Iceicy Blog Dhamma หน้าแรก หลักธรรม ปรัชญา ท่องเที่ยวธรรม เก็บตกธรรม บทสวดมนต์ บทเพลงธรรม เว็บบอร์ด iceicy ไอที ไดอารี่
Link to us:
Group Blog
 
All blogs
 

ประโยชน์สุข เมื่อเข้าใจเรื่องกรรม









 




ประโยชน์สุขเมื่อเข้าใจเรื่องกรรม




เมื่อเราเข้าใจในเรื่องของผลกรรมหรือการทำชั่วทำเลวแล้ว
ผลประโยชน์ที่จะได้จากการอยากลด ละ กรรมก็จะนำความดีงาม
และความสุขมาสู่ชีวิตของท่านดังต่อไปนี้



๑. มีความมั่นคงในการทำความดีต่อผู้อื่นทั้งกาย วาจา ใจ

๒. มีความเพียรที่จะละเว้นการทำชั่ว ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา ใจ

๓. รู้จักให้อภัยผู้ที่กระทำให้เราเดือดร้อน

๔. เมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรม เราก็จะสามารถคลายความคับแค้นใจให้ตนเองได้ด้วยวิธีคิดในแง่บวก

๕. ใครทำอะไรให้เรายุ่งยากเดือดร้อนก็จะสามารถระงับความโกรธได้

๖. แม้คนที่ประพฤติชั่วทำตัวเลว เราก็สามารถให้ความเมตตา สงสารเขาได้ ไม่คิดแต่ชิงชังเขา

๗. หมั่นทำกุศล ลด ละ การทำผิดบาป ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

๘. คิดดีทำดีกับทุกคน ไม่เป็นศัตรูกับใคร

๙. คิดดีทำดีกับทุกคน เป็นมิตรกับทุกๆ คน

๑๐.ไม่คิดฟุ้งซ่านไร้สาร ใส่ใจแต่ในสิ่งที่ดี สนใจในหลักการ ของสัจธรรมชีวิต


ที่มา :

หนังสือ ลดกรรม สั่งสมบุญ หน้า ๖๓


Create Date : 10 ตุลาคม 2552    
Last Update : 10 ตุลาคม 2552 13:25:11 น.
Counter : 1118 Pageviews.  

ยามไหนก็ได้ - ท่านพุทธทาส








 




ยามไหนก็ได้

โดย วาทะธรรม ท่านพุทธทาส




ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์
ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี
ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี
ถ้าอย่างนี้ ไม่มีทุกข์ ทุกเมื่อเอยฯ

ที่มา :

หนังสือ วาทะธรรม ท่านพุทธทาส หน้า ๑๑๘


Create Date : 04 เมษายน 2552    
Last Update : 4 เมษายน 2552 23:14:03 น.
Counter : 2231 Pageviews.  

ใจนี้สำคัญ - หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ








 




เรื่อง ใจนี้สำคัญ

โดย หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ




การภาวนานี้ทำให้เราได้รู้สึกในตัวเราว่าใจอยู่ในลักษณะสงบหรือไม่สงบอย่างใด
การที่เราภาวนาถูกต้องนั้น ต้องรู้เรื่องของใจเราเป็นหลัก ไม่ได้ไปรู้เรื่องอย่างอื่น

การที่เราว่าสงบ อันนั้นแหละ..เราก็พยายามจับหลักความสงบ เช่น
รู้ความคิดนึกปรุงแต่งได้ตลอดเวลา ความสงบก็จะมีขึ้น จึงว่าใจนี่สำคัญ

ถ้าเรารู้ใจตัวเองได้แล้วก็ไม่มีอะไรแล้ว ความทุกข์ ความสุขก็ยกไว้ให้ที่ใจของเรา
เราก็ต้องอาศัยพิจารณา การภาวนานี้ทำให้เราเข้าใจธรรมะ เข้าใจความรู้สึก
ของเราให้มากขึ้น ว่าใจเรานั้นมีอารมณ์อย่างใดที่มันหนักไปในทางไหน

ถึงกายจะสงบ แต่ที่จริงใจก็ยังไม่สงบ ใจยังคิดยังปรุงแต่ง ก็พยายามควบคุมใจ
จนกว่าใจนั้นจะเคยชิน ถ้าใจเคยอยู่กับความสงบซะเคย มันก็อยากจะสงบยิ่งๆขึ้น

อันนี้เราต้องฝึกใจจนรักสงบ ทำเมื่อไรก็ให้สงบ เมื่อนั้น คือควบคุมใจตัวเองเป็น
เรียกว่าชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการเข้าออก ชำนาญในการนึกน้อม
ประโยชน์ก็จะได้อย่างมาก

ที่มา :

หนังสือ "จิตเป็นหนึ่ง" โดย หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ หน้า ๖


Create Date : 24 มีนาคม 2552    
Last Update : 24 มีนาคม 2552 0:12:41 น.
Counter : 1805 Pageviews.  

ความสุขพื้นฐานในการดำเนินชีวิต








 




ความสุขพื้นฐานในการดำเนินชีวิต



ความสุขพื้นฐานในการดำเนินชีวิต
๑๙ ก.ค. ๒๕๕๑
สำนักปฏิบัติธรรมสวนแก้ว ราชบุรี
นริศ เมธีประภัสสร


เกริ่นนำ
เรื่องที่เคยพูด ครั้งก่อน ยาระงับสรรพโรค
วันนี้ ขอบรรยาย เรื่องความสุขพื้นฐานในการดำเนินชีวิต : ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ


พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ”
นั่นก็หมายความว่าถ้าไม่มีโรคชีวิตก็มีความสุขประมาณหนึ่ง
โรคทางพระพุทธศาสนามีกี่ประเภท
โรคทางกาย กายิกโรค หรือ กายิกทุกข์
โรคทางใจ เจตสิกโรค หรือ เจตสิกทุกข์
ดังนั้น ความหมาย ของทุกข์ กับ โรค เป็นความหมายเดียวกัน คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
ความหมายของโรค หรือ ความทุกข์ทางพระพุทธศาสนา
ทุกข์ในพระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร
ความทุกข์ทางกายเป็นอย่างไร
ความเกิด ความแก่
ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน เป็นต้น
ความทุกข์ทายใจเป็นอย่างไร
ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความประสบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ทั้งหลาย
กล่าวโดยสรุป อุปาทานขันธ์ ทั้ง ๕ นั้น คือ การยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้น เป็นทุกข์ เป็นโรค

พระพุทธศาสนาจำแนกทุกข์ที่ทนได้ยากไว้ ๓ ประเภท (เฉพาะทุกข์ที่เกี่ยวกับกายและใจ)
๑. พยาธิทุกข์หรือ ทุกขเวทนา เป็นทุกข์ เป็นโรคทางกาย
๒. สันตาปทุกข์ ทุกข์ คือ ความรุ่มร้อน กระวนกระวาย เพราะถูกไฟคือกิเลสเผากิเสสทั้ง ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ จัดเป็นทุกข์ทางใจ หรือเป็นโรคทางจิต
๓. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์เบ็ดเตล็ด ทุกข์ที่จรเข้ามา ความเศร้าโศก (โสกะ) ความร่ำไรรำพัน (ปริเทวะ) ความทุกข์ (ทุกขะ) ความเสียใจ (โทมนัส)
ความคับแค้นใจ (อุปายาสะ) ความประสบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักทั้งหลาย ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ก็เป็นทุกข์
จัดเป็นทุกข์ทางใจ หรือเป็นโรคทางจิต ทุกข์ประเภทนี้ อาจก่อให้เกิดโรคจิต โรคประสาท โรคเก็บกด โรคซึมเศร้าได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว รากเหง้าของโรค หรือสมุฏฐานของโรค หรือว่าสาเหตุของโรคก็มาจาก ราคะ โทสะ โมหะ

สถานการณ์ปัจจุบัน
มนุษย์เรามีโรคมาก มีทุกข์มาก
เพราะพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ชีวิตมีความต้องการสูงมาก
มีความต้องการความพร้อม
ครอบครัว
สังคม
เศรษฐกิจ
จึงเกิดความเครียด เป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ เป็นสาเหตุของโรค

ความเครียด คือโรคทางพระพุทธศาสนา
ความเครียด เกิดจากการไม่ได้ ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ (โรคราคะ)
เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการก็ทำให้เกิดความโกรธ (โรคโทสะ)
เมื่อเกิดความโกรธทำให้คิดอะไรไม่ค่อยออกมีโอกาสให้ทำความผิดได้ง่าย (โรคโมหะ)
สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ ทำให้เกิดโรค
จิตจึงเศร้าหมอง
บางครั้งโรคทางกายทำให้เกิดโรคทางจิต
บางครั้งโรคทางจิต ก่อให้เกิดโรคทางกาย
ดังนั้นควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพจิตให้ดี

ธรรมชาติของจิต
๑. จิตดิ้นรน แกว่งไกว ป้องกันได้ยาก ห้ามยาก
๒. จิตดิ้นรนเหมือนปลา โยนไปบนบกมีแต่จะดิ้นรนลงน้ำถ่ายเดียว
๓. จิตควบคุมได้ยาก เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ใฝ่ไปในอารมณ์น่าใคร่ น่ารัก
๔. จิตเห็นได้ยาก ละเอียดอ่อน เป็นต้น

วิธีรักษาจิต
๑. การฝึกจิต (การฝึกจิตเป็นการดี)
๒. ทำจิตของตนให้ตรง (คนฉลาดทำจิตของตนให้ตรง)
๓. รักษาจิตของตน เหมือนคนประคองบาตรที่เต็มด้วยน้ำมัน
๔. เป็นผู้ฉลาดในกระบวนของจิต คือ ต้องรู้ใจของตน
๕. ตามรักษาจิตของตน

ผลดีของการฝึกอบรม รักษาจิต
๑. ไปสุคติ (เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติอันหวังได้)
๒. จิตที่ฝึกอบรมดีแล้วย่อมนำสุขมาให้
๓. จิตที่คุ้มครองดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้
๔. ผู้มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ ไม่มีโทสะกระทบจิตใจ ละบุญบาปได้แล้ว ตื่นอยู่ย่อมไม่ภัย
เป็นต้น

ผลเสียของการไม่ฝึกจิต
๑. ไปทุคติ
๒. ผู้ประพฤติตามอำนาจจิต ย่อมลำบาก
๓. ปัญญาไม่สมบูรณ์
จากที่กล่าวมา เรื่องความสุขพื้นฐานในการดำเนินชีวิต : ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

พอจะสรุปได้สั้นๆว่า ให้เราดูแลสุขภาพจิตให้ดีไม่ให้เกิดโรค ไม่ให้เกิดทุกข์
ใช้สติในการฝึก ควบคุมจิต
เมื่อจิตได้รับการฝึกดีแล้วย่อมมีสติ
เมื่อมีสติ ก็ไม่ประมาท
เมื่อไม่ประมาท จิตก็ตั้งอยู่ในความดี
เมื่อมีความดี ใจก็ผ่องใส
เมื่อใจผ่องใส ก็พบความสุข
ตรงกับโอวาท ๓ ประการ ซึ่งเป็นหัวใจของคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ
ไม่ทำบาปโดยประการทั้งปวง
ทำแต่ความดี
ทำใจให้ผ่องใส
ย่อลงให้เหลือ ๑ ก็คือ ไม่ประมาท หรือ มีสตินั่นเอง

สรุป :
อย่าลืมว่า ให้มีสติรู้เท่าทัน เรื่องโรคทางกาย โรคทางใจ
คำว่ารู้เท่าทัน ก็คือ รู้แจ้งและเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิต
นั่นคือเห็นว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของ ของเราตลอดไป
เมื่อรู้แจ้งในความเป็นจริงในธรรมชาติของชีวิตแล้ว ย่อมยอมรับได้กับเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นทั้งกาย และใจของเรา
ดังนั้น เมื่อเราเข้าใจ ความเกิดขึ้นของทุกข์ หรือความเกิดขึ้นของโรค ที่เกิดขึ้นกับเราแล้ว เราก็ดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข


Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2552 1:46:11 น.
Counter : 1993 Pageviews.  

ถ้าปราศจากความรักและความอยากเสียแล้ว เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?









 








iceicy : ถ้าท่านปราศจากความรักและความอยากเสียแล้ว .... ท่านจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร? ลองมาหาคำตอบกันดูซิค่ะ



สุขในชั้นกลาง
คัดลอกจากหนังสือคำพระสอน : วาทะธรรมท่านพุทธทาส หน้า ๘๓-๙๐



เมื่อเขยิบสูงขึ้นมาถึงชั้นนี้ ตัวความสุขได้แก่ ความคายออก เสียได้ซึ่งการยึดถือเอาด้วยความกำหนัดรัก อันมีอยู่ในสิ่งที่ยั่วยวนในโลกนี้, ตลอดถึงสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ตามธรรมดา

บรรดาสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ จะเป็นพวกรูปธรรม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือที่เป็นพวกนามธรรม เช่น ยศศักดิ์ สรรเสริญ ก็ดี ที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดรักนั้น เป็นเหมือนเหยื่ออันหุ้มเบ็ดไว้; ความสุขอันเกิดจากสิ่งนี้จึงเป็นสุขปลอดไม่จีรังยั่งยืน, เป็นเพียงความเพลิน หรือสุขที่เป็นไปกับด้วยเหยื่อพระพุทธองค์จึงไม่ทรงยกขึ้นเป็นความสุข เพราะทรงหมายเฉพาะสุขที่แท้จริง คือ ไม่มีเหยื่อล่อ ซึ่งอย่างต่ำที่สุดได้แก่ ความไม่เบียดเบียนกัน และข้อนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เราหยั่งทราบน้ำใจของท่านผู้เป็นพระอริยเจ้าได้อย่างดีว่า ท่านเพ่งมองความสุขกันโดยเหลี่ยมไหน

สิ่งที่น่ารัก น่าฟูใจ ทั้งหลาย ที่เรียกกันว่า กามคุณ เป็นเหตุให้เกิดความสุข แต่ต้องอาศัยความกำหนัด ความรัก ความยั่วยวน ความพอใจ เข้าช่วย จึงจะเป็นความสุขไปได้ เมื่อมีความสมหวังแล้วก็เคยชิน เบื่อ และแส่หาใหม่สืบไป จึงเป็นของเผาลนอยู่เสมอ, และชั่วขณะเหมือนของยืมผู้อื่นเขามา

และเมื่อกำลังเมามัวหลงรักอยู่ ก็ต้องอุทิศหัวใจตนให้เป็นเหมือนเขียงรองสับเนื้อ ยอมรับทุกๆ ประการ เพื่อบำรุงบำเรอของรักจนกว่าจะเบื่อหน่าย, และพร้อมกันนั้น ยังเป็นทางเกิดขึ้นแห่งความหึงหวง อิจฉา ริษยา ซึ่งเป็นเครื่องเผาลนอีกเป็นอย่างมาก

และยิ่งในเมื่อยังไม่ได้ ยังกำลังปรารถนาจ้องมองอยู่แล้วดูเหมือนว่าภายในใจจริงนั้น มิได้มีมนุษยธรรมอาศัยอยู่เลย เพราะบรรจุเต็มไปด้วยไฟฟ้า คือ ทะยานอยากและการคำนึงหาอุบายที่จะให้ได้สมอยากเท่านั้น

แต่ว่าความรู้สึกทั้งสามอย่างนี้ มักไม่มีใครมองในแง่ร้าย; กลับมองไปในแง่ดี คือ เห็นเป็นความสามารถบ้าง, ความอุตสาหะบ้าง, และอะไรต่ออะไรอีก ตามที่นิยมกันในหมู่ชนผู้มีความรู้สึกอยู่ในระดับเดียวกัน, ไม่ว่า แก่ หนุ่ม นักศึกษา หรือมิใช่นักศึกษาก็เป็นได้เสมอกันและกล่าวกันว่าเป็นความสุขทั้งที่มันเผาลนอยู่นั่นเอง ส่วนพระพุทธองค์ทรงหมายอาการตรงกันข้าม คือ ความไม่เผาลนเพราะกามคุณว่าเป็นความสุข

การมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่กำหนัดรักในสิ่งที่น่ารัก เป็นความเยือกเย็น เป็นชีวิตที่มีญาณทัศนะ คือ ความรู้จักกามคุณอย่างชัดเจนจริง เป็นผู้นำ มิใช่ตัณหาเป็นผู้นำ การรู้จักกามคุณ คือ รู้ว่ามันเกิดมาจากอะไร มันเคลือบหุ้มอยู่ด้วยอะไร จึงชนะใจคนเป็นจำนวนมากได้ มันจะไม่มีพิษสงเมื่อเรารู้จักมันให้ซาบซึ้งอย่างไร, หรือกล่าวสรุปอย่างสั้นๆ ว่า ความจริงมันคืออะไรกันแน่ เมื่อรู้จักมันดีแล้ว จะทำให้ไม่อยากจน ลืมตัว หรืออย่างต่ำที่สุด ก็ไม่กลืนลงไปทั้งเบ็ด ด้วยอาการฮุบเอาอย่างไร้ความรู้สึก เพราะฉะนั้นจึงเป็นความสุขที่บริสุทธิ์ สะอาด จืด และเย็นอย่างยิ่ง เป็นอิสระอย่างยิ่ง

ความกำหนัดรัก เป็นบ่อเกิดของความโศก ความกลัว ความระแวง ความอาลัย ความสะดุ้ง ความหึง ฯลฯ; เพราะฉะนั้นในนาทีแห่งความรัก ก็คือ นาทีแห่งความชั่วร้ายที่ออกนามมาแล้ว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ในทำนองอันตรงกันข้าม นาทีแห่งความจืดสนิทจากความรัก ก็คือ นาทีแห่งความโปร่งโล่ง เยือกเย็นของใจนั่นเอง

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การชนะความรักเป็นความสุข ผู้แพ้ความรักต้องทำงานให้ความรักทั้งหมด เพราะในขณะนั้นตนของตนเองไม่มี ผู้ที่พยายามในความรักจนสำเร็จสมหมายก็คือ ผู้ที่แพ้ความรักตลอดเวลา จนหมด ไม่มีอะไรจะแพ้อีกสำหรับความรักเรื่องนั้น

ชีวิต หรือคนเรา ก็คือ ลูกบอล หรือลูกกอล์ฟ ซึ่งมีความอยาก, ความโง่, อุปาทาน เป็นผู้ตีให้กลิ้งไปกลิ้งมาในสนาม กล่าวคือ วัฏสงสาร จะเป็นสุขหรือสนุกอะไร ในการเป็นลูกบอล; แต่ถึงกระนั้น เราก็ไม่รู้สึกเกลียด เพราะเรายังไม่รู้จักว่ามันกำลังเป็นไปอย่างไรกันนั่นเอง เรายังคิดปัญหาชีวิตของเราไม่ได้เลยว่า คนเราคืออะไร? เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องกระดอนไปกระดอนมา โลดๆ เต้นๆ ไปตามที่เรานึกอยากสนุกเหมือนรับประทานแกงที่ทั้งอร่อยและเผ็ดยิ่งกว่าเผ็ด, จนกว่าเราจะรู้จักดีว่า กามคุณ หรือสิ่งที่ยั่วยวนความอยากนั้นคืออะไรกันแน่

เราลืมตาขึ้นมาในโลกนี้และพบ “กามคุณ” ในฐานเป็นสิ่งที่เรารู้จักมันแต่เพียงว่าเป็น “สิ่งที่น่ารักจริงๆ” เท่านั้น เราไม่เห็นและไม่ทราบว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไร เพื่ออะไร มีอะไรแฝงอยู่ข้างใน, เป็นต้น จึงติดเบ็ด หมดอิสรภาพ ไม่มีส่วนเหลือแม้แต่นิดเดียว

พระองค์จึงตรัสว่า “ความอยาก ดึงจูงไปได้รอบๆ ซึ่งคนเรา” หมายความว่า เราแพ้โดยประการทั้งปวง ต่อเมื่อชนะสิ่งที่น่ารัก เป็นอิสระ มีตนเป็นของตน (มิใช่ตนของความอยาก) เมื่อนั้นจึงจะเยือกเย็น ไม่เผาลน, ไม่ชอกช้ำ เหมือนเขียงสับเนื้อ, และนั่นคือ ความสุข, ความสุขที่พระพุทธองค์ทรงหมายถึงในขั้นนี้ของวีรบุรุษที่ชนะคนทั้งโลก แต่อาจมาแพ้ผู้หญิงคนเดียว ก็เพราะตนของตนไม่มี, มีแต่ตนของความอยาก เพราะฉะนั้นตนของความอยากจึงไม่ใช่ตนอันแท้จริง, ตนของความไม่อยากต่างหากเป็นตนอันแท้จริง เหตุนั้นในหมู่ชนผู้ยังมีตัวตน คือ ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังถือลัทธิมีตัวตน จะต้องยึดถือเอาตัวตนให้ถูกต้อง จึงจะได้ตัวตนที่เยือกเย็น เป็นที่พึ่งแก่ตนได้

ข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” ก็หมายถึงตัวตนอันแท้จริงนี้, เพราะตัวตนที่เป็นของความอยากย่อมมอบทุกข์ให้ตนโดยส่วนเดียวร่ำไป การคายออกเสียซึ่งความกำหนัดรักที่เราเคยมีไว้สำหรับรักและอยาก จึงเป็นทางแห่งความสุข, และการคายออกเสียได้ ก็คือ ความสุขอันเยือกเย็น อย่างแน่แท้

เราจะเป็นผู้ชนะความอยากได้ ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมตามหลักแห่งพระพุทธโอวาท ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งจากเรื่องนี้ ซึ่งรวมความสั้นๆ ได้ว่า ความมีสติระลึกได้ทันท่วงที ก่อนแต่จะพบกันเข้า หรือกำลังพบกันอยู่กับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความอยากนั้นๆ , เพื่อเป็นผู้ไม่หลงใหลมืดมน จนจิตบังคับจิตและกายไว้ไม่ได้ ซึ่งเราเรียกกันว่า บังคับตนไว้ไม่ได้ ถึงกับยอมมอบตนให้ไปเป็นสิทธิ์แก่อารมณ์นั้น

เมื่ออยู่ในที่เฉพาะหน้าอารมณ์ เราทำบทเรียนแห่งการข่มจิตวางเฉย กำหนดจิตไว้ โดยประการที่ความรู้จักผิดชอบชั่วดียังคงมีอยู่ในจิต หรือถึงกับความเยือกเย็นยังคงมีอยู่ในจิต

ในที่ลับหลังอารมณ์ เราจะปลูกมโนคติเป็นอารมณ์ต่างๆ แล้วพิจารณามันไปโดยละเอียด ในสายแห่งความจริง จนเห็นทะลุเข้าไปถึงความที่มันเป็น “ดอกไม้แห่งผู้ล้างผลาญ” คุณความดีหรือธรรมชาติฝ่ายสูง” ซึ่งเป็นเหยื่อล่อดึงเราไปเป็นการพล่าเวลาอันมีค่าของเราให้สิ้นเปลืองไปด้วย ความมัวเมาเป็นชาติๆ จนเป็นผู้ชนะอารมณ์ หรืออย่างที่กล่าวเป็นบุคคลอธิษฐานว่า “ทำพญามารเจ้าของดอกไม้ ให้หมดอุบายที่จะล่อลวง จนต้องนั่งกอดเข่า” ดังนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ก้าวล่วงเสียซึ่งอารมณ์ และนั่นคือ ความสุขที่แท้จริงขั้นหนึ่ง แต่จะเป็นที่แจ่มแจ้งและที่ปรารถนาของคนทั่วไปได้ หรือไม่นั้น ได้แสดงเหตุผลไว้ข้างต้นแล้ว

ดังกล่าวมาแล้วนี้ คงชวนให้เกิดปัญหาว่า ถ้าปราศจากความรักและความอยากเสียแล้ว เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร? คำตอบคือ ก่อนนี้ ชีวิตเราถูกความอยากขึ้นนั่งบัลลังก์เป็นนายก หรือผู้บัญชาการ เราทำทุกอย่างด้วยความอยากบังคับ, หรือมิฉะนั้น ก็คลุกเคล้าไปด้วยความอยาก แต่เดี๋ยวนี้เราจะให้ความรู้สึกชนิดที่ดีงาม เช่น ความรู้จักหน้าที่ของชีวิต ความรู้จักหนี้ธรรมชาติ ความกตัญญูกตเวที ความเมตตากรุณา ความเคารพตนเอง และประชาชนเหล่านี้ เป็นต้น เป็นผู้นั่งบัลลังก์แห่งชีวิตประจำวันของเรา : ในขณะที่ทำงานอาชีพหรือหนาที่ก็ดี ในเวลาบริโภคผลของงาน หรือเวลาพักผ่อนหย่อนใจเล่นสนุกก็ดี, โดยเราปราบปรามตัวความทะเยอทะยานอยาก เหวี่ยงลงมาเสียจากบัลลังก์ตำแหน่งผู้บงการในใจเรา

เราจะเห็นได้ง่ายในระหว่างคนสองคน คนหนึ่งกินอาหารด้วยความอยาก หมายถึง อยากในรส หรือรสตัณหา ไม่ใช่ความหิวตามธรรมชาติ, ต้องมีพิธีประดักประเดิด ใส่นั่นเติมนี่, ทำอย่างนั้นอย่างนี้ มีมารยาสาไถยในการกิน, คนครัวหรือบุตรภรรยาถูกด่าว่า แดกดัน

อีกคนหนึ่ง กินอาหารเพียงด้วยความรู้สึกถึงหน้าที่บริหารกายตามธรรมชาติ แม้อาหารจะเลวทราม จืดชืดเพียงไร ก็บริโภคได้อย่างเยือกเย็น หากเป็นสิ่งที่เนื่องมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนครัว คนใช้ อย่างมากก็จะเพียงแต่ถูกเรียกมารับคำสั่งสอน ชี้แจง ด้วยวาจาอันอ่อนหวานไม่มีการสาดเท หรือแดกดันดุด่าอย่างอื่นใด นี่ก็เป็นเครื่องแสดงว่า แตกต่างกันเพียงไรในระหว่างการกินด้วยความอยาก และการกินด้วยความรู้สึกที่ดีงาม ดังกล่าวแล้ว

ในการเล่น หรือแม้การงานอันเป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นหัวหน้า ก็อย่างเดียวกัน ซึ่งเราจะต้องระวังในการเคลื่อนไหวทุกๆ อิริยาบถ อยู่ในความควบคุมของความรู้สึกที่ดีงามต่างๆ ชนิดเหล่านั้นเสมอ อย่าให้ความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ โผล่ขึ้นนั่งเหนือหัวใจเป็นอันขาด การงานนั้นจะดำเนินไปด้วยดี หลีกเลี่ยงอุปสรรคและความผิดพลาดได้คล่องแคล่ว; เนื่องจากความรู้สึกที่ดีงามเหล่านั้นย่อมเรียกร้องมาซึ่งคุณสมบัติอย่างอื่นๆ เช่น ความมีสติสัมปชัญญะ, ความหยั่งถึงเหตุผล เป็นต้น อย่างเพียบพร้อมเสมอ

ผู้กระทำก็เยือกเย็นทั้งก่อนทำ กำลังทำ และทำเสร็จแล้ว; ใช่ว่าความอยากจะจูงให้ทำเร็วหรือบังคับบัญชาผู้อื่นได้ดีก็หาไม่, เพราะนั่นเป็นความฉลาดซึ่งเกิดออกมาจากความรู้สึกอันดีงามดังกล่าว; ส่วนความอยากมีแต่ความแผดเผา เท่านั้น

เหล่านั้นคือ นิมิตของความสุขอันเกิดจากความมีชีวิตอยู่ด้วยความปราศจากความอยากและราคะ


สรุป : ถ้าท่านปราศจากความรักและความอยากเสียแล้ว .... ท่านจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร? ท่านทั้งหลายคงจะได้คำตอบที่เป็นประโยชน์มากหรือน้อยแล้วน่ะค่ะ...

"ความรัก" ทำให้นาทีแห่งความรัก คือ นาทีแห่งความชั่วร้ายที่ได้ออกมา.
กล่าวคือ ผู้แพ้ความรัก แพ้ตลอดเวลา แพ้จนหมด
ไม่มีอะไร แพ้อีก สำหรับความรักในครั้งนี้ ....ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดจากความโง่ของตัวเอง..เป็นเหมือนเหยื่ออันหุ้มเบ็ดไว้; ความสุขอันเกิดจากสิ่งนี้จึงเป็นสุขปลอม ไม่จีรังยั่งยืน, เป็นเพียงความเพลิน หรือสุขที่เป็นไปกับด้วยเหยื่อ....
" สุขที่แท้จริง คือ ไม่มีเหยื่อล่อ (ความไม่เบียดเบียนกัน)"



Create Date : 02 มกราคม 2552    
Last Update : 3 มกราคม 2552 17:53:56 น.
Counter : 1249 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

lcelcy
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




มิถุนายน เดือนดี๊ดี " จุดกำเนิด iceicy's blog Dhamma"
ครบรอบ ๗ ปี แล้วค่ะ"

คนมาจากไหน?
เริ่มจาก เกิด แก่ เจ็บ และก็ตาย
คนก็หายไป !!...แต่ความดีไม่เคยหายไปด้วย..
ทุกคนจำวันเกิดตัวเองได้ไหม... ก็คงจำได้กันหมดอะน่ะ
เคยคิดจะทำอะไรดีดี....
ให้กับตัวเองและคนอื่น..ในวันครบรอบวันเกิดของตัวเองไหมค่ะ?

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ (๗ ปีได้ผ่านมาแล้ว)
ฉันได้ทำสิ่งที่ชอบ และชอบในสิ่งที่ฉันได้ทำ
สิ่งนั้น คือ " บล๊อกเกี่ยวกับหลักธรรมข้อคิดต่างๆ "
เริ่มจากทำไม่เป็น ลองผิดลองถูก ทำจนสำเร็จ
ทั้งนี้ ขอขอบพระคุณ " กำลังใจ " คนรอบข้าง
และทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยม iceicy's blog Dhamma น่ะค่ะ
(ซึ้งน่ะซึ้งน่ะเนี่ย!!!!)
<

วัตถุประสงค์ iceicy blog Dhamma
1. เพื่อเผยแพร่และสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับประเทศไทย
2. เพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา
3. เพื่อแบ่งปันความรู้ทางพระพุทธศาสนา และแลกเปลี่ยนข่าวสารทั่วไป
4. สรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง

Google



Link to us:
ท่านสามารถนำ code ของ banner นี้
ไปติดที่เว็บของท่านได้ตามสะดวกน่ะค่ะ
ขอขอบคุณและขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วยน่ะค่ะ

Iceicy blog dhamma



New Comments
Friends' blogs
[Add lcelcy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.