตัวใหม่ อย่าประณามกันรุนแรง คนเราทำผิดกันได้ เมื่อผิดแล้วก็ต้องยอมรับและต้องกลับตัวจึงจะถือว่ามีเชื้อของบัณฑิต

- กอไผ่ คือ การใช้เรียวไผ่หวดก้น เมื่อใช้ไม้นวมมาสองขั้นไม่สำเร็จ ก็จะต้องใช้ไม่แข็งกันบ้าง แต่ระวัง ต้องตีด้วยเหตุผลและความเป็นจริง อย่าได้เผลอใส่อารมณ์ (โกรธ) บวกเข้าไปเป็นอันขาด ความหวังดีจะกลายเป็นร้ายไปทันที

- ใส่เตา คือ การเผาหรือฌาปนกิจ เมื่อ ๓ ขั้นไม่สำเร็จ ก็ใช้ไม้สุดท้าย คือคิดว่า "เขาได้ตายจากเราไปแล้ว" ก็ควรจะเผาเขาไปเลยคือต้อง "ทำใจ" ให้ได้
ถ้าเขาเป็นลูกล้างลูกผลาญ ก็ขอให้จบกันเท่านี้ เขาจะขึ้นช้างลงม้าเข้าคุก ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของเขาเถิด

การทำใจในข้อนี้ ถ้าพ่อแม่มีธรรมะในใจต่ำ ก็จะทำไม่ได้ เพราะไม่อาจจะตัดใจได้ แต่ถ้าศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธีแล้ว จะทำได้ง่ายมากนั่นคือ

ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง จะฝืนกฎแห่งกรรมไปหาได้ไม่ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ทรงอยู่ภายใต้กฏแห่งกรรมเช่นกัน การที่เรามีลูกดี ระลึกถึงแล้วมีแต่ความชื่นใจและสบายใจก็เป็นเพราะผลของกุศลกรรม ที่เราทำไว้ ได้มาสนองเรา เกิดจากผลของกรรมดี

การที่เรามีลูกไม่ดี เกิดมาล้างพลาญ ก่อแต่ความทุกข์ และนำแต่ความเดือนร้อนมาให้ไม่รู้จักสิ้นสุดนั้นก็เป็นเพราะ ผลของอกุศลกรรมของเราเองทำไว้ และกำลังให้ผลเราอยู่

ทางที่ถูก เราไม่ควรจะตีโพยตีพาย ซึ่งจะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย นอกจากจะเป็นโรคประสาทหรือเป็นบ้า ควรจะยอมรับความจริง แล้วปฏิบัติไปตามที่ถูกที่ควร ทำไม่ได้ก็วางอุเบกขา ถือว่า "เป็นกรรมของสัตว์"

อย่าไปคิดเปรียบเทียบว่า ลูกคนอื่นเขาไม่เหมือนลูกเรา ก็มัน "กรรมใครกรรมมัน" ต่างคนต่างทำ มันจะเหมือนกัน ได้อย่างไร ?ถ้าเลือกได้ทุกคนก็เลือกเกิดเป็นราชา หรือเศรษฐีกันหมด

ควรจะคิดในแง่ดี และในแง่ของความเป็นจริงว่า เราได้ชดใช้กรรมเก่าเสียแต่ในบัดนี้ก็เป็นการดีแล้ว จะได้หมดเวรหมดกรรมกันไปเสียที ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องไปใช้เขาอีก คิดได้อย่างนี้ เราก็สบายใจ

เท่าที่เห็นมา มีพ่อแม่เป็นอันมาก เลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี หรือไม่อาจจะเลี้ยงได้ เพราะมีปู่ย่า ตายาย หรือญาติคอยให้ท้ายในทางที่ผิด ๆ ลูกก็เลยเสียนิสัย ตามใจตัวเองและเห็นแก่ตัวจัด จนไม่อาจจะแก้ไขได้ ก็เป็นกรรมของลูกด้วย

ทางแก้ไข :

๑. ความกตัญญูและกตเวที เป็นพื้นฐานของคนดี ควรอบรมหรือปลูกฝังก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด ติดตามด้วยความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์อดทน เสียสละ และมีระเบียบวินัย เป็นต้น

๒. ควรเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล อย่าเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ ตามใจในสิ่งที่ถูก ขัดใจในสิ่งที่ผิด ยกย่องเมื่อเขาทำดี ตำหนิหรือลงโทษ เมื่อเขาทำผิด

๓. หัดให้ลูกเป็นคนรับผิดชอบตัวเอง เช่น หน้าที่ การงาน การเงิน เป็นต้น หัดให้เขาใช้ความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ควรชี้แนะไปเสียทุกสิ่ง

๔. ควร "เลี้ยงลูกให้โต" อย่าพยายาม "เลี้ยงลูกให้เตี้ย" เพราะเราไม่อาจตามเลี้ยงเขาได้จนตลอดชั่วชีวิต

๕. คำพูดที่ว่า "จงทำตามฉันสอน แต่อย่าทำตามฉันทำ" ไม่ควรนำมาใช้กับลูก นั่นคือ พ่อแม่ควรเป็นแบบพิมพ์ที่ดีและถูกต้องถ้าจำเป็นต้องทำชั่ว ก็อย่าให้ลูกรู้หรือเห็น เด็กจะเสียกำลังใจในการทำ ความดี และจะถือเป็นข้ออ้างในการทำความชั่ว แม้แต่เรื่องการดื่มสุราหรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น

๖. อย่าห้าม ลูกไม่ให้ทำอะไร ถ้าสิ่งนั้นไม่ผิด หรือไม่เป็นอันตรายเพราะเด็กย่อมอยากรู้และอยากเห็นเป็นทุนอยู่แล้ว ควรให้เขาได้ช่วยงานเรา ตามที่เขาชอบบ้าง

๗. ควรรักลูกด้วยพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้ครบทั้ง ๔ ข้อ อย่าแสดงออกให้ลูก ๆ เห็นว่า พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน (อคติ)

๘. ควรหาโอกาสพาลูก ๆ ไปวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม ให้ทาน รักษา ศีล เจริญภาวนา ตามสมควร โดยเฉพาะก่อนนอน ควรหัดให้ลูก ๆ ไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตา และกราบระลึกถึงผู้มีพระคุณ ๕ ครั้ง แล้วจึงให้นอนได้

๙. อย่าลืมว่า เรามีหน้าที่เลี้ยงลูกให้ดีเท่านั้น ถ้าเขาไม่รักดีก็เป็นกรรมของเขาเอง ทุกคนไม่อาจจะฝืนกฎแห่งกรรมของตนเองได้

อ้างอิง : หนังสืออภิมหามงคลธรรม หน้า ๒๘๑ ถึง ๒๘๗



Create Date : 08 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 9:32:38 น.
Counter : 913 Pageviews.  

วิธีดับทุกข์ เพราะ...บุญ









 







วิธีดับทุกข์ เพราะ...บุญ




เมื่อเห็นหัวเรื่องนี้ หลายท่านคงจะเกิดความสงสัยขึ้นมาตะหงิด ๆ ละสิว่า มีด้วยหรือทุกข์เพราะบุญ ? ขอตอบว่า มี และมีอยู่ทั่วไปเสียด้วย

เอ๊ะ ....ก็ไหนว่าบุญเป็นชื่อของความดี หรือความสุข ไฉนการทำบุญจึงต้องมีความทุกข์ด้วยเล่า ? เอ...ชักจะเขียนเลอะเทอะเสียแล้ว กระมัง ? ไม่หรอก ! ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เกิดจาการ เราทำไม่ถูกบุญ และไม่ถึงบุญด้วยมันจึงเกิดความทุกข์ขึ้น เช่น

- อยากสร้างพระพุทธรูป สร้างศาลา สร้างกุฏิ สร้างพระไตรปิฎก สร้าง..แต่ท่านสมภารไม่ต้องการ จะเป็นเพราะมีมากแล้วหรือเหตุใดก็ตาม
- อยากไปทำบุญวัดนี้ แต่ไม่ชอบหน้าท่านสมภาร หรือพระลูกวัดบางรูป จะไปทำวัดอื่นก็ไม่มี หรือมีแต่อยู่ไกล
- อยากให้วัดข้างบ้านมีการศึกษาและปฏิบัติธรรมและนำมาสอนชาวบ้านบ้าง แต่ก็ไม่มีตามต้องการ
- อยากให้พระท่านต่อชะตา ต่ออายุ เป่าหัวให้โชคดี ผูกดวงให้ท่านก็ไม่ทำให้
- อยากไปวัด แต่ก็เบื่อการรีดไถ การก่อสร้าง หรือการเรี่ยไรบอกบุญทั้งปีของวัด
- อยากทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็ทำไม่ได้ เพราะยากจน ต้องไปทำงานทุกวัน อยาก ฯลฯ

ความอยากอะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้สนองความอยาก มันก็เป็นความทุกข์ชนิดหนึ่ง ท่าน พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ ท่านว่าเป็น "ความทุกข์ของนักบุญ" คือทุกข์เพราะอยากทำดี แล้วไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้
ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เกิดจากความไม่เข้าใจ ในเรื่องของการทำบุญนั่นเอง ถ้ารู้จัก "ตัวบุญ" อย่างถูกต้องและแท้จริงแล้ว การทำบุญก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายดายยิ่งกว่าการพลิกฝ่ามือคว่ำหรือหงาย ไม่ต้องใช้เงินและใช้เวลา หรือแรงงานเสียด้วยสิ

ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร (๒๒/๒๑๕) พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องการทำบุญไว้ ๓ ประการคือ
๑. บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยทาน
๒. บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยศีล
๓. บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยภาวนา

ส่วนในอรรถกถา ท่านได้ขยายออกไปอีก ๗ ประการ คือ
๔. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการ ประพฤติอ่อนน้อม)
๕. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการ ขวนขวายรับใช้)
๖. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการ ให้ความดีแก่ผู้อื่น)
๗. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการ ยินดีบุญของผู้อื่น)
๘. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการ ฟัง-อ่านธรรมะ)
๙. ธัมมัสเทสนามัย (ทำบุญด้วยการ สั่งสอนธรรมะ)
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการ ทำความเห็นให้ตรง)
หลักการทำความดีในพุทธศาสนา ทั้งหมดมีอยู่ ๓ พวกใหญ่ๆ คือทาน ศีล และภาวนา แม้จะขยายออกไปอีก ๗ ข้อ ก็ไม่มีทาน คือ ไม่ต้องใช้วัตถุสิ่งของหรือเงินเลย

ผู้ที่อยากทำโน่นทำนี่ แล้วไม่ได้ทำนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของทาน ถ้าเป็นการทำบุญด้วยศีล ด้วยภาวนาและต่อไปอีก ๗ ข้อแล้ว ก็เกือบไม่ต้องใช้เงินเลย เช่น

การรักษาศีล ทำที่ไหนก็ได้ ทำวันไหนก็ได้ รักษาศีล ๘ ไม่ได้ ก็เอาแต่ศีล ๕ ไปก่อน ก็ดีมากแล้วสำหรับชาวบ้าน ไปรับกับพระที่วัดไม่ได้ ก็ตั้งใจเจตนางดเว้นเอาเอง หรือรับทางวิทยุอยู่กับบ้านก็ได้
- การเจริญภาวนา ด้วยการทำสมาธิ- วิปัสสนา ศึกษาวิธีการและความหมายให้เข้าใจ แล้วจะทำที่ไหนก็ได้ จะนั่งทำ เดินทำยืนทำหรือนอนทำ
- อีก ๗ ข้อต่อไป ไม่ไปวัดไม่ต้องหยุดงานก็ทำได้ ไม่มีอะไรขัดข้อง ถ้าเราตั้งในจริงที่จะทำ

ชาวพุทธส่วนมากมักจะติดอยู่แต่ทานเห็นคนอื่นเขาทำกันโครม ๆ ก็อยากจะทำตามเขาบ้าง แต่วัตถุมันไม่อำนวยก็เลยมีความทุกข์ใจ น้อยใจในวาสนาของตน

การทำบุญหรือทำความดี ในทางพุทธศาสนานั้น จะต้องไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน จึงจะถือว่าเป็นบุญด้วยการรักษาศีล และเจริญภาวนาก็ได้ แถมเป็นบุญที่สูงกว่า และประเสริฐกว่า ชนิดเทียบกันไม่ได้เลยเพราะสามารถตัดเวรภัย ทำให้หมดภพชาติ และดับทุกข์สิ้นเชิงได้ด้วย

ดังนั้น ชาวพุทธที่ดี จึงไม่ควรที่จะติดอยู่ในขั้นใดขั้นหนึ่ง ไม่ว่า ใน ๓ ขั้นหรืออีก ๗ ขั้นก็ตาม การอ้างว่าไม่มีเงินไม่มีเวลา แล้วไม่ไปทำบุญ เป็นการอ้างของคนปัญญานิ่ม ไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง หรืออย่างถูกต้อง

แต่ว่าก็ว่าเถอะ คนที่ชอบอ้างที่ว่านี้ส่วนมากก็เป็นคนไม่ชอบไปวัดไปว่า ไม่สนใจธรรมะธัมโมอยู่แล้ว แต่ยังเกรงคนอื่นเขาจะไม่มีศาสนาก็เลยยกเอางานและเงิน มาเป็นกำแพงกั้นแบบ "ขายผ้าเอาหน้ารอด"ไว้ก่อน

ทางแก้
๑. หลักใหญ่ของคำสอนทางพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ขั้น คือ ทาน ศีล ภาวนา ควรทำให้ครบทั้ง ๓ ขั้น ถ้าขั้นไหนทำไม่ได้ทำไม่สะดวกก็ควรจะเลื่อนไปทำในขั้นต่อไป ไม่ควรย่ำเท้าอยู่กับที่ เพราะจะไม่ได้พบสิ่งสูงสุดในพุทธศาสนา
๒. พุทธศาสนาให้อิสระเสรีในการทำความดี ไม่มีขีดขั้น พอใจทำก็จงทำ ไม่พอใจหรือไม่นับถือ ก็ไม่ต้องทำ ไม่ต้องนับถืออย่าเอาข้ออ้างมาเป็นฉาก
๓. การทำความดีหรือทำบุญ ควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่าเห็นแก่หน้าหรือค่านิยม จะได้บุญแรง
๔. ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ทำงาน ถ้ารู้จักตัวบุญแล้ว จะทำบุญได้ทุกที่ทุกเวลา
๕. บุญยอดบุญ คือ การทำให้จิตใจสงบและเย็น ด้วยการเจริญสติสมาธิและวิปัสสนา

อ้างอิง : หนังสืออภิมหามงคลธรรม หน้า ๒๙๓ ถึง ๒๙๖



Create Date : 08 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2551 16:34:51 น.
Counter : 1819 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

lcelcy
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




มิถุนายน เดือนดี๊ดี " จุดกำเนิด iceicy's blog Dhamma"
ครบรอบ ๗ ปี แล้วค่ะ"

คนมาจากไหน?
เริ่มจาก เกิด แก่ เจ็บ และก็ตาย
คนก็หายไป !!...แต่ความดีไม่เคยหายไปด้วย..
ทุกคนจำวันเกิดตัวเองได้ไหม... ก็คงจำได้กันหมดอะน่ะ
เคยคิดจะทำอะไรดีดี....
ให้กับตัวเองและคนอื่น..ในวันครบรอบวันเกิดของตัวเองไหมค่ะ?

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ (๗ ปีได้ผ่านมาแล้ว)
ฉันได้ทำสิ่งที่ชอบ และชอบในสิ่งที่ฉันได้ทำ
สิ่งนั้น คือ " บล๊อกเกี่ยวกับหลักธรรมข้อคิดต่างๆ "
เริ่มจากทำไม่เป็น ลองผิดลองถูก ทำจนสำเร็จ
ทั้งนี้ ขอขอบพระคุณ " กำลังใจ " คนรอบข้าง
และทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม iceicy's blog Dhamma น่ะค่ะ
(ซึ้งน่ะซึ้งน่ะเนี่ย!!!!)
<

วัตถุประสงค์ iceicy blog Dhamma
1. เพื่อเผยแพร่และสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับประเทศไทย
2. เพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา
3. เพื่อแบ่งปันความรู้ทางพระพุทธศาสนา และแลกเปลี่ยนข่าวสารทั่วไป
4. สรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง

Google



Link to us:
ท่านสามารถนำ code ของ banner นี้
ไปติดที่เว็บของท่านได้ตามสะดวกน่ะค่ะ
ขอขอบคุณและขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วยน่ะค่ะ

Iceicy blog dhamma



New Comments
Friends' blogs
[Add lcelcy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.